แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อคืนหลายคนตั้งหน้าตั้งตาคอยมองพระจันทร์ เพราะมีปรากฏการณ์ที่นานๆจะเกิดสักครั้ง พระจันทร์เต็มดวง และมีจันทรุปราคาแบบเต็มดวงด้วย แต่ไม่เห็นอะไรเพราะว่าเมฆหนามาก ฟ้าปิด ตรงข้ามกับตอนเช้ามืดก่อนทำวัตร ดวงจันทร์กลมโตเต็มดวงสว่างไสว แต่ว่าจันทรุปราคาผ่านไปแล้ว อาการความเปลี่ยนแปลงของดวงจันทร์จะว่าไปไม่ต่างจากอาการของใจเรา เมื่อคืนเราไม่ได้เห็นดวงจันทร์เลย จะว่าไปไม่ต่างจากในยามที่เราหลง ในยามที่ความหลงครองใจ ดวงจันทร์ที่จริงสว่างไสวตลอดทั้งคืน แต่ที่เราไม่เห็นเพราะเมฆบัง ใจเราก็เหมือนกัน พุทธเจ้าตรัสว่า “จิตนั้นประภัสสร แต่เศร้าหมองเพราะกิเลสมาเยือน” ในยามที่ความหลงมาครองใจ ดูมืดมน พอความหลงจางหายไป จะมองเห็นพระจันทร์สว่างไสว ใจที่มีความตื่นรู้ หรือกลับมารู้ จะโปร่ง โล่ง เบาสบาย
ฉะนั้นหน้าที่ของเราสำหรับนักปฏิบัติคือ ทำให้ความหลงจางหายไปจากจิตใจ เพื่อให้มีตัวรู้มาแทนที่ และเมื่อตัวรู้มาแทนที่ ใจเราจะสว่างไสว โปร่ง โล่ง เบาสบาย เมฆเลือนหายไปเพราะว่าลมพัดพาไป เราจะเห็นพระจันทร์เต็มดวงอีกครั้งหนึ่งไม่ช้าก็เร็ว ใจเราในยามที่ความหลงครองใจ สิ่งที่จะช่วยได้คือสติ หลงเมื่อไรมีสติรู้ทัน มันก็เลือนหายไป ไม่ว่าความหลงนั้นจะมาในรูปของความโกรธ ความเกลียด ความเศร้า ความวิตกกังวล หรือความรู้สึกผิด รวมทั้งความฟุ้งซ่านต่างๆ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เรียกว่า ทำให้เกิดความหลงขึ้นในจิตใจ
อย่างที่บอกไว้แล้วว่าจิตใจของเราสว่าง ประภัสสร แต่ว่าที่บางครั้งเรารู้สึกหม่นมัวหรือว่ามืดมนเพราะความหลงมาบดบัง เพราะความหลงหรือตัวหลงมักจะครองจิตครองใจเราอยู่ตลอดเวลา หรือเกือบตลอดเวลาก็ว่าได้ ไม่เหมือนกับเวลาหลับเวลาตื่น ร่างกายเราเวลาหลับก็หลับเป็นเวลา แล้วก็ตื่นเป็นเวลา และปกติแล้วเราหลับน้อยกว่าตอนตื่น เราหลับ 8 ชั่วโมง ตื่น 16 ชั่วโมง แบบนี้ร่างกาย ไม่อยากหลับแต่ก็หลับเมื่อถึงเวลา ไม่อยากตื่นแต่ก็ตื่นเมื่อถึงเวลา ตาสว่างพอถึงเวลา จะหลับอย่างไรก็หลับไม่ได้
แต่ใจหลงมากกว่ารู้ แม้ในยามที่เราตื่นแต่โดนความหลงครองใจ บางคนหลงทั้งวัน อยู่กับความฟุ้ง ปรุงแต่ง จมอยู่กับความเศร้า คือคนที่เป็นโรคซึมเศร้า เรียกว่าหลงแทบทั้งวัน จะมีช่วงที่รู้ตัวบ้างก็ไม่มาก จริงอยู่อาจจะทำอะไรๆได้ เช่น อาบน้ำ แปรงฟันได้ อาจจะกินข้าวได้ อาจจะพูดคุยกับคนได้ แต่ว่าหลงมากกว่า คนเราแม้หลงทำอะไรได้ เช่นขับรถ คนที่กำลังโกรธจัดขับรถตะบึงห้อไป หรือบางทีโดนคนปาดหน้าก็วิ่งไล่ล่าเขา มีคุณหมอท่านหนึ่งเล่าว่าขับรถกลับบ้าน พอถึงแถวสามย่านมีรถคันหนึ่งปาดหน้า คุณหมอโกรธมากไล่ตามไป กว่าจะรู้ตัวก็ถึงปากน้ำแล้ว ตอนนั้นยังสาวยังไฟแรง อย่างนี้เรียกว่าหลง หลงแต่ว่าขับรถได้แล้วปลอดภัยด้วย กว่าจะรู้ตัวว่าทำอะไรลงไปก็ไปถึงปากน้ำ แล้วสมัยก่อนสามย่านกับปากน้ำไกลกัน ถนนไม่ได้ดีเหมือนสมัยนี้ ตอนนั้นเป็นตอนกลางคืนก็เลยดูเหมือนว่าไม่รู้เนื้อรู้ตัวอะไร
เราหลงมากกว่ารู้ ในแต่ละวันๆ ทำอะไรถูกจริงแต่ว่าไม่ค่อยรู้เนื้อรู้ตัว แล้วอาจจะทำผิดทำถูก เวลาล้างจาน เวลากินข้าว เราทำได้แต่ทำด้วยความหลง เรามาปฏิบัติธรรมเพื่อจะทำให้ความหลงจางคลายไปมีตัวรู้มาแทนที่ แต่ว่าตัวหลงฉลาดพยายามที่จะมาครองจิตครองใจของเราตลอดเวลา ขนาดมาเจริญสติยกมือสร้างจังหวะเพื่อที่จะทำให้เกิดความรู้ตัว แต่ตัวหลงก็ฉวยโอกาสระหว่างที่ยกมือไประหว่างที่เดินจงกรมไปก็ทำด้วยความหลง ตั้งใจจะเดินจงกรมตั้งใจจะเจริญสติเพื่อจะให้เกิดความรู้ตัวแต่ได้ความหลง มันฉลาดมาก ขณะที่เรามาทำวัตรสวดมนต์เราต้องการทำให้จิตของเราตื่น อุตส่าห์ตื่นแต่เช้าเพื่อให้ใจตื่นไม่ใช่แต่ให้กายตื่นด้วยเท่านั้น ปรากฏว่าตัวหลงครองใจไปมากกว่าครึ่งของเวลาทำวัตรสวดมนต์ก็มี แต่ไม่เป็นไร อย่าท้อ
ดังนั้นการปฏิบัติถ้าเราปฏิบัติถูกตัวรู้จะเพิ่มขึ้นๆ และสามารถที่จะเห็นตัวหลงได้เร็วขึ้น เครื่องมือที่สำคัญคือสติ สติในที่นี้เป็นสติที่มากกว่าธรรมดา สติธรรมดาหมายถึงความระลึกได้ ระลึกได้ในเรื่องนอกตัว นึกได้จำได้ว่าวางรองเท้าไว้ที่ไหน ทำวัตรเสร็จเดินไปใส่รองเท้าถูก นี่เพราะสติ พอใส่รองเท้าเสร็จจำได้ว่ากุฏิหรือห้องพักเราอยู่ตรงไหนก็เดินไปถูก หรืออยากจะเข้าห้องน้ำจำได้ว่าห้องน้ำอยู่ตรงไหน ใกล้ๆกับหอไตรก็ไปถูก แบบนี้เราใช้สติแต่เป็นสติที่ธรรมดา เป็นความระลึกได้ในเรื่องนอกตัว
แต่ที่ไม่ธรรมดาคือระลึกได้ในเรื่องกายเรื่องใจ ในเรื่องตัวเอง กายทำอะไรก็รู้ ระลึกรู้ แม้ว่าขณะที่เดินจงกรมยกมือสร้างจังหวะจะมีบางช่วงลืม ลืมไปว่ากำลังทำอะไรอยู่ ตอนนั้นใจคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ คิดถึงบ้าน คิดถึงลูก คิดถึงแฟน คิดถึงงาน คิดถึงอาหารที่ถูกปาก ตอนนั้นทำอะไรไม่รู้แล้ว ลืมไปแล้ว แต่เป็นการลืมชั่วขณะ สักพักก็จำได้ว่าเรากำลังเดินจงกรม เรากำลังสร้างจังหวะ เรากำลังทำวัตรสวดมนต์อยู่ ความระลึกได้ที่ทำให้ใจกลับมารู้เนื้อรู้ตัว สติช่วยดึงให้จิตกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว รู้ว่ากายกำลังทำอะไร แบบนี้เรียกว่ารู้กาย
และที่ใจกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว จนกระทั่งรู้กายได้เพราะรู้ว่าเผลอคิดอะไรไป แบบนี้เขาเรียกว่ารู้ใจ รู้ว่ากำลังโกรธ รู้ว่ากำลังฟุ้ง เกิดขึ้นไล่ๆกับความระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ความระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่อันนี้คือสติระลึกรู้ หรือจำได้ในสิ่งที่เป็นปัจจุบัน กำลังทำอะไรอยู่แต่ใจหวนกลับไปนึกถึงอดีต หรือใจลอยไปยังอนาคต ภาพปรุงแต่งที่สร้างเอาไว้เกี่ยวกับอนาคต ซึ่งมักจะปรุงในทางลบทางร้ายทำให้เกิดความวิตกกังวล เกิดความยึดมั่นสำคัญหมายว่าถ้างานไม่ดี งานมากมายแบบนี้ฉันแย่แน่ๆ เกิดความหนักอกหนักใจ ตัวทำอะไรในปัจจุบันตอนนั้นใจหลงไม่รู้ว่าทำอะไรอยู่ ลืมไป มัวจมอยู่กับอดีตบ้างอนาคตบ้าง แต่พอมีสติพอระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ จิตกลับมาอยู่กับปัจจุบันเลย กลับมาอยู่กับปัจจุบันหมายถึงเวลาในปัจจุบันแล้วก็กิจที่ทำในปัจจุบัน
กิจที่เราทำในปัจจุบัน บางครั้งอาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอดีต เช่น การประเมินผลงานที่ผ่านมา การทบทวนชีวิตในรอบปีที่ผ่านมา สิ่งนี้เราจำเป็นจะต้องมองย้อนกลับไปยังอดีต ปีที่แล้วบ้าง สองปีที่แล้วบ้าง กิจที่ทำอย่างนั้นก็เป็นกิจปัจจุบัน เราเรียกว่าเป็นปัจจุบันได้ คือเรามองย้อนไปในอดีตด้วยสติ ด้วยปัญญา ไม่ใช่เผลอ ไม่ใช่ลืมตัว ถ้าเผลอถ้าลืมตัวนั้นจะมีความหงุดหงิด จะมีความกลัดกลุ้ม จะมีความเศร้าเสียใจ หรือบางทีคิดวกวนไปวกวนมา เดี๋ยวกระโดดไปอันนั้นเดี๋ยวกระโดดไปอันนี้ คิดเรื่องอดีตเดี๋ยวกระโดดไปเรื่องอนาคต อย่างนี้เรียกว่าทำด้วยความหลง แต่ถ้าเราทำอย่างมีสติจะคิดได้อย่างมีทิศมีทางไม่วกวน แม้สิ่งที่คิดเป็นเรื่องเกี่ยวกับอดีตก็ตาม ถ้าเราคิดหรือทบทวนด้วยสติก็ถือว่ากำลังอยู่กับปัจจุบัน หรือกำลังทำกิจในปัจจุบัน ในอีกทางหนึ่งถ้าเรากำลังวางแผนเกี่ยวกับอนาคต ถ้าเราวางแผนอย่างมีสติสิ่งนี้ก็เรียกว่าทำกิจปัจจุบันเหมือนกัน หรืออยู่กับปัจจุบัน ทำได้ มองย้อนไปข้างหลังหรือมองไปข้างหน้า ถ้าทำอย่างมีสติด้วยความรู้ตัวถือว่ากำลังอยู่กับปัจจุบัน หรือกำลังทำกิจปัจจุบันอยู่ แต่ส่วนใหญ่ไม่เป็นอย่างนั้น
อย่างที่เราสวดมนต์บทหนึ่งจะบอกว่า เมื่อใดบุคคลตามคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วด้วยอาลัย และพะวงถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง สิ่งที่พุทธเจ้าบอกคือว่า อย่าตามคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วด้วยอาลัย และไม่พะวงถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง สิ่งที่ล่วงไปแล้วถ้าเราจมอยู่ในความอาลัย อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสติ หรือนึกถึงอนาคตแล้วเราเกิดพะวง อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสติ อย่างนี้เรียกว่าหลง ไม่ใช่ว่านึกถึงอดีตไม่ได้ ไม่ใช่ว่านึกถึงอนาคตไม่ได้ ทำได้ แต่ทำด้วยสติและทำด้วยปัญญา สติอย่างที่บอกช่วยทำให้ใจเรากลับมาอยู่กับปัจจุบัน และทำกิจในปัจจุบัน หรือทำกิจที่ควรทำในปัจจุบันได้อย่างถูกต้อง สามารถจัดลำดับความสำคัญได้ว่าควรทำอะไรก่อนหลัง
มีคนเคยถามว่า ถ้าหากว่าเรากำลังอยากจะเที่ยว อยากจะสุขสนุกสนาน ความสุขสนุกสนานนั้นก็เป็นปัจจุบัน อยู่กับปัจจุบันก็ไม่น่าผิดไปอยู่กับความสุขสนุกสนานเพลิดเพลิน แบบนั้นต้องมาดูก่อนว่ากิจที่ควรทำในปัจจุบันนั่นมีอะไรบ้าง กิจที่ควรทำในปัจจุบันอาจจะได้แก่ การให้เวลากับลูก การมีเวลาพักผ่อน การศึกษาหาความรู้ หรือว่าการเจริญสติ การทำสมาธิภาวนา แต่ละอย่างๆก็สำคัญ แต่บางอย่างก็ไม่สำคัญ เช่น ความสนุกสนานเพลิดเพลินที่ทำกันมาหลายชั่วโมงแล้ว ถ้าทำให้กิจที่ควรทำในปัจจุบันหลายอย่างไม่ได้ทำ เช่น ไม่ได้หลับไม่ได้นอน ไม่มีเวลาให้กับครอบครัว คนรัก ลูก พ่อแม่ ไม่มีเวลาสำหรับการศึกษาหาความรู้ ไม่มีเวลาสำหรับการทำสมาธิภาวนา อย่างนั้นก็ไม่สมควร คนทำอะไรทำอย่างมีสติเขาจะรู้ว่าอะไรควรทำก่อนอะไรควรทำหลัง เรียกว่าจัดลำดับความสำคัญได้ พอไม่มีสติจึงไม่รู้ว่าอะไรสำคัญก่อนอะไรสำคัญหลัง สิ่งที่ไม่ควรทำหรือสิ่งที่ไม่สำคัญนักกลับทำก่อนเพราะว่าถูกใจถูกกิเลส แบบนี้เรียกว่าไม่มีสติ
สติที่เราฝึกคือ สติที่ช่วยทำให้เราได้รู้ทันความเป็นไปของใจ แล้วรู้ว่ากายกำลังทำอะไร เป็นเหมือนตาใน ตาข้างนอกหรือตาเนื้อทำให้เราเห็นข้างนอก แล้วรู้ว่าปลอดภัยไหม อันตรายไหม รอบตัวเราหรือเส้นทางข้างหน้า ตาในทำหน้าที่คล้ายๆกันคือทำให้รู้ว่าจิตใจเราปลอดภัยไหม มีอันตรายมาคุกคามจิตใจไหม สิ่งที่คุกคามจิตใจ พูดรวมๆคือความหลง ถ้าจำแนกออกไป เช่น ความโกรธ ความโลภ ความถือตัวบางทีเรียกว่าอีโก้ ความหลงตน ความเกลียด ความพยาบาท ความอิจฉา พวกนี้ล้วนแต่เป็นอันตรายต่อจิตใจ บางทีเผาลนใจบ้าง บีบคั้นใจบ้าง ทิ่มแทงใจบ้าง บางทีก็กดทับใจทำให้รู้สึกหนักบ้าง เราปล่อยให้ครองใจมามากแล้ว เพราะหลง เพราะไม่รู้ตัว แต่เราจะรู้ตัวได้จนกระทั่งเป็นอิสระจากอารมณ์นั้นเพราะว่ามีตาใน คือมีสติ เป็นสติที่ไม่ใช่เป็นสติธรรมดา
อย่างที่พูด สติที่ช่วยทำให้เรารู้กายรู้ใจ รู้กายหมายความว่าเราทำอะไรใจก็รู้ แม้จะปิดตาก็รู้ ยกมือปิดตาก็รู้ว่ายกปิดตา ถ้าเรามีสติเรารู้ว่าปลายจมูกอยู่ตรงไหน คิ้วอยู่ตรงไหน หูอยู่ตรงไหน เราลองปิดตาดู แล้วเอามือจับที่ใบหู ทุกคนจะจับถูกถ้ามีสติ เวลาบอกว่าเอานิ้วไปแตะที่ปลายจมูก ทุกคนทำถูกแม้จะปิดตาเพราะอะไร เพราะมีสติ สติคือตาในที่ทำให้เรารู้ว่าปลายจมูกอยู่ไหน หน้าผากอยู่ตรงไหน คิ้วอยู่ตรงไหน แม้หลับตาเอามือชี้ถูก เอามือจิ้มถูก แบบนี้เรียกสติทำให้เรารู้กาย และไม่ใช่แต่เวลากายอยู่นิ่งๆ เวลากายเคลื่อนไหวก็รู้ เวลาใจคิดนึกก็รู้ถ้าสติไวพอ ในการใช้ชีวิตประจำวันอย่าใช้แต่ตาอย่าใช้แต่หูในการรับรู้สิ่งภายนอก ให้มีสติ รู้กายรู้ใจในเวลาเดียวกันด้วย
พระอาจารย์ประสงค์ท่านเคยถามเด็กคนหนึ่ง เด็กกินก๋วยเตี๋ยว เด็กอายุไม่กี่ขวบ แปดเก้าขวบ ท่านถามว่าหนูกินก๋วยเตี๋ยวหนูเห็นอะไร ถ้าเป็นคนธรรมดาหรือผู้ใหญ่ทั่วๆไปก็บอกเห็นเส้น เห็นลูกชิ้น เห็นน้ำซุป แต่เด็กบอกว่าหนูเห็นกายเคลื่อนไหวขณะที่กินก๋วยเตี๋ยว หนูเห็นปากเขยื้อนขยับ และหนูเห็นข้างในพอใจในรสชาติก๋วยเตี๋ยว และสิ่งที่เด็กตอบคือเห็นกายเห็นใจนั่นเอง เราเคยเห็นอย่างนี้บ้างไหมเวลากินข้าว เวลากินก๋วยเตี๋ยว เห็นกายเคลื่อนไหวขณะที่จับช้อน ตักน้ำใส่ปาก หรือใช้ตะเกียบคีบลูกชิ้นใส่ปาก ทำอย่างนั้นได้ต้องมีตา ตาเนื้อมองเห็นลูกชิ้น มองเห็นน้ำซุป แต่ในเวลาเดียวกันควรจะเห็นกายที่เคลื่อนไหวด้วย เวลาเคี้ยวเกิดความพอใจในรสชาดในรสอร่อย เห็นบ้างหรือเปล่า เห็นความพอใจไม่ใช่รู้สึกว่าฉันพอใจ ไม่ใช่รู้สึกว่าฉันอร่อยแต่เห็นความพอใจเห็นความรู้สึกอร่อย สิ่งนี้ต่างกัน เห็นความพอใจกับรู้สึกพอใจ รู้สึกพอใจคือฉันพอใจ
เหมือนที่หลวงพ่อคำเขียนสอนว่า “เห็น อย่าเข้าไปเป็น” ถ้าตอบว่ากินก๋วยเตี๋ยวแล้วอร่อย แสดงว่าฉันเป็น ความอร่อยเป็นของฉันไปแล้ว หรือว่าพอใจ ฉันพอใจไม่ใช่เห็นความพอใจแต่กลายเป็นผู้พอใจไปแล้ว ต่างกัน เวลาดีใจก็เหมือนกัน เห็นความดีใจไม่ใช่กลายเป็นว่าฉันดีใจ เวลาเครียดก็เหมือนกัน เห็นความเครียดอย่ารู้สึกว่าฉันเป็นผู้เครียด เวลาเราปฏิบัติบางทีมีความเครียดมีความฟุ้ง ให้เห็นว่าข้างในเครียดไม่ใช่ฉันเครียด ข้างในฟุ้งไม่ใช่ฉันฟุ้ง แบบนี้คือความแตกต่างระหว่างเห็นกับเป็น และที่ยิ่งกว่านั้นถ้าเกิดว่าเครียดหรือพอเห็นหรือรู้ว่าเครียดเมื่อไรความเครียดหายเลย กำลังเครียดๆอยู่ พอรู้ว่าเครียด ความเครียดกลายเป็นความไม่เครียดไป กำลังหงุดหงิดอยู่ พอเห็นหรือรู้ว่าหงุดหงิดความหงุดหงิดกลายเป็นความไม่หงุดหงิดไป ขณะที่กำลังโกรธอยู่ พอเห็นหรือรู้ว่าโกรธความโกรธกลายเป็นความไม่โกรธไป
หลวงพ่อคำเขียนท่านสอนย้ำอยู่เสมอ “เปลี่ยนความโกรธให้เป็นความไม่โกรธ เปลี่ยนความหลงให้เป็นความไม่หลง เปลี่ยนความทุกข์ให้เป็นความไม่ทุกข์” ทำด้วยวิธีนี้ คือไม่ต้องไปทำอะไรกับความเครียด ความหลง ความทุกข์ ความโกรธ เพียงแค่มีสติรู้อย่างเดียว พอมีสติรู้ความหลงกลายเป็นความไม่หลง ความโกรธกลายเป็นความไม่โกรธ ความทุกข์กลายเป็นความไม่ทุกข์ ความเครียดกลายเป็นความไม่เครียด เราไม่ต้องไปกดข่ม ไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่ทำหน้าที่ของเรา คือรู้ เหมือนกับน้ำเสีย น้ำเน่า เราไม่ต้องไปวิดให้เสียเวลา เราเพียงแต่ปล่อยน้ำดีเข้าไป น้ำดีจะไปไล่น้ำเสียเอง ไม่เหนื่อย ความมืดเราไม่ต้องทำอะไรกับความมืด เราเพียงแค่จุดแสงสว่าง ความสว่างจะไปไล่ความมืดเอง เปลี่ยนความมืดให้กลายเป็นความสว่างด้วยการจุดเทียนหรือด้วยการเปิดหน้าต่าง ทำกับใจอย่างนั้น ใจของเราก็ทำอย่างนั้น ในยามที่หลง ไม่ต้องไปสู้รบตบมือกับความหลงเพียงแต่รู้ มีสติรู้ และตัวสติจะเปลี่ยนหลงให้เป็นความไม่หลง
ฉะนั้นพยายามทำ พยายามเจริญสติ พยายามหมั่นรู้ตัว อย่าไปหงุดหงิดเวลาฟุ้ง อย่าไปตีอกชกหัวเวลาเครียด ให้มองว่าคือการบ้านที่จะฝึกสติ เพราะถ้าไม่มีความเครียด ไม่มีความฟุ้ง สติเราก็ไม่มีคู่ซ้อม เหมือนนักเรียนที่ไม่มีการบ้าน หรือได้แต่การบ้านง่ายๆ เด็กก็ไม่ฉลาด นักเรียนจะฉลาดได้เพราะว่ามีการบ้าน หรือได้ทำการบ้านบ่อยๆ หรือการบ้านไม่ได้ง่ายเกินไป นักชกจะเก่งได้เพราะว่ามีคู่ซ้อม การรู้ทันจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องหลงก่อน เมื่อหลงก่อนถึงจะรู้ทัน ต้องมีความเครียดก่อนถึงจะรู้ทัน ต้องมีความฟุ้งก่อนถึงจะรู้ทัน และรู้ทันบ่อยๆ จะรู้ได้ไวขึ้นๆ และช่วยปลดเปลื้องใจให้เป็นอิสระจากความทุกข์ หรือช่วยทำให้ความหลงที่ครองใจเลือนหายไป
เพราะฉะนั้นวางใจให้ถูก เวลาเราปฏิบัติจะมีอะไรผ่านเข้ามา แค่เห็นแต่อย่าไปเป็น และความเครียดถ้าเห็นมันไม่เล่นงานจิตใจเรา ไม่เป็นทุกข์เท่าไร เห็นความเครียดใจไม่ทุกข์ เห็นความโกรธใจก็ไม่ทุกข์ แต่ถ้าเป็นผู้เครียดเป็นผู้โกรธเมื่อไร จะทั้งร้อนทั้งหนักอกหนักใจรู้สึกจิตถูกบีบคั้น เป็นเมื่อไรก็ทุกข์เมื่อนั้น แต่ถ้าเห็นมีแต่ความโปร่งความเบา มันเกิดขึ้นก็ไม่เป็นไรข้อสำคัญคืออย่าไปเป็นก็แล้วกัน ความฟุ้งเกิดขึ้นอย่าไปยึด เคยมีคนถามหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ว่าหลวงปู่มีโกรธไหม เพราะเขาเชื่อว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านตอบสั้นๆ มีแต่ไม่เอา เพราะฉะนั้นขนาดหลวงปู่ท่านยังมีโกรธ แต่ท่านต่างจากเราต่างจากคนทั่วไปคือ มีเหมือนกันแต่ไม่เอา คนส่วนใหญ่มีแล้วไปเอา ทั้งที่ไม่ชอบแต่ไปยึด ทำไมถึงเอา ก็เพราะหลงเพราะไม่รู้ทัน แต่เราฝึกได้ถึงแม้เรายังเป็นปุถุชน เราฝึกได้ว่า โกรธมี เครียดมี ฟุ้งมี แต่ไม่เอา เริ่มต้นจากการที่เห็นก่อนคือไม่เป็น ความเครียด ความฟุ้ง ความหงุดหงิด มีเป็นเรื่องธรรมดา ข้อสำคัญคือว่าอย่าไปเป็น หรืออย่าไปเอา ทั้งที่จริงมันมาเพื่อฝึกให้เรารู้วิธีที่จะเห็นโดยไม่เข้าไปเป็น ถ้ามันไม่มาเราจะฝึกให้เห็นได้อย่างไร เราจะนึกเอาไม่ได้เราต้องฝึกด้วยการเจอของจริง เมื่อของจริงมาเราฝึกให้เห็นไม่เข้าไปเป็น เพราะฉะนั้นต้อนรับสิ่งเหล่านี้เวลาผ่านเข้ามาในใจของเรา ความหงุดหงิด ความฟุ้ง แม้กระทั่งความโกรธ ความอยาก มาเพื่อสอนให้เรา เห็นไม่เข้าไปเป็น