แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ค่ำวันนี้เขานิมนต์ไปบรรยายที่จุฬาฯ เป็นการบรรยายที่เรียกว่าปาฐกถา เป็นปาฐกถาที่จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติ เพื่อระลึกถึงคุณสุภา ศิริมานนท์ คุณสุภานี้เป็นผู้ชาย ถ้ามีชีวิตอยู่ถึงปัจจุบันนี้ก็จะมีอายุ 103 ปี เสียชีวิตไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เสียชีวิตปี 2529 คุณสุภาเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อ อาจจะไม่เด่นดังเหมือนอย่าง กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือมาลัย ชูพินิจ แต่ว่าก็มีผลงานทางด้านหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็น รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน ที่ได้รับการยอมรับเพราะว่า สร้างมิติใหม่ให้กับวงการหนังสือพิมพ์ ทั้งในเรื่องของความแม่นยำ เที่ยงตรงของข้อมูลข่าวสาร และมีรูปเล่ม น่าอ่าน ประณีต หนักแน่นเรื่องจรรยาบรรณ คือไม่ยอมโอนอ่อนต่ออำนาจเงินหรืออำนาจการเมือง หรืออำนาจของคนที่เป็นผู้ปกครอง
แต่ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งนอกจากผลงานก็คือ บุคลิกส่วนตัว คุณสุภาเป็นคนใฝ่รู้มาก และพยายามแสวงหาความรู้ตลอดเวลา มีภาษิต ประจำใจอย่างหนึ่งคือ รู้บางสิ่งของทุกสิ่ง รู้ทุกสิ่งของบางสิ่ง รู้บางสิ่งของทุกสิ่งหมายความว่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตามต้องรู้ อาจจะรู้เพียงเล็กน้อย รู้ไม่มาก แต่ก็ให้รู้ให้กว้างเข้าไว้ แต่ก็มีบางเรื่องที่ต้องรู้ลึก รู้ทุกอย่างเลยอันนี้เรียกว่า รู้ทุกสิ่งของบางสิ่ง รู้กว้างรู้ลึกไปพร้อม ๆ กัน เป็นคนที่แสวงหาความรู้ตลอดเวลา คนที่ปกติมีความรู้เยอะเขาก็จะถือว่าตัวเก่ง ตัวฉลาด แต่ว่าคุณสุภา อ่อนน้อมถ่อมตัวมาก ก็คือว่าไม่ว่าจะเป็นใคร รู้จักใคร ก็พยายามเรียนรู้จากเขาตลอดเวลา แม้แต่หนุ่มสาวหรือเด็ก ๆ ก็ใฝ่รู้หรือเรียนรู้จากเขา ซึ่งผิดวิสัยของคนที่รู้มาก หรือรู้เยอะมักจะดูถูกคนอื่นว่ารู้น้อยกว่าตัว แล้วก็มีแต่ว่านอกจากจะไม่ฟังคนอื่นแล้วก็จะพยายามยัดเยียดความรู้ของตัว รวมทั้งความคิดด้วย แต่คุณสุภาจากที่หลาย ๆ คนพูดถึงนี้ มีตรงนี้น้อยมาก
มีคนหนึ่งเป็นเพื่อนลูก รู้จักคุณสุภาตั้งแต่ตัวเองเป็นนักเรียนอนุบาล ตั้งแต่เล็กจนโต คุณสุภาไม่เคยที่จะยัดเยียดความรู้หรือความคิดของตัวเองให้เลย คือไม่ทำตนเป็นศาสดา เวลาจะติจะติง จะไม่พูดตรง ๆ จะพูดให้คิด เอาไปคิดเอา เวลาเจอใครคุณสุภาจะชอบซักชอบถามอยากได้ความรู้จากคนที่ตนเองรู้จัก อันนี้ก็เป็นนิสัยของปราชญ์อย่างแท้จริง ไม่มีการดูถูกว่าใครรู้น้อยกว่าตัว เพราะรู้ว่าทุกคนมีสิ่งที่ตนเองเรียนรู้ได้ทั้งนั้นแม้แต่เด็กแม้แต่คนที่อ่อนเยาว์ ขณะเดียวกันก็เป็นคนที่อยากจะเผยแพร่ความรู้ให้คนอื่น ทำหนังสือพิมพ์ก็พยายามให้ความรู้ เป็นบรรณาธิการก็พยายามเติมข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ ลงไปในบทความแต่ละชิ้นที่ลง เช่น มีเชิงอรรถเพื่อขยายความว่าสิ่งนี้ ๆ หมายความว่าอะไร ถึงเป็นคนที่แม้อยากจะเผยแพร่ความรู้ แต่ก็ไม่ไกลไปถึงขั้นยัดเยียด เส้นแบ่งนี้หายาก คนที่อยากจะเผยแพร่ความรู้มากไปไกลจนถึงขั้นจะยัดเยียด อยากจะให้ลูกมีความรู้ ก็ใส่ ๆ ความรู้ให้ลูก จนกระทั่งกลายเป็นการยัดเยียด อันนี้ก็เจอบ่อย แต่ว่าคุณสุภานั้นรู้ความพอดี อยากจะเผยแพร่ความรู้ให้ใครก็ไม่ถึงกับยัดเยียด
คุณสุภา นอกจากจะมีความรู้มากแล้ว ยังมีความคิดความเชื่ออีกแบบหนึ่งคือ เชื่อในลัทธิมาร์กซิสต์ แปลกทั้งที่เป็นคนที่สนใจพุทธศาสนา เข้าวัดทำบุญ แต่ก็เชื่อว่าลัทธิมาร์กซิสต์เป็นคำตอบ หนังสือที่ทำก็มีชื่อมากสมัยเมื่อ 70-80 ปีก่อน เอาข้อเขียนของฝ่ายซ้ายหลายคนสมัยนั้น รวมทั้ง จิตร ภูมิศักดิ์ด้วย จิตร ภูมิศักดิ์ดังได้ก็เพราะคุณสุภา รวมทั้งนักเขียนดังอีกหลายคน แต่ว่ามีความเชื่ออะไรก็ไม่เคยยัดเยียดเหมือนกัน เชื่อในลัทธิมาร์กซิสต์ก็ไม่เคยยัดเยียดความเชื่อให้ใคร และก็ไม่ชอบการยัดเยียดด้วย คุณสุภาเคยฟังวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ของพรรคคอมมิวนิสต์ ฟังแล้วก็บ่นวิจารณ์ว่า ยัดเยียดความคิดให้คนมาก ไม่อยากฟังเลย ไม่ได้เคารพสติปัญญาของคนฟัง คือ ใส่ ๆ เข้าไป เหตุผลน้อย มีเรื่องอารมณ์เยอะ ข้อมูลไม่มี คุณสุภาถึงไม่ไปร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เพราะเห็นว่าเป็นพรรคที่พยายามยัดเยียดอุดมการณ์ของตัวเองให้กับคนอื่น อันนี้ก็เป็นคนลัทธิมาร์กซิสต์ที่แปลก ปกติใครที่คิดเหมือนกันก็จะเชียร์กันไป เราเจอบ่อยในยุคปัจจุบัน ดูที่แบ่งสีแบ่งข้าง ถ้าเป็นพวกเดียวกันคิดเหมือนกันก็เชียร์ตะพึดตะพือ ไม่สนใจว่าเขาพูดผิดพูดถูกถือว่าเป็นพวกเดียวกัน อย่างคุณสุภาเคารพสติปัญญาของคน และเห็นว่าของแบบนี้ต้องให้คิดตัดสินเอาเอง เอาข้อมูลมาให้ดูและให้ตัดสิน
คุณสุภาไม่ได้ไม่เชื่อเรื่องสังคมนิยมแต่ก็ทำหนังสือเผยแพร่ความคิดสังคมนิยม แต่ก็ไม่ถึงกับยัดเยียดหรือว่าไม่ใช่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ เส้นแบ่งตรงนี้คนมันไม่ค่อยเห็นเท่าไร ส่วนใหญ่เชื่ออะไร ก็พยายามโฆษณาชวนเชื่อให้คนอื่นคล้อยตาม คุณสุภาไม่ใช่คนแบบนั้นจึงคบกับคนที่มีความคิดหลากหลายได้ คุณสุภาเคารพคุณปรีดี พนมยงค์มาก แต่ก็คบกับอาจารย์สุลักษณ์ (ศ.ศิวรักษ์) ได้ อาจารย์สุลักษณ์นี้สมัยก่อนต่อต้านท่านปรีดี พนมยงค์มาก แต่คุณสุภานี่ถือให้เป็นอาจารย์เลย อาจารย์สุลักษณ์ไม่เพียงต่อต้านแต่ยังเขียนด่าด้วย แต่คุณสุภาก็คบกับอาจารย์สุลักษณ์ได้ ไม่ได้รังเกียจว่ามาวิจารณ์อาจารย์ของกู มาจ้วงจาบคนที่กูเคารพสักการะ ไม่มีความรู้สึกแบบนั้นเลย มีแต่ความเมตตา เพราะว่าคุณสุภามีอายุมากกว่าอาจารย์สุลักษณ์เยอะทีเดียว และไม่พยายามโน้มน้าวให้เห็นว่าอาจารย์ปรีดีนั้นดีอย่างไร เพราะเชื่อว่าความจริงก็ย่อมเป็นความจริง สักวันหนึ่ง อาจารย์สุลักษณ์ก็ต้องพบเองว่าอะไรเป็นอะไร สุดท้ายก็เจอว่าอาจารย์ปรีดีไม่ได้เป็นอย่างที่อาจารย์สุลักษณ์คิด อาจารย์สุลักษณ์ก็เขียนคำขอโทษขอขมาไป
อันนี้ก็เป็นสิ่งที่หาได้ยากคนเราเวลาเคารพสิ่งใด เคารพใคร ถ้าใครมาแตะ เราก็จะโกรธ จะไม่ชอบคนนั้น เกลียดด้วยซ้ำ แต่คุณสุภาไม่มีเป็นแบบนั้นเลย แสดงว่ามีอัตตาน้อยมาก เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเองของอัตตาเลย เวลาเราเชื่ออะไรหรือเราศรัทธาใครแล้วคนอื่นไม่ศรัทธาไม่เชื่อ เราจะโกรธ เพราะเรารู้สึกว่า เขากระทบเขาจ้วงจาบตัวกูด้วย เขากระแทกตัวกูด้วย แต่คุณสุภามีน้อยมาก อันนี้ก็แปลกทั้งที่ไม่ใช่นักปฏิบัติธรรมอย่างที่เราเห็น แต่ว่าการมีอัตตาน้อย เวลาเชื่ออะไรก็ไม่ได้ยึดมั่นว่า เป็นกูเป็นของกู จนกระทั่งใครมาแตะไม่ได้ แตะเมื่อไรก็กูเจ็บเมื่อนั้น อันนี้คือลักษณะของการที่มีอัตตาหรือยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด คนเรามีความรู้และมีความคิดความเชื่ออะไรก็ตาม บางทีเผลอไปยึด เอาตัวกูไปผูกไปยึดกับสิ่งนั้น เช่น มีความรู้มากว่ากูรู้ กูเก่ง มีความคิดความเชื่ออะไรที่ดีงามก็เกิดความคิดว่ากูดี กูแน่เพราะฉะนั้นเวลาเจอคนที่ไม่เห็นด้วยกับความรู้และความคิดนั้นก็จะไม่พอใจและจะโกรธ ถ้าหนักเข้าก็มีการด่าหรือทำร้ายกัน หรือไม่เช่นนั้นก็พยายามยัดเยียดถึงขั้นสร้างความทุกข์ร้อนให้กับผู้อื่น
วันนี้ที่จะไปพูดเรื่องว่า ก้าวข้ามกับดักแห่งความดี ความดีในที่นี้หมายถึงทั้งคุณงามความดี หรือคุณธรรมความดีแล้วก็สิ่งที่เราเชื่อว่ามันดีงาม ได้แก่ ศาสนา อุดมการณ์ พวกนี้ถึงแม้มันจะดีจริงแต่มันก็เต็มไปด้วยอันตราย ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นอะไรก็ตามที่เราเห็นว่าดี หรือแม้แต่คุณธรรมความดี มันมีเสน่ห์จนกระทั่งเราก็อยากจะยึด แต่พอยึดแล้วก็ตกลงไปกับดักของสิ่งนั้นทันที อย่างที่หลวงพ่อเฟื่อง โชติโก พูดถึงความเห็นของเราจะถูก แต่ถ้ายึดเข้าเมื่อไรมันก็ผิด อาจารย์พุทธทาสก็พูดว่า ความดีอย่าไปยึดมั่นถือมั่นมาก ถ้าไปยึดมั่นแล้วมันก็จะกัดเจ้าของ บางทีท่านก็พูดถึงขั้นว่า ชั่วหรือดีก็อัปรีย์ทั้งนั้น อาจารย์พุทธทาสท่านพูดแรงขนาดนั้น เพื่อให้คนเราไม่ไปยึดมั่น ถ้าไปยึดแล้วจะสามารถนำไปสู่การทำร้ายการเบียดเบียน คนเราจะทำร้ายกัน ในนามของความดีมากทีเดียว ทำร้ายกันในนามของสิ่งที่ดีงามจะเพื่อปกป้องเพื่อเผยแพร่ก็ตาม อย่างสงครามศาสนา ทำเพื่อพระเจ้าทั้งสอง ฝ่ายสงครามศาสนา ฝ่ายหนึ่งก็อ้างพระเจ้าฝ่ายหนึ่งก็อ้างพระเจ้า บางทีพระเจ้าในศาสนาเดียวกันด้วยแต่คนละนิกาย การก่อการร้ายทำในนามของความดี ทำในนามของสิ่งดีงาม อันนี้ก็เป็นกับดักอย่างหนึ่ง เราเชิดชูคนดี ก็จะไปพูดประเด็นนี้เพราะว่าเดี๋ยวนี้เราชูกันเรื่องความดีหรือคนดีเราใช้ป้ายใช้ยี่ห้อนี้ เพื่อทำร้ายกันหรือเพื่อเป็นข้ออ้างในการทำชั่ว