แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ช่วงนี้กลางวัน บ่าย ๆ อากาศจะร้อนมาก ไม่ต้องบอกก็รู้ ถ้าเป็นที่บ้านของเราหรือว่าที่ทำงานก็คงจะหลบร้อนได้ ไปที่ร่มหรือยิ่งกว่านั้นคือว่าเปิดแอร์ แต่ว่าที่นี่เราไม่มีห้องแอร์จะให้หลบ มันเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราเรียนรู้วิธีการทำใจ ปกติเวลามีความทุกข์หรือว่ามีปัญหา วิธีการที่เรานิยมใช้ก็คือว่าไปจัดการกับสิ่งที่เราคิดว่าเป็นปัญหา หรือถ้าจัดการไม่ได้เราก็หลบไปเสีย ทำอะไรกับความร้อนไม่ได้เราก็หลบไปหาที่เย็น แต่ว่าที่นี่มันไม่มีโอกาสจะให้หลบได้ง่าย เพราะว่าเราต้องปฏิบัติร่วมกัน วิธีเดียวที่เราจะทำได้ก็คือการทำใจ
ทำใจนี้ก็ทำได้หลายวิธี เช่น อดทน อาจจะกล้ำกลืนฝืนทน ในใจก็เป็นทุกข์ แต่ก็ยอมทน แต่มันมีวิธีที่ดีกว่านั้น ก็คือว่า การทำใจยอมรับมัน ที่จริงถ้าเรายอมรับมัน ความทุกข์มันจะลดลงไปเยอะ หลายคนไม่ได้ตระหนักเวลาเจออากาศร้อน มันไม่ใช่แค่ทุกข์กายอย่างเดียว ส่วนใหญ่ก็ทุกข์ใจด้วย แต่คนก็มองไม่ค่อยเห็น ไม่ค่อยสังเกต เวลาอากาศร้อน ๆ ถามว่ามีความทุกข์ไหม ทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะมันร้อน ถามว่าร้อนที่ไหน ก็ส่วนใหญ่ก็บอกว่าร้อนที่กาย หรือร้อนเพราะอากาศ แต่ที่จริงมันไม่ใช่ร้อนที่กายอย่างเดียว มันร้อนที่ใจด้วย ใจมีอาการหงุดหงิด ไม่พอใจ มันมีความพยายามจะดิ้นรนผลักไส ให้ตัวอยู่ห่างจากหรือหนีจากอากาศที่ร้อน แต่พอมันหนีไปไม่ได้ก็จะมีความหงุดหงิด ขัดเคือง และตรงนี้แหละที่ทำให้คนเราทุกข์ มันเป็นความทุกข์ใจ ที่ยิ่งกว่าความทุกข์กาย
ในทำนองเดียวกัน เวลาเรานั่งนาน ๆ สร้างจังหวะก็ดี ฟังธรรมก็ดี หรือว่าเดินจงกรมก็ดี ทำไปนาน ๆ เราก็จะรู้สึกเมื่อย อาจจะรู้สึกปวด หลายคนก็รู้สึกเป็นทุกข์ แล้วพอถามว่าทุกข์เพราะอะไร หลายคนก็จะตอบว่าทุกข์เพราะปวดแข้ง ปวดขา หรือว่าเมื่อย แต่ไม่ค่อยเห็นกันว่า มันมีทุกข์อีกชนิดหนึ่งที่ซ้อนขึ้นมาหรือกดทับลงไป ก็คือความทุกข์ใจ ทั้ง ๆ ที่ทุกข์ตัวนี้มันใหญ่กว่าความปวดขา หรือว่าเมื่อยขาเสียอีก ทำไมมองไม่เห็น ก็เพราะว่าไม่ค่อยได้มาสังเกตจิตใจของตัว ถ้าลองมาสังเกตใจของตัวก็จะเห็นเลยว่า ใจมันบ่นโวยวาย ตีโพยตีพาย มันโอดครวญ มันมีอาการดิ้นรน ผลักไส อยากจะหนีให้พ้นจากอิริยาบถที่ทำให้ปวดให้เมื่อย ที่ถ้านั่งก็อยากจะเดิน ถ้าเดินก็อยากจะนั่ง แต่พอเปลี่ยนอิริยาบถไม่ได้ก็เกิดความไม่พอใจ และโดยไม่รู้ตัว ใจที่มันไปยึดเอาความปวดของกาย ความเมื่อยของขา มาเป็นความปวดของกู ยิ่งทำให้ทุกข์ใหญ่เลย เป็นความทุกข์ใจ แต่ถ้าเกิดว่าเรา ลองทำใจยอมรับมันดู ปวดก็ปวดไป เมื่อยก็เมื่อยไป ไม่บ่น ไม่โวยวาย ไม่ตีโพยตีพาย เราจะพบว่าความปวดหรือความทุกข์มันทุเลาลง
อันนี้ถ้าไม่เจอหรือไม่ลองทำก็ไม่เห็น ลองทำดูลองสังเกตดูแล้วจะเห็นว่า ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเราไม่ว่าตอนอากาศร้อน หรือว่าเวลาปวดเวลาเมื่อย มันไม่ใช่แค่ทุกข์กายอย่างเดียว มันทุกข์ใจด้วย ทีนี้พอทำใจยอมรับมันได้ เห็นว่ามันเป็นธรรมดา อากาศร้อนก็เป็นธรรมดา หรือมองว่าก็ดีเหมือนกันมาฝึกเราให้เข้มแข็ง อดทน หรือว่ามาฝึกสติให้กับเรา พอใจมันยอมรับได้ความทุกข์มันเบาลงไปเลย มีเพื่อนคนหนึ่งเขาไปปฏิบัติธรรมกับสำนักหนึ่ง ซึ่งต้องนั่ง นั่งนาน ๆ วันละหลายชั่วโมง แล้วก็หลายวันติดต่อกัน อย่างเรานี้ยังดี ยังได้เดินมั่ง แต่บางสำนักเขาให้นั่ง แล้วคนที่ไม่เคยนั่งนาน ๆ ก็จะรู้สึกทุกข์มาก มันไม่ใช่แค่ทุกขเวทนา มันทุกข์ทรมานเลย หลังจากนั่งไปได้สามสี่วัน พอนั่งติดต่อกัน ปวดแข้งปวดขามาก ปวดจริง ๆ แล้วยิ่งนั่งต่อไป อดทนอย่างไรมันก็รู้สึกทุกข์ทรมาน จนกระทั่งมีความรู้สึกเหมือนกับว่ากระดูกมันจะหลุดออกมาหรือมันจะแยกจากกัน แต่ก็ต้องทำเพราะว่าใคร ๆ เขาก็ทำกัน ข้างนอกดูนิ่ง แต่ข้างในมันร้อน ระอุ มันวุ่นวาย ข้างนอกเงียบสงบ ไม่มีใครพูดคุยกัน แต่ข้างในระงมไปด้วยเสียงบ่นโวยวาย ตีโพยตีพาย เสียงดังข้างนอกมันยังไม่ร้ายเท่ากับเสียงดังในหัว หรือว่าอารมณ์ที่พลุ่งพล่านในใจ ยิ่งนั่งก็ยิ่งทรมานจนกระทั่งจุดหนึ่งก็บอกว่า นั่งต่อไปนานกว่านี้ตายแน่ ๆ เลยแต่ก็ต้องนั่ง พอถึงจุดหนึ่งมันมีเสียงแวบดังขึ้นมาว่า “ตายก็ตายวะ ตายก็ตายวะ” ทันทีที่มันมีเสียงนี้ดังขึ้นมาในหัว ปรากฏว่าความทุกข์ในจิตใจมันเบา มันหายไป หายไปเยอะเลย ใจมันเบาลง ความปวดขายังมีอยู่ แต่สิ่งที่หายไปคือความทุกข์ใจ ทุกข์ใจมันหายไปเพราะอะไร เพราะยอมรับได้ คำพูดว่า “ตายก็ตายวะ” นี้มันแสดงว่ายอม พอยอมปุ๊บ จิตมันหยุดดิ้นเลย ความทุกข์ใจเกิดขึ้นเมื่อจิตมันดิ้น ดิ้นก็มีดิ้นอยู่สองอย่าง ดิ้นเพราะอยากได้อยากเอา กับดิ้นเพราะอยากผลักไส ลูกของเราหลานของเราบางทีมันก็ดิ้นเลย ไม่ใช่ดิ้นในใจอย่างเดียว ตัวดิ้นออกมา นอนดิ้น เพราะไม่ได้ ไม่ได้ขนม ไม่ได้โทรศัพท์มือถือ ไม่ได้เล่นเกมออนไลน์ นี้เรียกว่าดิ้นเพราะอยากได้แล้วไม่ได้ ดิ้นอีกอย่างคือดิ้นเพราะว่าอยากผลักไส เวลาเราปฏิบัติเราจะเจอตัวดิ้นแบบนี้เยอะเลย อยากผลักไส ผลักไสความปวดความเมื่อย ผลักไสอากาศที่ร้อน บางทีก็อยากจะผลักไสเสียงที่มันดัง เสียงบางทีก็ไม่ดัง แต่ว่าพอเราไม่ชอบขึ้นมา แม้จะเป็นเสียงพูดคุยธรรมดา ๆ แต่พอเราผลักไสมัน ทุกข์ทันที
ที่จริงเสียงไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือใจที่มันผลักไสต่างหาก คนเราเวลาทุกข์หงุดหงิดเมื่อมีเสียงดัง มันไม่ได้แปลว่าหงุดหงิดเพราะเสียงดัง แต่แท้จริงมันหงุดหงิดเพราะใจมันผลักไสเสียงนั้น เสียงไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือใจที่ผลักไส บางทีเสียงมันดังแต่ถ้าใจเรายอมรับ ไม่ถือสา เช่นเด็กร้องไห้เสียงดังมาก แต่ว่าเราก็ไม่ถือสา มันเป็นวิสัยของเด็ก เราก็ยังทำอะไรได้ เหมือนกับว่าไม่มีอะไรมารบกวน เพราะอะไร เพราะใจไม่ผลักไส พวกเราในที่นี้หลายคนอาจจะเคยไปสังเวชนียสถาน สถานที่หนึ่งที่มีคนไปมากก็คือพุทธคยา ไปกันเยอะ วันหนึ่งเป็นหมื่นเลย หลายหมื่น ตอนเช้า ๆ คนไม่ค่อยเยอะ แต่พอสาย ๆ บ่าย ๆ คนจะเยอะมาก ใครที่ต้องการแสวงหาความสงบสงัดถ้าไปพุทธคยาสาย ๆ บ่าย ๆ จะผิดหวังเพราะว่าเสียงดัง แต่ละคณะที่ไปบูชาสักการะเจดีย์พุทธคยา เวลาเดินทักษิณาวัตรก็จะสวดมนต์ สวดปากเปล่าไม่พอ ใช้ไมโครโฟนด้วย แล้วก็หลายคนก็มีความเชื่อว่าสวดเสียงดังมากเท่าไหร่ก็ได้บุญมากเท่านั้น เพราะฉะนั้นก็ตะเบ็งเข้าไปใหญ่ ใช้ไมโครโฟนช่วยด้วย แล้วไม่ใช่มีแค่คณะเดียว มีตั้งหลายคณะ แล้วไม่ใช่เฉพาะคนไทย มีพม่า มีลังกา มีเขมร แล้วทิเบตก็ไม่เบา สวดมนต์ของทิเบตนี้ดังมาก
เดินรอบทักษิณาวัตรเสร็จก็มาสวดมนต์ทำวัตร หน้าต้นพระศรีมหาโพธิ์ก็ดังกระหึ่ม แล้วคิดดูมีเป็นสิบคณะมาประชันกัน เสียงจะดังแค่ไหน คงพอจะนึกภาพออก แต่ที่มันน่าสังเกตคือว่ามีคน เป็นร้อย นั่งสมาธิอยู่รอบเจดีย์ด้วยอาการสงบ เหมือนกับว่าไม่มีเสียงอะไรเกิดขึ้นอยู่รอบตัวเลย ทำไมถึงนั่งสงบได้ทั้งที่เสียงดัง ก็เพราะใจมันไม่ผลักไส ใจอาจจะยอมรับ ใจยอมรับหรืออาจจะอนุโมทนาด้วยซ้ำว่า เป็นเสียงแห่งศรัทธาสรรเสริญพระรัตนตรัย แต่ถ้าเกิดว่าไปนั่งอยู่กลางตลาด ริมถนน เสียงดังพอ ๆ กัน เดซิเบลพอ ๆ กันหรืออาจจะน้อยกว่าด้วยซ้ำ เชื่อว่าหลายคนก็คงจะนั่งไม่เป็นสุข เพราะอะไร เพราะใจมันผลักไสเสียง ไม่ว่าจะเป็นเสียงรถยนต์ เสียงโทรศัพท์ เสียงคนคุยกัน เสียงหมาเห่า พอใจผลักไสเมื่อไร หงุดหงิด ขัดเคืองใจขึ้นมาทันที เพราะคนไม่ตระหนักว่าที่หงุดหงิดเป็นทุกข์ไม่ใช่เพราะเสียง แต่เป็นเพราะใจมันผลักไส
ที่วัดหนองป่าพงของหลวงพ่อชา สมัยที่คนยังไม่รู้จักจะเงียบสงบมาก ตอนที่คนรู้จักแล้วก็เงียบสงบแต่ว่าตอนที่คนไม่ค่อยรู้จักยิ่งเงียบสงบสงัดเข้าไปใหญ่ แต่บางครั้งบางวันความสงบสงัดก็ถูกทำลาย เพราะว่ามีเสียงดังจากหมู่บ้านที่อยู่ติดกับวัด ห่างประมาณสักกิโลเมตรหรือสองกิโลเมตร ชาวบ้านเขามีการฉลองกัน มีงานบุญ งานประเพณี หรือว่างานบรรจุกระดูกใส่ธาตุ งานประเภทนี้ ชาวบ้านจะมีงานมหรสพ จัดมหรสพกันทั้งวันทั้งคืน สามวันสามคืน วันแรกคืนแรกเสียงดังตลอดทั้งคืนเลยจนถึงรุ่งเช้า พระในวัดซึ่งคุ้นเคยกับความสงบสงัดเจอเสียงแบบนี้เข้าไปนอนไม่หลับ ก็เลยตกลงกันว่าหาตัวแทนไปคุยกับผู้ใหญ่บ้าน ขอให้ลดเวลาหน่อย แทนที่จะฉลองกันทั้งคืนจนโต้รุ่ง ก็ขอให้ถึงตีหนึ่งได้ไหม เพื่อว่าพระจะได้มีโอกาสนอนสักสองชั่วโมง เพราะตีสามต้องตื่นมาทำวัตร ไปเจรจาผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านไม่ยอม พอผู้ใหญ่บ้านไม่ยอม พระทำอย่างไร กลุ่มพระก็เลยไป ไปหาหลวงพ่อชา เพราะเชื่อว่าหลวงพ่อชาท่านจะเห็นด้วยว่าวัดควรจะเป็นที่สงบสงัด ไม่ใช่มีเสียงอึกทึกครึกโครม แล้วหลวงพ่อคงจะไม่เห็นด้วยกับประเพณีจัดมหรสพกันทั้งวันทั้งคืนแบบนั้น ก็ไปขอหลวงพ่อชา เพื่อให้หลวงพ่อชาไปคุยกับผู้ใหญ่บ้าน เพราะเชื่อผู้ใหญ่บ้านคงจะเกรงใจ ปรากฏว่าผิดคาด หลวงพ่อชาไม่ยอม หลวงพ่อชาท่านให้เหตุผลว่า พวกท่านไปคิดว่าเสียงรบกวนพวกท่าน แต่ที่จริงพวกท่านเองไปรบกวนเสียง ตกลงกลายเป็นความผิดของพระไป
น่าคิดว่าหลวงพ่อชาต้องการบอกอะไร ท่านต้องการบอกว่าที่พวกท่านเป็นทุกข์เพราะว่าใจมันไปต่อล้อต่อเถียงกับเสียงนั้น เสียงมันก็มีของมันอย่างนั้น ถ้าใจเราเฉยกับมันเสีย ยอมรับมันเสีย มันก็ไม่เกิดอะไร แต่พอใจไปผลักไสกับเสียง ผลักไสต่อล้อต่อเถียงกับเสียงนั้น แล้วที่ผลักไสก็คงเพราะว่าข้างในส่วนลึกปรารถนาความสงบ พอมันไม่มีความสงบอย่างที่ต้องการก็เลยหงุดหงิดขัดเคือง หลวงพ่อชาท่านต้องการสอนให้พระได้รู้ ได้เรียนรู้การฝึกใจ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ใจก็ไม่เป็นทุกข์ และที่เป็นทุกข์ก็เพราะว่าการไปผลักไส ต่อสู้กับเสียงนั้น พวกเราซึ่งเป็นนักปฏิบัติ บางครั้งมันก็ไม่มีเสียงรบกวน หรือถึงแม้อากาศจะสบาย ไม่ปวดไม่เมื่อย แต่หลายคนก็ปฏิบัติอย่างไม่มีความสุข เพราะอะไร เพราะความฟุ้งซ่านในใจ ไม่มีเสียงมารบกวน แต่เสียงในหัวมันมารบกวน ที่จริงเสียงในหัวหรือความฟุ้งซ่านมันไม่ใช่ปัญหาเหมือนกัน ปัญหาของนักปฏิบัติส่วนใหญ่คือว่าไม่ยอมรับความฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้น
หลายคนก็มาบอกกับอาตมาว่า ทำสมาธินี้ทำไม่ได้เลยแม้แต่ห้านาที เพราะอะไร เพราะว่ามันฟุ้งซ่านตลอดเวลา เป็นปัญหาของคนที่อยากจะปฏิบัติ จริง ๆ แล้วอาตมาก็พูดกับคนที่มีปัญหาเหล่านี้ว่า จริง ๆ แล้วความฟุ้งซ่านไม่ใช่ปัญหา ที่จริงเป็นธรรมดา แต่ปัญหาเกิดเพราะโยมนั่นแหละที่ไม่ชอบความฟุ้งซ่าน ไปมองว่ามันคือปัญหา ทั้ง ๆ ที่มันคือธรรมดา ลองปรับใจซะใหม่ ยอมรับว่ามันเป็นธรรมดา มันจะเกิดก็เกิดไป เราก็เพียงแต่แค่รู้ว่ามันเกิดขึ้น แต่ไม่ดิ้นรน ไม่ผลักไส ไม่ไปกดข่มมัน ถามว่าทำไมไปกดข่ม ไปผลักไส ก็เพราะว่ามีความอยาก อยากให้ใจไม่คิดอะไร และคิดว่าถ้าใจไม่คิดนั่นคือความสงบ แต่นี่คือความอยากที่มันสวนทางกับความเป็นจริง มันผิดตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว ผิดตั้งแต่ยังไม่ทันปฏิบัติเลย เพราะไปคิดหรือไปคาดหวังว่าจิตมันจะไม่มีความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้น แล้วยิ่งพยายามไปบังคับจิตให้มันหยุดคิด ไปกดข่มมัน มันก็ยิ่งต่อต้าน จิตมันเหมือนกับวัยรุ่นยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ หรือว่ายิ่งกดก็ยิ่งมีแรงต้าน กฎธรรมชาติเป็นอย่างนั้น ยิ่งกดก็ยิ่งมีแรงต้าน อันนี้เป็นกฎทางวิทยาศาสตร์ แต่มันก็ใช้ได้กับจิตใจของคนเรา ยิ่งไปกดข่มความคิดหรืออารมณ์ก็ยิ่งมีแรงต้าน ลองปรับใจเสียใหม่ มองว่ามันเป็นธรรมดา ไม่ต้องไปกดข่มมันอะไรมัน แค่ยอมรับว่ามันเป็นธรรมดา แล้วขณะเดียวกันก็หมั่นสังเกตใจเราด้วย เวลามันเผลอ เผลอไปต่อสู้ กดข่ม ให้ทำอย่างที่หลวงพ่อเทียนท่านบอก หรือที่หลวงพ่อเทียนท่านสอนอยู่เสมอว่า ให้รู้ซื่อ ๆ รู้เฉย ๆ คือว่ามันฟุ้งซ่านก็รู้มัน แต่ไม่ไปทำอะไรกับมัน ไม่คล้อยตามมัน หรือไม่ให้มันชักจูง ลากลู่ถูกังไป แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ผลักไสมัน พูดง่าย ๆ คือไม่ตามแล้วก็ไม่ต้าน
ก่อนมาปฏิบัตินั้นมีความคิดอะไรเกิดขึ้นก็ตามมันตะพึดตะพือ พอมาปฏิบัติก็สวิงไปอีกทางคือต้าน และนั่นแหละคือเป็นเหตุทำให้ทุกข์ ความฟุ้งซ่านไม่ได้ทำให้เราทุกข์ ความฟุ้งซ่านไม่ได้ทำให้จิตไม่สงบ แต่เป็นเพราะไปผลักไสมัน ไปกดข่มมัน มีความยึดความอยากเป็นเจ้าเรือน การที่เราจะรู้เฉย ๆ ได้หรือว่าวางใจเป็นกลางกับมันได้ ก็ต้องเริ่มต้นจากการวางความอยากลง อยากสงบ หรือว่าอยากให้มันไม่ฟุ้งซ่าน อยากจะให้มันไม่คิดเลย หัดมาสังเกตความอยากที่มันซ่อนอยู่ลึก ๆ หรือว่าถ้ายังมองไม่เห็น สังเกตไม่ทันก็ให้มาสังเกตเวลาใจมันผลักไส มันพยายามต่อสู้กับความฟุ้งซ่านนั่นแหละ หรืออาการที่จิตมันดิ้นเมื่อเกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมา มาสังเกตตรงนี้ก็ได้ ความอยากพอมันถูกรู้ถูกเห็นมันก็สงบ จิตที่มันดิ้นนี้ มันดิ้นเพราะความหลง แต่พอมีตัวรู้หรือว่ามันมีความรู้ตัวเกิดขึ้น พอมีสติไปเห็นอาการดิ้นของจิตเพราะความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นนั้น มันสงบลง นี้เรียกว่าเห็น เห็นมัน พอเห็นมัน มันก็สงบลงไป หรือถึงแม้มันไม่สงบ เราก็ไม่ลดละในการที่จะเห็น แต่ก็ระวังอย่าไปจ้องมัน จ้องมันเมื่อไหร่เดี๋ยวมันก็ดูดไปเลย การเห็นนี้มันก็เป็นศิลปะ
แต่ทั้งหมดนี้ก็เริ่มต้นจากการหมั่นสังเกตดูใจของเรา แล้วก็ปรับใจให้ถูกต้องว่าการภาวนาโดยเฉพาะการเจริญสติไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมความคิด แต่เป็นการฝึกไม่ให้ความคิดมันมาควบคุมเรา ต่างกัน ภาวนานี้ไม่ใช่เพื่อควบคุมความคิด แต่เพื่อไม่ให้ความคิดมันมาควบคุมเรา เราไม่สามารถควบคุมความคิดได้เพราะจิตมันเป็นอนัตตา มันไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา เราสั่งให้มันหยุดคิดไม่คิดภายในเวลา ๑ นาทีเรายังสั่งไม่ได้เลย เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอีก ๑ นาทีข้างหน้ามันจะคิดอะไร แทบไม่น่าเชื่อ เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าอีก ๑ นาทีมันจะคิดอะไร ทั้ง ๆ ที่เราสั่งให้มันไม่คิด แต่มันเชื่อเราไหม มันไม่เชื่อ เพราะฉะนั้นการพยายามควบคุมความคิดมันผิดตั้งแต่แรกแล้ว มันเหมือนกับการกลัดกระดุม พอกลัดกระดุมผิดเม็ดแรก เม็ดที่สอง เม็ดที่สามก็ผิดไปด้วย นักปฏิบัติหลายคนผิดตั้งแต่เริ่มคิดแล้ว หรือว่าผิดตั้งแต่ก่อนปฏิบัติแล้ว เพราะวางใจไม่ถูก ไปอยากควบคุมความคิด
ภาวนาหรือการเจริญสติไม่ใช่ทำอย่างนั้น แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้หรือไม่ยอมให้ความคิดมาควบคุมเรา หมายความว่ามันจะเกิดก็เกิดไป แต่มันทำอะไรจิตใจไม่ได้ เพราะว่าเราเพียงแต่ดูมัน เห็นมัน ความคิดนี้ถ้าเราไม่รู้ทัน ไม่เห็นมัน เข้าไปเป็นมัน มันก็จะเป็นนายเหนือเรา แต่ถ้าเราเห็นมัน มันจะควบคุมจิตใจเราไม่ได้ อันนี้รวมถึงอารมณ์ด้วย เราไม่ได้ภาวนาเพื่อไปควบคุมอารมณ์ แต่เพื่อไม่ให้อารมณ์มาควบคุมเรา หรือมามีอิทธิพลบงการเรา ความโกรธก็ดี ความเศร้าก็ดี ความกลัวก็ดี มันเกิดขึ้น ถ้าเราเห็นมันมันก็ทำอะไรเราไม่ได้ แต่เพราะไม่เห็นมัน โจนเข้าไปเป็นผู้โกรธ ผู้กลัว หรือมิฉะนั้นก็ผลักไสมัน อันนี้ปัญหาเกิดขึ้นทันทีเลย มันจะมีอำนาจเหนือเราทันที ถ้าเราทำอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นการตามหรือต้านมัน อารมณ์พวกนี้มันมีอิทธิพล มันมีกำลังมีอำนาจมาก มันสามารถที่จะบังคับบงการให้เราทำร้ายคนที่เรารัก หรือว่าสร้างความหายนะฉิบหายให้กับตัวเราเองก็ได้ มันมีอุบายร้อยแปดที่จะครองจิตครองใจ และที่จะอยู่ในจิตใจเราไปได้อย่างยั่งยืนยาวนาน แต่ว่ามันมีจุดอ่อน จุดอ่อนที่สำคัญคือมันกลัวการถูกรู้ถูกเห็น ถ้ามีสติรู้ทันเห็นมันเมื่อไหร่ มันก็อ่อนยวบยาบไปเลย ฝ่อไปเลย อันนี้คือวิธีการที่ทำให้มันไม่มาบังคับควบคุมเรา เราไม่ได้ไปควบคุมมัน เพียงแต่ว่าการที่เรามีสติรู้ทันหรือเห็นมัน ทำให้ใจไม่เข้าไปอยู่ในอำนาจการบงการของมัน
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติที่นี่เราก็ฝึกให้มาเห็นใจคิดนึก แต่ก่อนที่จะถึงตรงนั้นก็ให้มารู้กายก่อน รู้กายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึก ใหม่ ๆ ก็อย่าเพิ่งไปเห็นใจคิดนึก หรือไปหวังว่าจะได้ไปเห็นมันชัดเจน รู้กายก่อน อย่าเพิ่งไปสนใจความคิด ให้รู้กายเวลายกมือก็รู้ เวลาเดินก็รู้ รู้ว่ามือยก รู้ว่ากายเดิน ไม่ใช่รู้เฉพาะจุด ไม่ใช่ไปเพ่งที่มือ ไม่ใช่ไปเพ่งที่เท้าแต่รู้ตัวทั่วพร้อม คำว่ารู้ตัวทั่วพร้อมก็แปลว่ารู้ไปทั้งตัว รู้รวม ๆ ไม่ใช่รู้เฉพาะจุด เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่การเพ่ง เพ่งนี้คือทำให้รู้เฉพาะจุด พอเรารู้กายเคลื่อนไหวต่อไป สติมันก็จะไวเห็นใจคิดนึก การเห็นนี้สำคัญ เรียกว่าเป็นคีย์เวิร์ด ภาษาฝรั่งเรียกคีย์เวิร์ด เป็นคำที่สำคัญในพุทธศาสนา ไม่ใช่เห็นด้วยตาเนื้อ แล้วก็ไม่ใช่“ความเห็น” “ความเห็น”มันเป็นเรื่องของความคิด แต่“เห็น”นี้มันไม่ใช่เรื่องความคิด เห็นในพระพุทธศาสนามีอยู่สองอย่าง เห็นด้วยสติ กับเห็นด้วยปัญญา เมื่อสักครู่นี้เราสวดว่า เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อใดเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ หรือเห็นด้วยปัญญาว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้นจักเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด อันนี้คือเห็นด้วยปัญญา ก็คือเห็นความจริง
แต่ว่าก่อนที่จะเห็นความจริงก็ให้รู้จักเห็นด้วยสติก่อน คือเห็นว่ามีอารมณ์เกิดขึ้น เห็นอาการของจิตที่มันผลักไสดิ้นรน จิตที่ไม่ชอบ จิตที่ขุ่นมัว หรือว่าฟุ้ง ปรุง แต่ง อันนี้เห็นด้วยสติ เป็นการเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เห็นของจริงด้วยไม่ใช่เห็นสีเห็นแสงซึ่งเป็นของปรุงแต่ง เห็นของจริงคือเห็นอาการของกายและใจ ต่อไปมันจะเห็นความจริง เห็นสัจธรรม เห็นความไม่เที่ยง เห็นว่าสิ่งทั้งปวง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หรือว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ดังนั้นการเห็นด้วยสติจึงสำคัญมาก ถ้าเห็นแล้วมันจะไม่ตาม แล้วก็ไม่ต้าน มันทำให้เราสามารถจะวางใจเป็นกลางกับสิ่งต่าง ๆ แล้วพอจิตไม่ดิ้น ไม่ผลักไส มันก็สงบ เราสงบเพราะรู้ ไม่ใช่สงบเพราะไม่รู้ ไม่ใช่สงบเพราะตัด ปิดหู ปิดตา ปิดโทรศัพท์ หรือว่าไปควบคุมบังคับเสียงไม่ให้มากระทบโสตประสาท อันนั้นใคร ๆ ก็ทำได้ แต่ที่ทำได้ยากคือว่า แม้มีอะไรมากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือแม้กระทั่งทางใจ แต่ว่าความสงบก็เกิดขึ้นได้เพราะรู้หรือเพราะเห็นใจคิดนึก
ลองฝึกใจ ทำใจยอมรับความฟุ้งซ่านที่มันเกิดขึ้น หรือว่าอะไรต่าง ๆที่มากระทบ ยอมรับ การยอมรับมันจะช่วยทำให้ใจสงบ แต่ว่ายอมรับก็เป็นขั้นตอนการฝึก บางอย่างเรายอมรับอย่างเดียวไม่พอ เราก็ต้องทำด้วย เช่นเจ็บป่วย เราก็ยอมรับว่าป่วย ไม่โวยวาย ไม่ตีโพยตีพาย แต่ก็รักษาด้วย รถเสีย รถพัง ก็ยอมรับไม่บ่นไม่โวยวาย แต่ถ้าซ่อมได้ก็ซ่อม คือยอมรับแต่ไม่ใช่ยอมจำนน อันนี้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ค่อยว่ากันต่อไป