แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในช่วงนี้ตามทางเดิน ถนน จะมีสัตว์ตัวเล็กๆ เช่น พวกหอยทาก หรือว่า กระสุนพระอินทร์ พวกนี้เดินได้เชื่องช้ามาก เพราะฉะนั้นบางทีก็โดนรถเหยียบ โดนรถทับ บางทีคนก็เหยียบ เพราะว่าไม่ทันสังเกตโดยเฉพาะในเวลากลางคืนหรือว่าเวลาค่ำก็ตายกันเยอะเหมือนกัน สัตว์เหล่านี้มันมาจากป่า อยู่ในป่านี้มันปลอดภัย แต่ว่าพอออกมาจากป่ามาคลานอยู่บนถนน หรือทางเดิน ก็เสี่ยงตายมาก ถึงแม้ว่าพวกเราจะเดินระมัดระวัง บางทีก็อาจจะไม่ทันสังเกต ก็เหยียบตายกันไป คนละตัวสองตัว อย่างที่บอกว่าสัตว์เหล่านี้ถ้าหากว่ามันอยู่ในป่าก็จะปลอดภัย เพราะว่าคงไม่มีคนไปเหยียบย่ำมันในป่าเท่าไหร่ จะเรียกว่าป่าเป็นถิ่นของสัตว์เหล่านี้ก็ได้ แล้วก็สัตว์อีกหลายชนิด ส่วนทางเดินหรือถนนนี่ก็ไม่ใช่ถิ่นของพวกเค้า ก็ทำให้เสี่ยงต่ออันตรายถึงชีวิตเลยทีเดียว
มีเรื่องเล่าที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระสาวก ทรงเล่าถึงนกชนิดหนึ่งชื่อว่า นกมูลไถ นกมูลไถที่เรียกชื่อเช่นนั้นเพราะว่ามันชอบหากินตามรอยไถ ตามทุ่งนา แล้วก็มีนกตัวหนึ่งคงจะออกไปหากินถิ่นอื่นก็เลยโดนเหยี่ยวจับเอาไว้ ตอนที่เหยี่ยวจับนกตัวนี้แล้วบินขึ้นฟ้า มันก็ร้องขึ้นมาว่า ไม่น่าเลยที่มาหากินนอกถิ่นของพ่อ ถ้าหากว่ายังหากินในถิ่นของพ่อ เหยี่ยวก็จะทำอะไรไม่ได้ เหยี่ยวได้ยินภาษาของนกมูลไถก็เลยรู้สึกว่าถูกท้าทายโดยเฉพาะคำพูดที่ว่า ถ้าหากว่ายังอยู่ในถิ่นของพ่อ เหยี่ยวจะไม่มีทางจับได้ เหยี่ยวนี่มีความทะนงตัว มีความเชื่อมั่นว่า มันมีตาที่แหลมคม แล้วก็มีความเร็ว มีความสามารถ นกตัวเล็กๆตัวนี้มันอยู่ที่ไหน ก็ไม่มีทางที่จะพ้นจากเงื้อมมือของเหยี่ยวได้ เหยี่ยวก็เลยถามว่า ถิ่นของเจ้านี่มันอยู่ไหน นกมูลไถก็เลยชี้ให้ดูว่าอยู่ตรงนี้แหละ ชี้ตรงบริเวณทุ่งนาให้ดู ตรงบริเวณที่มีรอยไถ เหยี่ยวรู้สึกว่าถูกปรามาส มันต้องการพิสูจน์ความสามารถว่า กูแน่ ก็เลยเอานกมูลไถไปปล่อยไว้ตรงทุ่งนา นกมูลไถพอมันกลับมาที่ทุ่งนา ก็พูดจาท้าทายให้เหยี่ยวลงมาโฉบ เหยี่ยวมันมั่นใจในความสามารถของมันอยู่แล้ว มันก็เลยพุ่งจากฟ้าลงมาที่ตัวนกมูลไถ กะว่าจะสั่งสอนเสียหน่อย ปรามาสมัน ปรากฏว่าพอเหยี่ยวร่อนโฉบลงมาเกือบจะถึงพื้นดิน นกมูลไถก็รีบหลบเข้าไปในร่องไถ เหยี่ยวมันเบรกไม่ทัน ตัวมันก็เลยกระแทกกับพื้นดินตาย นกมูลไถก็เลยรอดตาย จากการที่ได้กลับมาสู่ถิ่นของตัวเอง
พระพุทธเจ้าเมื่อเล่าเรื่องนี้เสร็จ ก็ตรัสกับพระสาวกว่า ภิกษุก็เช่นเดียวกัน ถ้าหากว่ายังอยู่ใน ถิ่นของพ่อ ก็จะปลอดภัย ถิ่นของพ่อนี้มันหมายถึงอะไร แล้วพระองค์ก็สาธยายว่า หมายถึงสติปัฏฐาน คือถ้ามีสติปัฏฐาน หรือว่าเจริญสติปัฏฐาน ก็เหมือนกับว่าปลอดภัยในถิ่นของพ่อ ความทุกข์ก็ดี กิเลสก็ดี มารก็ดี ไม่สามารถจะมารังควานหรือรบกวนได้ เรื่องนี้พระพุทธเจ้าตรัสเพื่อย้ำให้พระสาวกได้หมั่นเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่าสติ โดยเฉพาะที่เป็นสัมมาสติ มันสามารถจะรักษาใจให้ปลอดภัยได้ ปลอดภัยเพราะอะไร เพราะว่ามีความรู้สึกตัว
สัมมาสติ มันจะเป็นสติที่ประกอบไปด้วยสัมปชัญญะ ในสติปัฏฐาน 4 หรือ ในมหาสติปัฏฐานสูตร ก็จะมีข้อความที่เราสวดอยู่เป็นประจำ อาตาปี สัมปชาโน สติมา 3 ตัวนี้คือ คุณลักษณะของสติปัฏฐาน เป็นสติปัฏฐานที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ อาตาปี ก็คือ ความเพียรเผากิเลส สัมปชาโน คือ ความรู้สึกตัว สติมา ก็คือ สติ
สตินี้มีหลายชนิด สติที่โจรใช้ในการลักขโมย สติที่ผู้ร้ายใช้ในการปล้นจี้ มันก็มี ถ้าหากว่าผู้ร้าย โจร หรือแม้แต่ฆาตกรไม่มีสติในเวลาทำงาน ก็คงทำงานไม่สำเร็จ ความระลึกได้ว่าจะต้องไปที่ไหน บ้านของเจ้าทุกข์อยู่ไหน หรือว่าใครที่เป็นเหยื่อหรือเป็นเป้าที่ตัวเองถูกจ้างวานมา การทำงานของโจร ของผู้ร้ายมันต้องใช้สติ ในการทำงานให้สำเร็จไม่ว่าจะปล้นจะจี้ หรือว่าจะฆ่าก็ตาม แต่นั่นไม่ใช่ สัมมาสติ หรือว่า สติปัฏฐาน เพราะว่ามันเป็นสติที่ถูกใช้เพื่อสนองกิเลส เป็นสติที่ไม่ช่วยให้รู้ทันในกิเลส ในโลภะ ในตัณหา หรือในโทสะที่มันครอบงำหรือบงการจิตใจ แต่ว่าสัมมาสติ เป็นสติที่พิเศษ ประกอบไปด้วยความรู้สึกตัว แล้วก็นำไปสู่ความเพียร เมื่อมีความรู้สึกตัวแล้ว กิเลสหรืออกุศลธรรมมันก็ครอบงำได้ยาก
พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลใดเมื่อมีความรู้สึกตัว กุศลธรรมใดที่ยังไม่เกิด ก็ย่อมเกิดขึ้น ส่วนอกุศลกรรมใดที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ดับไป บุคคลเมื่อมีความรู้สึกตัว และความรู้สึกตัวย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อันยิ่งใหญ่ เพื่อความตั้งมั่น ไม่ดับสูญ ไม่อันตรธาน แห่งพระสัทธรรม พระสัทธรรมในที่นี้หมายถึงคุณธรรมก็ได้ หรือว่า กุศลธรรมที่อยู่ในใจเรา สัทธรรมจริงๆ ก็อาจจะแปลว่าสัจธรรม ก็ได้ แต่ว่าสัทธรรมในที่นี้หมายถึง คุณธรรมหรือว่ากุศลธรรมที่มันอยู่ในจิตใจของเรา คนเราเมื่อมีสติความรู้สึกตัว ความหลงย่อมไม่เกิด ความลืมตัวย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ คนเราถ้าไม่หลงไม่ลืมตัว การที่จะทำชั่วก็ยาก เพราะว่าการทำชั่วด้วยเจตนา ก็เพราะว่ามี โลภะ โทสะ ตัณหา มานะทิฏฐิครอบงำ และพวกนี้เข้ามาครอบงำจิตใจได้ ก็เพราะว่า จิตไม่มีสติ ไม่มีสติเป็นเครื่องรักษา หรือว่าวิถีของจิตไม่ได้เป็นไปในแนวสติปัฏฐาน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เปรียบได้กับที่พระพุทธเจ้าใช้คำอุปมาว่า จิตไม่ได้อยู่ในถิ่นในดินแดนของพ่อ ดินแดนของพ่อก็คือดินแดนแห่งความรู้สึกตัว แห่งความรู้เท่าทันในกิเลสตัณหาที่มันผุดเข้ามาในใจ ซึ่งจะช่วยให้จิตใจเป็นอิสระ ผ่องใส ปลอดโปร่ง
คนเราถ้ามันไม่มีสติ มันก็หลง ลืมตัว ไม่รู้สึกตัว เวลาเราพูดถึงคนไม่รู้สึกตัว คนหลง คนลืมสติ เราอาจจะนึกภาพไปถึงคนที่เมามาย คนที่เมาเหล้าเขาจะไม่ค่อยรู้เนื้อรู้ตัวเท่าไหร่ แต่ที่จริงแล้ว มันไม่ใช่เฉพาะคนเมาเหล้าที่ไม่รู้สึกตัว เมาอารมณ์มันก็ไม่รู้สึกตัวได้ ไม่ใช่เฉพาะความโกรธ ความเกลียด ความเศร้าที่มันทำให้คนลืมตัว หรือมันทำให้คนเมา แม้แต่ความลิงโลดความดีใจ อารมณ์อย่างนี้มันก็ทำให้คนเมาได้ ก็คือลืมตัวไม่รู้ตัว คนเราพอดีใจมากๆ เช่น คนที่ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 ดีใจมาก บางทีเดินด้วยความดีใจ เดินลงบันไดตกบันไดก็มี อารามดีใจมาก หรือดีใจแล้วขับรถ ดีใจเมื่อรู้ว่าถูกรางวัลที่ 1 ขับรถใจก็ลอย แล้วก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ อารมณ์ทั้งหลายถ้าปล่อยให้มันครองใจ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ดีใจ อารมณ์เสียใจ มันก็ทำให้ไม่รู้สึกตัวได้ ก็เปรียบได้กับคนเมา
เมาความคิดก็ได้เหมือนกัน เมาความคิดก็ทำให้ไม่รู้ตัวได้ด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าความคิดนั้นจะเป็นความคิดที่ประเสริฐแค่ไหน จะเป็นศาสนาหรือว่าจะเป็นความคิดทางการเมือง จะเป็นสีไหนก็ตามถ้าไปยึดติดในความคิดนั้น มันก็ไม่รู้ตัว สามารถที่จะด่า สามารถที่จะทำร้ายคนที่คิดไม่เหมือนตัวได้ หรือว่าคนที่ต่างศาสนากับตัว อันนี้เราเห็นได้บ่อยมากตามข่าว ตามสื่อโทรทัศน์ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือแม้กระทั่งในชีวิตประจำวันของเรา บางทีเราเองด้วยซ้ำที่เมาความคิด โดยเฉพาะช่วงที่มันมีความขัดแย้งทางการเมือง คนที่เมาความคิด เมาการเมืองนี่ก็เยอะมาก ถึงขั้นทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อน ถึงขั้นทำร้ายเพื่อน ยิ่งถ้ามันมีอย่างอื่นมาช่วยผสมโรงด้วย เช่นเหล้า อันนี้หนักเข้าไปใหญ่
เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว มีเพื่อน 2 คน กินเหล้าด้วยกัน ก็ไม่ถึงกับเมามาย เรียกว่าพอจะได้ที่ แล้วคุยเรื่องการเมือง คนหนึ่งเชียร์ทักษิณ ตอนสมัยนั้นทักษิณยังเป็นนายกฯอยู่ อีกคนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับทักษิณ ที่จริงเป็นเพื่อนกัน แต่ว่าพอเริ่มจะเมา แล้วแถมไปยึดติดกับความคิดของตัว มันก็เมา เรียกว่าเมาซ้ำสองเลย เมาทั้งความคิดแล้วก็มีเหล้ามาช่วยทำให้เมาเข้าไปใหญ่ ก็ทะเลาะกัน ทะเลาะกันไม่พอ ถึงขั้นลงไม้ลงมือ พอฝ่ายหนึ่งถูกต่อยอีกฝ่ายหนึ่งก็หาไม้มาฟาด ฝ่ายที่ถูกไม้ฟาด ก็โมโห เจอขวานได้ก็เอาขวานจาม ตายเลย เพื่อนกันแท้ๆ เพื่อนที่กินเหล้าด้วยกันก็กลายเป็นว่าตายเสียแล้ว
บางทีไม่ต้องเป็นเรื่องการเมืองหรอก บางทีเป็นเรื่องความปรารถนาดี พี่เห็นน้องเมาเหล้าเป็นอาจิณเลย พี่ก็ขอร้องให้น้องเลิกเหล้า น้องก็ไม่ยอมเลิกเหล้า พี่ก็ชักโมโห มีวันหนึ่งเห็นน้องกินเหล้าก็ด่าน้อง นี่เป็นความปรารถนาดี แต่พอน้องไม่ได้เป็นไปอย่างที่พี่คาดหวัง พี่รู้ว่าการกินเหล้าเป็นของไม่ดี แต่พอไปยึดติดมากว่ากินเหล้าไม่ดี กินเหล้าไม่ดี เห็นน้องกินเหล้า ก็ไม่พอใจก็ด่า ด่าไปด่ามาก็ทะเลาะกัน ทะเลาะกันไปทะเลาะกันมาก็เกิดการต่อสู้ สุดท้ายพี่ก็ฆ่าน้องเลย เพราะว่าสู้ไม่ไหว ไม่รู้จะทำยังไง เห็นคัตเตอร์ ก็เอามาปาดคอเลย
จากความปรารถนาดีที่อยากให้น้องเลิกเหล้า แต่มันไปยึดติดกับความคิด ไปยึดติดกับความปรารถนาดีมาก มันก็กลายเป็นไม่รู้สึกตัว ก็เป็นการเมาความคิด และยิ่งมีการต่อสู้กัน ยิ่งเกิดความโกรธ มีการทำร้ายกัน เจ็บปวดมากมันก็ยิ่งลืมตัวเข้าไปใหญ่ โทสะที่เข้ามาครอบงำ ทำให้กลายเป็นว่าสามารถจะฆ่าน้องได้ ไปว่าน้องว่าน้องนี่ไม่มีศีล 5 แต่ตัวเองกลับผิดศีลข้อที่ 1 หนักกว่าน้องอีก ไปว่าเค้าแต่ตัวเองกลับทำผิดศีล หนักกว่าคนที่ตัวเองว่าเสียอีก เรื่องนี้เรียกว่าเป็นเพราะมันเริ่มต้นจากการเมาความคิด ถึงแม้จะเป็นความคิดที่ดี เช่น มีเจตนาดี รู้ผิดรู้ชอบว่ากินเหล้าไม่ดี แต่พอไปยึดติดถือมั่นมาก แล้วคนที่ตัวเองรัก เค้าไม่ประพฤติตัวหรือไม่มีพฤติกรรมดีอย่างที่ตัวเองปรารถนาก็โกรธ ไม่พอใจ ยิ่งถูกเขาตอบโต้เขาด่าเขาว่าเขาท้าทาย ก็ยิ่งโกรธ อันนี้เรียกว่าเมาอารมณ์ เมาความคิดผสมโรงเข้าไป สุดท้ายก็ทำในสิ่งที่ตัวเองนี่ ในยามปรกติคงไม่คิดว่าจะทำ อย่าว่าแต่จะทำเลย แค่คิดว่าจะทำคงไม่คิดหรอก พี่ชายจะฆ่าน้องได้ยังไง พี่ชายปรารถนาดีกับน้องจะตาย ไม่อยากให้น้องกินเหล้า ห่วงน้อง นี่มันเป็นได้ขนาดนี้เมาความคิดนี่ ซึ่งมันก็เกิดจากความยึดติด
คนเราถ้าไปยึดติดความคิด หรือยึดติดอะไรก็ตาม มันก็เมาได้ง่ายๆ คือเกิดความไม่รู้สึกตัว ความยึดติดมันทำให้หลง ไม่ว่าสิ่งที่ยึดติดจะเป็นอะไรก็ตาม ยึดติดในเงินนี่มันก็เมา เพราะเห็นเงินเป็นพระเจ้า ก็สามารถทำความชั่วเพื่อเงินได้ ยึดติดในชื่อเสียง ในสถานะ ในตำแหน่ง ก็สามารถจะทำให้ตัวเองเผลอทำชั่วได้ เช่น คอรัปชัน หรือไปใส่ร้ายคนอื่นเพื่อจะให้ตัวเองเป็นใหญ่ ไปเลื่อยขาเก้าอี้เขา ไปใช้วิธีการต่างๆ ที่เลวร้าย เพื่อให้ตัวเองได้มาเป็นใหญ่แทน
คนเราทำชั่วได้ ไม่ใช่เพราะเจตนา ไม่ใช่เพราะสันดานชั่ว หลายคนก็เป็นคนดี ดีแบบปานกลาง แต่ว่าพอมีความยึดติดกับอะไรบางสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง อำนาจ ชื่อเสียง หรือความคิด อุดมการณ์ มันก็ลืมตัวได้ง่ายๆ อย่าว่าแต่อะไรเลยแม้กระทั่งบุญ บุญเป็นของดี แต่บางคนหรือหลายคนก็เมาบุญ อยากได้บุญมากเพราะเห็นว่าบุญเป็นของดี จะทำให้มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ มีความเจริญ ก็ทำบุญอย่างหนัก ยิ่งมีคนบอกว่ายิ่งทุ่มเทเท่าไหร่ยิ่งได้บุญมากเท่านั้น บางคนทำบุญหมดตัวเลยก็มี ทำบุญหมดตัวนี่ไม่ใช่ว่าดีเสมอไป โดยเฉพาะถ้าหากว่าตัวเองมีครอบครัว มีคนที่ต้องดูแล ทำบุญจนหมดตัวเพราะคิดว่าทำมากๆ ให้มากๆ บริจาคมากๆ จะได้บุญ อย่างนี้ก็เป็นความคิดที่ผิดอยู่แล้ว เพราะว่าบุญไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงิน ไม่มีเงินมีแต่ข้าวแค่ก้อนเดียว มันก็มีอานิสงส์มาก
อย่างในสมัยพุทธกาล มีนางทาสี ไม่มีอะไรเลย ทำงานเสร็จมาเหนื่อย ทำงานตำข้าวตลอดคืนจนถึงเช้า ข้าวที่ตำได้ก็ต้องให้กับคนว่าจ้างหรือเจ้านาย ตัวเองก็ได้แค่เศษข้าวแล้วก็เอารำข้าวมาผสมกลายเป็นก้อนข้าว กะว่าจะเอาไปกินตอนเช้า เดินเจอพระพุทธเจ้ากำลังบิณฑบาตผ่านมา ด้วยความศรัทธาก็เลยถวาย ได้บุญมากเพราะว่าเป็นทานที่ถวายด้วยศรัทธา ก็ปรากฏว่าทำให้มีอานิสงค์ ยิ่งพอได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ก็บรรลุธรรมเป็นโสดาบันเลย นี้เรียกว่าเป็นบุญที่มีอานิสงค์มากเพราะว่าเกิดจากศรัทธา ไม่ใช่เกิดเพราะจำนวนเงิน
แต่เดี๋ยวนี้คนไปเข้าใจว่า บุญจะได้มากก็ต้องถวายเยอะๆ บางคนก็เลยบริจาคจนหมดตัวทุ่มหมดตัวเลย ยิ่งมีลูกยุก็ยิ่งทุ่มเข้าไป แบบนี้เรียกว่าเมาบุญ เพราะว่าพอหมดตัวก็เดือดร้อน ลูกเมียก็ลำบาก และตัวเองก็กลายเป็นภาระให้กับคนอื่น เพราะว่าบริจาคหมดตัวนี่เอง เมาบุญนี่ไม่ใช่ของดีและมันก็เป็นไปได้ด้วย หรือบางคนอยากจะไปทำบุญกับหลวงพ่อหลวงตาองค์นี้ เพราะเชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ก็แห่กันไป คนเยอะก็อยากจะถวายให้ท่านฉัน เรียกว่าเบียดเสียดยัดเยียดกัน บางทีถึงขั้นทะเลาะเบาะแว้งกัน เพียงเพื่อว่าจะให้ครูบาอาจารย์หลวงพ่อหลวงตาท่านได้ฉันอาหารของเรา หรือว่าได้ทำบุญกับท่าน ถึงขั้นเบียดเสียดยัดเยียด ก็กลายเป็นเกิดความหงุดหงิด เกิดความแค้น เกิดความโกรธ อันนี้ไม่ได้บุญหรอก เพราะว่าเกิดอกุศลจิต แต่ว่าที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความเมาบุญ
ขึ้นชื่อว่า ความยึดติดถือมั่นแล้ว สุดท้ายก็ไปลงที่ความไม่รู้เนื้อรู้ตัว ก็เป็นความเมาชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น เราต้องระมัดระวังให้ดีจะทำอะไรก็ตาม ก็ให้มันมีความรู้สึกตัวเอาไว้ เพราะว่าถ้ามีความรู้สึกตัว การที่เราจะทำความดี มันก็จะส่งผลเป็นความดีจริงๆ ไม่ใช่เจตนาอยากจะทำความดีแต่สุดท้ายกลายเป็นการสร้างปัญหา หรือกลายเป็นการไปทำร้ายคนที่เราเจตนาดี อย่างเรื่องคนที่ไปฆ่าน้อง เพราะเริ่มต้นที่เจตนาดีไม่อยากให้เขากินเหล้า
ถิ่นที่ปลอดภัยนี่ จึงอยากจะพูดว่าก็คือ สติปัฏฐาน บางคนอาจจะสงสัยว่า เส้นทางบุญหรือว่าบุญ ไม่ใช่เป็นถิ่นที่ปลอดภัยหรือ ก็อย่างที่บอกว่า บุญนี่อาจจะเป็นถิ่นที่ไม่ปลอดภัยก็ได้ ถ้าเกิดว่าเราทำบุญด้วยความหลง ทำบุญด้วยความไม่รู้ตัว หรือว่าเมาบุญ ขึ้นชื่อว่าเมาแล้วนี่ มันผิดทั้งนั้น และที่เมาก็เพราะความยึดติดถือมั่น แม้แต่ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนี่ พระองค์ก็ย้ำว่าอย่าไปยึดติดถือมั่น พระองค์เคยเปรียบว่า ธรรมะของพระองค์เปรียบเหมือนกับแพที่มีไว้ข้ามฟาก แพนี้มีไว้ข้ามฟาก เมื่อถึงฝั่งแล้วคนฉลาดเขาก็จะเดินขึ้นฝั่งตัวเปล่า แต่บางคนเมื่อถึงฝั่งแล้วจะแบกแพขึ้นไปด้วย แบบนั้นมันผิดวัตถุประสงค์ของแพแล้ว แพมีไว้ข้ามฝั่งข้ามฟาก เมื่อถึงฝั่งแล้วก็วางแพไว้ตรงนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมะของพระองค์ก็เช่นเดียวกัน เป็นเหมือนพ่วงแพที่มีเอาไว้ข้ามฝั่ง ก็คือข้ามโอฆสงสาร ข้ามพ้นห้วงแห่งความทุกข์ เมื่อถึงความพ้นทุกข์แล้วก็ต้องวางให้หมด นี่ขนาดเป็นธรรมะที่พระองค์ทรงแสดง ซึ่งล้วนแต่เป็นกุศลธรรมทั้งนั้น นับประสาอะไรกับอกุศลธรรม ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ถ้าไปยึดติดถือมั่นยิ่งทำให้เกิดความฉิบหายไปใหญ่ ต้องระมัดระวัง ความเมานี่ ไม่ว่าจะเป็นเมาอารมณ์ เมาความคิด หรือว่า เมาความดี เมาบุญ นี่มันไม่ดีทั้งนั้น รวมทั้งเมาธรรมะ
เรื่องนี้เคยกล่าวไว้แล้วว่า พระพุทธเจ้าเคยเปรียบการศึกษาธรรมว่าเหมือนกับการจับงู คำว่างูหรืออสรพิษ พระพุทธเจ้าไม่ได้หมายถึงเงินอย่างเดียว แต่ว่าการศึกษาธรรม พระพุทธเจ้าเคยเปรียบว่าเปรียบเหมือนการจับงู ถ้าจับงูไม่เป็นก็เป็นอันตราย เช่น ไปจับงูที่ขนดหาง งูมันก็แว้งกัด จะจับงูต้องจับให้เป็น เรื่องนี้พระพุทธเจ้าเปรียบ เหมือนกับว่าการศึกษาธรรม ถ้าศึกษาธรรมเพื่อยกตนข่มท่าน ศึกษาเพื่อคนอื่นจะได้ว่าเราไม่ได้ เอาไว้เพื่อปกป้องตนเอง เอาไว้เพื่อกันไม่ให้คนด่า หรือว่าศึกษาธรรมเพื่อลาภสักการะ พวกนี้ก็เปรียบเหมือนกับการจับงูหรืออสรพิษที่หาง ก็อันตราย แต่ถ้าศึกษาธรรมเพื่อการพ้นทุกข์ เพื่อลดเพื่อละขจัดกิเลสในใจ นี้แหละมันจะเป็นเปรียบเหมือนการจับงูอย่างถูกต้อง และจะทำอย่างนั้นได้จะต้องมีสติมีความรู้สึกตัว เพราะไม่เช่นนั้นความยึดติดในความคิด ในวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมาก็จะเกิดขึ้น แล้วก็จะใช้วิชาความรู้แม้จะเป็นความรู้ทางธรรม ไปข่ม ไปว่า ไปทำร้าย ไปด่าผู้อื่น หรือว่าใช้เพื่อยกตนข่มท่าน ซึ่งเป็นการปรุง เป็นการพะเน้าพะนอปรนเปรอกิเลส ก็กลายเป็นว่า แทนที่จะได้ประโยชน์กลับได้โทษ
ฉะนั้นเราจะทำอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการทำความดี ให้ทาน รักษาศีล ภาวนา สิ่งที่ต้องมีก็คือ สติ มีความรู้สึกตัว สิ่งนี้มันเป็นพื้นฐานเลย ถ้าหากว่ามีสติเสียอย่าง ความดีที่ทำ ก็จะเป็นความดีที่ส่งผลดีไม่ประกอบไปด้วยโทษ แต่ถ้าไม่มีสติแล้วทานที่ทำ ก็อาจจะกลายเป็นโทษได้ เช่นที่ยกตัวอย่างประเภทเมาบุญ ให้ทานจนหมดตัว หรือเบียดเสียดยัดเยียดกันทำบุญ เสร็จแล้วก็ทะเลาะกัน ด่ากัน มันก็มีที่ไปทำบุญในวัดเสร็จแล้วก็ทะเลาะกัน แบบนี้เรียกว่าตั้งใจทำบุญแต่กลับได้บาป เพราะความเมาบุญ เพราะไม่มีสติ เพราะไม่มีความรู้สึกตัว
เพราะฉะนั้นเมื่อมีความรู้สึกตัวเสร็จแล้วมีสติแล้ว ไม่ว่าทำอะไรมันก็จะกลายเป็นความดีและเกิดผลดีขึ้นมา หรือแม้แต่ใช้ทำอะไรก็ตามในชีวิตประจำวัน มันก็กลายเป็นการปฏิบัติธรรมได้ อาบน้ำ ถ้ามีสติกับการอาบน้ำมันก็เป็นการปฏิบัติธรรมทันที ล้างหน้า รู้สึกตัวเวลาล้างหน้าก็เป็นการปฏิบัติธรรม เดินขึ้นบันได เดินลงบันได ถ้ามีความรู้สึกตัวมันก็เป็นการปฏิบัติธรรม กินข้าวก็เป็นการปฏิบัติธรรม ถ้าเรามีสติ หรือว่าเอาใจใส่ลงไปในการกระทำใดๆ ก็ตาม แต่ถ้าหากว่าไม่มีสติไม่มีความรู้สึกตัวแล้ว แม้จะให้ทาน แม้จะรักษาศีล แม้จะภาวนา ก็อาจจะพาเข้ารกเข้าพงได้ ให้ทานกลับเป็นการสร้างกิเลส รักษาศีลกลับเป็นการยกตนข่มท่าน ดูถูกคนที่มีศีลน้อยกว่า หรือว่าภาวนาแต่ว่าคิดจะเอา นอกจากการภาวนาจะไม่สำเร็จแล้ว บางทีมันก็เกิดความหลงอีกแบบหนึ่ง หลงว่าตัวเองเป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้เก่ง เป็นผู้วิเศษ มีนักภาวนาหลายคนที่ลงเอยแบบนั้น ยิ่งมีลาภสักการะเข้ามาก็ยิ่งเรียกว่า หลง แล้วก็ผิดทิศผิดทางมากขึ้น
พระเทวทัตเองที่พลาดท่าเสียทีก็เพราะเหตุนี้แหละ พอภาวนาแล้วมีฤทธิ์ มีอภิญญา ก็หลงในฤทธิ์ในอภิญญานั้นจนกระทั่งอยากจะเป็นใหญ่เหนือพระพุทธเจ้า พระเทวทัตเป็นคนที่มีความสามารถในการภาวนา แต่พอภาวนาแล้วก็ไปติดกับอภิญญาในฤทธิ์ของตัว ก็เกิดความหลงตัว ลืมตัวว่าฉันแน่ พระพุทธเจ้าชราแล้ว ควรจะมอบหน้าที่ให้กับตัวเองได้แล้ว สุดท้ายพอไม่ได้อย่างที่ต้องการ จากความศรัทธาในพระพุทธเจ้า กลายเป็นความเกลียด มุ่งทำร้ายถึงขั้นหมายเอาชีวิตของพระองค์ คนเรามันพลิกได้เพราะความหลงเพราะความเมา เมาในอำนาจ แต่ที่เมาในอำนาจก็เพราะว่า การภาวนาไม่ได้ภาวนาเพื่อทำให้ลดละหรือเพื่อทำให้เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา ก็กลายเป็นอยากใหญ่อยากโต จนกระทั่งกลายเป็นผู้ที่ทำอนันตริยกรรม คือทำร้ายพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวัง
ขณะเดียวกันให้ตระหนักว่า ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า สติปัฏฐานเป็นถิ่น เปรียบเหมือนถิ่นของพ่อที่ทำให้ปลอดภัย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ปลอดภัยในที่นี้ไม่ได้แปลว่า ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ยังไงก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องป่วย สติปัฏฐานไม่ได้ป้องกันไม่ให้แก่ ไม่ให้ป่วย ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้พลัดพราก แต่ว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วใจไม่ทุกข์ ใจก็ยังปรกติผ่องใสได้ หรือยิ่งกว่านั้น ใช้ประโยชน์จากความแก่ ความเจ็บ ความป่วยนั้นให้กลายเป็นอุปกรณ์สอนธรรมได้
ก็มีหลายท่านทีเดียวที่ เวลาเจอภัยอันตรายเช่นถูกไฟคลอก ถูกเสือกัด ท่านก็ใช้สติปัฏฐานนี้ ในการที่รักษาใจให้เป็นปรกติ ด้วยวิธีการเอาเวทนาเป็นอารมณ์ ก็คือดูเวทนาที่มันกำลังบีบคั้นร่างกาย ไฟกำลังเผาทำลายร่างกาย เสือกำลังกัดกิน เจ็บก็จริง แต่ว่าท่านใช้สติดูความเจ็บ เห็นความเจ็บแต่ไม่เป็นผู้เจ็บ นี้เพราะใช้สติปัฏฐาน ภาษาธรรมะเรียกว่า เอาเวทนาเป็นอารมณ์ คือดูเวทนา และบางท่านก็ดูเห็นเวทนาก็เห็นไตรลักษณ์ จนกระทั่งบรรลุธรรมพ้นทุกข์ได้ ถูกเสือกัดแต่ว่าลงเอย กลายเป็นว่าบรรลุอรหัตผล เพราะว่าท่านได้เห็นไตรลักษณ์ในระหว่างที่ถูกเสือกัด นี้เป็นเพราะสติปัฏฐาน เปลี่ยนเหตุการณ์ร้ายให้กลายเป็นดี เป็นเครื่องหนุนส่งให้บรรลุธรรม เห็นแจ้งในพระไตรลักษณ์จนกระทั่งเข้าถึงพระนิพพานคือ หลุดพ้นจากความยึดติดถือมั่น เพราะฉะนั้นก็พยายาม พยายามรักษาใจของเรา พยายามประคับประคองใจของเราให้อยู่ในอำนาจการปกปักรักษาของสติปัฏฐานเอาไว้ ก็จะปลอดภัย