แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คนเรามีความต้องการหลายระดับหลายขั้น ขั้นแรกก็เป็นขั้นพื้นฐานเลย คือความอยู่รอดปลอดภัย ไม่หิวโหย กินอิ่ม นอนอุ่น อันนี้มันเป็นความต้องการพื้นฐานคนเรา เพราะมันทำให้อยู่รอด พอกินอิ่ม นอนอุ่น ปลอดภัย ไม่มีภัยอันตรายคุกคาม เราก็มีความต้องการอย่างอื่นเพิ่มขึ้น เช่น ความสุข ความสนุกสนาน ความบันเทิง รื่นเริง อาจจะรวมไปถึงความร่ำรวย มีหน้ามีตา มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ มีเสรีภาพ อันนี้พอได้มันมาแล้ว เราก็มีความต้องการอย่างอื่นขึ้นมาอีก สิ่งหนึ่งก็คือความสงบ ตอนที่ยังหิวโหย ยังยากจน ความสงบไม่ใช่สิ่งที่เราปรารถนาเท่าไร ก็มีแต่ต้องดิ้นรนเพื่อให้มีกิน ให้มีบ้าน มีปัจจัย 4 มีความปลอดภัย มีสวัสดิภาพ มีชีวิตยืนยาวขึ้น พอมีแล้วก็อยากได้อย่างอื่นตามมา คนที่เขาประสบความสำเร็จในชีวิต คนที่มีการงานที่มั่นคง มีความร่ำรวย มีความนับหน้าถือตา พวกนี้ เมื่อเขาได้มาแล้ว ไม่ใช่ว่าเขาพอ หลายคนก็นึกถึงความสงบแล้ว
ถ้ายังไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต หรือยังไม่ได้รับสิ่งที่พึงปรารถนาทางด้านสถานภาพ เช่น การงานที่มั่นคง ก็อาจจะไม่ค่อยสนใจความสงบเท่าไร แต่พอได้รับสิ่งที่เรียกว่าความสำเร็จทางโลก ตอนนี้ก็จะเริ่มโหยหาความสงบ นี่ก็คือเหตุผลว่าทำไม คนจำนวนมากโดยเฉพาะคนในเมือง ตอนนี้ก็หันมาสนใจเรื่องสมาธิภาวนา มันเป็นอย่างนี้กันทั้งโลก ในประเทศที่ร่ำรวย เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป พวกนี้คนที่เขามีการมีงานที่มั่นคง เขาประสบความสำเร็จในชีวิตระดับหนึ่งอาจจะไม่ถึงที่สุด แต่ก็เรียกว่ามีความพรั่งพร้อมบริบูรณ์ทางวัตถุ พวกนี้จะพบว่ามันยังไม่ใช่ความสุขที่แท้ ความสุขที่แท้นี้คือความสงบ หลายคนพบว่าการได้รับความพรั่งพร้อมบริบูรณ์ทางวัตถุ มีชื่อเสียง เกียรติยศ มีอะไรต่ออะไรมากมาย มันต้องแลก ต้องแลกกับความสงบ ชีวิตก็ต้องวุ่นวาย ต้องดิ้นรน ต้องแข่งขัน เกิดความเครียด เกิดความวิตกกังวล บางคนนอนไม่หลับ พอได้รับความสำเร็จทางโลกระดับหนึ่งแล้ว ก็ยังรู้สึกว่าชีวิตมันยังขาดอยู่ ขาดสิ่งที่เรียกว่า “ความสงบ”
ฝรั่ง เดี๋ยวนี้เขามาสนใจการทำสมาธิภาวนากันมากขึ้น ที่จริงเป็นอย่างนี้มา 50 กว่าปีแล้ว แล้วก็ยังไม่ขาดสาย บางคนก็เดินทางมาเมืองไทย บางคนก็เดินทางไปประเทศอินเดีย แสวงหาความสงบ ความสงบที่คนแสวงหาอย่างหนึ่งก็คือ ความเงียบ คำว่า “เงียบ” กับ “สงบ” มันมาด้วยกัน จะสงบได้ หลายคนคิดว่ามันต้องเงียบ ต้องไม่มีเสียงอึกทึกครึกโครม แต่ถึงแม้ว่ามันจะเงียบ แต่ถ้าเกิดว่า ชีวิตมันวุ่นวาย ก็คงไม่สงบ ความวุ่นวายบางอย่างก็ไม่ได้ส่งเสียงดัง ความวุ่นวายส่วนหนึ่งก็เกิดจากการมีกิจ มีงานการเยอะ หลายคนพบว่าถ้ามีการงานเยอะ พอผู้คนมากมายมีงานการเยอะ มันก็วุ่นวายเหมือนกัน ถึงแม้ว่าไม่ต้องส่งเสียงดังแต่ก็ยังหาความสงบไม่พบ และความวุ่นวายในสายตาของคนส่วนใหญ่ ก็คือว่าเป็นเพราะมีงานการเยอะ มีภารกิจมาก หรือว่าต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนเยอะมันก็เลยวุ่นวาย เพราะฉะนั้นถ้าอยากสงบ นอกจากไปที่มันเงียบ ไม่วุ่นวาย ต้องไม่มีภารกิจการงาน
อันนี้คือเหตุผลที่หลายคนพอถึงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือว่าวันหยุดยาว ก็ต้องออกไปต่างจังหวัด ไปรีสอร์ท เพราะว่ามันเงียบ แล้วก็มันไม่ค่อยมีผู้คน ไม่ต้องทำงานการมาก ได้พักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะถ้าได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เดี๋ยวนี้ผู้คนก็เดินทางไปหาความสงบแบบนี้ บางทีก็มาวัด ความสงบในความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ มันเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยสถานที่ ก็ต้องออกจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง จากที่ๆ มีเสียงอึกทึกไปที่ๆ ไม่มีเสียงอึกทึก จากที่ๆ มีความวุ่นวายไปสู่ที่ๆ ไม่มีความวุ่นวาย ถึงจะพบความสงบ แต่นี่ก็เป็นความเข้าใจผิดพลาด มันไม่แน่เสมอไป
อาตมารู้จักอาจารย์คนหนึ่ง สมัยที่เป็นนักศึกษาปริญญาเอก ก็ไปเรียนหนังสือที่อเมริกา อันนี้ก็ประมาณ 40 ปีที่แล้ว วันหนึ่งมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาคนนี้เรียน ก็มาขอความช่วยเหลือ ทางมหาวิทยาลัยได้นิมนต์พระทิเบตมารูปหนึ่ง มหาวิทยาลัยไม่ค่อยคุ้นเคยกับการต้อนรับพระทิเบต เพราะว่าฝรั่งเขานับถือศาสนาคริสต์ และเขาก็ไม่รู้ธรรมเนียมของเอเชีย เขาก็เลยมาติดต่อนักศึกษาไทยคนนี้ ให้มาช่วยเป็นคนอุปัฏฐากต้อนรับ สมัยนี้พระทิเบตก็ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในอเมริกา ผิดกับสมัยนี้ สมัยนี้หนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาทิเบตนี่หาได้ง่ายมากตามร้านหนังสือทั่วไป แม้กระทั่งในสนามบินเขาจะมีหนังสือเกี่ยวกับอาจารย์ หรือลามะชาวทิเบตที่เด่นที่สุดก็คือ ท่านดาไลลามะ เดี๋ยวนี้การหาพระทิเบตก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่สมัยก่อนนี่มีน้อย ฉะนั้นมหาวิทยาลัยก็ติดต่อนักศึกษาไทยให้ไปช่วยเป็นอุปัฏฐากดูแล ก็ดูแลอย่างใกล้ชิด ประมาณ 3 วัน พระทิเบตมาแสดงธรรม แล้วก็มาสอนสมาธิ การที่ได้ใกล้ชิดพระทิเบต 3 วัน นักศึกษาไทยก็ประทับใจมาก พระทิเบตท่านนี้เป็นพระที่มีเมตตา อารมณ์ดี มีอารมณ์ขัน แต่ว่าสงบ ใครที่สัมผัสหรือใครที่อยู่ใกล้ๆ ก็สัมผัสได้ถึงความสงบ ประทับใจมาก นักศึกษาไทย ทั้งที่เป็นชาวคริสต์ แต่ประทับใจพระทิเบตท่านนี้
วันสุดท้ายเมื่อพระทิเบตท่านจะกลับประเทศอินเดีย นักศึกษาไทยก็เลยถามว่า “ถ้าหากว่าผมเรียนจบปริญญาเอก กลับไปเมืองไทยจะขอโอกาสไปพักที่วัดของท่านที่อินเดีย จะได้ไหม” เพราะได้ฟังจากที่ท่านแล้ว ก็เป็นวัดที่อยู่ในสถานที่ๆ สงบ ก็คืออยู่ใกล้ที่ๆ ภูเขา อย่างธรรมศาลานี่ก็อยู่บนภูเขาเลย วัดทิเบตก็มักจะอยู่บนหุบเขา หรืออยู่บนภูเขา มองไปไกลๆ ก็เห็นเขาที่มีหิมะปกคลุมสวยงาม นักศึกษาไทยบอกว่าจะขอไปพักที่นั่น ที่พักของพระทิเบต สักระยะหนึ่งจะได้ไหม ท่านก็ตอบว่า “ได้สิ แต่ก็ถามว่า ท่านจะไปทำไมล่ะ” นักศึกษาไทย ก็บอกว่าจะไปหาความสงบที่นั่น พระทิเบตก็เลยพูดขึ้นว่า “ถ้าคุณกลับไปกรุงเทพฯ กลับไปเมืองไทย แล้วไม่พบความสงบ มาวัดอาตมาก็คงไม่พบเหมือนกัน” คำพูดสั้นๆ นี้ ทำให้นักศึกษาไทยชะงัก แล้วก็ฉุกคิดขึ้นมาทันที เอ๊ะ ถ้าเราไม่พบความสงบในเมืองไทย จะไม่พบความสงบในอินเดียหรือ?
ฉะนั้นพอนักศึกษาไทยเรียนจบ ได้ทุนปริญญาเอก กลับไปเมืองไทย ก็ไม่ได้ไปเรียนที่วัดของลามะท่านนี้ ก็คงจะพบว่า เอ๊ะ..ที่เมืองไทยหรือกรุงเทพฯ ก็สามารถจะหาความสงบได้เหมือนกัน นักศึกษาไทยอยากไปวัดของพระทิเบตท่านนี้ เพราะเห็นว่ามันเงียบสงบ มันไม่มีความวุ่นวาย พลุกพล่าน จอแจ แต่สิ่งที่พระทิเบต พูดนี้ก็ทำให้นักศึกษาไทย ซึ่งตอนนั้นก็เป็นอาจารย์ ตอนนี้ก็เกษียณแล้ว ได้คิดว่า ความสงบที่จริงมันอยู่ที่ใจ มันไม่ได้อยู่ที่สถานที่ แต่คนส่วนใหญ่ก็เข้าใจยาก เพราะว่าพอเวลาพูดถึงความสงบ ก็รู้ว่าเป็นความสงบที่ในจิตใจ แต่ก็ไปคิดว่ามันต้องเกิดขึ้นในที่ๆ สงบ ไม่มีเสียงรบกวน และก็ไม่มีคนพลุกพล่าน และอีกอย่างก็คือไม่มีการงานด้วย
และนี่ก็เป็นความคิดของคนที่มาปฏิบัติ นักปฏิบัติธรรมจำนวนมาก ก็คิดว่า การงานจำนวนมากก็ทำให้ใจไม่สงบ หลายคนก็พยายามทิ้งงานการที่กรุงเทพฯ มาวัด พอเห็นงานการที่วัดก็รู้สึกหงุดหงิด ไม่พอใจว่า ทำไมอุตส่าห์ทิ้งงานที่บ้าน ที่กรุงเทพฯ แล้วก็ต้องมาเจอการงานที่วัด บางคนก็พยายามที่จะหลีกเลี่ยง ไม่ยอมที่จะรับผิดชอบกับงานการ เหตุผลคือกลัวใจไม่สงบ
มันมีนิทานเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็คงมีที่มาจากเรื่องจริง มีชายหนุ่มคนหนึ่ง อันนี้เข้าใจว่าเป็นที่ประเทศญี่ปุ่น มีชายหนุ่มคนหนึ่ง ใฝ่ธรรมะ อยากจะบรรลุธรรม ก็อุตส่าห์ทิ้งบ้าน มาบวชปฏิบัติธรรมที่วัด แต่ปรากฏว่า พอมาวัดมีการงานให้ทำเยอะ พระญี่ปุ่นก็ต้องหลายอย่าง ต้องผ่าฟืน ต้มน้ำ ทำครัว ทำอาหาร แล้วก็ต้องล้างจาน ก็เกิดความหงุดหงิดขึ้นมาก ว่าอุตส่าห์ทิ้งการงาน ครอบครัว มาวัด ก็ยังหนีไม่พ้นงานการมากมาย ทำให้ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม อุตส่าห์มาบวชเพื่อปฏิบัติธรรม แต่ว่าไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม เพราะว่ามีการงานเยอะแยะไปหมดเลยเลย ก็เลยตัดสินใจ ปลีกตัวออกจากวัด ไปอยู่คนเดียวในป่าบนเขา คิดว่าไปอยู่ที่นั้นแล้วก็จะมีเวลาปฏิบัติธรรม เพราะจะได้ไม่ต้องเสียเวลาทำงานการที่มีเยอะแยะไปหมด
แต่พอขึ้นไปอยู่บนเขา ก็มีปัญหาตามมา ก็คือว่าต้องลงจากเขา มาบิณฑบาต เขาก็อยู่สูง หมู่บ้านก็อยู่ไกล เพราะฉะนั้นกว่าจะลงจากเขาเพื่อบิณฑบาต ขึ้นมาเสร็จก็เกือบเที่ยงแล้ว ไม่ค่อยมีเวลาปฏิบัติเลย อย่ากระนั้นเลย เราลงเขาสักประมาณ 3 วันครั้งก็แล้วกัน จะได้มีเวลาปฏิบัติธรรม แต่ครั้นทำอย่างที่ว่า ก็ปรากฏว่ามันก็มีอย่างอื่นที่ต้องทำ เช่น ซ่อมกระท่อม ต้องไปตักน้ำ ต้องไปผ่าฟืน แถมยังต้องซ่อมรองเท้า รองเท้าสาน เวลาลงเขาขึ้นเขา ไม่ถึงเดือน แค่อาทิตย์ 2 อาทิตย์ มันก็เสียแล้ว ก็ต้องซ่อม เสียเวลามาก ก็เกิดความไม่พอใจ เราไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมเลย อุตส่าห์มาที่นี่ นอกจากนั้นก็มีปัญหาตามมา คือเนื่องจากนานๆ 2-3 วัน ไปบิณฑบาต อาหารที่ได้มาก็น้อย ที่จริงฉันวันเดียวก็หมดแล้ว แต่ก็ต้องฉัน 3 วัน ถึงจะลงไปที ก็กลายเป็นว่าขาดอาหาร ขาดอาหาร ป่วยไม่สบาย หมอในหมู่บ้านก็บอกว่าจะต้องกินนม เพื่อฟื้นคืนให้สุขภาพเป็นปกติ เพราะฉะนั้นก็ต้องลงเขาไปขอนมจากชาวบ้าน ต้องลงเขาทุกวัน ลงเขาทุกวันเพื่อไปเอานม นมที่จะเอามาจะตุนไว้ก็ไม่ได้ มันต้องฉันต่อวัน เพราะฉะนั้นขึ้นลง ขึ้นลง ก็ไม่ไหวแล้วเสียเวลา ทำยังไงดีล่ะ ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมเลย ก็เลยเลี้ยงแพะดีกว่า ก็ไปขอแพะชาวบ้านมาหลายตัว
คราวนี้ก็ไม่ต้องลงเขาแล้ว ก็รีดนมแพะนี่แหละเป็นอาหารเสริม แต่พอมีแพะมาหลายตัวก็มีปัญหาก็ต้องเสียเวลาไปตามหาแพะ บางทีบางตัวก็หนีไป เสียเวลาไปทำคอกให้แพะ เสียเวลาไปหาหญ้าให้แพะ โดยเฉพาะในหน้าหนาว มันไม่ค่อยมีหญ้า อันนี้มันประเทศญี่ปุ่นใช่ไหม หน้าหนาวก็มีหิมะ ก็ต้องมีหญ้ามีฟางเก็บเอาไว้ .. โอ้ย เหนื่อย ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมเลย ทำยังไงล่ะ งั้นไปหาคนมาช่วยเลี้ยงแพะดีกว่า หาคนมาช่วยเลี้ยงแพะ คิดว่าทำให้มีเวลามาปฏิบัติธรรม ปรากฏว่าต้องบิณฑบาตเพิ่ม เพราะว่าต้องเอาอาหารมาให้คนเลี้ยงแพะด้วย ที่เคยบิณฑบาต 3 วันครั้ง ก็ต้องลงทุกวันแล้วก็ต้องเริ่มไปไกลขึ้น เพราะว่าหมู่บ้านเล็ก ถ้าจะได้อาหารเลี้ยงคน 2 คน ก็ต้องไปไกลหน่อย กว่าจะกลับขึ้นมาก็เที่ยงแล้ว บางทีก็บ่าย มีเวลาปฏิบัติธรรมนิดเดียว เพราะว่าก็ต้องทำอย่างอื่นด้วย ซ่อมหลังคา ตักน้ำ ผ่าฟืน ก็เลยคิดดูว่าจะทำยังไง เราจะไม่ต้องหาข้าวมาให้คนเลี้ยงแพะ ก็เลยคิดว่าอาอย่างนี้ดีกว่า หาเมียดีกว่า ให้เมียมาช่วยเลี้ยงแพะ จะได้ไม่ต้องมีค่าจ้าง สุดท้ายก็ไปเอาผู้หญิงในหมู่บ้านมาเป็นเมีย เพราะคิดว่าเมียจะได้มาช่วยเลี้ยงแพะ ทำอาหาร ไม่ต้องหาอาหารมาให้ พอมีเมียก็มีลูกสิ แล้วก็มีการงานเพิ่มขึ้นมา ก็กลายเป็นว่า อุตส่าห์ทิ้งครอบครัวมา เพื่อจะปฏิบัติธรรม สุดท้ายก็มาลงเอยที่ว่า มีครอบครัว
ทั้งหมดนี้เพราะว่าอะไร เพราะว่าพยายามที่จะหนีงาน พยายามที่จะปฏิเสธงาน อะไรที่ทำให้มีงานน้อยลง เช่น ไปหาคน ไปจ้างคนเลี้ยงแพะบ้างล่ะ หรือว่าแต่งงาน เพื่อจะได้มีคนมาเลี้ยงแพะแทนเรา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะได้มีงานน้อยลง เพื่อจะได้มีเวลาปฏิบัติธรรมมากขึ้น แต่ปรากฏว่า ยิ่งพยายามทำงานให้น้อยลง ยิ่งพยายามหาทางที่จะไม่ต้องทำงาน แต่ว่ากลับมีงานเพิ่มขึ้นตามมา คนที่เห็นว่างานเป็นอุปสรรคขัดขวางในการปฏิบัติธรรม ระวังมันจะลงเอยแบบนี้ อุตส่าห์ทิ้งงาน อุตส่าห์ปฏิเสธงาน อุตส่าห์หาอะไรก็ตามที่จะช่วยทำให้เราทำงานน้อยลง แต่ปรากฏว่างานอันนี้น้อยลง แต่งานอันอื่นเพิ่มมากขึ้น สุดท้ายก็กลายเป็นว่า อุตส่าห์ปลีกตัวหลีกเร้นมาอยู่ป่า แต่ว่าก็ยังมีงานเยอะ
สมัยนี้มีเครื่องทุ่นแรงที่ช่วยให้เราทำงานแต่ละชิ้นแต่ละอย่างน้อยลง แต่สังเกตไหม คนสมัยนี้ เครื่องทุ่นแรงเครื่องทุ่นเวลา ทั้งนี้มีเยอะแยะ แต่คนทุกวันนี้กลับหาเวลาว่างไม่ค่อยได้ การที่เราคิดว่ามีเครื่องทุ่นแรงแล้วเราจะสบาย แต่จริงๆ ไม่สบาย เราอาจจะเสียเวลาเดินทางน้อยลง เพราะว่ามีรถ เสียเวลาในการหุงข้าวน้อยลง เพราะว่ามีเครื่องหรือหม้อหุงข้าว แต่ปรากฏว่าเราต้องเสียเวลาในการหาเงิน เพื่อที่จะมีรถ ต้องเสียเวลาหาเงินเพื่อที่จะมีเครื่องทุ่นแรงทุ่นเวลา ที่ว่าเราจะมีงานน้อยละและคิดว่าเราจะมีงานน้อยลง แล้วก็คิดว่าเราจะทำอย่างอื่น เช่น ปฏิบัติธรรม หรือพักผ่อน แต่ปรากฏว่า เอาเข้าจริงๆ ไม่มีหรอก ต้องเสียเวลาหาเงินเพื่อที่จะมีเครื่องทุ่นแรงทุ่นเวลา แต่ประเด็นที่อยากจะพูด คือคนเราถ้าหากว่าพยายามที่จะหนีงาน พยายามที่จะปฏิเสธงาน พยายามไปที่ที่มีงานน้อยลง สุดท้ายก็อาจจะหนีงานไม่พ้น แต่เป็นการดีกว่า ถ้าหากเราคิดว่า การทำงานนี่ก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ต้องไปหนีมันหรอก การทำงาน ถ้าเราเห็นว่าการทำงานเป็นการปฏิบัติธรรม เราก็สามารถพบความสงบได้ อย่าไปคิดว่าชีวิตจะสงบได้ ใจจะสงบได้เพราะว่าไม่มีงาน พอลองคิดว่าการทำงานเป็นการภาวนา เป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วย มันก็สงบได้ ถึงแม้ตัวทำงาน แต่ใจสงบ
สมัยที่หลวงพ่อชา ท่านเป็นพระหนุ่ม ท่านเล่าว่า ตอนที่ท่านบวชได้พรรษา ๙ ท่านมีความมุ่งมั่นในการทำความเพียรมากเพื่อที่จะบรรลุธรรม คราวนี้ตอนเข้าพรรษา ท่านก็ไปปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่กินรี หลวงปู่กินรี สมัยเป็นหนุ่มนี่ท่าน เรียกว่าธุดงค์อย่างเข้มข้น แล้วก็ปฏิบัติธรรมจริงจังมาก เข้าป่าทำความเพียร ท่านก็เป็นศิษย์หลวงปู่มั่น แต่ว่าท่านเป็นมหานิกาย พอท่านอายุมากท่านก็มาอยู่เป็นหลักเป็นแหล่งที่นครพนม หลวงพ่อชาตอนที่ท่านยังเป็นพระหนุ่ม ก็ไปปฏิบัติกับท่าน ตอนที่อยู่กับหลวงปู่กินรี ก็ทำความเพียรมาก โดยเฉพาะเดินจงกรม เดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน จนทางเป็นร่องเลย พอเหนื่อยก็นั่งทำสมาธิ แต่ก็มีเรื่องหนึ่งที่ท่านไม่เข้าใจ แล้วก็อาจจะสงสัยหรืออาจจะหงุดหงิดก็ได้ คือขณะที่ท่านทำความเพียร อย่างเยอะแยะ หลวงปู่กินรีท่านไม่ค่อยทำความเพียรในลักษณะเดินจงกรมเท่าไร ทั้งวันท่านก็มีงานโน่นงานนี่ทำ มีงานจิปาถะ บางทีก็เย็บจีวร บางทีก็ซ่อมกุฏิ หลวงพ่อชา ตอนนั้นเป็นพระหนุ่ม ท่านก็สงสัยว่า โห! ครูบาอาจารย์นี่ ทั้งวันไม่ค่อยได้ทำอะไรเลย เราทำความเพียรทั้งวัน ยังไปไม่ถึงไหนเลย ครูบาอาจารย์ ท่านจะรู้อะไร ท่านก็มีความสงสัย แล้วก็อาจจะปรามาสครูบาอาจารย์อยู่ในที แต่หลังจากที่ได้ฟังธรรมจากหลวงปู่กินรีอย่างใกล้ชิด ท่านก็รู้ว่าหลวงปู่กินรีท่านมีความเข้าใจในธรรมะลึกซึ้งมาก ทั้งๆ ที่ดูเหมือนว่าท่านไม่ค่อยได้ทำความเพียรในรูปแบบเท่าไร
แต่ว่าหลวงพ่อชา ท่านก็ยังคิดว่าท่านก็ต้องทำความเพียรให้มากๆ ท่านก็พยายาม งานการอะไรที่ไม่จำเป็น ท่านก็ไม่ทำ จะได้มีเวลาปฏิบัติธรรมเยอะๆ แต่สุดท้ายก็มีงานที่ต้องทำ เช่น เย็บจีวรมันลุ่ย จีวรมันขาด ท่านก็ต้องเลิกจงกรม เลิกปฏิบัติเพื่อมาปะเย็บจีวร ปะชุนจีวร ท่านก็รู้สึกขัดใจ เสียเวลาปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นตอนที่ท่านปะชุนจีวร ท่านก็ทำแบบเร็วๆ
หลวงปู่กินรี สังเกตเห็นเลยพูดขึ้นว่า “ท่านชา ท่านจะรีบร้อนไปทำไมเล่า”
หลวงพ่อชา ก็บอกว่า “ผมอยากจะเย็บจีวรให้เสร็จเร็วๆ ครับ”
“เย็บจีวรเสร็จเพื่ออะไร” หลวงพ่อชา ก็ตอบว่า “เพื่อจะทำอันนั้นครับ”
“ทำอันนี้เสร็จแล้วจะทำอะไรต่อ”
“ทำอันนี้เสร็จแล้วก็จะทำอันโน้นครับ ทำนั่น ทำนี่ ทำโน่น ให้เสร็จไวๆ ก็เพื่อที่จะได้ไปปฏิบัติธรรมครับ”
หลวงปู่กินรี ท่านก็เลยพูดขึ้นว่า “ท่านเย็บจีวร ท่านเย็บผ้า ท่านก็ภาวนาได้ ท่านก็ดูจิตของท่านไปสิ แล้วก็แก้ไขให้มันเป็นปกติ จะรีบร้อนไปทำไมเล่า ทำอย่างนี้เสียหายหมด ความอยากมันเกิดขึ้นท่วมหัวแล้ว ยังไม่รู้เรื่องของตนอีกหรือ”
คำพูดนี้ทำให้หลวงพ่อชาได้คิดเลย ว่า โอ้..เออเนอะ เย็บจีวร มันก็ภาวนาได้ แต่ก่อนนี้ ท่านกลับมองว่าการเย็บจีวรเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม ต่อการภาวนา ทำให้เสียเวลา ต้องรีบทำเร็วๆ แต่ที่จริง เย็บจีวร ปะชุนผ้า มันก็ภาวนาได้ ไม่ต้องรีบ ขณะที่ทำใจก็สงบได้ ความอยากมันท่วมหัว อยากอะไร..อยากจะให้เสร็จไวๆ แต่กลับมองไม่เห็น ไม่มีสติ รู้ความอยากนั้น เพราะอะไร เพราะตอนนั้นใจมันไปอยู่กับอนาคตแล้ว ก็คือจะรีบให้เสร็จไวๆ
หลวงปู่กินรี ทำให้หลวงพ่อชาได้คิดเลยว่า ทำงานไม่ว่าทำอะไรก็เป็นการภาวนาได้ เพราะระหว่างที่ทำเราก็ดูใจของเราไป อันนี้ที่จริงพระพุทธเจ้าก็ได้สอนว่า ไม่ว่าทำอะไรเราก็ภาวนาได้ เป็นภาวนาที่เรียกว่า กายานุปัสสนาชนิดหนึ่ง ก็คือว่าการทำความรู้สึกตัว พระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้ทำความรู้สึกตัว เวลาเดินไปข้างหน้า ถอยไปข้างหลัง เวลามอง เวลาเหลียว เวลาคู้ขา เหยียดขา ก็ให้รู้สึกตัว เวลาครองผ้าสะพายบาตร หรือว่าทรงสังฆาฏิ ก็ให้รู้สึกตัว อันนี้ศัพท์พระ ถ้าเป็นฆราวาสก็เสื้อผ้า ห่มผ้าก็ให้รู้สึกตัว เวลากิน ดื่ม เคี้ยวลิ้นก็ให้รู้สึกตัว มีความรู้สึกตัว เวลาอุจจาระปัสสาวะ อุจจาระปัสสาวะ ขณะที่ทำอย่าไปคิดว่าเสียเวลา มันก็เป็นภาวนาแบบหนึ่ง ถ้าเรารู้สึกตัว บางคนไปคิดว่า แม้แต่การไปอุจจาระปัสสาวะนี่ก็ไม่อยากไปเดี๋ยวเสียเวลาปฏิบัติ อันนี้เข้าใจผิดแล้ว มันเป็นการปฏิบัติ ทั้งทำหน้าที่ต่อร่างกาย แล้วก็เป็นการทำความรู้สึกตัวให้กับจิตใจด้วย เวลายืน เดิน นั่ง หลับตา เวลาพูด เวลานิ่ง ก็ทำความรู้สึกตัวได้ ทำงานล้างจาน ทำครัว ก็ภาวนาได้ ระหว่างที่ทำ ระหว่างที่หั่นผัก เราก็มีสติไปด้วย ทำความรู้สึกตัวไปด้วย
อย่างที่หลวงพ่อ ท่านบอกไว้ “ให้รู้กายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึก” อันนี้เป็นสูตรที่ทำได้กับทุกเรื่อง ทำได้กับทุกงาน ทำได้กับทุกอย่างที่เราเจอะเจอ เพราะเวลาทำงานก็อาศัยกายอยู่แล้วเป็นส่วนใหญ่ ถ้าไม่ใช่นั่งคิด ก็ต้องใช้กาย เมื่อใช้กายมันเคลื่อนไหว ก็เห็นมัน ก็คือรู้ว่ากายเคลื่อนไหวระหว่างที่ทำ บางทีใจลอย ก็รู้ใจคิดนึก บางทีใจมันไปหงุดหงิดกับเพื่อนร่วมงานก็รู้ เวลาใจมันคิดว่า เมื่อไรจะเสร็จ เมื่อไรจะเสร็จ ก็รู้ทัน ดึงมันกลับมา เวลาเจอเสียงดังมากระทบหู ใจกระเพื่อม ก็เห็น พอเห็นเท่านี้ใจก็กลับมาเป็นปกติ ความสงบมันเกิดขึ้นได้กับใจเราแม้ขณะที่ทำงาน ใครเขาจะวุ่นวาย เขาจะเร่งรีบยังไง แต่ว่าใจเราสงบ ขณะที่เราทำแม้ว่ากายเราจะเคลื่อนไหว แต่ใจสงบ นั่นต้องทำให้ได้ ไม่ว่าจะเคลื่อนไหว เพราะเดินจงกรม ยกมือ หรือว่าทำนั่น ทำนี่ ก็แล้วแต่ นี่ถ้าเรารู้จักวิธีภาวนาขณะที่ทำงาน ความสงบก็เกิดขึ้นกับเราได้ แม้อยู่บ้าน หรือแม้อยู่ในเมือง ไม่ต้องไปรีสอร์ท ไม่ต้องไปวัด ไปในที่ๆ มันไม่มีเสียงอึกทึก ไปในที่ๆ ไม่มีงานให้รับผิดชอบ อันนั้นไม่ใช่ ต้องทำให้ได้ การทำงานคือการปฏิบัติธรรม อย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสว่า หรืออย่างที่หลวงปู่กินรี บอกหลวงพ่อชาไว้ เย็บผ้า มันก็ภาวนาได้ ก็ดูใจของตัวไปสิ แล้วก็แก้ไขให้มันเป็นปกติ เราไปเย็บผ้า แต่ว่าใจลอย ก็ไม่ใช่ ไปเย็บผ้าแต่ว่าใจว้าวุ่น เพราะอยากให้เสร็จเร็วๆ ก็ไม่ถูก ใจเป็นปกติได้ เมื่อมีสติ