แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่ออาทิตย์ที่ได้แล้วได้อ่านบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับหนังไทยคนหนึ่ง เป็นหนังที่มีคุณภาพไม่ใช่หนังตลาดๆ เอ่ยชื่อหลายคนก็คงจะรู้จัก เป็นเอก รัตนเรือง ตอนนี้เขาก็มีหนังเรื่องใหม่ออกมา แต่ว่าที่สนใจไม่ได้เกี่ยวกับหนังที่เขาทำ คือระยะหลัง 4-5 ปีมานี้ เขาก็สนใจไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมแต่ละครั้งก็ 7 วัน 10 วัน แล้วเขาก็ตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงหลังๆคนที่มาเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมเป็นหนุ่มเป็นสาวเสียเยอะ แต่ก่อนเป็นคนมีอายุ แต่ตอนหลังจะเรียกว่าเกือบจะร้อยทั้งร้อยที่เข้าคอร์สเป็นคนหนุ่มคนสาว แล้วก็พอสอบถามหลังจากที่เสร็จคอร์ส ก็พบว่าหลายคนเป็นคนที่ทำงานอิสระแล้วก็ประสบความสำเร็จในชีวิตพอสมควร
อย่างเขาเล่าว่าเจอผู้หญิงคนหนึ่งอายุแค่ 27 ปี ทีแรกนึกว่าเป็นข้าราชการ แต่ปรากฏว่าเป็นเจ้าของร้านอาหาร 4 ร้าน อาหารไทย 2 ร้านอาหารญี่ปุ่น 2 ร้าน มีพนักงานอยู่ในความดูแลของเขาตั้งร้อยคน เขาถามว่าคุณทำงานกับหุ้นส่วนเหรอ เขาบอกว่าเปล่า ทำคนเดียว เป็นเจ้าของคนเดียวล้วนๆ เรื่องนี้น่าสังเกตว่าคนที่อายุไม่มากทำไมถึงมาเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม เขาก็ตั้งข้อสังเกตว่าคนสมัยนี้ทุกข์เร็ว แต่ก่อนกว่าจะทุกข์ก็สี่สิบห้าสิบ แต่เดี๋ยวนี้ยี่สิบกว่าก็ทุกข์แล้ว เผลอๆ สิบกว่าขวบก็ทุกข์แล้ว ทุกข์เร็ว ประสบความสำเร็จก็เร็วและความทุกข์ก็ตามมาเร็วเหมือนกัน
คนสมัยก่อน เรียนจบก็อาจจะไปรับราชการหรือว่าไปเป็นมนุษย์เงินเดือนสักยี่สิบปี พออายุสี่สิบกว่าก็อาจจะออกมาทำธุรกิจส่วนตัว แต่เดี๋ยวนี้ พอเรียนจบก็เป็นเจ้าของกิจการเลย หรืออาจเป็นเจ้าของกิจการตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาด้วยซ้ำ จะเรียกว่าเป็นคนที่ประสบความสำเร็จเร็ว ยุคนี้ Gen Y Gen Z แต่ก็มีความทุกข์เร็วเหมือนกัน ความทุกข์เร็วเพราะอะไร ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะอาชีพที่ตัวเองประกอบด้วย คือถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือนก็อาจจะไม่ทุกข์มาก แต่พอเป็นเจ้าของกิจการก็มีความเครียด มีความกังวลสูง
อีกส่วนหนึ่งก็คงเป็นเรื่องของยุคสมัยด้วย เดี๋ยวนี้เรามักจะได้ยินคนพูดบ่อยว่า สมัยนี้อยู่ยาก สมัยนี้อยู่ยากขึ้น คำพูดนี้ก็น่าคิด ที่จริงยุคนี้เป็นยุคที่ผู้คนมีความสะดวกสบายมากที่สุด มากกว่ายุคใดสมัยใดในประวัติศาสตร์ มนุษย์เราเฉพาะที่เป็นมนุษย์สมัยใหม่ เรียกว่าโฮโมซาเปียน สองแสนปีที่แล้วจวบจนปัจจุบัน พวกเราเป็นพวกที่มีความสะดวกสบายมากที่สุด แต่ก่อนจะไปทำมาหากิน ต้องเดินไปไร่ไปนา ต้องใช้แรงไถนา ปลูกต้นไม้ ทำสวน ต้องหาบน้ำกินหาบน้ำใช้ จะไปไหนต้องเดิน แม้จะเป็นเจ้าเป็นนาย อย่างดีก็ได้นั่งเกวียน หรือนั่งแคร่แห่หาน ไม่ได้สะดวกสบายเท่าไหร่ นั่งช้างก็โคลงเคลงๆ ยุคนี้เราสะดวกสบายมาก อยู่บ้านไม่ต้องออกไหนก็ทำมาหากินได้ อยู่บ้านก็สามารถสั่งอาหารมาให้เรากินให้เราทาน ชอบอาหารประเภทใดประเทศใด ก็จิ้มเอาตามใจชอบ แล้วมี Delivery มาส่ง ในแง่ของสุขภาพก็ดีขึ้น คนที่หิว อดอาหารตายมีน้อย
สมัยก่อน เมื่อสมัยที่อาตมายังเป็นหนุ่ม เพิ่งจบใหม่ๆ คนไทยเป็นโรคขาดอาหารเยอะมาก เด็กตาย เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ตายปีละห้าหมื่นกว่าคน ตายเพราะโรคขาดอาหาร แต่เดี๋ยวนี้ก็ต้องเรียกว่าแทบจะไม่มีใครตายเพราะขาดอาหารแล้ว อาจจะผอมแห้งแรงน้อยบ้าง แต่เดี๋ยวนี้มันตายเพราะกินมากไป ตายเพราะโรคอ้วน จนกลายเป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง เดี๋ยวนี้เราจะทำอะไรก็อย่างที่บอก ไม่ต้องเดินแล้ว มีลิฟต์ มีรถ มีอินเทอร์เน็ต ฉะนั้นจะว่าอยู่ยากก็ไม่เชิง เพราะว่าเรามีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่ถ้ามองในแง่ของความสุข นี้ก็เห็นจะจริงเพราะว่า คนเดี๋ยวนี้มีความสุขน้อยลง สบายมากขึ้น แต่ว่าสุขน้อยลง
สบายเป็นเรื่องกาย สุขเป็นเรื่องใจ ถามว่าสุขน้อยลงเพราะอะไร อาจจะเป็นเพราะว่าเราไปมองเห็นแต่ส่วนที่ไม่ดี คือยุคนี้ส่วนที่ดีมีเยอะ สวัสดิการ สวัสดิภาพ ความสะดวกสบาย แต่การที่เราจะมองเห็นด้านดีที่เราได้รับจากยุคสมัย เราก็ไปมองเห็นแต่ข้อเสีย เช่น รถติด มลภาวะ ต้องเข้าคิว จะทำอะไรก็ต้องเข้าคิว ต้องแก่งแย่งกัน เดี๋ยวนี้แม้กระทั่งส่งลูกไปเรียนอนุบาลก็ต้องแย่งกันแล้ว แย่งกันเรียน แย่งกันสอบ แย่งกันเอาใบสมัคร เรื่องนี้ก็เป็นความจริง แต่ว่าเป็นเพราะว่าเราไปมองแต่ส่วนเสียหรือเปล่า ส่วนดีที่มี เราไม่มองหรือไปคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา แบบนี้เรียกว่าเป็นเรื่องของมุมมอง
อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของความคาดหวังด้วย เพราะธรรมดาคนเรา พอเรามีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ความคาดหวังมันก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย แล้วความสุขและความทุกข์ของคนเรามันก็ขึ้นอยู่กับความคาดหวัง คือถ้าสมหวังก็สุข ถ้าไม่สมหวังก็ทุกข์ ถ้าเกิดว่าเราคาดหวังสูงแล้วไม่ได้อย่างที่คาดหวัง เช่นคาดหวังร้อยแต่ว่าได้แค่แปดสิบมันก็ทุกข์แล้ว ทั้งๆที่แปดสิบมันก็ไม่น้อย คนสมัยก่อนเขามีความคาดหวังต่ำ หรืออย่าว่าแต่คนสมัยก่อนเลย คนยากคนจนในยุคนี้ เขาก็มีความคาดหวังต่ำ พอความคาดหวังต่ำมันก็อาจจะมีความสุขได้ง่าย เพราะว่าการสมหวังนี่มันทำได้ง่ายกว่า
อย่างคนแอฟริกาเวลาเขานั่งเครื่องบิน ถ้าเครื่องบินสามารถจะแล่นลงสู่พื้นได้อย่างปลอดภัย เขาจะดีใจกันมากตบมือเลย เพราะเครื่องบินสามารถที่จะ Landing ลงรันเวย์ได้อย่างปลอดภัยเขาก็ดีใจ แต่ว่าถ้าเป็นคนอเมริกัน คนยุโรป ถ้าเครื่อง Landing อย่างปลอดภัยนี่เขาเฉยมาก เพราะเขาคาดหวังอย่างอื่นมากกว่า เช่น คาดหวังว่าจะมีบริการที่ดีในเครื่องบิน ถ้านั่ง Business Class หรือชั้นธุรกิจแล้วปรากฏว่า ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ไม่มีสัญญาณ WiFi หรือสัญญาณช้า เขาหงุดหงิด ส่วนคนแอฟริกานี่แค่เครื่องบินร่อนลงสู่รันเวย์ได้ปลอดภัยเขาก็ดีใจแล้ว แต่คนรวยเพียงแค่ไม่มีสัญญาณ WiFi ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือมีแต่ไม่เร็วพอก็หงุดหงิดแล้ว เพราะอะไร เพราะเขาคาดหวังว่ามันต้องดี ความคาดหวังต่างกัน คนจนคาดหวังเพียงแค่ว่าเดินทางปลอดภัยก็ถือว่ามีความสุขแล้ว แต่ว่าคนที่ร่ำรวยเขาไม่ได้คาดหวังแค่เดินทางถึงที่หมายด้วยความปลอดภัย แต่คาดหวังว่ามีบริการที่ดี อาหารที่อร่อย มีไวน์บริการ พอไวน์ไม่อร่อยก็หงุดหงิดแล้ว
นี้คือเหตุผลว่า ทำไมแม้คนเราจะร่ำรวยมากขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ความทุกข์ใจไม่ได้น้อยลงเลย เพราะว่าความคาดหวังสูงขึ้นไปตามฐานะทางเศรษฐกิจหรือว่าความเจริญทางด้านเทคโนโลยีด้วย ยิ่งรวยเท่าไหร่ ความคาดหวังก็สูง และบางทีสูงจนกระทั่ง ไม่สามารถตอบสนองให้กับเขาได้ ลองคิดดู ความสุขความทุกข์ของคนเรามันขึ้นอยู่กับความคาดหวังมากเลย ถ้าคาดหวังน้อย เช่นหวังแค่กำไรบาทเดียว แต่ได้กำไรสิบบาทก็ดีใจแล้ว สิบบาทสำหรับบางคนถือว่าน้อย แต่ถ้าเขาคาดหวังบาทเดียวแล้วได้สิบ นี้ดีใจมาก ในทางตรงข้ามคาดหวังหมื่นล้านแต่ได้แค่ห้าพันล้าน ทุกข์เลย ผู้ประกอบการนักธุรกิจจำนวนมาก ไม่ใช่ว่าไม่ได้กำไร ได้กำไร ปีหนึ่งบางทีก็หมื่นล้าน แต่เขาทุกข์เพราะเขาคาดหวังมากกว่านั้น คาดหวังสองหมื่นล้าน ได้หมื่นล้านก็ถือว่าน้อย ลองดู คนหนึ่งได้สิบบาทแต่เขาดีใจ อีกคนหนึ่งได้หมื่นล้านแต่ทุกข์ เพราะอะไร เพราะความคาดหวัง
ฉะนั้นเวลาเราได้อะไร ไม่ต้องพูดเรื่องเสียเอาแค่ว่าได้ ใครๆก็อยากจะเจอแต่คำว่า ได้ เจอแต่คำว่าได้ไม่มีเสีย เพราะคิดว่าถ้าได้แล้วจะสุข แต่มันก็ไม่แน่ ถ้าเขาได้ แต่สิ่งที่ได้มันน้อยกว่าที่เขาคาดหวัง ทุกข์เลย ลำพังแค่ได้อย่างเดียวไม่พอ ต้องได้ตามที่คาดหรือได้อย่างที่หวัง หรือได้มากกว่าที่หวังด้วย ได้มากแต่มันไม่ถึงระดับที่หวัง มันก็ทุกข์ และคนเราไม่ค่อยได้ตระหนักตรงนี้ ไม่ได้ระลึกหรือเฉลียวใจว่าความสุขของคนเรามันอยู่ที่ความคาดหวังด้วย ความทุกข์ของคนเราก็ผูกติดอยู่กับความคาดหวังเหมือนกัน
บางทีมันก็แปลก สมมุติว่าเราให้เงินคนหนึ่ง ทีแรกให้สิบบาท ต่อมาให้อีกห้าสิบ และต่อมาให้อีกร้อย เขาจะมีความสุขมาก แต่ถ้าเราเปลี่ยนใหม่ ทีแรกให้เขาร้อย แล้วก็ให้เขาห้าสิบ แล้วให้เขาสิบ เขาจะไม่ค่อยดีใจเท่าไหร่ ทั้งๆที่สองคนได้ 160 เหมือนกัน แต่ถ้าเราเริ่มต้นจากให้สิบ ห้าสิบ ร้อย เขาจะดีใจ แต่ถ้าเราสตาร์ทจาก ร้อย แล้วก็ห้าสิบ แล้วก็สิบ เขาอาจจะไม่ค่อยดีใจเท่าไหร่ เพราะว่าตอนที่เขาได้ร้อยหนึ่ง เขาคาดหวังว่าเขาน่าจะได้อีกร้อย แต่พอเขาได้ห้าสิบ มันน้อยกว่าที่เขาคาด ได้ห้าสิบไม่พอ ครั้งต่อมานึกว่าจะได้ห้าสิบ ปรากฏว่าได้สิบ สองคนนี้ได้ 160 เหมือนกัน แต่ทำไมคนหนึ่งสุข แล้วอีกคนหนึ่งทุกข์ มันไม่ได้เกี่ยวกับจำนวน มันเกี่ยวกับความคาดหวัง มันอยู่ที่ว่าการให้ของเราแต่ละครั้ง มันไปสร้างความคาดหวังให้กับเขามากน้อยแค่ไหน นี้พูดถึงการได้ ไม่ได้พูดถึงการเสีย บางทีเสียมากกลับมีความสุข เสียน้อยกลับทุกข์ก็มี
เมื่อเดือนที่แล้วไปภูเก็ต เจ้าภาพก็ขับรถพาเที่ยวชมเมือง และได้เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภูเก็ต ส่วนหนึ่งก็คือมีนักท่องเที่ยวชาวจีนมาเที่ยวภูเก็ตเยอะมาก เดี๋ยวนี้ภูเก็ตอยู่ได้เพราะนักท่องเที่ยวชาวจีน และเจ้าบ้านเขาเล่าว่า สินค้าอย่างหนึ่งที่คนจีนชอบมาก มาทีซื้อเป็นว่าเล่นเลยก็คือหมอนยางพารา เดี๋ยวนี้เราไปภูเก็ตเราจะเห็นโรงงานและร้านขายหมอนยางพาราเยอะ และก็มีนักท่องเที่ยวชาวจีนนั่งรถบัสกันเป็นคันๆ ไปแห่ซื้อกัน คนไทยที่นั่นบอกว่า หมอนยางพาราคนไทยจริงๆซื้อเจ็ดแปดร้อย แต่คนจีนซื้อเจ็ดแปดพัน แต่เขามีความสุขมากที่ซื้อได้ เพราะอะไร เพราะว่าที่เมืองจีน โชว์รูมที่ขายหมอนยางพารา เขาตั้งราคาไว้สองหมื่น ก็คงเป็นเจ้าของเดียวกันกับที่มาขายในเมืองไทย เขาตั้งราคาสูงแบบนั้นไปทำไม เขาตั้งราคาสูงแบบนั้นเพราะว่า เพื่อทำให้คนจีนเวลามาเมืองไทย เจอหมอนราคาเจ็ดแปดพัน ถูกมากเลย ซื้อทันทีเพราะเขาเทียบกับสองหมื่น ราคาสองหมื่นเขาตั้งไปล่อ ตั้งเอาไว้เป็นมาตรฐาน ร้านพวกนี้เขาไม่คิดว่าจะขายหมอนในราคาสองหมื่น คือตั้งราคาไว้แบบนี้ไม่มีใครซื้อหรอก แต่ว่าคนจีนเขาเห็นราคาสองหมื่นที่เมืองจีน พอเขามาเมืองไทยที่ภูเก็ต เจ็ดแปดพัน ถูกมากเลยซื้อใหญ่เลย ดีใจ ทั้งๆที่ เจ็ดแปดพันคือแพง แต่สำหรับเขามันคือถูก เพราะเขาไปเปรียบกับสองหมื่น ที่ติดราคาขายที่เมืองจีน จ่ายแพงแต่มีความสุข เพราะว่าคิดว่ามันน้อย แต่ถ้าจ่ายน้อยเช่นจ่ายสิบบาท แต่ถ้าคิดว่ามันน่าจะเป็นแปดบาท ทุกข์เลย
เดี๋ยวนี้เขาก็มีวิธีการหลอกล่อแบบนี้ ให้คนเรายอมควักเงินแพงๆ ที่ประเทศอเมริกาเขามีบริษัทหนึ่งผลิตเครื่องทำขนมปังสำหรับครัวเรือน คือไม่ต้องไปซื้อขนมปังจากร้าน ทำเองได้ ก็เป็นการเก็งตลาดเพราะเดี๋ยวนี้คนอเมริกันชอบทำอะไรเอง คล้ายๆว่าช่วยตัวเองทำด้วยตัวเอง เช่น เฟอร์นิเจอร์ แทนที่จะไปซื้อมาสำเร็จรูปก็ซื้อมาประกอบเอง ผู้ผลิตคิดว่าถ้าทำเครื่องทำขนมปังแบบนี้คงจะขายดี เขาตั้งราคาไว้ $275 ก็เกือบ 8-9 พันบาท ปรากฏว่าขายไม่ออก ผิดคาด ลงทุนไปเยอะ ลงทุนไปเป็นร้อยล้านกะจะรวย แต่ว่าคนไม่ค่อยซื้อ เขาเลยไปจ้างที่ปรึกษามาช่วยขบคิดหน่อยว่าจะทำอย่างไรดี ที่ปรึกษาการตลาดเขาเสนออย่างไรรู้ไหม เขาเสนอให้ผลิตเครื่องทำขนมปังรุ่นใหม่เลย ไม่ใช่ถูกกว่าเดิม แต่ให้แพงกว่าเดิม50% เครื่องละ $400 ใหญ่กว่าเดิมและแพงกว่าเดิม ขายเครื่องละ $400 พูดแค่นี้เราคงสงสัยว่ามันจะขายได้หรือ 275 ยังขายไม่ออกเลยแล้ว 400 จะขายออกได้อย่างไร ปรากฏว่าบริษัทเชื่อที่ปรึกษา เขาทำตาม ผลิตเครื่องใหม่ออกมา รุ่นใหม่ $400 แพงว่ารุ่นเก่า 50% ปรากฏว่าขายดี แต่ที่ขายดีไม่ใช่รุ่นใหม่แต่เป็นรุ่นเก่า รุ่นที่เคยขายไม่ออก $275 พอมีรุ่นใหม่ออกมา $400 คนแห่ไปซื้อ $275 เพราะรู้สึกว่า $275 มันถูก ตอนที่ผลิตใหม่ๆรุ่น $275 เขาคิดว่ามันแพง ใครเขาจะซื้อ $275 แต่พอผลิตรุ่นใหม่ $400 $400 กับ $275 อะไรถูกกว่ากัน คนก็ไปซื้อ $275 $400ขายไม่ออกหรอกแต่เขาผลิตมาเพื่อเป็นตัวล่อให้เราซื้อ เพราะว่าพอคนเห็น $400 ก็รู้สึกว่า $275 มันถูก ซื้อเลย นี้คือวิธีการล้วงกระเป๋าจากผู้คน เขาใช้วิธีนี้ เขาอาศัยการสร้างความคาดหวังหรือการเปรียบเทียบ
นั้นเป็นเพราะเราเปรียบเทียบไม่เป็น หรือว่าเป็นเพราะชอบเปรียบเทียบแบบนี้แหละ เราจึงไม่เพียงแต่เสียเงินไปโดยใช่เหตุมากมาย แต่บางทีเราเสียความสุขด้วย เงินนี้ไม่เท่าไหร่ แต่คนเราเสียความสุขเพราะการเปรียบเทียบ เราได้อะไรมาแทนที่เราจะดีใจ เรากลับเสียใจเมื่อเห็นคนอื่นได้มากกว่าเรา ไม่ว่าจะเป็นได้โบนัสมากกว่าเรา ได้รางวัลมากกว่าเราหรือว่าได้ของแถมมากกว่าเรา หรือแม้กระทั่งในหมู่นักปฏิบัติธรรมก็ทุกข์เพราะเหตุนี้มาก เพราะการเปรียบเทียบ ทั้งๆ ที่ได้โชคได้ลาภแต่ว่ากลับทุกข์ก็เพราะไปเปรียบเทียบกับคนอื่น แล้วก็เลยรู้สึกว่าสิ่งที่เราได้มันต่ำต้อย
อาตมาเคยไปบรรยายที่หอจดหมายเหตุ สวนโมกข์ กรุงเทพฯ ตอนนั้นคนฟังก็เยอะเหมือนกัน ร้อยเกือบสองร้อย แต่ว่าหนังสือที่อาตมาเตรียมมาไม่พอ ก็เลยบอกผู้ฟังว่า หนังสือมีไม่พอ บางคนก็อาจจะไม่ได้ แล้วอาตมาก็หยิบหนังสือห่อแรกขึ้นมา ประมาณขนาดนิ้วมือนี้แหละ ก็มีคนรีบมาเข้าคิวรับ คนที่ได้เขาก็ดีใจเพราะว่ามันมีจำกัด พอหมดห่อแรก อาตมาก็เอาห่อสองมา คราวนี้หนังสือเล่มใหญ่กว่าเดิม คนที่อยู่ข้างหลังเขาก็ดีใจที่เขาได้หนังสือ พอแจกเสร็จคนที่ได้หนังสือห่อแรกหลายคนเขาเสียใจ เขามาหาอาตมาว่าขอเปลี่ยนได้ไหม ขอเปลี่ยนเป็นเล่มใหญ่ ยังไม่ทันอ่านเลย รู้ได้ไงว่าเล่มใหญ่ดีกว่าเล่มเล็ก แปลกนะเขาเสียใจมากเลย ตอนแรกเขาดีใจว่าฉันได้ คนอื่นอาจจะไม่ได้ แต่พอรู้ว่าฉันได้ก็จริงแต่คนอื่นเขาได้เล่มใหญ่กว่า เสียใจเลย
นี่นักปฏิบัติธรรม สนใจธรรมะ และทั้งๆที่อาตมาพูด ก่อนหน้านั้นก็พูดเรื่องการเปรียบเทียบนี้แหละ ว่าคนเราทุกข์เพราะการเปรียบเทียบ ทุกข์เพราะความคาดหวัง แต่ว่าพูดไปเขาก็เห็นด้วยแต่ว่าไม่เฉลียวใจ พอมีของมาล่อ ที่จริงไม่ใช่ตั้งใจจะล่อ เป็นเจตนาดีที่จะเอามาแจก ถ้าอาตมาเริ่มต้นจากการแจกเล่มใหญ่ก่อนแล้วค่อยตามด้วยเล่มเล็ก คงจะไม่ค่อยมีปัญหา คนที่ได้เล่มใหญ่เขาก็ดีใจ เขาก็ไม่อิจฉาคนที่ได้ทีหลัง เพราะว่าเล่มเล็กกว่า นี่ถ้าเขามองเป็น เขาจะมองว่าฉันได้เล่มเล็กก็จริง แต่โชคดีเพราะคนอื่นเขาไม่ได้ นี่คือเปรียบกับคนที่ไม่ได้ แต่พอไปเปรียบเทียบกับคนที่ได้เล่มใหญ่กว่า ทุกข์เลย เพราะฉะนั้นจึงได้บอกว่า แม้คนเราจะได้สิ่งที่พึงปรารถนา แต่ถ้ารู้สึกว่าได้น้อย ทุกข์เลย คนเราจึงไม่ใช่ว่าเป็นสุขเพราะได้อย่างเดียว มันต้องได้มากกว่าด้วย และเดี๋ยวนี้ถ้าได้น้อยกว่าถือว่า มันไม่เป็นธรรม เป็นทุกข์ มันมีความคิดแบบนั้น
เมื่อสัก 3-4 ปี มีการทดลองเขาทำเป็นคลิปวีดีโอ ทดลองกับลิง 2 ตัว ลิงมันก็เชื่องพอสมควร ลิงในกรงซ้าย เขาเริ่มต้นที่ลิงในกรงซ้ายก่อน เขาให้มันทำภารกิจคือให้ใส่หินลงไปในกรง หน้าที่ของลิงคือหยิบหินมาคืนผู้ทดลอง ถ้ามันคืนเขาก็จะให้รางวัล ลิงตัวแรกอยู่ซ้ายมือพอมันคืนหินเขา เขาก็ให้แตงกวา มันก็รับไปด้วยความดีใจ คราวนี้ลิงตัวที่สองอยู่ขวามือก็ให้ทำภาระกิจเดียวกันคือให้ใส่หินไปในกรง ลิงมันก็เอาหินคืน พอคืนมาก็ได้รางวัล แต่รางวัลแทนที่จะเป็นแตงกวากลับเป็นองุ่น องุ่นนี้มันอร่อยกว่าแตงกวา ลิงมันรู้ คราวนี้กลับไปใหม่กลับไปที่ลิงตัวแรกที่อยู่กรงซ้ายมือ กรงนี้เป็นกรงกระจกหรือพลาสติก มันเห็นกันหมดว่าใครทำอะไรใครได้อะไร ก็ให้ทำภารกิจเดิม คือเอาหินใส่ไปที่กรง หน้าที่ของลิงก็คือคืนหินมาให้คน แล้วคนก็ให้รางวัล ก็ให้รางวัลเหมือนเดิมคือให้แตงกวา มันรับแตงกวาไปกินสักพักมันไม่พอใจ มันเอาแตงกวาขว้างใส่คน มันไม่พอใจเพราะอะไร เพราะอีกตัวหนึ่งมันได้องุ่น คนก็ไม่สนใจก็ทำเหมือนเดิม ลิงตัวที่สองกรงขวามือ เขาก็ให้ทำภารกิจพอมันคืนหินให้เขา เขาก็ให้องุ่นมัน มันก็ Happy ไป กลับมาที่ลิงตัวแรกทำเหมือนเดิม ให้แตงกวา มันเอาแตงกวาขว้างแล้วมันก็เขย่ากรง โกรธมากเลย ตอนที่มันได้แตงกวาครั้งแรกมันมีความสุขที่มันได้รางวัล แต่พอมันเห็นอีกตัวได้องุ่น ถ้ามองแบบมนุษย์ คือมันไม่พอใจเพราะรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม ทำไมทำงานอย่างเดียวกัน ฉันได้แตงกวาแต่อีกตัวได้องุ่น อย่างนี้ไม่ยุติธรรม
แต่อาตมาก็ไม่แน่ใจว่ามันคิดแบบนี้จริงหรือเปล่า มันอาจจะเป็นความอิจฉาก็ได้ อิจฉาที่ตัวอื่นได้องุ่นแต่กูนี่ได้แตงกวา เพราะฉะนั้นไม่พอใจ ถามว่าลิงทำแบบนี้ ลิงตัวแรกที่มันขว้างแตงกวา มันฉลาดหรือมันโง่ มันขว้างแล้วมันได้อะไร แทนที่มันจะกินแตงกวา ไหนๆได้แตงกวามาแล้วก็กินสักหน่อย แต่มันกลับขว้างเพราะความโกรธ โกรธเพราะอะไร โกรธเพราะได้น้อยกว่า ถ้าพูดแบบมนุษย์คือมันไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่จะบอกว่ามันไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ไม่ถูก เพราะถ้าเกิดมันได้มากแต่ตัวอื่นได้น้อย มันพอใจไหม มันพอใจ ถ้ามันได้สอง แต่อีกตัวได้หนึ่ง มันทุกข์ไหม มันไม่ทุกข์ ถามว่านี้เป็นธรรมไหม ไม่เป็นธรรม ตัวหนึ่งได้หนึ่งแต่ฉันได้สอง เป็นธรรมไหม ไม่เป็นธรรมแต่มันไม่โกรธมันไม่โมโห มันจะโมโหก็ต่อเมื่อกูได้หนึ่งแต่คนอื่นได้สอง หรือว่ากูได้แตงกวา แต่อีกตัวได้องุ่น
คนเราก็เป็นแบบนี้ ลิงมันสะท้อนให้เห็นนิสัยใจคอของคนได้ไม่น้อย คือเราต้องการได้เท่ากับคนอื่นอย่างน้อยๆ แต่ถ้าได้มากกว่าคนอื่นยิ่งดี ถ้าได้น้อยกว่าคนอื่นก็จะไม่พอใจ และความไม่พอใจบางทีมันถึงขั้นลืมตัว ที่ได้มาทิ้งไปเลย อันนี้ก็เป็นความโง่ของคน เราอาจจะไม่ทิ้งของแต่เราจะทุกข์ ทุกข์เพราะสิ่งที่ได้มามันน้อยกว่าคนอื่น
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนเราให้กลับมารู้จักพอ พอใจสิ่งที่มี ยินดีสิ่งที่ได้ แม้เราจะได้น้อยกว่าคนอื่น แต่ว่าควรดีใจที่เราได้ ไม่ใช่ทิ้งมัน เพราะการทิ้งเป็นการทำร้ายตัวเอง เราอาจจะไม่ทิ้งแต่ว่าเราทุกข์ อันนี้ก็ซ้ำเติมตัวเองเหมือนกัน ถ้าหากเราพอใจสิ่งที่มียินดีกับสิ่งที่ได้ เราได้น้อยกว่าคนอื่นเราก็มีความสุข มนุษย์เราควรจะฉลาดกว่าลิง มนุษย์เราควรจะมองว่าเราได้น้อยเราได้แตงกวา แต่แตงกวาก็อร่อยเหมือนกัน หรืออย่างน้อยมีเมตตาหรือมีมุทิตา เขาได้มากกว่าเรา เขาได้องุ่น เขาได้โบนัสมากกว่าเรา ก็มีมุทิตาจิต เพราะว่าเขาอาจจะต้องการเงินหรือต้องการสิ่งนั้นมากกว่าเรา หรือเรามีความสามารถในการเจริญมุทิตาจิตได้ ลิงอาจจะทำแบบนั้นไม่เป็น แต่ก็ไม่แน่ถ้าฝึกดีๆอาจจะทำได้
คนเรามีความสามารถในการเจริญมุทิตาจิต ใครเขาได้มากกว่าเรา ใครเขาได้หนังสือเล่มใหญ่กว่าเรา เราก็อนุโมทนา มีมุทิตาจิตให้ เราก็เป็นสุข สิ่งที่เราได้มาก็ไม่ทิ้งเอามาใช้ประโยชน์ได้ ที่นี้ มันเชื่อมโยงกับความคาดหวังด้วย ถ้าเราฉลาดเราจะพบว่ามันไม่สำคัญหรอกว่าเราได้อะไรมา มันอยู่ที่ว่าความคาดหวัง ได้มากแต่ถ้าคาดหวังมากกว่า ทุกข์ ได้น้อยแต่คาดหวังมากกว่าที่ได้ มันก็สุข ได้สิบแต่คาดหวังเก้า อันนี้ดีใจสุข ได้หมื่นล้านแต่คาดหวังสองหมื่นล้าน นี่ทุกข์เลย ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง บางคนถูกลอตเตอรี่สองตัวดีใจ แต่พอเห็นเพื่อนถูกลอตเตอรี่สามตัว เสียใจเลย บางคนถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งดีใจ แต่พอรู้ว่าเพื่อนเขาถูกสองใบ เราเสียใจเลย เราถูกใบเดียวเขาถูกสองใบ เสียใจ กูน่าจะซื้อมากกว่านี้ อะไรแบบนี้
คิดดูดีๆการที่เราได้ ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าเราจะมีความสุขเสมอไป ถ้ามันได้น้อยกว่าที่คาดหวังเราทุกข์เลย หรือถ้าคนอื่นเขาได้มากกว่าเรา เราก็ทุกข์ ฉะนั้นกลับกันมาดูใจของเรา กลับมาปรับใจของเราให้ดี ซึ่งต้องอาศัยสติด้วย ถ้าไม่มีสติ มันคาดหวังแบบเรียกว่าเตลิดเปิดเปิงโดยไม่รู้ตัว แล้วก็เกิดทุกข์ไม่รู้จักหยุดไม่รู้จักหย่อน กลับมาดูว่าปัญหามันอยู่ที่ความคาดหวังของเราหรือเปล่า มันอยู่ที่การเปรียบเทียบของเราหรือเปล่า พูดง่ายคือ ปัญหามันอยู่ที่ การวางใจของเรามันถูกหรือเปล่า ถ้าเราวางใจผิด แม้ว่าจะได้โชคได้ลาภ ก็ทุกข์