แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผ่านมา 7 วันแล้ว นับตั้งแต่วันอาสาฬหบูชา หลายคนที่เคยรู้สึกว่าวันแรกๆ มันผ่านไปอย่างเชื่องช้า คงจะพบว่าตอนนี้เวลาก็ผ่านไปเร็วขึ้น อันนี้เพราะว่าร่างกายและจิตใจเราปรับตัวได้ ที่เคยนอนตื่นสายไม่เป็นเวลา ตอนนี้ก็อาจจะพบว่าร่างกายเริ่มปรับตัวเข้ากับจังหวะชีวิตของที่นี่ ตื่นเวลาตีสามหรือตีสามครึ่ง ถึงเวลาสามทุ่มสี่ทุ่ม ก็รู้สึกง่วงแล้ว ที่เคยนอนดึก หรือว่านอนตาค้างจนกว่ามันจะเลยเที่ยงคืนไป ก็เริ่มจะค่อยๆ ปรับตัวเข้ากับจังหวะของธรรมชาติที่นี่ และจากนี้ไปเราจะรู้สึกว่าเวลามันผ่านไปเร็วขึ้นๆ อาทิตย์แรกนี้ก็ยังผ่านไปอย่างเชื่องช้าอยู่สำหรับหลายคน แต่ว่าเผลอแป๊บเดียวก็ผ่านไปเดือนหนึ่งแล้ว เผลอไปอีกสองสามแวบก็ออกพรรษาพอดี
เรื่องแบบนี้มันก็เป็นเรื่องของธรรมชาติคนเราที่ปรับตัวเข้ากับสิ่งต่างๆ ได้ หลายคนที่การกินการอยู่เป็นเรื่องยาก มาที่นี่ก็ให้ถือว่าเรามาฝึกเพื่อที่จะอยู่ง่ายกินง่าย ถึงแม้ว่าไม่ตั้งใจฝึก แต่ว่ามันก็จะเป็นไปเอง ถ้าเราไม่ไปขัดขวางการปรับตัวของร่างกายและจิตใจ หลายอย่างธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและก็หมู่คณะจะค่อยๆ ช่วยกล่อมเกลาตัวเราให้เป็นอยู่แบบเรียบง่ายมากขึ้น และจิตใจก็จะเริ่มสงบมากขึ้น แม้จะไม่ได้ตั้งใจอะไรเลย มันก็จะเป็นไปเอง แต่ว่าเท่านี้ก็ยังไม่พอ การที่บางสิ่งบางอย่างในตัวเราเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เราจะวางใจหรือพอใจเท่านี้ไม่ได้ เพราะว่าที่เป็นอย่างนี้เนื่องจากสิ่งแวดล้อม
หลายคนที่เคยติดเหล้าจนกระทั่งไม่รู้จะหาทางออกอย่างไรก็มาบวชพระ เพราะว่าในใจก็รู้ดีว่า ถ้าไม่มาบวชก็คงจะถอนตัวจากเหล้าไม่ขึ้น พอมาอยู่วัดก็สบาย ที่เคยมีอาการกระสับกระส่ายหรือลงแดงก็ค่อยๆ หายไป เริ่มนอนเป็นเวลา การกินที่เคยยากก็กินได้ง่ายขึ้น เรียกว่าเจริญอาหาร จิตใจก็เริ่มสงบ ความว้าวุ่นก็น้อยลง บวชได้ประมาณ 3 อาทิตย์ หรือหนึ่งเดือน รู้สึกดีขึ้น แต่พอสึกออกไป ปรากฏว่ากลับไปสู่อีหรอบเดิม เพราะว่ากลับไปสู่สิ่งแวดล้อมเดิม ที่ดีขึ้นเป็นเพราะสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของความเป็นพระ ของนักบวชที่กล่อมเกลาให้กายและใจกลับคืนสู่ความปกติความสมดุลย์ คนที่เจอความเปลี่ยนแปลงแบบนี้ก็อาจจะประมาทคิดว่าฉันดีแล้ว ฉันเอาชนะมันได้แล้ว หารู้ไม่ว่าที่เราเป็นแบบนี้เพราะว่าสิ่งแวดล้อมต่างหาก
การเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม จากสิ่งแวดล้อมแบบอารามกลับไปสู่สิ่งแวดล้อมแบบเดิม เจอคนเดิมๆ เพื่อนเดิมๆ วิถีชีวิตแบบเดิมๆ ก็เลยกลับไปเป็นทาสของเหล้า กลับไปเป็นทาสของอบายมุขใหม่ นี่เกิดขึ้นกับคนจำนวนมาก จะเรียกว่าเพราะประมาทก็ได้ เพราะการจะรอให้เราเกิดความเปลี่ยนแปลงไปเองโดยอาศัยสิ่งแวดล้อมกล่อมเกลา มันไม่พอ อันนี้เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงตามน้ำ มันไม่พอ เราต้องลงมือหรือตั้งใจปฏิบัติด้วย จะปล่อยให้ลอยตามน้ำอย่างเดียวไม่ได้ เพราะถ้าน้ำเปลี่ยนกระแสเมื่อไหร่ก็เสร็จ เราต้องรู้จักพายเรือให้เป็น ถึงเวลาน้ำเปลี่ยนกระแส กระแสน้ำเปลี่ยน เราก็ยังสามารถพายเรือทวนกระแสน้ำได้
เมื่อมาที่นี่ไม่ว่าจะเป็นชี เป็นพระ เป็นโยม ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับใจเรากับกายเราก็ดีแล้ว แต่ว่าอย่าพอใจเท่านั้น เราต้องตั้งใจปฏิบัติด้วย การปฏิบัติของที่นี่ก็ไม่ได้ยากอะไร นอกจากเรื่องศีลแล้ว เราก็ให้ความสำคัญกับการภาวนาฝึกจิตฝึกใจ ศีลก็สำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ทำกันได้ ที่ทำไม่ค่อยได้เพราะอ้างว่ายากก็คือภาวนา ที่จริงการปฏิบัติหรือภาวนามันไม่ยาก ขอให้ปฏิบัติ ครูบาอาจารย์หลายท่านก็บอกว่าที่ยากเพราะไม่ปฏิบัติ แต่หลายคนก็พบว่าแม้ปฏิบัติแล้วก็ยังยากอยู่ ที่ยากส่วนหนึ่งเพราะว่ามันเป็นของใหม่ อะไรก็ตามที่เป็นของใหม่ มันยากทั้งนั้น สมัยที่เรายังเป็นทารก การเดิน หรือแม้แต่การยืนเป็นของยาก แต่เพราะว่าตอนนั้นเราพยายามที่จะลุก พยายามที่จะเดิน ยืนแล้วมันก็ล้ม ก็พยายามยืนใหม่ เดินแล้วมันล้ม ก็พยายามเดินใหม่ ทำไปบ่อยๆ มันก็กลายเป็นของง่าย เด็กอายุ 6-7 ปี หรือน้อยกว่านั้น ก็จะรู้สึกว่าการเดินเป็นเรื่องง่าย สมัยเราโตขึ้นมา อายุ 3-4 ขวบ การเขียนหนังสือเป็นเรื่องยาก เขียน ก ไก่ ข ไข่ แต่ละตัว ไม่เป็นตัวเลย มันโย้เย้ จำตอนที่เราเป็นเด็กได้ไหม อาตมายังจำได้ เขียน ว แหวน กับ อ อ่าง คล้ายกันเลย นึกไม่ออกว่าแตกต่างกันอย่างไร แต่พอเราเขียนบ่อยๆ เราก็ อ๋อ ว แหวน นี่หัวมันเล็ก อ อ่าง หัวมันอยู่สูงขึ้นมาอีกหน่อย ความคุ้นเคย ความจัดเจนที่เกิดจากการปฏิบัติ เกิดจากความเพียรของเรา มันก็ทำให้สิ่งต่างๆ ง่ายไปหมด ที่เคยยากก็กลายเป็นง่าย
การภาวนา โดยเฉพาะการเจริญสติ การทำความรู้สึกตัวที่จริงก็ไม่ได้ยากอะไร มันเป็นของที่เรามีอยู่แล้วด้วยซ้ำ เรามีสติมาตั้งแต่เรารู้ความ เรามีความรู้สึกตัวมาตั้งแต่เรารู้ความ ไม่อย่างนั้นเราจะไม่สามารถโตมาได้ หรือแก่มาจนถึงวันนี้ แต่ว่าที่มีอยู่มันไม่พอ มันอาจจะพอสำหรับชีวิตที่ไม่มีอะไรมากระทบมาก ชีวิตที่ราบรื่น แต่ชีวิตคนเราก็ไม่ได้ราบรื่นไปหมด มันก็จะมีอะไรที่ขลุกขลักหรือว่าสิ่งกระทบให้เกิดความไม่พอใจ ให้เกิดความทุกข์ บางทีก็เกิดขึ้นวันแล้ววันเล่า อย่างเช่น คนในเมือง คนในกรุงเทพฯ ตื่นเช้าขึ้นมาก็ออกไปทำงานเจอรถติด อันนี้มันก็เป็นธรรมดา แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ประสงค์ พอเจอรถติดเข้าก็หงุดหงิด จิตตก ที่จริงมันยังเล็กน้อย ยังมีอะไรอีกมากมายที่ต้องเกิดขึ้น ขนาดสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำในชีวิตประจำวันก็ยังรักษาใจไม่ได้ ก็ยังเป็นทุกข์ เพราะว่าสติ ความรู้สึกตัวที่มีอยู่เดิมเอาไม่อยู่ เพราะฉะนั้นก็จำเป็นต้องมาสร้างกันที่นี่ ไหนๆ ก็มาจำพรรษาที่นี่ หรือมาปฏิบัติที่นี่ก็จะอยู่แบบสบายๆ เพียงเพราะไม่มีงานที่ต้องรับผิดชอบ หรือเพียงเพราะว่าจะมาพักกายพักใจ อันนี้มันไม่พอ มันต้องลองลงมือปฏิบัติด้วย
การเจริญสติ การสร้างความรู้สึกตัว โดยเฉพาะแบบหลวงพ่อเทียน ไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลย ที่ยากเพราะว่าทำไม่ถูก เช่น ไปพยายามบังคับจิตไม่ให้คิด พยายามบังคับควบคุมความคิดไม่ให้เกิดขึ้น ถ้าทำแบบนี้ หรือตั้งจิตแบบนี้ก็ผิดแล้ว เพราะว่าเราไม่ได้มุ่งควบคุมความคิด ชนิดที่ว่ามันไม่ผุดไม่โผล่ขึ้นมาในใจเลย แต่ฝึกเพื่อที่จะให้รู้ทันความคิด อนุญาตให้คิดได้ จิตมีอิสระที่จะคิด แต่ว่าขอให้มีสติรู้ทัน ขณะเดียวกันเวลาทำอะไรก็ให้มีสติอยู่กับสิ่งนั้น สติก็คือมีใจรับรู้อยู่กับการกระทำนั้นๆ ไม่จำเป็นต้องไปเพ่ง ไม่ว่าจะเป็นกินอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการเดิน ไม่ต้องถึงกับเพ่ง แค่รู้เบาๆ ว่ากำลังกิน กำลังเดิน หรือว่าสวดมนต์ ก็ให้สวดไปตามปกติ ใจก็อยู่กับการสวดมนต์ ก็เรียกว่ามีสติ สติมันเป็นที่ช่วยให้จิตอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับงานที่ทำ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไร และพอมีสติอยู่กับสิ่งนั้น ความรู้สึกตัวก็เกิดขึ้น แล้วก็ไม่ต้องทำอะไรที่มันยุ่งยากซับซ้อน ตื่นขึ้นมา ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ เก็บที่นอน ก็ให้มีสติอยู่กับสิ่งนั้น ทำความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้น
พระพุทธเจ้าก็ได้สอนให้พระมีความรู้สึกตัว ท่านก็สอนจนใกล้จะปรินิพพาน 3 เดือนสุดท้ายที่พระองค์จะปลงอายุสังขาร ก็ยังสอน ยังย้ำให้พระสาวกมีตนเป็นเกราะ มีตนเป็นที่พึ่ง หมายความว่ามีธรรมเป็นเกราะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง และอธิบายว่าให้เป็นอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ รู้กาย รู้เวทนา รู้จิตรู้ธรรม ความรู้สึกตัวก็ให้หมั่นทำ ไม่ว่าจะเดินไปข้างหน้า ถอยไปข้างหลัง เหลียวซ้าย แลขวา คู้หรือเหยียดอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็นแขนหรือขา ก็ให้มีความรู้สึกตัว ห่มจีวร ครองผ้า สะพายบาตร สำหรับพระ สำหรับฆราวาสก็ใส่เสื้อ นุ่งกางเกง ก็ให้มีความรู้สึกตัว กิน ดื่ม เคี้ยว ก็ให้รู้สึกตัว อุจจาระ ปัสสาวะ ก็ให้รู้สึกตัว ยืน เดิน นั่ง ก็ให้รู้สึกตัว หลับ ก็ทำความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้น พูดก็รู้สึกตัว นิ่งก็รู้สึกตัว มันไม่ใช่เรื่องยากอะไร มันเป็นที่เราทำเป็นสามัญอยู่แล้ว ไม่ต้องถึงขั้นว่าบำเพ็ญฌานให้ได้ ฌาน 4 ฌาน 8 หรือว่าทำให้เกิด ญาณ 16 พระพุทธเจ้าก็กำชับพระภิกษุให้ทำสิ่งเหล่านี้ เพราะมันเป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก
การทำความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้นมันไม่ได้ยุ่งยากอะไร การเจริญสติให้มีสติในการกระทำสิ่งใด รวมทั้งเวลาเผลอสติ ใจลอย ฟุ้งซ่าน จมเข้าไปในอารมณ์ ก็ให้มีสติรู้ทัน มันก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร และก็เป็นการกระทำที่ไม่ต้องไปบังคับจิต บังคับใจอย่างไรทั้งสิ้น จิตมันอยากคิดก็อนุญาตให้มันคิดได้ แต่อย่าไปหาเรื่องคิดให้มันกระเจิดกระเจิง ถ้ามันจะคิดก็เป็นเรื่องของมัน หน้าที่ของเราก็คือให้มีสติรู้ทัน ใหม่ๆ ก็จะพบว่ามันคิดหลายเรื่องหลายราวเหลือเกิน คิด 7-8 เรื่องรวดเดียวเลย คิดจากเรื่องนี้แล้วก็กระโดดไปเรื่องนั้นแล้วก็กระโดดไปเรื่องโน้น ทีแรกก็จะนึกถึงงาน เสร็จแล้วก็นึกถึงเพื่อนร่วมงาน เสร็จแล้วก็ไปคิดถึงพ่อแม่เขา หรือไม่ก็ไปนึกถึงรถที่เขาซื้อ แล้วก็โยงไปถึงอุตสาหกรรมรถที่กำลังย่ำแย่ มันคิดไปไกล บางทียาวไปถึงเศรษฐกิจโลกไปเลย อันนี้เป็นธรรมดาของจิต ใหม่ๆ ถ้าไม่ปฏิบัติก็เป็นอย่างนี้
แต่พอเราเริ่มปฏิบัติ สิ่งที่ทำก็คือ ไม่ใช่ห้ามคิด แต่ว่าให้รู้ทัน อาจจะคิดไป 9 เรื่อง แล้วค่อยรู้ทัน ก็ดีแล้ว ไม่ต้องเสียใจว่าทำไมฟุ้งซ่าน อันนี้ธรรมดา เราก็ทำไปเรื่อยๆ ทำแบบเล่นๆ ก็คือว่าไม่พยายามควบคุมจิต ไม่คิดจะเอาชนะความฟุ้งซ่าน บางคนตั้งจิตว่าจะเอาชนะมันให้ได้ ความฟุ้งซ่านเป็นมารที่มาคอยรบกวน ต้องเอาชนะมันให้ได้ คิดแบบนี้ก็ผิดแล้ว เพราะว่าคิดจะเอาชนะ มันก็จะกลายเป็นเรื่องที่เครียดขึ้นมาทันที หลวงพ่อเทียนท่านก็ย้ำว่าให้ทำเล่นๆ ฟุ้งบ้างก็ไม่เป็นไร หลงบ้างก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้ทำไปเรื่อยๆ พอทำไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลง คือว่าที่เคยคิด 8-9 เรื่องรวดเดียวจบ หรือว่าไม่ทันจบ ความคิดมันหดสั้นลง ๆ ที่เคยเป็นขบวนรถไปยาวเหยียด 10 ตู้ 15 ตู้ ก็ค่อยๆ หดสั้น เหลือแค่ 7-8 ตู้ แล้วก็หดสั้นเหลือแค่ 2-3 ตู้ จนกระทั่งบางทียังคิดไม่จบเรื่องเลย ก็รู้ทันแล้ว อันนี้เพราะคิดเล่นๆ ทำเล่นๆ ไม่ต้องไปควบคุมบังคับอะไรเลย เพียงแค่รู้เฉยๆ คือรู้ซื่อๆ แล้วพอทำไปๆ ความรู้สึกตัวก็จะถี่ ก็จะต่อเนื่องมากขึ้น ใจก็จะเบา ไม่ใช่ทำด้วยหน้าดำคร่ำเคร่ง ถึงแม้ว่าการปฏิบัติธรรมเป็นของดี ก็ไม่ได้แปลว่าต้องทำด้วยอาการคร่ำเคร่ง หรือคร่ำเครียด ทำด้วยความรู้สึกสบายๆ หลายคนไปคิดว่าทำเล่นๆ ไม่ได้ ธรรมะเป็นของสูง การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ จะทำเล่นๆ ได้อย่างไร อันนี้ก็แปลว่าเรากำลังทำของง่ายให้เป็นของยาก
การปฏิบัติธรรม การเจริญสติ จะว่าไปมันก็เป็นวิถีแห่งความสุข คือถ้าเราทำเป็นมันก็สุข มันไม่เครียด มันไม่ทุกข์ มันจะฟุ้งซ่านอย่างไรใจก็ไม่ทุกข์ ก็ยอมรับความเป็นจริงว่า ใจเราเป็นอย่างนี้ มันจะพลั้ง มันจะพลาด มันจะเผลอก็ไม่เป็นไร ก็เริ่มต้นใหม่ ทำด้วยหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส หลายคนไม่เข้าใจ หรือไม่ยอมรับว่าการปฏิบัติธรรม เราจะทำหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสได้อย่างไร มันต้องเครียด มันต้องเคร่ง อันนี้มันก็จะกระเดียดไปทางทรมานตน มันใกล้เคียงกับการทรมานตนแล้ว ก็คือทำตนให้ลำบาก ทั้งๆ ที่มันไม่จำเป็นต้องลำบากอย่างนั้น
วิถีของพระพุทธเจ้าเป็นวิถีแห่งความสุข โดยมีจุดหมายคือความสุข อันนี้ต่างจากความคิดหรือความเข้าใจของคนสมัยก่อนสมัยพุทธกาล โดยเฉพาะพวกนิครนถ์ ก็คือพวกเชน รวมทั้งพวกโยคี พวกที่เชื่อในการบำเพ็ญทุกกรกริยา เขาเชื่อว่าการพ้นทุกข์ได้ต้องอาศัยการทรมานตน เขาคิดว่าที่ยังไม่พ้นทุกข์เพราะยังมีบาปกรรมอยู่ และบาปกรรมมันจะหมดไปได้ จะเปลื้องไปได้ ก็ต้องทรมานตน คล้ายๆ กับว่าเป็นการชดใช้กรรม เหมือนกับว่าทำผิดก็ต้องยอมติดคุก หรือยอมถูกทรมาน พอติดคุกจบ ทรมานเสร็จ ก็เป็นอันว่าพ้นโทษ ความเข้าใจของคนสมัยก่อน ในสมัยพุทธกาลก็จะมีความคิดคล้ายๆ กันคือจะพ้นทุกข์ได้ก็ต้องลงโทษตัวเอง ต้องลงโทษตัวเองด้วยการทรมานตน กรรมจึงจะหมดไป แต่พระพุทธเจ้าปฏิเสธ ในขณะที่พวกนี้เชื่อว่าความสุขจะเข้าถึงได้ต้องอาศัยความทุกข์ ต้องใช้ความทุกข์เป็นวิถีทางในการเข้าถึงความสุข พระพุทธเจ้าตรัสตรงข้ามว่า ความสุขนั้น บุคคลจะเข้าถึงได้ต้องอาศัยวิธีแห่งความสุข
คราวหนึ่งพระองค์ก็เคยเสด็จไปสนทนากับนิครนถ์นาฏบุตรคือศาสตรามหาวีระ สมัยก่อนเจ้าลัทธิแม้จะมีความเห็นต่างกัน แต่ก็อยู่ร่วมกันได้ จะว่าเป็นเพื่อนกันก็ทำนองนั้น ก็คือไปมาหาสู่กัน ไปสนทนาธรรมกัน บางทีก็ไปแวะเวียนสำนักโน้น บางทีพระองค์ก็ไปหาไปคุยกับนิครนถ์นาฏบุตร บางทีพวกนิครนถ์ก็มาสนทนาธรรมกับพระพุทธเจ้า ก็มีการอภิปรายถกเถียง แต่ไม่ถึงขั้นทะเลาะกัน ไม่เหมือนสมัยนี้ที่คิดต่างกันก็ทะเลาะกันแล้ว ยอมกันไม่ได้ แต่คนสมัยก่อนเขาคิดต่างกัน เขาก็ไม่ถือว่าเป็นศัตรู ก็สนทนากัน แลกเปลี่ยนความเห็นกัน คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าก็ไปสนทนากับนิครนถ์นาฏบุตร ก็สนทนาเรื่องนี้ นิครนถ์นาฏบุตรบอกว่า ความสุขจะถึงได้ต้องใช้ความทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสว่าความสุขจะเข้าถึงได้ต้องใช้ความสุข นิครนถ์นาฏบุตรก็เลยบอกว่าจะเป็นไปได้อย่างไร ถ้าเป็นอย่างที่พระพุทธเจ้าว่าจะบรรลุถึงความสุขจะถึงได้ต้องอาศัยความสุขนั้น พระเจ้าพิมพิสารก็ต้องมีความสุขมากกว่าพระพุทธเจ้า เพราะว่ามีทรัพย์สมบัติ มีความสะดวกสบายมากมาย อาหารการกินก็มีคนเอามาให้ ไม่ต้องเดินบิณฑบาตอย่างพระพุทธเจ้า เสื้อผ้าที่ประณีตก็มี มีสิ่งอำนวยปรนเปรอให้เกิดความสุขมากมาย
แต่พระพุทธเจ้าแย้งว่าท่านรู้ได้อย่างไรว่าพระเจ้าพิมพิสารมีความสุขมากกว่าเรา และพระองค์ก็ถามนิครนถ์นาฏบุตรว่าท่านคิดว่าพระเจ้าพิมพิสารจะสามารถอยู่นิ่งๆ ไม่พูด ไม่คุย 7 วันได้ไหม ไม่พูด ไม่คุย แล้วมีความสุขด้วย นิครนถ์นาฏบุตรก็บอกว่าทำไม่ได้หรอก งั้นลดเป็น 6 วัน ก็ยังไม่ได้ ลดจากเป็น 5 เป็น 4 เป็น 3 เป็น 2 เป็น 1 แม้เป็นเพียงหนึ่งวันพระเจ้าพิมพิสารก็คงทำไม่ได้หรอก แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่าพระองค์ทำได้ อยู่นิ่งๆ ไม่พูด ไม่คุย เรียกว่าอยู่อย่างมีความสุข 1 วันก็ได้ 2 วันก็ได้ 3 วันก็ได้ จนกระทั่งถึง 7 วัน ก็ยังได้ ถ้าเช่นนี้แล้วใครมีความสุขมากกว่ากัน
ความสุขไม่ได้วัดด้วยการมีวัตถุสิ่งเสพ ไม่ได้วัดกันตรงนั้น แต่วัดว่าถ้าอยู่นิ่งๆ แล้วมีความสุขไหม ถึงแม้ไม่มีสิ่งเสพสิ่งบริโภค มีความสุขหรือเปล่า สามารถอยู่ได้โดยไม่กระสับกระส่ายไหม นิครนถ์นาฏบุตรเข้าใจว่าการมีวัตถุสิ่งเสพมันเป็นวิถีแห่งความสุข แต่ถ้าเราพิจารณาก็จะพบว่าการมีวัตถุสิ่งเสพมันให้ความสุขทางกายก็จริง แต่ว่ามันก็เจือไปด้วยทุกข์ ทุกข์ที่ว่าคือทุกข์ใจ สุขกายแต่ทุกข์ใจ ทุกข์ใจเพราะว่าต้องห่วงในการรักษา ที่จริงก่อนจะได้มาก็ต้องเหนื่อยกับการหามา ใครมีมากกว่าก็ทุกข์เพราะอิจฉาเขา เรามีมากกว่าก็ยังไม่พอใจ ต้องไปหามาอีก เหนื่อยกับการรักษา พอถึงเวลามันหายไปก็ทุกข์ บางทีมันไม่ใช่แค่ทุกข์ใจ มันทุกข์กายด้วย เสพมากๆ เข้าก็ป่วย กินเหล้าเมายาสุขภาพก็แย่ ทีแรกอาจจะเคลิ้ม คล้อย เป็นสุข แต่ว่าโรคภัยก็ถามหา เพราะฉะนั้นวัตถุสิ่งเสพหรือว่าการมีวัตถุปรนเปรออย่างพระเจ้าพิมพิสาร เป็นต้น มันไม่ใช่เป็นวิถีแห่งความสุขอย่างแท้จริง วิถีชีวิตของพวกเราที่นี่มันสุขกว่าที่พระเจ้าพิมพิสารประสบเสียอีก
โดยเฉพาะถ้าเราอยู่แล้วเราภาวนาด้วย เราฝึกจิตฝึกใจให้มีสติรู้ทันความคิด ทำให้ความคิดไม่มารบกวนจิตใจ ความคิดมันเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเราเห็นมัน แม้จะคิดลบคิดร้าย มันก็จะไม่ทำให้ใจเป็นทุกข์ เพราะว่าเห็น ไม่เข้าไปเป็น ที่ทุกข์เพราะว่าเข้าไปเป็น หรือว่าเข้าไปผลักไส วิธีที่เราปฏิบัติมันเป็นวิถีแห่งความสุข เพราะว่ามันช่วยทำให้จิตสงบได้ จิตสงบได้ไม่ใช่เพราะไม่มีความคิด แต่เพราะความคิดมันไปรบกวนจิตใจไม่ได้ ต้องเข้าใจให้ชัด จิตสงบได้ไม่ใช่เพราะไม่มีความคิด เพราะความคิดหรือว่าอารมณ์มันไปรบกวนจิตใจไม่ได้ เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อควบคุมความคิด แต่เพื่อไม่ให้ความคิดมาควบคุมเรา หรือมาบงการชีวิตจิตใจของเราต่างหาก มันคิดก็คิดไป แต่ใจไม่เป็นทาสหรือถูกมันครอบงำ เพราะเราเห็นมัน เห็นไม่เข้าไปเป็น หลวงพ่อคำเขียนท่านก็ย้ำอยู่เสมอ แม้แต่เวลาปวดขา เมื่อยขา อันนี้คือทุกขเวทนา มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ว่าถ้าเราเห็นมัน ใจไม่ทุกข์ ใจก็ยังสงบได้ กายปวดไปใจสงบ แต่ที่ใจพุ่งพล่านว้าวุ่นหงุดหงิด ก็เพราะว่าใจเข้าไปเป็น มันไม่ใช่แค่กายปวด แต่เข้าไปเป็นผู้ปวด อันนี้เพราะไม่เห็นมัน ไม่เห็นความปวด
เพราะฉะนั้นนี่เป็นวิถีแห่งความสุข ซึ่งมันไม่ต้องอาศัยการหน้าดำคร่ำเคร่ง หรือว่าการทำให้มันซีเรียส ทำเล่นๆ แต่ว่าทำจริงๆ อย่างที่หลวงพ่อเทียนท่านตบท้ายว่าทำเล่นๆ แต่ทำจริงๆ ทำเล่นๆ ก็คือว่าไม่ได้คิดจริงจัง ไม่ได้คิดจะเอาชนะ มันจะพลั้ง จะเผลอบ้าง ไม่เป็นไร แต่ว่าทำตั้งแต่เช้าจรดเย็น ทำตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอนเลยทีเดียว ก็คือทำความรู้สึกตัวกับทุกอิริยาบถ รวมทั้งสร้างอิริยาบถ สร้างการกระทำขึ้นมา การอาบน้ำถูฟันมันเป็นไปตามธรรมดาในชีวิตประจำวัน แต่เรามีการเพิ่มเข้ามา ๒ อย่าง ก็คือการสร้างจังหวะ และการเดินจงกรม เดินกลับไปกลับมา อันนี้ถึงแม้ว่าจะเป็นการสร้างที่มันไม่ใช่เป็นปรกติธรรมดาในชีวิตประจำวัน แต่ว่ามันก็สามารถจะเป็นตัวกระตุ้นธาตุรู้ หรือว่าสร้างความรู้สึกตัวให้เกิดมีขึ้น เป็นคล้ายๆ เหมือนแบบฝึกหัดให้เรามาฝึกดูกาย ดูใจ เห็นกายเคลื่อนไหว รู้ใจคิดนึก เห็นกายเคลื่อนไหวไม่ใช่ด้วยตา เห็นด้วยสติ คือรู้สึกเวลามันเคลื่อน ไม่ว่าจะขยับมือหรือขยับขาก็รู้สึก แม้หลับตาอยู่ก็เห็น คือรู้ว่ากายเคลื่อนไหว เพราะว่ามีสติ มีความรู้สึกตัว พอคิดนึกอะไรก็รู้ว่าเผลอคิดไป แต่ใหม่ๆ จิตสติยังไม่ไวพอที่จะไปรู้ทันความคิด ก็ให้รู้กายไปก่อน ให้รู้สึกไปก่อน รู้บ้างไม่รู้บ้าง ไม่เป็นไร ทำไปเล่นๆ แต่ทำไม่หยุด ยิ้มแย้มแจ่มใส อย่าไปคิดว่ามันต้องทุกข์ มันถึงจะประสบความสำเร็จ คือพ้นทุกข์ มันไม่จำเป็นต้องอย่างนั้นก็ได้ ทำด้วยใจที่ปลอดโปร่งเบาสบาย มันก็จะสามารถพาเราเข้าสู่ความพ้นทุกข์ได้ แม้เส้นทางมันจะไกล แต่ว่ามันเป็นทางตรงที่จะพาให้เราได้เข้าถึงจุดหมายของการปฏิบัติ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความสุขมันจะเข้าถึงได้ต้องอาศัยความสุข และการเจริญสตินี่แหละคือวิถีแห่งความสุข