แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อาตมารู้จักกับหมอคนหนึ่ง ชื่อหมอบัญชา พงษ์พานิช เป็นผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ หรือที่เรียกง่ายๆ ว่าสวนโมกข์กรุงเทพฯ หมอบัญชาแกเล่าว่ามียายคนหนึ่งอายุถึงร้อยปี ตอนที่ยายอยู่ในช่วงท้ายๆ ของชีวิต คือประมาณ 90 เศษๆ เวลามีลูกหลานเหลนมาอวยพร ขอให้มีอายุยืน ให้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรไปนานๆ คุณยายก็จะบอกว่า โอย ไม่ไหวแล้ว ลูกเอ๋ย เผลอรับพรมาตั้งนานแล้ว จนอายุยืนมาถึงป่านนี้ พออายุยืนถึง 90 ถึงได้รู้ว่ามันพลาดไปแล้ว ไม่ไหวแล้ว อายุยืนเลยจากนี้ไป มันก็มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นแหละ ไม่เอาแล้วลูก ลูกหลานมาขอให้มีอายุยืน ยายบอกไม่เอาแล้ว พลาดไปแล้วที่เผลอรับพรไปตั้งนาน
การมีอายุยืนก็เป็นยอดปรารถนาของผู้คนทั้งหลาย เวลาทำบุญก็ขอพร อยากให้พระอวยพรว่า ให้มีอายุยืน บางคนว่าไปถึงอายุยืนหมื่นปี แต่อาจจะลืมไปว่า อายุยืนก็จริง แต่ว่าสุขภาพอาจจะย่ำแย่ลงไป อายุยืนแต่สุขภาพย่ำแย่ ไม่มีเรี่ยว ไม่มีแรง กำลังวังชาก็ถดถอย หูตาฝ้าฟาง จะเดินก็โอย จะนั่งก็โอย มันคงจะไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นใครที่ปรารถนาจะมีอายุยืนนี่ก็ฟังคำของคุณยายคนนี้ไว้ ว่ามันพลาดไปแล้ว อายุยืนเกินไปจากนี้ก็มีแต่จะทุกข์อย่างเดียว
ในสมัยพุทธกาลก็มีเรื่องคล้ายๆ ทำนองนี้ แต่ว่ากลับกันคือ คนที่ให้พรเป็นคนแก่ ส่วนคนที่รับพรหรือว่าเป็นฝ่ายที่ผู้ใหญ่มาให้พรเป็นเด็ก เป็นเรื่องของน้องชายของพระสารีบุตร ครอบครัวของพระสารีบุตร มีพี่น้องประมาณ 6-7 คน เรวตะเป็นคนสุดท้อง อายุประมาณซัก 12 ปี พ่อแม่ก็จับแต่งงาน ที่จับแต่งงานตั้งแต่ยังเด็กก็เพราะว่า พี่คนอื่นหนีไปบวชหมด จะว่าหนีก็คงไม่เชิง แต่ว่าเรียกว่าหนีแล้วกัน ไปบวชหมด พ่อแม่ก็กลัวว่าลูกคนสุดท้องคือเรวตะ จะรีบไปบวช ก็เลยจับแต่งงานตั้งแต่อายุ 12 วันแต่งงานก็มีคนมาให้พร ก็มีคุณยายคนหนึ่งถือไม้เท้ากระย่องจะแย่ง มาอวยพรว่า ขอให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวอยู่ครองคู่กันไปอย่างยั่งยืนยาวนาน ให้มีอายุยืนเหมือนกับยาย เรวตะฟังแทนที่จะปลาบปลื้มดีใจ ก็มาพิจารณาเห็นคุณยาย แล้วก็นึกต่อไปว่าถ้าเมียของตัวหรือเจ้าสาว มีอายุยืนเหมือนคุณยายก็คือ หลังโกงเดินกระย่องกระแย่ง ผิวหนังเหี่ยวย่น ตาฝ้าฟาง จะสวยได้อย่างไร แล้วจะอยู่กับเขาได้หรือ ก็เกิดความสลดสังเวชขึ้นมา แล้วก็คิดหาทางที่จะหนี ระหว่างที่ขบวนขันหมากเดิน แห่กันไปที่บ้าน ไปที่เรือนหอ กลางทางก็เป็นป่า เรวตะก็ออกอุบาย แล้วก็หนีจากขบวนแห่ เข้าป่าไปเลย แล้วตอนหลังก็ไปอยู่กับพระรูปหนึ่ง แล้วก็ขอบวช ตอนแรกก็บวชเณรก่อน ตอนหลังก็บวชพระ แล้วก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ตามพี่ชายคือพระสารีบุตร ตอนหลังพระเรวตะนี่ก็ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะในด้านการอยู่ป่า เอตทัคคะก็คือความเป็นเลิศ ผู้เป็นเลิศในหมู่พระสงฆ์ในเรื่องการอยู่ป่า
อันนี้ก็เรียกว่าเป็นเพราะคำอวยพรของยาย คำอวยพรของยายทำให้เรวตะแทนที่จะดีใจ กลับเห็นโทษภัยของชีวิตครองเรือน ถ้ายายไม่มาอวยพร เรวตะก็อาจจะแต่งงาน แล้วก็ใช้ชีวิตคู่อย่างฆราวาสไปอีกนานทีเดียว แต่ว่าเป็นเพราะยายมาอวยพร เรวตะนี่ก็เป็นคนที่คิดไม่เหมือนใคร เด็กอายุ 12 นี้ ไม่เหมือนคนทั่วไป คนทั่วไปถ้ามาอวยพรแบบนี้ก็ดีใจ ฉันกับเจ้าสาวจะได้อยู่กันถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร ใครๆ ก็อวยพรแบบนี้แหละ แต่เรวตะคิดไปอีกมุมหนึ่ง ว่าถ้าเจ้าสาวของฉันมีอายุยืน จนเหมือนยายนี่ก็คงไม่น่าดู อย่ากระนั้นเลย แยกทางกันเสียแต่ตอนนี้ดีกว่า
อันนี้เป็นข้อคิดเตือนใจ ทั้งสองเรื่องเลยว่า เวลาเราปรารถนาอยากจะมีอายุยืน คิดให้ไกล คิดให้รอบคอบซักหน่อย ว่าอายุยืนแล้วจะเป็นอย่างไร ถ้าอายุยืนแล้วก็ร่างกายเจ็บป่วย กำลังวังชาถดถอย มีโรคภัยไข้เจ็บ มันจะมีความสุขได้อย่างไร จริงอยู่ ถึงแม้ว่าเราขอพร เราอวยพร เราอยากจะให้พระอวยพรให้มีอายุวรรณะ มีสุขะด้วย มีพละด้วย แต่ในความเป็นจริง ถ้าอายุยืนเป็นร้อยปี ไอ้วรรณะ สุขะ พละ ก็คงจะไม่เจริญยั่งยืนตามไปด้วย จริงอยู่ ถึงแม้สมัยนี้ จะมีความก้าวหน้าด้านการแพทย์และเทคโนโลยี แต่เชื่อว่าต่อไปก็คนจะมีอายุยืนไปถึง 120 ปี แต่ว่าความเจ็บป่วยก็จะตามไปเหมือนกัน อาจจะไม่ป่วยตอนอายุ 80 แต่ว่าก็จะเริ่มป่วย เริ่มชราหมดกำลังวังชาไปตอนอายุ 110 แล้วก็ 120
แล้วเดี๋ยวนี้ความเจ็บป่วยนี่ก็มีหลากหลาย ไม่ใช่แค่ว่าไม่มีแรง ไม่ใช่แค่หูตาฝ้าฟาง ไม่ใช่แค่เป็นมะเร็ง โรคหัวใจ ที่แย่คือ เป็นอัลไซเมอร์ เป็นโรคความจำเสื่อม โรคความจำเสื่อมนี่เจ้าตัวอาจจะไม่ทรมานเท่าไหร่ เพราะว่าพอลืมไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรแล้ว ก็อาจจะไม่รู้สึกรู้สาอะไร แต่คนที่เดือดร้อนก็คือลูกหลานที่ต้องดูแล แล้วดูแลนี่ก็ต้องดูแลกันเป็น 10 ปี 20 ปีก็มี อย่างต่ำๆ ก็ 10 ปี เพราะโรคนี้สมองเสื่อม แต่ว่าร่างกายก็ยังพอจะประคับประคองให้ทำงานไปได้ สมัยนี้ก็มีเทคโนโลยีที่ช่วยดูแลอวัยวะส่วนอื่น แต่ยังไม่พัฒนาพอที่จะช่วยทำให้ความจำมันกลับคืนมา แล้วคนที่เป็นอัลไซเมอร์ คนที่ดูแลนี่เป็นทุกข์มากเลย ทุกข์ทั้งกาย ทุกข์ทั้งใจ ทุกข์กายเพราะว่าต้องดูแล 24 ชั่วโมง เพราะว่าคนป่วยทำอะไรไม่ได้เลย แม้แต่กินข้าวก็ยังเคี้ยวข้าวไม่เป็น จะขี้จะเยี่ยวก็ปล่อยเลอะเทอะ อันนี้เรียกว่าคนดูแลทุกข์กาย แถมยังทุกข์ใจอีก ทุกข์ใจที่พ่อแม่ของตัวที่ตัวเองเคยรู้จักหายไปซะแล้ว กลายเป็นใครก็ไม่รู้ หน้าตายังเหมือนพ่อแม่ของตัว แต่ว่าจิตใจนิสัยบุคลิกกลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ไปแล้ว อาจจะกลายเป็นเด็กปัญญาอ่อน หรือเหมือนคนปัญญาอ่อนไปเลยก็ได้
คนที่ติดอยู่กับภาพพ่อแม่ในอดีตนี่ จะทำใจไม่ได้กับภาพพ่อแม่ในปัจจุบัน แล้วก็จะจิตใจก็เหี่ยวแห้ง บางทีก็พอหงุดหงิดโกรธด่าแม่ ตีแม่มี หงุดหงิดมาก คนดูแลที่เป็นลูกบางทีก็ว่าแม่ ตีแม่ พอตีแม่แล้วก็รู้สึกผิด พอรู้สึกผิดก็เครียด พอเครียดก็เผลอลืมตัวด่าอีก ทำแบบนี้ซ้ำๆ นี่ก็รู้สึกแย่ บางคนก็ถึงกับฆ่าตัวตายก็มี หรือว่าแช่งแม่ให้ตายเร็วๆ พอแช่งแม่ให้ตายเร็วๆ ก็เสียใจอีก มีบางรายประเทศญี่ปุ่นนี่ คนดูแลก็ฆ่าตัวตาย แต่ก่อนฆ่าตัวตาย ก็ฆ่าแม่ซะก่อน เพราะว่าถ้าตัวเองตายแล้ว แม่จะอยู่กับใคร ก็ถือโอกาสเรียกว่า ทำให้เขาหมดทุกข์ไปเสียเลย ก็ฆ่าเขาก่อน แล้วก็ฆ่าตัวเองตาย
อันนี้เรียกว่ามันเป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับสังคมที่มีคนอายุยืนมากขึ้น พอคนอายุยืนเข้ามันก็จะมีปัญหาแบบนี้ตามมา อายุยืน 80 ปี 100 ปี หรือต่อไป 120 ปี มันก็จะต้องเจอปัญหาคล้ายๆ กัน โลกอาจจะเปลี่ยนไป สมัยก่อนคนแก่ก็ไม่ค่อยเป็นโรคความจำเสื่อมเท่าไหร่ อาจจะเป็นโรคอื่นมากกว่า แต่ตอนนี้มันก็มีโรคใหม่เข้ามา ทั้งเบาหวาน ทั้งไตวาย ทั้งโรคหัวใจ มะเร็ง โรคเส้นเลือดในสมองแตก เป็นพิการอัมพาต เดี๋ยวนี้ก็อัลไซเมอร์เข้าไปอีก ถึงแม้จะมีอายุยืนไป ๑๕๐ ปี โรคพวกนี้ก็จะตามไปเหมือนกัน ตามไปตอนท้ายๆ ก็ยังหนีทุกข์ไม่พ้น แต่พวกนี้เห็นไหมก็ต้องรีบอยู่ให้ชีวิตสั้นลง แต่หมายความว่าอย่าไปเทียบมันเป็นสรณะ มันมีสิ่งอื่นที่ดีกว่า ประเสริฐกว่าการที่มีอายุยืน นั่นก็คือเรื่องคุณธรรมความดี เรื่องการทำใจให้เห็นสัจธรรมความจริง ถึงตอนนั้นจะอายุยืนอายุสั้นก็ไม่สำคัญ