แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้หลายคนก็จะได้กลับบ้านแล้ว หลายคนก็คงจะรอวันนี้ วันที่เราจะได้กลับบ้าน มาอยู่วัดมาหลายวันแล้ว แต่ก็ให้เราตระหนักบ้านที่รอเราอยู่ เป็นบ้านที่ก่อด้วยอิฐ ทำด้วยปูน มันเป็นบ้านของกายเท่านั้น อิฐ ปูนกำแพง หลังคาของบ้านเราที่รอเราอยู่นี่ช่วยปกป้องร่างกายให้พ้นจากแดด จากฝน จากลมพายุ แต่ว่าเราก็อย่าลืมบ้านของใจด้วย
บ้านที่รอเราอยู่เพียงแต่ปกป้องรักษากายเราเท่านั้น แต่ยังรักษาใจของเราไม่ได้ มันให้ความสุขสบายทางกาย พอติดแอร์ ติดพัดลม มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมาย แต่ยังให้ความสุขทางใจไม่ได้เต็มที่ บางทีอาจจะทำให้เกิดความทุกข์ทางใจด้วยซ้ำ เพราะว่าวิตกกังวลว่าบ้านนี้ยังผ่อนไม่เสร็จ หรือว่าหลังคารั่ว กังวล บางทีก็รู้สึกว่าบ้านเราไม่สวย ไม่งดงามเท่ากับของพี่น้อง หรือของเพื่อนบ้าน บ้านทางกายนี่ยังไม่สามารถจะให้ความสุขใจแก่เราได้ อาจจะให้ความสะดวกสบายทางกายได้มากมายก็ตาม เพราะฉะนั้น มีบ้านทางกายรออยู่ก็อย่าลืมบ้านของใจด้วย
ถามตัวเองว่าเรามีบ้านของใจหรือยัง บ้านของใจนี่ถ้ามีแล้วประเสริฐมากเลย เพราะว่าจะตามเราไปทุกแห่งเลย บ้านของกายนี่ก็ไม่สามารถจะเคลื่อนย้ายตามเราไปได้ บางคนก็คิดถึงบ้าน แต่ความคิดถึงบ้านเกิดขึ้นเพราะว่า มันเป็นบ้านที่สร้างด้วยอิฐ สร้างด้วยปูน มันอยู่กับที่ ไม่สามารถจะตามไปคุ้มครองให้ความสุขกับเราได้ มิหนำซ้ำบ้านของกายนี่วันดีคืนดีก็อาจจะมีคนยึดไปก็ได้ อาจจะกลายเป็นของคนอื่นไปก็ได้ ตกเป็นของธนาคารบ้าง หรือมิฉะนั้นก็ตกเป็นของคนอื่นที่เขาคดโกง แต่บ้านของใจนี่ใครเอาไปไม่ได้ และถ้ามีแล้ว ถ้าพบแล้วนี่ไม่มีใครเอาไปได้ แถมยังจะตามเราไปทุกที่ มาวัดก็รู้สึกอบอุ่น เข้าป่าก็ยังอบอุ่น ไปต่างประเทศก็ไม่รู้สึกว้าเหว่ ไปอยู่ในที่ที่ไม่คุ้นเคยก็ยังรู้สึกอบอุ่น
บ้านของใจนี่สำคัญมาก แต่คนไม่ค่อยนึกถึงเท่าไร เรามานี่ก็คงจะเห็นความสำคัญ บ้านของใจนี่ที่จริงเราทุกคนก็มีอยู่แล้ว กายนี่เป็นบ้านของใจที่เราไม่เคยรู้จัก แต่มาปฏิบัติที่นี่ ก็คงจะเห็นแล้วว่ามันเป็นบ้านของใจได้ และเป็นบ้านที่อยู่กับเราตลอดเวลา ทำกายให้เป็นบ้านของใจ ใจเราจะได้ไม่ระหกระเหิน บางครั้งใจของเรานี่ก็เหมือนกับคนเร่ร่อนคนไร้บ้าน คนไร้บ้านนี่น่าสงสาร เรียกว่ากระเซอะกระเซิงไปที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง ไม่มีความรู้สึกอบอุ่น และก็เหมือนกับว่าอยู่ในความเสี่ยงอันตรายตลอดเวลา ใจของเราเป็นอย่างนั้นเสียมาก ไร้บ้าน ใหม่ ๆ ก็คล้าย ๆ กับเด็กใจแตก คือชอบท่องเที่ยว เด็กใจแตกนี่ไม่อยากอยู่บ้าน ทีแรกก็สนุกดีใจที่ได้ไปเที่ยวนอกบ้าน ทีแรกก็เพลิน แต่สุดท้ายก็ไม่ใช่เที่ยวแล้ว มันกลายเป็นกระเซอะกระเซิง ไม่รู้ว่าจะหาที่พักพิงอย่างไร เที่ยวไปไหน ก็เที่ยวไปท่องไปในอดีต ทีแรกก็อาจจะท่องไป ไปยังเหตุการณ์ที่เป็นความสุข ให้ความสุข สนุกสนาน รื่นเริง แต่เผลอครู่เดียวมันพลัดเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ที่เจ็บปวด ที่เราต้องพลัดพรากสูญเสีย ถูกโกง ถูกทรยศ ถูกต่อว่าด่าทอ หรือเหตุการณ์ที่เราทำความผิดพลาดบางอย่างกับผู้มีพระคุณ บุพการี ก็เลยเกิดความโกรธ ความเศร้าโศก ความเสียใจ ความรู้สึกผิด แล้วก็จมหลงอยู่ในอารมณ์นั้นแหละ ไม่สามารถจะกลับมายังที่ที่อบอุ่นปลอดภัยมั่นคงได้ แต่ถ้าเรารู้แน่แก่ใจว่ามีบ้านของใจ ไปอย่างไรก็กลับมา และถ้าหากว่าฝึกให้ใจคุ้นชินกับบ้าน บ้านของกาย ไม่ว่าตัวอยู่ไหนใจก็อยู่ตรงนั้น จะรู้สึกอบอุ่น จะรู้สึกปลอดภัย จะรู้สึกมั่นคง ในภาวะนั้นเรียกว่าเป็นเพราะมีความรู้สึกตัว เวลาใดก็ตามที่ใจเรามาอยู่กับกาย จะเกิดความรู้ตัวทั่วพร้อม เกิดความโปร่ง ความเบา
การที่เราฝึกมา 6-7 วันนี่ ก็ฝึกเพื่อให้ใจมาอยู่กับกาย เวลากายทำอะไร ใจก็รับรู้ว่า อ้อ กำลังยกมือ กำลังเดินจงกรม กำลังถูฟัน กำลังอาบน้ำ มันเกิดความรู้สึกตัวในขณะที่ทำกิจต่างๆ อันนี้เรียกว่าใจมาอยู่กับกาย อันนี้เกิดขึ้นเพราะว่าเราเอากายมาเป็นบ้านของใจ ถ้าใจอยู่บ้านหลังนี้อย่างต่อเนื่องไม่เป็นเด็กใจแตก จิตใจก็จะเบา ความเศร้า ความโศก อาลัยอาวรณ์ ความโกรธ ความพยาบาท ความรู้สึกผิดก็จะมารบกวนจิตใจไม่ได้ บางทีมันล่อมาหลอก มาหยอก คนเราก็ถ้าไม่มั่นคงในบ้านของตัวเอง ถ้าใจไม่อยู่กับกาย มันก็จะหลงเชื่อ โจนเข้าหาความเศร้า โจนเข้าหาความโศก ความโกรธ ความอาลัยอาวรณ์ ทั้ง ๆ ที่ไม่น่าจะโจนเข้าหาเลย แต่ใจนี่มันก็อดไม่ได้ที่จะโดดเข้าไป เพราะว่าลืมตัว เพราะเผลอ หรือว่าเพราะหลงก็ตาม
ความเจ็บความป่วยก็เหมือนกัน ไม่มีใครชอบความเจ็บความป่วย หรือแม้แต่ความเมื่อย แต่พอเกิดขึ้นทีไร ใจมันก็โจนเข้าไปหา ทั้งๆที่มันก็แค่ปวดกาย คล้าย ๆ กับว่า มันมาล่อมาหลอกอยู่หน้าบ้าน ความปวดมาล่อมาหลอก ใจนี่ก็เผลอโดดเข้าไป เข้าไปในความปวด แทนที่จะปวดแต่กายก็เลยปวดใจด้วย นี่เพราะความหลง เพราะว่าการที่ไม่มั่นคงอยู่ในบ้านของใจ เวลาเราเจ็บเราปวดนี่ ไม่ว่ามันเจ็บมันปวดที่ไหนก็ตาม ถ้าเรามีความรู้สึกตัว เราก็จะแค่เห็นความปวดเกิดขึ้น ไม่เข้าไปในความปวด อันนี้เพราะว่าใจนี่มีหลัก มันมีหลักยึด หลักยึดก็คือกายนั่นแหละ บางคนก็ใช้ลมหายใจเป็นเครื่องเป็นหลักยึดของใจ ใจอยู่กับลมหายใจ ก็ไม่โดดเข้าไปจดจ่อ ปักตรึงอยู่กับความปวดที่ท้อง หรือว่าที่แขน ที่ขา หรือบางคนก็ใช้ความรู้สึกตัว รู้สึกตัวเมื่อคลึงนิ้ว พลิกมือไปพลิกมือมา หรือว่ายกมือ ใจอยู่ตรงนั้น ตรงนั้นเป็นหลักยึดก็ไม่โจนเข้าไปจมปลัก ปักตรึงอยู่กับความเจ็บความปวด กายปวดก็ปวดไป ท้องปวดก็ปวดไป แต่ว่าใจเป็นปกติ เพราะว่ามีหลักยึด
หรือพูดอีกอย่างก็คือมีบ้าน อยู่ในบ้าน ไม่ออกมาเพ่นพ่าน ไม่หลงเชื่อ ความปวดที่มาเย้ามายวนมาชวน มาชวนอะไร มาชวนให้ใจทุกข์ ไม่มีอะไรไม่มีใครมาทำให้มาบังคับใจให้ทุกข์ได้ ลองพิจารณาดี ๆ ไม่มีอะไรไม่มีใครที่มาบังคับใจให้เป็นทุกข์ได้ มีแต่มาชวน มาหลอก มาเชิญให้เราเป็นทุกข์ ให้เราไม่พอใจ ให้เราโกรธ ไม่ว่าจะเป็นคำด่า ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บความปวดที่กาย ไม่ว่าจะเป็นดินฟ้าอากาศ คำต่อว่าด่าทอของผู้คน ไม่สามารถบังคับยัดเยียดให้เราทุกข์ได้ มีแต่มาชวนให้เราโกรธ ให้เราโมโห ให้เราทุรนทุราย แต่ถ้าเราไม่รับคำชวน ไม่รับคำเชิญ ไม่หลงเชื่อคำ การหลอกการล่อมาชวนถึงหน้าบ้านเราก็ไม่ออกจากบ้าน อยู่ในบ้าน ก็คือยังอยู่กับกายจะทุกข์ได้อย่างไร การที่เขาต่อว่าด่าทอเรา เออใจเรามาอยู่กับลมหายใจ ใจเราก็มาอยู่กับกาย พลิกมือไปพลิกมือมา ใจจะทุกข์ได้อย่างไร เสียงด่าที่มากระทบหู เพราะว่าใจไม่ไปผสมโรง ใจไม่ยอมออกไปให้เขาหลอก ให้เขาล่อ ให้เขาทำร้าย ให้พยายามหาบ้าน พยายามชวนให้ใจกลับมาอยู่บ้าน พอใจในการอยู่บ้านอยู่กับกาย จริง ๆ ที่ว่าบ้านจริง ๆ คือปัจจุบันขณะ ปัจจุบันขณะ บางครั้งเราก็อาจจะมีอะไรให้ต้องทำ มีงานให้ต้องทำ กวาดบ้าน ถูพื้น ล้างจาน หรือว่าคิดงานคิดการ อันนี้ก็เรียกว่า ถ้าเป็นงานที่เรากำลังทำ เป็นงานที่เราสมควรทำต้องทำ ก็เรียกว่าเป็นปัจจุบันได้ เมื่อใจอยู่กับปัจจุบันใจก็จะปลอดภัย เป็นสุข สงบเย็น
ที่เป็นทุกข์ทุกวันนี้ เพราะใจไม่อยู่กับปัจจุบัน บางทีก็ไปอยู่กับอนาคตบ้าง แล้วก็หลง อยู่ในวังวนแห่งอารมณ์ พอคิดถึงอดีตก็เศร้า โศก โกรธ แค้น อาลัยอาวรณ์ รู้สึกผิด พอไปนึกถึงอนาคต นึกไม่เป็นมันก็เกิดความกังวล กระวนกระวาย เกิดความกลัว ลองดูเวลาเรากลัว เวลาเรากังวล เรากระวนกระวาย เพราะว่าใจไปนึกถึงอนาคต แล้วก็ออกมาไม่ได้ ออกมาไม่ได้มันหลงวน เพราะฉะนั้นนี่ต้องรู้จักหาใจให้เจอ พาใจกลับมาบ้าน มีบ้านของใจแล้ว ก็คือกาย คือปัจจุบันขณะ แต่ว่าใจกลับบ้านไม่ได้ มันหลงวนอยู่ใน เหมือนหลงป่าหลงทางก็ได้ ป่าอารมณ์ อารมณ์เศร้า โศก เสียใจ โกรธ เหมือนกับเด็กหลงทาง เด็กหลงป่า พ่อแม่ก็ไปตาม ไปตามให้กลับมา ใจเราก็เหมือนกันมันหลง ขณะที่พูดอยู่นี้ บางทีใจเราก็หลงไปแล้ว หลงไปในอดีตบ้าง อนาคตบ้าง พาใจกลับมา พาใจกลับบ้าน อะไรที่จะพาใจกลับบ้าน คือ สติ
สตินี่เป็นตัวที่ฉลาดในการตามหาใจ ถ้าเราฝึกสติดี ๆ จะตามหาใจได้เก่งมาก ใจหลงอยู่ในอดีต อนาคต จะอยู่ในป่าอารมณ์ที่มันซับซ้อน ลึกลับอย่างไรนี่ สติก็มีปัญญาหาเจอ แล้วก็พากลับมาสู่บ้าน บ้านของใจ ฝึกสติเอาไว้ สติที่เรามีอยู่ในชีวิตประจำวันนี่ ก่อนที่จะมาปฏิบัตินี่ มันเป็นสติที่งุ่มง่าม ไม่ฉลาดในการหาใจให้เจอได้ ใจก็จมอยู่ในความคิด ในอารมณ์ จนบางทีออกมาไม่ได้ ออกมาไม่ได้คือเป็นบ้า คลุ้มคลั่ง บางทีก็ออกมาได้เป็นพัก ๆ บางคนก็ไม่ได้บ้าตลอด ไม่ได้วิกลจริตตลอดก็พอรู้ตัวบ้างแต่ก็หลงเข้าไป เข้าไปในอารมณ์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นอดีต รวมทั้งหลงอยู่ในโลกที่ปรุงแต่งขึ้นมา มโนทั้งนั้นแหละ ซึ่งปกติเราก็มโนอยู่แล้ว เรามโนเวลาเราหลับเรียกว่าความฝัน แต่เราฝันอย่างไร ๆ เราก็ตื่น ตื่นมาแล้วเราก็ออกจากความฝัน แต่คนบางคนเขาอยู่ในโลกแห่งความปรุงแต่งไม่ใช่แค่ฝันธรรมดา แต่มันเป็นฝันร้ายด้วย ออกมาไม่ได้ วิธีเดียวที่เขาคิดว่าจะออกมาได้หรือฝันร้ายจะหมดไป ก็คือฆ่าตัวตาย ทนไม่ไหวมันเลวร้ายเหลือเกิน บางทีไม่ใช่ฝันร้ายที่เกิดจากการมโนคิดอะไรต่าง ๆ แต่มันเป็นอารมณ์ อย่างเช่นพวกที่ตกอยู่ในโรคซึมเศร้านี่ มันเป็นภาวะอารมณ์ที่เขารู้สึกทรมานมาก ออกมาไม่ได้ ออกมาได้นิดหน่อยแล้วก็ถูกล่อหลอกเข้าไปใหม่ สุดท้ายก็เลยต้องกินยาฆ่าตัวตาย ผูกคอตายบ้าง เพราะคิดว่านั่นคือทางเดียวที่จะออกมา หรือหลุดจากภาวะนั้นได้ แต่ที่จริงไม่ต้องทำขนาดนั้น หรือมันไม่ใช่วิธีที่ดีเลย ถ้าเพียงแต่มีสติ
สติจะพาจิตที่มันหลงอยู่ในเขาวงกต อยู่ในป่าที่ลึกลับซับซ้อนออกมาได้ ออกมาที่ไหน ออกมาอยู่กับกาย เราชวนให้คนที่ตกในภาวะเหล่านั้นนี่ให้ทำอะไรก็ได้ที่ใช้กาย เช่น ออกกำลังกาย เวลาออกกำลังกายก็ให้ใจอยู่กับการออกกำลังกาย ให้ทำสวน ทำอะไรก็ได้ก็ตามที่ใช้กาย และให้ใจอยู่กับกาย ก็คือว่าให้ใจมีบ้าน ใหม่ๆใจก็ไม่อยากอยู่บ้าน อย่างที่ว่าเด็กใจแตก หรือไม่ก็ถูกล่อถูกหลอกจากมิจฉาชีพที่มันมาชักชวนอยู่หน้าบ้าน ก็หลอกทุกทีหลอกทุกครั้งก็ไปทุกครั้ง แต่ว่าพอมีสติแล้วนี่ แล้วก็กลับมาอยู่บ้านบ่อยๆ ก็จะเกิดฉันทะมีความพอใจในบ้าน พวกเรานี่ถ้าสร้างฉันทะหรือความพอใจในการที่ใจอยู่กับกายได้ ใจจะมั่นคงปลอดภัยมาก ใจจะฉลาดด้วย มีฉันทะเวลายกมือสร้างจังหวะ เวลาเดินจงกรม เวลาคลึงนิ้ว เวลาพลิกมือไปพลิกมือมา สังเกตใหม่ๆ ใจไม่อยากจะอยู่หรอก มันไม่ชอบที่จะอยู่บ้านอยากจะออกไปเที่ยว แต่ทำไป ๆ ก็จะชอบเพราะว่าอยู่แล้วนี่ใจอบอุ่น ใจรู้สึกมั่นคง ใจรู้สึกปลอดภัย ใจรู้สึกเบา สบาย สงบ เย็น ตรงนี้แหละที่ทำให้เกิดฉันทะขึ้น แต่ต้องให้เขารู้สึกเป็นบ้านเอง บ้านก็คือที่ที่เขามีอิสระที่จะออก บ้านคือที่ที่เรามีอิสระที่จะมา อิสระที่จะไปได้ ถ้าหากว่าถูกบังคับให้อยู่ ตรงนั้นไม่เรียกว่าบ้าน จะเป็นคุกแทน
ถ้าเราบังคับจิตให้อยู่กับกาย พยายามบังคับจิตให้อยู่กับลมหายใจ พยายามบังคับจิตให้อยู่กับมือโดยการเพ่ง โดยการบังคับจิตให้อยู่กับเท้านี่ บังคับจิตให้อยู่กับคำบริกรรม อันนี้จิตจะรู้สึกว่าไม่ใช่บ้าน มันคือคุก คุกก็คือที่ที่ไม่มีอิสระที่จะไป ที่จะมา สบายแค่ไหนก็เป็นแค่กรงทองสำหรับนก นกทุกตัวนี่กรงทอง กรงเพชรก็ไม่มีความหมาย เพราะว่าไม่มีอิสระไม่มีเสรีภาพ มันจะไม่เรียกกรงทองว่าบ้านเด็ดขาด มนุษย์เราก็เหมือนกัน อะไรก็ตามที่ถูกบังคับให้อยู่ตรงนั้นตรงนี้ มันก็ไม่ใช่บ้าน กายนี่ก็ไม่ใช่บ้านของใจ จะกลายเป็นคุกไป
ต้องให้อิสระกับใจที่จะออกไป ถ้าว่าเขาเกิดมีความสุขกับการที่อยู่กับกาย เขาก็จะกลับมาอยู่เรื่อย ๆ แล้วก็ไม่อยากที่จะออกไป วิธีการฝึกให้มีสติที่รวดเร็วฉับไวในการพาใจมากลับมาอยู่บ้าน และพอใจในการอยู่บ้าน คืออยู่กับกาย อยู่กับปัจจุบันขณะ ก็มีหลักง่าย ๆ ก็คือว่าเวลาทำอะไรก็ทำทีละอย่าง เวลาอาบน้ำ ก็อาบน้ำอย่างเดียวไม่ต้องคิดโน่นคิดนี่ เวลากินข้าว ก็กินข้าวอย่างเดียว ไม่ต้องอ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ต้องเปิดไลน์ ไม่ต้องเล่นเฟสบุ๊ค ไม่ต้องคิดงานคิดการ เวลาเดินขึ้นบันได เวลาเดินไปหน้าปากซอย ก็เดินอย่างเดียวไม่ต้องคิดอะไร ตรงนี้ที่จะทำให้ใจนี่อยู่กับกายได้ ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น
ทุกวันนี้ปัญหาของคนเราคือทำหลายอย่างพร้อมกัน ขณะที่อาบน้ำก็คิดทำเมนูอาหาร วันนี้จะทำอะไรเลี้ยงลูกดี วันนี้จะทำอะไรถวายพระดี นี่เราทำ 2 อย่าง เวลากินข้าวก็คิดไปด้วย วางแผนเรื่องงานเรื่องการ เวลาทำงานแทนที่จะทำงานเฉพาะหน้า ก็คิดถึงงานชิ้นอื่นด้วย เรามีงาน 10 ชิ้น หรือ 20 ชิ้นก็ตามที่คาอยู่ เวลาทำงานอะไรก็ตามก็ทำแต่ชิ้นนั้น ทำทีละอย่างทำทีละชิ้น อันนี้เป็นวิธีง่าย ๆ แต่ส่วนใหญ่เราไม่ชอบทำอะไรที่ง่าย เราชอบทำอะไรที่ยาก ก็เลยทำหลายอย่างพร้อมกัน เวลาทำงานก็นึกถึงลูกไปด้วย เวลาอยู่กับลูกก็นึกถึงงาน ก็เลยไม่ได้อะไรสักอย่าง ลองฝึกดู ใหม่ ๆ ใจไม่ชอบหรอก เพราะใจถนัดทำอะไรหลาย ๆ อย่าง บางทีทำงานไป บ่นไปก็มี อันนี้เรียกว่าทำหลายอย่างพร้อมกัน ทำไปบ่นไป บ่นใคร บ่นเพื่อน บ่นเจ้านาย อันนี้ก็ถือว่าทำ 2 อย่าง ก็เลยเหนื่อย 2 อย่างเลย เหนื่อยกายด้วย เหนื่อยใจด้วย
ถ้าทำทีละอย่างถ้าทำไปใจไม่บ่น ใจก็อยู่กับงาน คนอื่นเขาจะเป็นอย่างไร เขาจะอู้งานหรือไม่ เจ้านายจะไม่เป็นธรรม มาให้งานชิ้นนี้กับเรา คนอื่นไม่ให้ก็เป็นเรื่องของเขา เมื่อเราต้องทำเราก็ ใจอยู่กับงานชิ้นนั้น ทำทีละอย่าง ทำไปบ่นไปคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนมากมาย ขับรถก็หงุดหงิดไปด้วย ขณะที่ขับรถ ใจก็ไปคิดถึงจุดหมายปลายทางข้างหน้าแล้วว่าจะไปถึงทำงานทันไหม จะประชุมทันหรือเปล่า จะตกเครื่องบินไหม จะส่งลูกทันเวลาไหม อันนี้เขาเรียกทำ 2 อย่างเลย ทำแค่ทีละอย่างพอ ขับรถก็ขับรถ ไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องคิดแม้กระทั่งว่า เอ๊ะ จะทอดกฐินปีหน้าที่ไหนดี จะไปสร้างวัดที่ไหนดีปีหน้า บางคนขับรถไปก็วางแผนแล้วเรื่องการทำบุญทอดกฐิน หรือเรื่องการทำบุญถวายในหลวง ทำบุญถวายในหลวงนี่ดี จะทำบุญทอดกฐินก็ดี แต่ว่าควรจะคิดเมื่อเรามีเวลาที่จะคิด ถ้าจะคิดก็ให้นั่งคิด นั่งคิดด้วยใจเต็มร้อยเลย แล้วก็ไม่วอกแวก ไม่ใช่คิดเรื่องทอดกฐินเรื่องทำบุญ เดี๋ยวเผลอก็ไปคิดเรื่องการเรียนของลูก อันนี้เรียกว่าทำ 2 อย่างเหมือนกัน แทนที่จะคิดเรื่องเดียว คิดหลายเรื่องพร้อมกันเลย หลายคนก็เป็นอย่างนี้คือคิดจับจด หรือบางทีเขาเรียกว่าคิดเรี่ยราด แต่ขณะที่ขับรถนี่ก็จะคิดเรื่องอะไรก็ไม่ควร ลองฝึกดู ขับรถก็ขับรถอย่างเดียว อาจจะเปิดเทปธรรมะฟังบ้าง ก็เพื่อเตือนสติให้ใจเรามาอยู่กับปัจจุบัน แต่ไม่ใช่ไปฟังเทปธรรมะขณะขับรถฟังด้วยใจที่จดจ่ออันนี้ไม่ได้
แม้แต่เวลาฟังธรรม ก็ฟังธรรมอย่างเดียว อย่าเพิ่งไปคิดเรื่องงานเรื่องการ อย่าเพิ่งไปคิดโน่นคิดนี่ เวลาฟังก็ฟังอย่างเดียว แม้แต่จะไปรู้กาย ขณะฟังไปด้วยก็ยังไม่ถูก บางคนก็ฟังไปด้วยเจริญสติไปด้วย ด้วยการรู้กายที่มือที่เคลื่อนไหว ถ้าทำ 2 อย่างนี่ จริง ๆ แล้วถ้าฟังก็ฟังด้วยใจเต็มร้อย ตามคำบรรยายไปสะดุดตรงไหน ก็อย่าไปติดตรงนั้น เพราะว่าคำพูดบางประโยคที่เราสะดุดนี่เป็นคำพูดที่เป็นอดีตไปแล้ว เราก็มีสติอยู่กับการฟังอยู่กับปัจจุบัน ตรงไหนที่ไม่เข้าใจก็เก็บไว้ก่อน ระหว่างที่เราฟังก็มีสติในการฟัง การรู้กายนี่ก็เป็นเรื่องที่เป็นรอง แต่ถ้าจะเจริญสติก็เจริญสติไป การฟังก็เป็นเรื่องทีหลัง ระหว่างที่เราเจริญสติยกมือ คำพูด คำบรรยายก็สักแต่ว่าฟังผ่าน ๆ ไป ไม่ใช่ฟังไปด้วยเจริญสติรู้กายไปด้วย อันนี้บางทีก็สับสน
หลักง่าย ๆ นี่ สำหรับผู้ที่ปฏิบัติใหม่ ๆ คือทำทีละอย่าง ก็เหมือนกับเวลากินข้าว เราก็กินข้าวทีละคำ เวลาเดิน เราก็เดินทีละก้าว เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง มันเป็นหลักง่าย ๆ ที่เอามาใช้ ถ้าทำเป็นนิสัยนี่ สติเราก็จะเจริญ สติเราก็จะไว ความคิดเกิดขึ้น สุขภาพที่ย่ำแย่ ก็เพราะทำหลายอย่างพร้อมกัน เวลากินข้าวใจก็นึกไปด้วย พอนึกถึงเรื่องงานเรื่องการ นึกถึงว่าต้องมีประชุมก็จะรีบกินรีบเคี้ยว พอรีบเคี้ยวไปนาน ๆ ทำอย่างนี้เป็นนิสัย ร่างกายก็แย่ จะมีโรคบางอย่างที่รักษาอย่างไรก็ไม่หาย
มีคนหนึ่งชอบเคี้ยวข้าวเร็วมาก มื้อหนึ่งกินไม่ถึง 5 นาทีก็เลิกแล้ว เพราะว่ามีงานมาก เวลาที่กินข้าวก็คิดถึงเรื่องงาน เป็นผู้หญิงเก่ง ธุรกิจกิจการดูแลมาก ตอนหลังนี้สุขภาพก็แย่ งานการก็ไม่ค่อยราบรื่นเท่าไร มีปัญหากับลูกน้อง มีปัญหากับลูกชาย ตอนหลังก็ลองทดลอง เคี้ยวข้าวช้า ๆ เคี้ยวข้าวให้ช้าลง เวลาเคี้ยวข้าวนี่กินข้าวใจก็นึกถึงงานก็เผลอกินเร็ว ๆ เคี้ยวเร็ว ๆ แต่พอบังคับใจว่าต้องเคี้ยวข้าวช้า ๆ ใจมาอยู่มีสมาธิกับการเคี้ยว มันก็วางเรื่องงานเรื่องการไปได้ ใส่ใจกับคนที่กินข้าวด้วย อยู่ร่วมโต๊ะด้วย เช่นลูกชาย เริ่มโอภาปราศรัยกับลูกชาย การเคี้ยวข้าวช้าลง โรคหายใจไม่เต็มท้องหรือว่าโรคปวดท้องก็หายไป แต่ก่อนกินยาเป็น 10 ปีก็ไม่หาย แต่พอเคี้ยวข้าวช้าลง ขณะที่กินข้าวก็นึกถึงการกินข้าวอย่างเดียว ทำทีละอย่าง กินข้าวก็กินข้าว เรื่องงานเรื่องการมีมากแค่ไหนก็วางเอาไว้ก่อน ปรากฏว่าแม้จะใช้เวลากินข้าวนานขึ้น แต่สุขภาพดีขึ้น แล้วก็จิตใจก็เป็นสุขมากขึ้น มีสติมากขึ้น ใช้อารมณ์น้อยลง ที่เคยโวยวายใส่ลูกน้องแต่ก่อนทำบ่อย ๆ ตอนหลังก็ทำน้อยลง ความสัมพันธ์กับลูกน้องก็ดีขึ้น กระจายงานให้ลูกน้องทำ ตัวเองก็มีเวลาว่างมากขึ้น มีเวลามากขึ้นก็สามารถไปเยี่ยมพ่อแม่ได้ พาพ่อแม่ไปเที่ยว อะไรก็ดีขึ้นมาหลายอย่าง เริ่มต้นจากการที่เวลากินข้าวก็กินอย่างเดียวไม่ต้องนึกอย่างอื่น พอวิธีที่บังคับให้กินข้าวอย่างเดียวคือเคี้ยวข้าวให้ช้าลง พอเคี้ยวข้าวให้ช้าลง ใจก็อยู่กับการกินมากขึ้น ทำทีละอย่างนี้มันอานิสงส์มากลองทำเป็นกิจวัตร เป็นนิสัย แล้วจะพบเกิดการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างตามมา