แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันหนึ่งๆ คนเราก็ทำแค่ 2 อย่างเท่านั้น 2 อย่างใหญ่ๆ อันแรกคือหลับ อันที่สองคือตื่น ทั้งชีวิตคนเราก็มีแค่ 2 อย่างเท่านั้น หลับกับตื่น จะเรียกว่าเป็นภาวะก็ได้ ภาวะหลับภาวะตื่น เราหลับประมาณ 1 ใน 3 ของชีวิตหรือว่า 1 ใน 3 ของวัน ประมาณ 8 ชั่วโมง เราตื่น 16 ชั่วโมง แต่ว่าตื่นจริงๆ ก็คงไม่ถึง 16 ชั่วโมงหรอก เพราะว่ามีช่วงหลับๆ ตื่นๆ ช่วงง่วง อย่างตอนนี้พวกเราตื่นกันก็จริงแต่ว่าไม่ได้ตื่นเต็มที่ มีความง่วง
หลับกับตื่นเป็นเรื่องของกาย ส่วนเรื่องของใจก็มีแค่ 2 ภาวะเหมือนกัน คือหลงกับรู้ มีแค่ 2 จริงๆ คือ หลงกับรู้ ตอนที่หลับก็เป็นภาวะที่หลง ถึงแม้บางคนอาจจะส่งเสียงหรือว่าลุกขึ้นมาทำอะไรตอนหลับแต่นั่นก็ไม่ได้ทำด้วยความรู้คือรู้ตัว คนที่ละเมอเขาก็ทำด้วยความหลง บางทีก็ละเมอพูดออกมาหรือว่าละเมอเดินไปโน่นมานี่ อันนี้ก็เรียกว่าหลง แต่ขณะที่ตื่นแม้ร่างกายจะตื่นสามารถจะเห็น สามารถจะได้ยินแต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะรู้ตัวเต็มที่ เพราะบางที ไม่ใช่บางที แต่เป็นส่วนใหญ่เลย ตอนที่ตื่นก็หลงเหมือนกัน เรานอนวันละ 8 ชั่วโมง 1 ใน 3 ของวัน แต่ถ้าพูดถึงความหลงแล้วมันไม่ใช่แค่ 1 ใน 3 ของวัน มันมากกว่านั้น เพราะแม้กระทั่งตอนที่ตื่นเรายังหลงอยู่ก็ได้ แม้แต่เวลาทำงานเราก็ทำด้วยความหลงเสียเยอะ มีผู้เชี่ยวชาญด้านสมองเขาอุตส่าห์ใช้เครื่องวัดการทำงานของสมอง เดี๋ยวนี้ก็ทำได้ละเอียดมากจนกระทั่งรู้ว่าจิตของเราหรือสมองของคนเรามันทำอะไรบ้างในแต่ละขณะ แต่ละขณะ สมองส่วนไหนทำอะไรบ้าง เช่น สมองส่วนที่เกี่ยวกับรับรู้ด้านภาษา สมองที่เกี่ยวกับเรื่องการตัดสินใจ สมองที่เกี่ยวกับเรื่องการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือการควบคุมบังคับกล้ามเนื้อ ก็ทำได้ละเอียดมากขึ้น ก็พบว่าทำงาน 8 ชั่วโมง ทำงานด้วยความรู้ตัวจริงๆ ประมาณ 1 ใน 5 ส่วน 4 ใน 5 คือใจลอย ทำงาน 8 ชั่วโมง ทำงานจริงๆ แค่ชั่วโมงเศษๆ ที่เหลือคือใจลอยหรือว่าฟุ้งซ่านหรือว่าสับสน อันนี้ก็เรียกว่าหลงได้เหมือนกัน ทำงานรู้ตัวจริงๆ คร่าวๆ ประมาณ 20% 30% ที่เหลือก็คือว่าหลง เป็นความหลงท่ามกลางภาวะที่ตื่นด้วยซ้ำ
จะว่าไปแล้วคนเราถึงแม้จะตื่นมากกว่าหลับ แต่ว่าถ้าพูดในแง่ของความรู้ตัว เรารู้ตัวน้อยมาก เราหลงมากกว่ารู้ ถึงแม้ว่าเราจะหลับน้อยกว่าตื่น อันนั้นเป็นเรื่องของกาย ส่วนของใจแล้วเราหลงมากกว่ารู้ หลงทั้งในเวลาหลับ 8 ชั่วโมงต่อวันแล้วก็หลงแม้กระทั่งในเวลาตื่น
หลงเพราะอะไร เมื่อวานก็ได้พูดถึงการหลงเพราะอารมณ์หรือถูกอารมณ์ครอบงำ เรียกว่าเมาในอารมณ์ก็ได้ เช่น ความโกรธ ความเศร้า ความน้อยเนื้อต่ำใจ พอหลงเพราะอารมณ์เหล่านี้แล้ว มันก็ทำให้เราทำในสิ่งที่ภาวะปกติไม่ทำกัน ซึ่งก็มักจะนำผลเสีย ทำให้เกิดผลเสียตามมา หลงในอารมณ์ที่ว่ามันเกิดเมื่อมีความไม่สมหวังเกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งลบๆ มากระทบ หรือเมื่อมีเหตุการณ์แย่ๆ เกิดขึ้นกับตัวเรา เช่น ถูกด่าหรือว่าสูญเสีย หรือว่าทำผิดพลาด อันนี้เรียกว่าประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักอย่างที่เราสวดมนต์เมื่อสักครู่ การประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักนั่นก็เป็นทุกข์ แม้กระทั่งประสบกับสิ่งที่เป็นที่รักก็ทำให้หลงได้เหมือนกัน เช่น กินอาหารที่อร่อย เจออาหารที่ถูกปากก็เกิดความดีใจก็กินใหญ่เลย กินๆๆ อันนี้ก็เป็นปัญหาของคนสมัยนี้มากเพราะว่าอาหารที่ถูกใจ อาหารที่ถูกปากมันเยอะไปหมดเลยและหาง่ายด้วย แล้วพอเจอเข้าไปแล้วก็ลืมตัว ทั้งที่ก็รู้ว่าร่างกายนี่มีน้ำหนักเยอะแล้ว อ้วนแล้ว หรือบางคนอาจจะไม่ถึงกับอ้วนแต่ว่ามีปัญหาในร่างกาย เช่น เบาหวาน กินหวานมากไม่ได้ หรือมีปัญหาเรื่องไตกินเค็มมากไม่ได้แต่เพราะเจอของชอบ เจอของชอบก็ลืมตัวกินเข้าไปทั้งที่เป็นอันตรายต่อร่างกายถึงขั้นชีวิต อันนี้เรียกว่าหลงเพราะว่าได้เจอสิ่งที่ชอบ
สิ่งที่ชอบทำให้เกิดสุขเวทนา พอเกิดสุขเวทนาแล้วก็หลงใหลได้ปลื้ม คำว่าหลงใหลได้ปลื้ม ก็ชี้อยู่แล้วว่ามันหลงเพราะว่าเจอสิ่งที่น่าพอใจทำให้ดีใจ หลงรักก็เหมือนกัน หลงรักใครๆ ก็ชอบ ความรักมันทำให้เกิดความสุข แต่ว่าพอสมปรารถนาแล้วหรือแม้อาจไม่สมปรารถนาจริงๆ แต่ว่าใจเราปรุงเข้าไปแล้วก็หลง แล้วพอรักมากๆ ก็ลืมตัว ความลืมตัวเพราะความรักก็สามารถนำไปสู่ความทุกข์ต่างๆ ได้มากมาย สู่ความผิดพลาดได้เยอะแยะไปหมด รวมทั้งนำไปสู่ความโกรธและความเกลียดด้วย พอไม่สมหวัง ยิ่งรักมากก็ยิ่งโกรธมากก็ยิ่งเกลียดมากอย่างที่เล่าเมื่อวาน
การที่ได้โชคได้ลาภก็ทำให้ลืมตัวได้เหมือนกัน พอได้โชคได้ลาภแล้วก็โอ๊ยดีใจ ความดีใจก็เป็นเหตุที่ทำให้หลงได้ ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 หรือว่าขายที่ได้หลายสิบล้าน ดีใจ ไม่เคยได้เงินมากขนาดนี้ก็ใช้จ่ายเพลิดเพลินเอาแต่เที่ยว เอาแต่เล่น เอาแต่กิน กินเที่ยวเล่น อันนี้เรียกว่าหลง เป็นความหลงที่ไม่ค่อยมีคนได้ตระหนักเห็นโทษภัยเท่าไหร่ แต่ว่าก็เผลออยู่เป็นประจำ สุดท้ายก็เงินหมดไม่เหลือหลอ หรือไม่ก็เกิดโรคเกิดอันตราย บางคนดีใจได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการ หรือแม้กระทั่งมีความสมหวังในเรื่องความรัก แฟนบอกรัก โอ ดีใจมากขับรถก็เอาแต่ใจลอย รถก็แหกโค้งลงคูหรือว่าชนเสาชนต้นไม้ตายก็มีพิการก็มี มันไม่ใช่หลงเพราะว่าเสียใจ ไม่ใช่หลงเพราะว่ากลุ้มใจหรือโกรธแค้นแต่ว่าหลงเพราะว่าดีใจ
อันนี้ก็เป็นความหลงที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเรามาก เห็นของที่น่าพอใจอยากได้ ก็ลืมตัวอย่างที่พูดไปเมื่อวาน อันนี้เกิดโลภะ เกิดราคะก็ทำให้ไปแย่งชิงเขามาหรือว่าไปทำสิ่งที่ไม่สมควร หลงในอำนาจก็เหมือนกัน ใครๆ ก็อยากได้อำนาจพอได้ก็หลงใหลได้ปลื้มก็สามารถจะทำร้ายคนที่ปรารถนาดีกับตนเอง เช่น เขาปรารถนาดีเขาก็วิจารณ์ เขาก็แนะนำ ก็ไปโกรธเขาหาว่าเขาดูหมิ่นหาว่าเขาเหยียดหยามก็จัดการเขา อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นตลอดมา หลงในอำนาจ เห็นได้ว่าคนเรานี้แม้ในเวลาตื่นก็หลงได้ง่ายเหลือเกิน ที่จริงแม้กระทั่งการที่เรามีสุขภาพดีนี่ก็ทำให้เราหลงได้ ก็คือใช้ร่างกายอย่างไม่บันยะบันยัง หนุ่มสาวเป็นมาก ใช้ร่างกายอย่างสิ้นเปลืองในการหาความสุข หรือแม้กระทั่งในการทำงานอย่างทุ่มเทไม่หลับไม่นอน 4-5 วันนี่ไม่หลับไม่นอนเลย เพราะว่าทำงานหรือว่าทุ่มเทกับภารกิจหรือแม้แต่การเที่ยวการเล่น หลงในวัยก็เกิดขึ้นกับผู้คนมากมาย
ฉะนั้นประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็ทำให้หลง พลัดพรากจากสิ่งที่รักก็ทำให้หลงได้ทั้งนั้น จะว่าไปแล้วชีวิตของคนเราถ้าพูดในแง่จิตใจแล้วก็เป็นการต่อสู้กันระหว่างหลงกับรู้ มันก็แย่งชิงพื้นที่กันพยายามครอบงำจิตใจของเรา แต่คนส่วนใหญ่แล้วทุกวันนี้ความหลงมันครอบงำใจมากกว่าความรู้ รู้ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการรู้เกี่ยวกับเรื่องวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับเรื่องโลกภายนอก แต่หมายถึงความรู้ตัว ถ้าเราไม่สร้างความรู้ตัวให้เกิดขึ้น ความหลงหรือความลืมตัวมันก็จะเข้ามาครอบงำจิตใจเรามากขึ้น ในยามหลับก็หลงพอแรงอยู่แล้ว ตื่นก็ยังหลงอีก
อะไรที่จะทำให้เรารู้ตัวหรือว่าสู้กับความหลงได้ ก็คือสติ สติคือความระลึกได้ ความรู้ตัว คนเราถ้ามีสติมันก็ทำให้สามารถรับมือกับความหลงได้ ไม่ใช่แต่เฉพาะเมื่อหลงในอารมณ์ที่เป็นลบ อารมณ์ที่เป็นบวกแล้วทำให้หลง สติก็สำคัญเหมือนกัน อย่างเช่นเรื่องการกินอาหาร กินแล้วลืมตัว เพราะมันอร่อย พออร่อยแล้วเกิดโทษกับร่างกาย อย่างพระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นคนที่เพลินในการกินมาก แล้วก็พอได้กินของอร่อยแล้วก็ห้ามใจห้ามปากไม่อยู่ จนกระทั่งอุ้ยอ้าย เดินก็ไม่สะดวก นั่งก็ติดขัด ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านก็เลยแนะนำให้เอาคาถานี้ไปพิจารณาอยู่เนืองๆ ว่า ผู้มีสติรู้ประมาณในการบริโภค ย่อมมีอาพาธน้อย อายุยืน พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ชอบ แต่กลัวว่าจะจำคาถานี้หรือกลัวว่าเตือนใจด้วยคาถานี้ไม่ได้ก็เลยให้มหาดเล็กท่องเอาไว้ เวลาเสวยพระกระยาหารก็ให้มหาดเล็กท่องหรือพูดก็ทำให้มีสติ ทำให้เกิดได้สติ ไม่เพลินในการกินก็กินพอประมาณอย่างที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ ได้แนะนำเอาไว้ ไม่นานสุขภาพก็ดีขึ้น เดินเหินก็คล่องแคล่วก็ดีใจไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่าพระพุทธเจ้านี่สอนทั้งทางโลกทางธรรม ทั้งในทางทิฏฐธัมมิกัตถะคือประโยชน์ปัจจุบันและสัมปรายิกัตถะคือประโยชน์ทางจิตใจหรือประโยชน์ทางด้านใน คนที่ฉลาดเขาก็รู้ว่าความหลงมันพร้อมจะเล่นงานตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นก็ต้องพยายามสร้างสติให้เกิดมีขึ้น หรือถ้าไม่แน่ใจว่าสติมันจะทำงานหรือเปล่าก็ต้องอาศัยตัวช่วย อย่างเช่นพระเจ้าปเสนทิโกศลก็อาศัยมหาดเล็ก
เมื่อประมาณสองพันกว่าปีที่แล้ว กรุงโรมนี่เขามีแสนยานุภาพมากสามารถที่จะยึดครองอาณาจักรที่เป็นคู่แข่งที่สำคัญๆได้ เช่นคาร์เธจ คาร์เธจนี่มันใหญ่มาก เป็นคู่แข่งอยู่ค่อนมาทางทิศใต้แล้วก็กระจายไปต้นทางเหนือของแอฟริกา โรมก็ส่งแม่ทัพไปชื่อเอมิเลียนัสไปยึดเอาชนะได้สำเร็จแล้วก็ทำลายคาร์เธจจนพังยับเยิน ขากลับนี่โรมก็ต้อนรับเอมิเลียนัสใหญ่โตเลยมีการสวนสนาม การสวนสนามก็มีคนเป็นหมื่น หมื่นคือคนที่สวนสนาม ไม่นับคนที่โห่ร้องอยู่สองข้างทาง โห่ร้องอยู่สองข้างทางคงหลายหมื่นคงเป็นแสน มีพลแตร มีทหารหุ้มเกราะนำขบวนแล้วก็ตรงกลางเป็นขบวนเป็นรถม้าศึกของเอมิเลียนัสยิ่งใหญ่มาก เอมิเลียนัสก็นุ่งห่มผ้าคลุมสีม่วงทาหน้าแดงเลยเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้า เทพเจ้าจูปิเตอร์ เป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าที่พิทักษ์กรุงโรม คนก็แซ่ซ้องเขาราวกับเป็นเทพยดา ในบรรยากาศแบบนี้เอมิเลียนัสก็คงจะเหลิงว่าฉันแน่ ฉันเก่ง ฉันเป็นเทวดา แต่เขาก็ยังฉลาดพอ เขาให้ข้างหลังเขาที่นั่งรถม้ามากับเขาเป็นทาส ทาสคนนี้ก็ตะโกนบอกเขาว่า อย่าลืมว่าท่านเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง หน้าที่ของทาสมีแค่นี้แหละตะโกนบอกเขาว่า ท่านยังเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งก็คือการเตือนสติไม่ให้ลืมตัว
คนเราธรรมดาจะหาตัวช่วยมาเตือนสติก็ยาก เพราะเราไม่มีปัญญาจะไปจ้างคนมาเตือนหรือถึงจ้างคนมามันก็ไม่พอ ต้องสร้างสติด้วยตัวเราเอง สติมันทำให้รู้ตัว การเตือนให้ระลึกถึงความจริงอยู่เสมอมันช่วยทำให้มีสติได้ อย่างเช่นทาสคนที่ว่านี้ ว่าท่านเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งคือว่าท่านไม่นานก็ต้องตาย อย่าไปคิดว่าจะอยู่ค้ำฟ้า การที่เราหมั่นเตือนตัวเองอยู่เสมอถึงความจริงของชีวิต มันทำให้เราไม่หลง อย่างเช่นเมื่อสักครู่เราสวด หรือว่าพิจารณาอภิณหปัจจเวกขณ์ อันนี้ก็เป็นการเตือนสติตัวเราเอง ถ้าเราไม่สวดแต่ปาวๆๆ ไป ตามที่คนอื่นเขาสวด แต่เราพิจารณาไปด้วยเราก็ได้สติ เรามีความแก่เป็นธรรมดาจะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาจะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้ เรามีความตายเป็นธรรมดาจะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้ เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น เอา 4 ข้อแรกมันก็ช่วยได้เยอะแล้วทำให้เราได้สติขึ้นมา เพราะว่าคนเราเวลายังมีสุขภาพดียังอยู่ในวัยหนุ่มสาวเราก็จะเพลิน แล้วพอเพลินแล้วเราก็หลง มันอยู่กับเรามาเป็นเวลานานความเป็นหนุ่มเป็นสาวหรือความมีสุขภาพดี คนบางคนสมมติอายุ 80 ปีกว่าจะเจ็บป่วยก็โน่นตอนอายุ 70 ถึงค่อยแสดงตัวชัด ถึงตอนนั้นกำลังวังชาก็เริ่มแสดงตัวว่าถดถอยมาก ช่วง 70 ปีแรกเป็นช่วงที่อยู่ในภาวะสบายเป็นปกติ ตรงนั้นแหละที่จะเกิดความหลงได้ง่าย เพราะไปหลงคิดว่ามันจะอยู่กับเราไปนานอยู่กับเราไปตลอด เตือนอย่างนี้ไว้บ้างโดยเฉพาะคนที่ยังหนุ่มสาวอยู่อายุ 20-30 พิจารณาหรือเตือนตัวเองอย่างนี้มันก็ทำให้ไม่หลงในวัย ไม่หลงในสุขภาพ ก็ตระหนักอยู่เสมอว่าสิ่งที่เรามีวันนี้พรุ่งนี้ก็ไม่แน่ ไม่ใช่ต้องรอ 10 ปี 30 ปีข้างหน้า วันนี้สุขภาพดีพรุ่งนี้ก็อาจจะป่วยได้ วันนี้หนุ่ม พรุ่งนี้อาจจะแก่ได้เลย ที่จริงมันแก่ตลอดเวลา
รวมทั้งข้อที่ 4 เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น ของรักของชอบใจอาจจะเป็นทรัพย์สินเงินทองก็ได้ อาจจะหมายถึงคนรักก็ได้ อาจจะหมายถึงสถานภาพที่เรามีอยู่ตอนนี้ก็ได้ อย่าไปหลงเพลินกับมัน เราเพลินกับมันได้ง่าย โดยเฉพาะการไปเข้าใจผิดว่ามันจะอยู่กับเราไปตลอด มันจะไม่มีวันแก่ ไม่มีวันเสื่อม อันนี้เรียกว่าความหลงเหมือนกัน เราเรียกว่าหลงผิด หลงผิดคือไม่เห็นความจริง การเตือนสติอย่างนี้มันทำให้เราตระหนัก พอเราตระหนักว่าความจริงมันเป็นอย่างนี้ เราก็จะได้ไม่ยึดกับมันมากเกินไป เรียกว่าไม่หลงยึดกับมัน ไม่หลงยึดว่ามันเที่ยง ไม่หลงยึดว่ามันจะให้ความสุขกับเราไปตลอด ร่างกายนี้อย่าไปยึดว่ามันจะให้ความสุขกับเราไปตลอด ตอนนี้มันให้ความสุขกับเรา มันพาเราไปกินอาหารที่อร่อย มันพาเราไปเที่ยวไปเล่น ไปจีบแฟน ไปหาความสุขไปกอบโกยความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่วันหน้ามันจะนำพาความทุกข์มาให้กับเรา ปอดที่ทำงานได้ดี ตับที่ทำงานได้ดีหัวใจหรือแม้แต่สมอง วันหน้ามันสามารถจะกลายเป็นตัวสร้างทุกขเวทนาให้กับเรา จะวางใจไม่ได้จะไปหลงยึดว่ามันจะให้ความสุขกับเราไปตลอดไม่ได้ มันสามารถจะกลายเป็นเป็นมีดเป็นเหล็กที่ทิ่มแทงเรา เป็นไฟที่เผาร่างกายเราก็ได้ พอมะเร็งเกิดขึ้น หรือพอมีไขมันตามเส้นเลือดทำให้หัวใจแย่ ลิ้นหัวใจรั่ว ตอนนี้ทุกข์ทรมานมาก อวัยวะที่เคยให้ความสุขกับเรา ร่างกายที่เคยให้ความสุขแก่เราตอนนี้มันแปรพักตร์แล้ว ต่อไปมันจะแปรพักตร์ กลายเป็นทิ่มแทงเราจนกินไม่ได้นอนไม่หลับจนกระทั่งอยากจะบอกว่าอยากตาย อยากตาย คนที่เป็นมะเร็งหลายคนถึงที่สุดก็บอกว่าอยากตาย ตอนที่สุขภาพดีก็บอกว่าอยากจะอยู่ไปจนชั่วฟ้าดินสลาย
การที่ระลึกถึงความจริงนี้มันทำให้ได้สติ แล้วก็ไม่ปล่อยให้ชีวิตผ่านเลยไปโดยไร้ประโยชน์ จะไม่ทำให้จมอยู่ในความหลง พระพุทธเจ้าท่านพยายามที่จะสอนให้พระสงฆ์สาวกมีสติไม่ตกอยู่ในความหลงด้วยวิธีการต่างๆ นอกจากการเจริญสติปัฏฐาน 4 แล้ว การให้ระลึกถึงภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็เป็นวิธีหนึ่งในการเตือนสติได้ พระพุทธเจ้าสอนอนาคตภัย 5 ประการ อนาคตภัย 5 ประการคือภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธการมองไปข้างหน้า คนไปเข้าใจว่าพุทธศาสนาสอนให้อยู่กับปัจจุบันแปลว่าไม่ต้องไปนึกถึงข้างหน้าหรืออนาคต ที่จริงนึกได้ระลึกได้ถ้าหากว่ามันทำให้เราเกิดความรู้ตัว ไม่จมในความหลงหรือว่าทำให้เราเห็นความสำคัญของการทำปัจจุบันให้ดีที่สุด อย่างเช่นอนาคตภัย 5 ประการหมายถึงอะไร หมายถึงว่าใช้เตือนตัวเองว่าขณะที่เรายังหนุ่มยังสาวยังมีกำลังวังชา ให้เราระลึกว่าวันหน้าเราจะป่วย วันหน้าเราจะแก่ไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง ถึงตอนนั้นการปฏิบัติธรรมก็จะทำได้ยาก เพราะฉะนั้นตอนนี้ต้องเร่งรีบปฏิบัติธรรม ใครที่คิดว่าจะไปปฏิบัติธรรมตอนแก่นี้คือประมาท พอถึงตอนแก่ก็จะปฏิบัติธรรมลำบากร่างกายก็ไม่สะดวก นั่งไม่ได้นาน และที่สำคัญก็คือว่าอาจจะไม่ได้แก่ อาจจะตายซะก่อน
ข้อที่ 2 คือว่าในขณะที่เราสุขภาพดีมีอาพาธน้อย พระพุทธศาสนาไม่ใช้คำว่ามีสุขภาพดี ใช้คำว่ามีอาพาธน้อยหมายความว่าความเจ็บป่วยอยู่กับเราตลอดเวลา เพียงแต่ว่าน้อยหรือมาก ที่เราคิดว่าเราสุขภาพดีที่จริงมันมีความป่วยอยู่แต่มันน้อย ถ้ามันมากเมื่อไรก็ต้องล้มหมอนนอนเสื่อ ให้สังเกตว่าท่านไม่ใช้คำว่ามีสุขภาพดี ท่านใช้คำว่ามีอาพาธน้อยคือมีทุกข์อยู่ตลอดเวลาแต่ว่ามากหรือน้อย ในขณะที่มีสุขภาพดีมีอาพาธน้อยก็ให้ระลึกว่า ซักวันหน้าเราอาจจะเจ็บป่วย ถึงตอนนั้นก็ปฏิบัติธรรมได้ลำบากแล้ว เพราะฉะนั้นขณะที่มีสุขภาพดีมีอาพาธน้อยต้องรีบทำ
ข้อที่ 3 ขณะที่เรามีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ก็ให้ตระหนักระลึกว่าวันหน้าอาหารจะหายาก ถึงตอนนั้นจะปฏิบัติธรรมลำบากแล้ว การมีอาหารอุดมสมบูรณ์นี่ก็สำคัญสำหรับการปฏิบัติธรรมเป็นสัปปายะข้อหนึ่ง สัปปายะแปลว่าสิ่งที่ทำให้สบายทำให้สะดวกกับการปฏิบัติ แม้ในขณะที่เรามีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ก็อย่าประมาท ก็ต้องเร่งทำความเพียร
ข้อที่ 4 ขณะที่บ้านเมืองสงบราบเรียบผู้คนสามัคคีกัน ก็ให้ระลึกว่าวันหน้าอาจจะทะเลาะเบาะแว้งกันเกิดศึกสงครามถึงตอนนั้นก็ปฏิบัติธรรมลำบากแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าประมาทให้รีบทำเสียตั้งแต่ตอนนี้
ข้อสุดท้ายในขณะที่หมู่สงฆ์หรือว่าชุมชนของเรายังราบรื่นกลมเกลียวกันก็ให้ระลึกไว้ว่าวันหน้าอาจจะทะเลาะเบาะแว้งกันแตกสามัคคีกัน ถึงตอนนั้นก็ไม่เป็นอันปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นตอนนี้ต้องเร่งปฏิบัติ
อันนี้ก็คือวิธีการทำให้ไม่หลง ไม่หลงในความสุขความสบายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็เป็นการกระตุ้นทำให้เกิดความรู้ตัวหรือว่ารู้สถานการณ์ไม่ลืมตัว อันนี้บางทีเราก็ใช้คำว่าทำให้ได้คิด ระลึกถึงสิ่งเหล่านี้ทำให้ได้คิดทำให้ได้สติ สติในที่นี้สติเกิดขึ้นเมื่อได้คิดถึงอนาคตว่ามันสามารถจะเปลี่ยนเป็นอื่นไปได้ หรือระลึกถึงความไม่เที่ยง การระลึกถึงความไม่เที่ยงของสิ่งที่เรามีของสิ่งที่เรากำลังเสพกำลังเสวยอยู่ กำลังครอบครองอยู่ มันทำให้เราได้สติและก็ทำให้หลุดจากความหลง ถ้าเราทำอย่างนี้บ่อยๆ มันก็ทำให้ความรู้ ตัวรู้เพิ่มพูนมากขึ้น ไม่ปล่อยให้ความหลงเข้ามาครอบงำจิตใจเราจนหมดเนื้อหมดตัว การมีสติอย่างนี้ต้องอาศัยการระลึก อาศัยการคิด การพิจารณาถึงความไม่เที่ยงของสิ่งที่เรามีอยู่เป็นอยู่ แต่ว่าสติตัวนี้ที่สำคัญก็คือ การเห็นภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจของเราในขณะนี้ รวมถึงเห็นความคิดที่มันเผลอคิดในหัวของเรา รวมถึงการเห็นความเจ็บความปวดความเมื่อยที่เกิดขึ้นกับกายของเรา รวมถึงการรู้ว่ากายของเราทำอะไรอยู่อันนี้เป็นสติที่ละเอียดกว่าการได้สติเพราะว่ามีคนมาเตือนหรือว่าการระลึกถึงความไม่เที่ยงของสังขาร
สติตัวที่เป็นการเห็นสภาวะอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกายและใจอันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องมี เพียงแค่ระลึกนึกถึงความไม่เที่ยงของสังขาร ระลึกถึงอนาคตภัย 5 ประการอันนี้จำเป็นมาก แต่ว่าเป็นการได้สติเพราะการคิดถึงความจริงหรือการพิจารณาถึงความจริง แต่การที่มีสติรู้ทันในแต่ละขณะ แต่ละขณะ รู้ทันในปัจจุบันที่มันเป็นภาวะอารมณ์ หรือความความคิด เราก็ต้องมีเหมือนกัน อันนี้เป็นสติที่ไว เพราะมันรู้เป็นขณะ ๆ ๆ ไปเลย ไม่ใช่เกิดจากการที่ได้ทบทวนชีวิตที่ผ่านมาของเรา โอย นี่เรากำลังเผลอไปแล้ว นี่เรากำลังหลงไปแล้ว 5 ปีที่ผ่านมาเราหลงไปขนาดนี้เชียวหรือ อันนี้เกิดจากการทบทวนใคร่ครวญชีวิตแล้วเกิดได้สติขึ้นมา แต่ว่าสติที่เป็นสติปัฏฐาน 4 ทำงานได้ไวกว่านั้น คือมันรู้ในขณะนั้นเลย เป็น ขณะ ๆๆ เลย แม้แต่เวลาที่เราได้สติว่า เออ...เราต้องทำความเพียรแล้ว ถึงแม้ว่าเรายังหนุ่มยังสาวเรายังมีสุขภาพดีต้องทำความเพียรอย่าไปหลงตัวลืมตนเพลินกับยศถาบรรดาศักดิ์ เพลินกับความสุขสนุกสนานเพลินกับความสะดวกสบาย แม้ขณะที่เราได้สติอย่างนี้แล้วเราปฏิบัติไป ปฏิบัติไปก็เผลอเหมือนกัน หลงเหมือนกัน การได้สติทำให้เรามาวัด หลายคนมาวัดเพราะได้สติ ได้คิดว่าชีวิตเรามันไม่เที่ยงเมื่อไรตายก็ไม่รู้ มาปฏิบัติธรรมดีกว่า แต่ขณะที่มาปฏิบัติธรรม มันก็ยังหลงมากกว่ารู้ ยกมือสร้างจังหวะ เดินจงกรม ความหลงก็เล่นงานมันกินจิตกินใจเราไปมากทีเดียว เราจึงต้องมีสติรู้ทันเป็นขณะ ๆ
ตรงนี้แหละเป็นงานของสติปัฏฐาน ๔ เป็นสัมมาสติที่เราต้องมี มันทำให้ความหลงไม่สามารถครอบงำ เกาะกุมจิตใจเราได้ ทำให้เรารู้มากกว่าหลง ไม่ใช่หลงมากกว่ารู้ จริงๆ คนเรา ถ้าปฏิบัติจนกระทั่งเกิดปัญญารู้แก่รอบในสังขาร เท่าทันความเป็นจริงของชีวิต สามารถที่ขจัดความหลงให้ออกไปจากใจได้จนหมดสิ้นเหลือแต่ความรู้ อย่างพระอรหันต์ท่านรู้ รู้ทั่วเลย เรียกว่าไม่มีหลงอีกต่อไปเลย ร่างกายยังต้องนอนอยู่ 8 ชั่วโมง 7 ชั่วโมง 5 ชั่วโมง ส่วนใจ ความหลงสามารถจะเลือนหายไปได้เลยดับสนิทไม่มีส่วนเหลือ เหลือแต่ความรู้คือรู้ตัว อันนี้ทำได้แม้ยังต้องหลับอยู่แต่ว่าหลับก็ยังรู้เหมือนกัน