แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีญาติโยมหลายคนหลายคณะเวลามาเยี่ยมอาตมา คุยกันได้สักพักเขาก็จะขอให้แสดงธรรม แบบนี้ก็ยังดีเพราะว่าหลายคณะพอได้สนทนากันสักหน่อย ถวายสังฆทานเสร็จก็ตบท้าด้วยการถ่ายรูป เสร็จแล้วก็รีบไป คณะที่เขาอยากจะฟังธรรมก็เรียกว่ามีความตั้งใจ แต่จะดียิ่งขึ้นถ้าหากว่าก่อนจะมาก็เตรียมตัวสักหน่อย ทำการบ้านสักหน่อยว่าอยากจะฟังเรื่องอะไร บางทีไม่ได้คิด พอมาถึงมีเวลาไม่นานก็ขอให้อาตมาแสดงธรรมเหมือนกับเป็นเทปเปิดปุ๊บติดปั๊บ ควรจะเตรียมตัวมาสักหน่อยว่าอยากจะฟังเรื่องอะไร หรืออย่างน้อยๆก็เตรียมคำถามมาว่าอยากจะถามเรื่องอะไร แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมมา อุตส่าห์เดินทางไกลมาจากกรุงเทพก็มี พอถามว่าอยากให้แสดงธรรมเรื่องอะไรก็ตอบไม่ได้ มาสนทนากันแบบนี้ก็ควรจะได้ฟังเรื่องที่สนใจ
บางคณะอาตมาก็ไม่ได้สนองศรัทธาทันที ถ้าอยากจะให้แสดงธรรมก็ไม่แสดงแต่ถามว่ามีอะไรอยากจะรู้หรือมีคำถามไหม หลายคณะพอเจอคำถามนี้ก็ตอบไม่ได้ว่าจะถามอะไร เพราะคนไทยเราก็ไม่ได้ชอบตั้งคำถามเท่าไร อาจจะติดนิสัยมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนให้อาจารย์บรรยายอย่างเดียว เหมือนกับว่าก็ต้องรอให้คนมาป้อน ที่จริงแล้วถ้าจะมาหาพระ อยากจะมาฟังธรรมก็ควรจะคิดสักหน่อยว่าอยากจะฟังเรื่องอะไร คือถ้าให้ดีก็เตรียมคำถามมา เพราะโอกาสที่จะได้มาถึงวัดป่าสุคะโตไม่ใช่ว่าง่าย เสียวลาหลายชั่วโมง แล้วบางทีก็ได้แค่รูปถ่ายกลับไป แล้วก็ได้บุญที่เกิดจากการถวายสังฆทาน สิ่งนั้นก็ดีอยู่แต่ก็น่าจะได้มากกว่านั้น เตรียมคำถามมาว่าอยากจะรู้เรื่องอะไร หรือมีความทุกข์เรื่องอะไร
มีคณะหนึ่งเป็นคณะเล็กๆ 3-4 คน พออาตมาบอกว่ามีอะไรจะถาม เขาก็อึ้งสักพัก แล้วคนหนึ่งก็พูดขึ้นมาว่ามีปัญหาเรื่องลูก ห่วงลูก เรียกว่าเป็นทุกข์เพราะลูกก็ได้ เพราะลูกนั้นพ่อสอนอย่างไรก็ไม่ฟัง ลูกชอบกินเหล้าไม่เลือกเวลากิน อายุก็คงเป็นหนุ่มอาจจะเพิ่งจบหรือกำลังเรียนอยู่ก็ได้ เรื่องนี้ก็เป็นปัญหาของอีก 2 คนที่มาด้วยมีปัญหาเรื่องลูก เขาเป็นทุกข์ว่าสอนลูกอย่างไรลูกก็ไม่เชื่อฟัง อาตมาก็เลยบอกไปว่า ลูกจะฟังพ่อหรือฟังแม่ก็ตามนั้นต้องเริ่มต้นจากพ่อแม่ต้องฟังลูกก่อน ส่วนใหญ่พ่อแม่ไม่ค่อยฟังลูก ตอนลูกเด็กๆ พ่อแม่ก็สั่งสอนอย่างเดียวหรือห้ามอย่างเดียวหรือบังคับอย่างเดียว พอลูกโตขึ้นลูกก็ไม่ฟังพ่อแม่ แบบนี้เกิดขึ้นเป็นประจำ ตรงข้ามกับครอบครัวบางครอบครัวที่พ่อแม่นั้นฟังลูก มีเวลาคุยกับลูก พอลูกเป็นวัยรุ่นมีปัญหาอะไรลูกก็มาคุยกับพ่อแม่ หรือพ่อแม่มีอะไรจะแนะนำลูก พูดไปลูกก็ฟัง เป็นอย่างนี้จริงๆ คือถ้าพ่อแม่ไม่ฟังลูกพอโตขึ้นลูกก็ไม่ฟังพ่อแม่ หรือบางทีไม่ต้องรอให้ลูกโต ลูกขนาดที่ยังเด็ก 9 ขวบ 10 ขวบ ก็เริ่มไม่ฟังพ่อไม่ฟังแม่
เราอยากจะให้ใครฟังเรา เราต้องเริ่มต้นจากที่เราฟังเขาก่อน สิ่งนี้เป็นเรื่องที่คนมักจะมองข้าม แทนที่จะสอนก็คุยกัน พ่อแม่ไม่ค่อยคุยกับลูกเท่าไรเพราะว่าส่วนใหญ่ใช้วิธีการสอนอย่างเดียว สั่งอย่างเดียว การพูดคุยหมายถึงฝ่ายหนึ่งพูดฝ่ายหนึ่งฟัง แล้วถึงเวลาฝ่ายหนึ่งพูดอีกฝ่ายหนึ่งก็ฟังบ้าง เรียกว่าเป็นการสนทนาซึ่งจะช่วยเวลาลูกมีปัญหา คนแรกที่ลูกจะมาบอกมาคุยมาเล่าให้ฟังคือพ่อแม่ แต่ว่าลูกเดี๋ยวนี้มีปัญหาอะไรก็ตามเขาจะไม่คุยไม่บอกเล่าให้พ่อแม่ฟังก่อนเพราะว่าในบ้านไม่เคยมีการคุยกัน มีแต่การพูดทางเดียวเรียกว่าสอน ก็บอกเขาไปว่าวัยรุ่นสมัยนี้เขาจะเชื่อเพื่อนมากกว่า โยมก็เห็นด้วยว่าจริง ลูกๆเขาเชื่อเพื่อนมากกว่า ก็ถามไปว่ารู้ไหมทำไมลูกเชื่อเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ เขาก็ไม่รู้ เลยตอบเขาไปว่าเป็นเพราะเพื่อนไม่สั่งไม่สอนเขา ลูกเชื่อเพื่อนเพราะเพื่อนไม่สั่งสอนลูก แต่คุยกัน ลูกคบเพื่อนเพราะเพื่อนไม่เอาแต่สอน แต่คุยกัน ลูกเชื่อฟังดาราเพราะดาราไม่ได้สั่งสอนเขา เรื่องนี้เป็นสิ่งที่คนเป็นพ่อแม่มักจะมองข้าม
ถ้าเริ่มต้นจากการฟัง ถึงเวลาจะพูดก็พูดอย่างมีการใคร่ครวญสักหน่อย จะพูดให้ได้ผลก็ต้องรู้จักคิดใคร่ครวญ ถึงเวลาจะแนะนำก็ต้องแนะนำให้เป็น ให้โดนใจเขา ให้เขารับฟัง ส่วนใหญ่ก็อย่างที่ว่าคือ สั่ง และ ว่า แต่ที่จริงมีวิธีการสื่อสาร การสื่อสารกับการสั่งสอนไม่เหมือนกัน การสื่อสารคือการพูดกันดีๆ พูดโดยการเอาความรู้สึกของพ่อแม่มาถ่ายทอด มาสื่อสารให้ลูกฟังว่า ลูก ตอนนี้พ่อแม่รู้สึกอย่างไรที่ลูกกินเหล้า หรือว่าถ้าเป็นเด็กเล็กหน่อย พ่อแม่รู้สึกอย่างไรที่ลูกไม่ทำการบ้าน ลูกนอนตื่นสาย
มีแม่คนหนึ่งมีความทุกข์มาก ลูกอายุ 10 ขวบ ตื่นสายเป็นประจำ ปลุกแล้วก็ไม่ยอมตื่น ตื่นแล้วก็โยกโย้ แม่ว่าแล้วว่าอีกก็ไม่สนใจ บางทีแม่ตีเลย ทุบตีลูกเลยเพราะลูกไม่เชื่อฟังแม่ แล้วแม่ก็เสียใจ วันหนึ่งแม่ไปเข้าคอร์สเกี่ยวกับการสื่อสาร เขาแนะนำว่าเวลาจะคุย เริ่มต้นให้นับ 1-100 ก่อน นับ 1-100 แล้วค่อยว่าลูก แม่ก็ทำ เวลาเขาจะว่าลูกเขาก็นับ 1-100 พอนับ 1-100 ใจเขาก็เย็น แล้วเขาก็ได้รับการแนะนำว่าเวลาคุยกับลูกนั้น ให้พูดถึงความรู้สึกตัวเอง เช่น ลูก ตอนนี้แม่ไม่สบายใจ แม่วิตกกังวลที่ลูกตื่นสาย เพราะว่าพอลูกตื่นสายลูกก็จะไปโรงเรียนสาย แม่ก็จะไปทำงานช้า ขอให้ลูกรีบลุกขึ้นมาอาบน้ำแปรงฟัน ปรากฏว่าพอแม่พูดอย่างนี้กับลูก ลูกฟัง ลูกก็อาจจะแปลกใจว่าแต่ก่อนนี้แม่ด่าอย่างเดียวเลย ว่าอย่างเดียว หรือขู่ แต่วันนี้แม่พูดดี แม่ไม่ได้ว่าตัวเอง แต่พูดถึงความรู้สึกตัวเองว่ารู้สึกอย่างไรที่ลูกนั้นนอนตื่นสาย และแม่อยากให้ลูกทำอะไร อยากให้ลูกรีบลุกขึ้นมาล้างหน้าแปรงฟัน เด็กร่วมมืออย่างดีเลยเพราะว่าแม่พูดดีกับลูก ตอนหลังความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกก็ดีขึ้น จนกระทั่งวันหนึ่ง ลูกบอกแม่ว่า ลูกรักแม่ มาถ่ายรูปด้วยกัน ก่อนหน้านั้นไม่เคยพูด ลูกไม่เคยพูดอย่างนี้กับแม่ ความสัมพันธ์เปลี่ยนเพราะว่าแม่เริ่มฟังลูกแล้วก็มีวิธีการสื่อสารกับลูก ไม่ใช่สั่ง ไม่ใช่ห้าม ไม่ใช่ด่า ไม่ใช่ว่า
สมัยนี้เด็กไม่เหมือนสมัยก่อน สมัยก่อนพ่อแม่หรือครูจะว่าอย่างไร เด็กจะไม่ถือสา จะยอม เดี๋ยวนี้เด็กมีความเป็นตัวของตัวเองมาก แล้วพ่อแม่ก็ไม่เข้าใจ เอาความรักของตัวเองเป็นตัวตั้ง เพราะคิดว่าตัวเองรักและปรารถนาดี หวังดีแล้วทำอะไรจถูกทั้งนั้น เรื่องนี้ไม่จริง ความปรารถนาดีแต่ถ้ายึดมั่นถือมั่นมากก็ก่อให้เกิดผลเสียผลร้ายได้ หญ้าคาที่จับไม่ดีมันก็บาดมือเอา ก็บอกญาติโยมกลุ่มนี้ว่า ถ้าเรารักเขาเราอย่าเอาตัวเราเป็นตัวตั้ง ต้องเอาเขาเป็นตัวตั้ง คือพยายามเข้าใจเขา เข้าใจว่าเขามีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ยิ่งเป็นวัยรุ่นยิ่งต้องทำความเข้าใจความรู้สึกของเขา เพราะถ้าไม่พยายามเข้าใจเขา คำพูดของเราอาจจะไปเกิดผลเสียกับเขาได้ เดี๋ยวนี้พ่อแม่ไม่ค่อยได้พยายามเข้าใจจิตวิทยาของเด็กหรือของลูกของตัวเอง เอาแต่ความต้องการของตัวเอง ความปรารถนาดีของตัวเองเป็นหลัก ถ้าเรารักเขาต้องพยายามเข้าใจเขา รู้จักเขาให้มาก อย่าว่าแต่อะไรเลยแม้กระทั่งศัตรู ซุนวูก็ยังบอกเลยว่า รู้เราอย่างเดียวไม่พอยังต้องรู้เขาด้วย ขนาดทำศึกสงครามก็ต้องรู้จักศัตรู รู้เรารู้เขา ร้อยศึกก็บ่พ่าย
ลูกนั้นไม่ใช่ศัตรู เป็นยอดรักของเรา ยิ่งต้องเข้าใจเขา รู้จักเขา พยายามฟังเขาให้มาก ถ้ารู้จักเขาแล้วก็ต้องรู้จักถาม เช่น ลูกกินเหล้า ลูกตื่นสาย ก็ถามลูกเลย ทำไมถึงชอบกินเหล้า กินเหล้าดีอย่างไร ถามด้วยความอยากจะรู้ คำตอบของลูกจะทำให้พ่อแม่เข้าใจลูกและรู้จักลูกมากขึ้น แล้วก็รู้ว่าจะสื่อสารกับลูกอย่างไร แต่เดี๋ยวนี้พ่อแม่ไม่ค่อยถามลูกเท่าไหร่ เพราะอย่างที่บอกไม่ค่อยคุยกันเท่าไร แล้วพ่อแม่ก็คิดว่ารู้จักลูกดี เพราะว่าพ่อแม่เคยเป็นวัยรุ่นเหมือนลูก แบบนี้ก็ไม่ถูก เพราะว่าประสบการณ์ของลูกกับประสบการณ์ของเราจะแตกต่างกัน หลายคนมักจะมองว่า ฉันรู้จักลูกดีเพราะว่าฉันอาบน้ำร้อนมาก่อนแก สิ่งนี้ก็ทำให้ไม่ฟังลูก ไม่พยายามเข้าใจลูก เพราะคิดว่าฉันรู้จักลูกดีแล้ว ความคิดว่าฉันรู้จักลูกดีแล้วอันตรายมากเลย เพราะว่าทำให้ไม่ฟังเขา ทำให้เราคิดว่าเราตัดสินล่วงหน้าเรียบร้อยไปแล้ว การตัดสินล่วงหน้าการสรุปล่วงหน้าทำให้เราไม่ฟังไม่รับรู้ แล้วทำให้การสื่อสารมีปัญหาเพราะเราคิดว่าเรารู้แล้ว ดังนั้นการสื่อสารก็กลายเป็นการสั่งสอนไป วัยรุ่นเจอแบบนี้ก็ยิ่งต่อต้าน ฉะนั้นพยายามรู้จักเขาให้มากแล้วก็เอาเขาเป็นตัวตั้ง อย่าเอาเราและเอาประสบการณ์ของเราเป็นตัวตั้ง อย่าเอาความหวังดีของเราเป็นตัวตั้ง ว่าถ้าเราหวังดีแล้วลูกต้องทำตามทุกอย่าง ก็ฉันรักลูกฉันหวังดีกับลูก ความคิดแบบนี้ทำให้พ่อแม่เสียใจมามากแล้ว เพราะทำให้ลูกเตลิดเปิดเปิงไป
ถ้าเราพยายามทำทุกอย่างแล้ว พยายามฟังแล้ว พยายามคุยแล้ว พยายามสื่อสาร ถามก็ถามแล้ว พยายามเข้าใจเขาแล้ว เขาก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง อย่างนี้ก็ต้องปล่อยวาง ปล่อยวางในที่นี้หมายความว่า ต้องยอมรับความจริงที่ว่าเราสอนเขาไม่ได้ พ่อแม่ส่วนใหญ่ทุกข์เพราะคิดจะไปบังคับลูกให้เป็นไปตามใจตัว ลูกไม่ใช่ของเรา บังคับให้เป็นไปตามใจไม่ได้ อย่าว่าแต่ลูกเลย ร่างกายของเราเองเรายังบังคับมันไม่ได้เลย บังคับไม่ให้ป่วย บังคับไม่ให้เมื่อย เรายังบังคับไม่ได้ ใจก็เหมือนกัน บังคับไม่ให้ฟุ้ง บังคับไม่ให้โกรธ ก็ยังบังคับไม่ได้ ขณะร่างกายจิตใจเรายังบังคับไม่ได้ จะไปบังคับลูกได้อย่างไร เราจะบังคับลูกให้เป็นไปตามใจเราได้ก็ต่อเมื่อเราบังคับกายและใจของเราได้ เราคิดแต่จะไปบังคับคนอื่นไปสั่งคนอื่น แต่เราสั่งกายก็ไม่ได้ สั่งใจก็ไม่ได้ ในเมื่อเราสั่งกายสั่งใจของเราเองไม่ได้ แล้วเราจะไปสั่งลูกได้อย่างไร
มีเพื่อนของอาตามาคนหนึ่ง ไปเจออาตมาในงานศพของพ่อเพื่อน พอไปถึงเขาก็มาขอบคุณ อาตมาก็งงว่าขอบคุณเรื่องอะไรเพราะไม่ได้เจอกันนานทีเดียว รู้จักกันตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือเมื่อ 50 ปีที่แล้ว คบกันมา 50 ปี แต่ไม่ค่อยได้เจอกัน นานๆจะเจอกันครั้ง เจอกันในงานศพพ่อเพื่อนเขาก็มาขอบคุณ แล้วเขาก็เล่าว่าเมื่อเร็วๆนี้เขาฟังคำบรรยายของอาตมา อาตมาได้พูดว่ามันไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย อย่าว่าแต่สิ่งของเลย ร่างกายจิตใจเราก็ยังไม่ใช่ของเรา บังคับให้เป็นไปตามใจปรารถนาไม่ได้ ลูกก็เหมือนกัน ลูกก็ไม่ใช่ของเรา เราเลี้ยงได้แต่ตัว แต่เดี๋ยวนี้เลี้ยงได้แต่ตัวก็ไม่ถูกแล้ว เราเลี้ยงไม่ได้แม้กระทั่งตัวเขา เราอยากให้เขาผอม เขาอ้วนมากเขาก็ไม่ยอมผอมสักที ความอ้วนก็ไม่ลด หรือบางคนอยากจะให้ลูกอ้วน แต่ลูกก็ไม่อ้วนลูกก็ยังผอม คำว่าเลี้ยงได้แต่ตัวก็ยังไม่ถูก ตัวก็เลี้ยงไม่ได้ ใจก็ยิ่งแล้วใหญ่ เขาได้ฟังก็ได้คิด
เพราะเขามีปัญหากับลูกชายที่กำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ตัวเขาเองเป็นนักธุรกิจ เคยทำธุรกิจเป็นระดับพันล้านเลย เป็นคนเก่ง ขยันเรียน มีวินัย แต่ลูกไม่ค่อยสนใจการเรียน การเรียนก็ไม่ค่อยดี วินัยก็ไม่ต้องพูดถึง พ่อก็พยายามจ้ำจี้จ้ำไชลูก บางทีก็ถึงกับต่อว่าลูก ลูกก็ยิ่งต่อต้าน เขาเองก็เครียด ความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับเขาก็ห่างเหิน เขาได้ฟังที่อาตมาพูด เขาก็ได้คิดแล้วก็เริ่มปล่อยวาง ก็ดุด่าว่ากล่าวน้อยลง ก็เพราะว่าเขาผ่อนคลายมากขึ้น แต่ที่เขาแปลกใจไม่คาดคิดก็คือว่า ความสัมพันธ์กับลูกกลับดีขึ้น วันหนึ่งลูกมาบอกเขาว่าพ่อเปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้พ่อฟังลูกมากขึ้น แกงงเพราะแกคิดว่าแกไม่ได้ทำอะไรมาก แกเพียงแค่ปล่อยวาง ไม่ได้คิดที่จะฟังลูกให้มากขึ้นเลยแต่มันฟังเอง พอปล่อยวางแล้วใจเปิดกว้าง ความเปลี่ยนแปลงก็ปรากฏโดยที่ไม่ตั้งใจด้วยซ้ำ แต่มันเริ่มต้นที่ใจก่อน พอใจเปลี่ยนอากัปกิริยาความสัมพันธ์ก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ตอนนี้ลูกก็เริ่มทำตัวดีขึ้นแล้ว ทำตัวดีขึ้นโดยที่พ่อไม่ได้จ้ำจี้จ้ำไช เพียงแค่พ่อปล่อยวางแค่นั้น ลูกเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของพ่อ แล้วก็เริ่มฟังพ่อมากขึ้น เขาก็เลยมาขอบคุณ
อาตมาก็แนะนำเขาไปว่า อย่าคาดหวังในตัวลูก แต่ให้มีความหวังในตัวเขา เรื่องนี้อาตมาก็ฟังมาอีกทีหนึ่ง รู้สึกจะเป็นคุณแม่เทเรซาเคยกล่าวเอาไว้ ซึ่งก็จริงเพราะว่าหลายคนพอเปลี่ยนจากความคาดหวัง เป็นความหวัง ความสัมพันธ์ดีขึ้น เวลาเราคาดหวังใครคนนั้นก็อึดอัด เราเองก็ทุกข์เพราะว่าเขาไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวังสักที คนที่ถูกคาดหวังก็อึดอัด เพราะว่าพอไม่เป็นไปตามความคาดหวังของเรา เราก็ว่าเขา แต่ถ้าเกิดว่าเราเปลี่ยนจากความคาดหวัง เป็นความหวัง คนที่รู้สึกว่าพ่อแม่มีความหวังกับเรานั้น ก็จะรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น แต่ก่อนรู้สึกแย่ทำอะไรก็ไม่ถูกใจพ่อแม่ ทำอะไรก็ผิดไปหมด เพราะพ่อแม่คาดหวังสูง แต่พอพ่อแม่เปลี่ยนจากความคาดหวังเป็นความหวัง ลูกรู้สึกดีขึ้นว่าเรายังมีอะไรดีให้พ่อแม่ได้หวัง เช่น หวังในตัวลูกว่าไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร ลูกก็จะเป็นคนดีพึ่งพาตัวเองได้ ลูกจะเรียนอะไรเรียนที่ไหนไม่เป็นไร อย่างไรแม่กับพ่อก็มีความหวังในตัวลูกเสมอ มีความทุกข์มีความผิดหวังอย่างไร ก็อย่าลืมว่ามีพ่อแม่ค่อยช่วยเหลือลูกอยู่ คอยให้ความหวังกับลูกอยู่ ก็บอกเขาไปว่าแม้ลูกจะกินเหล้า แต่ก็ให้มีความหวังกับลูกว่ายังไงเขาก็คงจะเป็นคนดี สามารถจะเป็นคนดี แล้วก็สามารถจะนำพาชีวิตตัวเองไปในทางที่ถูกต้องได้ ถ้าเราพูดแล้วพยายามแนะนำแล้วซักถามเขาแล้ว เขาก็ยังกินเหล้าเหมือนเดิม ก็ให้มีความหวังในตัวเขา สิ่งนี้ก็เป็นข้อคิดซึ่งอาจไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูป แต่ว่าช่วยพ่อแม่หลายครอบครัวได้มากทีเดียว