แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เดือนนี้เดือนสิงหาคม เป็นเดือนที่สำคัญสำหรับลูกศิษย์หลวงพ่อคำเขียน เพราะว่าวันคล้ายวันเกิดหลวงพ่อ รวมทั้งวันที่คล้ายวันมรณภาพหลวงพ่อเป็นเดือนสิงหาคม วันที่ 12 สิงหาคมเป็นวันคล้ายวันเกิดหลวงพ่อ และวันที่ 23 สิงหาคมเป็นวันคล้ายวันมรณภาพหลวงพ่อ ลูกศิษย์ก็จัดกิจกรรมหลายอย่าง 12 สิงหาคมก็ปลูกป่าที่ภูสามชั้น สิ่งนี้พวกเราก็ได้ไปร่วมกันแล้ว อาทิตย์ที่แล้วมีงานปฏิบัติธรรมและงานสนทนาธรรมที่กรุงเทพ จัดที่หอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ มีปฏิบัติธรรมและสนทนาธรรม 3 วัน ทำอย่างนี้มาทุกปี ตั้งแต่ปี 2558 ปี 2559 ในปี 2560 เน้นเรื่องธรรมะของหลวงพ่อในระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ ตั้งชื่อว่า “ธรรมะเดินทาง” มีการเชิญชวนลูกศิษย์ลูกหาที่เคยเดินทางไปต่างประเทศกับหลวงพ่อ มาเล่าว่าได้เรียนรู้อะไรบ้างจากหลวงพ่อ
อาตมาได้รับนิมนต์ไปพูดด้วยเพราะว่าเคยเดินทางไปกับหลวงพ่อ ปี 2534 ไปประเทศอินเดีย ปี 2536 ไปประเทศอินโดนีเซีย ปี 2539 ไปประเทศฟิลิปปินส์ ปี 2540 ไปประเทศอเมริกา ปี 2548 ไปประเทศศรีลังกา ตอนที่ไปครั้งแรกคือประเทศอินเดียไปกันกลุ่มเล็กๆ 5 คน พระ 3 โยม 2 อินเดียเมื่อ 26 ปีก่อนไปลำบากเพราะว่าเขายังไม่ค่อยเปิดประเทศเท่าไร รถยนต์ก็มีแต่รถเก่าๆ คันใหญ่ๆ หนักๆ ผลิตในประเทศ ส่วนรถญี่ปุ่นนั้นหายาก รถญี่ปุ่นรถเกาหลีแทบไม่เห็นเลย มีแต่รถของอินเดีย ไปไหนมาไหนก็ลำบาก นั่งรถไฟ ขนาดนั่งรถไฟชั้นสองจองตั๋วแล้วก็ไม่รู้ว่าจะได้นั่งหรือไม่ ที่จริงจองตั๋วก็ยาก ทุกวันนี้ก็ยังยากอยู่เลย ใครจะจองตั๋วต้องมีหนังสือเดินทาง (Passport) ถ้าเป็นคนต่างประเทศ แล้วบางทีก็ไม่แน่ใจว่าจะต้องให้ค่าน้ำร้อนน้ำชาคนขายหรือเปล่า
เคยนั่งรถไฟเที่ยวกลางคืน จองตั๋วรถไฟชั้นสอง คนเขาบอกว่าต้องจ้างคนมาคอยจองที่นั่งให้เราด้วย เขาบอกว่าแม้เราจะซื้อตั๋วแล้ว แต่พอรถไฟมาเราอาจจะไม่ได้นั่ง เพราะว่าคนอื่นเขาก็จะมานั่ง เขาไม่สนใจ บางทีเขามีตั๋วชั้นสามบางทีเขาไม่มีตั๋วเลยแต่เขาจะมานั่งที่ของเรา เราก็จะไปไล่ให้เขาออกไปก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องมีการจ้างคนมาเพื่อที่จะมาชิงที่นั่งให้เรา เคยเห็นไหมพอรถมา รถไฟค่อยๆจอด คนที่เราจ้างเขาก็จะรีบวิ่งขึ้นไปบนรถแล้วไปนั่งตรงที่ของเราเพื่อไม่ให้คนอื่นมานั่งตรงนั้น พอเรามาถึงเขาก็จะลุกให้เรานั่ง เพราะเราให้ค่าจ้างเขา 10 รูปีบ้าง 20 รูปีบ้าง ถ้าไม่จ้างมีตั๋วก็ไม่ได้นั่ง เพราะคนอื่นมาชิงไปแล้ว มาแย่งไปแล้ว นี่คือประเทศอินเดีย
รถไฟชั้นสามยิ่งแล้วใหญ่ คนแน่นไปหมด รถไฟชั้นสองขนาดเรามีที่นั่ง ถ้าเราลุกไปเข้าห้องน้ำกลับมาอาจจะไม่ได้นั่ง คนอื่นจะมานั่งแทน มีตั๋วก็ไม่มีประโยชน์ ตรงพื้นก็มีคนนั่ง ถ้าไม่มีตั๋วเขาก็นั่งพื้น เป็นเรื่องลำบากขึ้นรถไฟอินเดีย สมัยนี้ดีกว่ามาก ไปอินเดียเรียกว่าผจญภัย พวกเราซึ่งเป็นโยมรวมทั้งอาตมาซึ่งเป็นคนจัดรายการ ไปแต่ละที่ก็ต้องคอยลุ้นว่าจะไปได้ถึงที่หมายหรือไม่ เพราะว่ามีอุปสรรคมากมาย รถไฟบางทีก็มาช้า 4-5 ชั่วโมง บางทีช้าเป็นวันเลย รถไฟไทยที่เขาว่าช้าแล้วสู้รถไฟอินเดียไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่มีความแน่นอน สมัยนั้นพวกเราก็ยังหนุ่มอยู่จะทำอะไรต้องมีความแน่นอน พอเจออะไรที่เป็นความไม่แน่นอนเข้าก็เริ่มกังวลหรือว่าเครียด คนเดี๋ยวนี้ก็ยังเหมือนกัน คนสมัยนี้ถ้าไม่ใช่เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว อย่าว่าแต่คนหนุ่มเลยคนแก่เวลาไปอินเดียก็เครียดเพราะว่าหาความแน่นอนไม่ได้
แต่หลวงพ่อไม่ว่าไปที่ไหนๆ ท่านสงบ ท่านนิ่ง ปัญหาต่างๆเกิดขึ้นไม่ทำให้ท่านเป็นทุกข์เลย พาท่านไปอินเดียเกือบ 3 อาทิตย์ ท่านไม่เคยบ่นอะไรเลย ทั้งๆที่เป็นการไปอินเดียครั้งแรก หลายที่ที่ท่านอยากจะไปบางทีก็ไม่ได้ไป เช่นคราวหนึ่งเราตั้งใจว่าจะไปสาวัตถี สาวัตถีมีวัดใกล้ๆ คือวัดเชตวัน เป็นวัดที่พระพุทธเจ้าจำพรรษา 20 กว่าพรรษา พระพุทธเจ้ามีชีวิตอยู่ 45 พรรษาหลังจากที่ทรงตรัสรู้ ประมาณครึ่งหนึ่งอยู่ที่เชตวัน พวกเราก็ฝากให้บริษัทนำเที่ยวของอินเดียช่วยจัดหารถให้ เป็นรถเก๋งคันใหญ่ๆ หนักๆ แล้วก็ให้ซื้อตั๋วให้ด้วย จ่ายให้ซื้อตั๋วเครื่องบินจะบินไปกรุงเดลี รู้สึกว่าจากพาราณสี จ่ายเงินค่าเครื่องบินแล้วส่วนค่ารถไปจ่ายเมื่อถึงที่ ได้ตั๋วเครื่องบินแล้วเราก็นั่งรถไป ใช้เวลาเป็นวันกว่าจะไปถึงนั่นตอนกลางคืนเวลาประมาณ 3 ทุ่ม กำลังจะจ่ายเงินค่ารถ อาตมาก็เผอิญมาเปิดดูตั๋วเครื่องบินก็เห็นว่าผิด ไม่ได้เป็นอย่างที่เราตกลงกันไว้ ตั๋วเครื่องบินนั้นเวลาก็ไม่ใช่ แล้วก็ยังไม่แน่นอนด้วยว่าได้นั่งหรือไม่ เพราะว่าเป็นการจองสำรองเอาไว้ แปลว่าโดนแขกหลอกแล้ว ทำอย่างไรให้เงินค่าตั๋วเครื่องบินไปแล้ว แต่เรายังไม่ได้ให้ค่ารถก็เลยไม่จ่ายค่ารถ แล้วก็ตัดสินใจว่าไม่ไปแล้วสาวัตถี จะกลับไปพาราณสี ไปเล่นงานแขก จึงตกลงนั่งรถคันนั้นกลับไปเพื่อที่จะไปสะสางเรื่องนี้ เพราะว่าถูกแขกหลอกเรื่องเครื่องบิน
หลวงพ่อท่านก็ไม่ได้เสียดายเลย ทั้งที่ท่านมีความสนใจที่จะไปสาวัตถี หรือที่เชตวันท่านก็สนใจ เพราะท่านอยากจะเห็นว่าสาวัตถีที่พระพุทธเจ้าพูดถึง เชตวันที่พระพุทธเจ้าได้จำพรรษาตอนนี้เป็นอย่างไร แต่พวกเราซึ่งเป็นคนจัดเห็นว่าถ้าหากว่าแขกเขาทำอย่างนี้แล้วเราไม่ทำอะไรเลยเขาจะได้ใจ ต่อไปเขาก็จะไปทำกับคนไทยแบบนี้ไปเรื่อยๆ เราก็เลยตกลงว่าต้องเปลี่ยนแผนกลับไปพาราณสี แล้วก็ไปเล่นงานแขกและให้แขกจัดการคืนเงินค่าเครื่องบิน เพราะว่าไม่เป็นไปตามที่ตกลง แล้วถึงจะจ่ายค่ารถให้ อะไรทำนองนี้ รายละเอียดจำไม่ได้มาก พอกลับไปถึงก็ได้อย่างที่ต้องการ แขกก็ยอม เพราะไม่เช่นนั้นเราไม่ยอมจ่ายค่ารถให้ ค่ารถก็มากเหมือนกัน ก็เสียเวลานั่งรถกลับมาที่พาราณสี แขกก็โวยวายแต่ทำอะไรเราไม่ได้เพราะเขาทำผิดข้อตกลง ก็จะมีเรื่องแบบนี้ที่แขกพูดอย่างทำอย่าง
หลวงพ่อท่านให้พวกเราดำเนินการไปได้ทุกอย่าง แม้ว่าสิ่งที่เราทำอาจจะไม่ตรงกับความคิดของหลวงพ่อ ท่านก็ไม่ว่าอะไร ถือว่ามอบหมายให้พวกเราเป็นผู้จัดการแล้ว ท่านไว้ใจเต็มที่ การที่คนเราจะไปอินเดียแล้วไม่บ่นเลย หายาก หลวงพ่อท่านไปเจออะไรที่ไม่เป็นไปอย่างที่ต้องการ อย่างที่คาดหวัง อย่างที่วางแผนไว้ ท่านก็ไม่ว่าอะไร เหมือนกับท่านมองว่าทุกอย่างก็เป็นอย่างนั้นเอง ความไม่แน่นอนเป็นธรรมดา คนไปอินเดียถ้าไปแบบนี้มีความสุข คือเจออะไรใจก็นิ่งได้ ถ้าไปแล้วถ้าวางจิตวางใจไม่เป็นไปอินเดียก็ยิ่งทุกข์มากเลย เพราะว่านอกจากจะไม่มีความแน่นอนแล้ว อาจจะมีการหลอก อาจจะมีการโกง เรื่องนี้เป็นสิ่งที่หลายคนจึงไม่ชอบไปประเทศอินเดีย แต่ถ้าวางใจสบายๆ แบบหลวงพ่อ ไปที่ไหนใจก็ปกติ แถมมีความสุขด้วย
แต่เวลาหลวงพ่อได้เจอสิ่งที่หลวงพ่ออยากเห็น ท่านก็ไม่ถึงกับยินดี เวลาเจออะไรที่ไม่ชอบ เวลาเจออะไรที่ไม่เป็นไปอย่างที่วางแผนไว้ หลวงพ่อก็ไม่ได้ยินร้าย เวลาได้ไปเจอสถานที่ที่หลวงพ่ออยากจะเห็น ท่านก็ไม่ได้มีอาการยินดีหรือตื่นเต้นดีใจอย่างฆราวาสทั่วไป พาท่านไปถ้ำอชันตา ถ้ำเอลโลรา เป็นถ้ำเขาแกะสลักจนกลายเป็นวัดสวยงาม เหมือนกับก่อด้วยอิฐเจาะเข้าไปในหิน แล้วทำให้เป็นวัดขึ้นมา เหมือนกับเอาอิฐไปสร้างในนั้น แต่ที่จริงไม่ใช่เป็นหินทั้งนั้น เป็นหินที่เกิดจากการแกะสลัก หลวงพ่อท่านเห็น เราก็รู้ว่าท่านพอใจที่ได้เห็น แต่ท่านไม่ได้มีอาการตื่นเต้นดีใจเหมือนคนทั่วไป เพราะว่าท่านไปอินเดียก็ไปด้วยจิตใจที่ใฝ่รู้ ไม่ใช่ไปด้วยจิตใจที่ใฝ่เสพ ใฝ่เสพคือใฝ่เสพสุขเวทนา อยากจะเจออะไรที่ตื่นตาตื่นใจจึงจะมีความสุข ไปเพื่อหาความสุขจากภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจ ไปเพื่อที่จะหาความสุขจากอาหารที่เอร็ดอร่อย แต่หลวงพ่อไม่ได้ไปอย่างนั้น หลวงพ่อไปเพื่อที่จะหาความรู้ แบบนี้เรียกว่าใฝ่รู้ ไม่ใช่ใฝ่เสพ คนไปต่างประเทศส่วนใหญ่ก็ไปเพราะว่าใฝ่เสพ เจออะไรที่ถูกใจก็ดีใจ เจออาหารที่อร่อยก็แสดงออกมาทางสีหน้าท่าทาง แต่ว่าถ้าไปด้วยใจที่ใฝ่รู้ ได้ความรู้ก็พอใจ แต่ก็ไม่ได้แสดงอาการลิงโลด
เคยพาหลวงพ่อไปที่ประเทศอเมริกา คราวนี้ไปเพื่อสอนอย่างเดียว ไปอินเดียไปแบบทัศนศึกษาไม่มีการไปสอนใครทั้งสิ้น นอกจากแสดงให้ดูหรือให้เห็น แต่ไปอเมริกาไปสอนธรรมะหลายที่ ที่หลักๆ คือวัดจีนในรัฐนิวยอร์ก คนอเมริกันเชื้อสายจีนมาเรียนธรรมะกับหลวงพ่อ มาฝึกปฏิบัติเจริญสติกับหลวงพ่อ ลางานกันมา 6-7 วันก็มี 2-3 วันก็มี แล้วแต่งาน มีคราวหนึ่งแวะไปที่ลาสเวกัส มีลูกศิษย์หลวงพ่อท่านนิมนต์ ลาสเวกัสเป็นเมืองการพนันเป็นเมืองอบายมุข แต่ก็มีวัดไทยเพราะคนไทยไปทำงานที่นั่นมาก ลูกศิษย์หลวงพ่อเทียนหลายรูปก็ไปจำพรรษาที่นั่น เขานิมนต์หลวงพ่อไปแสดงธรรม
หลวงพ่อแสดงธรรมเสร็จมีผู้ชายคนหนึ่งเคยเป็นนักร้องชื่อดังสมัยที่อาตมาเป็นเด็ก แต่ตอนหลังไปทำมาหากินที่อเมริกา หน้าตาดูเคร่งเครียด แกบอกว่าได้อ่านหนังสือหลวงพ่อเรื่องหนึ่งชื่อว่า “ไม่มีไม่เป็น” ไปสะดุดกับข้อความหนึ่งซึ่งเขาไม่พอใจมาก ข้อความนั้นคือ “ธรรมชาติสอนดีกว่าพระพุทธเจ้าสอน” สิ่งนี้เป็นคำพูดของหลวงพ่อ อาตมาจำได้ประมาณนี้ “ธรรมชาติสอนดีกว่าพระพุทธเจ้าสอน” เขาบอกว่าข้อความนี้ไม่ถูกต้อง เป็นการปรามาสพระพุทธเจ้า แล้วก็เป็นการเปิดช่องให้ศาสนาอื่นเอามาใช้โจมตีพระพุทธเจ้า หลวงพ่อท่านอธิบายว่า ธรรมชาติในที่นี้ไม่ได้หมายถึงต้นไม้ แต่หมายถึงความรู้สึกตัว ที่เป็นสภาวะภายใน เป็นสภาวะธรรมชาติที่มีอยู่ในทุกคน สิ่งนี้ที่สามารถจะเปิดใจคนให้ได้เห็นธรรมได้ ธรรมชาติในที่นี้หมายถึงความทุกข์ ความทุกข์สอนธรรมให้กับคนเราได้
เรื่องนี้พระพุทธเจ้าสอนเอง ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องรู้ พอรู้แล้วก็จะเห็นสมุทัย แล้วจะเข้าใจเรื่องนิโรธได้ คนที่บรรลุธรรมเพราะว่าเห็นทุกข์ก็มีมาก หลายคนฟังธรรมจากพระพุทธเจ้ายังไม่เข้าใจ แต่พอเจอทุกข์ด้วยตัวเองก็เกิดปัญญาขึ้นมา เขาก็ยังไม่ยอมฟัง เขาพยายามเถียง เขาแสดงอารมณ์ หลวงพ่อก็อธิบาย เขาก็ยังไม่ยอมรับ เขาบอกว่ายังเป็นการปรามาสพระพุทธเจ้า แล้วเขาก็พูดว่า ธรรมชาติถึงแม้จะสอนให้คนบรรลุธรรมแต่ต้องพิจารณา คือต้องได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าก่อนถึงจะเห็นธรรมแบบนั้นได้ อะไรทำนองนั้น หลวงพ่อเมื่อรู้ว่าอธิบายให้เขาฟังเขาก็ไม่ยอม หลวงพ่อจึงถามเขาว่าจะให้แก้ไขอย่างไร เขาก็เอาปากกามาเขียนในหนังสือเพิ่มเติมข้อความว่า ธรรมชาติแห่งความเป็นจริงที่พระพุทธเจ้าสอนดีกว่าพระพุทธเจ้าสอน ฟังรู้เรื่องไหม ธรรมชาติแห่งความเป็นจริงที่พระพุทธเจ้าสอนดีกว่าพระพุทธเจ้าสอน หลวงพ่อท่านก็ไม่ว่าอะไร
คือถ้าเป็นพระรูปอื่นอาจจะโกรธ แกเป็นใคร เป็นฆราวาสมาสอนฉันได้อย่างไร แล้วก็จะบอกว่า แกถือศีลแค่ 5 ฉันศีล 227 แกเพิ่งมาปฏิบัติแค่ไม่กี่ปี ฉันปฏิบัติมา 30-40 ปีมาแล้วชั่วชีวิต แกมาสอนฉันได้อย่างไร หลวงพ่อไม่มีแบบนี้เลย ถึงแม้จะเป็นโยมถึงแม้จะเป็นผู้ใหม่ในการปฏิบัติ ถ้าหลวงพ่ออธิบายให้เขาเข้าใจแล้ว เขาไม่ยอมก็ไม่ว่าอะไร ก็ยอมแก้ตามที่เขาพูด เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า หลวงพ่อท่านมีความถือตัวถือตนน้อยมาก ไม่รู้สึกว่าเสียหน้าเลย เพราะว่าตอนนั้นคนก็มาก ตอนนั้นมีลูกศิษย์หลวงพ่อเทียนหลายคนอยู่ด้วยก็ไม่ได้พูดแทนหลวงพ่อเลย เข้าใจว่าเผลอๆ อาจจะเห็นด้วยด้วยซ้ำ เพราะว่าบางรูปก็มีความกินแหนงแคลงใจกับหลวงพ่อมาก่อน แต่หลวงพ่อท่านก็ไม่ได้ถืออะไร โยมอยากจะให้แก้ก็แก้
ที่จริงถ้าเราศึกษาดูด้วยใจเป็นกลาง เราจะรู้ว่า ธรรมชาติที่หลวงพ่อคำเขียนพูด ท่านหมายถึงในธรรมชาติที่เป็นธรรมดา ไม่ใช่หมายถึงต้นไม้ ไม่ใช่หมายถึงอะไร เป็นสภาวธรรมที่เป็นธรรมชาติหรือความเป็นจริงของมนุษย์ พระพุทธเจ้ายังสอนว่าให้เคารพพระธรรม แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็เคารพพระธรรม เพราะฉะนั้นเมื่อระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ จงทำความเคารพพระธรรม พระธรรมคือตัวธรรมชาตินั่นเอง คือตัวความจริง บางทีเขาก็เรียกว่าธรรมชาติ ธรรมะคือกฎธรรมชาติ ธรรมะคือความเป็นธรรมดา สิ่งที่หลวงพ่อพูดคือเรื่องนี้ ธรรมชาติหรือพระธรรมเราสามารถจะเห็นได้ด้วยตัวเราเองถ้าเราหันมาดูภายใน เมื่อมีทุกข์นั่นคือธรรมชาติ ทุกข์ก็สอนธรรมได้
พระอรหันต์หลายท่านฟังธรรมพระพุทธเจ้าก็ไม่เข้าใจ แต่พอได้ปฏิบัติเข้าก็บรรลุธรรม บางคนโง่มากฟังธรรมอย่างไรก็ไม่รู้เรื่อง แต่พอพระพุทธเจ้าให้ผ้าขาวมาผืนหนึ่งแล้วก็ให้ลูบผ้าขาวนี้ไปเรื่อยๆ ลูบผ้าขาวจนกระทั่งผ้าเริ่มหมองเริ่มคล้ำ ถูเป็นชั่วโมงๆ เป็นวันเลย และพระรูปนี้ก็เป็นคนซื่อ ชื่อจูฬปันถก โง่แต่ซื่อ พระพุทธเจ้าบอกให้ถูไป เอามือคลำถูผ้าแล้วก็บริกรรมในใจว่า รโชหรณํ (ระ-โช-หะ-ระ-นัง) ผ้าเปื้อนฝุ่นๆ จูฬปันถกก็ไม่เข้าใจว่าทำไปทำไม แต่พระพุทธเจ้าสั่งก็ทำ ทำไปๆ ผ้าเริ่มคล้ำก็เห็นเลย เห็นความเป็นอนิจจัง ความอนิจจังของสังขาร เห็นความไม่เที่ยงจากผ้าที่ขาวมันคล้ำ แล้วคงเห็นต่อไปว่า ใจคนเราเดิมทีก็ใสก็สว่าง แต่พอกิเลสเข้ามาก็หมองเหมือนผ้า พอเห็นอย่างนี้เข้า ปัญญาก็เกิด บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เลย นี่เป็นตัวอย่างคนที่บรรลุธรรมเพราะการเห็นธรรมชาติ แต่ธรรมชาติที่ว่าไม่ใช่ต้นไม้ ไม่ใช่ภูเขา แต่คือความเป็นธรรมดาที่เกิดขึ้น ที่แสดงให้เห็นธรรมะ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มีตัวอย่างแบบนี้มากประเภทว่าฟังธรรมพระพุทธเจ้าอย่างไรก็ไม่เข้าใจ แต่พอได้ปฏิบัติหรือได้พิจารณาสิ่งที่เรียกว่าทุกข์ สิ่งที่เป็นธรรมดาของมันอย่างนั้นเอง ที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตาก็เห็นธรรม
แต่อย่างไรก็ตาม ที่ประทับใจหลวงพ่อคือมีคนมาต่อว่าหลวงพ่อ มาวิพากษ์วิจารณ์หลวงพ่อ ไม่ใช่เป็นคนที่มีภูมิความรู้อะไร ไม่ใช่เป็นดอกเตอร์ ไม่ใช่เป็นพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์หรือมีพรรษามาก หลวงพ่อท่านก็ฟัง แล้วก็ไม่คิดที่จะเอาชนะ จะเรียกว่ายอมแพ้ก็ได้ คนที่ยอมหรือแพ้แบบนี้ก็ถือว่าต้องมีตัวตนน้อยมาก เรื่องนี้คือประสบการณ์อย่างหนึ่งที่ได้เห็นจากการที่ได้เดินทางไปกับหลวงพ่อ ซึ่งสิ่งนี้เองถ้าเรารู้จักมองก็คือธรรมะ ท่านทำให้ดู ไม่ได้พูดเป็นถ้อยคำแต่เราเห็น แบบนี้เป็นสิ่งที่ลูกศิษย์ได้เห็นในระหว่างที่ได้เดินทางไปกับหลวงพ่อ หรือว่าได้ไปพบ ได้ไปสนทนา หรือได้ไปสังเกตวัตรปฏิบัติของท่าน
ธรรมะถ้าปฏิบัติจนกระทั่งกลายเป็นเนื้อเป็นตัวแล้ว ไม่ว่าพูดไม่ว่าทำก็เป็นธรรมะที่สอนคนที่อยู่รอบข้างได้ แม้กระทั่งตอนที่หลวงพ่อป่วย หลวงพ่อก็สอนธรรมให้กับพวกเรา และตอนที่ท่านละสังขารไป ท่านก็สอน ท่านไปอย่างสงบตอนตีห้า เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ไม่มีอาการทุรนทุรายทั้งๆที่หายใจไม่ออก เพราะว่าก้อนเนื้อไปปิดหลอดลม หายใจไม่ได้ ลูกศิษย์พยายามช่วยอย่างไรก็ไม่สามารถจะขยายหลอดลม หรือไม่สามารถจะลดเนื้อก้อนนั้นได้ ท่านก็เขียนข้อความว่า “พวกเราขอให้หลวงพ่อตาย” โดยไม่ต้องดิ้นรน ไม่ต้องขวนขวาย เพราะว่าทำอะไรไม่ได้แล้ว สิ่งนี้เป็นข้อความสุดท้ายที่ท่านเขียน พูดไม่ได้ก็เขียน “พวกเราขอให้หลวงพ่อตาย” พอยื่นกระดาษให้ท่านก็พนมมือ ทีแรกรู้สึกนึกว่าท่านขอบคุณ เพราะว่าท่านทำอย่างนี้ประจำเวลาที่ลูกศิษย์ทำแผลให้ ไม่คิดว่าที่พนมมือไม่ใช่พนมมือขอบคุณ แต่พนมมือลา พอพนมมือเสร็จท่านก็หลับตาแล้วก็นิ่งไป สักพักคอก็ตกแปลว่าสิ้นลมแล้ว
เรื่องนี้ก็เป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของหลวงพ่อ เดินทางผ่านความเจ็บปวด แล้วก็เดินทางไปสู่ความตาย สอนธรรมให้กับเราเหมือนกัน พวกเราสักวันหนึ่งก็ต้องเดินทางมาถึงตรงนี้เช่นกัน ต้องเอาธรรมะของหลวงพ่อที่แสดงให้เราดูถือเป็นแบบอย่างเอาไว้ เอาไปปฏิบัติ สิ่งนี้ก็คือธรรมชาติเหมือนกัน ธรรมชาติที่แสดงให้เราดู ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นก็เป็นธรรมชาติที่สามารถสอนเราได้ รวมทั้งความตายที่เป็นธรรมชาติที่สามารถจะเตือนให้เราไม่ประมาท เตือนให้เรารู้จักปล่อยวาง ปล่อยวางทุกอย่างถึงจะผ่านตลอดได้ ถ้าไม่ปล่อยก็จะติดจะตันจะทุรนทุราย แบบนี้คือธรรมะที่เราจะใช้ในการเดินทาง และเป็นธรรมะที่เราสังเกตได้เรียนรู้ได้จากการเดินทางผ่านความทุกข์ต่างๆ ยังไม่ต้องถึงขั้นเจ็บป่วยหนัก เอาความไม่สมหวังมาสอนเรา ความพลัดพราก เงินหาย ถูกต่อว่าด่าทอ ดินฟ้าอากาศที่ไม่เป็นใจ พวกนี้ก็เป็นธรรมะที่สอนเราได้ สอนให้เรารู้จักปล่อย รู้จักวาง ถึงเวลาต้องเดินทางผ่านความเจ็บป่วยไปสู่ความตาย ใจก็สามารถที่จะนิ่ง แล้วก็ผ่านตลอดได้ เรียกว่าตายอย่างสงบได้ในที่สุด