แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้จะไปบรรยายที่กรุงเทพฯหัวข้อที่เขานิมนต์ให้ไปบรรยายก็คือ เผชิญความเจ็บไข้ด้วยใจที่ปล่อยวาง หัวข้อนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับพวกเรา ด้วยเพราะว่าพวกเราแม้ว่าตอนนี้อาจจะยังไม่เจ็บไม่ป่วย แต่วันหน้าก็ต้องเจอความป่วยไข้ แล้วเวลาเจ็บป่วยเราจะนึกถึงแต่เรื่องการรักษาเยียวยาทางกาย นี่มันไม่พอ มันต้องนึกถึงเรื่องของการดูแลจิตใจด้วย ใจปล่อยวางมันก็บอกอยู่ในตัวแล้วว่าเป็นเรื่องการทำจิต บางคนพอได้ยินคำว่าปล่อยวางก็เข้าใจว่าปล่อยปละละเลยไม่ทำอะไร ถ้าเจ็บป่วยก็ควรจะทำเช่น กินยา ไปหาหมอ หรือว่าควบคุมอาหาร ออกกำลังกายตามสมควร อันนี้เรียกว่าเป็นการทำกิจ แต่ว่าอย่าลืมการทำจิตด้วย ปล่อยวางเป็นเรื่องการทำจิต ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย ซึ่งเป็นเรื่องของการไม่ทำกิจ ที่จริงการทำจิตก็ทำได้หลายอย่าง เช่น การสวดมนต์ การเจริญสติการทำสมาธิ การปล่อยวางก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ควรทำ แล้วก็เลยสงสัยว่าจะปล่อยวางอะไร
อย่างแรกที่ควรปล่อยวางก็คือ ปล่อยวางความคิด ว่ามันไม่แฟร์เลยที่ฉันป่วย มันไม่ยุติธรรมเลย ปล่อยวางเสียงบ่นในใจว่ามันไม่น่าเลย หลายคนเวลาเจ็บป่วยมันจะมีเสียงบ่นอยู่ในใจหรือเสียงโวยวายว่า ไม่น่าเลย ทำไมต้องเป็นฉัน? ไม่ถูกต้อง ไม่ยุติธรรม ความคิดหรือเสียงบ่นแบบนี้ มันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเลยกลับทำให้แย่ลงด้วย เพราะว่ามันทำให้เราไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น จิตมันจะคอยผลักไส เมื่อไม่ยอมรับ เพราะว่ามันไม่แฟร์ เพราะว่ามันไม่ถูกต้อง หลายคนไม่ใช่แค่ป่วยกายอย่างเดียวป่วยใจด้วย เพราะใจมันไม่ยอมรับแล้วคนเราก็มีเหตุผลมากมายที่จะเอามาเป็นข้ออ้างว่ามันไม่ถูกต้อง ฉันไม่น่าเจ็บไม่น่าป่วยซึ่งบางทีมันก็มีเหตุผลเหมือนกัน เช่น บางคนก็อุตส่าห์ดูแลสุขภาพมาอย่างดี ออกกำลังกายเป็นประจำ จะกินอาหารก็เลือกกิน เช่น กินแต่อาหารชีวจิต กินอาหารแมคโครไบโอติกส์ (Macrobiotics) หรือว่ากินแต่อาหารที่มันปลอดสารพิษเป็นพวกออร์แกนิก (Organic) หลายคนพิถีพิถันมากในเรื่องการกินอาหาร ในเรื่องสุขภาพ บางทีก็กินอาหารเสริม สไปรูไลน่า (Spirulina) หรือว่าโคคิวเท็น (CoQ10) อะไรที่เขาว่าดี ช่วยทำให้ต้านอนุมูลอิสระที่ทำให้ไม่เป็นมะเร็งก็ไปหาซื้อมาทั้งที่ราคาแพง แถมยังไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ แต่วันดีคืนดีก็พบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง มีบางคนพอพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ทั้ง ๆ ที่ดูแลสุขภาพดี แกไม่เพียงแต่ตกใจแต่ว่ายังโกรธด้วย ทำไมต้องเป็นฉัน? เป็นฉันได้ยังไง? ฉันเป็นมะเร็งได้ยังไง? ฉันไม่น่าจะเป็นมะเร็งเลย เหล้ายาหรือว่าบุหรี่ก็ไม่สูบ ออกกำลังกายก็ทำเป็นประจำ ทำไมคนอื่นที่มันกินเหล้าสูบบุหรี่ทำไมมันไม่เป็น? ทำไมถึงต้องเป็นฉัน? ไม่ยุติธรรมเลย แล้วก็จะมีอาการโกรธเกรี้ยว ตลอดเวลาที่เจ็บป่วยก็มีอารมณ์เสีย หงุดหงิด เจอหมอเจอพยาบาลก็ตวาดใส่ ที่จริงหมอพยาบาลไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ข้างในมันโกรธ มันโมโห มันยอมรับไม่ได้ ตอนป่วยก็ป่วยแบบเจ็บทั้งกายเจ็บทั้งใจ ถึงเวลาตายก็ตายไม่สงบ สำคัญมากเลยเสียงบ่นอยู่ในใจว่าไม่ยุติธรรมไม่แฟร์ คนเราในยามที่เจอความทุกข์มันยอมรับไม่ได้ ก็จะมีข้ออ้างต่าง ๆ ว่ามันไม่ยุติธรรมเลย
มีคนหนึ่งเป็นโรคสุราเรื้อรัง แอลกอฮอล์เต็มอยู่ในสายเลือดจนกระทั่งเลือดมันไม่แข็งตัว แล้วมันก็ไหลออกมาตามข้อต่อ ตามใต้ผิวหนังจนกระทั่งเห็นเป็นรอยช้ำทั่วร่างกายจะตายอยู่แล้ว ก่อนที่จะหมดความรู้สึกตัว แกก็จะเฝ้าแต่คร่ำครวญบ่นว่าไม่แฟร์เลย ทุกครั้งที่ฉันกินเหล้า ฉันเติมน้ำให้มันเจือจางตลอดเวลาแล้วทำไมยังเป็นโรคนี้อีก? ขนาดยังไม่เลิกกินเหล้า ขนาดยังกินเหล้าตลอดเวลา กินเหล้าเป็นประจำก็ยังบอกว่าไม่แฟร์ ที่ป่วยก็อ้างว่าฉันเติมน้ำให้มันเจือจางอยู่ทุกครั้ง อันนี้เป็นการทำร้ายตัวเอง แต่ถ้าเราเริ่มต้นจากการที่ว่าปล่อยวางมันซะ ปล่อยวางความคิดว่าไม่แฟร์ มันเกิดขึ้นแล้วจะบ่นจะโวยวายไปทำไม? การบ่นการโวยวายตีโพยตีพาย มันไม่ได้ช่วยทำให้ร่างกายหายเร็วขึ้น หรือว่าทำให้อะไรดีขึ้นมีแต่ทำให้แย่ลง ดังนั้น ถ้าเราเริ่มต้นด้วยการยอมรับมัน ลืมไปซะว่ามันยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม มันควรไม่ควร ยอมรับใจก็จะสงบ การผลักไสก็จะไม่เกิดขึ้น การยอมรับทำให้ใจมันสงบได้ ช่วยได้เยอะทีเดียว และมันก็มีผลต่อกายด้วย
หญิงคนหนึ่งเธอเป็นมะเร็งตั้งแต่อายุ 30 เป็นมะเร็งชนิดที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นกับคนที่เป็นหนุ่มสาวเท่าไหร่ เป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะชนิดหนึ่ง หมอยังไม่เชื่อเลยยังคิดว่าผลตรวจมันผิดพลาด ตอนที่เป็นนั้นเธอก็ทุกข์มาก เหวี่ยงวีนใส่คนรอบข้าง พ่อแม่ หมอ พยาบาล เพื่อน เพราะว่ารู้สึกว่ามันมันไม่ถูกต้อง มันไม่น่าจะเลยที่ฉันต้องเป็น แต่ตอนหลังเธอก็เริ่มยอมรับได้ ใจเธอเริ่มสงบ ทั้งที่อาการก็ลุกลามมากขึ้นแล้ว เธอพูดเอาไว้ว่า ในขณะที่เราคิดว่าความจริงมันโหดร้าย แต่การไม่ยอมรับความจริงต่างหากที่โหดร้ายกว่า เพราะมันเป็นเหมือนคุกที่ขังใจเราเอาไว้ ความจริงบางครั้งมันโหดร้ายคือความจริงว่าเป็นมะเร็งแล้ว แต่ที่มันโหดร้ายกว่าที่มันแย่กว่าคือการไม่ยอมรับความจริง เพราะมันเป็นเหมือนคุกที่ขังใจเราเอาไว้คือไม่มีทางมองไปข้างหน้าเลย เพราะมัวเอาแต่คร่ำครวญบ่นโวยวาย และที่โวยวายก็เพราะรู้สึกมันไม่แฟร์มันไม่น่าเลย วางมันลงซะแล้วเราก็จะยอมรับความจริงได้
ปล่อยวางประการที่สองคือ ปล่อยวางอนาคต อนาคตในที่นี้หมายถึงว่าการปรุงแต่ง หรือการคาดการณ์ว่าข้างหน้านั้นจะเป็นอย่างไร? ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะคาดการณ์ไปในทางร้าย บางทีอาจเป็นมะเร็งแค่ระยะต้น ๆ หนึ่ง สอง แต่ว่าใจเสียแล้วและร่างกายก็ทรุดเพราะไปสร้างภาพอนาคต ไปเห็นภาพตัวเองนอนติดเตียงมีสายระโยงระยาง นึกเห็นภาพตัวเองกำลังทุกข์ทรมาน แบบนี้มันทำให้จิตทรุดเลย หรือการนึกถึงความตายว่าต้องตายอย่างทุกข์ทรมาน ที่จริงเราก็ไม่รู้หรอกว่ามันจะเกิดขึ้นหรือเปล่า การที่ไปวิตกกังวลล่วงหน้ามันก็ไม่ได้ช่วยอะไร มันก็ซ้ำเติม มีคุณป้าคนหนึ่งอายุเจ็ดสิบกว่า ก็ไปหาหมออยู่หลายครั้ง เทียวเข้าเทียวออกอยู่นั่น เพราะว่าหมอไม่รู้ว่าเป็นอะไร ให้ยาไปก็ไม่ได้ดีขึ้น สุดท้ายวันหนึ่งหมอก็บอกว่าป้า ป้าเป็นมะเร็งตับอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน พอแกได้ยินเท่านั้นแกช็อคเลย กลับไปบ้านแกก็กินไม่ได้นอนไม่หลับ หมดเรี่ยวแรง ไม่มีชีวิตชีวา นึกถึงภาพที่ตัวเองจะต้องตาย นึกถึงว่าถ้าตัวเองตายลูกจะเป็นอย่างไร? หรือว่านึกถึงว่าเวลาตอนที่เจ็บป่วยป่วยหนักใครจะมาดูแลฉัน? ฉันจะเอาเงินมาจากไหน? พวกนี้อนาคตทั้งนั้น แต่พอแกจมอยู่กับภาพที่ปรุงแต่ง อยู่ได้ 12 วันแกก็ตาย หมอบอกว่าอยู่ได้ 3 เดือน บางคนเป็นมะเร็งตับอยู่ได้ 3 ปี แต่ทำไมคุณป้าคนนี้อยู่ได้แค่ 12 วัน เพราะแกวิตกกังวลมาก ไปนึกสร้างภาพที่มันเลวร้ายในอนาคต
ที่จริงเราควรจะอยู่กับปัจจุบัน ทำปัจจุบันให้ดีที่สุดและในปัจจุบันมันก็มีความสุขให้เราเก็บเกี่ยว มีความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราสามารถจะชื่นชมได้ ในขณะที่กายป่วย แต่ว่าเราก็เติมความสุขให้แก่จิตใจ มันมีความสุขอยู่รอบตัว ความสุขที่ได้เห็นที่ได้คุยกับหลานตัวเล็ก ๆ ความสุขที่ได้สนทนากับลูกหลาน ความสุขจากการที่ได้ไปเที่ยวบ้างกินอาหารที่ชอบบ้าง หรือว่าได้ไปทำวัตรทำบุญสวดมนต์ให้จิตสงบ มันมีความสุขในปัจจุบันที่เราสามารถจะเก็บเกี่ยวและก็บำรุงใจ ซึ่งก็ช่วยทำให้กายดีขึ้นได้ แต่คนจำนวนไม่น้อยปิดรับความสุขในปัจจุบัน เพราะว่าใจมันไปพะวงไปวิตกกังวลกับอนาคต อันนี้เกิดขึ้นกับคนดูแลด้วย
มีผู้หญิงคนหนึ่งก็มาบอกว่าสามีป่วยหนัก ตอนนี้เป็นมะเร็งกระเพาะแล้วอาการก็แย่ลงไปเรื่อย ๆ ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น เธอก็ทุกข์มากเลยนึกถึงว่าถ้าสามีตายเธอจะอยู่อย่างไร? แล้วลูกล่ะใครจะส่งเสีย? พอคิดแบบนี้เข้าทรุดเลย ไม่มีเรี่ยวไม่มีแรงดูแลสามีจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ จิตใจก็ย่ำแย่ร่างกายก็ไม่ดีร่างกายผ่ายผอม เขียนมาปรึกษาว่าจะทำอย่างไร? ก็บอกเขาไปว่าก็เห็นใจที่เขาต้องมาเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ แต่อยากจะเตือนเขาอย่างหนึ่งว่า สามีเขายังไม่ตาย สามีคุณยังอยู่ เพราะฉะนั้นนี่คือโอกาสทองและโอกาสทองมันก็จะหายไปเรื่อย ๆ ถ้าคุณมัวแต่ไปพะวงถึงอนาคต โอกาสทองก็จะหลุดลอยไป นี้คือช่วงเวลาที่คุณสามารถจะมีความสุขกับสามี หรือว่าทำสิ่งดี ๆ ร่วมกัน ใช้เวลานี้ให้เกิดประโยชน์เกิดความสุข แล้วก็มีคุณค่าทั้งกับตัวคุณเองและสามี พอพูดอย่างนี้ไปเธอก็ได้คิด แล้วก็เขียนมาบอกว่าตอนนี้ก็เริ่มดูแลตัวเองแล้ว กลับมากินอาหารกลับมาดูแลสุขภาพให้ดี เพื่อจะได้มีกำลังใจให้กับสามี แล้วก็จะได้ใช้เวลานี้มีความสุขร่วมกัน ทำสิ่งดี ๆ ร่วมกัน
หลายคนปล่อยให้ความสุขในปัจจุบันขณะนี้มันหลุดลอยไป เพราะว่าใจมันไปคิดถึงแต่อนาคตที่มันโหดร้าย หรือน่ากลัว ซึ่งมันจะเกิดขึ้นหรือเปล่าก็ไม่รู้? หรือถ้ามันกำลังจะเกิดขึ้น มันก็ยิ่งจำเป็นที่จะต้องเก็บเกี่ยวความสุขในปัจจุบันให้ได้มากที่สุดด้วยการที่เอาใจมาอยู่กับปัจจุบันขณะ ดังนั้นการปล่อยวางอนาคตก็สำคัญ ปล่อยวางอนาคตหรือภาพปรุงแต่งในทางเลวร้าย ไม่ใช่หมายความว่าไม่ต้องเตรียมตัว การเตรียมตัวก็จำเป็นต้องมี เช่น อาจจะต้องนึกถึงว่า ถ้าเกิดเราอยู่ในระยะท้าย ไม่สามารถจะตัดสินใจใดได้ด้วยตัวเอง การรักษาอย่างไรที่เราจะยอมให้ทำ การรักษาอย่างไรที่ไม่ยอม เช่น บางคนอาจจะบอกว่า ถ้าหัวใจหยุดเต้น ไม่ต้องปั๊ม ถ้าหายใจไม่ค่อยได้ ก็ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ อันนี้ก็คิดเอาไว้ล่วงหน้าก็ดี แต่ว่าไม่ใช่ไปพะวง ไม่ใช่ไปวิตกกับภาพเลวร้ายที่คาดว่ามันจะเกิดขึ้น ดังนั้นต้องวาง
ปล่อยวางประการต่อมา ก็คือ ปล่อยวางความอยาก อยากหายป่วย อยากหายเจ็บ เพราะความอยากนี้แหละมันจะทำให้เกิดความทุกข์กับจิตใจ หลวงปู่ขาวท่านพูดไว้ดี ท่านบอกว่า ความอยากหายจากทุกขเวทนานี้ อย่าไปอยาก เพราะถ้าอยากแล้วมันจะเป็นการเพิ่มสมุทัย คือ ทำให้ทุกข์มากขึ้น ท่านบอกว่า ถ้าจะอยาก ให้อยากเห็นความจริงจากทุกขเวทนาที่กำลังเกิดกับร่างกาย ความอยากเห็นความจริงนี้แหละมันเป็นองค์มรรค ที่มันจะเป็นตัวเพิ่มความเพียร ซึ่งทำให้กิเลสมันหายไป ถ้าอยากหายนี่อันตราย เพราะว่ามันจะยิ่งทำให้ทุกข์ทรมานมากขึ้น วางความอยากหาย ไม่ว่าจะเป็นหายป่วย หรือหายเจ็บ ซึ่งในด้านหนึ่งก็คือการอยู่กับมันอย่างสันติ ถ้าอยากหายเมื่อไหร่ จิตมันจะผลักไส และจะมีอาการทุรนทุราย หงุดหงิดมาก
มีผู้ชายคนหนึ่งแกเป็นคนฉลาด แล้วก็เป็นคนหัวไว แต่ว่าที่มาคู่กันคือ ใจร้อน ใครทำอะไรไม่ถูกใจ หรือทำอะไรเชื่องช้า แกก็โกรธ แล้วคงเป็นเพราะว่าความใจร้อน แล้วก็ความหงุดหงิด ได้อะไรไม่ทันใจ ก็มีอารมณ์ขึ้นอยู่ตลอดเวลา ก็ทำให้เส้นเลือดในสมองแตก กลายเป็นอัมพฤกษ์ เดินเหินก็ไม่ค่อยได้ มันเปลี้ยไปหมดเลย หงุดหงิดมากเลยคนที่เคยทำอะไรได้ด้วยตัวเอง พอมาเป็นแบบนี้ก็จะมีความทุกข์มาก ไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เวลาหมอมาช่วยเยียวยามีการทำกายภาพบำบัด แกก็จะหงุดหงิดเมื่อไหร่จะหายสักที เมื่อไหร่จะหายสักที เมื่อไหร่ฉันจะเดินได้ แกยิ่งคิดแบบนี้ก็ยิ่งทุกข์ จนกระทั่งพอถึงจุดหนึ่งหลังจากที่ผ่านไปเป็นปี กายภาพบำบัดยังไง ๆ ก็ไม่สามารถจะเดินได้เหมือนปกติ หรือใช้มือได้อย่างที่เคยทำ แกก็เริ่มยอมรับ แล้วความอยากก็เริ่มวางลง หมอมาดูแล หมอมาทำกายภาพบำบัด แกก็ให้ความร่วมมือกับหมอ ไม่เซ้าซี้ ไม่บ่นแล้วว่าเมื่อไหร่จะหาย เมื่อไหร่จะหาย ไม่ต่อว่าหมอแล้ว มันก็ทำใจยอมรับได้ ปรากฏว่ามันเริ่มดีขึ้น แล้วก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งสามารถที่จะเดินเหิน หรือว่าการใช้มือก็เกือบจะเป็นปกติเลย และที่เปลี่ยนไปอีกอย่างคือ นิสัย นิสัยก็เปลี่ยนไปด้วย จากเดิมที่เป็นคนใจร้อน จู้จี้ ขี้บ่น ก็ใจเย็น อดทนได้ และนี่เรียกว่าเป็นเพราะว่าเขาวางความอยาก อยากหาย อยากจะให้กลับมาเดินได้ ยิ่งอยาก มันยิ่งช้า แต่พอวางความอยาก การฟื้นฟูก็ดีขึ้น จะเรียกว่าเป็นการปล่อยวางความคาดหวังก็ได้
แต่นอกจากความคาดหวังของตัวเองแล้ว มันยังมีความคาดหวังอีกอย่างหนึ่ง คือ ความคาดหวังของคนอื่น หลายคนมีเพื่อนเยอะ พอป่วยเพื่อนก็จะมาเยี่ยม แล้วก็จะมาพูดให้กำลังใจ ตอนที่ไปอยู่ประเทศอังกฤษ วัดอัมราวดี ก็มีพระฝรั่งรูปหนึ่งป่วย รักษายังไงก็ไม่หาย ไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบัน หรือยาแผนโบราณ จะฝังเข็ม จะให้สมุนไพรยังไงก็ไม่ค่อยดีขึ้น เพื่อนก็มาเยี่ยม เพราะว่าเป็นคนที่เพื่อนเยอะ แล้วก็มีน้ำใจ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนพระ เพื่อนโยม ก็มาพูดให้กำลังใจ แล้วหลายคนก็พูดว่า หายเร็ว ๆ หายเร็ว ๆ ทำใจให้ดี ๆ เอาไว้ เดี๋ยวมันก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ว่าท่านก็ไม่ดีขึ้นเลย มีแต่จะแย่ลง จนกระทั่งเหมือนกับว่าคงตายแน่ แล้ววันหนึ่ง หลวงพ่อสุเมโธ ท่านเป็นอาจารย์ของพระรูปนี้แล้วก็ตอนนี้ยังเป็นเจ้าอาวาสวัดอัมราวดี ท่านก็มาเยี่ยม อยู่คนละวัดกัน แทนที่ท่านจะพูดให้กำลังใจ ท่านกลับบอกว่า ท่านกิตติสาโร จะตายก็ตายได้ อย่าพยายามอยากหาย พระรูปนั้นก็ร้องไห้เลย ร้องไห้ด้วยความซาบซึ้ง เพราะรู้สึกว่าเหมือนกับยกภูเขาออกจากอก แล้วปรากฏว่าหลังจากนั้นก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ ดีวันดีคืนจนกระทั่งหาย แล้วทุกวันนี้ก็ยังมีชีวิตอยู่เลย อาการของพระรูปนี้แย่ลงเพราะรู้สึกว่าต้องแบกรับความคาดหวังของเพื่อน เพื่อนอยากจะให้เราหาย แต่เราก็ไม่หายสักที เราพยายามต่อสู้กับความเจ็บป่วยแต่มันก็ไม่หาย พอไม่หายก็หงุดหงิด พอไม่ดีขึ้นก็รู้สึกกังวล มันก็ทำให้ร่างกายแย่ลง แต่พอหลวงพ่อสุเมโธพูดแบบนี้แกเลยปล่อยวาง ความคาดหวังของเพื่อนฉันไม่สนใจละ ครูบาอาจารย์ยอมอนุญาตให้ตายแล้ว ไม่หายก็ไม่เป็นไรให้ฉันพร้อมตายแล้ว พอพร้อมตายใจมันดีขึ้นเลย อันนี้เรียกว่าการปล่อยวางความคาดหวังของคนอื่นก็สำคัญ
บางทีคนไปเยี่ยมก็เป็นไปสร้างแรงกดดันให้กับผู้ป่วย นอกจากพูดว่า “หายไว ๆ” บางทีก็ใช้คำว่า “สู้ ๆ สู้ ๆ” คำว่า “สู้ ๆ” คนพูดไม่รู้หรอกว่า ไปสร้างความคาดหวัง ไปสร้างแรงกดดันให้กับคนป่วย คนป่วยหลายคนบอกว่า จะพูดว่าฉันไม่ชอบเลยคำว่า “สู้ ๆ” เพราะว่าเขารู้สึกว่าการที่จะพยายามทำใจให้เข้มแข็งมันเหนื่อยมาก มันใช้พลังมาก และถ้าตัวเองจะอ่อนแอมันก็กลายเป็นเรื่องผิด เพราะว่าเพื่อนก็จะผิดหวังไปด้วย ก็เลยต้องพยายามรวบรวมกำลัง ให้เข้มแข็งเอาไว้ ซึ่งมันทำให้รู้สึกแย่ลง เพราะว่าบางทีคนเรามันก็อยากจะเป็นตัวของตัวเอง ถึงเวลาอ่อนแอก็อยากจะเป็นตัวของตัวเองบ้าง แต่พอเพื่อนบอกว่า “สู้ ๆ” ก็เลยต้องพยายามสู้ให้ได้ มันเหนื่อยล้า มันเป็นภาวะที่เหมือนกับถูกกดดัน ความเจ็บป่วยก็เยอะอยู่แล้ว ยังต้องเจอแรงกดดันของเพื่อนที่หวังดีอีก ดังนั้นการปล่อยวางความคาดหวังของตัวเองก็ดี ของคนอื่นก็สำคัญ
ปล่อยวางอีกอย่างหนึ่งสำคัญมาก คือ การปล่อยวางความเจ็บปวด อันนี้ไม่เหมือนกับเมื่อกี้พูด เมื่อกี้บอกว่าปล่อยวางความอยากให้มันหาย ปล่อยวางความเจ็บปวดหรือปล่อยวางทุกขเวทนา คนที่เจ็บป่วยแล้วก็เจ็บปวด เขาไม่ค่อยรู้หรอกว่าเขากำลังยึดมันเอาไว้ ความเจ็บปวดเป็นของที่เราไม่ชอบแต่เราก็ยึด อะไรที่เราไม่ชอบ ดูเหมือนผลักไส แต่ลึก ๆ มันมีการยึดเอาไว้ แต่ถ้าเราลองวางความเจ็บปวด หรือลองลืมปวดดูบ้าง มันจะดีขึ้น คุณหมออมราเคยไปเยี่ยมคนไข้คนหนึ่งที่เป็นมะเร็ง แล้วมันก็ลามไปจนถึงกระดูกแล้ว คนไข้คนนี้เป็นอาจารย์แพทย์ อายุแค่สี่สิบกว่า แล้วก็ปวดมากตอนนั้นยามอร์ฟีนก็เอาไม่อยู่ เพราะว่ามันลามไปเป็นระยะท้ายแล้ว หมอให้มอร์ฟีนทุก 3 ชั่วโมงแกก็ไม่ไหวอยากจะขออีก หมอก็ให้ไม่ได้เพราะว่าถ้าให้มากกว่านี้มันจะเกิดโทษ มันจะไปกดการหายใจ คุณหมออมราเห็นอาการของคนไข้ทุกข์ทรมาน เรียกว่าตัวซีด เหงื่อเม็ดโต ๆ ออกมา นอนไม่ได้ ต้องนั่ง นั่งก็นั่งงอก่องอขิงด้วยความปวด คุณหมอก็เลยถามว่า เคยภาวนาไหม? เคยทำสมาธิไหม? บอกไม่เคย คุณหมอก็เลยแนะนำการทำสมาธิ หายใจเข้า “พุท” หายใจออก “โธ” คนไข้ก็ทำตาม
ทีแรกคุณหมออมราคิดว่า คนไข้ปวดแบบนี้คงทำได้ไม่เกิน 5 นาที ปรากฏว่า 5 นาทีผ่านไป แกก็ยังนั่งสมาธิอยู่ 10 นาทีผ่านไปก็ยังทำสมาธิอยู่ ผ่านไป 15 นาที 20 นาที ก็ยังทำอยู่ แล้วก็ยิ่งทำยิ่งดีขึ้น จนกระทั่ง 45 นาที หรือ 50 นาทีก็ถึงค่อยลืมตา แล้วก็หน้าตาก็ดีขึ้น แจ่มใส ปากเป็นสีชมพู ตัวที่เคยซีดมันก็เหมือนกับมีเลือดลมดีขึ้น ความปวดก็ทุเลาไปเยอะเลย ไม่ได้กินยาแต่ว่าความปวดหายไปเยอะ อันนี้เรียกว่า เป็นเพราะอะไร? เป็นเพราะลืมปวด เอาใจมาจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจ จิตมันก็วางจากความเจ็บความปวดที่เกิดขึ้นที่กระดูก แล้วก็ที่ตามเนื้อตัว เหมือนกับเวลาที่เราถูกยุงกัดแต่เราไม่รู้สึก ไม่ใช่เพราะร่างกายไม่มีความคัน ไม่มีความเจ็บ มี แต่ตอนนั้นใจมันไม่ได้จดจ่ออยู่ตรงที่แขนหรือขาที่เจ็บ ตอนนั้นเรียกว่าลืมปวดลืมคัน เรากำลังจดจ่อกับบางสิ่งบางอย่างอยู่ สมาธิมันช่วยทำให้จิตวางความเจ็บความปวดลงได้ กายมันปวดแต่จิตไม่ได้ทุกข์
นอกจากสมาธิ อีกอย่างหนึ่งที่ช่วยคือสติ สติมันมีประโยชน์คือมันเป็นเหมือนกับตาในที่ช่วยทำให้เรามองเห็นความปวดแต่ไม่เป็นผู้ปวด อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านพูดว่า เห็น อย่าเข้าไปเป็น หลวงพ่อคำเขียนท่านเคยปวด เพราะว่าเป็นมะเร็ง ปี 49 ท่านเป็นมะเร็งครั้งแรก หมอพบว่ามีก้อนเนื้ออยู่ตรงแถวตับ พอกดที่ท้องเสร็จ ก็ถามท่านว่า ปวดไหม? ท่านบอกปวดเต็มร้อยเลย ปวดเกินร้อยด้วยซ้ำ ท่านบอก หมอก็เลยถามว่า แล้วทำไมไม่ร้อง? ท่านบอกว่า จะร้องทำไมให้ขาดทุน ก็มันปวดอยู่แล้ว การร้องก็เป็นการซ้ำเติม แล้วท่านก็บอกว่า ความปวดมันเป็นอาการเอาไว้ดู ไม่ใช่เข้าไปเป็น อันที่ท่านพูดคือ ท่านใช้สติ สติมันทำให้เห็นความปวด ไม่เป็นผู้ปวด อีกคราวหนึ่งท่านก็บอกว่า ความปวดมันไม่ได้ลงโทษเรา แต่การเป็นผู้ปวดต่างหากที่มาลงโทษเรา คนส่วนใหญ่เวลามีความปวด มันไม่ใช่แค่เห็นความปวด แต่เป็นผู้ปวดเลย อันนี้เรียกว่าเข้าไปยึดแล้ว เข้าไปยึดทุกขเวทนา ต้องวางมันลง สติมันช่วยเพราะว่าสติมันทำให้รู้ตัว ไม่รู้ตัวหรือหลงเมื่อไหร่มันก็เข้าไปยึด ทั้ง ๆ ที่ทุกขเวทนามันไม่ได้น่ายึดเลย แต่เพราะความหลงไง มันก็เลยโง่ พอโง่แล้วมันก็เลยไปยึด แล้วใจก็ทุกข์ แต่พอมีสติปุ๊บ รู้ตัว พอรู้ตัวปุ๊บมันวางเลย ดังนั้นการวางทุกขเวทนามันสำคัญมาก ต้องวางให้เป็น ส่วนใหญ่ก็เข้าไปเป็นมากกว่า
แล้วก็ปล่อยวางสุดท้าย คือ ปล่อยวางร่างกายนี้ ปล่อยวางร่างกายก็คือ ไม่ยึดว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา ก็มีเรื่องในพระไตรปิฎก อุบาสกคนหนึ่งชื่อ นกุลบิดา ป่วยหนัก พระพุทธเจ้าเสด็จมาเยี่ยมแล้วก็พูดกับท่านว่า แม้กายป่วยอย่าให้ใจป่วยด้วย แม้กายถูกโรครุมเร้าแต่อย่าให้ใจถูกโรครุมเร้าด้วย นกุลบิดาฟังแล้วก็มีความปีติมาก สีหน้าผ่องใส พอพระพุทธเจ้าเสด็จกลับไป พระสารีบุตรมาเยี่ยม นกุลบิดาก็เลยเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง แล้วก็ถามว่า กายป่วยแต่ใจไม่ป่วยทำได้อย่างไร? พระสารีบุตรก็อธิบายว่า กายป่วยแต่ใจไม่ป่วยได้ เมื่อได้ตระหนักว่า รูปนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เมื่อใดก็ตามที่รูปมันแปรปรวน ก็จะไม่มีความเจ็บ ไม่มีความคับแค้นใจ ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายใจมันก็ไม่เกิดขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ไปยึดว่ารูปเป็นเรา เป็นของเรา พอมันป่วย พอมันแปรปรวน อย่าว่าเจ็บป่วยเลย เพียงแค่มันแก่ชราก็ทุกข์แล้ว มีความโศก ความร่ำไรรำพัน ความคับแค้นใจ กายป่วยใจไม่ป่วยได้เมื่อไม่ยึดว่าร่างกายนี้เป็นเรา เป็นของเรา
มีอยู่คราวหนึ่ง อนาถบิณฑิกะป่วยหนัก ใกล้จะตายแล้ว พระสารีบุตรไปเยี่ยมแล้วก็ได้พูดว่า ความตายเป็นของแน่นอน ไม่มีใครที่จะหนีพ้น แต่ให้ท่านคลายความยึดมั่น ใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รวมทั้งวิญญาณที่อาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็แนะให้ไม่ยึดมั่นใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ รวมทั้งวิญญาณที่อาศัย รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ พระสารีบุตรก็ได้แนะนำไปเรื่อย ๆ เป็นลำดับ อนาถบิณฑิกะฟังแล้วก็รู้สึกดีขึ้น คลายความปวด คลายทุกขเวทนา ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่า เมื่อไม่ยึดมั่นว่ารูปเป็นเรา เป็นของเรา รูปมันจะป่วย รูปมันจะเจ็บ มันก็เป็นเรื่องของมัน ที่จริงพระสารีบุตรแนะนำให้ละแม้กระทั่งกายและใจ ไม่ยึดมั่น คือไม่ยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา พอไม่ยึดมั่นปุ๊บ จิตก็สบาย ปลอดโปร่ง อันนี้เป็นธรรมะขั้นสูง ซึ่งจะปล่อยวางได้ก็ต้องอาศัยปัญญา อนาถบิณฑิกะท่านก็เป็นโสดาบัน เพราะฉะนั้น ท่านก็เข้าใจได้ง่าย
แต่ถึงแม้เราเป็นปุถุชน ก็ควรพยายามศึกษาเรื่องนี้เอาไว้ อาศัยสตินี่แหละเป็นตัวช่วยให้เราเห็นความจริงของกายและใจเพราะสติมันเป็นตาในอยู่แล้ว ถ้าเราหมั่นมองตน ใช้สติดูกายดูใจ มันก็จะเห็นความจริงของกายและใจ ว่ากายและใจมันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน กายและใจก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ปัญญามันเกิดขึ้นจากการที่เราใช้สติดูกายดูใจอยู่เนือง ๆ อันนี้ก็เป็นการปล่อยวางขั้นสูง แต่ถึงแม้จะปล่อยวางร่างกายไม่ได้ แต่ว่าปล่อยวาง 4 ข้อข้างต้นพวกเราน่าจะทำได้ ปล่อยวางเสียงบ่นข้างใน ปล่อยวางความคิดว่ามันไม่แฟร์ไม่ยุติธรรม ปล่อยวางอนาคตปรุงแต่งที่ปรุงแต่งไปในทางเลวร้าย ปล่อยวางความอยากหายจากทุกขเวทนา ปล่อยวางความคาดหวังของคนอื่น อันนี้คือสิ่งที่เรามีสติเราก็ทำได้ รวมทั้งใช้สติปล่อยวางทุกขเวทนาด้วย