แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อสักครู่เราได้สาธยายกรวดน้ำตอนเย็น ประโยคสุดท้ายจำได้หรือเปล่าว่าเราได้กล่าวไว้อย่างไร อย่าเปิดโอกาสแก่หมู่มารเทอญ อันนี้ไม่ใช่คำขอแต่เป็นคำเตือนใจ เตือนใจเราว่าอย่าเปิดโอกาสให้แก่หมู่มาร ก่อนหน้านั้น เราพูดว่าขอหมู่มารอย่าได้ช่อง จะขอหมู่มารจริง ๆ ก็ขอไม่ได้ เพราะหมู่มารเขาคอยฉวยโอกาสอยู่แล้ว เขาคอยหาช่องอยู่แล้วที่จะมาครองจิตครองใจของเรา จะไปขอเขาว่าอย่ามารบกวนเราเลย อันนั้นต้องเรียกว่าเป็นไปไม่ได้ มันเป็นงานของเขา แต่สิ่งที่เราทำได้คือเราจะไม่เปิดโอกาสให้แก่หมู่มาร อย่าเปิดโอกาสแก่หมู่มารเทอญ หมู่มารนี้จะเข้ามาได้อย่างไร ก็เมื่อเราหลง เมื่อเราหลงเมื่อไหร่ก็เป็นการเปิดช่องให้ หมู่มารเข้ามา แม้แต่หลงดีใจ หลงดีใจก็เป็นช่องให้หมู่มารเข้ามาได้เหมือนกัน แล้วพอมารเข้ามาแล้วก็จะเกิดความทุกข์ตามมา บางคนเวลาดีใจก็ เผลอพูด เผลอทำ ด้วยความลืมตัว ก็เป็นโอกาสที่กิเลสมารมันจะเข้ามาชักใย หรือว่าโน้มน้าวใจให้ทำชั่ว ผิดศีล หรือว่าสร้างความทุกข์ทั้งกับผู้อื่นและกับตัวเองได้ หากจะปิดโอกาสไม่ให้มารเข้ามายึดครองใจเรา เราก็ต้องมีเครื่องรักษาใจ นั่นคือสติ สติกับความรู้ตัว เขาเรียกว่าเป็นพี่น้องกัน ได้สติเมื่อไหร่ความรู้ตัวก็เกิดขึ้น หรือว่าพอรู้ตัวเมื่อไหร่นั่นก็คือการได้สติ
พระพุทธเจ้าเปรียบสติเหมือนกับ ยามเฝ้าประตูเมือง เมืองทั้งหลายจุดอ่อนของมันก็คือประตู ประตูเมือง ส่วนที่เป็นกำแพงก็สร้างไว้อย่างแน่นหนา แต่ว่าถ้าศัตรูจะเข้ามาได้ก็ต้องเข้ามาทางประตูนั่นแหละ กำแพงเมืองจีนที่ใหญ่โตมโหฬาร ความยาวหลายพันกิโลเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้อนารยชน พวกแมนจูเข้ามา แมนจูไม่ได้ข้ามกำแพงเข้ามา แมนจูเข้ามาทางประตูเมือง เขาใช้ลูกไม้สินบนทหาร ตั้งแต่ระดับนายพลลงมาเลย ติดสินบนให้รางวัล ประตูก็เลยเปิด แมนจูก็เข้ามา แล้วก็สามารถยึดครองเมืองปักกิ่งได้ ราชวงศ์หมิงก็เลยพังพินาศ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในเมืองต่าง ๆ เพราะฉะนั้น ทหารยามที่เฝ้าประตูเมืองต่าง ๆ สำคัญมาก มันชี้เป็นชี้ตาย เกี่ยวกับเมืองหรือนคร ใจเราก็เหมือนกัน สติเป็นเหมือนทหารยามที่เฝ้าประตูแห่งจิตนคร หมู่มารก็พยายามจะเข้ามา ด้วยการล่อให้ใจเราหลง แต่ถ้าสติเราไว ฉลาด ก็สามารถจะรักษาเมืองไว้ได้ คือรักษาใจของเราไว้ให้ปลอดภัย
การที่เรามาฝึกเจริญสติ แม้จะดูเหมือนว่ายังจะไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย หรือเรื่องเร่งด่วน เมื่อเทียบกับงานการที่เรามี ภาระที่เราต้องรับผิดชอบ หนี้สินที่ยังต้องหาเงินหาทองมาชดใช้ พวกนี้ดูเหมือนว่าเป็นงานเร่งด่วน เป็นสิ่งที่ดูเหมือนสำคัญกว่า แต่ไม่ใช่หรอก อาการที่เราพยายามเจริญสติให้ เป็นเครื่องรักษาใจให้ปลอดภัย มัน อาจจะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนก็จริง แต่ว่ามันสำคัญมาก เพราะถ้าเรารักษาสติวันนี้ วันหน้าสติก็รักษาเรา เวลาเกิดเหตุวิกฤตฉับพลัน สติที่เรารักษาไว้ มันก็ช่วยทำให้ใจเรา หรือชีวิตเราปลอดภัยด้วยซ้ำ ที่จริงชีวิตประจำวันของเรา ถ้าไม่มีสติก็อันตราย แค่เดินลงบันไดแล้วใจลอยก็อาจตกบันไดหัวกระแทกพื้น กลายเป็นอัมพาตได้ หรือว่าอยู่ในห้องน้ำ เดินอย่างไม่มีสติ ลื่นไถล หัวกระแทกพื้น อันนี้ก็เป็นอันตรายถึงตายได้ ที่จริงแม้กระทั่งเวลาเรากินข้าว ถ้าเรากิน อย่างไม่มีสติ มูมมาม กินไปคุยไป กำลังคุยกันออกรสออกชาติ เกิดข้าวเหนียวติดคอ หรือว่าเนื้อติดคอเข้า อันนี้ก็กลายเป็นเจ้าหญิงเจ้าชายนินทรากันได้
ดังนั้นจะว่าสติ หรือการเจริญสติ มันสำคัญน้อยกว่างานการ ภารกิจที่บ้าน ที่ทำงานที่คอยเราอยู่ มันก็ไม่ใช่ ยิ่งถ้าเราระลึกถึงว่าสักวันเราจะต้องเจอความพลัดพลาดสูญเสีย ของรักก็ดี คนรักก็ดี ต้องเจอกับความล้มเหลวในการงาน ถ้าไม่มีสติก็เสียศูนย์ เสียศูนย์ไปเลย และบางทีความไม่มีสติก็เกิดจากเราได้โชคได้ลาภด้วยซ้ำ ไม่ใช่ว่าจะต้องมีสติเวลาตอนที่ประสบเหตุที่ไม่พึงปรารถนา หรือเจอเคราะห์ แม้แต่เวลาเจอโชคไม่มีสตินี้ก็อันตราย วันนี้ก็มีข่าว มีผู้ชายคนหนึ่ง อายุ 43 ปี แกถูกล็อตเตอรี่ รางวัลที่หนึ่ง 7 ใบ โอ้โห มันกี่ล้านล่ะ ฉลองเลย กินเหล้า เลี้ยง เมา หลับ ตื่นขึ้นมาล็อตเตอรี่หายไปหมดเลย โอ้ แกเศร้าเลย เศร้าซึมไปเลย แล้วเมื่อวานนี้เอาปืนยิงตัวเองตาย เป็นข่าวเมื่อเช้า นี่เรียกว่าไม่มีสติตั้งแต่ตอนได้โชคแล้ว มาฉลองหน่อย ฉลองหน่อย ฉลองด้วยความดีใจ กินใหญ่ กิน กิน กิน เมา เมา เมา แล้วก็หลับ โชคกลายเป็นเคราะห์ ที่จริงมันไม่ใช่เคราะห์หรอกคือ แค่โชคมันหายไป ล็อตเตอรี่เกิดมีคนขโมยไป ไม่ใช่เคราะห์เพียงแค่โชคมันหลุดลอยไป จากดีใจก็เป็นเสียใจไปเลย ซึมไปเลย ทำใจไม่ได้ปล่อยวางไม่เป็น เขาเรียกว่าไม่มีสติรักษาใจ ปล่อยให้ความเศร้าเสียใจ เกาะกินใจจนซึมไปเรื่อย ๆ จิตมันดิ่งลงไปในความเศร้า สุดท้ายก็ยิงตัวตาย อาจจะมีเหตุปัจจัยอื่นด้วย มันคงไม่ใช่มีเหตุปัจจัยเดียว แต่คนเราพอเวลาไม่มีสติ เสียศูนย์แล้ว เรื่องเล็ก ๆน้อย ๆ ก็กลายเป็นประเด็น
อันนี้มันก็คล้าย ๆกับเรื่องของคุณลุงคนหนึ่ง ถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง แกดีใจมากเลย ถือล็อตเตอรี่เข้าไปในตลาดประกาศให้คนในตลาดได้รู้ว่า กูถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งโว้ย ดีใจ การดีใจนั้นถือเป็นเรื่องของอัตตา ต้องการโชว์ คนเราเวลาได้โชค ได้รางวัล อะไรดีก็มักจะประกาศ ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ขึ้น Facebook สมัยก่อนไม่มี Facebook ก็ไปประกาศในตลาด ประกาศในตลาด กูถูกรางวัลที่หนึ่งโว้ย ต้องการโชว์ ดีใจมาก ในชั่วเวลานั้นแกอาจเผลอคิดไปว่า ต่อไปนี้กูไม่จนแล้ว ลาก่อนความจน กูไม่จนอีกแล้ว ลาก่อนหนี้สิน แกคงคิดแบบนี้ แล้วจู่ ๆแกก็ฉีกล็อตเตอรี่ทิ้งเลย ตอนแรกคิดว่าจะฉีกว่าทำลายความยากจน แต่กลับไปฉีกล็อตเตอรี่เป็นชิ้น ๆ สักพักรู้ตัว ได้สติตื่นขึ้นมา ตายแล้ว ใจเสียเลย พยายามเอาล็อตเตอรี่เป็นชิ้น ๆ มาประติประต่อกัน มันไม่ได้แล้ว เงินเป็นล้านหายวับไปต่อหน้าต่อตา แกทรุดเลย ทรุดเลย จากดีใจสุด ๆ เป็นเสียใจสุด ๆ หลังจากนั้นแกก็กลายเป็นคนบ้าไปเลย นี่แม้กระทั่งเวลาได้โชคก็ต้องมีสติ อย่าว่าแต่เวลาเจอเคราะห์เลย
ดังนั้นสติจึงเป็นสิ่งจำเป็นในทุกที่ทุกสถาน แล้วเมื่อเรามาเห็นความสำคัญของสติ เราก็มาปฏิบัติ ขอให้มีความเพียร แต่ว่าก็อย่าทำด้วยความซีเรียส อย่าทำด้วยอาการด้วยอาการหน้าดำคร่ำเคร่ง เวลาเราเจริญสติก็ขอให้เราทำด้วยใจที่สบาย เราอาจจะมาด้วยความคาดหวังต่าง ๆ นานา เพราะถ้าเราไม่มีความคาดหวังเราคงไม่มา ไม่เสียเวลาเกือบอาทิตย์ เมื่อเราเริ่มลงมือเดินจงกลม เริ่มยกมือสร้างจังหวะ ต้องวางความคาดหวัง หรือว่าเป้าหมายทั้งหลายลง วางไว้ข้างตัวเลย และอยู่กับปัจจุบันก็คือ รู้สึกเวลากายเคลื่อนไหว เวลามือเคลื่อนไหว หรือว่าเท้าเคลื่อนขยับก็ให้รู้ตัว คือรู้กาย แล้วก็ทำด้วยความรู้สึกสบาย ๆ แต่ว่าเป็นธรรมดาที่เราจะรู้กายได้ประเดี๋ยวประด๋าวแค่ไม่กี่วินาที แล้วก็จะลืมกาย เรียกว่าลืมตัวไปเลย เข้าไปอยู่ในโลกแห่งความคิด ไหลไปในอดีตบ้าง ลอยไปในอนาคตบ้าง จมอยู่ในอารมณ์บ้าง มันจะเป็นอย่างนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า กว่าจะรู้ตัวก็คิดไปไกลแล้ว ไม่เป็นไรอย่าไปโมโหตัวเอง อย่าไปโทษตัวเอง อย่าไปหงุดหงิด รู้ตัวเมื่อไหร่กลับมา ที่คิดไปแล้วก็ช่างมัน ทิ้งไปเลย ไม่ต้องกลับมาหวนคิดว่าเมื่อกี้คิดอะไร หลายคนจะพบว่าคิดไปจนเป็นเรื่องเป็นราว เพลินมันมากเลย พอมีสติรู้ตัว ลืมไปเลยว่าคิดเรื่องอะไร แต่ว่าความเอร็ดอร่อยมันยังคงมีอยู่ ก็เลยอยากจะหวนกลับไปคิดว่าเมื่อสักครู่นี้คิดอะไร อย่าทำอย่างนั้น ให้ทิ้งมันไปเลย กลับมาเริ่มต้นใหม่ และในขณะเดียวกันในเวลาคิดไปแล้วเกิดรู้ตัวขึ้นมา บางคนพอรู้ปุ๊บจะมีความพยายามอยากกดข่มความคิดนั้น ก็พยายามห้ามจิตไม่ไห้คิด ไปกดข่มความคิด ส่วนใหญ่เกิดจากความตั้งใจที่จะให้จิตสงบ อยากให้จิตสงบก็พยายามไปห้ามความคิด แทนที่จะรู้ทันความคิดก็ไปห้ามมัน ดูเหมือนดีแต่ทำไปบ่อย ๆ มันจะเครียด เพราะสิ่งที่เราทำ มันเป็นการไปต่อสู้กับพลัง ไปต่อสู้กับจิตที่ยังมีพลัง พลังของความคิด หมาที่มันดุ หรือม้าที่พยศ แล้วก็พยายามบังคับมันให้หายพยศ เราทำได้สักพักเราก็เหนื่อย เพราะว่าสู้แรงต้านของมันไม่ได้
หลายคนพอทำไปแล้วสักวัน สองวัน สามวันก็จะรู้สึกเครียด รู้สึกหน้ามืด รู้สึกหนักหัว อันนี้ก็ให้รู้ว่าเป็นเพราะเราเพ่ง เราพยายามที่จะเอาชนะความคิด เราไม่ชอบความฟุ้งซ่าน เราก็เลยพยายามกดข่มมันทันทีที่รู้ว่ามันฟุ้ง คนที่เครียดถ้าไม่ใช่เพราะป่วย เครียดเพราะรู้สึกแน่หน้าอก ปวดหัว ให้รู้ว่าเป็นเพราะไปเพ่ง เป็นเพราะไปบังคับจิต เพ่งหมายความว่า เอาจิตไปเพ่งที่มือบ้าง ที่เท้าบ้าง หรือไปพยายามบังคับจิตบ้าง และที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าอยากให้จิตมันสงบ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะไม่ชอบความฟุ้ง เห็นว่าความฟุ้งเป็นปฏิปักษ์ที่ต้องกำจัด ทำไมถึงมีอาการหน้ามืดหรือหนักหัวรู้หรือเปล่า เพราะว่าตอนที่เราไปห้ามความคิดนั้น เราจะกลั้นหายใจโดยไม่รู้ตัว เวลาสนเข็ม สังเกตหรือเปล่าเวลาสนเข็มเราตั้งใจสนเข็มมาก เราจะกลั้นหายใจ แต่ว่าเวลาสนเข็มใช้เวลาไม่นาน ไม่กี่วินาที ไม่เกินหนึ่งนาที แต่ถ้าเกิดเรากลั้นหายใจต่อเนื่องตลอดทั้งวัน สองสามวัน มันก็ธรรมดา มันจะหน้ามืดหนักหัว เราไปกลั้นหายใจ เพราะทุกครั้งที่เราไปกดข่ม ไปห้ามความคิด และที่เราทำเช่นนั้นเพราะเราอยากให้จิตสงบ เพราะเราไม่ชอบมัน ไม่ชอบความฟุ้งซ่าน วางความอยากลงทำสบาย ๆ ทำเล่น ๆ
หลวงพ่อเทียนท่านสอนอาตมา ประโยคแรก ๆ ที่ท่านสอน ทำเล่น ๆ แต่ทำจริง ๆ ทำเล่น ๆก็หมายความว่า มันผิดมันพลาดแล้วก็ช่างมัน ไม่ต้องเพ่ง อนุญาตให้ใจมันฟุ้งปล่อยให้จิตเป็นธรรมชาติ และสิ่งที่เราจะฝึกคือฝึกให้จิตมันรู้ทันเวลาใจมันฟุ้ง รู้ทันเมื่อใจมันฟุ้ง หรือรู้ทันเมื่อมีความเครียด พอรู้ทันปุ๊บสติมันก็จะโต สติมันก็จะไว สติก็จะเชี่ยวชาญชำนาญ เพราะสติมันได้ฝึกมันได้ซ้อมอยู่บ่อย ๆ ก็หมายความว่าต้องผิดบ่อย ๆ มันถึงจะถูก ต้องหลงงบ่อย ๆ มันถึงจะรู้ทัน หรือรู้ได้ไว นั่นแปลว่าเริ่มต้นจากการที่เราทำเล่น ๆ ทำเล่น ๆ ไม่เพ่ง ไม่บังคับจิต แต่ทำจริง ๆ ก็หมายความว่าทำตั้งแต่เช้าตื่นมาทันทีที่รู้ตัวลุกจากที่นอนก็ทำเลย แต่ไม่จำเป็นต้องทำด้วยการยกมือสร้างจังหวะหรือเดินจงกลม เพียงแค่มีความรู้ตัว มีสติในสิ่งที่เราทำ กายทำอะไรก็รู้ เห็นกายเคลื่อนไหว และใจเผลอคิดไปก็รู้ รู้ใจคิดนึก ใหม่ ๆ ก็มันก็ไม่รู้ใจคิดนึกหรอก แต่ว่าเห็นกายทำอะไรมันง่ายกว่า ทำเล่น ๆ ไป ต้องอนุญาตให้ใจมันฟุ้งได้
มันเหมือนกับเราเลี้ยงหมา หมาน้อย ๆ ตัวน้อย ๆ เราก็อยากให้มันอยู่บ้าน เพราะอยู่บ้านปลอดภัย แต่มันชอบวิ่งเล่นออกไปข้างนอก ทำยังไงที่จะให้หมามันอยู่บ้านหรืออยู่ติดบ้าน วิธีที่ง่ายและเร็วคือการล่ามโซ่มันเอาไว้ หรือขังไว้ในกรง แต่วิธีนี้จะทำให้มันดุ มันดุแล้วก็ถ้าไม่มีโซ่ ไม่มีกรงมันก็จะแล่นเตลิดไป อีกวิธีหนึ่ง เราให้มันเป็นอิสระ มันจะออกไปข้างนอกก็ได้ แต่ว่าเราจะพยายามเรียกมันบ่อย ๆ เรียกมัน เรียกมัน มันไปเราก็เรียกมัน ใหม่ ๆ มันไปไกลกว่ามันจะกลับมา แต่เนื่องจากเราเรียกบ่อย ๆ เรียกบ่อย ๆ มันก็จะเริ่มรู้แล้วว่าที่ทางของมันคือบ้าน บางครั้งอาจจะเผลอ มีเสียงหมาเห่าอยู่ข้างนอก มันก็วิ่งไปสักพักมันนึกขึ้นมาได้ว่าบ้านของมันคือที่ที่มันควรอยู่ มันก็วิ่งกลับมา บางทีมีคนวิ่ง เดินผ่านถนน เดินผ่านหน้าบ้านมันก็ไปเล่นกับเขา มันลืมตัว สักพักมันนึกขึ้นได้ ว่านี่มันออกนอกบ้านแล้ว มันก็กลับมา มันกลับมาเอง หลังจากที่ที่เราเรียกมันบ่อย ๆ จนทำให้มันเชื่อง มันรู้ว่าที่ทางของมันอยู่ที่ไหน แล้วมันก็พอใจที่จะกลับบ้านเพราะเป็นที่ที่มันเป็นอิสระ หมาหลายตัวไม่อยากกลับบ้านเพราะมันกลัวถูกล่าม มันรู้สึกว่านั่นไม่ใช่บ้าน มันคือคุก ก็ไม่ต่างจากลูกหลานของเรา ถ้าเราทำให้เขารู้สึกว่าบ้านคือคุก เขาก็ไม่อยากกลับบ้าน เวลาเขาไปเรียนหนังสือ เวลาเลิกเรียนเขาก็จะเถลไถล ค่ำ ๆ เขาถึงจะกลับ เสาร์ อาทิตย์เขาก็หาเรื่องออกไปนอกบ้าน เขาไม่อยากกลับบ้าน เพราะเขารู้สึกว่าว่ามันไม่ใช่บ้าน มันคือคุก มันไม่มีอิสระ จะทำอะไรก็ถูกสั่ง ถูกบังคับ
แต่ถ้าเราทำให้เขารู้สึกว่าบ้าน คือบ้าน เขาก็อยากกลับมาอยู่บ้าน ทำไมเขาอยากกลับ เพราะเขาอิสระ เขาก็มีความอบอุ่น ทำกายของเราเป็นบ้านของใจ ไม่ใช่คุกของใจ หลายคนทำให้กายเป็นคุกของใจ คือไปบังคับจิตให้มันอยู่กับกาย อยู่กับลมหายใจบ้าง อยู่กับมือบ้าง เท้าบ้าง พยายามบังคับจิตให้อยู่กับกาย กายเป็นคุกของใจ พอเป็นคุกของใจ ใจมันอยากจะหนีท่าเดียว แต่ทันทีที่เราทำให้กายเป็นบ้านของใจ ใจมันก็อยากกลับมาที่บ้าน กลับมาอยู่กับอยู่กับเนื้อกับตัว เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา เริ่มต้นด้วยการที่เราให้อิสระกับเขา เขาก็จะไป แต่ว่าเรารู้ตัวเมื่อไหร่ เรียกกลับมา อะไรที่เรียกกลับมาก็คือสตินี่แหละ สติเป็นตัวพาจิตมาอยู่ที่กาย แล้วเดี๋ยวก็ไปอีก แล้วสติก็กลับมา รู้ทันแล้วก็พาจิตกลับมา กลับมาที่บ้าน ก็คือกาย ทำแบบนี้บ่อย ๆ ทำแบบนี้บ่อย ๆ เราก็จะมีสติที่ไว รู้ทันอารมณ์ต่าง ๆ ได้รวดเร็ว เวลาสติเขาเห็นอารมณ์ ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่เห็นอย่างเดียวพอ เห็นอย่างเดียวพอ ไม่ต้องทำอะไรกับความคิดและอารมณ์นั้น อันนี้เรียกว่ารู้ซื่อ ๆ รู้ซื่อ ๆ ก็คือรู้เฉย ๆ เห็นความคิดเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นก็ไม่ไปผลักไสมัน หรือไม่ไปยึดมัน เวลามันเป็นความยินดีก็ไม่ได้ยึด ไม่ได้คลอเคลีย เวลาเป็นความยินร้าย เป็นความเครียดก็ไม่ได้ผลักไสมัน แค่รู้ซื่อ ๆ รู้เฉย ๆ สติมันทำหน้าที่นี้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับการเห็นโดยไม่เข้าไปเป็น เพราะถ้าไม่รู้ซื่อ ๆ ไปคลอเคลียเมื่อเป็นอารมณ์ฝ่ายบวก ไปผลักไสเมื่อเป็นอารมณ์ฝ่ายลบ มันจะเข้าไปเป็นเลย เช่นเป็นผู้ดีใจ เป็นผู้เครียด เป็นผู้โกรธ ก็เพราะว่าเราไม่ได้รู้ซื่อ ๆ แต่พยายามไปผลักกดข่มมันในกรณีที่เป็นอารมณ์ฝ่ายลบ หรือว่าเข้าไปคลอเคลียคลุกเคล้าในกรณีที่เป็นอารมณ์ฝ่ายบวก
ใหม่ ๆ ก็ทำยาก เพราะว่าจิตของเราถูกฝึกมาให้มีปฏิกิริยากับความคิดและอารมณ์เหล่านี้ คือถ้าไม่ยึด คลอเคลียคลุกเคล้าก็ผลักไสต่อสู้ แต่การที่มีสติมันจะช่วยทำให้ใจไม่มีปฏิกิริยาอย่างนั้น กับ อารมณ์ คือไม่ผลักไส ไม่ใฝ่หา แค่รู้เฉย ๆ พอรู้เฉย ๆ มันก็คือเห็นแต่ไม่เข้าไปเป็น จะว่าทำให้ใจนี้เป็นกลางต่ออารมณ์ต่าง ๆ ก็ได้ ใจเป็นกลางต่ออารมณ์ต่าง ๆ โดยที่ไม่เข้าไปพัวพัน ไม่ไปเข้าแทรกแซงกับอารมณ์นั้น แค่รู้เฉย ๆมันก็มากพอที่อารมณ์เหล่านี้จะเลือนหายไป เพราะว่ามันเกิดจากความหลง พอหลงกลายเป็นรู้ปุ๊บมันก็หายไปทันที ความคิดและอารมณ์ ความคิดนี่หมายถึงความลักคิด มันเกิดขึ้นเมื่อเราหลง มันเหมือนกับไฟที่อยู่ได้เพราะมีอ็อกซิเจน พออ็อกซิเจนดับไฟก็ดับไปด้วย พอหลงหายไปปุ๊บก็มีรู้มาแทนที่ อารมณ์ความคิดเหล่านี้มันก็เลือนหายไป เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน ไม่ต้องไปกดข่มมัน ให้สติทำงาน เหมือนกับน้ำดีมันไปไล่น้ำเสียเอง ไม่ต้องไปวิดน้ำเสียออกมาให้เหนื่อย ฝึกให้เห็นด้วยสติ ไม่เข้าไปเป็น ฝึกใจให้เป็นกลาง ให้รู้สึกเป็นกลางกับสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามา ไม่ใช่เฉพาะกับธรรมารมณ์หรือความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นในใจต่อไป แม้เป็นเสียงดัง ใจเราก็เป็นกลางกับมันได้ แม้เป็นอากาศที่หนาวใจเราก็เป็นกลางกับมันได้ ถ้าใจไม่เป็นกลางคือใจก็ไปผลักไสเสียงที่ได้ยิน หรือว่าความหนาวที่กระทบกาย มันยิ่งทุกข์ใจทันทีเลย ทุกข์ใจเกิดขึ้นเพราะจิตมันดิ้น ดิ้นได้สองอย่าง ดิ้นเพื่อจะครอบครอง อยากได้ กับดิ้นเพราะผลักไส เสียงดังถ้าใจเราเฉย ๆกับมัน เราก็ไม่ทุกข์
แต่ที่เราทุกข์เพราะใจเรามีปฏิกิริยาในทางลบกับเสียงนั้น ไปผลักไสมันไปต่อต้านมัน ความฟุ้งซ่านก็เหมือนกัน มันไม่ได้ทำอะไรเรา มันมาแล้วก็ไปแต่เป็นเพราะใจเราไม่ชอบมัน ก็เลยเป็นทุกข์เมื่อความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น หลายคนบอกว่าปฏิบัติไม่ค่อยได้เลยเพราะเกิดความฟุ้งซ่านเหลือเกิน ที่จริงความฟุ้งไม่ใช่ปัญหา จิตที่เป็นลบกับความฟุ้งต่างหากที่เป็นปัญหา หรือเป็นเพราะความไม่ชอบที่มันฟุ้ง ความไม่ชอบหรือจิตที่เป็นลบที่ผลักไส ตรงนี้แหละที่มันเป็นปัญหา เมื่อมันเป็นปัญหาเราทำยังไง เราก็ปรับใจให้เป็นปกติ ให้เป็นกลางกับมัน เพื่อทำให้เราสามารถจะรู้ รู้วิธีที่จะเห็น ไม่เข้าไปเป็นได้ ก็ลองทำดู ทำเล่น ๆ ไป ทำด้วยใจที่ยิ้มแย้ม ใจที่ปล่อยวางอยู่กับปัจจุบัน