แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้ทางมหาเถรสมาคมได้ขอให้วัดทุกวัดทั้งประเทศแสดงธรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ในโอกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ 65 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ และหัวข้อหรือกัณฑ์ที่จะแสดงทั้งประเทศในวันนี้ ทางมหาเถระสมาคมได้กำหนดว่าให้แสดงพระธรรมเทศนาเรื่อง สุจริตธรรมกถา ก็คือ ธรรมกถาว่าด้วยความสุจริต เรื่องสุจริตก็เป็นธรรมะที่สำคัญในพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้ตรัสเป็นภาษิตไว้ว่า บุคคลควรประพฤติธรรมให้สุจริต คำว่าธรรมะในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงคำสั่งสอน แต่หมายถึงว่าสิ่งต่างๆ ที่เราประกอบกิจการงาน คำว่าธรรมมีความหมายหลายอย่าง บางทีก็แปลว่าทุกสิ่งทุกอย่างเลยก็ว่าได้ อย่างเช่น ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น หรือว่าธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจประเสริฐ สำเร็จได้ด้วยใจ คำว่าธรรมในที่นี้ก็หมายถึงทุกอย่าง หรือ อาจจะหมายถึงเฉพาะเจาะจง เช่น ไม่ว่าเราทำอะไรก็ให้มันเป็นธรรมะ ให้มันเป็นความสุจริต ดังที่พระองค์ตรัสเป็นภาษิตว่าบุคคลควรประพฤติธรรมให้สุจริต ก็เจาะจงหมายถึงการทำงานทำการ การทำหน้าที่ต่างๆ ไม่ว่าทำอะไรก็ให้มันเป็นไปอย่างสุจริต แต่ที่จริงถ้าเราจะแปลธรรมะในที่นี้ ว่าข้อควรประพฤติปฏิบัติก็ได้เหมือนกัน
ข้อควรประพฤติปฏิบัติเช่น ศีล หรือทาน หรือภาวนา พวกนี้ก็เป็นธรรมะทั้งนั้น เมื่อเราทำแล้วก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป เพราะหลายคนปฏิบัติธรรม เช่นให้ทานหรือรักษาศีลเพื่อสนองกิเลสก็มี เพื่อความมักใหญ่ใฝ่สูงก็มี เพื่อสร้างภาพก็มี หรือไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปเพื่อความดีงาม อันนี้ก็เรียกว่า ประพฤติธรรมแบบไม่สุจริต แม้ว่าจะเป็นการให้ทาน เป็นการรักษาศีลก็ตาม เช่นรักษาศีลเพื่ออวดคนอื่นหรือให้ทานเพื่อสร้างภาพ อันนี้ก็เรียกว่าไม่สุจริต คือไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของทาน มีคำพูดว่า “ทำบุญเอาหน้า ภาวนาตอแหล” เป็นสำนวนซึ่งสมัยนี้อาจจะไม่ค่อยได้ยินกันแล้ว แต่สมัยที่อาตมาเป็นเด็ก ก็เคยได้ยิน เป็นคำเตือน เป็นคำวิจารณ์การให้ทานหรือการภาวนาว่าไม่ได้เป็นไปอย่างสุจริต
แต่คราวนี้เราจะมาพูดถึงความหมายแรกก่อน ก็คือ ธรรม คือการทำงานต่างๆ ควรทำให้เป็นไปอย่างสุจริต สุจริตนั้นหมายความว่าอย่างไร ก็หมายถึงว่า ความประพฤติชอบ หรือสิ่งที่มันถูกต้อง ถูกต้องตามธรรมะ ถูกต้องตามกฎหมายด้วย การทำอะไรที่มีการหลบเลี่ยงกฎหมายถือว่าไม่สุจริตได้เหมือนกัน การที่คณะสงฆ์ให้วัดทั่วประเทศแสดงธรรมเรื่องสุจริตธรรมกถา ในด้านหนึ่งก็เพราะว่า เมืองไทยตอนนี้ ผู้คนทุจริตกันมาก คำว่าทุจริตนี้ตรงข้ามกับคำว่าสุจริต ทุจริตก็คือความประพฤติมิชอบ ซึ่งส่วนใหญ่ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ก็คือการคดโกง หรือคอรัปชั่น ตอนนี้เมืองไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการคอรัปชั่นสูงมาก เป็นที่รู้กันทั้งในหมู่คนไทยและชาวต่างชาติ คอรัปชั่นหมายถึงการเบียดบังผลประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งรวมถึงการใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ไม่ถูกต้อง การใช้อำนาจหน้าที่ในทางไม่ถูกต้องไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการคอรัปชั่นเสมอไป ไม่ได้แปลว่าจะต้องมีการเบียดบังผลประโยชน์ของหลวง หรือว่าเรียกสินบนเสมอไป อาจจะหมายถึงการกลั่นแกล้งก็ได้ ใช้อำนาจหน้าที่ในการกลั่นแกล้ง เช่น ไม่ชอบหน้าคนนี้ ก็กลั่นแกล้ง บางทีก็ยัดยาให้ จะได้เป็นข้ออ้างในการจับ บางทีก็สร้างหลักฐานเท็จเพื่อจะได้จับกุมเขา เอาเข้าคุกเข้าตะราง เรียกว่าเป็นการทำหน้าที่อย่างไม่สุจริต ก็เป็นการทุจริตในหน้าที่เหมือนกัน
ส่วนใหญ่แล้วการกลั่นแกล้ง กับ การคอรัปชั่น หรือการเบียดบังผลประโยชน์มันก็ไปด้วยกัน เช่น แกล้งจับเขาเพื่อจะได้เรียกเอาเงิน ยัดยาให้เขาบางทีแค่เม็ดเดียวก็มากพอที่ตำรวจจะจับกุมได้ เมื่อ 2-3 อาทิตย์ก่อน ได้ไปเยี่ยมนักโทษในเรือนจำ ณ ภูเขียว ไปกับคณะผู้พิพากษา มีการเชิญนักโทษเด็ดขาดคือนักโทษที่มีการตัดสินเรียบร้อยแล้ว ให้มาสนทนากัน เป็นเด็กวัยรุ่นทั้งนั้น 21, 22, 23 ปี ทั้งหญิงและชาย หลายคนพูดว่าตอนที่ตัวเองถูกจับ ตำรวจหาหลักฐานไม่ได้ก็เลยยัดยาเลย ยัดยาให้ไปสองเม็ด เท่านั้นยังไม่พอยังบอกพวกเขาว่า ถ้าอยากพ้นคดีก็ต้องหาเงินมา 50,000 บ้าง หนึ่งแสนบ้าง อันนี้เรียกว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต คือ กลั่นแกล้งเพื่อหวังผลประโยชน์
บางคนถูกจับเพียงเพราะผัวเสพยา หรือผัวอาจจะค้ายาด้วย ส่วนใหญ่เสพยาค้ายามันก็คนเดียวกันนั่นแหละเพราะว่าเสพยามากๆ ก็ไม่มีเงิน เมื่อไม่มีเงินก็ต้องหารายได้จากการค้ายา ซื้อมา 10 เม็ด ขายไปแปดเม็ดก็คุ้มเท่าทุนแล้ว อีก 2 เม็ดก็เอาไว้เสพเอง ถ้าอยากเสพก็ต้องไปขายยา ขายแปดเม็ดก็ได้สองเม็ด ตำรวจก็อยากจะจับผัว แต่ไม่มีหลักฐานเลยจับเมียแทน ยัดยาให้เมียก็มี อันนี้มันเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ เป็นการกลั่นแกล้งเพื่อหวังผลประโยชน์ หวังเงินสินบนเพื่อให้เขาเบาคดี อันนี้เป็นปัญหาซึ่งไม่ได้เกิดเฉพาะกับวงราชการ ที่มีอำนาจหน้าที่ในทางจับกุมเท่านั้น ข้าราชการทำหน้าที่อื่นก็เหมือนกัน เช่น ทำหน้าที่เซ็นใบอนุญาต เมืองไทยมีกฎระเบียบมาก จะไปขออนุญาตต่อทะเบียนรถ สมัยก่อนก็ต้องยัดเงิน หรือว่าจะไปทำใบขับขี่ บางทีไม่อยากจะเสียเวลาก็ยัดเงิน หรือว่าบางทีทำหน้าที่เซ็นใบอนุญาตให้กับแรงงานต่างชาติ แรงงานต่างด้าว เดี๋ยวนี้ต้องมีใบอนุญาตมากมายจากหลายกระทรวง เขาก็บ่นว่ากว่าจะได้ใบอนุญาตก็ต้องยัดเงิน อันนี้เป็นเรื่องความไม่สุจริตที่เกิดขึ้นในวงราชการ แต่มันก็ไม่ได้จบแค่นั้นเพราะว่าเดี๋ยวนี้ความไม่สุจริตมันก็เกิดขึ้นนอกวงราชการด้วย บริษัทเอกชน มหาวิทยาลัย โรงเรียน ฯลฯ เดี๋ยวนี้อำนาจอยู่กับใคร ก็มีโอกาสที่จะทำการทุจริตได้ ผู้อำนวยการโรงเรียน ถ้าเป็นโรงเรียนดังก็สามารถที่จะทุจริตได้ จะรับเด็กก็ต้องให้สินบนหรือว่ายัดเงินใต้โต๊ะ ความทุจริตกระจายแม้กระทั่งมาถึงวัด เดี๋ยวนี้มีข่าวเรื่อง “เงินทอน” ถ้าตามที่เขาลงข่าวเป็นเรื่องจริงมันเป็นการร่วมมือกันระหว่างเจ้าอาวาสกับเจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ เป็นการอวยประโยชน์กัน หาเงิน หางบประมาณมาให้วัด 10 ล้าน วัดก็เอาไปสองล้าน อีกแปดล้านก็ให้เจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ เอาไปใช้ส่วนตัวหรืออะไรก็แล้วแต่ อันนี้ก็เป็นความทุจริตซึ่งระบาดไปทั่ว
เพราะฉะนั้น ก็สมควรแล้วที่จะมาตอกย้ำเรื่องความสุจริตในหมู่คนไทยซึ่งอ้างตัวว่าเป็นชาวพุทธ แต่ถ้าเรานับถือพุทธจริงๆ การทุจริตมันทำได้ยาก เพราะว่าศีลจะค้ำเอาไว้ ศีลจะกำกับไม่ให้เราทำการทุจริต เพราะว่าเวลาจะทุจริต คอรัปชั่น หรือโกง ถือเป็นการขโมยชนิดหนึ่ง นอกจากการขโมยที่เรียกว่าอทินนาทานแล้วมันก็ต้องโกหกเพื่อปิดบังความจริง ซึ่งต้องใช้มุสาวาท พวกนี้พอมีเงินมากก็ไปเที่ยวผู้หญิง ก็ผิดศีลข้อ 3 และก็กินเหล้า สุราเมรัยด้วย คนเราถ้ามีศีลอย่างแท้จริง มันทุจริตยากมีแต่จะกำกับให้ชีวิตเป็นไปโดยสุจริต ทางพุทธศาสนาท่านพูดว่า การที่คนเราจะละเว้นจากการทุจริตได้ มันมีสามปัจจัย ปัจจัยแรกท่านก็เรียกว่า สัมปัตตวิรัติ คือการละเว้นไม่ทำทุจริตเมื่อประสบเหตุเฉพาะหน้า เช่นมีคนลืมเงินเอาไว้หนึ่งหมื่น หรือหนึ่งแสน หรือหนึ่งล้าน บนโต๊ะหรือในรถแท็กซี่ คนขับรถหรือคนในสำนักงานเห็นเงิน หรืออาจจะเป็นทองก็ได้ โทรศัพท์ก็ได้ แต่ไม่ขโมย สบโอกาสที่จะคอรัปชั่นเงินเป็นหมื่นเป็นแสนแต่ไม่ทำ ไปซื้อของให้กับบริษัทหรือว่าไปซื้อของให้กับวัด แล้วร้านค้าให้ค่าคอมมิชชั่น ซื้อของหนึ่งแสน ร้านค้าให้คอมมิชชั่นกับเจ้าหน้าที่หนึ่งหมื่นบาท เขายื่นผลประโยชน์ให้แต่ไม่รับ เพราะมีหิริโอตตัปปะ หิริคือความอายชั่ว โอตตัปปะคือการกลัวบาป อายชั่วกลัวบาป หิริหมายความว่า การนึกถึงชื่อเสียงวงศ์ตระกูล หรือภาษาสมัยใหม่เรียกว่ามีความเคารพตัวเอง แม้โอกาสมาอยู่ข้างหน้าแล้วแต่ไม่ทำเพราะเคารพตัวเองหรือเพราะรู้ว่าเรามีชื่อเสียงมีวงศ์ตระกูลพ่อแม่สั่งสอนมา เกิดความละอายชั่วก็เลยไม่ทำ หรือกลัวบาป ทำไปแล้วมันจะเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจตามมา
การกลัวบาปนี้ท่านบอกว่ามี 4 อย่าง อันแรกท่านเรียกว่า อัตตานุวาทะภัย คือกลัวที่จะตำหนิตัวเอง คือทำไปแล้วกลัวจะมีเสียงบ่น เสียงตำหนิของตัวเอง คือความรู้สึกผิด กลัวว่าตัวเองจะกินไม่ได้นอนไม่หลับเพราะว่าตำหนิตัวเองอยู่ข้างในก็ไม่ทำ หรือปรานุวาทภัย กลัวคนอื่นตำหนิ กลัวคนอื่นรู้แล้วจับได้และประจานลงเฟสบุ๊คก็ไม่ทำ หรือกลัวสิ่งที่เรียกว่าทัณฑภัยคือ ภัยที่เกิดจากกฎหมายบ้านเมือง เขาจับได้ก็ติดคุก ถูกปรับก็กลัว หรือกลัวทุคติภัย กลัวว่าจะไปลงนรก อันนี้ก็ทำให้ละเว้นจากการทุจริต อีกข้อเป็นการละเว้น (วิรัติ) เหมือนกัน ประเภทที่สอง ท่านเรียกว่าสมาทานวิรัติ คือละเว้นเพราะว่าได้สมาทานศีลไว้แล้ว
อย่างที่บอกเมื่อสักครู่ว่าศีลจะไปช่วยกำกับ มันเหมือนรั้วที่กันเราไว้ไม่ให้ทำสิ่งที่ผิดกติกา ผิดกฎหมายบ้านเมืองหรือผิดศีลผิดธรรม คนเราแม้มีความอยาก เห็นเงินอยู่ข้างหน้า หรือเห็นโอกาส อยู่ข้างหน้าแล้วแต่ไม่ทำเพราะว่ามีศีลค้ำเอาไว้ โดยเฉพาะข้ออทินนาทานนี้ เพราะการโกงการคอรัปชั่นเป็นการขโมยแบบหนึ่ง เป็นการใช้หน้าที่ในทางที่มิชอบเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว สาวไปจริงๆ ก็เป็นการขโมยชนิดหนึ่งก็ไม่ทำ ยิ่งถ้ามีศีลข้อ 3 ข้อ 5 ไม่หลงอบายมุขไม่ติดเหล้า แรงจูงใจที่ทำให้อยากจะมีเงินมากๆ เพื่อไปกินเหล้าเพื่อไปเที่ยวผู้หญิงก็ไม่มี เมื่อแรงจูงใจที่อยากจะมีเงินมากๆ ไม่มี กิเลสที่จะทำให้ คอรัปชั่นคดโกงก็ไม่มี เพราะฉะนั้นสมาทานวิรัติเป็นตัวช่วยทำให้ละเว้นการทุจริตได้
ข้อที่สามคือสมุจเฉทวิรัติ คือละเว้นการทุจริตเพราะว่าไม่มีกิเลสที่ทำให้เกิดความอยากจะผิดศีล อันนี้หมายถึงสภาวะจิตของพระอรหันต์ หรือพระอริยะบุคคล อันนี้สำหรับพวกเรา / ข้อแรกสำคัญ (สัมปัตติวิรัติ กับ สมาทานวิรัติ) ที่จริงหิริโอตตัปปะกับศีลมาด้วยกัน คนเราจะรักษาศีลให้มั่นคงต้องมีหิริโอตตัปปะ ถ้าหิริโอตตัปปะไม่มี ความอายชั่วกลัวบาป มันก็ผิดศีลได้ง่าย รักษาศีลยังไงก็รักษาไม่ได้ ถ้าไม่มีความละอายชั่วกลัวบาป คนสมัยนี้ไม่ค่อยกลัวบาปกันเพราะคิดว่านรกไม่มีจริง คิดว่าถ้าถูกจับก็เป่าคดีได้ เอาเงินยัดเรียกว่าเป่าคดี เพราะฉะนั้นทัณฑภัย ทุคติภัยก็เลยไม่มีอยู่ในจิตสำนึก ยิ่งความละอายในบาป หรือละอายในชั่วก็ยิ่งไม่มี ทำให้การตั้งมั่นอยู่ในศีลยาก แต่คนเราถ้าฉลาดก็จะรู้ว่าการรักษาศีลนี่แหละ มันเป็นการรักตัวเองอย่างแท้จริง พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนชั่วหรือคนพาลปัญญาทราม “ย่อมทำกับตัวเองเหมือนเป็นศัตรู” หมายความว่า ทำร้ายตัวเอง หาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัวด้วยการผิดศีล
อย่างไรก็ตามศีลอย่างเดียวก็ไม่พอ หิริโอตตัปปะอย่างเดียวก็ยังไม่พอ มันต้องมีธรรมะอย่างอื่นเข้าไปค้ำจุนด้วย ยกตัวอย่างเช่นคนเราถ้ารู้จักพอ มีสันโดษ หรือสันตุฏฐีธรรม แรงจูงใจที่อยากจะขโมย อยากจะคอรัปชั่นมันก็ไม่มี แต่เป็นเพราะคนเราปล่อยให้ความโลภครองใจ มีเท่าไหร่ก็ไม่พออยากจะมีอีก เพราะฉะนั้นยิ่งเวลาเห็นคนอื่นรวยเอารวยเอา เรามีรถแค่คันเดียว คนอื่นมีรถ / คันราคาเป็นล้านหรือหลายล้าน ทั้งๆ ที่ตัวเองพออยู่พอกิน หรืออยู่สบายแล้ว แต่พอเห็นคนอื่นมีมากกว่าเรา มันเกิดโลภะ ความพอใจสิ่งที่มียินดีสิ่งที่ได้ก็หายไป อันนี้ถ้าสาวไปลึกๆ เป็นเพราะคนเรายังเอาความสุขไปผูกติดกับวัตถุ คนทุกคนต้องการความสุข มนุษย์ทุกคนต้องการความสุข แต่คนส่วนใหญ่ความสุขของเขาไปผูกติดกับวัตถุ ไปผูกติดกับสิ่งเสพ ซึ่งหมายถึงต้องมีเงิน พอมีเงินมันก็จะทำให้มีวัตถุสิ่งเสพมาก เพราะฉะนั้นอยากจะมีความสุขก็ต้องไปหาวัตถุสิ่งเสพมามากๆ ยิ่งเห็นเวลาคนอื่นมีเงินมากๆ แต่เรามีเงินน้อยกว่าเขาก็รู้สึกด้อย ก็ต้องหาทางคอรัปชั่น หาทางคดโกง แต่ถ้าคนเราหาความสุข พบความสุขที่ใจ มีความสุขทางใจ มาทดแทนความสุขทางวัตถุ ความพอใจในสิ่งที่มีหรือสันโดษมันเกิดขึ้นมาทันทีเลย ความคิดอยากจะขโมยมันไม่มี เพราะว่าก็มีความสุขอยู่แล้วจะไปหาเรื่องใส่ตัวด้วยการคอรัปชั่น หรือทำทุจริตทำไม คนเราถ้าไม่มีความสุขทางใจ การที่จะอยู่แบบสมถะ อยู่แบบเรียบง่าย การที่จะอยู่อย่างซื่อตรงสุจริตในขณะที่เพื่อนๆ เขารวยเอารวยเอามันทำยาก เพราะว่าเราอิจฉาเขาเลยอยากจะรวยเหมือนเขา เขามีมากเราก็อยากจะได้บ้าง คนที่คิดแบบนี้เพราะไม่มีความสุขภายใน
ความสุขของเขาต้องอาศัยการมีวัตถุ จะต้องมีสิ่งเสพ จะต้องมีรถ จะต้องมีบ้าน จะต้องมีเครื่องประดับประดา ถ้าตราบใดคนเรายังต้องอาศัยความสุขชนิดนี้ มันก็ยังมีแรงจูงใจที่ยังอยากจะรวย และถ้ารวยด้วยวิธีที่สุจริตไม่ได้ก็ต้องหาทางรวยด้วยวิธีที่ทุจริต เช่นโกง คอรัปชั่น ค้ายา หรืออย่างเบาะๆ ก็ไปเล่นการพนันซึ่งแทนที่จะทำให้รวยก็อาจจะจนมากขึ้นไปอีก แรงจูงใจหรือสาเหตุที่ทำให้คนคอรัปชั่นก็เพราะว่าเขาไม่สามารถที่จะพบความสุขทางใจได้ เขารู้จักแต่ความสุขที่เกิดจากวัตถุที่เรียกว่ากามสุข ถ้าเราพบความสุขทางใจ เราจะไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจเลยว่าใครเขาจะรวยก็รวยไป เราไม่ได้รู้สึก อิจฉาเขาเลย ใครที่ยังอิจฉาเพื่อนที่รวยกว่าหรือมีชื่อเสียงมากกว่าแสดงว่าเขายังไม่เจอความสุขทางใจ แต่ถ้าเรารู้จักความสุขทางใจเมื่อไหร่ เราจะไม่อิจฉาเขาเลย ใครจะรวย ใครจะมีชื่อเสียง ใครจะเด่นดังยังไง บางทีเรากลับเห็นใจเขาด้วยซ้ำเพราะเรารู้ว่าเขาจะต้องเจอทุกข์จากการที่ต้องรักษา ต้องประคับประคอง เงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศนั้นเอาไว้ ถ้าเราอยากจะประพฤติธรรมให้สุจริตจะต้องสามารถเข้าถึงความสุขทางใจได้ ความสุขทางใจนี้เบื้องต้นเกิดจากความรู้จักพอ เรียกว่าสันโดษ
ประการต่อมาก็คือรู้จักพบกับความสงบในใจ ความสงบถ้าเรามีแล้วมันสุขยิ่งกว่าความสนุกสนานหรือรสชาติเอร็ดอร่อยจากวัตถุเสียอีก และความสงบทางใจมาจากไหน ก็มาจากการภาวนานั่นแหละ โดยเฉพาะถ้าเรารู้จักสติ มีสติ สติจะช่วยรักษาใจให้สงบได้ อย่างที่พูดมาหลายครั้งว่าคนเราถ้าปล่อยให้อารมณ์มันครอบงำ ด้วยสิ่งยั่วยุหรือเย้ายวน ยั่วยุคือยั่วยุให้โกรธ เย้ายวนคือเย้ายวนให้โลภ ให้หลง ให้อยาก มันก็ไม่มีความสุขใจ จิตจะกระสับกระส่ายต้องดิ้นรนแสวงหาเงินทอง หรือไม่ก็ต้องแก้แค้น เพราะว่าถูกยั่วยุให้เกิดโทสะมันก็ต้องตอบโต้ออกไป แต่ถ้ามีสติ อารมณ์ที่เกิดจากการเย้ายวนหรือยั่วยุมันก็มาครองใจไม่ได้ มีความโกรธเกิดขึ้นแล้วรู้ทัน มันก็วาง มันก็เบาลง มีความโลภเกิดขึ้นอยากจะมีสิ่งเสพ แต่ว่าพอรู้ทันมันก็สงบ ความสงบในใจนี้นอกจากสมาธิแล้วสติก็สำคัญมาก ถ้าเราหมั่นเจริญสติเสมอๆ ทำสมาธิภาวนาอยู่เป็นประจำ การที่เราจะพบกับความสุขทางใจก็เกิดขึ้นได้ง่าย เมื่อมีความสุขทางใจแล้วเราก็ไม่เดือดร้อน เราก็ไม่แคร์ว่าใครจะถือกระเป๋า Louis Vuitton ราคาหลายหมื่น ขับรถราคาเป็นล้าน หรือ 10 ล้านเราก็ไม่ได้อิจฉาเขาด้วย ใครเขาจะร่ำรวย มีชื่อเสียงเป็น CEO บริษัทดังๆ เราก็ไม่อิจฉาเขาเลย ไม่รู้สึกด้อยเลย ไม่ว่าเราเป็นข้าราชการก็สามารถจะมีความสุขได้ แม้ชีวิตจะไม่ได้ร่ำรวยอะไร แม้พออยู่พอกินก็มีความสุขได้ แต่คนสมัยนี้พออยู่พอกินไม่มีความสุขหรอก รู้สึกด้อย เพราะยังรู้สึกว่ามีความสุขไม่พอ เพราะความสุขของเขามันไปถูกผูกติดกับวัตถุ มีมากก็เข้าใจว่าสุขมากๆ โดยที่ไม่คิดว่าที่จริงแล้วมีมากอาจจะทุกข์มากได้เหมือนกัน เพราะว่ามันต้องเหนื่อยกับการรักษา ต้องเหนื่อยกับการดูแล รู้สึกว่าไม่พออยู่เสมอ มันจะรู้สึกพร่องอยากจะมีให้มากยิ่งๆ ขึ้นไปอีก
คนสมัยนี้ไม่ได้แค่อยากจะรวย แต่ต้องการ”รวยกว่า” คือรวย 100 ล้าน แต่ถ้าเพื่อนรวย 1,000 ล้าน ไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นคนสมัยนี้ไม่ได้แค่อยากจะรวยแต่ต้องการรวยกว่า ความต้องการรวยกว่าทำให้ไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักหยุดสักที แต่ถ้าเราพบความสุขทางใจด้วยอานิสงค์ของสมาธิภาวนา หรือการเจริญสติมันก็ช่วยทำให้เราสามารถอยู่ได้อย่างเป็นสุขแม้ว่าจะไม่ได้ร่ำรวยอะไร พระอรหันต์ หรือพระอริยเจ้า หรือพระที่เป็นปุถุชน ท่านก็มีอัฐบริขารไม่กี่ผืน ไม่กี่อย่าง แต่ทำไมถึงมีความสุขได้ มีความสุขกว่าโยมซึ่งมีมากมาย เพราะว่าท่านมีความสุขทางใจ เข้าถึงความสุขทั้งใจ มันก็พึ่งพาวัตถุน้อยลง มีแค่บริขารแปดก็มีความสุขได้ และสุขยิ่งกว่าคนที่เงินมากมายร้อยล้านพันล้านเสียอีก สติยังช่วยทำให้เราไม่ประพฤติผิดทางอื่นได้ด้วย เพราะบางทีคนเราทุจริตส่วนหนึ่งก็เพราะว่าอยากจะกลั่นแกล้ง เพราะมีความโกรธ อยากจะแก้แค้น แต่ถ้ามีสติ ความโกรธความพยาบาทก็เข้าครอบงำไม่ได้ ความคิดที่จะไปกลั่นแกล้งใครโดยใช้อำนาจที่มีก็จะไม่เกิดขึ้น เป็นหลักประกันว่าเราจะใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางที่สุจริตเที่ยงธรรม ไม่ไปกลั่นแกล้งใคร
บางคนทุจริตเพราะกลัว ไม่ใช่เพราะโกรธ ไม่ใช่เพราะโลภอย่างเดียว อย่างที่พูดเมื่อสองวันก่อน คนเดี๋ยวนี้ “กล้าทำชั่ว - กลัวความดี” กล้าทำชั่วเพราะเพื่อนๆ ชวน เวลาจะทำดีก็กลับกลัวว่าจะเป็นแกะดำ คล้ายกับว่าใครๆ ก็รับสินบนกันทั้งนั้น ถ้าเราไม่รับสินบนก็เป็นแกะดำ แต่ที่จริงเป็นแกะขาว กลัวที่จะเป็นแกะขาวก็เลยต้องยอมคอรัปชั่น ยอมเรียกสินบน ยอมทุจริต แต่ถ้าเรามีความกล้าที่จะไม่ยอมทำชั่ว ก็จะเกิดขึ้นน้อยลง อันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน การที่คนเราจะสุจริตได้ นอกจากหิริโอตตัปปะ นอกจากสติ นอกจากความสุข มันต้องมีความกล้า กล้าทำดี กล้าปฏิเสธคนที่จะมาชักชวนให้ทำชั่ว แม้ว่าจะเป็นเพื่อนฝูงหรือเป็นพี่น้อง อย่างเช่นใครจะมาชวนกินเหล้า เราก็กล้าปฏิเสธ เพราะเรารู้ว่าการกินเหล้าไม่ดี
แต่เดี๋ยวนี้คนส่วนใหญ่ไม่กล้าปฏิเสธ กลัวที่จะมีศีล เพราะเดี๋ยวเพื่อนจะดูถูกเหยียดหยาม เดี๋ยวเขาจะไม่คบ เดี๋ยวเขาจะไม่ยอมรับ การที่เรากลัวการถูกปฏิเสธการไม่ได้รับการยอมรับ ก็เป็นเพราะเราไม่เห็นคุณค่าภายใน คนเราถ้ามีความสุขภายใน เราก็จะเห็นค่าของตนเอง ใครเขาไม่ยอมรับเรา เพราะเราไม่กินเหล้า เราไม่โกง เราก็ไม่เดือดร้อน อยู่คนเดียวก็ได้ อยู่คนเดียวก็มีความสุข เพราะเรามีตัวเองเป็นเพื่อน เป็นมิตรกับตัวเอง คนเดี๋ยวนี้ไม่เป็นมิตรกับตัวเอง หามิตรในตัวเองไม่เจอก็เลยต้องไปหามิตรจากคนรอบข้าง คนรอบข้างชวนให้ไปกินเหล้า ชวนให้ไปค้ายา ชวนให้คอรัปชั่นก็ไป ต้องยอม ไม่ได้อยากทำ หลายคนไม่ได้อยากทำแต่ก็กลัว กลัวเขาจะไม่คบ กลัวเขาจะปฏิเสธ
ความกล้ามันหายไปไหน ก็เพราะว่า ไม่รู้จักเคารพตัวเอง ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง ไม่เห็นว่าคุณค่าไม่ได้อยู่ที่ตัวใคร แต่อยู่ที่ตัวเอง ถ้าเราเห็นตรงนี้เราก็จะมีความกล้า กล้าที่จะทำดี กล้าที่จะปฏิเสธความชั่ว กล้าที่จะปฏิเสธการคอรัปชั่น แม้ว่าคนรอบข้าง หรือเพื่อนๆ จะชักชวน ข่มขู่ก็ตาม ที่จริงความกล้าเป็นส่วนหนึ่งของนักปฏิบัติธรรม อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต และถ้าถึงคราวก็กล้าที่จะสละชีวิตได้ เพื่อรักษาธรรม พระอริยะเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ทั้งหลายท่านก็กล้าที่จะสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม ไม่ยอมทำชั่ว คนเราต้องตระหนักตรงนี้อยู่เสมอ เพราะถ้าเราทำชั่วเมื่อไหร่ มันจะได้สุขชั่วคราว อาจจะได้รับการยอมรับจากเพื่อน จากคนรอบข้าง แต่ว่าไม่มีความสุข ความผิดบาปมันจะคอยเกาะกินจิตใจ
มีคนหนึ่งเคยเป็นตำรวจ คราวหนึ่งไปจับเจ้าของร้านเพราะเขาขายอาหารเกินเวลา ที่จริงอาจจะเป็นเพราะเจ้าของร้านไม่ได้ให้เงิน ไม่ได้ให้สินบน ไม่ได้ให้ส่วย เลยมีคำสั่งให้ไปจับ แต่เจ้าของร้านก็หลบไปได้ แล้วมีคนอื่นมารับแทน ตำรวจนายนี้ก็รู้ว่าคนที่ตนจับไม่ใช่เจ้าของร้านตัวจริง เป็นแค่หุ้นส่วนเล็กๆ แต่ที่เขายอมมาเป็นจำเลยเพราะเจ้าของร้านตัวจริงให้คำมั่นสัญญาว่าจะช่วยให้หลุด เพราะสมัยนี้การใช้เงินเป่าคดีไม่ได้ยากอะไร แต่ปรากฏว่า เจ้าของร้านตัวจริงไม่มาช่วย ส่วนคนที่เป็นแพะก็เลยติดคุกไป เสียใจเลยผูกคอตายในคุก ตำรวจที่ทำคดีนี้ก็เสียใจ คือเสียใจเพราะตัวเองรู้ว่าเขาไม่ใช่เจ้าของร้านแต่ก็จับเขา เพราะคิดว่าจะได้ผลงานไปเสนอเจ้านาย เจ้านายสั่งให้จับก็จับ ถึงรู้ว่าไม่ใช่ตัวจริงแต่ก็ทำ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว เพื่อเป็นที่ยอมรับ เพื่อเจ้านายจะไม่ลงโทษ แต่พอรู้ว่าคนที่ตัวเองจับผูกคอตายก็เสียใจมาก เสียใจจนกระทั่งเลิกเป็นตำรวจ นี้ก็เรียกว่าความผิดที่ทำ ความทุจริตที่ก่อมันหลอกหลอนจิตใจ อันนี้เรียกว่าอัตตานุวาทภัย ซึ่งสมัยนี้มีน้อยลงไปทุกที แต่ก็สำคัญ เพราะถ้าคนเราทำชั่ว ทำทุจริต ยังไงๆ ก็ต้องมีความรู้สึกนี้มาหลอกหลอน ถ้าไม่ใช่วันนี้ก็วันหน้า ถ้าไม่ใช่วันหน้าก็คือวันที่กำลังจะตาย พอจะตาย ความชั่วที่ทำทุจริตที่เคยก่อจะมาหลอกหลอนทำให้ผวา ทำให้ตายไม่สงบ ไม่คุ้มเลย ผลประโยชน์ที่ได้จากการทำทุจริตไม่มากเท่าไหร่ แต่สุดท้ายหาความสุขไม่ได้ ความรู้สึกผิดมันหลอกหลอน ทิ่มแทงใจ หรืออาจจะทำให้ตายไม่สงบ
เพราะฉะนั้นไม่มีวิธีอะไรที่จะทำให้ชีวิตเราสงบสุขได้ นอกจากการที่เราบำเพ็ญสุจริตธรรม ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า honest ภาษาฝรั่งมันมีคำพูดของนักธุรกิจ ซึ่งหลายคนก็ยึดถือเป็นหลัก เขาใช้คำว่า Honesty is the best policy. ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นนโยบายที่ดีที่สุด เป็นนโยบายทำธุรกิจที่ดีที่สุด ที่จริงมันไม่ใช่แค่นโยบายทางธุรกิจที่ดีที่สุดเท่านั้น มันยังเป็นหลักประกันที่ดีที่สุดสำหรับการมีชีวิตอย่างผาสุก และถ้ามีภพหน้าก็ได้ไปสุขติ