แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ที่ประเทศอเมริกามีแมวตัวหนึ่งที่น่าทึ่งมาก แล้วก็มีความสามารถพิเศษ แมวตัวนี้เป็นตัวผู้ชื่อออสการ์ มันอยู่ที่บ้านพักคนชรา และแมวตัวนี้มีความสามารถพิเศษตรงที่มันรู้ว่าผู้ป่วยคนไหนกำลังจะตาย เวลาใครกำลังจะตาย ภายใน 24 ชั่วโมงหรือว่าไม่กี่ชั่วโมง มันจะเข้าไปในห้องคนนั้น แล้วก็ขึ้นไปบนเตียง คล้ายๆกับว่าไปนอนเล่นเป็นเพื่อนคนที่ใกล้ตาย ที่แปลกก็คือว่ารู้ดี รู้ดีกว่าหมอและพยาบาลด้วย บางคน หมอคิดว่ายังอยู่ได้อีกหลายวัน แต่ออสการ์ก็ขึ้นไปบนเตียงเขา ไม่กี่ชั่วโมง คนนั้นก็หมดลม หมอ พยาบาลก็แปลกใจว่า รู้ดีกว่าเขาได้อย่างไร
มีคราวหนึ่งมีคนป่วยระยะสุดท้าย ใกล้จะตายสองคน มีคนหนึ่งอาการหนักกว่า แต่ออสการ์ก็ขึ้นไปบนเตียงของคนที่อาการดูจะเบากว่า พยาบาลก็คิดว่าเอ๊ะ ออสการ์ คราวนี้คงผิดแล้วล่ะ แต่ว่าไม่อยากให้เสียชื่อออสการ์ว่าผิดพลาด เพราะตอนนั้นเขาเริ่มมีชื่อเสียงแล้วว่าถ้าไปขึ้นเตียงไหน แสดงว่าเตียงนั้นกำลังจะตาย พยาบาลปรารถนาดีกับออสการ์ กลัวออสการ์จะเสียชื่อเพราะว่าผิดพลาดในกรณีนี้ ก็เลยอุ้มออสการ์ไปวางไว้อยู่บนเตียงคนที่อาการหนักพะงาบๆ ออสการ์ไม่พอใจ ออสการ์ลงจากเตียงแล้วก็ขึ้นไปบนเตียงของคนที่อาการดูจะอยู่ได้อีกหลายวัน แต่ปรากฏว่าคืนนั้นคนไข้ที่ออสการ์ไปนอนด้วยก็ตาย ส่วนคนไข้ที่อาการหนักที่คิดว่าจะตายวันนั้นอยู่ได้อีก 2-3 วัน คนก็ยิ่งทึ่งเข้าไปใหญ่ว่าออสการ์รู้ ก็เป็นเรื่องแปลก
ตอนหลังก็มีคนเขียนเรื่องออสการ์ลงในบทความ เป็นบทความวิชาการเลยว่ามันรู้ได้อย่างไร ชื่อเสียงออสการ์ก็เลยแพร่กระจาย แล้วตอนนี้ก็มีคนแปลหนังสือนี้มาเป็นภาษาไทย ชื่อ ออสการ์แมวธรรมดากับพรสวรรค์ที่ไม่ธรรมดา อ่านแล้วไม่ใช่ได้ความรู้เกี่ยวกับออสการ์ แต่ว่าได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องผู้ป่วยระยะสุดท้าย รวมทั้งผู้ป่วยที่เป็นโรคสมองเสื่อมอย่างหนัก
ออสการ์เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เหมือนแมวทั่วไปก็คือ เป็นตัวของตัวเอง ใครจะสั่งอะไรก็ไม่ทำตาม ถ้าเขาไม่พอใจเขาก็ไม่ทำ การที่ไปนอนบนเตียงก็ไม่มีใครสั่ง ในตอนแรกพยาบาลก็ไม่ค่อยชอบ เพราะโรงพยาบาลหรือบ้านพักคนชรา เขาจะไม่ค่อยให้สัตว์เลี้ยงเข้ามา แต่ตอนหลังก็ยอม ยอมแพ้เพราะว่ามีแมวตัวหนึ่งเป็นแมวจรจัดหลงเข้ามาแล้วก็ไม่ยอมออก แล้วพอมาอยู่ คนป่วยก็ชอบ ญาติก็ชอบ ตอนหลังก็เลยมีแมวตัวอื่นมาอยู่ด้วย เช่น ออสการ์ ออสการ์ แปลกที่ว่าคนไข้ก็ชอบ ถึงแม้คนไข้จะเป็นอัลไซเมอร์ แต่ถ้าเจอออสการ์แล้วก็รู้สึกเป็นมิตรด้วย ญาติก็ชอบ โดยเฉพาะเวลาคนใกล้ตายแล้วมีแมวมีสัตว์มาอยู่ข้าง ๆ มาเป็นเพื่อนยามที่จะจากไป
แมวยังมีลักษณะพิเศษ ฝรั่งคนหนึ่งพูดไว้ดี เขาเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างหมากับแมว ถ้าเราเลี้ยงหมา ให้อาหารมัน มันจะคิดว่าเราเป็นพระเจ้า แต่ถ้าเราให้อาหารแมว แมวมันคิดว่ามันเป็นพระเจ้า เวลาเราให้อาหารหมา หมามันจะภักดีกับเรามาก เห็นเราเป็นพระเจ้า มันจะซื่อสัตย์ ภักดีกับเรา เราไปไหนมันก็ไปตาม เราเรียกมัน มันก็มาหา แต่เราเลี้ยงแมว แม้จะเลี้ยงทุกวันๆ มันก็ไม่ได้ภักดีอะไรกับเราเลย มันกลับรู้สึกว่าเรามีหน้าที่ที่ต้องเลี้ยง ให้อาหารมัน เพราะฉะนั้นทุกวันนี้ถ้าเราไม่ให้อาหาร มันก็จะร้อง แล้วก็จะมากวน เหมือนจะมาบอกเราว่า เฮ้ย ได้เวลาให้อาหารแล้ว มีบางคนบอกว่าหมานี้ถ้าเราเลี้ยง เราเป็นเจ้าของมัน แต่แมวนี้ เราไม่สามารถเป็นเจ้าของมันได้ เราเป็นแค่หุ้นส่วน ถ้าพูดอย่างนี้ถือว่าเบาไป เพราะว่าที่จริงแล้วถ้าเราให้อาหารมันนี้ เราเป็นทาสมันเลย ส่วนมันคือพระเจ้า
แล้วมีคนไทยคนหนึ่งทำเว็บไซต์ เกี่ยวกับเรื่องแมวในบ้านของเขาโดยตรงเลย เป็นเฟซบุ๊ก ตั้งชื่อเพจว่า “ทูนหัวของบ่าว” ทูนหัวของบ่าวคือ ตัวเจ้าของนี้รู้สึกว่าตัวเองเป็นบ่าวของแมว เวลาเราให้อาหารแมว แมวไม่ได้จงรักภักดีอะไรกับเราเลย ไม่ได้รู้สึกว่า แมวจะต้องชื่นชม จะต้องติดตามเรา ต้องตอบแทนบุญคุณของเรา จะว่าไปมันก็ดี เป็นการฝึกใจของเรา เวลาเราช่วยใคร เช่น ให้เงินเขา สงเคราะห์เขา ถ้าเราคิดว่าเราช่วยเขาเหมือนกับเราช่วยแมวก็ดี เวลาเราให้อาหารแมว เราก็ไม่ได้เรียกร้องว่าแมวจะต้องมาอี๋อ๋ออะไรกับเรา แมวก็จะเป็นตัวของตัวเอง เรียกแล้วไม่มา เราก็เฉย เราไม่รู้สึกทุกข์ร้อนเลย ไม่รู้สึกโกรธเคือง เวลาแมวมันไม่เชื่อฟังเรา ไม่ทำตามคำสั่งของเรา ไม่มาภักดีกับเรา หรือว่าไม่สำนึกบุญคุณของเรา การที่แมวมีพฤติกรรมแบบนี้ก็ฝึกเรา ให้เราช่วยเหลือคนโดยไม่หวังผลตอบแทน หรือว่าไม่หวังการภักดีจากคนที่เราช่วย
คนส่วนใหญ่เป็นทุกข์ เวลาช่วยใครแล้วเขาไม่เห็นหรือไม่สำนึกในบุญคุณของเรา บางทีเราต้องไปทวงบุญคุณด้วย หลายคนเป็นทุกข์มาก ช่วยเขาแล้วเขาไม่สนใจเรา เขาไม่สำนึกบุญคุณเรา บางทีก็โกรธแค้นเขา ความจริงลองคิดเสียว่าช่วยเขานี่เหมือนกับเราเลี้ยงแมวก็แล้วกัน เวลาเราเลี้ยงแมวเราก็ไม่ได้เรียกร้องให้หรือปรารถนาให้แมวมาสำนึกบุญคุณของเรา เวลาช่วยใครก็ถือว่าช่วยเลี้ยงแมวก็แล้วกัน เหมือนกับเลี้ยงแมว เขาจะจำเราได้หรือไม่ได้ก็เป็นเรื่องของเขา จะสำนึกบุญคุณของเราหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของเขา แต่หน้าที่ของเราคือเมื่อใครตกทุกข์ได้ยาก เราก็ช่วย
เวลาที่เป็นเรื่องของคนอื่นอย่าเอามาเป็นปัญหาของเรา ใครไม่ทำหน้าที่ของเขาก็เป็นเรื่องของเขา เช่น เราช่วยเขาแล้ว เขาไม่สำนึกบุญคุณของเรา อันนั้นเป็นปัญหาของเขา ไม่ใช่ปัญหาของเรา หน้าที่ของเราคือช่วยเขาไป ใครเดือดร้อนก็ช่วยไป ให้ถือว่าเราช่วยเขาเหมือนกับเราเลี้ยงแมวก็แล้วกัน คนเลี้ยงแมวนี้ ถ้าหากว่าได้ความคิดแบบนี้ อาตมาว่าได้ประโยชน์ เวลาเลี้ยงแมวก็ถือว่าฝึกให้เราไม่ไปหวังผล คาดหวัง กับการช่วยของเรา มีคนพูดว่าคนที่เลี้ยงแมวเป็นคนที่ใจกว้างมาก ก็คงเพราะเหตุนี้ พอเลี้ยงแมวแล้วแมวมันก็ไม่ได้สนใจว่าเราช่วยเหลือเขา เขาก็เป็นตัวของเขาเอง ถ้าคนที่สามารถจะอยู่กับแมวแบบนี้ได้ก็แสดงว่าเป็นคนใจกว้าง ไม่เรียกร้อง คาดหวังจากแมว ว่าจะต้องมาอี๋อ๋อฉัน ว่าจะต้องเชื่อฟังฉัน ภักดีกับฉัน เรียกว่ามีแต่ให้ล้วน ๆ ไม่มีความคาดหวัง คนเราถ้ามีจิตใจแบบนี้กับมนุษย์ด้วยกันก็จะมีความสุข ช่วยเหลือใครก็ไม่คาดหวังว่าเขาต้องมาขอบคุณ เขาต้องมาสำนึก ก็จะมีความสุขกับการช่วยคน
คนจำนวนมาก มักจะมีความเจ็บแค้น พยาบาท ฝังใจ ไม่ใช่เพราะอะไรเลย เป็นเพราะว่าเคยช่วยใครบางคน ช่วยแล้วเขาก็ไม่สำนึกบุญคุณ พอเขาได้ดี เขาก็ไม่สนใจ หรือบางทีก็ไปคิดว่าเขาเนรคุณ อันนี้เป็นทุกข์ของคนดี คนที่ชอบช่วยเหลือคนแต่วางใจไม่ถูก ตอนที่เห็นเขาทุกข์แล้วช่วยเหลือนี้ดี แต่ว่าถ้าเกิดว่าเขาจะไม่สนใจ ไม่สำนึกในบุญคุณของเราก็อย่าไปเก็บเอามาคิด ถ้าทุกข์เมื่อไร แสดงว่าเรามีความคาดหวัง เรามีความคาดหวังว่าช่วยเขาแล้วเขาต้องสำนึกในบุญคุณของเรา เขาจะต้องรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณเรา ใครที่คิดแบบนี้ เตรียมใจทุกข์ไว้ได้เลย เพราะว่ามันอาจจะไม่เป็นไปตามอย่างที่เราคิด เป็นการตั้งความหวังหรือการตั้งการวางใจที่ผิดด้วย ช่วยใครก็เหมือนกับว่าลืมไปเลย เวลาช่วยใครให้เราลืมไปเลยว่าเราเคยช่วยเขามันจะสบายใจ ไม่อย่างนั้นเห็นหน้าเขา ก็จะคอยคาดหวังว่าเขาจะต้องทำดีกับเราเป็นพิเศษ เขาจะต้องมาโอ๋มาพูดกับเราดี ๆ จะมีความรู้สึกแบบนี้อยู่ลึก ๆ เวลาที่เราเจอหน้าคนที่เราเคยช่วยเขา อันนี้เพราะยังจำได้ ยังจดจำว่าฉันช่วยแก ฉันช่วยแก เพราะฉะนั้นแกต้องมาสำนึกบุญคุณของฉัน แต่พอคาดหวังแบบนี้ เรียกร้องแบบนี้ก็จะมีการแสดงออกทางสีหน้าท่าทาง แล้วคนที่เคยได้รับความช่วยเหลือจากเรา เขาจะรู้สึกถูกกดดัน รู้สึกถูกเรียกร้อง หรือว่าถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกัน คนเราก็ต้องการการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม แต่พอเจอคนที่เคยช่วยแล้วเขาเรียกร้องให้เรามาซูฮกเขา มาอ่อนน้อมต่อเขา เพราะว่าเขาเคยช่วยเรา คนที่เคยได้รับความช่วยเหลือหลายคนจะรู้สึกแบบนี้ ก็ทำให้เกิดอาการตึงเครียด แล้วก็พาลไม่ชอบ ความสัมพันธ์ก็ร้าวฉาน
ถ้าจะให้ดีเวลาเราช่วย เราก็ลืมไปเลยว่าเราเคยช่วย เวลาเจอหน้าจะได้ไม่ไปคาดหวังว่าเขาจะต้องมากราบกราน ต้องมาพูดกับเราดี ๆ เราก็สบายใจถ้าหากว่าเขาจะปฏิบัติแบบของเขา ส่วนเขาก็สบายใจ เพราะเขาไม่รู้สึกถูกกดดัน ก็กลายเป็นว่าอยู่ด้วยกันได้ เป็นมิตรต่อกันได้ ความสัมพันธ์ไม่ร้าวฉาน แล้วเวลาเราเกิดมีปัญหากับคนที่เราเคยช่วย อย่าเพิ่งไปโทษว่าเขาไม่สำนึกในบุญคุณของเรา เราต้องกลับมาดูใจว่า เราไปคาดหวัง เรียกร้อง กดดันเขาหรือเปล่า บางทีเราทำโดยไม่รู้ตัว ปัญหาจะอยู่ที่เราเองไม่ได้อยู่ที่เขาก็เป็นได้