แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คนเรามาวัดด้วยหลายสาเหตุ บางคนมาวัดก็อยากจะทำบุญ บางคนอยากจะมาอยากได้ของดี ได้ของดีเพื่ออะไร เพื่อให้เกิดโชคเกิดลาภ หรือบางทีก็อาจจะเป็นของดีเพื่อทำให้เกิดเมตตามหานิยมอะไรต่างๆ แต่บางคนก็มาเพื่อความสงบ ที่นี่วัดป่าสุคะโต ของดีที่จะให้กับผู้คนก็ไม่ค่อยมีเท่าไหร่ ยกเว้นซีดีธรรมมะ แต่ถ้าเป็นความสงบแล้วนี่ ก็สามารถที่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันให้กับผู้คนได้ อย่างพวกเราหลายคนในที่นี้มาก็ปรารถนาความสงบ
สมัยนี้ความสงบนี่มันเป็นเรื่องที่หายากมากขึ้นเรื่อยๆ จนบางทีต้องอาศัยเงินทองถึงจะเข้าถึงความสงบได้ เพราะว่าความสงบที่ผู้คนแสวงหา เดี๋ยวนี้มันก็อยู่ไกลไปเรื่อยๆ อยู่ห่างไกลออกไป จริงๆ ยุคนี้เป็นยุคที่มีความสะดวกสบายมาก แต่ก็น่าสังเกตว่า ยิ่งที่ไหนที่มีความสะดวกสบายก็จะหาความสงบได้ยาก เพราะว่าพอมีความสะดวกสบายแล้วก็หมายถึงว่ามีโทรทัศน์ มีโทรศัพท์ มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต มีรถ มีถนนหนทาง มีการติดต่อสะดวกมากขึ้น เหล่านี้มันก็ทำให้มีเรื่องมีสิ่งต่างๆ ที่เข้ามากระทบตา กระทบหู กระทบจิตกระทบใจของเรามากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่อยู่ในห้องคนเดียว หลายคนก็ยังหาความสงบได้ยาก เพราะว่ามันมีเรื่องที่ต้องมากระทบจิตกระทบใจอยู่มากมาย
ในสมัยนี้ความไม่สงบ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีข้าวของมากมาย ทำให้ต้องใช้เวลาไปกับสิ่งเหล่านี้มากขึ้น พอใช้เวลาไปกับสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลรักษา การเก็บ การทำความสะอาด หรือว่า แม้กระทั่งการใช้ประโยชน์จากมัน มีของเยอะก็ต้องใช้ประโยชน์ เสียเวลากับมันมากขึ้น ความสงบก็พลอยหดหายไปด้วย ในทางตรงข้าม ที่ที่ไม่มีความสะดวกสบาย เราจะพบว่ามันมีความสงบได้มากกว่า อย่างที่วัดป่าสุคะโตนี่ ความสะดวกสบายก็น้อย เมื่อเทียบกับในเมือง หลายคนมาจากเมือง พอมาถึงวัดป่าสุคะโตก็รู้สึกว่ามันสงบ ยิ่งถ้าไปต่อถึงวัดป่ามหาวัน หรือภูหลง ความสงบที่รู้สึกได้นี่ก็ชัดเจนมากขึ้น แต่ที่นั่นมันลำบากกว่านี้ เพราะว่าการคมนาคมไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ถนนหนทางยิ่งตอนนี้ก็ย่ำแย่ แต่ยิ่งไปถึงยาก แล้วยิ่งไม่มีสัญญาณโทรศัพท์สัญญาณอินเทอร์เน็ต ความสงบก็กลายเป็นเรื่องที่หาได้ง่าย และเมื่อลองพิจารณาดูดีๆ ความสงบกับความสะดวกสบายนี่ บางทีมันก็เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน หรือว่าขัดแย้งกันสวนทางกัน
เวลาเราพูดถึงว่าความสงบ อาตมาก็พูดรวมๆ จริงๆ ความสงบนี่ก็มีอยู่ ๒ ประเภทใหญ่ๆ อันแรกเป็นความสงบที่ไม่มีเสียงรบกวน ไม่มีเสียงรบกวนนี่ ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีเสียงดัง เสียงดังแต่ถ้าไม่รบกวนนี่ก็ไม่ถือว่าทำลายความสงบ อย่างพวกที่ชอบฟังเพลง เพลงร็อก เพลงเฮฟวี เปิดดังๆ เขาไม่รู้สึกว่ามันรบกวนเขาเลย ก็ไม่รู้สึกว่าสูญเสียความสงบทั้งๆที่เสียงมันดังกระหึ่ม แต่รู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดาด้วยซ้ำ แต่ถ้าเป็นเสียงแม้จะเป็นเสียงเบาๆ แต่ว่ารบกวนจิตใจ แบบนี้ก็กลายเป็นสิ่งทำลายความสงบได้ เช่นเสียงโทรศัพท์ เสียงริงโทน ไม่ดังเท่าไหร่ แต่ว่าถ้าเกิดดังในห้องประชุม มันก็กลายเป็นเสียงรบกวนได้และเมื่อนั้นความสงบก็หายไป ความสงบอย่างแรก คือการที่ไม่มีเสียงรบกวนไม่จำเป็นว่าเป็นเสียงค่อยหรือเสียงดัง แต่ถ้ารบกวนเมื่อไหร่ก็เรียกว่าไม่สงบ แต่ถ้าไม่มีเสียงรบกวนก็ถือว่าสงบ
ความสงบอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่มีสิ่งรบกวนจิตใจหมายถึงความคิดและอารมณ์ สิ่งรบกวนจิตใจเช่นความคิดและอารมณ์ ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นอารมณ์หรือความคิดทุกประเภท ถ้าเป็นอารมณ์ที่มันสบายๆ เคลิ้มคล้อย หรือว่าความคิดที่ถูกอกถูกใจ เราก็ไม่รู้สึกว่ามันทำลายความสงบ เช่น ฝันกลางวัน หรือจิตนาการว่าได้ไปเที่ยว ได้ไปอยู่กับคนรัก ได้สนุกสนานกับเพื่อน บางทีคิดเรื่องนี้เป็นชั่วโมงเลย แต่ก็ไม่รู้สึกว่ามันไม่สงบ เราจะรู้สึกว่าไม่สงบก็ต่อเมื่อ มันเกิดความคิดที่รบกวนจิตใจ เช่น ความขุ่นมัว ความเครียด หรือว่าอาจจะนึกถึงคนที่เราไม่ชอบ คนที่เขาเอาเปรียบรังแกเรา เพียงแค่นึกเห็นหน้าเขาหรือนึกถึงคำพูดเขา นี่ก็ไม่สงบแล้ว ถึงแม้ว่าจะอยู่ในห้องที่ไม่มีเสียงดังเลย ความไม่สงบประเภทนี้มันไม่เกี่ยวกับเสียง อยู่ในห้องแอร์หรือว่าอยู่ในวัด ไม่มีเสียงรบกวนเลย แต่ว่าหลายคนก็รู้สึกว่าไม่สงบ ความไม่สงบอย่างนี้เรียกว่า ไม่สงบใจ
ส่วนความไม่สงบอย่างแรก คือ ความไม่สงบทางกาย ภาษาบาลีว่า ถ้าไม่มีเสียงรบกวนก็เรียกว่า กายวิเวก เป็นความสงบทางกาย ทางกายภาพ ก็คือไม่มีเสียงรบกวน ถ้าไม่มีสิ่งรบกวนจิตใจ เช่น อารมณ์ความคิด นี่ก็เรียกว่า จิตวิเวก หรือเรียกง่ายๆว่าความสงบใจ ความสงบกายก็เรื่องหนึ่งความสงบใจก็เรื่องหนึ่ง บางทีก็สัมพันธ์กัน เช่น พอมีเสียงรบกวนเสียงดังเสียงพูดคุย เสียงก่อสร้าง หลายคนก็จะรู้สึกไม่สงบใจเพราะว่าเกิดความเครียดความขุ่นมัว
แต่ก็อย่างที่บอก ถึงแม้ไม่มีเสียงรบกวนจากภายนอกแต่ว่าใจก็อาจจะไม่สงบได้ เช่นเวลาคิดถึงงานแล้วเครียด คิดถึงลูกแล้วเป็นห่วง หรือว่านั่งนานๆ ไม่มีเสียงรบกวนเลย แต่ว่ามันเกิดความเจ็บความปวดความเมื่อย ตอนนั้นใจก็ไม่สงบ อยู่ในป่าไม่มีเสียงรบกวนแต่ว่าใจไม่สงบ แบบนี้ก็เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ อย่างไรก็ตามหลายคนมักจะคิดว่า จริงอยู่ความไม่สงบใจ มันเกิดขึ้นเมื่อมีอารมณ์ความคิดรบกวนจิตใจ คราวนี้ถ้าจะให้ใจสงบ อย่างแรกที่ต้องมีก็คือว่า สิ่งแวดล้อมก็ต้องสงบด้วย ถ้าสิ่งแวดล้อมมันมีเสียงรบกวน แต่จะให้ใจสงบนี่เป็นไปได้ยาก แต่มันก็ไม่เสมอไป ที่จริงมันก็ไม่เกี่ยวข้องกันด้วยซ้ำ เสียงจะดังยังไงแต่ว่าใจก็สงบได้ แบบนี้มันเป็นไปได้ ไม่ได้แปลว่าเสียงดังแล้ว ใจจะต้องไม่สงบเสมอไป
ความไม่สงบใจไม่ได้ขึ้นอยู่กับเสียงเท่านั้น แต่มันขึ้นอยู่กับเราว่า วางใจอย่างไรด้วย เสียงข้างนอกจะดัง แต่ถ้าวางใจถูก วางใจเป็น ใจก็สงบได้ แต่ส่วนใหญ่เวลาเสียงดังจากข้างนอกแล้วใจไม่สงบ เราอย่างเพิ่งไปโทษเสียงอย่างเดียว เราต้องโทษใจเราด้วย ใจเราก็มีส่วนร่วมเหมือนกัน เรียกว่ามันร่วมมือกัน เสียงดังจากข้างนอก แล้วก็ใจที่วางไว้ไม่ถูก วางไว้ไม่เป็น หรือว่าวางท่าทีไม่ถูกต้อง ก็ทำให้เกิดความไม่สงบใจขึ้นมาได้เหมือนกัน ปรบมือข้างเดียวเสียงไม่ดัง อันนี้เป็นสำนวนที่เราคุ้นเคยกันดี เสียงจะดังได้ต้องมีสองมือ ต้องมีสองปัจจัย การทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นได้ มันเกิดขึ้นโดยคนเดียวไม่ได้มันต้องมีสองคนร่วมทะเลาะวิวาทด้วย ถ้าคนหนึ่งด่าแต่คนหนึ่งเงียบ มันก็ไม่เกิดการทะเลาะวิวาท ต่อเมื่อคนหนึ่งด่า อีกคนหนึ่งโต้เถียงด่ากลับ มันก็กลายเป็นทะเลาะวิวาท ทำฝ่ายเดียวย่อมไม่เกิดผล นี้มันรวมไปถึงความสุขและความทุกข์ของคนเราด้วย
ความสุขของคนเรา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งภายนอกอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับจิตใจด้วย เราไปดูหนังฟังเพลงกินอาหารที่อร่อยแต่ถ้าเกิดใจเรากำลังคิดเรื่องงานเรื่องการ กำลังห่วงลูก กำลังกังวลเรื่องพ่อแม่ที่เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล ก็ไม่มีความสุขถึงแม้อาหารจะแพง ดนตรีจะไพเราะแต่ไม่มีความสุข เราจะมีความสุขได้ก็ต่อเมื่อใจมันร่วมมือด้วย ความทุกข์ก็เหมือนกัน มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งภายนอกอย่างเดียว มันขึ้นอยู่กับใจด้วย เสียงดังอย่างไรถ้าใจไม่ไปจดจ่อกับมัน ก็ไม่ทุกข์ อย่างคนบางคนนี่เขามีสมาธิดีมาก อ่านหนังสืออ่านนิยาย อ่านนิยายแล้วก็จิตเป็นสมาธิกับนิยายหนังสือที่อ่าน คนมาเรียกโทรศัพท์ดังก็ไม่ได้ยิน โทรศัพท์ดังแค่ไหนมันก็ไม่ได้รบกวนจิตใจเขาเลย เพราะว่าใจเขาเป็นสมาธิ คนจะมาเรียก เรียกให้เปิดประตูหรือว่าทักทาย แต่ว่าตอนนั้นกำลังมีสมาธิกับการอ่านหรือมีสมาธิกับการทำงาน ก็ไม่รู้สึกว่าเสียงนั้นรบกวนเขาเลยเรียกว่าไม่ได้ยินด้วยซ้ำ อันนี้เรียกว่าใจมีสมาธิ เสียงก็เลยทำอะไรไม่ได้ แต่ว่านอกจากสมาธิแล้ว ยังมีอีกหลายอย่างที่เราทำได้ ที่ช่วยให้ใจสงบ โดยที่เสียงดังยังไงก็ไม่ทำให้รำคาญใจเลย
มีเรื่องเล่าว่าสมัยที่หลวงพ่อชายังมีชีวิตอยู่ ที่วัดหนองป่าพงมีพระมาปฏิบัติกันมากมาย มีช่วงหนึ่งชาวบ้านจัดงานศพ เวลาชาวบ้านจัดงานศพนี่ก็เป็นงานใหญ่ มีการฉลองกันสามวันสามคืน งานนี้คงเป็นการฉลองเอากระดูกเข้าธาตุ มีมหรสพ มีละคร มีลิเก มีหมอลำ ฉายหนัง ทั้งกลางวันและกลางคืน สามวันสามคืน ปรากฏว่าพระในวัดนอนไม่ได้เลย แล้วกว่าจะเลิกก็ประมาณตีสองหรือตีสาม ซึ่งเป็นเวลาทำวัตรพอดี ก็แปลว่าพระหลายรูปไม่ได้นอนเลย พอถึงตีสามก็ต้องลุกมาทำวัตร ก็เลยมีพระส่งตัวแทนไปคุยกับเจ้าของงาน บอกว่าช่วยลดเวลาฉลองได้ไหม จากเลิกตีสามตีสอง ขอเป็นเลิกตีหนึ่งได้ไหม อย่างน้อยพระจะได้มีเวลาสองชั่วโมงหลับ ก่อนที่จะตื่นมาทำวัตร ชาวบ้านไม่ยอม ชาวบ้านบอกจะฉลองเต็มที่เลย ชาวบ้านคิดว่าวัดกับบ้านก็อยู่ไกลกันประมาณกิโลสองกิโล แต่ในเวลากลางคืนนี่มันดังมาก พระก็เลยไปขอให้หลวงพ่อชา ไปช่วยคุยกับชาวบ้านหน่อย เพราะชาวบ้านคงจะเกรงใจหลวงพ่อชา และคิดว่าหลวงพ่อชาจะเห็นด้วย เพราะว่าหลวงพ่อชานี่ท่านก็กวดขันพระเณรให้อยู่กันอย่างสงบไม่ต้องใช้เสียงมาก ปรากฏว่าพอพระไปปรึกษาไปขอร้องหลวงพ่อชา ท่านก็ปฏิเสธ ผิดคาด แล้วท่านก็พูดว่าเสียงไม่ได้รบกวนเรา เราต่างหากที่ไปรบกวนเสียง พระนี่ก็เลย งง เลย แปลว่าอะไร เราไปรบกวนเสียง เสียงไม่ได้รบกวนเรา ก็หมายความว่า เวลาได้ยินเสียงนี่ ใจมันก็ไปทะเลาะกับเสียง ใจมันมีความรู้สึกไม่พอใจต่อเสียงที่มากระทบหู เสียงนี่ ถ้าเราสักแต่ว่าได้ยินมันก็ไม่เป็นไร แต่ที่มันเป็นปัญหา เพราะเราไปทะเลาะเบาะแว้งกับเสียงนั้น ไปพยายามกดข่ม
ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาโทรศัพท์ดัง จิตเราจะไปเพ่งที่เสียงนั้นทันที ถึงแม้จะมีการบรรยายอยู่ ใจไม่สนแล้ว ใจจะไปเพ่งอยู่ที่เสียงนั้น แล้วก็มีความรู้สึกเป็นลบกับเสียงนั้น มีการทะเลาะเบาะแว้งกับเสียงนั้น มันก็เลยทำให้ใจนั้นเป็นทุกข์ เกิดความขุ่นมัวเกิดความเครียดขึ้นมา ตรงนี้ต่างหากที่มันทำลายความสงบในจิตใจ ไม่ใช่เสียงที่มาจากเครื่องขยายเสียง หรือมาจากหมู่บ้าน แต่มันเกิดจากใจที่เป็นลบ ใจที่ขุ่นมัว หลังจากที่พระท่านได้พิจารณา ท่านก็เห็นจริง เป็นเพราะว่าเราไปรบกวนเสียงต่างหาก พอวางใจแบบนี้ได้ถูก ก็นอนหลับได้ เรื่องนี้เราพิจารณาดูดีๆ ความเสียงดัง มันไม่ได้ทำลายความสงบในจิตใจ แต่เป็นเพราะเราวางใจไม่ถูก ไปเป็นลบ ไปกดข่ม ไปต่อสู้ ไปทะเลาะเบาะแว้งกับเสียงนั้น แต่ถ้าเราลองเป็นมิตรกับเสียงนั้นดู ใจก็สงบได้
อาจารย์พรหมวังโส ท่านเป็นพระชาวอังกฤษ เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อชา ท่านเล่าว่าวันหนึ่งมีเพื่อนพระเป็นชาวต่างชาติ เป็นชาวยุโรป มาแจ้งว่าน้องชายเขาเดินทางมาเยี่ยม จะขอพักที่วัดแต่ว่ากุฏิเต็ม เพราะฉะนั้นจะขอให้น้องชายพักกับกุฏิของท่านได้ไหม ท่านในที่นี้ก็คือพี่ชาย อาจารย์พรหมก็บอกว่าไม่เป็นไร แต่ว่า เตือนไว้ว่าน้องชายท่านอาจจะกรน คือ พี่น้องสองคนเล่าว่าก็เคยนอนห้องเดียวกันมาก่อนตั้งแต่ตอนเด็กๆ แต่ตอนนี้น้องชายก็โตแล้ว ก็ทักว่านอนห้องเดียวกับท่านแล้วน้องชายกรนจะทำอย่างไร พระที่เป็นพี่ชายก็ว่าไม่เป็นไร ไม่เป็นไร แต่ปรากฏว่า พอถึงเวลาน้องชายนอนก่อน นอนหลับก่อนก็กรนเลย พระที่เป็นพี่ชายนอนไม่ได้เลยเสียงกรนมันดัง ตอนเด็กๆนี่นอนได้เพราะไม่ค่อยกรน แต่พอโตแล้วเสียงกรนดัง พระพี่ชายก็มีความทุกข์ทรมานมาก นี่เรียกว่าไม่สงบใจ ไม่สงบเพราะเสียง
แต่ว่าตอนที่กำลังเป็นทุกข์กับเสียงนี่ ก็ระลึกขึ้นได้ถึงคำของหลวงพ่อชา ที่บอกว่า เสียงไม่ได้รบกวนเรา เราต่างหากที่รบกวนเสียง ก็ได้สติขึ้นมา แล้วก็เลยลองนึกในใจว่า ลองถือว่าเสียงกรนของน้องชายเป็นเสียงดนตรีก็แล้วกัน พระพี่ชายนี่สนใจเรื่องดนตรีอยู่ ก็ลองนึกว่าเสียงกรนของน้องชายเป็นเสียงดนตรี พอจินตนาการแบบนี้ ปรากฏว่า ความเครียด ความขุ่นมัว มันหายไปเลย แล้วปรากฏว่าหลับได้ในที่สุด เสียงกรนยังกรนอยู่ แต่ว่าพี่ชายไม่มีปัญหาแล้ว เพราะว่าจินตนาการว่าเสียงกรนเป็นเสียงดนตรี ตื่นขึ้นมาก็รู้สึกสดชื่น เพราะได้นอนได้พักผ่อนเต็มที่เหมือนกัน ถึงแม้ว่ากว่าจะได้หลับก็ตาค้างไปอยู่ประมาณชั่วโมงสองชั่วโมง
คือเสียงไม่ใช่ปัญหา จริงๆแล้วเสียงมันได้แต่ทำลายความสงบทางกายภาพ แต่ว่าไม่จำเป็นว่ามันจะทำลายความสงบในจิตใจ ถ้าความสงบในจิตใจหายไป นี่เป็นเพราะจิตใจเรารับมือกับเสียงนั้นไม่ถูก เรียกว่าวางใจไม่เป็น แบบนี้เรียกว่าตบมือข้างเดียวไม่ดัง เสียงจะดังได้ก็ต้องมีมือสองข้าง ก็คือหนึ่งเสียง เสียงคือปัจจัยภายนอก ส่วนปัจจัยภายในคือใจเรา ที่วางไว้ไม่ถูกต้อง ก็คือไปทะเลาะเบาะแว้งกับเสียง แต่พอลองปรับใจของเราเสียใหม่ให้เป็นมิตรกับเสียงนั้นดู เช่นจินตนาการเป็นเสียงเพลงนี่มันก็หลับได้เหมือนกัน หรือว่าถึงไม่หลับก็ไม่ทุกข์ทรมาน เสียงข้างนอกยังดัง แต่ใจสงบ
ลองพิจารณาดูว่าความสงบในจิตใจ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก ไม่จำเป็นต้องเป็นเสียงก็ได้ จะเป็นงานการ จะเป็นภาระ งานการภารกิจต่าง ๆ อันนั้นปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายนอกทำอะไรจิตใจเราไม่ได้ ถ้าใจเราไม่ได้เปิดช่องให้ หรือว่าไม่ไปร่วมมือหรือไปทะเลาะเบาะแว้งกับเสียงนั้น หรือบางทีก็ไปยอมให้เสียงนั้นมาเล่นงานจิตใจ
อย่างมีเรื่องเล่าว่า หลวงปู่บุดดา ท่านเคยได้รับนิมนต์ให้มาฉันเพลในกรุงเทพ ท่านก็เดินทางจากสิงห์บุรีมา เรื่องนี้เกิดขึ้นมาสักห้าสิบปีมาแล้ว หลวงปู่บุดดาท่านก็มรณะภาพไปยี่สิบกว่าปีแล้ว ฉันเสร็จท่านจะกลับวัด โยมก็บอกว่า อย่างเพิ่งกลับให้ท่านพักก่อน เพราะท่านชราแล้วตอนนั้นก็เจ็ดสิบแปดสิบแล้ว ก็จัดห้องให้ท่านพักท่านก็เอนหลัง ลูกศิษย์สี่ห้าคนก็มานั่งเป็นเพื่อน เวลาจะคุยก็กระซิบกระซาบกลัวเสียงจะไปรบกวนหลวงปู่บุดดา แต่ว่าห้องที่ติดกันเป็นห้องแถวร้านชำ เจ้าของนี่คืออาซิ้ม คนจีนสมัยก่อนนี่เขาสวมเกี๊ยะ เป็นเกี๊ยะไม้ ไม่ใช่รองเท้ายางอย่างที่เราใส่อยู่ปัจจุบัน สมัยก่อนเกี๊ยะนี่คนจีนเขานิยมใส่ แล้วเวลาสวมเกี๊ยะนี่เดินก็ดัง ยิ่งขึ้นบันไดแล้วก็ยิ่งดังใหญ่เพราะบันไดเป็นไม้ เสียงก็ดังเข้ามาถึงในห้องหลวงปู่บุดดา ลูกศิษย์ก็ไม่พอใจ หงุดหงิดรำคาญ เลยเปรยมาว่าเดินไม่เกรงใจเลย เสียงดัง หลวงปู่บุดดาท่านหลับอยู่แต่ท่านไม่ได้หลับ ท่านหลับตาแต่ท่านไม่ได้หลับด้วย ได้ยินก็เลยพูดขึ้นมาเบาๆว่า เขาเดินเขาอยู่ดีๆ เราเอาหูไปรองเกี๊ยะเขาเอง เสียงเกี๊ยะไม่ใช่ปัญหา เสียงเกี๊ยะไม่ทำให้เกิดความทุกข์ใจ ความทุกข์ใจเพราะเอาหูไปรองเกี๊ยะ
ตบมือข้างเดียวไม่ดัง เสียงดังแค่ไหนถ้าใจไม่ร่วมมือด้วย มันก็ไม่เกิดความทุกข์ใจ เอาหูไปรองเกี๊ยะ สมัยนี้ไม่มีเกี๊ยะแล้ว แต่ว่าอาจจะมีการก่อสร้าง ใช้ค้อนทุบตีตะปู หลายคนก็มีความทุกข์ใจขึ้นมาเมื่อได้ยินเสียงเขาตีตะปู เมื่อทุกข์ใจแล้วก็ให้รู้ว่าเราเอาหูไปรองค้อนเขา เอาหูไปรองค้อน หรือว่ามอเตอร์ไซค์ดัง เสียงมอเตอร์ไซค์ดังแล้วรู้สึกว่ามันไม่สงบเลย ทำไมเสียงมอเตอร์ไซค์ดังอย่างนี้ เกิดความไม่พอใจก็ให้รู้ว่า เอาหูไปรองล้อมอเตอร์ไซค์ ทำไมถึงทำอย่างนั้น เพราะไม่มีสติ ไม่รู้ตัว
ฉะนั้นถ้าเราตระหนักว่าความสงบใจ ไม่ได้อยู่ที่ว่าสิ่งภายนอก ไม่ใช่ว่าสิ่งรอบตัวเราต้องสงบ เราถึงจะเกิดความสงบใจได้ ไม่ใช่ว่าสิ่งรอบตัวดัง ใจจึงไม่สงบ มันอยู่ที่ใจเราด้วย และก็เหตุนี้การที่เรามาที่นี่ เราได้ถือโอกาสมาฝึกจิตฝึกใจของเราด้วย ไม่ใช่แค่เสพรับความสงบจากภายนอก หรือความสงบสงัดของป่า แต่ว่าฝึกใจของเรา ถ้าเราฝึกใจไว้ดี ถึงแม้ไปอยู่บ้าน ไปที่ทำงาน อยู่โรงพยาบาล เสียงดังยังไงใจก็สงบได้ เพราะเรารู้ว่าใจสงบหรือไม่ มันไม่ได้อยู่ที่สิ่งภายนอก หรือเสียงภายนอก มันอยู่ที่การวางใจของเรา