แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อาตมารู้จักหมอคนหนึ่งชื่อ หมอวิธาน ฐานะวุฑฒ์ หมอวิธาน เล่าว่าบางครั้งต้องผ่าตัดให้กับคนไข้ เป็นผ่าตัดเล็กประเภทแค่ใช้ยาชาก็พอไม่ต้องถึงกับใช้ยาสลบ แต่ก็พบว่าคนไข้หลายคนกลัว หมอก็จะถามว่ากลัวอะไร ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่ากลัวเจ็บ หมอก็จะบอกว่า ไม่ต้องกลัว เพราะว่า มียาชา เดี๋ยวฉีดยาชาให้ก็หายเจ็บ เวลาผ่าจะไม่รู้สึกเจ็บอะไร อธิบายอย่างนี้คนไข้ก็ยังรู้สึกกลัว อธิบายยังไงก็ไม่หายกลัว ใช้เหตุใช้ผลว่าเป็นผ่าตัดเล็ก ประเดี๋ยวเดียว เจ็บนิดหน่อย ไม่รู้สึกอะไร คนไข้ก็ยังรู้สึกกลัว คนไข้กลัวเข็มที่จะฉีดยาชา ความกลัวของคนไข้ทำให้การผ่าตัดไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่าย ๆ บางคนกลัวเข็มที่จะฉีดยาชาไม่ใช่แค่กลัวมีดของหมออย่างเดียว หมอก็พยายามบรรเทาความกลัวของคนไข้ บอกว่าถ้ากลัวเข็ม เดี๋ยวหมอจะให้ยานอนหลับ พอหลับแล้วนี่ก็ทำให้เวลาฉีดยาชาก็ไม่เจ็บ และพอมันชาแล้วผ่าตัดก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ ขนาดนั้นคนไข้หลายคนก็ยังกลัว บางคนกลัวกระทั่งว่าให้ยานอนหลับไปก็ยังไม่หลับเลย ไปหลับเอาตอนที่กลับถึงบ้านแล้ว แสดงว่ากลัวมาก จิตเป็นนายกายเป็นบ่าวจริงๆ คือ พอกลัวแล้วนี้ยาบางทีก็ช่วยอะไรไม่ค่อยได้ ให้ยานอนหลับไปก็ไม่หลับ
มีเพื่อนคนหนึ่งเป็นโรคหัวใจต้องผ่าตัดใหญ่ แกเป็นนักธุรกิจเป็นผู้หญิง ตอนที่ขึ้นเตียงผ่าตัดนี่แกนึกขึ้นมาได้ว่า ยังไม่ได้สั่งเสียเรื่องสำคัญเรืองหนึ่งให้กับลูกน้อง เกี่ยวกับธุรกิจที่เธอดูแลอยู่ เป็นร้อยล้าน ความกังวลทำให้แม้กระทั่งโดนยาสลบไปแล้ว ไม่สลบ ยังตื่น วิสัญญีแพทย์แปลกใจมาก โดยปกติถ้าให้ยาสลบไป มันก็สลบพร้อมที่จะผ่าตัดได้ แต่รายนี้กังวลมากจนกระทั่งไม่ยอมสลบ จนกระทั่งแกขอยืมโทรศัพท์หมอ แล้วก็สั่งธุระ ฝากฝังสั่งเสียให้กับลูกน้อง พอสบายใจหายวิตกยามันถึงจะออกฤทธิ์ อันนี้เรียกว่า จิตเป็นนายกายเป็นบ่าวจริง ๆ ความกลัวก็เหมือนกัน พอกลัวมากๆ นี่กินยานอนหลับก็เฉย เผลอ ๆฉีดยาชาไปอาจจะไม่เกิดผลอะไรเลยก็ได้
หมอวิธาน เจอความกลัวของคนไข้แบบนี้ พบว่าการชี้แจงการให้เหตุผลยังไงๆก็ไม่มีประโยชน์ บอกว่าอย่ากลัวมันไม่มีอันตรายอะไร อย่ากลัวนะเดี๋ยวฉีดยาชาให้ มันมีผลน้อยมากในการบรรเทาความกลัว จนตอนหลังเรียนรู้เรื่องของการเจริญสติ ก็รู้ว่า มันมีวิธีที่ดีกว่านั้นในการจัดการความกลัวของคนไข้ ตอนหลังนี่ไม่บอกคนไข้แล้วว่าอย่ากลัว แล้วก็ไม่พยายามชักแม่น้ำทั้งห้ามาเพื่ออธิบายว่ามันไม่มีอะไรที่น่ากลัว เพราะว่าเหตุผลมันไประงับอารมณ์ไม่ได้ แต่วิธีที่ดีคือให้คนไข้นี้มาทำความรู้จักกับความกลัวเสียเลย วิธีง่าย ๆ เช่นว่า ตอนนี้ความกลัว ถ้าให้คะแนนกี่คะแนน สมมติว่า ถ้าไม่กลัวเลยคือ 0 กลัวสุด ๆเลยในชีวิตคือ 10 ตอนนี้กลัวเท่าไหร่ บางคนก็บอกว่า 6 บางคนก็บอกว่า 7 ให้คนไข้ไปดูความกลัวเลย
เท่านั้นไม่พอ ก็ให้คนไข้มาดูว่าตอนเวลามีความกลัวไม่ต้องฝืน ไม่ต้องต่อสู้ ไม่ต้องผลักไสมัน แล้วยอมรับว่าเรากลัว จะกลัวกี่คะแนนก็แล้วแต่ เสร็จแล้วก็มาดู ดูกายว่าตอนนี้ ตอนที่กลัวกายเป็นอย่างไร หัวใจเป็นอย่างไร เต้นถี่แค่ไหน ลมหายใจเป็นอย่างไร หายใจเข้าสั้น หายใจออกตื้น หายใจเข้าตื้น หายใจออกสั้น รับรู้อาการของกาย มือมันเกร็งไหม ดู เสร็จแล้วก็มาดูใจว่าตอนนี้กลัวเป็นอย่างไร ลองเข้าไปดูตรงกลางของความกลัวเลย เหมือนกับว่าไปอยู่ตรงกลางของพายุ เข้าไปอยู่ตรงกลางความกลัวเลย ไปรับรู้ไปดูมัน เขาพบว่าวิธีนี้ทำให้คนไข้กลัวน้อยลง พอให้คะแนนความกลัว จากที่เคย กลัว 6 7 หรือ 8 คะแนน ก็ลดลงมาเหลือ 3 เหลือ 4 บางทีก็เหลือ 2 พอคนไข้ลดความกลัวลงแล้ว จึงค่อยผ่าตัด ก็ราบรื่น สิ่งที่หมอวิธานทำก็คือการใช้สติ ให้คนไข้ใช้สติมาดูความกลัว ดูแบบผู้รู้ผู้เห็น ซึ่งมันดีกว่าการไปปฏิเสธ ผลักไส กดข่มมัน ดีกว่าการใช้เหตุผลไประงับความกลัวซึ่งมันไม่ค่อยมีประโยชน์ มันได้ผลน้อย
เหมือนกับคนที่โกรธ บางทีเราพยายามให้เหตุผลกับตัวเองว่า โกรธไม่ดี ๆ แต่มันยังโกรธอยู่ หลายคนที่โกรธ เขาก็รู้ความโกรธไม่ดี มันเผาผลาญใจ แต่ว่ามันไม่ได้ช่วยลดความโกรธเลย มันมีคำพูดว่า ดีชั่วรู้หมดแต่อดใจไม่ได้ อดใจอะไรไม่ได้ อดใจที่จะทำชั่วหรือว่าทำสิ่งที่ไม่ดีกับตัวเอง เช่นกินเหล้าสูบบุหรี่ หรือไปมีกิ๊ก รู้ว่ามันไม่ดี มีโทษ แต่ว่าความรู้ที่มี หรือเหตุผลที่จะเอามาใช้กับตัวเอง มันไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ หรือ จะมาใช้กับคนอื่นก็ตาม เด็กกำลังโกรธกำลังกลัว ไปบอกเด็กว่า อย่าโกรธ อย่ากลัว เด็กกำลังเจ็บ บอกว่าอย่าเจ็บ มันไม่ได้ช่วย มีแม่คนหนึ่ง เจอลูกวิ่งหกล้ม เด็กก็ร้องไห้ ปกติถ้าเป็นแม่คนอื่นเขาบอกว่า ไม่เจ็บ แต่เขาบอกลูกว่า เจ็บมั้ยลูก เจ็บยังไง ให้เด็กมาดูความเจ็บ ให้เด็กมาดูใจว่า ตอนที่เจ็บมันเป็นอย่างไร เด็กก็จะหายปวดได้ไว ที่งอแงๆก็หยุดร้อง ให้เห็นว่าความเจ็บมันเป็นธรรมดา เจ็บได้ แต่ก็ให้เหลือความเจ็บแค่ที่กาย แต่ใจไม่ทุกข์
ความกลัวก็เหมือนกัน เป็นปัญหาของคนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ มีผู้ปกครองคนหนึ่งกังวลกับลูกมาก ลูกอายุ 4 ขวบ กลัวโป๊ะมาก เวลาจะนั่งเรือข้ามฟากกลับบ้าน ก็ต้องลงโป๊ะก่อน พออุ้มเด็กลงโป๊ะ เด็กก็จะร้องกลัว พ่อก็พยายามอธิบายกับลูกว่า ลูกไม่ต้องกลัว พ่ออุ้มลูกไว้แน่น ลูกไม่ตกไม่ลงน้ำแน่ พ่ออุ้มลูกไว้แน่น จับลูกไว้แน่นเลย มันไม่มีอะไร โป๊ะนี่ปลอดภัย พูดยังไง ชักแม่น้ำทั้งห้ายังไงเด็กก็ยังกลัว แล้ววันหนึ่งก็ได้ฟังเรื่องราวของเพื่อนคนหนึ่ง เขาสอนให้ลูกหายโกรธ ด้วยการที่ให้ลูกมาดูความโกรธของตัว สอนให้ลูกเห็นความโกรธ พอลูกเห็น ความโกรธหายไปเลย เร็วมาก จากที่โกรธอยู่กลายเป็นปกติ วิ่งเล่นเหมือนเคย มาจากการถามลูกว่า ตอนนี้ลูกโกรธ โกรธยายใช่ไหม ใช่โกรธมาก โกรธแค่ไหน โกรธแค่นี้ หรือ โกรธเท่าฟ้า ลูกบอกโกรธเท่าฟ้าเลย แม่จะไปบอกยายว่า ลูกโกรธเท่าฟ้า แทนที่จะต่อว่าลูกว่าไปโกรธยายได้อย่างไร ก็เพียงแต่ให้ลูกเห็นว่าตัวเองมีความโกรธ พอเด็กได้เห็นความโกรธของตัว เด็กหยุดโวยวายเลย กลับไปเล่นเหมือนปกติ
พ่อได้ฟังเรื่องราวของแม่ที่ทำให้เด็กหายโกรธ ก็ลองมาเอาวิธีนี้มาใช้กับลูกของตัวที่กำลังกลัวบ้าง วันหนึ่งก็ทดลองอุ้มลูกลงโป๊ะ เด็กก็ตามคาด ร้องด้วยความกลัว บอกพ่อว่าให้รีบ ๆขึ้นฝั่งเร็ว ๆ หนูกลัว ๆแล้วก็ดิ้นด้วย พ่อก็ถามลูกว่าลูกกลัวอะไร กลัวโป๊ะ กลัวตกน้ำ แล้วตอนนี้ร่างกายหนูเป็นอย่างไร หัวใจเป็นอย่างไร ลมหายใจเป็นอย่างไร เนื้อตัวเป็นอย่างไร เด็กก็เล่าว่าหัวใจมันเต้นแรง ตัวเกร็ง เด็กเขาพูดได้ แล้วพ่อก็ถามลูกว่า ตอนนี้ใจเป็นยังไง ใจมันกลัว มันหนัก เด็กก็อธิบายไปตามที่รับรู้ แต่สักพักเด็กก็หยุดร้อง แล้วมือที่กอดพ่อไว้แน่นก็ปล่อย เด็กลงมาข้างล่างเลย ลงมาที่โป๊ะ แล้วก็เดินเล่นวิ่งเล่นอยู่บนโป๊ะนั่นแหละ หายกลัวเลย จากเดิมที่ไม่กล้าแตะโป๊ะเลย อยากจะหนีไปจากโป๊ะไกล ๆ ตอนนี้หายกลัวแล้ว สิ่งที่พ่อทำคือ ให้เด็กกลับมาเห็น เห็นความกลัวด้วยการมาดูกายดูใจ
มันคล้ายกับที่เราปฏิบัติยกมือสร้างจังหวะ ก็ให้เรารู้กาย เวลาใจคิดนึกก็ให้รู้ว่าใจมันคิดนึก สติปัฏฐานสี่ มันก็มีอยู่นี่ ให้ดูกายรู้กาย ให้ดูเวทนารู้เวทนา ให้ดูจิตรู้จิต แล้วก็ดูรู้ธรรมารมณ์ รู้ธรรม ก็คือ รู้ทุกอย่างแล้วรู้ทั้งนอกตัวในตัว ทีนี้พ่อก็ชวนให้ลูกกลับมาดูกายดูใจ ก็คือให้มีสติ พอมีสติความกลัวก็หาย เพราะว่าความกลัวเช่นเดียวกับความโกรธ ปฏิปักษ์ของมันก็คือ สติ มันกลัวการถูกรู้ถูกเห็นด้วยสติ พอมีสติเห็นมันหายเลย คนเราเวลากลัวอะไรอย่าไปพยายามปฏิเสธมัน อย่าไปพยายามกดข่มมัน มันได้ผลชั่วคราว เราใช้อุบายอื่นได้ ไปนึกเรื่องอื่น อยู่ในกุฏิ อยู่ในห้องพัก บางคนอยู่คนเดียวกลัว กลัวความมืด บางทีก็กลัวผี กลัวสัตว์ร้าย กลัวตุ๊กแก สารพัด บางคนพอรู้ว่าที่นี่มีตุ๊กแก ไม่กล้ามาปฏิบัติที่นี่ กลัวตุ๊กแกมาก แม้ไม่เห็นตุ๊กแกแต่ก็กลัวว่ามันจะโผล่มา บางทีกลางวันแสก ๆก็กลัว ที่ศาลาน้ำมีโยมมาเยี่ยม พอเห็นตุ๊กแกโผล่มาตกใจเลย ขนาดกลางวันแท้ ๆ ตุ๊กแกมันยังไม่ทันทำอะไรเลย แต่ถึงมันไม่โผล่มาแต่ว่าใจก็คิดไปแล้ว
พอคิดไปแล้วทำไง เราก็ต้องรู้ว่าที่กลัว เพราะความคิด คนเราทุกข์เพราะความคิด พอไม่คิดก็ไม่กลัว เพราะฉะนั้นก็ไปคิดเรื่องอื่นแทน คิดเรื่องงานเรื่องการ หรือไม่ก็สวดมนต์ให้ใจมันไปอยู่กับเรื่องอื่น อันนี้เรียกว่าเปลี่ยนอารมณ์ อารมณ์ในที่นี้ไม่ใช่หมายถึงอารมณ์ในใจ แต่หมายถึงสิ่งที่เราไปรับรู้ แทนที่จะไปคิดถึง เรื่องตุ๊กแก เรื่องผี เรื่องสัตว์ร้าย ก็ไปนึกเรื่องอื่น พอไปนึกเรื่องอื่น ความกลัวมันหายเลย บางทีก็ไปนึกถึงลูก ไปนึกถึงงาน อันนี้ก็เป็นวิธีเลี่ยงอย่างหนึ่ง แต่วิธีที่ดี ได้ผลตรง ๆ คือการเข้าไปเห็นความกลัว แต่อันนี้ก็ต้องมีสติ ฝึกไว้พอสมควร หรือมิฉะนั้นก็ต้องมีคนชี้นำให้ดี เห็นความกลัว พอเห็นปุ๊ป ความกลัวก็หาย แต่ส่วนใหญ่ทำไม่เป็น พอตั้งใจว่าจะเห็นความกลัว แต่พอทำเข้าจริงๆ กลับถูกความกลัวมันดูดเข้าไปเลย แทนที่จะเป็นผู้เห็นกลายเป็นผู้เป็นเสียแล้ว แทนที่จะเห็นความกลัวก็เป็นผู้กลัว
แต่จะดีกว่าถ้าเรามาดูกาย ตอนที่กลัว กายเป็นอย่างไร แล้วค่อยมาดูใจ เด็กก็ยังทำได้อย่างที่พูด เรากลัวอะไร ลองเอาความกลัวมาพิจารณาดู หรือว่าดูมัน มันก็จะช่วยได้ การดูเฉย ๆ มันมีอานุภาพมาก มันสามารถจะเปลื้องจิต ให้หลุดจากอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นกลัวหรือโกรธ หรือเศร้าได้
มีเด็กคนหนึ่งอายุประมาณ 11-12 มีช่วงหนึ่งเวลานอนหลับจะฝันร้าย จะฝันเห็นพวกอสูรปีศาจมาตามล่า อยู่ในบ้านมันก็มา พอเจอเด็ก ก็วิ่งหนีออกจากบ้าน วิ่ง วิ่งไป ก็ไปเจอบ้านอีกหลังหนึ่ง ก็พยายามเข้าไปในบ้านหลังนั้น แล้วก็รีบปิดประตู แต่ปิดไม่ทัน มันก็จะลอดมันก็จะเล็ดเข้าไปในช่องว่างของประตูที่ยังปิดไม่สนิท มันเป็นผี มีช่องเล็ก ๆ มันก็ยังลอดเข้าไปได้ แล้วก็ตามล่า เด็กก็วิ่งหนีจนกระทั่งไปเจอกำแพง วิ่งต่อไม่ได้ ตกใจ อสูร ปีศาจจะเข้ามาขย้ำเพราะหนีไม่พ้นแล้ว พอมันจะเข้ามาขย้ำเด็กตกใจตื่น ฝันร้ายนี้แย่มากเลย และมันก็เกิดขึ้นบ่อย ๆ แทบทุกคืน ฝันซ้ำ ๆเรื่องแบบนี้หลาย ๆ วันก็เป็นทุกข์ บางทีไม่อยากจะนอนเลย มีวันหนึ่งก็มาเล่าให้เพื่อนฟังว่านอนไม่ค่อยหลับฝันร้าย เพื่อนก็พาซื่อ ถามว่าอสูรนี้หน้าตาเป็นยังไง เด็กตอบไม่ได้เพราะไม่เคยหันไปดูเลย หนีตลอด
แล้วมาวันหนึ่ง พอเด็กหลับก็ฝันอีก เหมือนเดิม ฉากเดิม ๆ วิ่งหนีจนกระทั่งมาเจอกับผนังหรือกำแพง หนีไม่พ้น แล้วอสูร ปีศาจ มันก็จะเข้ามาประชิดตัว ก็นึกถึงคำถามของเพื่อนว่าหน้าตามันเป็นยังไง เออใช่ ยังไม่เคยรู้เลย หันกลับมามองมันดูมัน ปรากฏว่าตัวอสูรที่มันจะมาเล่นงาน ถูกเด็กจ้องหน้า มันก็กระโดด หยุดชะงัก มันก็แค่อยู่นิ่ง ๆ แล้ว กระโดดไป กระโดดมา กระโดดขึ้น กระโดดลง ไม่มาวิ่งไล่ล่าอีก แล้วพบว่าอสูรพวกนี้เหมือนกับอสูรในหนังสือการ์ตูนที่อ่านก่อนนอน สุดท้ายก็รู้ว่ามันไม่ใช่อะไรเลย เป็นแค่สิ่งที่เก็บเอามาจากการ์ตูนที่อ่าน มันไม่ใช่อสูรจริง มันเป็นการปรุงแต่ง ก็หายกลัวตั้งแต่นั้น หยุดฝันร้ายเลยเพราะรู้ว่ามันไม่ใช่ของจริง อันนี้เป็นอานุภาพของการมอง การเห็น คือ เห็น แต่ไม่ได้เห็นความกลัว แต่เห็นตัวการ์ตูน เห็นตัวอสูร แล้วมันก็คือตัวการ์ตูนนั่นแหละ
การเห็น เห็นตรง ๆมันช่วยได้มาก เห็นอารมณ์ที่มันเกิดขึ้น หรือว่าถ้ายังรู้สึกว่ายังเห็นอารมณ์ไม่ชัดหรือว่าไม่ถนัด ก็มาดูกาย เวลาโกรธ บางคนก็ไปดูความโกรธทุกที ก็โดนมันดูดมันกลืนไป ลองมาดูลมหายใจ ลมหายใจเป็นอย่างไร หายใจถี่ หายใจสั้น หัวใจเป็นอย่างไร มันเต้นเร็ว หน้านิ่วคิ้วขมวด ตัวเกร็ง มือเท้าเกร็ง ลองมาดูกายตรงนี้ เดี๋ยวมันก็จะคลาย พอดูกายเสร็จมาดูใจ มันก็จะเห็น เห็นใจที่มันร้อนที่มันรุ่ม และถ้าเห็นอย่างนี้ ความโกรธมันก็จะเพลาลง เพราะตอนนั้น ความรู้ตัวมันมา ความรู้ตัวมา ความโกรธก็หาย
ถ้าเรารู้ตัว รู้สึกตัวมันไม่ทุกข์ ที่ทุกข์เพราะไม่รู้ตัว พอเรารู้ตัวขึ้นมาหรืออาศัยการมีสติดูกาย มาดูใจ ความรู้สึกตัวก็มาแทนที่ ความหลง ความกลัว ความโกรธ ก็เป็นความหลงชนิดหนึ่ง ดูมันบ่อย ๆ มันก็หาย ใหม่ ๆ ดูทีแรกมันไม่หาย พอดูไป ๆมันจะค่อย ๆ คลาย มันแพ้ทางกัน ตัวหลงแพ้ตัวรู้ ถ้ารู้ตัวเมื่อไหร่ ตัวหลงก็หายไป เพราะฉะนั้นเวลาเรามีอารมณ์ เช่นความกลัว ความโกรธ ลองใช้สติมาดูบ้าง ถ้ายังดูใจไม่ไหวก็มาดูกายก่อน มันช่วยได้มาก มันดีกว่าวิธีการไปกดข่มมันเอาไว้ ถ้าเราเริ่มต้นว่ายอมรับมันก่อน ยอมรับว่ามันธรรมดา
อย่าไปตีอกชกหัวว่า ทำไมเราปฏิบัติธรรมมาตั้งเยอะ ทำไมยังโกรธอยู่ ทำไมยังกลัวอยู่ อย่างที่หมอวิธานบอก คำพูดว่า อย่ากลัว อย่ากลัว มันไม่ได้ช่วยเลย คำพูดว่า อย่าโกรธ อย่าโกรธ มันก็ไม่ค่อยช่วยเท่าไหร่ แต่ถ้าเรายอมรับมัน ยอมรับว่าเรากลัว ยอมรับว่าเราโกรธ ถ้าเรายอมรับด้วยใจที่เป็นกลาง สติมันก็จะกลับมาได้ไว และถ้าเราเห็น เห็นมัน มันก็จะเหมือนกับว่าดับหายไป เช่นเดียวกับความมืดมันก็ดับเมื่อเจอแสงเทียน หรือเมื่อเจอแสงสว่างสาดส่อง น้ำเสีย น้ำเน่า พอเจอน้ำดี น้ำดีก็ไล่มันไปเอง เราไม่ต้องทำอะไรกับความโกรธ เพียงแต่เปิดทางให้ความรู้สึกตัวเกิดขึ้น หรือว่า ชวนสติให้กลับมา ลองฝึกวิธีนี้ดู จะทำให้เราเห็นว่า ความรู้สึกตัวหรือสติมีอานุภาพมาก