แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ ตอนนี้อากาศรอบตัวเรา ท้องฟ้าก็มืด แต่อีกไม่นานก็จะสว่าง คนเราหากว่าจะเป็นเหมือนท้องฟ้าในยามนี้ก็จะดี คือมืดแล้วก็สว่างในที่สุด พระพุทธเจ้าเปรียบเอาท้องฟ้ามาจำแนกบุคคลเป็นชนิดต่าง ๆ บางคนต้นสว่างแล้วก็ปลายมืด แต่บางคนต้นมืดปลายสว่าง ในสมัยพุทธกาลก็มีบุคคลหลายประเภท บางคนก็เริ่มต้นด้วยดี แต่ว่าลงท้ายก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ บางคนเริ่มต้นไม่ดี แต่ว่าลงท้ายนี่กลายเป็นดี
คนที่เริ่มต้นดีแต่ว่าลงท้ายไม่ดีประเภทต้นสว่างแต่ว่าปลายมืด แต่ว่าปลายโพล้เพล้ไปเลย อย่างเช่น พระสุทินน์ พระสุทินน์มีประวัติน่าสนใจ ตอนที่เป็นฆราวาสก็เป็นคนที่สนใจธรรมะ เป็นลูกชายของคหบดีที่ร่ำรวย ไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วเกิดศรัทธาอยากจะออกบวช เมื่อไปทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าถามว่า พ่อแม่อนุญาตหรือยัง พ่อแม่ยังไม่รู้เรื่องเลย ก็ไปขอพ่อแม่จะออกบวช แต่เนื่องจากตัวเองเป็นลูกคนเดียวของครอบครัว พ่อแม่ไม่ยอมเพราะกลัวว่าจะไม่มีทายาทสืบทอดวงศ์ตระกูล พระสุทินน์มีศรัทธามากว่าชาตินี้ขอออกบวชให้ได้ ที่จริงตัวเองก็มีภรรยาแล้ว แต่ว่าก็คิดถึงขนาดว่า ละทิ้งครอบครัวเพื่อออกบวช เมื่อพ่อแม่ไม่อนุญาตก็เลยอดอาหารประท้วง การอดอาหารประท้วงมีมานานแล้วเป็นธรรมดามากสมัยพุทธกาล พระสุทินน์ออกบวชได้เพราะประท้วงพ่อแม่ อดอาหารนานจนร่างกายผ่ายผอม พ่อแม่กลัวลูกจะตายก็คิดว่ายังไงให้ลูกได้บวชยังดีกว่าปล่อยให้ลูกตาย จึงอนุญาต พอได้บวช พระสุทินน์ตั้งใจปฏิบัติมาก บำเพ็ญธุดงควัตรอย่างเข้มงวด เข้าไปอยู่ป่าห่างไกลพ่อแม่ แทบไม่เข้ามาในเมืองเลย
จนมาช่วงหนึ่ง เข้ามาในเมือง พ่อแม่เห็นทีแรกก็จำไม่ได้ แต่พอรู้ว่าลูกชายเข้ามาในเมืองก็นิมนต์ให้ฉันอาหารที่บ้าน พระสุทินน์ไม่อยากจะเข้าไปฉันอาหารที่บ้าน แต่สุดท้ายก็ยอม ระหว่างที่ฉันอาหาร พ่อแม่ก็ขอร้องให้สึก อ้อนวอน เพราะว่าไม่มีทายาทเลย ถ้าเกิดว่าพ่อแม่ตาย ทรัพย์สมบัติทั้งหมดก็จะตกเป็นของหลวง อ้อนวอนอย่างนี้ หว่านล้อมอย่างนี้ พระสุทินน์ก็ไม่ยอม บอกว่าก็เอาเงินทรัพย์สมบัติทิ้งไปได้ มันไม่สำคัญ หลวงจะยึดไปก็ไม่เป็นไร ยืนกรานว่าจะบวชมั่นคงในพรหมจรรย์ต่อไป แต่ตอนหลังพ่อแม่ก็ออกอุบาย ให้อดีตภรรยามาขอร้องว่า ถ้าพระสุทินน์ไม่สึกไปเพื่อไปเป็นทายาทของวงศ์ตระกูล แต่อย่างน้อยถ้าหากว่ามีบุตรกับตน ก็ให้บุตรเป็นผู้ที่เป็นทายาท สืบทอดวงศ์ตระกูลของบ้านต่อไป อันนี้ก็เป็นการประนีประนอม
พระสุทินน์ก็มอง เออถึงแม้เราไม่สึกไป ไม่เป็นทายาทของพ่อแม่ แต่มีลูกไปทำหน้าที่แทนก็ดีเหมือนกัน ตัวเองก็ได้บวชต่อ ส่วนพ่อแม่ก็พอมีทายาทสืบทอดวงศ์ตระกูลก็ไม่ได้มารบกวน ตัวเองก็จะได้บวชเป็นสุขเสียที ก็เลยยอมที่จะไปมีเพศสัมพันธ์กับอดีตเมีย ได้ลูกสมปรารถนา แต่ว่าก่อนที่ลูกจะคลอด พระภิกษุก็ทราบความว่า พระสุทินน์ไปเสพเมถุนกับอดีตเมีย ไปทูลฟ้องพระพุทธเจ้า สมัยนั้นยังไม่มีการอ้างสิกขาบทในเรื่องปาราชิก มีแต่สิกขาบทเล็กน้อย เช่น ไม่ฉันเวลาวิกาล มันมีสิกขาบทเล็กน้อยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในเรื่องการห้ามเสพเมถุน พระพุทธเจ้ายังไม่ทรงบัญญัติ สมัยนั้นยังไม่มีใครทำผิดเรื่องนี้ แล้วก็อีกอย่างหนึ่ง ก็เป็นที่รู้กันเพราะการเสพเมถุนมันเป็นศัตรูกับพรหมจรรย์ นักบวชเขาไม่ทำกันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องประกาศหรือห้ามไว้หรอกเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว แต่ครั้นพระสุทินน์ทำสิ่งนี้ขึ้นมา พระพุทธเจ้าทราบความ จึงเรียกพระสุทินน์มาไตร่ถาม ได้ความจริงว่าเป็นเช่นนั้น พระองค์กล่าวตำหนิพระสุทินน์อย่างแรง
จากนั้นก็ได้บัญญัติสิกขาบทข้อแรกเลย ปฐมปาราชิก คำว่าข้อแรกนี่ไม่ใช่ว่าบัญญัติแรกสุด แต่หมายถึงเป็นข้อแรกในสิกขาบทที่ชื่อว่าปาติโมกข์ ทั้งนี้ก็เรียกว่าพระสุทินน์เป็นที่มาของปฐมปาราชิก คนที่ทำผิดคนที่ก่อเหตุคนแรกเขาเรียกว่าต้นบัญญัติ ยังไม่ปรับเป็นความผิด เพราะยังไม่มีกฎ ยังไม่มีระเบียบห้ามไว้เรียกว่าเป็นสิกขาบท พระสุทินน์ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ศาสนาว่าเป็นต้นบัญญัติปฐมปาราชิก กลายเป็นว่าการบำเพ็ญประพฤติพรหมจรรย์ของพระสุทินน์เริ่มต้นด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้า ถึงขั้นยอมเอาชีวิตเข้าแลก สุดท้ายก็พลาดเผลอพลาดพลั้งไปก็จบไม่สวย แต่ว่าตอนหลังภรรยา ลูกชายที่เกิด ก็บวชทั้งคู่ และได้เป็นพระอรหันต์ทั้งคู่เลย พระสุทินน์ไม่ได้เป็น ก็คงปฏิบัติไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ แต่ทั้งอดีตภรรยาและลูกชายก็ได้เป็นพระอรหันต์ทั้งคู่ ถือว่าพระสุทินน์ก็ได้ทำประโยชน์ให้กับพระศาสนา มีส่วนทำให้มีพระอรหันต์เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าจะถูกตำหนิว่าได้สร้างความด่างพร้อยให้กับวงการคณะสงฆ์ในสมัยพุทธกาลก็ตาม อันนี้ก็เปรียบเหมือนกับต้นสว่างแต่ว่าปลายมืด ถึงแม้จะไม่มืดสนิทอย่างพวกที่เป็นพระทุศีลหรือว่าทำชั่วไปหลอกลวงผู้คน แบบนี้มีเยอะก็ถือว่าเป็นปลายมืดได้เหมือนกัน
ส่วนต้นมืดแต่ปลายสว่างที่น่าสนใจคือ พระฉันนะ หลายคนก็คงคุ้นเพราะว่าเป็นสหชาติกับพระพุทธเจ้า เป็นคนที่พาพระพุทธเจ้าสมัยเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ออกจากพระราชวัง ได้เห็นเทวทูต 3 คนแก่ คนป่วย คนตาย ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะเห็นโทษของวัฏสงสารแล้วอยากหาทางพ้นทุกข์ ตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะออกบวช ฉันนะก็มีส่วนรู้ด้วย เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์หลังจากที่ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้วนั้น ฉันนะก็ปรารถนาจะออกบวชพร้อม ๆ กับพระญาติ ตอนนั้นมีผู้อยากออกบวชมาก พระอานนท์ พระเทวทัตก็บวชตอนนั้นรวมทั้งฉันนะด้วย
ฉันนะเมื่อบวชแล้วก็ถือตัวว่าเป็นคนใกล้ชิดสนิทสนมกับพระพุทธเจ้าตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และถือว่าเป็นคนสำคัญ นอกจากพูดจากดดันข่มขู่ผู้อื่นแล้วก็ไม่ยอมประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย เพราะถือว่าเป็นคนใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า สร้างปัญหาให้กับคณะสงฆ์มาก ครั้นพระพุทธเจ้าทราบก็ทรงลงโทษเรียกว่า อุกเขปนียกรรม คือว่าหากพระฉันนะจะมาร่วมฉันอาหาร หรือว่าอยู่ ก็ไม่สนทนาพูดคุยด้วย พระฉันนะตอนหลังเกิดสำนึก เพียรประพฤติตัวให้ดีขึ้น แต่แล้วก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ชอบตำหนิติเตียนพระสงฆ์โดยเฉพาะผู้มีอายุอ่อนกว่า พระพุทธเจ้าก็ทรงลงโทษอีก พระฉันนะก็ปรับตัวดีขึ้นมาอีกหน่อย สุดท้ายก็แย่อีก พระองค์ตักเตือนหลายครั้งก็ยังเหมือนเดิมเรียกว่าเป็นมาตลอด 45 พรรษาเลยก็ว่าได้ จนกระทั่งพระพุทธเจ้าใกล้ปรินิพพาน ทรงพระชราแล้ว พระฉันก็ยังไม่เลิก
อันที่เป็นปัญหาคือ รู้สึกอิจฉาพระอัครสาวก พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร คิดว่าคนเหล่านี้มาทีหลัง สมัยตอนที่พระพุทธเจ้าจะออกบวชก็ไม่เห็นมีใคร ก็มีแต่ตัวเองมีแต่ตนอยู่เคียงข้างพระพุทธเจ้า เมื่อคณะสงฆ์เจริญรุ่งเรือง หาว่า 2 คนนี้ที่มาอวดอ้างว่าเป็นอัครสาวก ตำหนิด่าว่าพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร พระพุทธเจ้าก็ท้วงติงว่าทั้ง 2 ท่านไม่ได้ปรารถนาเป็นอัครสาวก แต่พระองค์ทรงแต่งตั้งเอง เพราะว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถ พระฉันนะก็ไม่ฟัง ยังตำหนิด่าว่าบริภาษสองท่าน ทำอย่างนี้อยู่หลายครั้ง พระองค์ตักเตือนก็ไม่ฟัง อันนี้น่าสนใจ คนที่ดื้อด้านมากที่สุดเป็นคนที่ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า อันนี้ก็เกิดขึ้นกับหลายคนเหมือนกัน ผู้ที่มีอำนาจ คนที่ดื้อที่สุดคือคนที่อยู่ใกล้ตัว หรือว่าคนที่พระองค์ทรงอยู่ใกล้ชิด
อย่างเช่นตอนที่พระองค์เสด็จจำพรรษาที่กรุงโกสัมพี พระ 2 กลุ่มทะเลาะกัน ทะเลาะกันแบบที่ว่าไม่ฟังพระพุทธเจ้าเลย ญาติโยมยังฟัง ญาติโยมทะเลาะกัน พระพุทธเจ้าเตือน พระพุทธเจ้าท้วงหรือติเตียน ก็กลับมาสำนึกผิดได้ แต่ว่าคนที่สำนึกผิดได้ยากก็คือพระนี่เอง พระสงฆ์โกสัมพี พระพุทธเจ้าถึงขั้นประท้วงต้องเสด็จไปอยู่ป่าเลไลย์ เพราะว่าพูดยังไงก็ไม่ฟัง เอาแต่เถียง เอาแต่ทะเลาะกัน ยิ่งคนใกล้ตัวนี่คือ พระฉันนะ ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ ลงโทษก็แล้ว ตำหนิติเตียนก็แล้ว ไม่ฟัง จนกระทั่งพระพุทธเจ้าตอนที่ปรินิพพานก็ฝากบอกพระอานนท์ว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพาน แล้วให้คณะสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ เพราะพระองค์ไม่รู้จะพูดยังไงกับพระฉันนะ ขนาดพระพุทธเจ้า
ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน พอเสร็จเรื่องการถวายพระเพลิงปลงสรีระของพระองค์ พระอานนท์ก็ทำหน้าที่ทันที เดินทางไปเมืองโกสัมพีแล้วก็ไปบอกกับพระฉันนะว่า คณะสงฆ์ให้ลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ พระฉันนะไม่รู้จักคำว่าลงพรหมทัณฑ์ ก็ถามว่าหมายความว่าอย่างไร พระอานนท์ก็อธิบายว่า คณะสงฆ์ลงโทษด้วยการไม่พูด ไม่คุย ไม่สนทนา ไม่คบค้าสมาคม และไม่สอน พอพระฉันนะได้ยินเช่นนั้น ตกใจเป็นลมเลย ฟื้นขึ้นมาระลึกได้ว่าตนเองถูกลงพรหมทัณฑ์ เป็นลมอีกครั้งหนึ่ง สรุปแล้วเป็นลมอยู่ ๓ ครั้ง เพราะรู้สึกว่าเป็นโทษที่หนักมาก คราวนี้แหละสำนึกผิดแล้ว กลับมาตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติประพฤติตัวเรียบร้อย ไม่พูดจาข่มขี่ใครอีกต่อไป เพราะว่าถูกลงโทษหนักแบบนี้ ไม่มีคนสนใจ ไม่มีคนพูดจาพูดดีด้วย ก็ตั้งใจปฏิบัติ จนกระทั่งในที่สุดก็บรรลุอรหันตผลเป็นพระอรหันต์
น่าสนใจจากคนที่ดื้อด้านตลอด 45 พรรษา ทำตัวป่วนคณะสงฆ์ พระพุทธเจ้าลงโทษกี่ครั้งก็ไม่สำนึกผิดอย่างแท้จริง จนกระทั่งพระองค์ปรินิพพาน ก็ยังไม่กลับตัวกลับใจ แต่สุดท้ายพอโดนการลงพรหมทัณฑ์ เรียกว่าเป็นการลงโทษที่หนักมาก คือ การลงโทษในพระพุทธศาสนา อันนี้ไม่มีการทำร้าย ไม่มีการทรมาน ไม่มีการทุบตี ไม่มีการฆ่า แต่ลงพรหมทัณฑ์เปรียบเหมือนการฆ่าในพุทธศาสนา ถือว่าเป็นการลงโทษขั้นรุนแรง ภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่า บอยคอร์ต หรือว่าคว่ำบาตร คว่ำบาตรก็มาจากศัพท์ในวงการสงฆ์ บอยคอร์ต คือ ไม่คบค้าสมาคม ยังดีว่าพระฉันนะรู้สึกตัวสำนึกได้ในที่สุด
คนบางคำคนทำตัวไม่ดี พอรู้ว่าคณะสงฆ์หรือหมู่มิตร ไม่พูดไม่คุยกลับดีใจ เออดี ฉันจะได้เป็นอิสระ ทำอะไรได้สบาย หรือคนบางคนไม่รู้เนื้อรู้ตัว หมู่มิตรหมู่สงฆ์ไม่พูดไม่คุยไม่ตักไม่เตือน บางทีไม่รู้ตัวแล้วคิดว่าตัวเองประพฤติตัวเรียบร้อย ไม่มีคนมาทักมาท้วง หารู้ไม่ว่าที่จริงคนเขาระอา คนเขาระอาว่าพูดเท่าไหร่ก็ไม่เปลี่ยนแปลง ครูบาอาจารย์สั่งสอนแนะนำตักเตือนก็ยังเฉยเมย อันนี้เรียกว่าหนักเข้าไปใหญ่ คนเขาไม่พูดไม่คุยไม่แนะนำไม่ตักเตือน กลับชอบอันนี้เรียกว่าไม่มาทางที่จะสว่างได้
พระฉันนะยังดี พอรู้เช่นนี้แทนที่จะดีใจ ต่อไปนี้ไม่มีใคร มายุ่งกับฉันแล้ว ฉันเป็นอิสระแล้ว ฉันจะทำอะไรก็ได้ กลับรู้สึกว่าหนักมาก ก็เลยกลับตัวกลับใจแล้วกลายเป็นพระอรหันต์ ให้เราได้กราบไหว้เป็นส่วนหนึ่งของอริยสงฆ์ที่เราสวด สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า อันนี้สงฆ์สาวกไม่ได้หมายถึง พระสงฆ์ที่นุ่งห่มเหลือง แต่หมายถึงพระอริยเจ้าซึ่งหมายถึงรวมถึงพระฉันนะ ซึ่งเคยเป็นพระที่น่าระอา ไม่มีใครอยากจะพูดถึง หรือว่าสนทนาสมาคมด้วย แต่สุดท้ายท่านก็กลายเป็นพระที่น่าศรัทธาน่านับถือ
คนเราถ้าจะเป็นอย่างนี้ได้ ก็น่าจะเป็นอย่างประการที่สองก็คือว่ามามืดแต่ไปสว่าง หรือถ้าให้ดีก็สว่างทั้งตอนมาและตอนไป ในสมัยพุทธกาลมีคนแบบนี้มาก คนประเภทที่เรียกว่าดื้อยาก และพวกที่ประพฤติตัวไม่เรียบร้อยเลย แต่ตอนหลังกลายเป็นพระอรหันต์ อย่างบางกลุ่มบางท่าน ชอบส่งเสียงเอะอะโวยวาย จนกระทั่งพระพุทธเจ้าตรัสประณามไล่ไปเลยให้ออกจากเชตวัน ไม่ต้องมาอยู่แล้วส่งเสียงรบกวนผู้คน ปรากฏว่าสำนึกผิดปรับตัวปรับใจ กลับเนื้อกลับตัวตั้งใจปฏิบัติจนกระทั่งบรรลุพระอรหันตผล แบบนี้ก็เยอะคือ บางคนบางจำพวกต้องโดนขนาบ ตำหนิติเตียนถึงจะรู้สึก พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า อานนท์เราจะทำกับพวกเธอเหมือนอย่างช่างหม้อ เราจะขนาบแล้วขนาบอีกกับพวกเธอ จะไม่ทนุถนอมเหมือนกับช่างหม้อที่เรียกว่าขนาบแล้ว ตบแล้วตบอีก จนกว่าดินจนกว่าเครื่องปั้นจะสวย จนกว่าหม้อนี้จะงาม แล้วพวกเราบางครั้งเมื่อถูกประณาม เมื่อถูกตำหนิติเตียน ลองมองว่า เออมันเป็นของดี มันอาจช่วยทำให้เรากลับเนื้อกลับตัวหรือว่าเกิดความสำนึกผิดขึ้นมาได้
คนที่บรรลุธรรมเพราะว่าเจอไม้หนักหรือว่าเจอคำพูดแรง ๆ นี่ก็มีอยู่มากมาย ตัวอย่างก็คือมารดาของพระกุมารกัสสปะ ก่อนบวชก็ตั้งครรภ์มา ตั้งครรภ์ก่อนบวช หรือพอบวชแล้วตั้งครรภ์ ก็เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต แต่สุดท้ายก็ก่อนพิสูจน์ได้ว่าตั้งครรภ์ มีการเสพเมถุนก่อนบวช พอลูกคลอดออกมาก็ให้พระเจ้าปเสนทิโกศลช่วยเลี้ยงดู แล้วก็ได้ชื่อว่า กุมารกัสสปะ เป็นเด็กกำพร้า ตอนหลังก็บวชเป็นสามเถร แล้วตั้งใจปฏิบัติ วันหนึ่งเดินบิณฑบาต แม่เห็นตอนนั้นเป็นภิกษุณีแล้ว ก็วิ่งเข้าไปหา ปรากฏว่าหกล้มสะดุดหิน พระกุมารกัสสปะ ซึ่งตอนนั้นก็ไม่แน่ใจว่าเป็นสามเณรหรือเปล่า ก็เห็นและรู้ว่าเป็นแม่ ห่วงเรามาก ยึดติดเรา ถ้าหากว่าเป็นอย่างนี้ต่อไปก็คงไม่มีทางที่จะก้าวหน้าในทางธรรมได้ ก็เลยต่อว่าแม่อย่างแรงว่า ท่านทำอะไรอยู่ ไปทำอะไรมา แค่นี้ยังตัดไม่ได้ คือท่านพูดแรง ๆ เพื่อให้แม่ได้สำนึก ส่วนแม่ซึ่งเป็นภิกษุณีก็น้อยใจ เพราะว่าตัวเองรักลูกมาก ตลอดเวลาสิบกว่าปีคิดถึงลูกทุกวันเลย ปรารถนาดีกับลูกแต่ลูกพูดกับเราอย่างนี้ก็เลยตัดใจ ต่อไปนี้ฉันไม่สนใจลูกแล้ว ฉันตั้งใจจะปฏิบัติ ปรากฏว่าภายในวันนั้นก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ ภายในวันเดียวกับที่ถูกตำหนิ ถูกลูกตำหนิว่าไปทำอะไรอยู่ เหมือนกับว่าบวชไปไม่มีความหมายเลย ทีนี้ถ้าไม่ถูกลูกต่อว่า ไม่ถูกลูกใช้คำพูดแรง ๆ ก็คงจะยังจมดิ่งอยู่กับความห่วงใยความอาลัยลูก
คนบางคนนี้ต้องอาศัยการขนาบ ต้องอาศัยการตำหนิติเตียน แต่บางคนก็เรียกว่าไม่ได้ผล อย่างพระฉันนะ ขนาดถูกพระพุทธเจ้าตำหนิถูกลงโทษเท่าไหร่ก็ไม่สำนึก จนกระทั่งเจอไม้แรง ซึ่งธรรมชาติของคนเราปรารถนาการยอมรับ พอผู้คนไม่คบไม่ค้าไม่สมาคมไม่แม้กระทั่งตำหนิหรือตักเตือน ก็รู้สำนึกได้ แต่ว่าคนบางคนก็ไม่รู้สำนึก ผู้คนไม่พูดไม่คุยก็ไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นที่ระอาของหมู่คณะ ก็ยังอยู่ปกติเหมือนเดิม อันนี้ก็เรียกว่าชีวิตก็จะดิ่งดำลงไปในทางที่แย่ไปเรื่อย ๆ พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า กัลยาณมิตรเป็นสิ่งสำคัญ คนเราบางครั้งจะดีได้ต้องอาศัยกัลยาณมิตร กัลยาณมิตรไม่เพียงแต่ให้กำลังใจ แต่ยังรวมถึงการตำหนิติเตียนหรือว่าการขนาบเพื่อทำให้เกิดการขวนขวาย ความกระตือรือร้น กลับตัวกลับใจและทำความดีได้ เพราะเวลามีใครตำหนิติเตียนเรา ลองมองว่าเขากำลังเป็นกัลยาณมิตรของเรา ช่วยทำให้เราเจริญงอกงามในทางธรรม