แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทุกเช้าเราจะสาธยายข้อความที่เตือนใจเรา มีข้อความหนึ่งที่ควรจะระลึกอยู่เสมอ เราทั้งหลายเป็นผู้ที่ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว ความทุกข์หยั่งเอาแล้ว หมายความว่าตอนนี้ความทุกข์อยู่กับเราแล้ว และยังมีทุกข์ที่รอเราอยู่ที่เราต้องไปเจอ ทุกข์ที่ว่านั้นได้แก่อะไรบ้าง ซึ่งได้สาธยายไปแล้วเช่นกัน ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ พลัดพรากจากสิ่งที่รักพอใจ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น คือสิ่งที่เราผ่านมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนแล้วยังต้องเจออีก หรือขณะนี้กำลังเจออยู่ กำลังประสบอยู่ ชีวิตคนเราตั้งแต่แรกปฏิสนธิจนกระทั่งคืนสู่ดินน้ำไฟลมต้องล้วนแต่ประสบกับสิ่งที่พูดมาทั้งสิ้น ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าเราจะมีความสุข มีความสำเร็จ มีความปลาบปลื้มยินดี เพราะเหตุใดก็แล้วแต่ จะมากหรือน้อยก็ตาม แต่เราหนีสิ่งที่ได้พูดมาเหล่านี้ไม่ได้แม้แต่อย่างเดียว
ความทุกข์ของคนเรา จะว่าไปแล้วหนีไม่พ้นความทุกข์ 12 อาการที่ได้สาธยายมา เป็นความทุกข์ที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งไปหาหมอ ทั้งหมอสมัยใหม่ หมอดู หมอพระก็มี อาตมารู้จักพระรูปหนึ่ง ท่านเป็นหมอสมุนไพร แต่ว่ามีคนมาหาท่านมากเพราะคนลือกันว่าท่านดูหมอเก่ง ทำนายทายทักได้แม่น เคยไปถามท่าน ท่านบอกว่าไม่ได้มีอะไรพิเศษ อาศัยลายแทงที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอน คือความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ไปจนถึงว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ 5 เป็นตัวทุกข์ บอกว่าคนที่มาหาท่านมาด้วยความทุกข์ และความทุกข์ของเขาหนีไม่พ้นความทุกข์ 12 อาการ โดยเฉพาะประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ทำให้เกิดความโศกความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ท่านไม่ได้ดูหมอแม่น แต่ท่านอาศัยคำสอนของพระพุทธเจ้า ทำให้มองคนออกว่าที่เขามาหาท่านแน่นอนต้องมาหาเพราะความทุกข์ คุยไปสักพักรู้แล้วว่าทุกข์เพราะอะไร
พวกเราเวลามีความทุกข์ก็เหมือนกัน มองให้ออกว่าเราทุกข์เพราะอะไร ที่จริงถ้าเราลองพิจารณาความทุกข์ 12 อาการ จะมีอยู่ 3 ประเภท แบบแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ เกิด แก่ ตาย ป่วย ก็มีแต่อยู่ในความโศกความความร่ำไรรำพันความไม่สบายกาย ความไม่สบายกายคือป่วย แบบที่หนึ่งเป็นเหตุการณ์ เกิด แก่ ตาย แต่ก่อนจะตายต้องประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น แบบนี้เรียกว่าเป็นเหตุการณ์ ซึ่งในทางพุทธศาสนาเรียกว่า อนิฏฐารมณ์ คือเสื่อมลาภ เสื่อมยศ แล้วถูกนินทา แล้วทุกข์ แบบที่สองเป็นเรื่องของความรู้สึก โดยเฉพาะความโศก ความความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ แบบนี้เป็นเรื่องความรู้สึก อีกแบบหนึ่งเป็นเรื่องสภาวะ แบบสุดท้ายว่าเรื่องอุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์ ตัวทุกข์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความรู้สึกทุกข์ เพราะว่าอุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์ แม้แต่สิ่งที่ไม่มีชีวิตก็เป็นตัวทุกข์เหมือนกัน
จริงๆ รูป เวทนา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่สัตว์ ตัวตน บุคคล เรา เขา มันไม่มีชีวิตจิตใจ แต่ยังเป็นตัวทุกข์ รวมไปถึงก้อนหิน ต้นไม้ ศาลา รถยนต์ เป็นตัวทุกข์ทั้งนั้น ทุกข์ในที่นี้จึงไม่ใช่เป็นความรู้สึก แต่เป็นสภาวะ ความรู้สึกสุขทุกข์เอาไว้ใช้กับคนหรือสัตว์ เช่นความโศก ความความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ตรงนี้แหละที่เป็นทุกข์ในอริยสัจ 4 ทุกข์ในอริยสัจ 4 ท่านจะเล็งอยู่ตรงนี้ ภาษาบาลี เขาเรียกว่า “ทุกขทุกขตา” คือ ความรู้สึกสุขทุกข์ ซึ่งมีเฉพาะเจาะจงกับสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก ส่วนสิ่งที่ไม่มีชีวิตหรือรวมทั้งสิ่งมีชีวิตหนีไม่พ้นตัวทุกข์ ภาษาบาลีเขาใช้คำว่า “สังขารทุกขตา” คือสภาวะ ไม่ใช่ความรู้สึกทุกข์ หรือเป็นสภาพที่ถูกบีบคั้นด้วยเหตุปัจจัยที่ขัดแย้งกัน แบบนี้ว่ากันแบบคลุมๆ สภาวะที่ถูกบีบคั้นกดดันเพราะปัจจัยต่างๆ ที่มาประกอบเป็นตัวทำให้ขัดแย้งกัน
เอาง่ายๆ เราป่วย ป่วยก็เป็นทุกข์ใช่ไหม ป่วยเพราะอะไร เพราะว่าเชื้อโรคเข้าไปในร่างกายเกิดขัดแย้งกับร่างกายเรา เช่นไปปล่อยสารพิษ หรือไปทำให้เกิดเนื้อร้าย พอขัดแย้งกันหนักๆเราก็ป่วย ไม่ว่าจะเป็นเชื้ออะไรตาม หวัด ปอดบวม ไปทำความขัดแย้งให้เกิดขึ้นกับอวัยวะต่างๆในร่างกาย เช่นปอดบ้าง หัวใจบ้าง บางทีเล่นงานไปถึงระดับเซล เกิดผลคือความเจ็บป่วยเรียกว่าทุกข์ เนื้อร้ายมะเร็งก็เหมือนกัน เนื้อมะเร็งไปก่อให้เกิดความขัดแย้งกับร่างกาย อวัยวะ ไปแย่งชิงสารอาหารจากอวัยวะต่างๆ และมันก็โตขึ้นเรื่อยๆ ส่วนอวัยวะหรือเนื้อเยื่อที่อยู่รอบๆ แย่ลงๆ ตายเพราะถูกแย่งอาหาร มะเร็งไปแย่งอาหารจากเนื้อเยื่ออวัยวะที่อยู่รอบข้าง มะเร็งโตเอาๆแต่ไม่ทำประโยชน์อะไร ส่วนเนื้อเยื่อที่ทำประโยชน์ถูกแย่งอาหารไปก็ตาย เกิดความขัดแย้ง ผลคืออะไร ร่างกายถูกกดดัน กลายเป็นความเจ็บความป่วย และเราเรียกว่าทุกข์
ไม่ใช่เฉพาะร่างกาย อวัยวะ สิ่งมีชีวิต สิ่งที่ไม่มีชีวิตหรือวัตถุ เช่น เสา ศาลา ก็เป็นตัวทุกข์ เพราะว่ามันถูกกดดันบีบคั้น เพราะอะไร เพราะว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องขัดแย้งกัน เช่นความชื้น หรืออุณหภูมิ หรือเชื้อรา เข้าไปกัดกร่อนตัวเนื้อไม้ มันไม่ได้เสริมแต่ขัดแย้ง เนื้อไม้เริ่มเสื่อมลงๆ แล้วสุดท้ายก็ผุ วันดีคืนดีเสาศาลาขาด บางทีมีตัวปลวกมา ปลวกหรือแมลงเข้าไปกัดกินเนื้อไม้ แบบนี้เป็นปัจจัยที่ขัดแย้งระหว่างเนื้อไม้กับแมลง ไม่ได้เสริมกันแต่ขัดแย้งกันก็ผุไป เหล็กก็เหมือนกัน เหล็กเป็นตัวทุกข์เพราะว่ามีความขัดแย้งอยู่ข้างใน อากาศหรือออกซิเจนเข้าไปทำปฏิกิริยากับเนื้อเหล็กทำให้เกิดสนิม ออกซิเจนเป็นตัวกัด ออกซิเจนที่เราหายใจเป็นตัวกัดไปทำให้เหล็กเป็นสนิม พอสนิมเกิดขึ้นเนื้อเหล็กค่อยๆผุไปสุดท้ายก็พัง ออกซิเจนที่เราหายใจก็ไม่ใช่ว่าดีเสมอไป
เดี๋ยวนี้มียาชนิดหนึ่งเรียกว่ายาต้านอนุมูลอิสระ เป็นอาหารเสริม แอนตี้อ๊อกซิแด้นต์ (Antioxidant) สิ่งนี้ขายดี อ๊อกซิแด้นต์คืออะไร คืออกซิเจน อนุมูลอิสระคือออกซิเจนที่เข้าไปก่อกวนรังควานเซลในร่างกายเรา ทำให้เสื่อมลงๆ แล้วอาจจะทำให้เป็นมะเร็ง ออกซิเจนนี่ขนาดเหล็กก็ยังกัดเอาจนผุพังไป ร่างกายเรา เนื้อเยื่อเรา อวัยวะเราจะไหวได้อย่างไรถ้ามีพวกออกซิเจนจำนวนมากเข้าไปกัด แบบนี้เรียกว่าเจ็บป่วยเพราะความขัดแย้ง เพราะปัจจัยขัดแย้งกัน ร่างกายคนเรา ชีวิตคนเรา จะว่าไปเหมือนกับเครื่องบินที่ทะยานขึ้นฟ้า ถามว่าเครื่องบินทะยานขึ้นไปได้เพราะอะไร เพราะว่ามีแรงยกที่ดันให้สูงขึ้น มีการต่อสู้ขัดแย้งกันระหว่างแรงยกกับแรงดึงดูด ปกติคนเราไม่มีแรงยก พอเราโดดขึ้นไปเดี๋ยวถูกดูดลงสู่พื้น แต่เครื่องบินลอยขึ้นไปได้เพราะว่าแรงยกมากกว่าแรงดึงดูด มันต่อสู้กันอยู่ แต่ว่าแรงยกมากกว่าจึงลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า
ที่เรามีชีวิตอยู่ได้เพราะว่าปัจจัยเสริมมากกว่าปัจจัยบั่นทอน ในตัวเรามีความเกิดดับเกิดขึ้นตลอดเวลา พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ความตายมีอยู่ในชีวิต” ตรัสมา 2600 ปีแล้ว จริงทีเดียว เพราะว่าทุกขณะในร่างกายเรามีเซลที่เกิดและดับ มีเซลที่ตายอยู่ทุกเวลาๆ เคยมีการคำนวณแล้วประมาณห้าหมื่นถึงแสนล้านเซล ในหนึ่งวันมีเซลที่ตายในร่างกายเราประมาณห้าหมื่นถึงแสนล้านเซล แต่ที่เราไม่เจ็บไม่ปวดเพราะว่ามีการสร้างเซลใหม่ทดแทนหรือเซลใหม่มากกว่า มีการต่อสู้กันระหว่างความเกิดความดับในร่างกาย ถ้าเกิดมากกว่าดับ คือเซลใหม่ถูกสร้างขึ้นมามากกว่าเซลที่ตายไป เรายังสุขภาพดี แต่ถ้าเมื่อไรความดับมากกว่าความเกิด ความดับจะเริ่มชนะแล้ว เกิดอะไรขึ้น คือความแก่ เซลที่ตายไปมากกว่าเซลที่เกิดคือความแก่ เรียกว่าทุกข์ แล้วถ้าดับมากๆ เซลที่เกิดน้อยลงๆ ก็ตาย
เหมือนกับเครื่องบิน เครื่องบินตอนที่บินได้ ลอยบนฟ้าเพราะว่าแรงยกมากกว่าแรงดึงดูด แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามสมมติว่าน้ำมันหมดก็บินต่อไปไม่ได้ แรงยกก็จะน้อยลง จะแพ้แรงดึงดูด แรงดึงดูดจะดูดให้เครื่องบินตกลงมากระแทกพื้น ตอนนี้ชีวิตของคนหลายคนเหมือนเครื่องบินซึ่งกำลังจะร่อนลง กำลังจะร่อนลงเพราะว่าแรงยกค่อยๆน้อยลงแล้ว ขณะที่แรงดึงดูดเริ่มที่จะมีชัยชนะ อาตมาก็อยู่ในภาวะที่เครื่องบินกำลังจะร่อนลงแล้ว เพราะว่าปัจจัยเสริมสู้ปัจจัยบั่นทอนไม่ได้ เครื่องบินเหมือนกับว่าแรงยกค่อยๆลดลง แต่แรงดึงดูดยังเท่าเดิมก็ดูดเครื่องบินให้ค่อยลงๆ แล้ววันหนึ่งเครื่องจะต้องร่อนสู่พื้น อยู่ที่ว่าจะร่อนแบบไหน ร่อนแบบลงสู่พื้นแบบนุ่มนวล หรือลงสู่พื้นแบบกระแทก เครื่องบินจำนวนมากเวลาลงสู่พื้นก็กระแทก กระแทกกับพื้นเรียกว่า crash landing เรียกว่าเกิดความพิบัติ แต่มีน้อยลำที่ค่อยๆร่อนสู่พื้นอย่างนุ่มนวลเรียกว่า soft landing แบบนี้เรียกว่าตายแบบสบาย แต่อีกจำนวนหนึ่งตายแบบไม่สบาย ไม่ได้หมายถึงว่าเกิดอุบัติเหตุอย่างเดียว แต่หมายถึงว่าจิตใจทุรนทุราย
ฉะนั้นคำว่าตัวทุกข์ให้เราทำความเข้าใจดีๆ ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ 5 เป็นตัวทุกข์ ไม่ใช่เป็นความรู้สึกทุกข์ แต่หมายถึงความหรือสภาวะที่ถูกบีบคั้นเพราะปัจจัยขัดแย้งกัน ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกันขัดแย้งกันอย่างที่เล่ามา คราวนี้เรารู้สึกอย่างนี้เพื่ออะไร เพื่อรู้ว่าเป็นตัวทุกข์แล้วอย่าไปยึดติด เหมือนกับว่าสิ่งทั้งหลาย ขันธ์ทั้ง 5 คือสิ่งทั้งหลาย ที่เปรียบดังถ่านก้อนแดงๆ ถ่านก้อนแดงๆที่กำลังลุกไหม้ ถ้าอยู่ข้างหน้าเราไม่เป็นอะไร แต่พอเราไปยึดไปจับก็จะเผา ทำให้เราเกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที พระพุทธเจ้าสอนให้เราตระหนักว่าสิ่งทั้งปวงเป็นตัวทุกข์ คือมีความเสื่อม มีความบกพร่องไม่สมบูรณ์ เพราะว่ามีความขัดแย้งกันอยู่ข้างใน หรือว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องกันขัดแย้งกัน รอแต่ว่าจะเสื่อมลงเมื่อไร หรือว่าจะดับไปเมื่อไร เหมือนเครื่องบินที่ไม่ว่าจะบินขึ้นฟ้าอย่างไร สุดท้ายก็ต้องร่อนลง เครื่องบินทุกลำต้องร่อนต้องลงสู่พื้นดินในที่สุด อยู่ที่ว่าจะร่อนลงแบบนุ่มนวล หรือว่ากระแทกกับพื้น
ทุกอย่างล้วนแล้วแต่ต้องเสื่อมต้องดับเพราะเป็นตัวทุกข์ เพราะมีความขัดแย้งกดดันบีบคั้นอยู่ข้างใน ทุกอย่างไม่มีความสมบูรณ์ในตัวเพราะตัวเองยังเอาตัวไม่รอด เพราะฉะนั้นจึงเกิดเหตุการณ์ที่ว่าคือ ความเสื่อม ความพลัดพราก ความสูญเสีย ประสบกับสิ่งไม่รัก ไม่พอใจ แบบนี้เป็นความเสื่อมชนิดหนึ่ง เช่นเจอความป่วย ความป่วยคือความพร่อง ความไม่สมบูรณ์ พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ เพราะเสื่อมไป เพราะเสียไป ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ สิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ในเมื่อเราเห็นว่าสิ่งทั้งปวงเป็นตัวทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ต้องเกี่ยวข้องกับให้ถูก อย่าไปยึด ยึดเมื่อไรเตรียมใจทุกข์ได้เลย
พระพุทธเจ้าสอนเรื่องทุกข์ เพื่อให้เราเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นทุกข์อย่างถูกต้อง ซึ่งจะทำให้เกิดผลตามมาคือไม่ทุกข์ คือไม่เกิดความรู้สึกสุขไม่เกิดความรู้สึกทุกข์ขึ้นมา ถ้าเราเกี่ยวข้องไม่ถูก ความทุกข์จะเกิดกับเรา เกี่ยวข้องไม่ถูกคืออะไร คือไปยึดหรือไปอยาก อยากให้เป็นอย่างนี้ๆ หรือว่ายึดให้คงที่คงตัวไม่เปลี่ยนแปลง แบบนี้เป็นการกระทำที่ผิด เป็นการวางใจที่ผิดเพราะว่าสวนทางกับความเป็นจริงเรียกว่าฝืนกระแส ฝืนกระแสแห่งเหตุปัจจัย ฝืนความจริง ความจริงคือสิ่งทั้งปวงต้องเสื่อมต้องดับไปเพราะเป็นตัวทุกข์ เพราะมีความขัดแย้ง กดดัน บีบคั้นอยู่ข้างใน คือเพราะเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่อสู้ขัดแย้งกัน
ฉะนั้นถ้าเราไปอยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราจะทุกข์เพราะว่าจะไม่เป็นไปอย่างที่อยาก ถ้าเราไปยึดว่าต้องเที่ยง ต้องสุข อย่างเช่นไปยึดว่าร่างกายต้องเที่ยง ต้องไม่แก่ ต้องเต่งตึง ต้องมีกำลังวังชาอยู่เสมอ แบบนี้ผิดแล้ว ไม่ได้ผิดศีลแต่ผิดธรรม คือผิดความจริง สวนทางความจริง ถ้าเราไปยึดว่าต้องสุข แบบนี้ผิด ไม่ได้ผิดศีลแต่ผิดธรรม เพราะว่าแค่นั่งประเดี๋ยวเดียวก็เมื่อยแล้ว ความเมื่อย ความปวด สอนว่าสังขารไม่ใช่สุข สังขารร่างกายทุกข์ ที่ว่าความทุกข์หยั่งเอาแล้วคือตรงนี้ นั่งไปสักพักความทุกข์แสดงตัวมาแล้ว ความทุกข์แสดงตัวตลอดเวลา แต่ว่าบางทีบางช่วงเรามองไม่เห็น ไม่สังเกต ต้องใช้เวลานานหน่อย ความทุกข์จึงจะแสดงตัวออกมา ความทุกข์ที่หยั่งอยู่ในตัวเราที่พูดเมื่อตอนแรกแสดงตัวออกมา
เพราะฉะนั้นจะไปยึดให้เที่ยงให้สุขไม่ได้ ถ้ายึดไปก็ผิด แล้วเกิดอะไรขึ้น เกิดความคับแค้นใจ ความไม่สบายใจ ความผิดหวัง เกิดอาการตีโพยตีพาย ทุรนทุราย กระสับกระส่าย เห็นหน้าตาเริ่มแก่ชรา มีตีนกา มีเหี่ยวย่น ผมหงอก ฟันฟางเริ่มโยกคลอน ถ้าเราไม่ไปยึดว่าต้องเที่ยงว่าต้องสุข พอเกิดขึ้นเราก็ไม่ทุกข์ แต่ที่ทุกข์เพราะอะไร เพราะเราไปยึดเอาไว้ว่าต้องเที่ยงว่าต้องสุข เพราะอยากให้สวยตลอดเวลา อยากเรียกว่าตัณหา ยึดเรียกว่าอุปาทาน และที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร เพราะมีอวิชชา คือความไม่รู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์หรือเป็นตัวทุกข์ ความเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดา ความแก่เป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ทุกข์ใจเพราะอะไร เพราะว่าวางใจไม่ถูก
มีโยมคนหนึ่ง อายุประมาณสัก 70 ปีกว่า เป็นนักธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องบ้านจัดสรร อายุ 75 ปียังทำงานทั้งที่รวยมาก ลูกทุกคนประสบความสำเร็จในการงาน เป็นหมอ เป็นนายกเทศมนตรี โยมทำงานหนักจนกระทั่งเป็นโรคพาร์กินสัน มือสั่น เดินไม่ได้ต้องนั่งรถ มาหาอาตมา มาด้วยสีหน้าที่หม่นหมอง คุยกันสักพักหนึ่งโยมพูดว่า ฉันทำผิดอะไรจึงต้องมาเป็นแบบนี้ โยมคงเข้าใจว่า ชาติที่แล้วไปทำอะไรมา ชาตินี้จึงเจอวิบากแบบนี้ อาตมาตอบว่าโยมทำผิดแน่จึงเป็นอย่างนี้ ผิดข้อแรกคือว่าไม่เชื่อฟังร่างกาย ร่างกายเคยส่งสัญญาณไปบอกโยมหลายครั้งแล้วว่า ฉันเหนื่อยขอพักหน่อย โยมก็ไม่ฟัง โยมก็ทำงานๆ ไม่ฟังเสียงร้อง ไม่ฟังสัญญาณจากร่างกาย อาจจะส่งสัญญาณหนักขึ้นมาเรื่อยๆ เช่นอาจจะป่วย เป็นหวัดบ้าง เป็นนั่นเป็นนี่บ้าง เป็นสัญญาณเตือน โยมยังไม่หยุดอีก โยมยังทำงาน นอนไม่พอ พักผ่อนไม่เพียงพอ สุดท้ายก็ทรุด ป่วยเป็นพาร์กินสัน มือสั่น พูดไม่ค่อยชัด ผิดข้อแรกคือไม่เชื่อฟังร่างกาย ใช้ร่างกายสมบุกสมบันเกินไป ไม่ใช่เฉพาะคนจนที่ใช้ร่างกายสมบุกสมบัน คนรวยทำอย่างนั้นมากมาย เพราะว่าอาจจะอยากรวยหรือเพราะอะไรแล้วแต่
ข้อที่สอง โยมไม่ได้ป่วยทางกายอย่างเดียวแต่โยมป่วยใจด้วย มีความทุกข์ใจ ความทุกข์ใจเกิดจากการที่โยมทำผิดข้อที่สอง คือไปอยากไปยึดในร่างกายนี้ เช่น ยึดว่าร่างกายนี้ต้องเที่ยง ต้องสุข อยากให้ร่างกายนี้มีพลังวังชา มีสุขภาพดีเสมอ แบบนี้เป็นความอยากความยึดที่ผิด หมายความว่าสวนทางกับความเป็นจริง เป็นการฝืนกระแสความจริง ถ้าโยมวางใจถูกจะไม่มีความทุกข์ใจแม้ว่าร่างกายจะป่วย เพราะว่ารู้ว่าเป็นธรรมดา ร่างกายถึงวันหนึ่งต้องเสื่อมไป ต้องป่วย ต้องชรา แต่โยมวางใจผิด คาดหวังสวนทางกับความเป็นจริง ฝืนกระแส เหมือนกับฝืนกระแสน้ำเชี่ยวต้องถูกน้ำพัดพาไป แบบนี้เรียกว่าทำผิดเพราะไม่เข้าใจเรื่องทุกข์ เข้าใจเรื่องทุกข์ไม่ใช่เฉพาะว่าเกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ ป่วยเป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์ แต่เข้าใจกระทั่งว่าขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์ หรือทุกสิ่งเป็นตัวทุกข์ ไม่ว่าร่างกายของเรา ทรัพย์สมบัติของเรา หรือแม้แต่จิตใจ ความนึกคิด ความจำ เมื่อก่อนเคยพูดได้ เดี๋ยวนี้พูดไม่ค่อยชัด แต่ก่อนคิดอะไรได้ว่องไว สัญญาทำงานดี แต่ตอนหลังสัญญาเริ่มแย่ โดยเฉพาะโยมถ้าไม่หยุดอาจจะเป็นอัลไซเมอร์ พอเป็นอัลไซเมอร์แล้วความจำเลอะเลือน
เพราะฉะนั้นเราควรเข้าใจเรื่องทุกข์เอาไว้ดีๆ จะได้เกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งปวงอย่างถูกต้อง เช่นเมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นตัวทุกข์ เราก็ไม่ยึด เพราะถ้าเราไปยึด ทุกข์จะเกิดกับเรา แต่ถ้าเราไม่ยึด เมื่อเสื่อมไปใจเราไม่คับแค้นไม่เป็นทุกข์ด้วย ให้ความทุกข์หยุดตรงที่สรรพสิ่งทั้งปวงแต่ไม่ลามมาถึงตัวเรา แต่ถ้าเราไปคว้าถ่านก้อนแดงๆเมื่อไร ไม่ใช่ถ่านที่ทุกข์ เราจะทุกข์ด้วย เพราะถูกถ่านลวกเอา เผาเอา แต่ถ้าเราไม่ไปยึด จะไหม้ก็ไหม้ไป แต่ว่าเราไม่เป็นอะไร เพราะฉะนั้นวางใจให้ถูก เกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งปวงให้ถูก เราจะไม่ทุกข์แม้ว่าสิ่งทั้งปวงจะเป็นตัวทุกข์ก็ตาม คำว่าเราหมายถึงจิตใจ ส่วนร่างกายต้องทุกข์ไปตามสภาพของเขา