แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระพุทธเจ้าได้ค้นพบด้วยพระองค์เองว่า ทางสุดโต่งสองทางนี้ไม่สามารถพาไปสู่ความสุขหรือการพ้นทุกข์ได้ ไม่มีใครมาบอกไม่มีใครมาแสดงให้พระองค์ประจักษ์ แต่ว่าเกิดจากการที่ได้ประสบด้วยตนเอง ได้ทดลองมาแล้ว และพระองค์ได้เตือนว่า เราทั้งหลายอย่าไปเกี่ยวข้อง ข้องแวะกับทางสุดโต่งสองทางนี้
หลายคนได้ฟังสาธยายแล้วก็อาจจะคิดว่า ทางสุดโต่งสองทางนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับเราเท่าไหร่ เพราะว่าเราก็ไม่ได้ถึงกับไปหมกมุ่นในกามอย่างชนิดที่เรียกว่าสำมะเลเทเมา หรือว่าเที่ยวเตร่หากามหาความสุขทางกาม มาปรนเปรอตน อย่างที่เราอาจจะเห็นคนจำนวนหนึ่งเขาทำอยู่เช่นนั้น ตามผับตามบาร์ หรือตามห้างสรรพสินค้า หลายคนก็บอกว่าฉันไม่ได้เป็นอย่างนั้น แล้วก็การทรมานตนแบบฤาษีชีไพร นอนบนตะปู อดอาหาร กลั้นลมหายใจ หรือฝังตัวอยู่ในดิน อย่างที่ฤาษีสมัยพุทธกาลหรือแม้กระทั่งทุกวันนี้ยังทำอยู่ ฉันก็ไม่ได้ทำไม่ได้ปฏิบัติอย่างนั้น เพราะฉะนั้นก็แสดงว่า ฉันอยู่บนทางสายกลางอยู่แล้ว แบบนี้เราก็อย่าเพิ่งสรุปอย่างนั้น
เพราะว่าทางสุดโต่งมันมีความหมายหลายระดับ ระดับที่หยาบที่สุดก็อย่างที่พูดมา มันมีระดับที่ละเอียดกว่านั้น ซึ่งรวมถึงการที่เวลาเราประสบความสุข เช่น ได้ฟังเพลงเพราะ ได้กินอาหารที่อร่อย หรือมีคนพูดถูกใจ เราเกิดความดีใจ เราเกิดความลิงโลด แล้วเราก็ปล่อยใจให้จมอยู่ในความสุขอย่างนั้น แบบนี้ก็จัดว่าเป็นทางสุดโต่ง ในฝ่ายกามสุขัลลิกานุโยค ได้เหมือนกัน คือจมหรือดื่มด่ำ จนลืมเนื้อลืมตัวหรือหมดเนื้อหมดตัว ไปกับความสุขที่เกิดขึ้นจากการเสพ แม้ว่าจะไม่ได้ถึงกับไปปรนเปรอตนด้วยกาม อย่างที่ใครต่อใครได้ทำให้เราเห็น ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่เรามีความสุขแล้วเราลืมตัวลืมตน จมหายเข้าไปในความดื่มด่ำนั้น เช่น เวลากินอาหารมันอร่อยเราก็ลืมตัว จมเข้าไปในความรู้สึกเพลิดเพลินในรสชาติอาหาร ให้รู้ว่านั่นคือ กามสุขัลลิกานุโยค แบบหนึ่ง
ส่วนเวลาเรามีความทุกข์ มีความเศร้าเสียใจ มีความโกรธ แล้วเราก็ปล่อยตัวจมเข้าไป หายไปในอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้น แล้วก็พอใจด้วยซ้ำที่จะจมดิ่งอยู่ในอารมณ์นั้น ขนาดมีคนมาชวนให้หลุดจากอารมณ์นั้น เช่น เรากำลังเศร้าสร้อยเสียใจแล้วมีเพื่อนชวนไปเที่ยว บางทียังไม่อยากไป อยากจะนั่งจมดิ่งอยู่ในความเศร้า เพราะว่าความเศร้านี่มันก็มีรสชาติ ที่ทำให้เราอยากจะจมดิ่งให้มันลึกลงไปเรื่อยๆ เวลาเศร้าเสียใจ เพลงประเภทไหนที่เราอยากฟัง เราอยากฟังเพลงมาร์ช เราอยากฟังเพลงป๊อป อยากฟังเพลงที่ทำให้เกิดความกระชุ่มกระชวย หรือเกิดความสุขหรือเปล่า น้อยคนที่อยากจะฟังเพลงแบบนั้น มีแต่อยากจะฟังเพลงที่มันเศร้าสร้อย ทำไมเศร้าอยู่แล้วถึงฟังเพลงที่เศร้าสร้อยอีก ก็เพราะอยากจะจมดิ่งไปในความเศร้า ทั้งที่ความเศร้าทำให้ทุกข์แต่ก็ยังอยากจะทุกข์ให้นานๆ นี่ก็เรียกว่าทรมานตนเหมือนกัน
มีเพื่อนคนหนึ่งได้รับจดหมายจากเพื่อนชายซึ่งเธอแอบรักอยู่ แต่ว่าจดหมายของเพื่อนชายคนนั้นก็ไม่ได้บ่งบอกว่าเขามีใจให้เธอเลย เธออ่านแล้วเธอก็เสียใจนั่งซึม จังหวะนั้นมีเพื่อนมาที่บ้าน มากดกริ่ง ตะโกนเรียกอยู่หน้าบ้านจะชวนให้ไปเที่ยว พอเธอได้ยินเสียงเพื่อนแทนที่เธอจะมีความสุขหรือดีใจ เธอกลับขุ่นเคืองใจรู้สึกไม่พอใจขึ้นมา นึกในใจว่าเวลาสุขก็ไม่สมหวัง เวลาจะทุกข์ก็ยังมีคนมาขัดขวางอีก คนเราเวลาทุกข์ก็จมอยู่ในความทุกข์ เวลาเพื่อนมาชวนไปเที่ยวก็ไม่ไป บางทีโกรธเพื่อนอีก ไม่ใช่เฉพาะความเศร้า ความโกรธก็เหมือนกัน เวลามีความโกรธเกิดขึ้น มันก็อยากจะเผาลนจิตใจด้วยความโกรธนั้นให้รุนแรงมากขึ้น ก็จะไปขุดคุ้ยเอาความไม่ดีของเขา เพื่อทำให้ตัวเองโกรธเขายิ่งขึ้นกว่าเดิม ครั้นมีเพื่อนมาแนะนำให้ให้อภัยเขาแทนที่จะขอบคุณเพื่อนว่าหวังดี ก็กลับโกรธเพื่อนด้วยซ้ำว่าว่าเขาอยู่ฝ่ายศัตรูหรือเปล่าเขาไม่ได้อยู่ฝ่ายเรา ทั้งที่เพื่อนปรารถนาดีไม่อยากให้เราจม อยากให้เราหลุดออกมาจากความเศร้า ความโกรธ แต่ว่าเรากลับหวงแหนอยากจะจมดิ่งไปในความโกรธ หรือว่าอยากจะสุมไฟแห่งความโกรธเผาลนจิตใจเรามากขึ้น ไม่ได้คิดอยากจะออกจากความโกรธหรือทำให้ความโกรธลดน้อยลงเลย เช่น การให้อภัย เป็นต้น อย่างนี้มันก็เท่ากับว่าเป็น อัตตกิลมถานุโยค แบบหนึ่ง คือ พอใจที่จะทำร้ายตัวเองให้ยิ่งกว่าเดิม
เพราะฉะนั้นถ้ามองในแง่นี้ก็จะพบว่า ทางสุดโต่งสองทางที่พระพุทธเจ้าตรัส มันไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย เราก็เข้าไปเกี่ยวกับมันอยู่ เรียกว่าแทบจะทุกวันก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดว่าเราได้ตระหนักเช่นนี้แล้ว ก็ต้องพยายามเตือนตน และสิ่งที่จะช่วยเตือนตนเตือนใจเราได้ดี ก็คือ สติ เพราะว่าสติ ในยามที่เรามีความสุข กินอาหารอร่อย ฟังเพลงเพราะแล้วเกิดความเพลิดเพลิน สติมันจะช่วยเตือนไม่ให้เราถลำจมหายเข้าไปในความรู้สึกนั้น หรือว่าเพลิดเพลินเรียกว่ายินดีในความรู้สึกนั้น สติช่วยทำให้เราเห็น ความดีใจ ไม่ใช่เป็นผู้ดีใจเสียเอง
อย่างที่ได้พูดไปแล้วเมื่อเช้า ทำไมการที่ปล่อยใจกลืนหายเข้าไปในความดีใจ ในความปีติ ในความลิงโลด ถึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ก็เพราะว่าความดีใจ ความสุข ที่ว่า ซึ่งเรียกรวมๆว่า กามสุข คือ สุขที่เกิดจาก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่ใช่ว่ามันจะอยู่กับเราไปได้นาน ถ้ามันอยู่กับเราไปได้นานตลอดชั่วชีวิตนี่ เราก็หลงใหลเพลิดเพลินไปกับมันได้ แต่ความจริงก็คือว่า มันไม่เที่ยง แม้เราจะหวงแหน แม้เราจะรักมันเพียงใด แต่ความสุขมันไม่ได้รักเรา มันไม่ได้คิดจะอยู่กับเรานานๆ ยิ่งเพลิดเพลินอะไรก็ตาม สิ่งนั้นมันยิ่งอยู่กับเราเพียงแค่ชั่วครั้งชั่วคราวประเดี๋ยวประด๋าว สังเกตไหมเวลาเรามีความสุขกับอะไรก็ตาม เวลาจะผ่านไปเร็วมาก ในทางตรงข้ามเวลาเราทุกข์กับเรื่องใด เวลาจะผ่านไปอย่างเชื่องช้า
มีคนเปรียบน่าสนใจว่า ความสุข ก็เหมือนคนที่เรารัก แต่ว่าเขาไม่ได้รักเรา เราพยายามจะยึดเขาเอาไว้ จะครอบครองเขาเพียงใด เขาก็อยู่กับเราไม่ได้นาน เขาก็มีแต่จะหนีตีจากไป ในส่วนความทุกข์ มันเปรียบเหมือนคนที่รักเรา แต่เราไม่รักเขา เราอยากจะผลักไสเขาไปแต่เขากลับตามตื๊ออยู่นั่นแหละ เพราะฉะนั้นเวลาเราเพลิดเพลินดื่มด่ำในความสุขแล้วพอพบว่าความสุขที่ว่ามันเลือนหายไป ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้นกับใจของเรา แล้วเราก็จะพยายามดิ้นรนเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา แต่ว่าบางครั้งยิ่งดิ้นรนพยายามมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งห่างไกลจากสิ่งนั้น
เหมือนกับที่พูดไว้ว่า เวลาเราภาวนาแล้วเราเกิดความปีติ เกิดความดีใจ คนส่วนใหญ่ที่เกิดภาวะเช่นนี้ พอถึงวันรุ่งขึ้นความรู้สึกจะตรงข้าม ก็คือ จะเครียด จะหงุดหงิด จะหนักอึ้ง เพราะอะไร เพราะว่าเสียดายความรู้สึกที่ดีอย่างเมื่อวาน แล้วก็ติดใจ เมื่อติดใจก็เลยอยากจะได้ความรู้สึกนั้น ทำอย่างไรจึงจะได้ความรู้สึกนั้น ก็พยายามบังคับจิตเพื่อให้ใจมันสงบ เพื่อให้ใจไม่คิดฟุ้งซ่าน แต่ยิ่งทำเช่นนั้น มันก็ยิ่งทำให้จิตนั้นเครียด จิตต่อต้าน กลายเป็นว่า แทนที่จะได้รับความสงบ ความโปร่งเบา ก็กลับเป็นทุกข์มากขึ้น เรื่องนี้แทบจะเกิดขึ้นกับทุกคนเลย เมื่อวานนี้ปฏิบัติดี แต่พอถึงวันนี้ล้มคว่ำคะมำหงาย เพราะความยึดติดความหวงแหนในอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวาน แล้วก็ไม่ยอมปล่อยวาง ก็พยายามจะบังคับจิต เพื่อให้ได้อารมณ์หรือสภาวะนั้นอย่างที่เคยได้ แล้วจิตมันก็ยิ่งต่อต้าน
ในการปฏิบัติธรรมมันมีหลักอยู่ว่า ยิ่งอยากได้กลับไม่ได้ ยิ่งอยากสงบก็ยิ่งฟุ้งซ่าน ยิ่งอยากสงบก็ยิ่งห่างไกลจากความสงบ แต่เมื่อใดก็ตามที่วางความอยากลงเสียหรือว่าลืมความอยาก ความสงบก็กลับมาเยือนเรา ที่จริงก็ไม่ใช่เป็นประสบการณ์ที่เกิดกับนักภาวนาเท่านั้น แม้กระทั่งในชีวิตทางโลก เราอยากจะให้ใครรักเรา ยิ่งเราพยายามทำเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งรักเราน้อยลงและระอาเรามากขึ้น เราคงเจอตัวอย่างมากมายหรืออาจจะประสบด้วยตัวเอง เราพยายามที่จะให้คนนั้นคนนี้เขารักเรา เราพยายามเรียกร้องความสนใจจากเขา แต่ยิ่งเราทำเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งระอาเรามากขึ้น หรือถึงกับรำคาญ เพราะว่าการไปเรียกร้องความรักจากเขา บางทีมันกลายเป็นการคาดคั้น ไม่มีใครหรอกที่ชอบการคาดคั้น พอถูกคาดคั้นมากๆเขาก็ระอา เขาก็ค่อยๆถอยหนีห่างไป แบบนี้เขาเรียกยิ่งอยากได้ความรัก ก็ยิ่งไม่ได้รับความรัก แต่พอเราปฏิบัติกับเขาอย่างเป็นธรรมชาติ มีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลมีน้ำใจไมตรี โดยที่ไม่ได้หวังจะให้เขารักจะให้เขาสนใจเรา กลับทำให้เขาหันมาสนใจเรา เข้าหาเรามากขึ้นเพราะเขานับถือน้ำใจ หรือว่าประทับใจในความดีซึ่งเป็นธรรมชาติของเรา
ในการภาวนาก็เช่นกัน ยิ่งอยากได้ก็ยิ่งไม่ได้ แต่ถ้าไม่อยากได้มันกลับได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นความสงบ ความปีติ หรือว่าความรู้สึกตัว เพราะฉะนั้นหลวงพ่อเทียนท่านจึงแนะนำลูกศิษย์ที่เพิ่งมาปฏิบัติ ท่านจะแนะนำว่า ให้ทำเล่นๆ แต่ทำจริงๆ หลวงพ่อเทียนมักจะพูดสั้นๆ แต่ว่ามีความหมาย ทำเล่นๆ ก็คือ ทำโดยที่ไม่มีความคาดหวัง ใจมันจะฟุ้งบ้าง จะเผลอบ้างก็ไม่เป็นไร ไม่เป็นไรเพราะทำเล่นๆ เหมือนกับเวลาเราเล่นกีฬากับเพื่อน จะเป็นฟุตบอล วอลเลย์บอล เราแพ้ถูกเขายิงเข้าประตูไป เราก็ไม่ได้เสียใจอะไร เพราะมันเป็นการเล่นแบบเล่นๆ ไม่ใช่เล่นเพื่อเอาเป็นเอาตาย ถ้าเล่นแบบเอาเป็นเอาตายเพื่อชิงแชมป์เพื่อเอาเงินรางวัล การเสียประตูสักลูกก็กลายเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ เสร็จแล้วก็จะโทษตัวเอง เสร็จแล้วก็จะโทษเพื่อนร่วมทีม แล้วก็เลยไม่มีความสุขยิ่งเล่นก็ยิ่งเกร็ง บางทีพอจะเตะลูกโทษ ทั้งๆที่ลูกโทษมันห่างประตูแค่ 10 เมตร 11 เมตรเท่านั้น ก็ยังเตะไม่เข้า เพราะอยากจะให้มันเข้า ที่อยากให้เข้าเพราะเป็นนัดสำคัญต้องชนะให้ได้ ต้องชนะให้ได้ เป็นนัดตัดเชือก ยิ่งตั้งใจจะยิงเพื่อให้เข้าประตูให้ได้ ก็ยิ่งเตะพลาดเตะผิด นี่เราก็เห็นตัวอย่างมาเยอะแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนักฟุตบอลระดับโลก พอถึงการเตะลูกโทษนัดสำคัญ ก็เตะพลาดเตะยิงนกตกปลาก็มี เพราะความอยากมากเกินไป แต่ถ้าเราเตะเล่นๆ เช่น เราซ้อม ซ้อมยิงก็แทบจะยิงเข้าได้ทุกลูกเลย
การปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน เวลาเราทำเล่นๆ ใจจะฟุ้ง ใจจะเผลอบ้างก็ไม่เป็นไร กลับมาเริ่มต้นใหม่ แต่ถ้าเราทำด้วยความอยาก ก็จะทนไม่ค่อยได้ เวลาใจฟุ้งใจเผลอ ก็จะพยายามไปกดข่มควบคุมความคิดไม่ให้จิตมันฟุ้งซ่าน ยิ่งทำอย่างนั้นก็ยิ่งเครียด บางทีก็พยายามเพ่ง พยายามเพ่งจิตไว้ให้อยู่กับเท้ากับมือ เพื่อมันจะได้ไม่ไปเที่ยวไหน ยิ่งทำอย่างนั้นจิตก็ยิ่งอึดอัด ยิ่งบังคับยิ่งกดข่มก็ยิ่งต่อต้าน มีสูตรว่าแรงกดเท่ากับแรงสะท้อน เราไปกดข่มความคิดเอาไว้ มันก็ยิ่งมีแรงต้านแรงสะท้อน แรงขึ้นพอๆกัน แล้วทำไปๆ ก็จะเครียด บางคนก็ไปดักดูความคิด ไปดักเฝ้าความคิดเพื่อไม่ให้ความคิดมันโผล่ออกมา กลายเป็นว่ามีความรู้สึกลบเป็นปฏิปักษ์กับความคิด ฉะนั้นถ้ามีท่าทีแบบนี้ก็จะปฏิบัติด้วยความทุกข์ ทุกข์ก็ไม่เท่าไหร่แต่มันไม่ได้อะไรด้วย ก็คือห่างไกลจากความรู้สึกตัวมากขึ้น
หลวงพ่อเทียนท่านจึงแนะว่า ให้ทำเล่นๆ จะเผลอบ้างจะฟุ้งบ้างก็ไม่เป็นไร บางทีกลับดีเสียอีก เพราะว่าถ้าเผลอทุกครั้งก็รู้ทุกครั้ง นั่นก็หมายความว่าเผลอสิบครั้งรู้สิบครั้ง มันก็ดีกว่าเผลอครั้งเดียว ปฏิบัติไปห้านาทีเผลอครั้งเดียวฟุ้งเรื่องเดียว นี่มันไม่ดีเมื่อเทียบกับว่า ปฏิบัติในเวลาเท่ากัน แต่ฟุ้งห้าครั้งสิบครั้ง แต่ว่าทุกครั้งที่ฟุ้งก็รู้ รู้ทัน สิบรู้ย่อมดีกว่าหนึ่งรู้ เราลองมองแบบนี้บ้างว่า ฟุ้งไม่เป็นไร เผลอไม่เป็นไร แต่ขอให้รู้ทัน และเมื่อรู้ทันบ่อยๆ รู้ทันบ่อยๆ สติก็จะมีกำลัง สติก็จะไว เพราะเราได้ใช้สติในการรู้ทัน เราใช้มันบ่อยๆ มันก็จะปราดเปรียวรวดเร็ว ความรู้สึกตัวก็จะมาเกิดขึ้นกับใจเรามากขึ้น
ใจเรานี่ ธรรมชาติมันไม่ชอบการถูกมัดถูกล่าม สมมุติว่าเรามีลูกหมา เราอยากจะให้มันอยู่บ้าน เราทำอย่างไรจะให้มันอยู่บ้าน หลายคนใจร้อนก็ใช้วิธีมัดล่ามมันเอาไว้ หรือไม่ก็ขังมันไว้ในกรง มันก็อยู่บ้านแต่ว่าทำไปนานๆ มันก็จะหงุดหงิดอารมณ์เสีย เป็นหมาที่หงุดหงิดง่าย แล้วบางทีเผลอกัดคนได้ด้วย เพราะความหงุดหงิดอารมณ์เสียของมัน แล้วยิ่งกว่านั้นคือ ถ้าเกิดมันออกจากกรงเมื่อไหร่ หรือว่าเชือกขาด โซ่ขาดเมื่อไหร่ มันจะรีบวิ่งหนีออกจากบ้านออกไปเที่ยวเลย แล้วกว่าจะตามมันกลับมาก็ยาก บางทีมันเที่ยวเตลิดเปิดเปิงไปจนกระทั่งหลงก็มี แต่มีวิธีที่สามารถจะช่วยให้มันอยู่บ้านได้ดีกว่า คืออนุญาตให้มันอยู่บ้านหรือจะออกไปนอกบ้านก็ได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่มันวิ่งออกนอกบ้าน เราก็เรียกมันกลับมา ใหม่ๆ มันก็ไม่ค่อยกลับ แต่พอเราเรียกบ่อยๆ มันก็จะกลับมาเร็วขึ้นๆ เราไม่เหนื่อยที่จะเรียกมัน พอเราเรียกบ่อยๆ ในที่สุดมันก็จะกลับมาบ้านไวขึ้นๆ จนกระทั่งมันรู้ว่าสถานที่ที่มันควรอยู่นั้นคือบ้าน คราวนี้มันก็จะอยู่บ้านได้นานขึ้น บางครั้งมันอาจจะเผลอออกไปเล่นนอกบ้าน เวลามีเสียงหมาเห่าข้างนอกมันก็จะลืมตัวเผลอวิ่งออกไปข้างนอก แต่สักพักมันก็จะรู้ตัว แล้วก็จะกลับเข้ามา
จิตเราก็เหมือนกับลูกหมาน้อย เราอยากจะให้มันอยู่บ้าน บ้านในที่นี้คืออะไร คือกาย เราเอากายเป็นฐาน กายที่ยกมือสร้างจังหวะ กายที่เดิน นี่คือการหาบ้านให้กับใจ เพราะว่าใจเรา ที่ผ่านมามันเตลิดเปิดเปิง มันเที่ยวจนกระทั่งกลายเป็นจิตที่จรจัด บางครั้งมันก็ระหกระเหิน เดิมทีมันก็ชอบระเหเร่ร่อนไปกลายเป็นระหกระเหิน แล้วก็อ่อนล้า กลับมาแต่ละทีก็เพลีย บางทีก็สะบักสะบอม ใจของเรานี้ ใจที่ไม่ได้ฝึก มันจะเป็นอย่างนั้น มันจะเป็นเหมือนกับเด็กใจแตกที่อยากจะเที่ยวตลอดเวลาไม่อยากอยู่บ้าน และการที่จะให้เด็กใจแตกอยู่บ้านนั้น ไม่ใช่ด้วยการขังเขาเอาไว้ เพราะถ้าทำเช่นนั้นบ้านจะกลายเป็นคุกไป แล้วใครบ้างที่อยากอยู่คุก เจอคุกเมื่อไหร่ก็อยากหนีเมื่อนั้น
แต่ว่าเราทำกายให้เป็นบ้าน จิตนี่เราก็อนุญาตว่าจะไปหรือมา เข้าหรือออกได้ เมื่อทำกายให้เป็นบ้าน หมายความว่าจิตมันพร้อมที่จะออกไปข้างนอกก็ได้ แต่เราก็พยายามตะล่อมเพื่อให้เขาพอใจที่จะอยู่บ้าน คือให้ใจกลับมาอยู่กับกาย รู้กายเมื่อเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะยกมือสร้างจังหวะหรือว่าอาบน้ำถูฟัน ตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น ที่ใจอยู่กับกายได้เพราะเขารู้สึกว่ากายมันเป็นบ้าน แต่ถ้าเกิดว่าเราทำบ้านให้กลายเป็นคุก ด้วยการบังคับจิตให้แนบแน่นอยู่กับกาย บังคับจิตกดมันเอาไว้ ไม่ให้มันออกไปจากกายด้วยการเพ่ง อันนั้นจิตมันจะรู้สึกเลยว่ากายนั้นคือคุก แล้วมันก็จะหาทางหนีออกมา มันจะหาทางเตลิดออกไปให้ไกลที่สุด เพราะฉะนั้นพยายามทำกายให้เป็นบ้าน ไม่ใช่คุก คืออนุญาตให้จิตออกไปได้ แต่ว่าหน้าที่ของเราคือ รู้ทัน แล้วพยายามเรียกเขากลับมา
สติ นี่แหละจะเป็นตัวที่ช่วยให้รู้ทัน เมื่อใจเผลอออกไป ออกนอกตัว สติก็จะเป็นตัวเรียกให้จิตกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว เมื่อจิตมาอยู่กับตัวก็เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา และความรู้สึกตัวนี่มันสามารถเกิดขึ้นกับเราได้อย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ความรู้สึกตัวจะเกิดกับเราเพียงแค่ชั่วแวบเดียว แล้วมันก็ไปอีกแล้ว เพราะว่าที่ผ่านมา เราไม่เคยที่จะฝึกให้เขากลับมาอยู่บ้าน ก็ปล่อยให้เขาออกไปท่องเที่ยว จนกลายเป็นเด็กใจแตกหรือว่าเป็นหมาที่ชอบเที่ยว ออกไปเล่นนอกบ้านตะพึดตะพือ แล้วมันก็ไม่ไปเปล่า กลับมาทีไรก็หาเรื่องหาราวมาให้เราทุกครั้ง บางครั้งกลับมาแม้ไม่ได้หาเรื่องหาราวให้เรา แต่ก็เหนื่อยล้าเพลีย ให้เราเจริญสติด้วยท่าทีที่ผ่อนคลายมากขึ้น อย่าไปคิดเอาชนะความฟุ้งซ่าน อย่าไปพยายามบังคับกดข่มจิต ให้เป็นไปอย่างที่เราต้องการ เพราะว่าจิตมันเป็นอนัตตา มันไม่ใช่ของเรา มันไม่ใช่สิ่งที่เราจะบงการได้ เราจะบังคับให้มันหยุดคิดแม้เพียงแค่ 1 นาทีหรือ 5 นาที เรายังทำไม่ได้เลย หรือแม้กระทั่งจะคาดเดาว่า มันจะคิดอะไรใน 1 นาทีข้างหน้า เราก็ยังไม่รู้เลย มันจะคิดอะไรใน 2 นาทีข้างหน้า เราก็ยังบอกไม่ได้ เพราะอะไร เพราะมันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา บางทีรถยนต์นี่เรายังคุมได้มากกว่า แต่แม้กระนั้นรถก็ไม่ใช่ของเราอีกเหมือนกัน ของเราในที่นี้ไม่ได้หมายถึงกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย แต่หมายถึงความเป็นจริงตามธรรมชาติ รถนี่เราสั่งให้มันใหม่เสมอก็ไม่ได้ ให้มันไม่เสื่อม ให้มันทำงานตามที่เราต้องการก็ไม่ใช่ว่าเราจะทำอย่างนั้นได้ หน้าที่ของเราคือ คอยฝึกให้จิตนี้เชื่อง เหมือนกับเราเป็นสารถี
ในบทสวดมนต์ทำวัตรเช้า จะมีตอนหนึ่งที่พูดถึงพุทธคุณ แล้วก็บอกว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า ท่านใช้คำว่า อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ สารถิคือสารถี เราอาจไม่ได้มีความสามารถขนาดที่จะฝึกคนอื่นได้ แต่ว่าเราสามารถจะฝึกใจได้ เราสามารถจะเป็นสารถีให้กับจิตใจของเรา คือ สามารถจะสอนให้เชื่องได้ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา เหมือนกับม้าพยศ ม้าป่า มันไม่ใช่ของเราในความหมายที่ว่า เราสามารถจะสั่งให้มันเป็นไปตามใจปรารถนาของเราได้ แต่เราสามารถจะฝึกให้เชื่องได้ เราสามารถจะเป็นสารถีหรือผู้ควบขี่ม้า เพราะว่าเราสอนมันให้เชื่อง จิตนี่เราก็สอนให้เชื่องได้ เมื่อเชื่องแล้ว ความคิดหรืออารมณ์ใดๆที่เกิดขึ้น มันจะไม่มาเป็นนายเราอีกต่อไป แต่ว่าเราจะเป็นนายความคิด
อย่างที่พูดไว้เมื่อวาน ที่เป็นอยู่ส่วนใหญ่คือ เราเป็นทาสของความคิดและอารมณ์ มันเป็นนายครอบงำ คิดอะไรมันสั่งให้ด่าก็ด่า มันสั่งให้เศร้าก็เศร้า มันสั่งให้โกรธก็โกรธ มันสั่งให้ทำลายข้าวของก็ทำ เราอยากจะนอนให้หลับ แต่มันบอกว่าฉันจะไม่หลับฉันจะคิดไปเรื่อยๆ เราก็ทำอะไรกับมันไม่ได้ ก็ต้องเตลิดเปิดเปิงไปกับมันจนตาสว่างทั้งคืนเลยก็มี นี้ก็เพราะว่ามันกลายเป็นนายเราไปเสียแล้ว แต่ถ้าเราสามารถจะฝึกจิตให้เชื่อง เหมือนกับว่าเราเป็นสารถี ความคิดและอารมณ์มันก็จะอยู่ในการดูแลของเราได้ เราสามารถจะใช้มันตามที่เราจะเห็นควร หรือเห็นประโยชน์ได้ สิ่งนี้เกิดขึ้นได้จากการที่เราได้ปฏิบัติเจริญสติ ทำให้เราไม่หลงเข้าไปในทางสุดโต่งทั้งสองทาง และทำให้กายกับใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้เกิดความรู้สึกตัว ทำให้เราสามารถที่จะใช้ความคิดไปในทางที่ถูกต้องที่เป็นประโยชน์ หรือว่าทำให้ชีวิตเกิดความเจริญงอกงามได้