แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในชีวิตคนเรานั้นเต็มไปด้วยความทุกข์ เราสวดมนต์เมื่อสักครู่ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการสาธยายถึงความทุกข์ที่คนเราต้องประสบ แค่เกิดมาก็เป็นทุกข์แล้ว อยู่เฉยๆ ก็หนีทุกข์ไม่พ้น เพราะว่าแม้อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย ก็ต้องแก่ ก็ต้องเจ็บ และยังต้องเจอความพลัดพรากอีก สุดท้ายก็มีความตายเป็นที่สุด ยิ่งในบทสวดทำวัตรเช้าก็ยิ่งเห็นชัด เราทั้งหลายเป็นผู้ที่ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว เป็นผู้ที่มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว ในเมื่อชีวิตนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ สิ่งหนึ่งที่เราควรตระหนักหรือควรทำก็คือ อย่าเพิ่มความทุกข์ให้กับตัวเอง เรื่องนี้อาตมาไม่ได้พูดเอง พระพุทธเจ้าท่านแนะเอาไว้
พระพุทธองค์ตรัสถึง สิ่งที่เราพึงกระทำต่อความทุกข์และความสุข มีสี่ข้อ สองข้อแรกเป็นเรื่องที่เราน่าพิจารณามากคือว่า ข้อแรกคือ อย่าเอาทุกข์มาทับถมตน หรือว่าอย่าเพิ่มความทุกข์ให้กับตัวเอง ซึ่งหมายความว่า อย่าไปหาความทุกข์มาใส่ตัวให้มากเกินกว่าที่เป็นอยู่ เพราะแค่นี้ก็ทุกข์พอแรงอยู่แล้ว พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า เราต้องหนีความยากลำบากอยู่ตลอดเวลา บางครั้งเราต้องยอมที่จะเจอความยากลำบากบ้างเพื่อฝึกฝนตน อย่างเช่นที่เรามาอยู่ที่นี่ก็ลำบากกว่าเวลาเราอยู่บ้าน อยู่ที่บ้านเรามีที่นอนอบอุ่น เราตื่นสายก็ได้ แต่มาที่นี่เราต้องตื่นตั้งแต่ตีสาม อากาศก็หนาว อย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็นการเพิ่มความทุกข์ให้กับตัวเอง เพราะว่าเป็นการฝึกฝนขัดเกลาตัวเอง การที่พระฉันสองมื้อหรือว่าฉันมื้อเดียวก็ไม่ใช่เป็นการเพิ่มความทุกข์ให้กับตัวเอง แต่ว่าตรงข้ามกลับทำให้ชีวิตเบาสบายขึ้น เวลาพระออกธุดงค์ก็ไปเจอความยากลำบากแต่นั่นเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝนขัดเกลา ไม่ใช่เป็นเป้าหมายในตัวเองแต่เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝน ให้รู้จักอดทนและรู้จักลดละ
ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า อย่าเพิ่มความทุกข์ให้กับตัวเอง เช่นการทรมานตน ซึ่งเราพูดไปแล้วเมื่อวาน การทรมานตนไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญ หรือการทำความชั่ว การผิดศีล ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มความทุกข์ให้แก่ตัวเองเพราะว่ามีแต่สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้กับตัวเอง พระพุทธเจ้าตรัสว่า “คนพาลหรือคนชั่ว ทำกับตัวเองเหมือนกับเป็นศัตรู” คือทำร้ายตัวเอง คนพาลหรือคนชั่วที่ทำอะไรต่ออะไรด้วยความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง ถึงกับไปขโมยของ ไปขโมยทรัพย์ผู้อื่น ไปเบียดเบียนผู้อื่น พวกนี้ไม่ได้เป็นการทำดีกับตัวเองหรือเป็นการทำให้ตัวเองมีความสุขเลย กลับเป็นการเพิ่มทุกข์ให้กับตัวเอง อาจจะมีสุขชั่วคราว ได้เงินได้ทองมาก็เที่ยวเตร่หรือซื้อรถซื้อบ้านก็สะดวกสบาย แต่เป็นความสบายเพียงแค่ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว แล้วตามมาด้วยความทุกข์ที่หนักกว่าเดิม ไม่คุ้มกับความสุขที่ได้มา
อีกความหมายหนึ่งที่ลึกซึ้งของคำพูดที่ว่า อย่าเพิ่มความทุกข์ให้กับตัวเอง หรืออย่าเอาความทุกข์มาทับถมตน หมายความว่าเวลาเรามีอะไรมากระทบให้เกิดความทุกข์ ไม่ว่ากายก็ดีหรือใจก็ดี เราต้องรู้จักปล่อย รู้จักวาง เพราะว่าถ้าไม่ปล่อยไม่วางจะกลายเป็นว่าเราไปยึดเอาความเศร้า ความโศก ความเสียใจ ความโกรธแค้น มาทิ่มแทงตัวเอง ถูกเขาต่อว่าก็พอแรงอยู่แล้วก็ยังเก็บเอาคำต่อว่านั้นมาทิ่มแทงจิตใจตัวเอง ให้มีความเจ็บปวดโกรธแค้นน้อยเนื้อต่ำใจ แบบนี้ก็เรียกว่ากำลังเพิ่มทุกข์ให้กับตัวเองหรือเอาทุกข์มาทับถมตน ทันทีที่มีความโกรธ ทันทีที่มีความเศร้า เราต้องรู้จักที่จะสลัดมันออกไป ไม่ใช่คลอเคลียหรือว่าจมอยู่ในอารมณ์เหล่านั้น
แต่ธรรมชาติของคนเราก็มักจะเป็นอย่างที่ว่าคือ พอมีความเศร้า ความโศก ความเสียใจ ก็จะปล่อยใจจมดิ่งอยู่ในอารมณ์นั้น ยิ่งเรียกว่าเป็นการเพิ่มทุกข์ให้กับตัวเอง หรือเวลาของหาย เงินหาย คนที่มีปัญญาเขาจะไม่เพิ่มความทุกข์ให้กับตัวเองมากไปกว่านี้ก็คือหายแต่ของ เสียแต่ของแต่ว่าใจไม่เสีย แต่คนส่วนใหญ่เพิ่มทุกข์ให้กับตัวเองโดยไม่รู้ตัว คือพอของหายแล้วก็เก็บเอามาเศร้าเสียใจ ทั้งๆที่ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย แถมแย่ลงเสียอีก เพราะว่าพอเสียของแล้วใจก็เสียด้วย และพอใจเสียมากๆก็ถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ ตรอมตรม แบบนี้คือเสียสุขภาพ แล้วพอมีความเศร้าเสียใจมากๆก็เสียงาน ไม่มีกำลังใจไม่มีสมาธิจะทำงาน แล้วพอหงุดหงิดมากๆเวลาเพื่อนมาคุยด้วยก็อารมณ์เสียใส่เพื่อน โกรธเพื่อนโดยที่เพื่อนไม่รู้เรื่องอะไรเลย เพื่อนอาจจะพูดผิดหูเพียงนิดเดียวก็ด่าเขา แบบนี้เพราะว่าความเศร้าเสียใจที่สะสมจากการที่สูญเสียเงิน กลายเป็นว่าเสียเพื่อนไปเลย อย่างนี้เรียกว่าเป็นการเพิ่มทุกข์หรือเอาทุกข์มาทับถมตน ถ้าเราปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าข้อนี้คือเมื่อของหายก็ให้หายให้เสียแต่ของ แต่ว่าใจไม่ทุกข์
มีครูคนหนึ่งโดนโกงไปเป็นแสน เพื่อนยืมไปแล้วก็ไม่คืน แกเสียใจอาลัยอาวรณ์และโกรธแค้นมาก ไม่ยอมกินไม่ยอมนอนไม่ยอมพักผ่อน เหมือนกับว่าจะทำร้ายตัวเอง เป็นเช่นนี้นานเป็นเดือนเลย แม่กับพ่อขอร้องให้กินข้าวให้พักผ่อนให้กลับมาเป็นผู้เป็นคน แกก็ไม่ยอม งานการไม่ต้องพูดถึง แบบนี้เรียกว่าเป็นการเพิ่มทุกข์ให้กับตัวเองเป็นการทับถมตน ถ้าเราไม่อยากทำร้ายตัวเองเมื่อเกิดของหายหรือการพลัดพรากเราก็ให้มันสูญเสียแต่เพียงเท่านั้น อย่าปล่อยให้เสียมากไปกว่านี้ เสียใจ เสียสุขภาพ เสียงาน เสียเพื่อน หรือเสียสัมพันธภาพ บางทีอาจจะไม่ได้ระบายอารมณ์ใส่เพื่อน ระบายอารมณ์ใส่ลูกใส่พ่อแม่ใส่คนรัก แบบนี้เราเสียสัมพันธภาพ อย่างนี้เรียกว่าเป็นการเอาทุกข์มาทับถมตน เมื่อเรารู้เช่นนี้แล้วเราก็อย่าให้มีความสูญเสียมากไปกว่านี้ ซึ่งก็หมายความว่าต้องรู้จักปล่อยรู้จักวาง วิธีหนึ่งที่จะช่วยได้คือการที่เราเอาใจมาอยู่กับปัจจุบัน
เมื่อใดก็ตามที่ใจเราอยู่กับปัจจุบัน เช่นในขณะที่เราเดินจงกรมใจเราก็อยู่กับการเดินจงกรม ในขณะที่เราสร้างจังหวะเราก็อยู่กับการเคลื่อนไหวมือไปมาด้วยความรู้สึกตัว ถ้าใจเราอยู่กับปัจจุบันก็ไม่มีเรื่องอะไรที่จะทุกข์ร้อน อย่างน้อยก็ไม่มีความทุกข์ใจ อาจจะทุกข์กายบ้างเพราะว่านั่งแล้วเมื่อย หรือเดินจงกรมโดนแดดส่องร้อนแต่ว่าใจไม่ทุกข์ อย่างพวกเรานั่งอยู่ตรงนี้ถ้าใจเราอยู่ที่หอไตรที่ศาลาฟังคำบรรยายก็จะไม่มีอะไร ไม่มีเหตุอะไรให้ทุกข์เลย แต่พอใจเราไม่อยู่ตรงนี้ ใจเรากลับไปอดีต กลับไปนึกถึงเหตุร้ายที่เกิดขึ้น เงินที่ถูกโกงไป เพื่อนที่เขาต่อว่าด่าทอเรา หรือคนรักที่ทิ้งเราไป ก็จะเกิดความโกรธ ความเสียใจ ความอาลัยอาวรณ์ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะใจไม่อยู่กับปัจจุบัน ใจพลัดหลงไปในอดีตแล้ว หรือไม่ก็ไปกังวลกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง อย่างเช่นพรุ่งนี้หลายคนก็จะได้กลับไปที่บ้าน กลับไปกรุงเทพฯ บางคนก็นึกถึงงานแล้วงานที่ยังคาอยู่ หรือนึกถึงพ่อแม่ที่กำลังเจ็บกำลังป่วย หรือนึกว่าต้องไปรับผลตรวจสุขภาพ หมอตรวจให้มารับผลก็กังวลแล้วว่าเราจะเป็นมะเร็งหรือเปล่าเราจะเป็นโรคร้ายหรือเปล่า ตัวอยู่ตรงนี้แต่พอใจนึกถึงอนาคต อย่างที่ว่ามาจะเป็นอย่างไรก็เกิดความวิตกเกิดความกังวลขึ้นมา เกิดความหนักอกหนักใจขึ้นมาทันที แบบนี้เรียกว่าเป็นการเพิ่มทุกข์ให้กับตัวเอง เพราะว่าอยู่ตรงนี้ไม่น่าจะเป็นทุกข์อะไร
แต่เรามักจะเพิ่มทุกข์ให้กับตัวเองด้วยการที่ใจเราไม่อยู่กับปัจจุบัน ใจเราไปอยู่กับอดีตกับอนาคต เพราะฉะนั้นการที่เรารักษาใจให้อยู่กับปัจจุบันได้จะช่วยขจัดความทุกข์ออกไปจากจิตใจ จะเหลือแต่ความทุกข์กายปวดเมื่อย หรือความทุกข์เพราะว่าต้องแก่ต้องชราไปตามธรรมชาติของสังขาร แค่นี้ก็หนักพอแรงอยู่แล้วเราไม่ควรจะเอาทุกข์อื่นๆมาทับถมตน โดยเฉพาะทุกข์จากอดีตซึ่งไม่มีทางที่จะแก้ไขอะไรให้ดีขึ้นได้ ส่วนสิ่งที่เป็นอนาคตในเมื่อยังไม่เกิดขึ้นเราก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้ เรารักพ่อเราห่วงแม่แค่ไหนเราก็ช่วยอะไรท่านไม่ได้ขณะที่เราอยู่ตรงนี้ ถ้าเกิดว่าเราไปที่บ้านเราอยู่บ้านแล้วเราถึงจะช่วยท่านได้ เพราะฉะนั้นขณะที่เราอยู่ตรงนี้ เราก็ทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด แล้วก็วางความกังวลออกไป อย่างที่พูดไปเป็นข้อแรกที่พระพุทธเจ้าตรัสก็คือ “อย่าเอาทุกข์มาทับถมตน หรืออย่าเพิ่มความทุกข์ให้แก่ตัวเอง”
ข้อที่สอง พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อย่าสละ หรือปฏิเสธความสุขที่ชอบธรรม” ความสุขที่ชอบธรรมหมายถึงความสุขที่ได้มาอย่างถูกวิธี เช่นเงินทองให้ความสุขกับเรา บ้านรถยนต์ให้ความสุขกับเรา ถ้าหากว่าเป็นสิ่งที่ได้มาด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรง เราก็ไม่ปฏิเสธ เราก็ไม่สละไม่ละทิ้ง เรารู้จักใช้ประโยชน์จากมัน อย่างที่เคยเล่าไปเมื่อสองสามวันก่อนว่าเศรษฐีในสมัยพุทธกาลที่เมืองสาวิตถีคนหนึ่งแกรวยมากแต่ไม่เคยใช้เงินเพื่อทำความสุขให้แก่ตัวเองเลย อยู่แบบตระหนี่เหมือนคนยากคนจน กินข้าวหักและเสื้อผ้าก็ปุปะ แบบนี้ก็ถือว่าเป็นคนที่ไม่ฉลาด เป็นคนพาลชนิดหนึ่ง เพราะว่าเขาสละความสุขที่ชอบธรรม หรือปฏิเสธความสุขที่ชอบธรรม มีเงินแล้วก็ต้องใช้แต่ว่าไม่ได้ใช้เพื่อปรนเปรอเท่านั้น ปรนเปรอก็เป็นทุกข์เหมือนกันซึ่งเรื่องนี้ก็จะเป็นข้อที่สาม แต่ว่าไม่ใช้เลยก็ไม่ถูก เพราะฉะนั้นความสุขที่ชอบธรรม ประการแรกหมายถึงสุขที่ได้มาด้วยวิธีการที่ถูกต้อง และประการที่สองหมายถึงความสุขที่ไม่ไปก่อความเดือดร้อนให้แก่ใคร เช่นถ้ามีความสุขเพราะว่าไปจุดไฟเผาบ้านเขาแล้วมีความสุขนี่ไม่ใช่แล้ว หรือสุขบนความเดือดร้อนความฉิบหายของคนอื่นแบบนี้ก็ไม่ใช่สุขที่ชอบธรรม แต่ถ้าเป็นสุขที่ชอบธรรม เป็นสุขที่ไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร เราก็ไม่พึงปฏิเสธก็ไม่พึงสละ
แต่สุขที่ชอบธรรม ไม่ได้หมายถึงสุขที่เกิดจากการมีการเสพอย่างเดียว ไม่ใช่เกิดจากวัตถุไม่ใช่เกิดจากเงินเท่านั้น แต่ความสุขที่ชอบธรรมอาจจะมีอยู่แล้วในใจเราก็ได้ ทุกขณะถ้าใจเราเป็นปกติความสุขก็จะเกิดขึ้น ถ้าใจเราอยู่กับปัจจุบัน มีความรู้สึกตัว เราก็จะพบความโปร่งความเบา ความสุขที่ชอบธรรมเกิดขึ้นกับเราได้ทุกขณะอยู่แล้ว ทุกขณะนี้เราก็มีความสุขอยู่แล้วแต่หลายคนไม่เห็น พอไม่เห็นก็เลยรู้สึกว่าตัวเองทุกข์ การที่เรารู้จักหาความสุขที่ชอบธรรมมีวิธีการที่ทำได้หลายอย่าง เช่นรู้จักพอใจในสิ่งที่มี ยินดีสิ่งที่ได้ บางทีความสุขอย่างที่บอกว่าเกิดขึ้นกับเราอยู่ตลอดเวลา แต่เรามักจะมองไม่เห็น หรือบางทีก็ถึงกับปฏิเสธมัน ถ้าเราไม่รู้จักพอใจในสิ่งที่มี ยินดีสิ่งที่ได้ ความสุขก็จะหลุดลอยไปจากเราได้ง่ายๆ เกิดความทุกข์เข้ามาแทนที่
หลายคนได้โชคได้ลาภก็น่าจะมีความสุข แต่เขากลับกลายเป็นทุกข์ไปเพราะเขาวางใจไม่ถูกต้อง เช่นสิ้นปีนี้ได้โบนัสสองแสนก็น่าจะมีความสุขกับโบนัสที่ได้ แต่หลายคนกลับทุกข์เลยเมื่อรู้ว่าเพื่อนเขาได้โบนัสสามแสน แบบนี้เพราะว่าอะไร เพราะไม่พอใจในสิ่งที่มียินดีสิ่งที่ได้ ก็จัดว่าเป็นการสละความสุขที่ชอบธรรม คือแทนที่เราจะมีความสุขกับสิ่งที่ได้เรากลับเป็นทุกข์ และคนส่วนใหญ่ที่ทุกข์ก็เพราะว่าเขาไม่ได้คิดว่าเขาได้สองแสน แต่เขาคิดว่าเขาเสียไปหนึ่งแสนหรือเขาไม่ได้หนึ่งแสน การที่มองแบบนี้ก็ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา และทำให้ไม่สามารถจะได้ความสุขจากสิ่งที่มีสิ่งที่ได้
ถ้าเราเพียงแต่ชื่นชมสิ่งที่มีเราก็จะมีความสุขได้ง่าย ความสุขที่เกิดกับเรา เราก็สามารถที่จะรับรู้ คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยชื่นชมในสิ่งที่มีเท่าไรเพราะว่าเขาคอยนึกแต่ว่าอะไรบ้างที่เขายังไม่มี เขานึกถึงแต่สิ่งที่เขายังไม่มีเขาก็เลยมีความทุกข์ เด็กๆมีของเล่นเป็นร้อยชิ้นแต่ก็ยังร้องไห้งอแง เพราะอะไร เพราะว่าเขายังไม่ได้สมาร์ตโฟน ถ้าเขาลองเหลียวไปสักหน่อยว่าฉันมีของเล่นตั้งมากมายแล้วและเพียงแต่ชื่นชมสิ่งที่เขามีเขาก็จะมีความสุขได้ แต่พอเขามองเห็นแต่สิ่งที่เขาไม่มีเขาก็จะรู้สึกว่าเขาขาด คนเราพอรู้สึกว่าขาดรู้สึกพร่องก็จะเป็นทุกข์ขึ้นมาทันที เพราะฉะนั้นมีความสุขอยู่รอบตัว มีความสุขอยู่กับตัวแล้วแต่ว่าไม่เห็น ถือว่าเป็นการสละความสุขที่ชอบธรรมอย่างหนึ่ง
มนุษย์เราชอบมองเห็นชอบสนใจจดจ่อกับสิ่งที่ยังไม่มีหรือสิ่งที่เสียไป สิ่งที่มีกลับไม่รู้จักชื่นชมมัน เราลองดูเวลาเราทุกข์เพราะเรารู้สึกว่ายังไม่ได้มีอย่างโน้น ยังไม่ได้มีบ้าน ยังไม่มีรถ ยังไม่มีตำแหน่งที่น่าพึงพอใจ แต่เราลองหันมามองว่าเรามีอะไรบ้าง แล้วเราจะพบว่าเรามีสิ่งดีๆมากมาย เรามีสุขภาพที่ดีไม่เจ็บไม่ป่วย เรามีตาที่มองเห็น หูที่ยังได้ยิน ปากที่ยังพูดได้ มือเท้าที่ยังสามารถพาเราไปไหนมาไหนได้เป็นอิสระ ถ้ามองแบบนี้แม้เจ็บป่วยหรือแม้พิการก็ยังมีความสุขได้ เพราะว่าถึงแม้จะนั่งรถเข็นยังไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเอง แต่ว่าตาก็ยังมองเห็น หูก็ยังได้ยิน กินอะไรก็ยังอร่อยอยู่ อ่านหนังสือก็ได้ ฟังเพลงก็ยังรู้สึกไพเราะ เพียงแต่เราชื่นชมสิ่งที่มีแล้วอย่าไปสนใจสิ่งที่เราไม่มี เราจะมีความสุขได้ง่ายมาก
มีผู้หญิงชาวไต้หวันคนหนึ่งอายุสามสิบ เธอเกิดมาสมองพิการ พูดไม่ได้ เดินก็ไม่ได้ต้องนั่งรถเข็น แต่ว่าเธอเขียนหนังสือได้ คนที่พิการสมองนี้ในแม่บางคนถ้ารู้ว่าลูกพิการสมองตั้งแต่อยู่ในท้องก็อาจจะทำแท้ง แต่ว่าอย่างผู้หญิงคนนี้ หวาง เหม่ย เหลียน โชคดีได้เกิดมา แล้วเธอก็มีความพากเพียรจนกระทั่งเรียนจบปริญญาเอก มหาวิทยาลัยที่มีชื่อของอเมริกา ยูซีแอลเอ มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ที่ลอสแองเจลิส ปริญญาเอกซึ่งหลายคนที่มีสุขภาพหรือมีร่างกายปกติยังไม่สามารถมีปัญญาได้เรียนได้ถึงขนาดนั้นเลย เธอก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนมากว่าขนาดพิการก็ยังสามารถที่จะเรียนจนสำเร็จ ชีวิตมีความสุขและความสำเร็จควบคู่กัน เธอได้รับเชิญไปบรรยายตามที่ต่างๆ วันหนึ่งก็ได้รับเชิญให้ไปบรรยายที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง เธอบรรยายไม่ได้ด้วยปากก็เขียนเอาใส่กระดาน
พอบรรยายจบก็มีนักเรียนคนหนึ่งถามว่า คุณเกิดมาพิการคุณรู้สึกกับตัวเองอย่างไร คำถามนี้ตรงมากที่ห้องประชุมก็เงียบเลย เพราะปกติเขาไม่ถามคนพิการตรงๆแบบนี้ แล้วก็ไม่ใช้คำว่าพิการด้วย สมัยนี้เขาใช้คำว่าบกพร่องทางสายตา แทนที่จะใช้คำว่าคนตาบอดก็ใช้คำว่าบกพร่องทางสายตา หรือบกพร่องทางร่างกายไม่ใช้คำว่าพิการ แต่เด็กคนนี้ถามตรงๆว่าคุณเกิดมาพิการนี่คุณมองตัวเองอย่างไร หวาง เหม่ย เหลียน ก็ยิ้มแล้วก็หันไปเขียนที่กระดานตอบเป็นข้อๆว่า ฉันรู้สึกกับตัวเองอย่างไร ข้อที่หนึ่ง ฉันเป็นคนน่ารัก ข้อที่สอง ฉันมีขาที่สวย ข้อที่สาม พ่อแม่รักฉัน ข้อที่สี่ พระเจ้าก็รักฉัน (เพราะเธอเป็นคริสต์) ข้อที่ห้า ฉันมีแมวที่สวยงาม ข้อที่หก ฉันเขียนหนังสือและวาดรูปได้ แต่ที่คนประทับใจคือข้อที่เจ็ด ซึ่งเป็นการสรุปทั้งหมดที่เธอพูด คือฉันเห็นแต่สิ่งที่ฉันมี ไม่มองสิ่งที่ฉันไม่มี คนพิการอย่างหวาง เหม่ย เหลียน มีความสุขได้เพราะเธอมองเห็นแต่สิ่งที่เธอมี สิ่งที่เธอไม่มีหรือว่าบกพร่องไปเธอไม่มองเธอไม่สนใจ
อย่างนี้ก็ตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “พอใจสิ่งที่มี ยินดีสิ่งที่ได้” เราได้มาเท่าไร เรามีเท่าไร เราก็ชื่นชมเห็นคุณค่าของมัน เราก็มีความสุขได้ ถ้าเราลองมองสิ่งที่มี ไม่มองสิ่งที่ไม่มี เราก็จะมีความสุขได้ง่าย ใครเขามีเท่าไรฉันไม่สนใจ เพราะถ้าเราไปสนใจเราก็รู้สึกเปรียบเทียบ ฉันมีน้อยกว่าเขาและนั่นทำให้เป็นทุกข์ เวลาคนมาฟังธรรมบางครั้งก็มีการแจกหนังสือธรรมมะ บางคนพอได้ก็ดีใจ แต่พอรู้หรือพอเห็นว่าอีกคนหนึ่งหรือหลายคนเขาได้ไม่ใช่ได้หนึ่งเล่มเหมือนตัวแต่ได้สองเล่มเขารู้สึกเสียใจเลย เขาเสียใจเพราะอะไร เพราะเขาคิดว่าเขาไม่ได้ได้หนึ่งเล่มแต่เขาขาดไปหนึ่งเล่ม ทั้งๆที่ถ้าเขาคิดว่าเขาได้หนึ่งเล่มเขาก็น่าจะมีความสุขได้ดีใจ เพราะว่ามีบางคนก็ไม่ได้หนังสือ
อาตมาเคยไปบรรยายที่หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ บรรยายเสร็จก็บอกว่ามีหนังสือติดมา แต่หนังสือไม่พอก็จะต้องมีบางคนที่ไม่ได้ ปึกแรกเป็นหนังสือเล่มเล็กขนาดเท่าฝ่ามือมาแจก คนก็มาออกันได้ไปก็ดีใจ พอหมดปึกแรกก็เอาปึกสองมา คราวนี้เป็นปึกที่ใหญ่กว่าเป็นหนังสือที่ใหญ่กว่าขนาดพ็อกเก็ตบุ๊ค คนที่มาทีหลังก็ได้ไป คนที่ได้หนังสือเล่มเล็กทีแรกดีใจแต่พอรู้ว่าเพื่อนได้หนังสือเล่มใหญ่ก็รู้สึกเสียใจ มีบางคนก็มาขอแลกเอาเล่มเล็กมาแลกเพื่อจะเอาเล่มใหญ่ ทั้งที่เขายังไม่รู้เลยว่าเล่มเล็กดีสู้เล่มใหญ่ได้หรือเปล่า แต่เพียงแค่ได้เล่มเล็กก็ไม่พอใจแล้วมาขอแลกเอาเล่มใหญ่ แบบนี้แปลว่าอะไร แปลว่าเขาไม่ได้มองว่าเขาได้แต่เขามองว่าเขาเสีย แทนที่จะมองว่าฉันได้เล่มเล็กแต่มองว่าฉันเสียเล่มใหญ่ แบบนี้ก็เรียกว่าสละความสุขที่ชอบธรรม คือแทนที่จะมีความยินดีในสิ่งที่ได้มา กลับเป็นทุกข์
เรื่องการที่ไม่สละหรือปฏิเสธความสุขที่ชอบธรรม ยังรวมถึงว่าเรารู้จักเปิดใจรับเอาความสุขที่มีอยู่รอบตัวด้วย คือนอกจากชื่นชมสิ่งที่มีแล้ว เราต้องรู้จักเปิดใจรับเอาความสุขที่มีอยู่รอบตัว จริงๆแล้วความสุขไม่ได้อยู่ไกลตัวมันอยู่รอบตัวเรา เพียงแต่ว่าเรามักจะปิดใจไม่เปิดรับความสุข มีเพื่อนอาตมาคนหนึ่งเป็นไส้เลื่อนก็ไปผ่าที่โรงพยาบาล หลังจากนั้นก็มาพักฟื้นที่บ้าน ปกติเป็นคนที่ทำงานมาก ทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ทำงานเกี่ยวกับการใช้ความคิด เป็นคนที่ขยัน แต่พอผ่าไส้เลื่อนต้องพักฟื้นประมาณอาทิตย์หนึ่ง ทำอะไรแทบไม่ค่อยได้เลยก็เลยต้องนั่งหรือไม่ก็นอนอย่างเดียว อ่านหนังสือได้บ้าง แกเล่าว่าวันหนึ่งตอนบ่ายๆ ทำอะไรไม่ได้ก็เลยไปนั่งอยู่ที่ระเบียง บ้านอยู่ชานกรุงมีต้นไม้มีบริเวณ ตอนบ่ายแก่ๆ จู่ๆก็ได้ยินเสียงนกร้อง ทีแรกก็นกเขาร้องตัวหนึ่งก่อน ตอนหลังตัวที่สอง ตัวที่สามก็ร้องตามมา คราวนี้นกก็ร้องประสานเสียงกัน แกฟังแล้วก็รู้สึกไพเราะมากเลย ไพเราะจนเรียกว่าเกิดความปีติถึงกับน้ำตาไหล
เสร็จแล้วแกก็ฉุกคิดขึ้นมาว่าบ้านนี้สร้างมานานแล้ว แกอยู่บ้านนี้มาตั้งแต่ลูกสาวยังอายุสามสี่ขวบ ตอนนี้ลูกสาวใกล้เกือบจะจบมหาวิทยาลัยแล้ว แกอยู่บ้านนี้มายี่สิบปีแล้วทำไมเพิ่งได้ยินเสียงนกร้อง คำถามคือนกเพิ่งร้องหรือเปล่า มันเพิ่งร้องวันนั้นหรือเปล่า นกไม่ได้เพิ่งร้องวันนั้น มันร้องทุกวันแต่ทำไมเขาไม่ได้ยิน ทำไมเขาเพิ่งได้ยินวันนี้ เพราะที่ผ่านมาใจเขาไม่เคยว่าง ใจเขาไม่เคยเปิดรับสิ่งที่ได้ยินอยู่รอบตัว ใจเขามีแต่การครุ่นคิด คิดถึงเรื่องงานการ บางทีก็คิดไปถึงอดีต ไปอนาคต ใจเขาเหมือนแก้วน้ำที่มีน้ำเต็มเพราะฉะนั้นเติมน้ำอะไรไปมันก็ล้นหมด แล้วมันก็ดันเป็นน้ำที่ขุ่นเสียด้วย เติมน้ำใสลงไปน้ำใสนั้นก็ล้นออกมาหมด แต่ว่าวันนั้นใจแกเปิดใจแกโล่งเพราะแกไม่ได้ทำงาน เป็นช่วงเวลาที่วางมือวางงานอย่างแท้จริง ใจก็เลยเปิดใจก็เลยโล่ง พอนกร้องก็เลยได้ยินแล้วก็รู้สึกเลยว่ามันไพเราะมาก แล้วแกก็พบว่าจริงๆแล้วความสุขนี้มีอยู่รอบตัวตลอดเวลา แต่แกไม่เคยสังเกต
เรื่องนี้เป็นตัวอย่างว่าคนเราถ้าหากว่าเพียงแค่เราเปิดใจให้ว่างหรือกว้างพอ ก็สามารถที่จะรับเอาความสุขที่มีอยู่รอบตัวได้ ความสุขเหล่านี้ก็เป็นความสุขที่ชอบธรรมเพราะว่ามันมีอยู่รอบตัวเราไม่ต้องซื้อไม่ต้องหา มีอยู่กับธรรมชาติ แต่คนเราก็ปฏิเสธหรือสละความสุขเหล่านั้นไปโดยไม่รู้ตัว เพราะว่าใจเราไม่ว่าง เขาก็ได้บทเรียนได้แง่คิดมากทีเดียวว่าจริงๆความสุขไม่ใช่เรื่องยากไม่ใช่เรื่องไกล มีอยู่รอบตัวเรานี้เอง เพียงแต่ว่าใจเราจะเปิดหรือไม่เท่านั้น เพราะฉะนั้นเรื่องการที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ไม่พึงสละความสุขที่ชอบธรรม” ก็มีความหมายรวมไปถึงว่าเราต้องรู้จักมองเห็นความสุขที่มีอยู่รอบตัว หรือมองเห็นความสุขที่มีอยู่กับตัวเราแล้ว ด้วยการชื่นชมสิ่งที่มีรวมทั้งรู้จักเปิดใจรับความสุขบ้าง
ข้อที่สาม ก็จะพูดเป็นการทิ้งท้ายเอาไว้ ข้อที่สามพระพุทธเจ้าตรัสว่า “ไม่พึงสยบในความสุขที่มี” แม้เป็นความสุขที่ชอบธรรมก็ไม่พึงสยบมัวเมาหรือยึดติด เพราะว่าความสุขที่ชอบธรรมยังไงๆก็ไม่เที่ยง ยังไงๆก็ต้องแปรเปลี่ยนไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง รวมทั้งความสุขจากการที่มีตามองเห็นธรรมชาติ ความสุขที่เกิดจากหูได้ฟังเสียงนกร้อง สักวันหนึ่งความสุขที่ว่าก็จะหดหายไป เพราะว่าตาเริ่มฝ้าฟางหูก็เริ่มจะหนวก รวมทั้งความสุขจากวัตถุต่างๆ ความสุขจากคนรัก ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ไม่เที่ยงทั้งนั้น เพราะฉะนั้นถ้าเกิดว่าสยบมัวเมาหรือไปยึดติดในความสุขเหล่านั้นก็จะเกิดทุกข์ตามมาในที่สุด ถึงแม้ว่าเราจะไม่ปฏิเสธไม่สละความสุขที่ชอบธรรมแต่เราก็อย่าไปยึดติด เราต้องรักษาใจให้เป็นอิสระ ให้เป็นนายความสุข ไม่ให้ความสุขมาเป็นนายเรา หรือไม่ใช่เราเป็นทาสของความสุข
คนที่แม้จะทำความดีและประสบความสำเร็จในชีวิต มีเงินมีทอง มียศศักดิ์อัครฐาน ก็ต้องตระหนักว่าของเหล่านี้ไม่เที่ยง สักวันหนึ่งก็ต้องหมดไปหรือแปรเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นก็อย่าไปหลงใหลยึดติดกับมันมาก ต้องทำใจเผื่อว่าสักวันหนึ่งก็จะต้องเป็นอื่นไป หรือทำใจตั้งแต่แรกว่ามันไม่ใช่ของเรา ถ้าเราวางใจแบบนี้ได้ถึงเวลาที่เกิดความผันผวนแปรปรวน น้ำท่วม ฝนแล้ง แผ่นดินไหว พัดพาทรัพย์สมบัติไป เราก็ยังเป็นสุขอยู่ได้หรือเป็นปกติ แต่ถ้าเราวางใจไม่ได้แบบที่ว่ามา พอสูญเสียไปก็จะไม่ใช่เสียแต่ของจะไม่เสียแต่คนรัก แต่ว่าอาจจะเสียสุขภาพหรืออาจจะเสียชีวิตก็ได้ เพราะว่ามีความตรอมตรม ดังนั้นการที่เรารู้จักรักษาใจไม่ให้สยบมัวเมาในความสุขที่ชอบธรรมก็จะไปเสริมกับข้อแรกคือ ไม่เพิ่มความทุกข์ให้แก่ตัวเองหรือไม่เอาความทุกข์มาทับถมตน เพราะว่าเรารู้จักปล่อย รู้จักวางได้
ข้อสุดท้าย พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ให้รู้จักพากเพียร เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ หรือทำทุกข์ให้หมดสิ้น” นี่เป็นข้อที่สำคัญทีเดียวเพราะว่าตราบใดที่เรายังไม่พากเพียรพยายามที่จะทำเหตุแห่งทุกข์ให้หมดไป ความทุกข์ก็ต้องเกิดขึ้นกับเราซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหตุแห่งทุกข์ที่ว่าท่านหมายถึงสิ่งที่อยู่ในใจ ทุกข์ที่ว่านี้หมายถึงทุกข์ใจ สาเหตุแห่งทุกข์ก็คือความยึดติดถือมั่น ความหลง ความไม่รู้ อวิชชา ถ้าเรายังไม่สามารถจะละสิ่งเหล่านี้ได้ ความทุกข์ก็ยังเกิดขึ้นกับเราไม่ใช่แค่ทุกข์กายหรือทุกข์ใจ ทุกข์กายคงจะทำอะไรไม่ได้เพราะสังขารร่างกายยังไงๆก็ต้องแก่ต้องเจ็บ หมอที่เก่งในการรักษามะเร็งคนแล้วคนเล่าก็อาจตายเพราะมะเร็งที่ตัวเองเชี่ยวชาญด้วยซ้ำ ขนาดตัวเองเชี่ยวชาญในการรักษามะเร็งของคนอื่น แต่พอตัวเองเป็นมะเร็งก็กลับไม่สามารถจะรักษาตัวเองให้ปลอดจากโรคนั้นได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่เพราะเป็นธรรมดานั้นเองที่ทำให้เราตระหนักว่า ความเจ็บความป่วยเป็นเรื่องที่ไม่อาจจะหนีได้ แต่ว่าถ้าป่วยแล้วป่วยแต่กายใจไม่ป่วย แบบนี้ทำได้ เพราะว่าเรารู้จักสามารถที่จะวางจิตวางใจได้ถูก วางจิตวางใจได้เป็น ซึ่งอย่างนี้ก็เกิดจากการที่เราเพียรพยายามในการทำเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไป
การปฏิบัติธรรมคือการพยายามที่จะทำให้เราไม่เพียงแต่ไม่สร้างทุกข์มาทับถมตนเท่านั้น การปฏิบัติธรรมก็ยังสามารถที่จะทำให้เราได้พบกับความสุขที่ชอบธรรมที่เรามีอยู่แต่เราไม่เคยคิดว่ามีอยู่ คือความสุขในจิตใจและความสุขจากสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว และช่วยทำให้เราเป็นอิสระจากความสุขที่ชอบธรรม ไม่สยบมัวเมาได้ และถ้าเราพากเพียรอย่างเต็มที่ ปฏิบัติอย่างถูกวิธี ไม่เพียงแต่ได้พบความสงบใจแต่ว่าเกิดปัญญา เราจะสามารถที่จะทำเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไปได้ เพราะฉะนั้นฝากเอาไว้ ท่าทีต่อสุขและทุกข์สี่ประการนี้เป็นประโยชน์และจำเป็นมาก ไม่ว่าเราจะใช้ชีวิตทางโลกหรือทางธรรม