แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บทสวดที่สำคัญบทหนึ่ง เวลาที่ใครมาถามเราว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร หรือเวลาที่เราเกิดคำถามขึ้นมาในใจ พระสูตรที่ชื่อว่าอนันตลักขณสูตร คือคำตอบว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร ที่จริงมีอีกพระสูตรหนึ่งที่คู่กัน ก็คือพระสูตรที่พระองค์ตรัสก่อนหน้านั้น คือธัมมจักกัปปวัฒนสูตร ซึ่งเราก็คงจำได้ว่านี่คือปฐมเทศนา สองพระสูตรนี้เป็นคำสอนที่กินใจความ เรียกว่าหัวใจของพระพุทธศาสนา อ่านพระสูตรทั้งสองหรือทำความเข้าใจ ก็จะรู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร เวลาไปเมืองนอกฝรั่งถามว่ารู้ไหมพระพุทธเจ้าสอนอะไร เพราะว่าเห็นเรามาจากเมืองพุทธ เราก็ตอบได้
พระสูตรแรกก็พูดเรื่องทางสายกลาง แล้วก็ทางสุดโต่ง พูดถึงอริยสัจ 4 พูดถึงเรื่องมรรคมีองค์ 8 ตรัสแล้วก็ทำให้มีพระอริยเจ้าเกิดขึ้นเป็นองค์แรก ก็คือพระอัญญาโกณฑัญญะ แต่ว่าก็ยังไม่ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ จนกระทั่งได้ฟังพระสูตรบทที่สอง ซึ่งมีความลึกซึ้ง พอปัญจวัคคีย์ฟัง ทุกท่านทั้งหมดก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ทำให้มีพระอรหันต์เกิดขึ้นมาครั้งแรกในโลก แล้วก็นำไปสู่การบังเกิดขึ้นของพระอรหันต์อีกมากมายจนมาถึงปัจจุบัน นั่นจะเรียกว่าเป็นพระสูตรที่ปฏิวัติโลกก็ได้ สองบทนี้คู่กัน ตอนที่พระอัญญาโกณฑัญญะท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ท่านก็ได้เห็นเลยว่า อ๋อ สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็ย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา อันนี้ก็จะว่าไปก็คือท่านก็เห็นแล้วว่า อนิจจัง ทุกขัง สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็ย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา ก็คือไม่เที่ยง และความดับมันก็แสดงถึงความเสื่อมก็คือเป็นทุกข์ แม้แต่ตัวมันเองนี้ก็แสดงถึงความอนัตตาด้วย แต่ว่าไม่ชัด จนกระทั่งพระพุทธเจ้ามาแสดงอนันตลักขณสูตร
ในบทสวดพระพุทธเจ้าอธิบายขันธ์ทั้ง 5 หรือจะเรียกว่าธรรมทั้งปวงก็ได้ ยกเว้นพระนิพพานเป็นอนัตตา พระองค์ก็อธิบายว่า ถ้ามันเป็นอัตตา เราก็ต้องสั่งได้ว่ารูปต้องเป็นอย่างนี้ หรือบังคับบัญชาได้ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณต้องอย่างนี้ เช่นอยากจะให้รูปนี้สวย อยากจะให้รูปนี้คือกายนี้ไม่เจ็บไม่ป่วย อยากจะให้รูปนี้หนุ่มสาวเสมอ ถ้ามันเป็นอัตตา เป็นของเราจริง เราต้องสั่งได้ แต่ว่าอย่างที่เราได้อ่านว่า รูป มีความเสื่อมมันมีความเจ็บความป่วย เราไม่สามารถจะได้รูปตามใจหวัง รวมทั้งเวทนาอยากจะให้มันสบาย ไม่ปวดไม่เมื่อยก็ทำไม่ได้ มันไม่อยู่ในอำนาจการบังคับบัญชาของเราได้ ก็ในเมื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือเรียกง่ายๆ ว่ารูปธรรมและนามธรรม มันสั่งไม่ได้บังคับบัญชาไม่ได้ มันจะเป็นอัตตาได้อย่างไร มันก็ต้องเป็นอนัตตาสิ นี่ก็ท่อนที่หนึ่ง เป็นการอธิบายว่าทำไมขันธ์ทั้ง 5 จึงเป็นอนัตตา สรุปง่ายๆ คือว่ามันสั่งไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ มันจึงไม่ใช่ของเราจริง
และในท่อนที่สองอธิบายในอีกแง่มุมที่ว่าทำไมขันธ์ทั้ง 5 เป็นอนัตตาก็เพราะมันไม่เที่ยง เมื่อมันไม่เที่ยงหมายความว่ามันต้องเมื่อมันมีขึ้นก็ต้องดับไป ก็แสดงว่ามันเป็นทุกข์ อะไรก็ตามที่แปรปรวนไปแสดงว่าเป็นทุกข์ คือว่ามันพร่องมันไม่สมบูรณ์ ทุกข์ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าเดือดเนื้อร้อนใจ มันหมายถึงว่ามันเสื่อม มันแปรปรวน มันมีความพร่องอยู่ในตัว ไม่สมบูรณ์ และในเมื่อมันเป็นทุกข์ มันจะเป็นอัตตาได้อย่างไร ก็ต้องเป็นอนัตตา นี่ก็เป็นการอธิบายในความหมายที่สอง
แค่นี้ก็คงเห็นแล้วว่าพระพุทธเจ้า พระองค์มีวิธีการอธิบาย อธิบายหรือถ้าภาษาสมัยใหม่ก็เรียกว่า approach approach ปัญหาก็ได้สองทาง ก็สรุปตรงกันว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตาได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันนี้ก็เป็นคำอธิบายว่าทำไมถึงพูดว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา อันนี้พระองค์ก็อธิบายต่อไปว่าเมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตาแล้ว มันมีข้อดีอย่างไร ก็ทำให้เบื่อหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เบื่อหน่ายคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดคือปล่อยวาง จิตก็หลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้วก็บรรลุธรรม อันนี้ก็เป็นการยืนยันว่าการบรรลุธรรม มันไม่ได้เกิดจากอะไรเลย เกิดจากการที่เข้าใจเรื่องอนัตตา หรือพูดรวมๆ คือว่าเข้าใจพระไตรลักษณ์ ถ้าไม่เข้าใจ ไม่เห็นแจ้ง มันก็ไม่มีทางหลุดพ้น จะมีอิทธิปาฏิหาริย์แค่ไหน จะบำเพ็ญฌานถึงขั้นฌาน 8 จะเหาะเหินเดินอากาศได้ จะเสกตะปูเข้าท้องใครก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่เห็นแจ้งในพระไตรลักษณ์โดยเฉพาะอนัตตา ก็ไม่มีทางหลุดพ้นได้
อันนี้ก็เป็นข้อเตือนใจเป็นข้อคิดสำหรับเรา เวลาไปเจอใครที่อวดอ้างว่าเป็นพระอรหันต์ ก็ต้องดูว่าเข้าใจเรื่องนี้หรือเปล่า ถ้าไม่เข้าใจเรื่องนี้ ถึงแม้จะมีอิทธิปาฏิหาริย์แค่ไหน ก็อย่าไปเชื่อ เพราะว่าอิทธิปาฏิหาริย์ที่เค้าเรียกว่าอภิญญา ไม่ว่าจะเป็นตาทิพย์หูทิพย์ ทายใจคนได้หรือระลึกชาติได้ ยังถือว่าเป็นอภิญญาระดับโลกียะ มันต้องตัดกิเลสขาดเพราะเห็นแจ้งในไตรลักษณ์ ที่เรียกว่าอาสวักขยญาณ อภิญญาตรงนี้แหละจึงเรียกว่าเป็น โลกุตตรอภิญญา อีก 5 ข้อ หูทิพย์ ตาทิพย์ ระลึกชาติได้หรือว่าทายใจคนได้ หรือว่ามีอิทธิปาฏิหาริย์พวกนี้ มันยังไม่ใช่เป็นเครื่องหมายหรือเครื่องแสดงว่าเป็นพระอรหันต์หรือแม้กระทั่งพระอริยเจ้าด้วยซ้ำ อันนี้ก็เป็นความรู้ที่เราควรจะรู้เอาไว้ จะได้ไม่ถูกหลอกง่ายๆ เพราะเดี๋ยวนี้เชื่อง่ายเหลือเกิน เห็นใครเสกมีฤทธิ์แสดงกลก็ไปเชื่อว่าเค้าเป็นพระอรหันต์แล้ว บางทีเค้าไม่ได้มีความสามารถจริง แค่แสดงกลก็หลงเชื่อ
อย่างที่บอกไปแล้วว่า หัวใจของพระพุทธศาสนาคือการเข้าใจเรื่องไตรลักษณ์ เรื่องอนัตตา ตระหนักชัดว่าไม่มีเรา ไม่มีของเรา ตัวกูเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมา นั่นของเรานั่นตัวตนของเรา นั่นเป็นเรา พวกนี้เป็นมายาภาพ จริงๆ มันไม่มีหรอก แต่ว่าถึงแม้เราจะรับรู้เข้าใจด้วยการใช้เหตุใช้ผลใช้ความคิดไตร่ตรอง แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราเห็นชัด เราเข้าใจแล้วว่าขันธ์ 5 เป็นอนัตตา แต่นั่นเป็นการเข้าใจในระดับหัวสมอง ใจมันยังไม่ยอมรับหรอก ใจมันยังยึดอยู่
หัวสมองกับหัวใจบ้างทีมันก็ไปกันคนละทาง คนที่หลายคนก็รู้ว่าเหล้าบุหรี่ไม่ดีเป็นโทษ การพนันไม่ดี มีกิ๊กไม่ดี แต่ว่าใจมันก็ไม่ยอมรับ ใจมันก็ยังไม่เชื่อ มันก็ยังพาตัวเราเข้าไปหาเหล้าเข้าไปอบายมุข ไปหลงจมอยู่กับไอ้ความสุขทางกาม หรือว่าการประพฤติปฏิบัติที่ทำให้ชีวิตจิตใจเราย่ำแย่ หลายคนก็รู้ด้วยเหตุผลว่าโกรธไม่ดีแต่ก็ยังโกรธอยู่นั่นแหละ อันนี้เพราะว่าใจมันยังไม่เห็นแจ้ง ยังไม่เห็นจริง เพราะนั้นถึงแม้ว่าเราจะรู้ว่า ไอ้ตัวกูของกูไม่มีจริงแต่ว่าใจมันยังไม่ยอมรับ ใจมันยังดื้อด้าน เพราะมันยังถูกครอบงำด้วยความหลง เราก็ต้องยอมรับความจริงว่าเรายังไม่เห็นจริงตามนั้น เรายังมีความยึดมั่นในตัวกูอยู่ ก็ไม่เสียหาย ถ้าหากว่าเรารู้แล้ว ว่าใจของเรามันยังอยู่ในระดับนี้ เราก็พยายามที่จะปฏิบัติกับตัวเองในทางที่ถูกต้อง เช่น รู้จักรักตัวเอง ในเมื่อมันยังมีตัวกูอยู่ ก็รู้จักรักตัวเองซะ รักตัวเองในทางที่ถูก ต่อเมื่อมันรู้ว่าไม่มีตัวกูเมื่อไหร่ ความรักตัวเองมันก็ไม่มีความหมายแล้ว แต่ตราบใดที่ยังมีตัวกูยังมีความยึดติดในตัวกูอยู่ก็พยายามรักตัวเองให้มาก
แต่รักในทางที่ดีในทางที่ถูกในทางที่จริงแท้ ก็คือว่าทำอะไรก็ตามอย่าไปเบียดเบียนตัวเอง อย่าไปสร้างความทุกข์ให้กับตัวเอง ทุกคนก็รู้ว่าไม่ควรทำ แต่เอาเข้าจริงๆ มันก็ทำร้ายตัวเองบ่อย หาทุกข์มาใส่ตัว ปล่อยใจให้จมอยู่ในความหลง การที่เราปล่อยให้ความโกรธเข้ามาครอบงำใจ ปล่อยให้ความเกลียดเข้ามาครอบงำใจ ปล่อยให้ความเศร้าความโศกมาบงการจิตใจ อันนั้นบ่งชี้ว่าเราไม่ได้รักตัวเอง ถ้ารักตัวเองจะต้องพยายามที่จะปกป้องรักษาใจไม่ให้สิ่งเหล่านี้มาครอบงำใจเหมือนที่เราพยายามรักษาร่างกายของเราไม่ให้เชื้อโรคเข้ามาทำให้เจ็บป่วย แต่ส่วนใหญ่เราก็เอาแต่ใส่ใจกับร่างกาย พยายามหาของดีมาดูแลร่างกาย แต่ว่าจิตใจเราไม่ค่อยดูแลเท่าไหร่ ปล่อยให้ความโกรธ ความหลง ความโลภเข้ามาครอบงำจิตใจ แล้วก็ปล่อยให้มันบงการจิตใจไปสู่ทางที่เสื่อมเรียกว่าอบาย อบายมุขเรียกว่าทางแห่งความเสื่อม ซึ่งมันก็ไม่ใช่หมายความว่าเหล้า บุหรี่ การพนันอย่างเดียว ทางเสื่อมก็อาจจะเกิดขึ้นได้จากการที่เราปล่อยให้กิเลสตัณหา ความโลภ ความโกรธ ความเศร้าความรู้สึกผิด รวมทั้งความวิตกกังวลมันชักลากพาจิตใจของเรา
วิธีที่จะรักษาใจ ถ้าเรารักตัวเอง เรารู้ว่าการรักตัวเอง คือการรักษาใจไม่ใช่เป็นการทำตามใจกิเลส มันต่างกัน คนที่รักตัวเองเค้าจะพยายามรักษาใจ แต่ถ้าคนที่ปล่อยตัวไปตามอำนาจของกิเลสหรือไปตามใจกิเลส อันนี้เรียกว่าไม่รักษา อันนี้ไม่ได้เรียกว่ารักตัวเอง อันนี้เรียกว่ากำลังทำร้ายตัวเอง ต้องแยกให้ดี คนส่วนใหญ่ไม่ได้รักตัวเองหรอก รักกิเลสมากกว่า พยายามหวงพยายามรักษาทะนุถนอมกิเลสเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นกิเลสที่เป็นโลภะ เวลาเราติดเหล้าติดบุหรี่ ติดการพนัน อันนี้คือกิเลสอย่างหนึ่ง และเราก็พยายามรักษา พยายามทะนุถนอมหวงแหนมัน มีเพื่อนมีพ่อแม่มาแนะนำให้เลิกเหล้าเถอะ ให้เลิกบุหรี่เถอะ ให้เลิกการพนันเถอะ ปรากฏว่าต่อต้านขัดขืน รักษามันหวงมัน อยากจะทะนุถนอมมันเอาไว้
มันไม่ใช่แค่นั้น ถึงแม้คนที่ห่างไกลจากเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด แต่ว่าความโกรธความเศร้า ความเครียด ความวิตก ความแค้น ก็หวงแหนมันเอาไว้ ไม่ได้รักตัวเองหรอก รักอารมณ์เหล่านี้มากกว่า พยายามปกป้องมัน เวลาโกรธ มีคนมาชวน มาแนะนำให้เราให้อภัย มันแนะนำให้เราแผ่เมตตาให้กับคนที่เค้าทำให้เราโกรธ ส่วนใหญ่ก็ปฏิเสธ ส่วนใหญ่ก็ไม่ยอม ทั้งๆ ที่น่าจะรู้หรืออาจจะรู้ด้วยซ้ำว่าการที่ให้อภัย การที่แผ่เมตตาให้เค้า มันทำให้ความโกรธทุเลาเบาบาง แต่เราไม่ยอมทำเพราะอะไร เพราะความโกรธมันสั่งเราว่าอย่าทำ อย่าทำ ความโกรธมันต้องการครองจิตครองใจเราเอาไว้ ถ้าเราทำความโกรธมันจะสูญเสียอำนาจครอบงำจิตใจ มันยอมไม่ได้ ความเศร้าก็เหมือนกัน เวลามันครองใจเรา มันก็สั่งเราว่าให้เศร้าไปเรื่อยๆ เวลามีคนชวนพาเราไปเที่ยวเราไม่ไป ความเศร้าบอกว่าอย่าไปๆ เวลาเศร้าเราชอบฟังเพลงอะไร เพลงสนุกรึเปล่า ชอบฟังเพลงเศร้าใช่ไหม ความเศร้ามันสั่งให้เราฟังเพลงแบบนี้แหละ จะได้เศร้าไปเรื่อยๆ มันจะได้มีอำนาจครองจิตครองใจเรา เวลารู้สึกผิดเกิดขึ้นในใจ เราก็พยายามรักษามันเอาไว้ด้วยการนึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ทำให้เรารู้สึกเสียใจรู้สึกผิด มันจะได้มีอำนาจครอบงำจิตใจเราต่อไป
อารมณ์พวกนี้ มันเป็นโทษกับชีวิตจิตใจเรา แต่ทำไมเราหวงแหนมันเอาไว้ ทำไมเราปกป้องมัน แล้วอย่างนี้จะเรียกว่ารักตัวเองได้อย่างไร เรารักอารมณ์พวกนี้มากกว่า ที่จริงจะเรียกว่ามันเป็นทาสมันมากกว่า เพราะมันสั่งให้เราปกป้องรักษามัน และพยายามที่จะปรนเปรอหรือว่าเพิ่มพูนให้มันมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายพอมันสั่งเราให้ด่า ความโกรธสั่งเราให้ด่าเราก็ด่า มันสั่งให้เราจมถลำอยู่ในความเศร้าไปเรื่อยๆ เราก็ทำ แม้กระทั่งมันสั่งให้เราทำร้ายตัวเองเราก็ทำ ฆ่าตัวตายคิดสั้น หรือว่าโกรธมากๆ น้อยเนื้อต่ำใจเอาหัวโขกพื้น เพื่อที่จะให้คนอื่นยอม ยอมตามอะไรยอมตามกิเลสของเรา ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของเราเลย แต่เพื่อกิเลสหรือว่าอารมณ์อกุศลที่มันครอบงำใจ
ฉะนั้นต้องรักตัวเองให้ถูก ตราบใดที่ยังเข้าใจเรื่องอนัตตาไม่ได้ ยังมีความยึดในตัวกูก็เป็นไร อย่างน้อยถ้าเรารักตัวเองในทางที่ถูก มันก็ยังพอที่จะทำให้มีโอกาสจะก้าวหน้าไปสู่การเข้าใจเรื่องอนัตตา หรือว่าปล่อยวางเรื่องตัวกูของกูไปได้ การรักตัวเองให้ถูกมันไม่ใช่เรื่องยาก แต่ว่าเป็นเพราะเราไม่รักษาใจ ปล่อยใจให้มันจมอยู่ในอารมณ์จะเรียกว่าเราลืมตัวก็ได้ คนเราพอลืมตัวแล้วมันก็จะลืมใจ พอลืมใจแล้ว ใจก็เข้าไปในความหลง พอหลงแล้ว จะเป็นเพราะหลงด้วยอารมณ์ใดก็แล้วแต่ มันก็ยิ่งทำให้ทำร้ายตัวเองหนักขึ้น
วิธีหนึ่งที่จะทำให้เรารักตัวเองได้อย่างแท้จริง ก็คือการเจริญสติ เพราะว่าสติมันจะเป็นเครื่องช่วยรักษาใจ อย่างที่บอกไว้แล้วว่าถ้าเราจะรักตัวเอง เราต้องรู้จักรักษาใจของเรา ก็สติมันเป็นปฏิปักษ์กับอารมณ์ต่างๆ ที่พูดถึง ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเศร้า ความวิตกกังวล ถ้าเรามีสติเมื่อไหร่มันก็จะจางหายไป เพราะว่าอารมณ์เหล่านี้มันครอบงำใจได้เนื่องจากเราลืมตัว พอลืมตัวก็เลยหลงเข้าไปในอารมณ์ ลืมกับหลงเป็นของคู่กัน ลืมตัวเมื่อไหร่ก็หลงเข้าไปในอารมณ์ หรือหลงเข้าไปในความคิด เข้าไปในความคิด มันก็ทำให้เกิดอารมณ์ได้เหมือนกัน เช่นไปคิดถึงอดีตที่ผ่านไปแล้ว ไปนึกถึงงานที่ยังคาอยู่ ก็ทำให้เกิดความกังวล หรือไม่ก็ทำให้เกิดความโกรธแค้น หลงเพราะลืม
ลืมในที่นี้ไม่ได้ลืมของอะไรลืมตัว แต่คราวนี้สติมันเป็นปฏิปักษ์กับสิ่งที่ว่า เพราะว่าสติทำให้เราระลึกนึกขึ้นมาได้ สติโดยเฉพาะสัมมาสติทำให้เราไม่ลืมตัว ทำให้เราระลึกรู้ พอระลึกได้ก็รู้สึกตัวขึ้นมา พอรู้สึกตัวขึ้นมา อารมณ์พวกนี้ก็จะหายไป มันเหมือนกับว่าความมืด พอมันโดนแสงสว่างสาดส่องมันก็หายไปเลย ความรู้สึกตัวเหมือนกับแสงสว่างซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับความมืด พระพุทธเจ้าตรัสว่าบุคคลเมื่อมีความรู้สึกตัว กุศลธรรมใดที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น อกุศลธรรมใดที่เกิดแล้วก็ดับไป บุคคลเมื่อมีความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวนั่นย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อันยิ่งใหญ่ เพื่อความตั้งมั่น ความไม่เสื่อมสูญ ความไม่อันตรธานแห่งพระสัทธรรม พระสัทธรรมก็คือคุณธรรมภายในใจของเรา รวมทั้งกุศลธรรมที่ทำให้ชีวิตจิตใจเจริญงอกงามด้วย
ฉะนั้นถ้าเรารักตัวเองจริง มันต้องพยายามที่จะรักษาใจให้มีสติพยายามสร้างสติ ทำความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้น และการเจริญสติ มันก็มีหลักง่ายๆ ก็คือว่าตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น ตัวอยู่ตรงนี้ใจก็อยู่ตรงนี้ เมื่อไหร่ก็ตามที่ตัวอยู่ตรงนี้แต่ใจไปอยู่ที่บ้าน ไปอยู่ที่ทำงาน ไปอยู่โรงพยาบาลที่พ่อแม่รักษาอยู่ อันนี้เค้าเรียกว่าไม่มีสติแล้ว มันทำได้ง่ายๆ ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม อยู่ที่ไหนก็ให้ใจอยู่ตรงนั้นแหละ อันนี้ก็เรียกอีกอย่างว่าก็คือว่าให้ใจมันมีบ้าน เอากายเป็นบ้านของใจ ใจก็จะได้พัก แล้วใจจะได้ไม่ไปท่องเที่ยวเตร่ๆ เร่ร่อนที่ไหน หรือวิธีที่พูดให้มันง่ายกว่านั้นคือว่า เวลาทำอะไรให้ทำทีละอย่าง ทำทีละอย่าง นี้เป็นวิธีการเจริญสติแบบง่ายๆ เลย เป็นหลักง่ายๆ มันมีคำพูดว่าเดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง ถ้าเดินหลายก้าวพร้อมกันก็อาจจะสะดุด ถ้ากินข้าวหลายคำพร้อมกันก็อาจจะติดคออาจถึงตายได้ แต่ถ้าทำหลายอย่างพร้อมกัน ก็ทำให้เกิดความทุกข์ความเครียดบั่นทอนจิตใจ
จริงๆ แล้วอยากจะพูดว่าคนที่รักตัวเอง ต้องรู้จักทำอะไรทีละอย่าง หลายคนเวลาทำงาน ใจก็ไม่ได้อยู่กับงานเต็มร้อย บางทีก็นึกถึงลูก ทำงานใจก็นึกถึงลูก เครียดกังวล พอกลับบ้านอยู่กับลูกใจก็ไปนึกถึงงาน แทนที่จะอยู่กับลูกด้วยใจเต็มร้อย สังเกตไหมว่าเราทำงาน มันทำหลายอย่างพร้อมกัน ขณะที่เราทำงานใจก็นึกถึงอีกงานหนึ่ง ขณะที่เราอ่านหนังสือใจมันก็ไปห่วงงานที่ยังคาอยู่ เวลาที่เรากินข้าวแทนที่เราจะกินข้าว อยู่ด้วยการกินข้าวด้วยใจเต็มร้อยเราก็ใจก็ไปนึกถึงงาน ความเครียดความวิตกกังวล ลองกลับมาดูใจของเรา ลองสังเกตดูมันเป็นเพราะว่าเราไม่ค่อยทำอะไรทีละอย่างเท่าไหร่ ทำงานเช้า ใจทำงานเช้าอีกใจก็ไปนึกถึงงานตอนบ่าย โอ๊ยยังทำไม่เสร็จเลย มันก็เครียดสิเกิดความวิตกกังวล
แม้แต่เวลาเจริญสติ สังเกตไหมยกมือไปแต่แทนที่จะใจไปอยู่กับเนื้อกับตัว ใจมันก็คิดถึงเรื่องงาน การทำทีละอย่าง มันเป็นหลักง่ายๆ ที่ช่วยทำให้เรามีสติดีขึ้น แต่ว่าเราไม่สามารถทำทีละอย่างได้เลย มันมักจะทำหลายอย่างพร้อมกัน เวลาเดินจงกรมสร้างจังหวะใจก็ไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ หรือแม้แต่ฟังคำบรรยายอยู่ บางคนก็ฟังไปด้วยนึกอะไรไปด้วย บางคนขณะที่นั่งอยู่ในศาลานี้เดินสร้างจังหวะยกมือสร้างจังหวะ ยกไปด้วยฟังไปด้วยอันนี้ก็ไม่ถูก ยกมือสร้างจังหวะก็ให้มีสติอยู่กับการสร้างจังหวะ ไม่ใช่ฟังไปด้วยแล้วก็รู้สึกตัวไปด้วยอันนี้มันไม่ถูก ทำทีละอย่างก็คือถ้ายกมือก็ให้มีความรู้สึกตัวกับการยกมือ อย่าไปสนใจคำพูดคำบรรยายให้ฟังผ่านๆ ถ้าจะฟังก็ตั้งใจฟังแล้วก็ไม่ต้องยกมือ แล้วเราเลือกได้ว่าเราจะทำอะไร แต่ถ้าทำสองอย่างพร้อมกัน ยกมือไปด้วยรู้สึกตัวไปด้วยรู้สึกการเคลื่อนไปด้วยแล้วก็ฟังไปด้วย มันไม่ถูก
อันนี้สำคัญมากสำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ทำทีละอย่าง เวลาอยู่กับพ่อแม่ดูแลพ่อแม่ใจก็อยู่กับพ่อแม่เต็มร้อย เวลาไปพักก็วางพ่อแม่ลง พักเต็มที่ แต่หลายคนรู้สึกผิด ถ้าเกิดว่าเวลาพักเวลานอน ใจไม่ได้นึกถึงพ่อแม่ ใจก็นึกถึงพ่อแม่ จะดูแลพ่อแม่วันรุ่งขึ้นทำอย่างไร อันนี้ก็ทำสองอย่างในเวลาเดียวกัน แต่ในทางตรงข้ามถ้าเกิดว่าเวลาเราพัก เราก็วางเรื่องพ่อเรื่องแม่เรื่องการดูแลท่านไว้ก่อน ทำอย่างเดียวคือพัก พักเต็มที่ ตื่นขึ้นมาล้างหน้า ใจก็อยู่กับการล้างหน้าทำอย่างเดียว อย่าเพิ่งไปคิดว่าเอ๊ยเราต้องทำครัว จะทำรายการอาหารอะไรให้กับลูก บางคนขณะที่ล้างหน้าใจก็นึกถึงงาน วางแผนงานแหละ
มันเคยมีความคิดที่แพร่หลายในหมู่คนทำงาน ก็คือทำหลายอย่างพร้อมกัน ภาษาฝรั่งเรียกว่า multitasking ก็เคยเป็นค่านิยมเป็นแฟชั่น เพราะว่าเป็นการใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อแบบนั้น ทำหลายอย่างพร้อมกัน แต่สุดท้าย ปรากฏว่าทำได้ไม่ดีสักอย่าง แล้วก็มันเป็นการบั่นทอนจิตใจด้วยเพราะว่าใจมันแตกเป็นเสี่ยงๆ เลย เพราะว่าไม่รู้จะจดจ่ออยู่กับอะไร การมีสติใจมันต้องเต็มร้อยแต่ถ้าเราทำสามอย่างพร้อมกัน ใจก็อยู่อย่างแต่ละอย่างอย่างละสามสิบสาม หรือว่าบางทีสามสิบ ห้าสิบ แล้วก็สิบหรือยี่สิบ แล้วก็เครียด งานก็ไม่ดี คนทำงานก็ไม่มีความสุข เดี๋ยวนี้เค้าบอกว่านี้เออ เค้าเริ่มกลับมายอมรับแล้วว่าทำทีละอย่างดีที่สุด หลังจากใช้เวลาวิจัยมาอยู่นาน ตอนนี้เค้าเริ่มยอมรับในหมู่ภาคธุรกิจว่าทำทีละอย่างดีที่สุดแล้ว
แต่ว่าทำทีละอย่างอย่างอาตมาพูด มีความหมายมากกว่านั้น มันหมายความว่าเวลาเราทำอะไร ใจเราก็อยู่กับสิ่งที่เราทำด้วยความรู้สึกที่เต็มร้อย เวลาทำงานก็ใจอยู่กับงาน อย่าเพิ่งไปนึกถึงลูก อย่าเพิ่งไปนึกถึงพ่อแม่ อย่าเพิ่งไปนึกถึงการวางแผน ถ้าจะวางแผนเมื่อไหร่ก็ให้วางทุกอย่างแล้วก็นั่งคิดวางแผน โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติใหม่ที่สนใจเรื่องการเจริญสติ นี่เป็นการสร้างนิสัยที่สำคัญมาก ทำทีละอย่าง แล้วเราลองสังเกตมันจะไม่ยอมทำทีละอย่างหรอก เวลาจะนอนมันก็นึกถึงงาน เวลากินข้าวก็นึกถึงลูก
เวลาไปเที่ยวต่างประเทศหรือไปเที่ยวภูเขาหรือไปเที่ยวธรรมชาติ ใจมันก็ไปนึกถึงเรื่องการวางแผนวันรุ่งขึ้น พรุ่งนี้จะไปไหนจะทำอะไร บางคนก็นึกขุ่นเคืองใจ ไปเที่ยวทัชมาฮาล แต่ว่าใจมันก็นึกขุ่นเคืองที่โดนแขกหลอก แลกเงินหนึ่งดอลลาร์ปรากฏว่าแขกนับไปหายไปห้าสิบรูปี หรือว่าบางทีไปซื้อของร้อยรูปีเราก็ซื้อมาต่อแล้ว ห้าสิบรูปีโอ๊ยเราดีใจ พอไปอีกร้านหนึ่งยังไม่ทันต่อเลยเค้าลดให้ตั้งห้าสิบรูปี ถ้าต่ออีกหน่อยก็ได้สามสิบหรือยี่สิบ โมโห ไปเที่ยวทัชมาฮาลแต่ว่าเสียดายเงินถูกหลอก อันนี้ก็ทำสองอย่าง แทนที่จะเที่ยวก็มานั่งคิดเสียดายเงิน วางสิ่งที่มันผ่านไปแล้ว เวลาจะเที่ยวที่ไหนใจก็อยู่กับสิ่งนั้นเต็มร้อย เวลาอยู่ที่ไหน ใจอยู่กับสิ่งนั้นเต็มร้อยนี่เค้าเรียกว่าทำทีละอย่าง แล้วลองสังเกตว่าส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยได้ทำทีละอย่างหรอก ทำหลายอย่างพร้อมกัน และนั่นเป็นวิธีที่ทำให้จิตใจมีความวิตกกังวลมีความเศร้ามีความอาลัย เวลาเรามีความเศร้าอาลัย วิตกกังวลลองสังเกตดู ไม่ใช่เพราะทำทีละอย่าง แต่เราทำหลายอย่างพร้อมกัน นั่งฟังคำบรรยายแต่ใจไปแล้ว ลองฝึกนิสัยใหม่ ทำทีละอย่าง แล้วเราจะพบว่าชีวิตเรามันจะง่ายขึ้น ความทุกข์มันจะลดลง