แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้เมื่อตอนบ่ายมีโยมกลุ่มหนึ่งมาหา กราบพระยังไม่ทันเสร็จหนึ่งในนั้นร้องไห้และเธอเล่าว่าเพิ่งสูญเสียลูกชายไป อายุยังไม่มากเพิ่งสิบแปด อาทิตย์ที่แล้วมีอีกกลุ่มหนึ่งมาหนึ่งในนั้นคล้ายๆกัน พอเจอหน้าพระร้องไห้เพราะว่าสูญเสียลูกเหมือนกันยังอยู่ในวัยหนุ่ม เจอเหตุการณ์แบบนี้ทำให้นึกถึงคำสนทนาโต้ตอบระหว่างพระพุทธเจ้ากับเทวดา เทวดากล่าวว่าผู้มีบุตรย่อมยินดีเพราะบุตร ผู้มีโคย่อมยินดีเพราะโค พระพุทธเจ้าตรัสแก้ว่า ผู้มีบุตรย่อมเศร้าโศกเพราะบุตร ผู้มีโคย่อมเศร้าโศกเพราะโค มองต่างมุม เป็นความจริงทั้งคู่ แต่คนส่วนใหญ่มองด้านเดียว ผู้มีบุตรยินดีเพราะบุตร ผู้มีโคยินดีเพราะโค แต่ไม่ตระหนักว่าบุตรและโคสามารถนำความเศร้าโศกมาให้กับเราได้เหมือนกัน
กับโยมที่มาหาวันนี้ก็พูดปลอบใจเขาไป ให้เขาได้คิดว่าลูกเขาทำบุญมาเพียงเท่านี้ บุญที่ชักนำให้มาอยู่ร่วมกันเป็นแม่เป็นลูกกันได้ยุติ ถึงเวลาหมดบุญเขาก็จากไป เป็นสิ่งที่แม่ไม่ว่าจะรักลูกเพียงใดไม่สามารถจะควบคุมหรือบงการให้ลูกเป็นไปอย่างที่เราต้องการได้ เราเลี้ยงได้แต่ตัวแต่จิตใจเขาเราไม่สามารถจะเลี้ยงได้ เขามีความคิดของเขา มีวิถีชีวิตของเขา เมื่อมีเหตุปัจจัยทำให้เขาอยู่ เขาก็อยู่ เหตุปัจจัยที่ทำให้เขาไป เขาก็ไป เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นไปตามใจของเราได้ และพูดต่อไปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแม้ว่าไม่ประสงค์จะให้เกิด แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วให้หาบทเรียนว่านี่คือสัจธรรมที่เกิดขึ้นกับทุกชีวิต ความสูญเสียความพลัดพรากเกิดขึ้นกับทุกคน นอกเหนือจากความเจ็บความป่วยและที่แน่นอนอีกอย่างหนึ่งคือความตาย ไม่ว่าเรามีอะไร จะเป็นคนสัตว์สิ่งของก็อยู่กับเราได้เพียงชั่วคราว เมื่อถึงเวลาก็จากไปจะจากไปในลักษณะใดแล้วแต่ นี่คือความจริงที่ไม่มีใครหนีพ้น คนที่มีชีวิตอยู่ร่วมกับเราเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะอยู่กับเราไปตลอด
เปรียบเหมือนกับเรานั่งรถไฟหรือว่านั่งรถโดยสาร คนที่ขึ้นสถานีเดียวกับเราบางคนเขาลงก่อนเรา นั่งไปได้สองสามป้าย สองสามสถานี เขาลง ไม่ใช่ว่าคนที่ขึ้นสถานีเดียวกับเราจะลงพร้อมกับเราก็ไม่ใช่ บอกให้เขาลองดูว่าเคยเห็นไหมคนที่ขึ้นรถสถานีเดียวกับเราหรือป้ายเดียวกับเรา แล้วเขาลงสถานีเดียวกับเราป้ายเดียวกับเรา บางคนลงก่อนบางคนลงหลังเรา เราขึ้นต้นทางนั่งไปได้สองสามสถานีสองสามป้าย มีคนขึ้นมาอยู่รถคันเดียวกับเราขบวนเดียวกับเรา แล้วเขาอาจจะลงก่อนได้ จะไปคาดหวังว่าแม้เขาขึ้นรถกลางทางแล้วจะไปลงสถานีเดียวกับเรา หรือว่าไปลงสุดทาง ไม่มีแบบนี้หรอก
ลูกก็ดี คนรักก็ดี เขามามีชีวิตร่วมโลกเดียวกันกับเรา แต่ว่าเขาอาจจะไปก่อนก็ได้ และไม่ช้าเร็วเราเองต้องไปเหมือนกัน ส่วนคนอื่นยังอยู่ต่อไปเหมือนกันว่ายังนั่งรถขบวนนั้นไปเรื่อยๆ เราไม่รู้ว่าจะลงเมื่อไรสถานีไหนหรือว่าลงป้ายไหนก็ยังไม่รู้ แต่จะยังมีคนไปต่อ เขาไม่ได้ลงสถานีเดียวกับเราหรือลงป้ายเดียวกับเรา นี่คือความจริงของชีวิตที่เกิดขึ้น ให้เราศึกษาเรียนรู้ เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้แล้วให้เราถือเป็นบทเรียน หรือสิ่งแสดงสัจธรรมให้เราเห็น เพื่อที่เราจะอยู่ในโลกนี้ได้ด้วยใจที่เป็นปกติสุข เพราะว่าความพลัดพรากสูญเสียจะไม่ใช่เกิดเพียงเท่านี้ จะเกิดมาเรื่อยๆ ในระหว่างนั้นอาจจะมีของใหม่ได้ของใหม่มา แต่ว่าทุกครั้งที่เรามีของใหม่ได้อะไรมาก็ตาม ต้องเตรียมใจว่าสักวันหนึ่งก็ต้องไป ได้มามากน้อยแค่ไหนสักวันหนึ่งต้องหมด นี่เป็นธรรมดาชีวิต คนที่ยอมรับความจริงไม่ได้ก็จะทุกข์
อย่างในทางพุทธกาล มีผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเก่งมาก ฉลาด ฉลาดจนกระทั่งได้ไปอยู่ในครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย เดิมตัวเองเป็นเด็กยากจน แต่แสดงความฉลาด จนกระทั่งได้แต่งงานกับมานพหนุ่มซึ่งมีฐานะ ชีวิตน่าจะราบรื่นไปด้วยดี เรียกว่ากำลังจะเจริญรุ่งเรือง และยิ่งอยู่กินกันไม่นานก็มีลูกน้อย แต่แล้ววันหนึ่งลูกที่น่ารักเกิดตายจากไปอย่างกะทันหัน นางกีสาโคตมีทำใจไม่ได้ ยอมรับไม่ได้ว่าลูกตัวเองตาย แล้วอุ้มศพลูกไปให้ใครต่อใครช่วยชุบชีวิตให้ฟื้นขึ้นมา เธอยังเชื่อว่าลูกสามารถที่จะฟื้นคืนกลับมาได้ ใครๆก็ส่ายหัว บอกว่าลูกเธอตายแล้ว แต่เธอไม่ยอมรับ ไปหาคนนั้นคนนี้ให้ช่วย ช่วยที ช่วยที
จนกระทั่งมีคนแนะนำให้ไปหาพระพุทธเจ้า พระองค์น่าจะช่วยได้ นางดีใจมีความหวัง อุ้มศพลูกไปหาพระองค์ที่เชตวัน พระองค์เห็นอากัปกิริยาของนางกีสาโคตมีก็รู้ว่าสอนธรรมให้ไม่ได้ จะสอนว่าความตายเป็นธรรมดาของทุกชีวิต คนเราเกิดมาต้องพลัดพรากสูญเสีย ทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พระองค์ไม่ตรัสสอนแบบนี้เลย กลับพูดว่าเราช่วยเธอได้ถ้าเธอหาเมล็ดผักกาดจากบ้านที่ไม่มีคนตาย นางได้ฟังอย่างนั้นก็ดีใจ อุ้มศพลูกเข้าไปในเมือง ไปถามใครต่อใคร บ้านนั้นบ้านนี้ว่ามีเมล็ดผักกาดไหม ได้คำตอบว่าทุกบ้านมีเมล็ดผักกาด แต่พอถามว่ามีคนตายหรือเปล่าบ้านนี้ ได้คำตอบว่ามีคนตาย สมัยก่อนตายที่บ้านด้วย บ้านนี้พ่อตาย บ้านนี้แม่ตาย บ้านนี้ตาตาย บ้านนี้ยายตาย บ้านนั้นลูกตาย บ้านแล้วบ้านเล่ามีแต่คนตายทั้งนั้น
นางกีสาโคตมีเริ่มตระหนักว่าความตายนี่เป็นธรรมดาของทุกบ้านทุกครอบครัว ไม่ใช่เธอเท่านั้นที่สูญเสีย คนอื่นเขาสูญเสียเหมือนกัน เริ่มยอมรับความจริง คือยอมรับความตายของลูกได้ ความเศร้าโศกลดลง แล้วเอาศพลูกไปเผา เสร็จแล้วไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทีนี้พระองค์แสดงธรรมแล้วว่า “น้ำป่าย่อมพัดพาผู้ที่หลับใหลฉันใด มฤตยูย่อมพัดพาผู้ที่หลงใหลในบุตร ในคนรัก ในทรัพย์สมบัติ ฉันนั้น” นางฟังแล้วพิจารณาตามเห็นจริงด้วยประสบการณ์ที่เพิ่งผ่านมาสดๆหมาดๆ คำสอนพระองค์หยั่งลึกเข้าไปในใจ จนถึงก้นบึ้งเลยว่าได้ แล้วปัญญาเกิดขึ้น นางได้บรรลุเป็นพระโสดาบันในตอนนั้นเอง น่าคิดคนที่เพิ่งฟูมฟายเศร้าโศกจนกระทั่งลืมเนื้อลืมตัวไปเมื่อไม่กี่ชั่วโมง แต่มาถึงตอนนี้กลายเป็นพระอริยเจ้าเสียแล้ว อย่างนี้เรียกว่า เพราะได้เรียนรู้จากความสูญเสีย ถ้านางไม่สูญเสียลูกคงยากที่จะบรรลุธรรม
ความสูญเสียมีประโยชน์ ยิ่งสูญเสียคนรักมาเท่าไร ยิ่งเขย่าอวิชชา เขย่าความหลงให้หมดไป พอมีคนมาแนะนำพูดให้ได้คิดปัญญาก็เกิด นี่คือสัจธรรมความจริงที่เราต้องเรียนรู้และเปิดใจรับ ทำแต่ความดีไม่พอ ทำดีละชั่วหรือไม่ทำชั่ว สองข้อนี้ถือว่าเป็นความประเสริฐ แต่ว่ายังไม่พอต้องมีข้อที่สาม การฝึกจิต หรือที่ในโอวาทปาติโมกข์ที่สาธยายว่า การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ
แล้วเราจะเอาแต่ทำบุญใส่บาตร ถวายสังฆทาน หรือแม้แต่รักษาศีล แค่นี้ยังไม่พอ เพราะว่ายังไม่ใช่หลักประกันว่าจะไม่เจอทุกข์ เพราะว่าคนเราทำดีแค่ไหนยังหนีไม่พ้นความสูญเสีย คนที่สูญเสียไม่ใช่มีแต่คนชั่วคนเลว แต่คนดีคนประเสริฐก็สูญเสียเหมือนกัน แต่ถ้าเกิดว่าเรามีปัญญาเห็นความจริง พิจารณาถึงความจริงของชีวิตอยู่เนืองๆสม่ำเสมอ เตือนใจให้ตระหนักว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา เรามีความพลัดพรากสูญเสียเป็นธรรมดา เรามีความตายเป็นธรรมดา ถึงเวลาเจอความแก่ เจอความเจ็บ เจอความพลัดพรากสูญเสีย หรือแม้กระทั่งเจอความตาย ใจเราก็ไม่ทุกข์เพราะว่ายอมรับและตระหนักถึงความจริง
จริงๆ ถ้าเราพิจารณาให้ดี คนที่เรารักเขาไม่ได้ไปไหน เขาเพียงแต่แปรสภาพเปลี่ยนสภาพไปเท่านั้น ความตายคนคนหนึ่งเปรียบเหมือนกับก้อนน้ำแข็งที่อยู่ในแก้ว แก้วมีน้ำเต็ม มีก้อนน้ำแข็งลอยอยู่ก้อนหนึ่ง ในเวลาไม่นานก้อนน้ำแข็งจะหายไปจากแก้วนั้น ถามว่าก้อนน้ำแข็งไปไหน ไม่ได้หายไปไหนหรอกเพียงแต่ละลายเป็นน้ำอยู่ในแก้ว ก้อนน้ำแข็งไม่ได้หายไปไหนอยู่ในนั้นแหละ เพียงแต่เปลี่ยนสภาพจากของแข็งเป็นของเหลว ความตายเหมือนกันเป็นแค่การเปลี่ยนสภาพ
มีคนที่เล่าไว้น่าสนใจ มีลูกคลื่นอยู่ลูกหนึ่งกำลังชื่นชมมีความสุขกับอากาศยามเช้า แล้วกระแสลมที่พัดผ่านคลื่นน้อยๆ คลื่นนี้มีความสุข แต่สักพักมองไปข้างหน้าเห็นคลื่นลูกแล้วลูกเล่ากระแทกฝั่งแตกกระเซ็น คลื่นน้อยคลื่นนี้ตกใจคิดขึ้นมาว่านี่อีกไม่นานฉันต้องเป็นเหมือนคลื่นเหล่านั้นเหรอ คือกระแทกฝั่งแตกกระจาย ที่เคยดีใจก็เศร้าสลดขึ้นมาทันที คลื่นอีกลูกหนึ่งเห็นเลยถามว่าทำไมเธอถึงเศร้าสลดใจ คลื่นน้อยเลยบอกว่าเธอไม่เห็นเหรอว่าอีกไม่นานเราต้องกระแทกกับฝั่งแตกกระจายหายไป คลื่นที่ตามหลังมาพูดขึ้นมาว่าเธอไม่ใช่แค่ลูกคลื่นเธอยังเป็นส่วนของมหาสมุทรด้วย พอได้ฟังดังนี้คลื่นน้อยเริ่มความกลัวความวิตกหายไป นี้เป็นนิทานที่สอนเด็กและสอนผู้ใหญ่ได้ คลื่นไม่ได้หายไปไหน คลื่นที่กระแทกฝั่งแตกกระจายกลับคืนสู่มหาสมุทร
ชีวิตของคนเราหรือของสัตว์ตาม เหมือนกับลูกคลื่นลูกแล้วลูกเล่ามีเวลาที่จะสุขสำราญอยู่พักหนึ่งสุดท้ายต้องกระแทกกับฝั่งแตกหายไป เราเรียกว่านั่นคือความตาย แต่จริงๆเป็นแค่สมมติ เพราะจริงๆคลื่นไม่ได้ไปไหนคืนกลับสู่ท้องทะเลและรอเวลาจะมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดคลื่นใหม่ตามมา แล้วคนเราเมื่อหมดลมร่างกายไม่ได้หายไปไหนก็คืนสู่ธรรมชาติ ดินน้ำลมไฟคืนสู่ธรรมชาติ วันดีคืนดีกลับมาก่อเกิดเป็นชีวิตใหม่ เหมือนกับขยะที่เกิดจากเศษซากดอกไม้ ซึ่งเศษซากดอกไม้พอเหี่ยวเฉากลายเป็นขยะ รวมทั้งผลไม้ที่เน่ากลายเป็นขยะ เราทิ้งลงดิน อะไรเกิดขึ้นตามมา ไม่ช้าก็เร็วดอกไม้ต้นไม้เกิดขึ้น ต้นไม้เกิดขึ้นก็มีดอกไม้ตามมามีผลไม้เกิดขึ้นมาอีก เศษดอกไม้ซากดอกไม้ซากผลไม้ที่เราทิ้งลงดินไม่ได้ไปไหนกลับกลายมาเป็นต้นไม้ดอกไม้และผลไม้อันใหม่
เพราะฉะนั้นความตายเราไปเข้าใจว่าเป็นการดับการสูญ ซึ่งความจริงไม่ใช่ เป็นแค่การเปลี่ยนสภาพ เหมือนกับดักแด้ที่กลายเป็นผีเสื้อ เหมือนกับน้ำที่ระเหยหายกลายเป็นไอแล้วกลายเป็นเมฆ เราไม่เรียกว่าน้ำตาย น้ำเพียงแค่ระเหยเปลี่ยนสภาพกลายเป็นเมฆ แล้วเมฆพอมีน้ำสะสมมากขึ้นก็ตกลงมาเป็นฝน เมฆหายไปถามว่าเมฆตายรึเปล่า เมฆไม่ได้ตายแต่กลายสภาพเป็นฝนตกลงมาเป็นหยดเล็กหยดน้อย จะมีแค่การเปลี่ยนสภาพ เราไม่เรียกการเปลี่ยนสภาพว่าตาย แต่กับคนหรือสัตว์เรากลับเรียกว่าตาย แล้วเราติดอยู่กับคำคำนี้จนนึกว่าคือความดับสูญ แต่ที่จริงคือการเปลี่ยนสภาพ จากก้อนน้ำแข็งกลายเป็นน้ำ ก้อนน้ำแข็งคืนกลับเป็นน้ำในแก้ว คนเราถ้ามองอย่างนี้ไม่มีความตาย แล้วไม่มีผู้ตายด้วย
ถ้าเราปฏิบัติธรรมจนถึงกระทั่งถึงขั้นที่เห็นว่าไม่มีตัวกู ที่คิดว่ามีตัวกูนี่เป็นมายาภาพที่ปรุงขึ้นมาแล้วไปยึดว่าเป็นจริงเป็นจัง ในการไปยึดว่ามีตัวกูและของกูตามมา ทำให้เรากลัวความตาย เวลาเจอความตายขึ้นมาจะผวา จะรู้สึกว่ากูกำลังจะตายแล้วหรือ และก่อนที่จะตายจะมีกูเป็นผู้ป่วยผู้เจ็บ ก่อนที่จะมีกูผู้เจ็บ จะมีกูผู้สูญเสีย เป็นเพราะไปยึดตัวกูที่ปรุงขึ้นมาทำให้เกิดความทุกข์ เราทุกข์เพราะว่าของกูเสื่อมสลายหายไป ถ้าเป็นของมึงจะสูญเสียยังไงกูไม่สน คนจะตายกี่ร้อยกี่ล้านคนกูไม่ทุกข์ เพราะว่าคนที่ตายไม่ใช่เป็นเพื่อนไม่ได้เป็นอะไรกับกู แต่เพียงแค่ลูกของกูเพื่อนของกูป่วยยังไม่ทันตายเลย แค่ป่วยเรากินไม่ได้นอนไม่หลับแล้ว เพราะความไปยึดในตัวกูของกูนี่แหละ ถึงเวลาป่วยมีกูผู้ป่วยขึ้นมา ทั้งที่ถ้าเรามีปัญญาจะเห็นว่าแค่ความป่วยเกิดขึ้นกับกาย มีแต่ความป่วยไม่มีผู้ป่วย หรือมีแต่กายป่วยแต่ไม่มีผู้ป่วย แต่เป็นเพราะเรามองไม่เห็นความจริงตรงนี้ เราไปสมมติว่ามีกูเป็นเจ้าของร่างกายนี้ หรือมีกูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายนี้ เวลากายป่วยไม่เห็นตรงนี้ ไปเห็นว่าไปรู้สึกว่ากูป่วย เกิดความทุกข์ทรมาน
ยิ่งเวลาความตายเกิดขึ้นแทนที่จะเห็นว่า มีแต่ความตายแต่ไม่มีผู้ตาย กลับไปสำคัญมั่นหมายว่ากูกำลังจะตาย ถึงเวลาความตายมาถึงทุกข์ทรมาน เพราะรู้สึกว่ากูกำลังจะตาย ตัวกูไม่ยอม ไม่ยอมตายจะต่อสู้ขัดขืน แต่ถ้าเราเห็น มีปัญญาเห็นว่าจริงๆแล้ว ไม่มีตัวกูตั้งแต่แรก ทั้งเนื้อทั้งตัวมีกายกับใจ ไม่มีตัวกูซ้อนไม่มีตัวกูแทรกอยู่ในกายกับใจเลยแม้แต่น้อย ถ้ามีตัวกูเข้ามาแทรกหรือซ้อนอยู่กับกายกับใจน่าจะทุกข์ว่ากูกำลังจะตาย แต่ที่จริงไม่มี มีแต่กายกับใจ กายแตกดับไป จิตแตกดับไปเช่นเดียวกัน ไม่มีกูที่แตกดับ เพราะตัวกูไม่มีตั้งแต่แรก ถ้ามีปัญญาเห็นอย่างนี้ จะตระหนักว่ามีแต่ความตายไม่มีผู้ตาย และถ้าดูไปจริงๆความตายก็ไม่มี มีแค่การเปลี่ยนสภาพหมุนเวียนเปลี่ยนไปไม่จบไม่สิ้น และถ้าเห็นความจริงแบบนี้ก็ไม่มีความทุกข์ที่จะมาครอบงำจิตใจได้
การปฏิบัติของเราเพื่อที่จะได้มาเห็นความจริงอย่างนี้ นี่แหละคือภาวะนิพพาน คือความสงบเย็น ไม่ต้องมีเงินมีทองมากมาย ไม่ต้องมีอำนาจ แต่ว่าเป็นสุขอยู่ได้ กายเป็นทุกข์เพราะเป็นธรรมดาของสังขาร แต่ว่าจิตไม่ได้ทุกข์ด้วย แม้จิตต้องแตกต้องดับเมื่อไม่ได้คิดว่ากูเป็นของกู ความแตกดับของจิตก็เป็นสักแต่ว่าสภาพธรรมดา คนเราเกิดมาทั้งทีควรจะมีโอกาสได้เห็นความจริงแบบนี้บ้าง แม้จะประพิมพ์ประพาย หรืออย่างน้อยได้ยินได้ฟังแบบนี้บ้าง ไม่ใช่ได้ยินแต่คำอวยพรให้ร่ำรวย ให้รวย รวย รวย คำอวยพรให้มีอายุวรรณะสุขะพละ ทั้งๆที่ทั้งหมดนี้ไม่เที่ยงสักอย่างหนึ่ง อายุสุขะวรรณะพละต้องมีวันเสื่อมไป ในขณะที่ยังไม่เสื่อมยังมีอายุยืน ยังมีสุขภาพดี ยังมีกำลังวังชามีวรรณะ แต่อาจจะทุกข์ก็ได้ คนที่ฆ่าตัวตายจำนวนมากมีความรักของกู อายุของกู คนรักของกู วันหนึ่งสูญเสียแตกดับสลายหายไป จิตสลายเศร้าโศกเสียใจฟูมฟายคร่ำครวญ คนเราถ้ายังไม่เห็นความจริงตรงนี้ยังต้องเจอทุกข์แบบนี้ร่ำไปจนกว่าจะตาย ตายแล้วต้องไปเจอทุกข์อีกไม่รู้กี่ระลอก เพราะว่าต้องไปเกิดใหม่และไปเจอทุกข์อีก หยุดวงจรแห่งความทุกข์นั้นด้วยการที่ฝึกใจให้เห็นความจริง จนหมดความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง ไม่มีตัวกูของกู ที่จะมาล่อหลอกให้เป็นทุกข์ได้อีกต่อไป นี่คือภาวะนิพพาน ที่ได้พูดไปแล้วว่าควรจะเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิตเราทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ถือตัวเป็นชาวพุทธ