แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้เป็นวันสำคัญสำหรับชาวพุทธทั้งโลก เป็นวันที่มีความเกี่ยวข้องกับพระบรมศาสดาของเรา และทำให้เกิดมีพุทธศาสนาสืบทอดมาจนถึงเราทุกวันนี้ วันอาสาฬหบูชามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเหตุการณ์เมื่อสองเดือนก่อน นั่นคือวันวิสาขบูชา วันวิสาขบูชาเราคงทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ความสำคัญอยู่ตรงที่การตรัสรู้ของพระพุทธองค์ เพราะว่าการเกิดและการตายทุกคนต้องประสบทั้งนั้น พระพุทธองค์ก็เช่นเดียวกัน แต่ที่พระองค์แตกต่างจากบุคคลทั้งหลายในโลกนี้ก่อนหน้านั้นคือพระองค์ทรงตรัสรู้ ซึ่งเป็นเครื่องชี้ว่าการพ้นทุกข์เป็นไปได้ ก่อนหน้านั้นไม่เคยมีใครเคยประกาศว่าตนเองพ้นทุกข์ได้เลยแม้จะพยายามเพียงใดตาม การตรัสรู้ของพระพุทธองค์แสดงให้เราเห็นว่าเราพ้นทุกข์ได้
ส่วนวันอาสาฬหบูชามีความสำคัญตรงที่ว่า สาระของวันนี้คือย้ำเตือนให้เราตระหนักหรือเห็นชัดว่าการพ้นทุกข์นั้นจะทำได้อย่างไร แบบนี้สำคัญเพราะว่าเป็นการชี้ทางให้กับคนที่ตามหลังพระองค์ว่าไม่ใช่พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่พ้นทุกข์ได้ คนอื่นๆ สามารถจะทำได้เช่นเดียวกัน ถ้าหากว่าปฏิบัติตามแนวทางที่พระองค์ได้ทรงเทศนาหรือว่าแจกแจงแนวปฏิบัตินั้น คือทางสายกลาง หรือเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ถ้าพระองค์ตรัสรู้แล้วและจบเพียงเท่านั้น คนที่พ้นทุกข์ได้คงมีแต่พระพุทธองค์ แต่ว่าการที่พระองค์ได้นำเอาธรรมะที่พระองค์ทรงค้นพบนำมาแจกแจงให้เข้าใจง่าย ทำให้คนอื่นสามารถจะเดินตามพระองค์ เข้าถึงความพ้นทุกข์ได้เหมือนกัน แบบนี้เป็นสิ่งสำคัญ
คนที่เห็นทางพ้นทุกข์คนแรกคือพระอัญญาโกณฑัญญะ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์ และต่อมาปัญจวัคคีย์ทั้งห้าไม่เพียงแต่จะบรรลุโสดาบันหรือดวงตาเห็นธรรม แต่ว่าสามารถที่จะเข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง คือเป็นพระอรหันต์ ทำให้มีพระรัตนตรัยครบสามประการ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ก่อนหน้านี้มีแต่พระพุทธและพระธรรม พระธรรมเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงค้นพบแต่ว่ายังไม่แสดงออกมา พูดแบบภาษาชาวบ้านคืออยู่ในหัวพระองค์ แต่ว่าพอพระองค์ได้พบปัญจวัคคีย์ พระองค์นำเอาธรรมะที่พระองค์ทรงค้นพบนำมาแจกแจงนำมาแสดงอย่างเป็นระบบ ถ้าเราอ่านติดตามฟังใคร่ครวญไปขณะที่สวดสาธยายธัมมจักกัปปวัตตนสูตรจะพบว่า พระองค์ทรงแจกแจงได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนเป็นระบบมาก เท่ากับว่าทำให้ธรรมะได้ปรากฏแสดงเป็นครั้งแรกในโลก และผลตามมาคือทำให้เกิดมีผู้คนเข้าถึงพระธรรมนั้นจนพ้นทุกข์เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ กลุ่มแรกท่านเหล่านี้เรียกว่าเป็นสงฆ์
สงฆ์คือกลุ่มบุคคล ถ้าเป็นแค่บุคคลเดียวเราเรียกว่าภิกษุ แต่ถ้าภิกษุหลายคนหลายท่านเราเรียกว่าเป็นสงฆ์ อาสาฬหบูชาเป็นเหตุการณ์ที่ระลึกถึงการที่มีพระรัตนตรัยครบทั้งสามประการ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่มาที่ทำให้ชาวพุทธเรามีการจัดงานเรียกว่าอาสาฬหบูชา เพื่อระลึกนึกถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ พวกเราคงทราบดีแล้วว่าปัญจวัคคีย์ย์ทั้งห้าท่านเคยติดตามพระพุทธเจ้าตั้งแต่สมัยที่เจ้าชายสิทธัตถะออกบวช ท่านเหล่านี้เชื่อว่าเจ้าชายสิทธัตถะวันหนึ่งต้องเป็นพระพุทธเจ้า ตามพระองค์ออกบวช แต่สุดท้ายก็ละทิ้งพระองค์ไปเมื่อเห็นพระองค์เลิกบําเพ็ญทุกรกิริยา ปัญจวัคคีย์มาหลบลี้มาอยู่ป่าอิสิปมฤคทายวัน
พระพุทธองค์เมื่อทรงตรัสรู้ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ซึ่งเป็นที่ตั้งของพุทธคยาทุกวันนี้ พระองค์มีพระทัยเมตตานึกถึงปัญจวัคคีย์เป็นกลุ่มแรก ที่จริงนึกถึงคนอื่นก่อน นึกถึงอาจารย์ของท่าน อาฬารดาบสและอุทกดาบส แต่ได้ทราบด้วยญาณว่าทั้งสองท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว เลยนึกถึงปัญจวัคคีย์ซึ่งเคยตามเสด็จ ปฏิบัติร่วมกับพระองค์ พระองค์เดินด้วยเท้า พระพุทธเจ้าเสด็จพระดำเนินด้วยเท้ามาตลอดพระชนม์ชีพตั้งแต่ออกบวช แม้ว่าจะมีพระราชาผู้กระทำให้มากมายไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าพิมพิสารหรือพระเจ้าปเสนทิโกศลพระเจ้าอุเทน แต่ว่าพระองค์ไม่เคยจะสัญจรด้วยวิธีอื่นเลยนอกจากการเดินเท้า เรียกว่าธรรมยาตรามาตั้งแต่แรก จากพุทธคยามาสารนาถไกล ใครที่ไปสังเวชนียสถานที่อินเดียจะทราบว่าระยะทางไกลทีเดียว เป็นร้อยๆ กิโล พระองค์เสด็จเดินพระดำเนินมาสองเดือน แล้วมาพบกับปัญจวัคคีย์ แล้วแสดงธรรม
พวกเราถ้าสังเกต ปฐมเทศนากับปัจฉิมโอวาท แบบหนึ่งเป็นเทศนาครั้งแรก อีกแบบหนึ่งเป็นโอวาทครั้งสุดท้าย มีความแตกต่างกันมากทีเดียว ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรยาวมากเลยที่เราสวดกันผ่านมาเกือบครึ่งชั่วโมงซึ่งย่อแล้ว เพราะเอาตอนท้ายตัดไป ขณะที่ปัจฉิมโอวาทแค่สองบรรทัด แค่สองประโยคเท่านั้น “วะยะธัมมา สังขารา” สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา “อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ” ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด หรือท่านทั้งหลายจงทำประโยชน์ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท แค่นี้แหละปัจฉิมโอวาท สั้นมาก แต่ว่าปฐมเทศนานี้ยาวมากและเนื้อหาลึกซึ้งด้วย
ขณะที่เราสาธยายใคร่ครวญ บางคนงงหมายความว่าอย่างไร ไม่เหมือนกับปัจฉิมโอวาทเข้าใจง่าย ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าพระองค์ตั้งใจที่จะอธิบายเพื่อที่จะเปลี่ยนทิฐิของปัญจวัคคีย์ เพราะปัญจวัคคีย์ยังมีทิฐิที่เป็นมิจฉาอยู่ คือยังเชื่อในการทรมานตน ปัญจวัคคีย์เป็นผู้ที่เรียกว่ามีความฉลาด แต่ว่าเป็นความฉลาดที่ผิดทาง ทำให้เกิดมิจฉาทิฐิขึ้นมา มีความเชื่อในเรื่องการทรมานตน พระพุทธเจ้าเพื่อที่จะเปลี่ยนทิฐิของปัญจวัคคีย์จึงต้องอธิบายอย่างละเอียด อย่างเป็นระบบ เพื่อที่จะได้เปลี่ยนความเห็น
ในขณะที่ปัจฉิมโอวาท พระองค์ตรัสกับพระสาวกซึ่งเรียกว่าคุ้นเคยคำสั่งสอนของพระองค์อยู่แล้ว หลายคนคุ้นเคยก่อนบวช เรียกว่ามีสัมมาทิฐิในระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นไม่ต้องอธิบายมาก เพียงแต่ว่าให้เร่งทำความเพียรด้วยการเตือนให้ไม่ประมาท เพราะว่าอนาคตหรือว่าชีวิตนั้นไม่แน่นอน พวกเราถึงแม้ว่าจะเป็นชาวพุทธ และถึงแม้ว่าปัจฉิมโอวาทนี้จะมีความสำคัญที่เตือนใจเราได้ดี แต่ว่าเราควรจะสดับฟังและใคร่ครวญปฐมเทศนาด้วย เพราะอย่าไปคิดว่าเรามีสัมมาทิฐิแล้ว มาเป็นชาวพุทธแล้วไม่ใช่ว่ามีสัมมาทิฐิเสมอไป อาจจะมีความหลงผิดยิ่งกว่าปัญจวัคคีย์ก็ได้
ทีนี้สิ่งที่พระองค์อธิบายให้ปัญจวัคคีย์ได้ทราบคือให้เห็นว่า การทรมานตนนั้นไม่ต่างจากการหมกมุ่นในกามที่ปัญจวัคคีย์ละทิ้งมา ปัญจวัคคีย์ละทิ้งสิ่งที่เรียกว่ากามสุขัลลิกานุโยค เช่นเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ กามสุขัลลิกานุโยคเรียกง่ายๆว่า การปรนเปรอตนด้วยกามหรือหมกมุ่นในกาม สิ่งที่พระพุทธเจ้าอธิบายคือว่า การทรมานตนที่ปัญจวัคคีย์ชื่นชอบ ที่จริงแล้วก็พอๆกับการปรนเปรอตนด้วยกามเช่นเดียวกับที่ปัญจวัคคีย์ได้ละทิ้งมา พอๆกันหมายความว่าเป็นทางสุดโต่งทั้งสองทาง คือเรียกว่าเนื้อหาต้นๆเลยที่พระองค์ได้ตรัสกับปัญจวัคคีย์เพื่อจะล้างทิฐิ ให้เห็นว่าการทรมานตนไม่ได้ประเสริฐอะไรเลย และไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์การทรมานตนเท่านั้น แต่ว่าเสนอทางออกที่ดีกว่า คือทางสายกลาง
พระองค์ได้ชี้ว่าการทรมานตนก็ดี หรือว่าการปรนเปรอตนด้วยกาม หรือเรียกสั้นๆว่าการปรนเปรอตนไม่ใช่ทางพ้นทุกข์เพราะอะไร เพราะว่าไม่ได้เป็นไปเพื่อทำให้เกิดญาณ เกิดจักษุ ไม่ได้เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง ไม่ได้เป็นไปเพื่อความรู้พร้อม แม้แต่ความสงบก็ยังไม่ทำให้เกิดขึ้น แล้วจะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้อย่างไร ทางพ้นทุกข์จะเกิดขึ้นได้ต้องเป็นทางให้เกิดความสงบ อย่างแรกเลยคือการทำให้ใจสงบ และทางที่สองคือทำให้ใจสว่าง คือเกิดปัญญา เกิดจักษุ เป็นความรู้ยิ่ง เป็นความรู้พร้อม การกระทำอะไรก็ตามหรือแนวทางใดก็ตามที่ไม่ทำให้เกิดความสงบความสว่างไม่มีทางที่จะทำให้พ้นทุกข์ได้
ถ้าเราเอาสองประเด็นนี้ ความสงบและความสว่าง มาพิจารณาดู การปรนเปรอตนด้วยกามหรือการหมกมุ่นในกาม จะเห็นว่าไม่ทำให้สงบและไม่ทำให้สว่างด้วย ทุกวันนี้เราเห็นคนจำนวนมากเขาหมกมุ่นอยู่ในกาม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เสพด้วยตา เสพด้วยหู เสพด้วยจมูก เสพด้วยปาก เสพด้วยกาย กามหมายถึง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่น่าพอใจ ไม่ได้หมายถึงเรื่องเพศอย่างเดียว เรื่องเพศเป็นเรื่องสัมผัสทางกายส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้น แต่ว่าแม้จะไม่ข้องเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ แต่ว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับกามด้วยการเสพทางตา ทางตาในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพโป๊อะไรก็ได้ อาจจะหมายถึงภาพสวยงามที่เห็นแล้วทำให้ชื่นใจ เช่นหนังภาพยนตร์ หรือว่าเสียงที่สัมผัสรับรู้หรือเสพด้วยหู เช่น เสียงเพลง กลิ่นหอม รสอร่อยที่เสพทางปากเหล่านี้ แม้แต่เด็กเล็กๆ ก็เกี่ยวข้องกับกาม เติบโตมากับกาม ไม่ใช่เกิดมาจากกามเท่านั้นแต่ยังเติบโตมากับกาม เด็กๆเห็นขนมเอร็ดอร่อยอยากกิน ได้มาแล้วดีใจ ได้เสพแล้ว ได้กินแล้ว อยากกินอีก แบบนี้เรียกว่ากามเหมือนกัน
การหมกมุ่นอยู่ในกามหรือการปรนเปรอตนด้วยกามไม่ทำให้ใจสงบ เพราะว่าได้เท่าไรก็ไม่พอ ทั้งที่ท้องคนเรามีขีดจำกัดคนเรากินได้แค่ระดับหนึ่งอิ่มแล้ว แต่ยังอุตส่าห์กักตุน กินได้เท่านี้อิ่มแล้วแต่ขอกักตุน กักตุนในรูปของข้าวของ หรือกักตุนในรูปของเงินทองได้ ได้เท่าไรยังไม่พอ สังเกตดูไม่ใช่เฉพาะได้เงิน คนที่ได้เงินเป็นแสนยังไม่พอใจอยากได้ล้าน คิดว่าได้ล้านแล้วจะมีความสุข พอได้ล้านแล้วยังไม่มีความสุขเพราะอยากได้อีก ไม่เคยมีความรู้จักพอเสียที มีแต่อยากจะได้มากขึ้นๆ แม้กระทั่งคนที่มีเงินหมื่นล้านแสนล้านยังไม่หยุดหาเงินเลย แบบนี้เราเห็นได้ทั่วไป
เมื่อยังดิ้นรนแสวงหาอย่างนี้จะเรียกว่าสงบได้อย่างไร และที่สำคัญคือว่าพอได้มาแล้วเกิดความหลงเกิดความเพลิดเพลิน พอเกิดความเพลิดเพลินสมมติว่าติดอกติดใจ แต่เงินไม่พอยังอยากได้อีก อยากได้รถอีก อยากได้เงินทองอีก อยากได้บ้านอีก หรือว่าอยากจะได้เสพมากอีก แต่ว่าเงินไม่พอทำอย่างหร ทำให้คิดหาวิธีในทางที่ไม่สุจริต ไปขโมย หรือไม่ก็ไปเอาเปรียบ ไปกดขี่ ไปขูดรีดเขา เกิดเป็นบาปเป็นกรรม นำความเดือดเนื้อร้อนใจมาให้ เพราะว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องผิดกฎหมาย ต้องคอยหลบคอยเลี่ยงคอยหนี ได้เงินมาเท่าไรผิดกฎหมายต้องหาทางไปซุกไปซ่อนไว้ มีความทุกข์มาก เดี๋ยวนี้ไปซุกซ่อนในต่างประเทศ เสียเวลาไปกับเรื่องการหาเงินการซุกซ่อนเงิน แทนที่จะใช้เวลานั้นในการทำใจให้สงบ แต่จิตใจไม่สงบ
อย่างนี้ไม่ว่าจะเป็นการเสพทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ถ้าหากว่าหมกมุ่นแล้วจะกลายเป็นเสพติด พอเสพติดแล้วทำให้ต้องเสพเรื่อยๆ ตัวอย่างที่ชัดคือพวกติดยา เสพยาทีแรกมีเงินซื้อ แต่พอเสพมาก เสพบ่อยๆ เงินหมด เพราะระหว่างที่เสพไม่อยากไปทำมาหากิน มีแต่รายจ่าย ไม่มีรายได้ จ่ายไปๆ หมด บางทีเงินไม่ได้มากอะไร แม่ให้พ่อให้เพราะเป็นนักเรียน พอหมดแล้วแต่ยังเพลิน ยังหมกมุ่นอยู่กับสิ่งนั้น ต้องไปปล้นหรือไม่ก็ไปขายยาผิดกฎหมาย แบบนี้จะเกิดความสงบได้อย่างไร เกิดความสุขได้อย่างไร
อย่าไปคิดว่าฉันไม่ได้เสพยา เหล้าไม่ได้เสพ จะเอามาเปรียบมาเทียบกับฉันไม่ได้ แต่ถึงแม้ว่าเราจะปรนเปรอตนด้วยกามชนิดไหนก็ตาม สุดท้ายติด พอติดแล้วต้องหามาให้มาก และที่คนติดมากคือติดเงิน หมายถึงเสพติดเงิน เงินเป็นสิ่งเสพติดอย่างหนึ่ง อย่าไปคิดว่ามีแต่เหล้า มีแต่ยาบ้าที่เสพติด เดี๋ยวนี้คนเสพติดเงินมาก เพราะว่าเสพติดในกาม พอเสพติดในกามต้องหาเงิน พอเสพติดเงินต้องไปดิ้นรนหามา ถ้าใช้วิธีการที่สุจริตได้มาน้อย ต้องหาทางโกงคอร์รัปชั่นเพื่อจะได้มามาก และอย่างที่ว่าได้เท่าไรก็ยังไม่พอ ลองพิจารณาดู เมื่อคนเราปรนเปรอตนด้วยกาม สบายกายจริงแต่ว่าใจไม่สงบ เพราะความอยากที่อยากได้มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วถึงเวลาที่ไปทำผิดทำชั่วแล้ว ยิ่งมีความเดือดเนื้อร้อนใจตามมา แล้วเอาเข้าจริงๆ ไม่ใช่ว่าจะสบายกาย เพราะว่าคนที่กินมาก คนที่ชอบกิน ชอบเสพทางปาก พวกนี้พอเสพไม่รู้จักยับยั้ง ไม่รู้จักประมาณเป็นอย่างไร โรคถามหา โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ไม่มีความสุขทั้งกายและใจกับความปรนเปรอตนด้วยกาม
ส่วนการทรมานตนก็เหมือนกัน การทรมานตนทำด้วยการทำร้ายตัวเอง หาความสงบในจิตใจได้ยาก แต่บางคนอดอาหารจนร่างกายผ่ายผอม บางคนยืนขาเดียว บางคนเอาหัวซุกเข้าไปในดิน หายใจทีละนิดทีละหน่อย บางคนนอนอยู่บนตะปู เตียงที่เป็นตะปู ความสุขกายไม่มีอยู่แล้ว ความสุขใจไม่มี มีแต่ความกล้ำกลืนฝืนทนซึ่งจะทำให้เกิดโทสะ และบางทีทำให้เกิดความหลงตัวลืมตนว่าฉันเป็นคนวิเศษ ฉันเป็นคนที่เก่งกว่าคนอื่น เพราะฉันสามารถทรมานตนได้มากกว่าคนอื่น กิเลสแบบนี้ไม่ทำให้มีความสุข ไม่ทำให้เกิดความสงบ ไม่ต้องพูดถึงการมีปัญญา
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าชี้ว่า สองทางนี้ไม่ใช่ทางหลุดพ้นเพราะไม่ได้เป็นไปเพื่อความสงบ ไม่ได้เป็นไปเพื่อความสว่าง ไม่ได้เป็นไปเพื่อการเกิดจักษุ การเกิดญาณ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม แต่อะไรล่ะ ทางไหนล่ะ ที่จะทำให้เกิดทั้งความสงบและความสว่างได้ อริยมรรคมีองค์แปดนี่แหละ เริ่มตั้งแต่สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สิ่งนี้เป็นตัวนำ ตามมาด้วยสัมมากัมมันตะ สัมมาวาจา สัมมาอาชีวะ เป็นตัวกำกับไม่ให้การปรนเปรอตนของเราไปสร้างปัญหา สำหรับคนธรรมดายังอดไม่ได้ที่จะหลงใหลในกาม แต่ว่าถ้ามีสัมมากัมมันตะคือศีลนั่นแหละ มีสัมมาวาจา มีสัมมาอาชีวะ ยังคอยกำกับให้เราไม่ตกเป็นทาสของกาม หรือว่าไม่ถูกให้กามชักนำให้เราทำชั่ว แต่จิตใจอาจจะยังไม่สงบ เพราะว่ายังรู้สึกว่าเรายังได้น้อยไป เรายังรวยน้อยไป เรายังมีบ้านหลังเล็ก หรือว่าเราไม่มีรถเหมือนคนอื่นเขา แต่ถ้าเกิดว่าคนเรามีการฝึกฝนทางจิตใจ เช่น สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ช่วยทำให้เรามีความสุข มีวัตถุน้อยแต่มีความสุขใจ
ตัวสัมมาสติ สัมมาสมาธิ อานิสงส์พื้นฐานคือทำให้เกิดความสุข ความสงบเย็นในจิตใจ แล้วคนเราพอมีความสุขในจิตใจแล้วจะเป็นทาสวัตถุสิ่งเสพน้อยลง ใครจะรวยกว่า ใครจะมีเงินเดือนมากกว่า ใครจะมีบ้านหลังใหญ่กว่า ฉันไม่อิจฉาเขา เพราะว่าฉันมีความสุขข้างใน ตราบใดที่เราอิจฉาเพื่อนว่าเขามีเงินเดือนมากกว่าเรา เขามีตำแหน่งสูงกว่าเรา จบมาพร้อมกันแต่เขาเป็น CEO บริษัทใหญ่ ฉันยังเป็นเสมียนหรือว่าเป็นข้าราชการ คนที่คิดแบบนี้ได้เพราะว่าเขายังหาความสุขทางใจไม่เจอ เขาหวังความสุขจากวัตถุ พอเห็นคนอื่นที่รวยกว่า เห็นเพื่อนรวยกว่า เห็นเพื่อนมีเงินมากกว่าเลยอิจฉาเขา เพราะคิดว่าเขามีความสุขกว่าเรา ที่จริงเขาอาจจะมีความทุกข์ได้ เขาอาจจะมีความเดือดเนื้อร้อนใจได้ แต่ถ้าเรามีความสุขในจิตใจ ได้รู้จักกับความสงบเย็น ไม่มีความอิจฉาใครเลย ไม่อิจฉาคนที่เขารวยกว่า เขามีฐานะมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนจบมาด้วยกัน เมื่อไรก็ตามที่เราอิจฉาคนอื่นที่เขารวยกว่า เขามีเงินมากกว่า นั่นแสดงว่าเรายังไม่รู้จักความสงบในจิตใจ และที่เราไม่รู้จักเพราะว่าเรายังฝึกจิตไม่เพียงพอ สัมมาสติเราอาจจะไม่รู้จัก สัมมาสมาธิยิ่งแล้วใหญ่ เพราะฉะนั้นถ้ามีสัมมาสติ สัมมาสมาธิ จะช่วยทำให้เราไม่หวั่นไหวในกาม ยังใช้ ยังกินอาหาร ยังต้องการที่พักที่อยู่อาศัย คือปัจจัยสี่ แต่ว่าไม่ได้เป็นทาสสิ่งของ เพราะถ้าเราฝึกจิตไว้ดี เราจะเป็นอิสระจากวัตถุสิ่งเสพหรือกามได้มากขึ้นเรื่อยๆ อิสระในที่นี้ไม่ได้แปลว่าไม่เกี่ยวข้อง ยังเกี่ยวอยู่แต่เกี่ยวแบบผู้เป็นนาย คนเข้าใจว่าอิสระคือไม่เกี่ยวข้อง ในภาษาบาลีอิสระแปลว่าเป็นใหญ่ การเป็นอิสระจากวัตถุ ไม่ได้แปลว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัตถุ
พระพุทธเจ้าพระองค์อิสระจากกาม แต่พระองค์ยังเกี่ยวข้องกับกาม กามในที่นี้เช่นว่า อาหารที่ประณีต หรือจีวรเนื้อดีที่มีคนมาถวาย ยิ่งพระสีวลียิ่งได้รับการถวายสิ่งเหล่านี้มาก แต่พระองค์ใช้แบบผู้เป็นนาย บางคนไปเข้าใจว่าอิสระคือไม่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นเราจะเห็นลัทธิบางลัทธิเขาไม่ใส่เสื้อ เขาไม่มีทรัพย์สมบัติอะไร เพื่อการประกาศตัวหรือแสดงตนว่าเขาเป็นอิสระแล้ว เขาปล่อยวางแล้ว เพราะฉะนั้นเขาไม่ใส่เสื้อ ไม่ใส่กางเกง คือพวกลัทธิเชน โดยเฉพาะนิกายทิคัมพร นุ่งลมห่มฟ้า เขาต้องการประกาศว่าเขาเป็นอิสระ ซึ่งพวกนี้อาจจะมองว่า ทำไมพระบรมศาสดาหรือว่าพระอรหันต์ทำไมยังนุ่งห่มจีวร ทำไมยังมีกุฏิ ทำไมยังมีบริขาร แปลว่าไม่อิสระจริง แบบนี้เพราะเขามองอิสระไม่เหมือนกับมองอิสระในความหมายที่ไม่เกี่ยวข้อง แต่อิสระในความหมายของพุทธศาสนา แปลว่า เกี่ยวข้องได้ แต่เกี่ยวข้องแบบผู้เป็นนาย ไม่ได้เป็นทาส แบบนี้สำคัญมาก เป็นความอิสระที่ใจ
คนเราในปัจจุบันอาจจำเป็นต้องใช้เงิน แต่ว่าถ้าเราใช้อย่างผู้เป็นนาย แบบนี้ไม่เกิดโทษ แต่ถ้าหากว่าเงินกลายเป็นนายเราเมื่อไร อย่างนี้กลายเป็นปัญหาแล้ว และคนส่วนใหญ่ยังปล่อยให้เงินมาเป็นนายเรา ปล่อยให้วัตถุสิ่งเสพมาเป็นนายเรา เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าเราไม่ใช่เป็นพวกกามสุขัลลิกานุโยคอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แต่ว่าเราอาจจะยังคงปรนเปรอตนด้วยกามอยู่ เพราะว่าเราตกเป็นทาสของกาม ที่จริงกามสุขัลลิกานุโยคในความหมายที่ละเอียดกว่านั้นคือการเพลินในความสุข โดยเฉพาะความสุขทางกายหรือความสุขจากการเสพ เราอาจจะไม่ถึงขั้นปรนเปรอตนด้วยกามอย่างในสมัยพุทธกาล ซึ่งมีการปรนเปรอหลายอย่าง โดยเฉพาะปรนเปรอตนด้วยเพศสัมพันธ์อย่างที่เราเห็นในกามสูตร หรือว่าในภาพสลักอย่างเช่น ขชุราโห ที่ประเทศอินเดีย ที่มีการเสพกามในลักษณะต่างๆ มากมาย แบบนี้เป็นกามสุขัลลิกานุโยคในแบบสูงสุด หรือว่าถึงแม้ไม่ถึงขั้นนั้น แต่เรียกว่าเอาแต่เที่ยว เอาแต่เสพ ซึ่งมีอยู่ในปัจจุบัน
ชาวพุทธจำนวนมากถึงแม้จะบอกว่าฉันไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่อาจจะยังคงจัดอยู่ในประเภทปรนเปรอตนด้วยกามก็ได้ หรือว่าจัดอยู่ในประเภทกามสุขัลลิกานุโยคก็ได้ ในความหมายที่ละเอียดคือว่าเพลินในความสุข คนเราถ้ายังเพลินในความสุขยังเรียกว่าอยู่ในทางสุดโต่ง เพลินในความสุข ได้กินอาหารที่อร่อย ได้ดูหนัง ฟังเพลงเพลิน อย่างนี้จัดว่าเป็นพวกปรนเปรอตนด้วยกามเหมือนกัน ซึ่งทำให้ยังหนีความทุกข์ไปไม่พ้น เพราะว่าพอเพลินแล้วติด พอติดแล้วอยากได้ อยากมีมากๆ ได้เท่าไหร่ไม่พอ นี่ทุกข์เหมือนกัน ไม่มีความสงบ และประการต่อมาคือพอสุขนั้นเจอจางไป อาหารที่เคยกินอร่อยมากๆ ถ้าเกิดว่าอร่อยน้อยหน่อย ไม่สุขแล้ว ทั้งที่ยังอร่อยอยู่แต่ว่าไม่อร่อยเท่าที่เคยเสพ ไม่ต้องพูดถึงว่าถ้าเกิดหายไปจากที่เคยอร่อยกลายเป็นว่าไม่อร่อย ยิ่งทุกข์ไปใหญ่ แต่แม้จะอร่อยน้อยทุกข์แล้วเพราะว่าเราติดในความอร่อย
คนที่ชอบดูหนัง สมัยนี้ถ้าไปดูหนังเมื่อสี่สิบปีที่แล้วนี่ดูแล้วง่วงและบอกว่าไม่สนุก เพราะว่าไปติดกับหนังแอคชั่น หนังที่ตัดฉากเร็ว หนังที่มีซีจีไอ มีการเรียกว่าตัดแต่งต่อเติม คือหนังสมัยนี้สนุกกว่าหนังสมัยก่อน แต่หนังสมัยก่อนยังสนุกแต่คนสมัยนี้พอไปติดหนังสมัยนี้แล้ว พอไปดูหนังสี่สิบปีที่แล้วไม่สนุกแล้ว ดูครึ่งเรื่องเลิกแล้ว หรือไม่ก็หลับ เป็นทุกข์อีกแบบหนึ่ง แบบนี้เป็นการเปรียบเทียบว่า คนเราพอเพลินในความสุขแล้ว หนึ่ง ทุกข์เพราะว่าติดแล้วอยากเสพ อยากมีมากๆ ได้เท่าไรไม่พอ สอง เมื่อสุขนั้นแปรปรวนไป ลดระดับลงแล้วทุกข์ แม้ยังไม่หายไปก็ยังทุกข์เลย ยิ่งถ้าหายไป เช่น เงินหาย โทรศัพท์หาย รถหาย เคยเพลินเคยมีความสุขกับรถยนต์ กับโทรศัพท์ เดี๋ยวนี้เป็นมาก ติดสุข เพราะว่าติดสุขที่ได้จากโทรศัพท์ พอโทรศัพท์หาย หรือว่าปากกาหายไป ทุกข์เลย บางคนกินไม่ได้นอนไม่หลับ ทั้งที่เป็นธรรมดา
เพราะฉะนั้นเพลินในความสุข ถึงแม้จะไม่ถึงขั้นหมกมุ่นในกามหรือปรนเปรอตนเองด้วยกามอย่างที่เราเคยเห็น แต่ตัวเราเองอาจจะอยู่ประเภทปรนเปรอตนด้วยกามที่ละเอียดลงไปก็ได้และจะไม่มีความสุข ตรงข้ามกับเพลินในความสุขคือจมอยู่ในความทุกข์ แบบนี้เป็นเราเหมือนกัน จมอยู่ในความทุกข์เป็นอัตตกิลมถานุโยค แต่ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เป็นการนอนบนตะปู หรือว่าอดอาหารหลายๆวัน หรือยืนขาเดียวเป็นเดือนเป็นปี แต่เราอาจจะอยู่ในฝ่ายอัตตกิลมถานุโยคได้ ถ้าหากว่าเราจมอยู่ในทุกข์ และคนส่วนใหญ่สวิงไปสวิงมา เหวี่ยงไปเหวี่ยงมา ระหว่างเพลินในสุขกับจมในทุกข์
สังเกตไหมว่าเวลาเราจมในทุกข์ เราไม่อยากออกจากทุกข์เลย เวลาเราโกรธใคร เราอยากจะโกรธ เราคิดแต่จะโกรธเขาไปเรื่อยๆ เวลาเราโกรธใคร เราจะคิดถึงความไม่ดีของเขา บางทีเขาทำให้เราไม่พอใจเรื่องเดียว แต่เราจะไปขุดคุ้ยความไม่ดีของเขาอีกสิบเรื่องในอดีต ทำไปทำไม เพราะว่าทำไปแล้วยิ่งโกรธมากขึ้น บางทีคนเราติดใจในทุกข์ เรียกว่าเสน่หาทุกข์ มีคนมาพูดกับเราว่า สมศรีเขานินทาเธอ ปฏิกิริยาของเราอย่างแรกคือ เขาพูดว่าอย่างไร จะถามว่าเขาพูดว่าอย่างไร อยากจะรู้ว่าเขานินทาเราอย่างไร พอเพื่อนเขาบอกว่าสมศรีเขานินทาเธออย่างนี้ เป็นอย่างไร โกรธ รู้อยู่แล้วว่าถ้าได้ยินเขาพูด เราจะโกรธ แต่ว่าเรายังอยากให้เขาพูดออกมาว่าสมศรีเขานินทาเราว่าอย่างไร คนเราเป็นอย่างนี้ เรียกว่าอยู่สบายไม่พอ ยังอยากจะรู้ยังอยากจะหาเรื่องให้ทุกข์ นี่เป็นอาการของการจมอยู่ในทุกข์ และพอไม่สบายพอไม่พอใจแล้วจะจมหมกมุ่นอยู่กับความไม่ดีของเขา อยู่กับแต่คำพูดของเขา เวลาโกรธไม่เคยคิดอยากจะออกจากความโกรธ ไม่เคยนึกถึงการให้อภัย มีคนมาแนะนำว่าให้อภัยเขาไปเถิด กลับโกรธเพื่อนที่แนะนำอย่างนี้ และถ้ามีลูก ลูกแนะนำอย่างนี้ก็โกรธลูก ทั้งๆที่สิ่งที่ลูกแนะนำ สิ่งที่เพื่อนแนะนำ เป็นทางที่จะช่วยทำให้เราออกจากทุกข์ คือออกจากความโกรธ แต่เราไม่ยอม เราอยากจะจมดิ่งอยู่ในความโกรธมากขึ้น
ความเศร้าเหมือนกัน เวลาเราเศร้าแทนที่เราจะหาทางออกจากความเศร้า เรากลับคิดถึงเรื่องที่ทำให้เราเศร้ามากขึ้น คิดถึงเรื่องที่เป็นการตอกย้ำความเคราะห์ร้ายของตัว เช่นเวลามีคนเขาทิ้งเราไป คนที่เราเคยรักทิ้งเราไป อกหักเสียใจแค่นั้นยังไม่พอ ยังไปขุดคุ้ยมาว่าหรือตอกย้ำซ้ำเติมตัวเองว่าเราเป็นคนที่ไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครรักเลย ไปคิดถึงเรื่องที่คนโน้นคนนี้เขาต่อว่าเรา เขาไม่แคร์ความรู้สึกของเรา พ่อแม่ไม่รักเรา เพื่อนไม่รักเรา จะไปหา ไปขุดคุ้ย หรือว่าไปปรุงแต่งเรื่องทำนองนี้เพื่อจะทำร้ายตัวเองให้มากขึ้นว่า ฉันเป็นคนที่ทั้งโลกไม่มีใครรักเลย ทั้งๆที่อาจเริ่มต้นแค่ว่ามีคนที่เราเคยรักเขาหันหลังให้เราแค่นั้น แต่เราจะไปขุดคุ้ยหรือไปหาเรื่องที่จะเป็นการซ้ำเติมตัวเองว่าคนทั้งโลกไม่รักเรา แบบนี้เรียกว่าเป็นการจมในทุกข์ และยิ่งปล่อยให้จิตถลำในความทุกข์มากขึ้น คนเวลาทำผิดทำพลาดแล้วเสียใจ แทนที่จะออกจากความเสียใจ จะวนคิดไปถึงเรื่องที่เสียใจซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกระทั่งกลายเป็นโรคซึมเศร้า คนเป็นโรคซึมเศร้าเพราะเป็นเพราะเขาทำร้ายตัวเองด้วย เขาคิดแต่เรื่องของเหตุที่ทำให้ตัวเองรู้สึกผิด หรือว่าเศร้าโศกเสียใจ ไม่ใช่แค่เรื่องเดียว หลายเรื่อง แบบนี้เรียกว่าเป็นพวกทรมานตนแบบหนึ่ง คือแทนที่จะออกจากทุกข์ แต่กลับซ้ำเติมตัวเองมากขึ้น
เพราะฉะนั้นพวกเราถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในลักษณะกามสุขัลลิกานุโยค หรืออัตตกิลมถานุโยคอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แต่ว่าเราเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาแบบนี้ ระหว่างเพลินในสุขกับจมในทุกข์ เพราะฉะนั้นการที่เราหมั่นใคร่ครวญสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องทางสายกลางช่วยได้มากเลย โดยเฉพาะการมีสติ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เพราะถ้าเรามีสติเราจะไม่เพลินในสุข เราจะเห็นสุขแต่ว่าเราจะไม่เพลินกับสิ่งนั้น เราจะเห็นความสุขแต่ไม่เป็นผู้สุข เวลามีความทุกข์เกิดขึ้น เราเห็นความทุกข์แต่ว่าไม่เป็นผู้ทุกข์ ไม่ปล่อยให้ความโศกความเศร้าความรู้สึกผิดมาครอบงำซ้ำเติมจิตใจเรา หลายคนรักษาศีลดีแล้ว ศีลห้ารักษาไว้ดี แต่ว่าไม่ค่อยรักษาใจเท่าไรเพราะว่าไม่ได้สนใจเรื่องการเจริญสติหรือการทำสมาธิภาวนา เพราะฉะนั้นจิตใจเลยเหวี่ยงไป เวลาเจอสุขยินดี เคลิบเคลิ้มหลงใหลจนลืมตัว เวลาเจอทุกข์จมดิ่งอยู่ในความทุกข์จนลืมตัวเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมื่อเรามาสาธยายธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแล้ว ขอให้ลองมาย้อนมามองตัวเราเองว่า เราทุกวันนี้แต่ละวันๆ เราปล่อยให้จิตใจเข้าไปในทางสุดโต่งสองทางมากน้อยแค่ไหนในวันหนึ่ง และพยายามที่จะทรงใจให้อยู่ในทางสายกลาง คือไม่เพลินในสุขและไม่จมในทุกข์ ด้วยการมีสัมมาสติเป็นเบื้องต้น