แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อ 2-3 วันก่อน มีข่าวที่เรียกว่าค่อนข้างจะสะเทือนขวัญ ไม่ได้เกิดขึ้นที่เมืองไทย เกิดขึ้นที่ประเทศอินเดีย ในกรุงเดลีซึ่งเป็นเมืองหลวง มีชายหนุ่มคนหนึ่งเอามีดจ้วงแทงผู้หญิงอายุ 20 เรียกว่าแทงแบบไม่ยั้ง ผู้หญิงก็คงขอร้องแต่ผู้ชายไม่สนใจ แทงแล้วแทงอีก เรียกว่าประมาณ20แผลได้ ที่มันน่าสนใจคือว่า คนเยอะแต่ว่าผู้ชายนั้นก็ไม่สนใจ ปกติคนเราเวลาจะทำชั่วนี่ก็มักจะแอบทำไม่อยากจะให้ใครรู้ใครเห็น แต่นี่กรุงเดลีคนก็เยอะ พวกเราไปอินเดียก็คงจะรู้ มันไม่มีที่ไหนที่แทบจะว่างผู้คน ชายคนนี้ไม่สนใจก็แทงอีก แทงจนผู้หญิงเสียชีวิต นี่มันเรียกว่าอุกอาจมาก ชื่อว่าฆ่าคนท่ามกลางผู้คน แต่ที่มันน่าสลดใจกว่านั้นคือว่า คนที่อยู่แถวนั้นผ่านไปผ่านมาหรืออาจจะมุงดูด้วยซ้ำ ไม่มีใครเข้าไปช่วยเลย ตามข่าวว่ามีคนหนึ่ง พยายามเข้าไปแต่ว่าถอยออกมาเพราะกลัวถูกทำร้าย นี่คงเป็นเหตุผลของผู้คนจำนวนมาก ที่ได้แต่มุงดูแล้วก็ไม่ได้ช่วยผู้หญิงคนนั้นเลย ซึ่งที่จริงผู้หญิงคนนั้นคงจะร้องขอความช่วยเหลือ มันกลางวันแสกๆด้วย ทุกคนก็ปล่อยให้ผู้หญิงคนนั้นถูกแทงจนตาย แล้วก็คงจะปล่อยให้ผู้ชายคนนั้น ซึ่งกลายเป็นฆาตกรไปแล้วหลบหนีไป
เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ประเภทว่าผู้คนที่อยู่ในเหตุการณ์รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ก็ปล่อยให้เหตุร้ายมันเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา โดยที่ไม่คิดจะทำหรือว่าไม่ลงมือทำอะไรเลย เมืองไทยก็เป็นข่าวบ่อย อาจจะเคยได้ข่าว ผู้หญิงถูกผู้ชายลวนลามในรถโดยสาร คนก็ปล่อย ก็ยังปล่อยให้ผู้ชายคนนั้นลากผู้หญิงเข้าไปในพุ่มไม้ แล้วก็ทำมิดีมิร้าย บางทีก็หลังตึก ผู้หญิงส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือ ก็ไม่มีใครที่จะคิดจะทำอะไร ก็มีเหมือนกันแต่ว่าทำที่ว่าคือมุงดู หรือว่าสนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมา เป็นอย่างนี้อยู่เรียกว่าแทบทุกหนแห่ง จนกระทั่งเรียกว่า มันกลายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
คำถามคือว่า ทำไมผู้คนทั้งหลายซึ่งก็คงมีผู้ชายไม่ใช่น้อย ถึงได้แต่มุงดู ไม่ได้ช่วยอะไรผู้หญิงซึ่งกำลังประสบเคราะห์เลย เหตุผลก็คือ ความกลัว กลัวว่าจะโดนลูกหลง และก็แน่นอนคือความรู้สึกที่ว่า ไม่ได้ผูกพันอะไรกับเหยื่อผู้ประสบเคราะห์ ถ้าหากว่าคนนั้นเป็นพี่เป็นน้อง เป็นแม่ เป็นคนรักของตัว คงจะไม่อยู่เฉย ความรู้สึกที่ว่าไม่ผูกพัน ไม่รู้สึกอะไรเลยกับคนที่เป็นเหยื่อก็ทำให้เฉยเมย ยิ่งมีความกลัว กลัวจะถูกทำร้าย
ธรรมชาติคนเรานี่เมื่อเจอคนเดือดร้อน มันก็ต้องเกิดความรู้สึกสงสารเห็นใจ อยากไปช่วย ที่จริงอย่าว่าแต่คนเลย สัตว์มันก็มี สัตว์เวลามันเห็นสัตว์อื่นถูกทำร้าย มันก็พยายามที่จะร้องส่งเสียงขอความช่วยเหลือ แต่ทำไมคนเรา ซึ่งมีความเมตตา กรุณา ถึงปล่อยให้เหตุการณ์เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาได้
ความกลัว เป็นเหตุผลหนึ่ง ความเฉยเมยไม่รู้สึกมีส่วนร่วมผูกพันสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นเหยื่อ ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง และเหตุผลที่สำคัญก็คือ การโยนกลองกันไปโยนกลองกันมา คือสมมุติว่า ถ้าในเหตุการณ์นั้น มีผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์นี้แค่คนเดียว มีผู้ชายคนเดียวอยู่ในเหตุการณ์ ก็เชื่อว่าผู้ชายคนนั้นคงจะอยู่เฉยไม่ได้ แต่เป็นเพราะว่ามันมีกันหลายคน ทุกคนก็เลยคิดว่า มึงทำสิ มึงสิ โยนกลองกันไปโยนกลองกันมา เรียกว่าไม่อยากจะรับผิดชอบ ถ้าอยู่คนเดียวนี่ หากว่าตัวเองไม่ทำ มันจะรู้สึกผิดว่า คนเดือดร้อนต่อหน้าแล้วเราไม่ทำอะไรเลยนี่มันน่าเกลียด แต่พอมีหลายคน ต่างก็โยนให้คนนั้นทำคนนี้ทำ
ที่พูดไม่ได้พูดลอยๆ เพราะเคยมีการทดลองว่า ให้ผู้ชายคนหนึ่งนั่งอยู่ในห้อง อาจจะให้ทำงาน อาจจะให้เขียนข้อสอบ หรือว่าทำแบบฝึกหัดหรือแบบทดสอบ ปรากฏว่าเขาได้ยินเสียงร้องจากห้องข้างๆ เป็นเสียงคนร้องขอความช่วยเหลือ อาจจะเป็นลมบ้าหมูก็ได้ ก็พบว่าถ้าเกิดคนที่อยู่ในห้องที่ติดกับคนที่แกล้งเป็นลมบ้าหมูนี่ ถ้าห้องนั้นมีผู้ชายคนเดียว โอกาสที่ผู้ชายคนนั้นจะมาช่วย คนที่อยู่ในห้องติดกันที่ส่งเสียงร้องเหมือนกับจะเป็นลมบ้าหมูนี่ โอกาสมาช่วย 80 เปอร์เซ็นต์ เขาทำหลายครั้ง ส่วนใหญ่อยู่เฉยไม่ได้ แต่ถ้าเกิดในห้องนั้น มีผู้ชายหลายคนหรือมีผู้หญิงด้วย 4-5 คน เปอร์เซ็นต์ที่คนในห้องนั้นจะมาช่วยคนที่เป็นลมบ้าหมูนี่ จะลดเหลือแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ มันลดฮวบเลยจาก 80 เปอร์เซ็นต์เหลือแค่ 30 เปอร์เซ็นต์
สมมุติว่า ห้องอีกห้องหนึ่งมีควันเพราะเขาสุมไฟขึ้นมา แล้วคนที่อยู่ห้องข้างเคียงนี่เห็น ถ้าคนในห้องข้างเคียงนี้ มีคนเดียวโอกาสที่เขาจะไปแจ้งเจ้าหน้าที่ในตึกนี่ ว่ามีไฟไหม้ 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเกิดว่าห้องนั้น มีหลายคนมันจะเหลือแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ ทำไม และคนที่อยู่ในห้องนี้ก็เป็นคนที่มีการศึกษา อาจเป็นคนที่ใฝ่ธรรมใฝ่บุญกุศลด้วยซ้ำ อาจจะเป็นคนชอบทำบุญด้วย ไม่ใช่เป็นคนที่ใจไม้ไส้ระกำ หรือว่าเป็นพวกเกกมะเหรกเกเร
แต่ทำไมพฤติกรรมจึงเปลี่ยน พฤติกรรมเปลี่ยนเมื่อ ขึ้นอยู่กับว่าอยู่คนเดียวหรืออยู่หลายคน ถ้าอยู่คนเดียวก็จะอยู่เฉยไม่ได้ ต้องออกไปช่วย เพราะถ้าไม่ช่วยนี่มันแสดงว่าเราแย่แล้ว มันจะเกิดความรู้สึกผิดว่า เราได้ยินเสียงร้องแล้วไม่ทำอะไรเลย คนส่วนใหญ่ก็จะรู้สึกว่าอดรนทนไม่ได้ ความรู้สึกผิดนี่มันกระตุ้นให้ต้องเขยื้อนขยับทำอะไรสักอย่าง แต่ถ้าอยู่กันหลายคน แต่ละคนก็จะโอน โยนให้คนนั้นทำให้คนนี้ทำ โยนกันไปโยนกันมา อาจจะโยนในใจ มึงทำสิ มึงทำสิ อาจจะคิดว่า ถึงเราไม่ทำก็มีคนอื่นทำ ถึงเราไม่ช่วยก็มีคนอื่นช่วย ถึงเราไม่บอกก็มีคนอื่นบอก อันนี้คือเหตุผลที่ใช้เป็นข้ออ้าง อ้างเพื่อตัวเองจะได้ไม่ต้องทำอะไร แต่ถ้าอยู่คนเดียวมันอ้างแบบนั้นไม่ได้ มันจะละอายใจถ้าไม่ทำอะไร
ฉะนั้นกรณีนี้ ตัวอย่างแบบนี้ก็นำมาใช้ได้ว่า ทำไม เวลาผู้คนจำนวนมากเห็นคนกำลังถูกแกล้ง ถูกรังแก ถูกแทง ถูกลวนลาม หรือว่าไม่มีใครลวนลามก็ได้ แค่เป็นลม เป็นลมอยู่ริมถนน ก็จะเห็นคนผ่านไปผ่านมา น้อยคนที่จะเข้าไปช่วยเพราะทุกคนคิดเหมือนกันว่า ถึงเราไม่ทำคนอื่นก็ทำ เมื่อคิดในใจว่า มึงทำสิ มึงทำสิ มันก็เลยปรากฏว่าไม่มีใครทำอะไรเลย แล้วคนที่เป็นเหยื่อก็เลยถูกปล่อยให้ถูกทำร้ายจนตาย นี่มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากที่มันเกิดขึ้น ที่จริงพอเราได้ฟังข่าวแบบนี้ หลายคนก็จะนึกตำหนิคนที่อยู่ในเหตุการณ์ว่าทำไมไม่ช่วย ทำไมใจไม้ไส้ระกำ แต่จะไปว่าเขาก็ไม่ถูก เพราะว่าถ้าหากว่าเป็นเราเองอยู่ในเหตุการณ์ เราก็คงจะเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน โอกาสที่เราจะทำอย่างคนเหล่านั้นมีสูงมาก คนที่เวลาฟังข่าว มักจะตัดสินว่าพวกนี้มันไม่มีน้ำใจ เป็นคนใจไม้ไส้ระกำ แต่ว่า80-90 เปอร์เซ็นต์ถ้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วยตัวเอง ก็คงจะทำหรือมีพฤติกรรมไม่ต่างกัน เพราะว่านี่คือสิ่งที่มันเป็นกับมนุษย์ส่วนใหญ่ มันไม่ใช่ว่าคนอินเดีย คนที่เดลีมีจิตใจแห้งกระด้างหรือใจร้ายกว่าคนที่อื่น
จะว่าไป เมื่อฟังข่าวนี้แล้วจะไปว่าใครก็ไม่ควร แต่ควรจะย้อนกลับมามองเราว่า ถ้าเราอยู่ในเหตุการณ์นั้น เราจะทำอย่างไร ถ้าเราเจอคนที่กำลังถูกทำร้าย เจอผู้หญิงที่กำลังถูกผู้ชายตบตี หรือว่าเอามีดจ้วงแทงนี่ ลองถามตัวเองสักหน่อยว่าเราจะทำอย่างไร นี่เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับเราได้ หลายคนอาจจะบอกว่า มันเป็นกรรมของเขา เดี๋ยวนี้มีความเชื่อหรือคำพูดแบบนี้ เวลาเห็นคนทุกข์ยากเดือดร้อนก็บอกว่าเป็นกรรมของเขา เขาเคยทำกรรมไม่ดีมา ตอนนี้เขาก็กำลังใช้กรรม ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยพูดแบบนี้อ้างแบบนี้ เพื่อที่ว่าตัวเองจะได้นิ่งเฉย แต่ที่จริงมันไม่ใช่เป็นคำสอนในพุทธศาสนาเลย
มีสุภาษิตในชาดกเรื่องหนึ่งพูดว่า ผู้ที่ช่วยเหลือบุคคลที่ควรช่วย เมื่อผู้นั้นลำบากก็จะมีคนช่วย แต่ถ้าผู้ใดไม่ช่วยบุคคลที่ควรช่วย เมื่อผู้นั้นอยู่ในความลำบากก็จะไม่มีใครช่วยเหลือเลย สุภาษิตนี้เตือนใจว่า แนะนำว่า เมื่อเจอคนอื่นแล้วต้องช่วย ถ้าไม่ช่วยนี่ตัวเองจะรับกรรมในวันหน้า อย่าไปคิดว่าเขากำลังรับกรรม เราก็เลยอย่าไปช่วยเขา กรรมใครกรรมมัน เป็นกรรมของสัตว์ นี้ไม่ใช่วิสัยชาวพุทธ แต่ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยก็พูดอย่างนี้ อ้างแบบนี้ ถ้าไม่อ้างเรื่องกรรม ก็ไปอ้างเจ้ากรรมนายเวร อย่างเช่น อาจจะเห็นคนประสบอุบัติเหตุ นอนอยู่บนถนน แทนที่จะหยุดรถไปช่วยเขา ก็คิดว่า เขากำลังโดนเจ้ากรรมนายเวรเล่นงาน ขืนไปช่วยให้เขารอดชีวิต เราอาจจะซวยอาจจะโดนเจ้ากรรมนายเวรของคนนั้นมาเล่นงาน
ความคิดแบบนี้ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้พยาบาล หมอ หลายคนไม่กล้าช่วยคนป่วยระยะสุดท้าย กลัวว่าเจ้ากรรมนายเวรของคนนั้นจะมาแก้แค้น มาเล่นงานตัวเองแทน สิ่งนี้ไม่ใช่คำสอนในพุทธศาสนา แต่ว่าอ้างหรือเข้าใจว่าเป็นคำสอนทางพุทธศาสนา จริงๆนี่มันดูไม่ยาก ถ้าเกิดว่าผู้เคราะห์ร้ายนี้เป็นพ่อเป็นแม่เป็นพี่เป็นน้องนี่ เราจะอยู่นิ่งเฉยหรือเปล่า เราจะอ้างกฎแห่งกรรมไหมว่าเป็นกรรมของเขา เป็นกรรมของสัตว์ เราอย่าไปทำอะไรเขาเลย อย่าไปช่วยเขาเลย หรือไปอ้างว่า เขากำลังเจอเจ้ากรรมนายเวรไม่ควรช่วย เชื่อว่าส่วนใหญ่ก็คงอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ถ้าผู้เคราะห์ร้ายนี่เป็นคนรู้จัก เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นลูก เป็นพี่เป็นน้อง เป็นคนรัก ก็ต้องเข้าไปช่วย นี้ก็แสดงว่ามันไม่เกี่ยวกับเรื่องกรรมของสัตว์หรืออะไรหรอก แต่เป็นเรื่องว่าเรามีน้ำใจกับคนที่เคราะห์ร้ายแค่ไหน ใครที่เป็นเพื่อนของเรา พี่น้องของเรา อะไรที่เป็นของเรานี่ เราจะรู้สึกอยู่เฉยไม่ได้ แต่อะไรที่ไม่ใช่ของเรา เราก็จะไม่สนใจ เรื่องนี้มันก็เป็นเรื่องของกิเลสธรรมดา ความรู้สึกว่าถ้าอะไรไม่ใช่ของกู กูไม่ยุ่ง จะยุ่งเฉพาะอะไรที่เป็นของกูของฉันนี่ ซึ่งมันไม่ใช่เป็นวิสัยของชาวพุทธ เพราะชาวพุทธเราไม่ว่าใคร ถ้าเป็นเพื่อนมนุษย์หรือเป็นสัตว์ นี่ก็ต้องช่วย
ขนาดที่พระพุทธเจ้าในสมัยที่เป็นพระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นฤาษี เข้าไปในป่าเห็นเสือแม่ลูกอ่อนมันกำลังจะกินลูกของตัว ท่านก็สงสารไม่อยากให้เสือน้อยถูกกิน ท่านก็พยายามช่วยให้คนไปหาอาหารมาให้แม่เสือ แต่ว่าลูกศิษย์กลับมาไม่ทัน เสือก็เลยขย้ำลูกอ่อน ท่านทำอย่างไร ท่านโดดลงไปเลย โดดลงไปให้แม่เสือกินแทนลูกของมัน อันนี้เรียกว่าเป็นการบำเพ็ญทาน ท่านไม่ได้คิดว่าลูกเสือตัวนั้นมันกำลังใช้กรรม หรือกำลังคิดว่าเป็นกรรมของสัตว์ ลูกเสือก็ไม่ได้เป็นอะไรกับท่าน แต่ว่าด้วยความเมตตาที่ไม่มีประมาณ ท่านบำเพ็ญบารมีเรียกว่า ทานบารมี เป็นปรมัตถบารมี คือการสละชีวิต
เดี๋ยวนี้คนเราชาวพุทธจำนวนไม่น้อย เวลาจะช่วยใครก็จะต้องคิดก่อนว่าช่วยแล้วจะได้บุญแค่ไหน ถ้าช่วยสัตว์ได้บุญน้อย ไปช่วยคนดีกว่า ช่วยคนได้บุญน้อย ไปช่วยพระดีกว่า ช่วยถวายพระได้บุญน้อย ไปถวายพระอรหันต์ดีกว่า ก็คิดเรื่องว่า คำนวณว่าตัวเองจะได้บุญเท่าไหร่ ทำบุญชนิดไหนจะให้ผลตอบแทนสูงกว่า เหมือนกับซื้อหุ้นเลย หุ้นตัวไหนให้ผลตอบแทนสูงกว่าก็ซื้อหุ้นตัวนั้น คนไทยเดี๋ยวนี้ทำบุญเหมือนกับซื้อหุ้น คือบุญตัวไหนให้ผลตอบแทนสูงกว่าก็ทำบุญตรงนั้น นั่นไม่ใช่วิสัยชาวพุทธ อะไรที่เป็นความทุกข์ยากเดือดร้อนต่อหน้าก็เข้าไปช่วย จะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นพระ เป็นใครก็ตามก็อยู่ในวิสัยที่ช่วยได้ก็ช่วย จะไปอ้างว่ามันเป็นกรรมของสัตว์ ฉันไม่ช่วย นั่นไม่ใช่วิสัยของชาวพุทธ
คราวนี้กลับมาดูที่ตัวผู้ชายคนนั้น ตัวผู้ชายที่ฆ่าผู้หญิง มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ผู้ชายคนนี้เคยชอบพอผู้หญิง รู้จักกันมาตั้งนาน ตอนหลังผู้ชายก็แต่งงาน แต่งงานเสร็จก็ยังไม่เลิกยังไปตามตื้อผู้หญิง ผู้หญิงก็ไม่เอาไม่ชอบ เพราะผู้ชายมีเมียแล้ว ผู้ชายก็ไม่เลิก ก็ไม่รู้อีท่าไหน คงจะถูกผู้หญิงปฏิเสธแล้วก็เลยโกรธแค้นเอามีดมาแทง ตามข่าวว่าผู้ชายคนนี้เคยไปล่วงละเมิดทางเพศกับผู้หญิงที่เป็นน้องสาวมาแล้ว ดูๆเหตุการณ์แบบนี้ก็คงจะเห็นว่าผู้ชายคนนี้ใจร้าย มันเลวมาก แต่ก็อย่าประมาท เพราะว่าเราๆท่านๆก็สามารถจะเป็นอย่างคนๆนั้นได้ เราไม่ใช่มีโอกาสเป็นอย่างคนที่มุงดู ให้ผู้ชายคนนั้นฆ่าผู้หญิงต่อหน้าต่อตา แม้กระทั่งคนที่เป็นฆาตกรนี่เราก็อาจจะเป็นอย่างเขาก็ได้
ก็มีข่าวมากมาย ที่เป็นข่าวของคนที่มีฐานะทางสังคม เป็นหมอ เป็นผู้จัดการ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่สุดท้ายก็กลายเป็นฆาตกร ฆ่า ฆ่าใคร ก็ฆ่าเมีย ฆ่าคนรัก คนธรรมดาที่เป็นคนทั่วๆไปนี่ เรียกว่าอาจจะพอมีศีลอยู่บ้าง ไม่ใช่เป็นอันธพาล ไม่ใช่เป็นผู้ร้าย หากว่าจะต้องฆ่าใครสักคนนี่ คนที่ถูกฆ่าไม่ใช่ใครที่ไหน มักจะเป็นคนใกล้ คือคนที่เคยรักหรือเป็นคนรัก ถ้าเป็นผู้ร้ายนี่ เวลาฆ่าใครก็มักจะฆ่าคนที่ไกลตัว คนที่ไม่รู้จัก แต่คนทั่วไปที่เรียกว่า AVERAGE นี่ เฉลี่ยนี่ ถ้าจะฆ่าใครสักคน ไม่ใช่ใครที่ไหนเลย คนรักคนใกล้ทั้งนั้น ในคุกบางขวาง คุกที่ลงโทษคนประหารชีวิตหรือนักโทษประหารนี่ก็มีคนหลายอาชีพ หมอก็มี เราก็เคยได้ข่าวมาแล้ว อาจารย์มหาวิทยาลัย สถาปนิก พวกนี้ก็เป็นคนที่ไม่ได้ต่างจากพวกเราทั้งหลายในที่นี้ เป็นคนมีการศึกษาเป็นคนที่ใฝ่ดี แต่ทำไมถึงกลายเป็นฆาตกร ก็ต้องพูดว่าเป็นเพราะความโกรธ ส่วนใหญ่เพราะความโกรธความแค้น ทีแรกมันเป็นเรื่องของราคะที่ทำให้มาผูกพันเจอกัน แต่พอชะตาชีวิตผลิกผันก็กลายเป็นความโกรธ โกรธแค้นก็เลยลงมือฆ่า ตอนที่ฆ่าก็อาจจะไม่ได้วางแผนอะไรมาก แต่ว่ามันลืมตัว ความโกรธนี่มันสามารถทำให้คนเรานี่เปลี่ยนนิสัยได้ จากคนธรรมดาธรรมะธัมโม กลายเป็นฆาตกร
เคยเล่าไปแล้ว คนที่ธรรมะธัมโมแต่ว่าฆ่าลูกของตัวเอง ลูกผู้หญิงบ้างลูกผู้ชายบ้าง มีหลายคนมีหลายกรณี เสร็จแล้วก็ฆ่าตัวตาย คนเหล่านี้ก็เป็นคนเหมือนกับพวกเราๆ ไม่ได้เป็นคนเลวคนร้ายอะไรเลย แต่ที่ฆ่าเพราะลืมตัว ลืมตัว อะไรทำให้ลืมตัว ความโกรธนี่เป็นตัวหนึ่ง ความโกรธนี่เป็นตัวหนึ่งทำให้ลืมตัว ลืมอะไรก็ไม่น่ากลัวเท่ากับลืมตัว ลืมรถ ลืมบ้าน ลืมโทรศัพท์ ลืมแหวน ลืมสร้อยคอ ลืมพระเครื่อง พวกนี้ หลายคนกลัวมาก แต่ว่ามันไม่น่ากลัวเท่ากับลืมตัว เพราะลืมตัวนี่มันสามารถทำให้คนอย่างเราทุกๆคนนี่กลายเป็นฆาตกรได้ แล้วฆ่าใคร ไม่ได้ฆ่าคนที่ไกลตัวเลยคนรักทั้งนั้น หรือคนที่เคยรัก บางทีก็เป็นสามี บางทีก็เป็นภรรยาด้วยซ้ำ เรามาคิดว่าลืมตัวมันเกิดจากความเมา เช่นเมาเหล้า เมาเหล้าก็ลืมตัว แต่ถึงแม้ว่าไม่เมาเหล้า ไม่ได้แตะเหล้าเลย มันก็เมาได้ คือเมาอารมณ์ ความโกรธนี่มันทำให้เมาได้ และถามว่าอะไรทำไมถึงโกรธ ก็อาจเป็นเพราะว่าถูกปฏิเสธ คนเรานี่มันทนถูกปฏิเสธไม่ได้ มันรู้สึกเหมือนกับว่าถูกเหยียดหยาม อัตตามันถูกเหยียบย่ำ
มีหนุ่มสาวคู่หนึ่งอายุยี่สิบกว่า แต่งงานกันเสร็จแล้วก็มีลูก ผู้ชายชอบทะเลาะกับผู้หญิง บางทีก็ใช้กำลัง ผู้หญิงเลยหนีไปทิ้งลูก 3 ขวบให้ผู้ชาย ผู้ชายเลี้ยงลูกอยู่สักพัก ก็รู้สึกว่ามันลำบาก คิดถึงเมียก็ไปงอนง้อขอให้เมียกลับมา เมียไม่ยอม ตอนหลังเมียก็หายไป ผู้ชายตามจนกระทั่งพบว่าเมียไปทำงานที่ร้านอาหาร ก็อุตส่าห์ไปขอร้องให้กลับมา เมียไม่ยอมกลับ ผู้ชายอ้างลูก เมียก็ไม่สนใจ ผู้ชายโกรธมาก พอผู้หญิงเดินเข้าห้องน้ำ ผู้ชายตามไปที่ห้องน้ำแล้วเอามีดจ้วงแทงจนตาย ตายแล้วพอรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นก็ตกใจพยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ นี่เป็นความลืมตัว ลืมตัวเพราะความโกรธ โกรธเพราะอะไร โกรธเพราะผู้หญิงปฏิเสธ ตัวเองพยายามขอร้อง ผู้หญิงก็ไม่สนใจปฏิเสธคำขอร้อง แล้วก็ปฏิเสธตัวตนของตนด้วย ความโกรธอย่างเดียว มันไม่ทำให้คนลืมตัวจนกระทั่งกลายเป็นฆาตกร มันมีอีกตัวหนึ่งก็คือ ความอยากจะเอาชนะ ผู้ชายรู้สึกว่าตัวเองพ่ายแพ้ถูกผู้หญิงเหยียบย่ำ การถูกปฏิเสธคือความพ่ายแพ้ ผู้หญิงอาจจะพูดจารุนแรง ผู้ชายก็รู้สึกว่าตัวเองถูกเหยียดหยาม คนเราพอรู้สึกว่าเป็นฝ่ายถูกกระทำมันก็อยากจะกระทำบ้าง อยากจะเป็นผู้ชนะ เป็นผู้แพ้มาเยอะแล้ว กูจะเอาชนะมึงบ้าง อันนี้วิสัยผู้ชาย เอาชนะอะไร เอาชนะด้วยเหตุด้วยผลก็ทำไม่เป็น มันก็เหลืออยู่อย่างเดียวคือเอาชนะด้วยกำลัง วิสัยผู้ชายจำนวนมากเป็นแบบนั้น เวลาเจอผู้หญิงนี่สู้ด้วยเหตุผลไม่ได้ ก็ต้องสู้ด้วยกำลัง อยากจะเอาชนะ วิธีที่จะเอาชนะคือฆ่า เอามีดจ้วงแทง
ความอยากเอาชนะนี่เรียกว่า มานะ มานะเป็นกิเลสในใจที่ไม่ยอมที่จะถูกกระทำ ไม่ยอมที่จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ก็เรียกว่าเป็นปมเด่นของมนุษย์ทุกคนก็ได้ มนุษย์ทุกคนล้วนแต่มีปมเด่น ไม่ใช่ปมด้อย ปมเด่นก็คือว่ามันอยากจะเด่น อยากจะเป็น SOMEBODY นั่นก็เป็นปมเด่น อยากจะให้คนชมนี่ก็เป็นมานะ อยากจะอวดว่ากูเก่งนี่ก็มานะ แล้วก็อยากจะเอาชนะ โดยเฉพาะคนที่ถูกกระทำให้เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ โดยเฉพาะด้วยฝีมือผู้หญิงนี่ยิ่งไม่ยอม ตัวมานะนี่มันน่ากลัวมากทำให้ลืมตัว มันไม่ใช่ตัวโกรธอย่างเดียว โกรธนี่ก็ไม่เท่าไหร่ แต่พออยากจะเอาชนะแล้วมันก็เลยต้องใช้กำลัง ฆ่าผู้หญิงตาย แล้วผู้ชายที่ไปจ้วงแทงผู้หญิงกลางกรุงเดลีก็คงเกิดจากมานะด้วย มันไม่ใช่แค่ความโกรธธรรมดามันอยากจะเอาชนะ ถูกผู้หญิงปฏิเสธก็รู้สึกว่าเสียศักดิ์ศรีต้องเอาชนะให้ได้ ตอนนั้นมันลืมตัวมากเลย ความลืมตัวจึงน่ากลัวมาก น่ากลัวมากเพราะมันสามารถจะทำให้ เราทำในสิ่งที่เลวร้ายแล้วก็ทำให้ชีวิตเรานี่กลายเป็นต้องติดคุกติดตาราง หรือว่ากลายเป็นนักโทษประหารเลยก็ได้
ฉะนั้นก็ให้เราตระหนักว่า ความลืมตัวนี่มันน่ากลัว เพราะลืมตัวแล้วสามารถจะทำอะไรก็ได้ ลืมของ เราก็ได้แต่หามัน หาไม่ได้หาไม่เจอก็ได้แต่เสียใจ แต่เสียใจมากๆก็ลืมตัวได้อาจจะถึงกับฆ่าตัวตาย แต่ว่าถ้าโกรธนี่ มันไม่ค่อยอยากจะฆ่าตัวตายเท่าไหร่ มันอยากเอาชนะ อยากจะทำร้าย ให้เราตระหนักว่า ความลืมตัวเป็นสิ่งที่จะต้องระมัดระวังมาก และการพยายามทำอะไรก็ตาม เพื่อทำให้ความลืมตัวมันไม่มีโอกาสไม่มีช่อง ที่จะเข้ามาครอบงำใจหรือเกิดกับเรา เป็นสิ่งสำคัญ การเจริญสติ อย่างที่เราทำนี่ดูแสนจะธรรมดาๆ แต่ว่ามันเป็นการเติม เติมวัคซีนเข้าไปในจิตใจของเราที่จะทำให้มีภูมิต้านทานความลืมตัวความหลง ความหลงนี่มันพร้อมจะเข้ามาจู่โจมจิตใจ แล้วก็บงการชีวิตเรา หรือฉุดชีวิตเราให้ตกต่ำย่ำแย่ไปได้ในหลายรูปแบบเหลือเกิน ทั้งเศร้าโศก ทั้งเสียใจ ทั้งอาฆาตพยาบาท สามารถจะกลายเป็นฆาตกรหรือว่าฆ่าตัวตายก็ได้เพราะความลืมตัว ฉะนั้นประมาทไม่ได้ เราต้องพยายามหาช่องทาง เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ความลืมตัวมันเกิดขึ้นกับเรา
ที่เมื่อสักครู่ เราสวดมนต์กรวดน้ำตอนค่ำว่า โอกาสอย่าพึงมี แก่หมู่มารสิ้นทั้งหลาย เป็นช่องประทุษร้าย ทำลายล้างความเพียรจม หรือว่า ขอหมู่มารอย่าได้ช่อง ด้วยเดชบุญทั้งสิบป้อง อย่าเปิดโอกาสแก่มารเทอญ มารตัวที่สำคัญนี่คือ ความหลงความลืมตัว เราต้องรักษาใจของเรา อย่าไปเปิดช่องให้ความหลงความลืมตัวมันเข้ามา เพราะถ้ามันเข้ามาแล้วมันอาจทำให้เราไม่เป็นผู้ไม่เป็นคนเลยก็ได้ถ้ามันมากพอ
เพราะคนส่วนใหญ่ประมาท ก็คิดว่า ฉันไม่เป็นอย่างพวกนั้นหรอก พวกนั้นมันเลว มันฆาตกร ฉันไม่เป็นอย่างคนอื่นหรอก คนที่ฆ่าตัวตายนี่มันไม่ใช่ผู้ชาย เคยมีนายทหารคนหนึ่งอายุสี่สิบกว่า เป็นนายทหารดังมาก คนทางต่างจังหวัดเรียกว่าเป็นวีรบุรุษ เพราะกล้าหาญชาญชัยมาก เป็นคนที่ไม่กลัวใคร แกคงเคยได้ข่าวว่ามีทหารหรือมีใครสักคนฆ่าตัวตาย ก็เลยพูดขึ้นมาว่า คนฆ่าตัวตายนี่มันไม่ใช่ผู้ชายหรอก แล้วผ่านไป20ปี พอแกเป็นมะเร็ง เป็นมะเร็งที่รักษาเท่าไรๆก็ไม่หาย สุดท้ายแกก็ใช้ปืนยิงตัวตาย ทุกขเวทนามันก็ทำให้หลงได้เหมือนกัน ทำให้ลืมตัว
คนเราลืมตัวได้หลายสาเหตุ ลืมตัวไม่ใช่เฉพาะเหล้า ลืมตัวเพราะเมาอารมณ์ก็ได้ อารมณ์มีหลายอย่าง ทั้งกลัวทั้งโกรธ ทั้งราคะ แล้วก็อีกตัวก็คือ ตัวความเจ็บความปวด พอเจ็บปวดมากๆมันลืมตัว แล้วคนที่ปวด คนที่เมื่อย มันก็ลืมตัวน้อยหน่อย ถ้าป่วยหนักๆนี่ลืมตัวมาก และยิ่งลืมตัวก็ยิ่งเจ็บปวดมากขึ้น และพอทนไม่ไหวก็ใช้ปืนปลิดชีวิตตัวเอง ก็เป็นความลืมตัวอีกแบบหนึ่ง
เพราะฉะนั้นการที่พยายามรักษาใจ ให้มีความรู้สึกตัวไว้ ให้มองว่าความหลงความลืมตัว มันเป็นศัตรูที่น่ากลัวมาก เวลาบอกว่า ขอหมู่มารอย่าได้ช่อง ก็ขอให้รวมไปถึงความลืมตัวความหลงด้วย แล้วมันก็เกิดขึ้นกับเราอยู่เรื่อยๆ แม้แต่เวลาปฏิบัติธรรมก็ยังมาเล่นงาน เวลาเราทำอย่างอื่นนี่ลืมตัวไม่เป็นไร แต่เวลาเรามาปฏิบัติธรรม มาปฏิบัติ ก็เพื่อให้ได้รู้สึกตัว แต่มันก็ยังหาทางเข้ามาเล่นงานเราตอนที่เรามาปฏิบัติธรรม กำลังจะเดินจงกรมสร้างจังหวะ อย่าว่าแต่อะไรเลยขนาดสวดมนต์ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า มันก็ยังเผลอลืมตัวได้ สวดไปใจก็ลอย หรือแม้แต่ฟังธรรม แทนที่จะฟังด้วยใจที่เปิดสว่าง เป็นโอกาสที่เราจะเติมความรู้สึกตัวลงไป ความหลงมันก็เข้ามาเล่นงาน ทำให้เราหลับบ้างง่วงบ้าง นั่งฟังธรรมแล้วก็หลับไป ถ้าหากว่าไปหลงเอาตอนทำอย่างอื่นมันก็ไม่เป็นไร แต่ขนาดมาบนศาลาอยู่ต่อหน้าพระพุทธรูป สวดมนต์ ฟังธรรม ก็ยังหลับไปได้ ก็ปล่อยใจเปิดใจให้ความหลงเข้ามาครอบงำ นั่งฟังธรรมก็สัปหงกไป ปล่อยให้ความหลงเข้ามา
นั่นต้องถือว่าอย่างน้อยในช่วงที่เราปฏิบัติธรรม ในช่วงเวลาที่เราเข้าใกล้พระพุทธเจ้า อยู่ต่อหน้าพระองค์ สวดมนต์ฟังธรรมนี่เป็นช่วงเวลาที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่จะไม่ยอมให้ความหลงเข้ามา มันจะง่วงแค่ไหนก็ไม่เปิดช่องให้เข้ามาเล่นงาน เพราะถ้าง่วงแล้วนี่ ไม่ต้องพูดเรื่องความรู้ตัว มันก็หลับ พอหลับมันก็หลงเต็มที่ ขนาดตื่นยังหลงเลย คือใจลอย ทั้งที่เราพยายาม ให้ถือว่าความหลงนี่มันเป็นศัตรูตัวร้าย ที่เราจะต้องพยายามที่จะไม่ให้มันเข้ามาครอบงำจิตใจ อย่าให้มันมีฐานที่มั่นในใจเรา พยายามที่จะเปิดความสว่างความรู้สึกตัว ให้ความหลงมันค่อยๆหายไปเรื่อยๆ ไม่ใช่มาปฏิบัติก็ยังหลง มาฟังธรรมก็ยังหลับ ถ้าพ่ายแพ้มันอย่างนี้แล้ว พอเจออะไรมากระทบแรงๆ เกิดความโกรธ เกิดความกลัว หรือเกิดราคะขึ้นมา ความรู้สึกตัวที่มีนี่เอาไม่อยู่ มันก็สามารถทำให้เราทำในสิ่งที่เลวร้ายได้ อย่าประมาทมันเด็ดขาด เพราะว่าคนที่ประมาทนี่ก็มักจะเสียท่ามัน
อย่างหมอวิสุทธิ์นี่ เราก็คงทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา ตอนที่เขาใกล้จะออกจากคุก เขาเคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นิตยสารว่า เขาเสียดายว่าที่ผ่านมามัวแต่ไปสนใจแต่เรื่องงานเรื่องการ ในหัวมีแต่เรื่องงานวิชาการงานสอน ไม่ได้สนใจเรื่องปฏิบัติธรรม ไม่มีเวลาให้กับการเจริญสติ ถึงตอนนี้รู้แล้วว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญกว่าวิชาความรู้ เขาบอกว่าถ้าเขาสามารถย้อนกลับไปเป็นหนุ่มได้ เขาจะให้เวลากับการปฏิบัติธรรมมากขึ้น ไม่ใช่มาถึงเวลาแก่แล้วนี่ ไม่ใช่มาปฏิบัติธรรมเอาตอนแก่ ก็ยังดีที่แกมีโอกาสแก่ เพราะว่าถ้าพูดถึงโทษจริงๆ ป่านนี้ก็เสียชีวิตไปแล้ว แต่ว่าได้รับการให้อภัยโทษไปเรื่อยๆ ก็ทำให้มีโอกาสที่จะแก่ ทำให้ได้ตระหนักว่า ที่ผ่านมาเราประมาทไป นี่เป็นบทเรียนที่พวกเราน่าจะได้ตระหนักเอาไว้ แล้วก็จะได้เห็นว่าการเจริญสติ การทำความรู้สึกตัวนี่เป็นเรื่องสำคัญ