แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อวานซืนได้ไปแสดงธรรมที่บริษัทแห่งหนึ่งแถวสมุทรปราการ ก็มีพนักงานมาฟังธรรมประมาณสัก 200 คนได้ ส่วนใหญ่ก็ยังหนุ่มยังสาวกันอยู่ ก็ถามผู้ฟังว่าใครบ้างที่อยากมีความสุข ก็ยกมือกันทั้งห้องเลย แต่พอถามว่าใครบ้างที่ตอนนี้รู้สึกมีความสุข ก็ยกมือแค่สัก 1 ใน 3 หรือไม่ถึง 1 ใน 3 ก็เลยถามเขาว่าตอนนี้พวกเราจริงๆมีความสุขอยู่แล้วแต่ว่ามองไม่เห็นต่างหาก คนที่ไม่ได้ยกมือเขาก็งงๆเรามีความสุขได้อย่างไร ก็บอกเขาว่าการที่เขาไม่เจ็บไม่ป่วยเขารู้หรือเปล่าว่ามันเป็นสุขมันเป็นโชค ถ้าลองได้เจ็บลองได้ป่วยหรือถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อ หรือว่าไม่ถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อ เอาแค่ปวดฟันก็พอ ก็จะรู้เลยว่าตอนที่เราไม่เจ็บไม่ป่วยมันเป็นสุขอย่างยิ่ง ที่จริงอย่าว่าแต่เจ็บป่วยเลย เอาแค่ว่าปวดท้องอยากจะไปถ่าย ตอนที่เราไม่ปวดท้องหนักไม่รู้สึกเป็นความสุข แต่พอเราปวดท้องหนักแล้วยิ่งไม่มีที่ที่จะถ่ายทุกข์ด้วยมันทรมานเหลือเกิน แต่พอเราได้ไปถ่ายทุกข์ในห้องน้ำ ความสุขก็เกิดขึ้นทันที เราจึงเรียกห้องน้ำว่าเป็นห้องสุขา ห้องสุขาก็คือห้องที่เรามีความสุข เพราะว่าร่างกายเรากลับมาเป็นปกติ ไม่ปวดท้อง ให้เราค่อยๆพิจารณาดูดีๆ
ก็บอกเขาว่าตอนนี้เรายังมีตามองเห็น ยังมีหูได้ยิน เคยตระหนักหรือเปล่าว่านั่นเป็นความสุข ลองถ้าเกิดเราตาบอดหูหนวก หรือว่าแกล้งลองเป็นคนตาบอดอยู่สักวันหนึ่งแล้วจะรู้เลยว่าการที่เรายังมีตามองเห็น ยังมีหูได้ยิน หรือว่ายังพูดได้นี่เป็นความสุขที่ควรจะรับรู้ แล้วก็รู้ว่ามันเป็นโชคอย่างหนึ่ง เวลาเราไปไหนมาไหนได้เราไม่ค่อยได้ตระหนักว่ามันเป็นความสุข ลองเราได้เกิดพิการแขนขาดขาขาด หรือว่าถึงแม้ไม่ขาดแต่ว่าเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ไปไหนไม่ได้ จะรู้สึกเลยว่ามันเป็นความทรมานมาก แล้วก็จะรู้สึกเลยว่าการที่เราเดินไปไหนมาไหนได้นี่มันเป็นความสุขอย่างหนึ่ง อยากจะไปที่ไหนก็ไปได้ตามใจปรารถนา มีคนแก่หลายคนที่เขาอายุประมาณ 90 หรือว่าเป็นร้อย เดินก็เดินไม่ค่อยได้ จะไปไหนก็ต้องนั่งรถเข็น แต่เขาก็ยังพยายามเดิน พยายามที่จะลุกขึ้นเดิน เช่น เดินไปห้องน้ำ ทั้งที่พยาบาลก็ไม่อยากให้เขาทำอย่างนั้น อยากจะประคอง เขาก็ยังไม่ให้คนประคองเลย เขาอยากจะเดินได้ด้วยตัวเองเพื่อไปห้องน้ำ แค่นั้นแหละแค่ 2-3 เมตรหรือว่า 2-3 วา เดินได้แค่นั้นเขาก็รู้สึกเป็นความภาคภูมิใจถึงแม้ว่าจะเดินลำบาก ทำไมเขาถึงรู้สึกอย่างนั้น ก็เพราะว่ามันเป็นอิสระ เวลาเราเดินได้เราไม่ค่อยรู้สึกว่าการที่เดินได้เป็นโชคเป็นความสุข พอแก่ชราหรือว่าเจ็บป่วยจะรู้เลยว่าการที่เดินได้สักนิดสักหน่อยยังดี มันเป็นอิสระที่อยากจะรักษาสงวนเอาไว้
ก็ให้เขาพิจารณาดูไปเรื่อยๆว่าตอนนี้เรากินอิ่มนอนอุ่น มีบ้านคุ้มหัวแม้ว่าจะเป็นบ้านพักหรือบ้านเช่า มีคนอีกมากมายที่หิว มีคนอีกมากมายพลัดที่นาคาที่อยู่ อย่างตอนนี้ในแอฟริกา ตะวันออกกลาง มีผู้อพยพเป็นล้านๆ ถ้าลองได้เป็นคนอยู่แบบเสื่อผืนหมอนใบหรือไม่มีที่อยู่ที่กินจะรู้สึก เคยมีบางคนเขาลองไปเป็นคนไร้บ้าน กลางคืนก็ต้องหาที่นอนเอาตามสถานีรถไฟบ้างตามป้ายรถเมล์บ้าง ยุงก็กวน นอนไม่หลับเลยทั้งคืน เพียงแค่เจอประสบการณ์อย่างนั้นแค่คืนเดียวก็รู้สึกเลยว่าการที่เรามีบ้านมีที่หลับนอนอันนี้เป็นสุขอย่างยิ่งแล้ว อาตมาเคยตอนประมาณสัก 30 ปีที่แล้วไปประเทศยุโรปไปหาเพื่อนคนหนึ่งแถวเนเธอร์แลนด์ เผอิญไม่ได้แจ้งเขาไว้ พอไปถึงเขาไม่อยู่ก็เลยต้องกลับ จากเนเธอร์แลนด์ก็ต้องกลับปารีส แต่ว่าพอไปถึงอัมสเตอดัม เมืองหลวงฮอลแลนด์ก็ค่ำแล้ว แล้วไม่มีรถไฟต่อไปปารีส ก็แปลว่าคืนนั้นไม่มีที่นอน โรงแรมก็แพง ก็ต้องหาที่นอนเอาแถวสถานีรถไฟ หนาวก็หนาว มันเป็นเดือนมกราคม ไปนอนตรงห้องพักคนเดินทาง พอนอนไปถึงสัก 4-5 ทุ่มภารโรงก็มาไล่ให้ออกไป ออกไปแล้วไปนอนไหนล่ะเที่ยงคืนแล้ว ก็ต้องไปหาที่นอนหาที่ซุก ก็เอาหลังตู้ที่เป็นล็อกเกอร์เป็นที่เก็บสัมภาระของคนเดินทาง ต้องปีนขึ้นไปไปนอนบนล็อกเกอร์ ฝุ่นก็เพียบ หนาวก็หนาว มันก็ประมาณเกือน 0 องศาละมั้ง ตอนนั้นเลยรู้สึกการที่เรามีที่พักมันเป็นโชคอย่างยิ่ง มันเป็นความสุขอย่างยิ่ง พอตอนเช้าก็รีบกลับปารีสเลย แล้วก็รู้สึกว่าการที่เรามีที่นอนที่พักแม้จะเป็นห้องเช่านี่มันเป็นสุขอย่างยิ่งแล้ว
ที่จริงแม้กระทั่งการที่เราได้มีงานทำก็เป็นโชคอย่างหนึ่ง เพราะว่าคนที่ตกงานนี่ทุกข์ใจมาก รู้สึกไม่มีคุณค่า ยิ่งถ้าตกงานนานๆเป็นปีนี่รู้สึกไม่มีความหมายเลยชีวิตนี้ ก็พูดลำดับอย่างนี้ไปเรื่อยๆเสร็จแล้วก็ถามใหม่ว่าตอนนี้ใครคิดว่ามีความสุขบ้าง คนก็ยกมือกันเกือบทั้งห้องเลย แล้วก็ถามต่อว่าตอนนี้ใครมีความทุกข์บ้าง ก็มียกมือมา 2-3 คน มีหนุ่มคนหนึ่งบอกว่าเขามีความทุกข์ ถามว่าทุกข์เรื่องอะไร ก็พูดสั้นๆว่าเงินเดือนน้อย เงินเดือนน้อยทุกข์ ก็เลยบอกเขาว่าเงินเดือนน้อยก็เพราะเรามีความต้องการมาก เมื่อเรามีความต้องการมาก เงินที่เราได้มามันก็ไม่พอกับความต้องการ มันก็เลยกลายเป็นเงินเดือนน้อย แต่ถ้าหากว่าเราลดความต้องการลง มีรายจ่ายน้อยลง เงินเดือนที่น้อยก็กลายเป็นเงินเดือนมาก หลายคนรู้สึกว่าเงินเดือนน้อยแล้วคิดว่าทำอย่างไรจะให้มีเงินเดือนมากๆ ก็อาจจะเรียกร้องนายจ้างหรือว่ารอให้เจ้านายขึ้นค่าแรง แต่ที่จริงเงินเดือนน้อยกลายเป็นเงินเดือนมากได้ทันทีเลย ไม่ต้องรอให้เจ้านายมาขึ้นเงินเดือนให้ เราเพียงแต่ลดความต้องการของเราเท่านั้น ถ้าเรามีความต้องการมาก รายจ่ายมาก เงินเดือนก็น้อย แต่ถ้าเรามีความต้องการน้อย รายจ่ายน้อย เงินเดือนก็กลายเป็นมากเพราะมีเงินเหลือ ก็เลยบอกเขาว่าเงินเดือนน้อยเงินเดือนมากอยู่ที่เรา อยู่ที่ใจเรา คนไปคิดว่าต้องไปเรียกร้องจากคนนั้นคนนี้ถึงจะมีเงินเดือนมาก อันนั้นเมื่อไรก็ไม่รู้ แต่ถ้าเกิดว่าต้องการทำให้เงินเดือนน้อยกลายเป็นเงินเดือนมากทำได้ทันทีเดี๋ยวนี้เลย ทำที่ไหน ทำที่ใจเรา ก็คือว่าลดความต้องการลงก็จะมีเงินเหลือมากขึ้น ที่เคยติดลบก็กลายเป็นบวกขึ้นมา คนไม่ค่อยคิดในแง่นี้เท่าไร คิดแต่ว่าเงินเดือนมากต้องมีคนมาเพิ่มให้ แต่ที่จริงเงินเท่าเดิมแต่ว่ากลายเป็นเงินเดือนมากก็ได้
ก็ยกตัวอย่างหลวงพ่อชา หลวงพ่อชาท่านเคยเอากิ่งไม้มาให้ลูกศิษย์ดู แล้วท่านก็บอกว่าถ้าเราอยากได้ไม้ที่ยาวกว่านี้ ไม้กิ่งที่ท่านถือก็เป็นสั้น แต่ถ้าต้องการไม้กิ่งที่สั้นกว่านี้ ไม้ที่ท่านถืออยู่ในมือก็กลายเป็นยาว แล้วท่านก็สรุปว่าไม้จะสั้นหรือยาวอยู่ที่ความอยากของเรา ลองพิจารณาดูดีๆ ไม้จะสั้นหรือยาวอยู่ที่ความอยากของเรา ถ้าเราอยากได้ไม้ยาว กิ่งไม้ที่ถือก็สั้น ถ้าเราอยากได้ไม้สั้น กิ่งไม้ที่ถือก็ยาว ก็เหมือนกัน เงินเดือนมากหรือน้อยมันไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงิน อยู่ที่ใจเรา สุขหรือทุกข์ก็เหมือนกันก็อยู่ที่ใจเรา หรือว่าการที่เรามองว่าความดีหรือความชั่วของคนที่อยู่รอบตัวเรามันก็อยู่ที่ว่าเรามองอย่างไร ถ้าเรามีมาตรฐานความดีสูงและคนที่อยู่รอบตัวเราเขาไม่ถึงเกณฑ์นั้น เราก็ว่าเขาเป็นคนไม่ดี แต่ถ้ามาตรฐานความดีของเราต่ำ คนนั้นก็กลายเป็นคนดีขึ้นมาได้ถ้าเกิดว่าเขาดีเกินกว่ามาตรฐานของเรา หรือว่าถ้าเขาดีอย่างไรแต่ถ้าเรามองเห็นแต่ข้อไม่ดีของเขา เช่น เขาเป็นคนใจร้อน เขาเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความละเอียดลออ กินข้าวก็ไม่ล้างจาน กินน้ำก็ไม่ล้างแก้ว เราเห็นแต่ข้อไม่ดีของเขา เราก็ว่าเขาเป็นคนไม่ดี ส่วนคนไม่ดีแต่ว่าเขาทำดีกับเรา เขาเอื้อเฟื้อเรา เขามีอะไรเขาก็มาแบ่ง เอาเงินแบ่งให้เรา อุดหนุนจุนเจือเรา เราก็ว่าเขาเป็นคนดีทั้งที่เขาอาจจะเป็นคนเอาเปรียบคดโกงหรือว่าเป็นคนที่ชอบรังแกผู้อื่นหรือว่าเป็นคนเจ้าชู้ คนดีถ้าเราเห็นแต่แง่ไม่ดีของเขาเขาก็กลายเป็นคนไม่ดีในสายตาของเรา ส่วนคนไม่ดีถ้าเรามองเห็นแต่ด้านดีของเขาเขาก็กลายเป็นคนดีในสายตาของเราได้ เพราะฉะนั้น ดีหรือชั่วก็อยู่ที่มุมมองของเราด้วย
ลองพิจารณาดูดีๆเราจะพบว่าจริงๆแล้วเวลาเรามองใครเราไม่ได้มองด้วยตาอย่างเดียว เหมือนกับว่ามีแว่นที่เราสวมใส่ด้วย ถ้าเราใส่แว่นดำแม้เป็นกลางวันมันก็ดูมืด แต่ถ้าเราเปลี่ยนแว่นนั้นมาเป็นแว่นที่ใสมันก็สว่าง คนเราเวลามองใครเราไม่ได้มองด้วยตา เวลาเราได้ยินเราไม่ได้ยินด้วยหูเท่านั้น เหมือนกับว่าเรามีแว่นที่สวมใส่ แต่มันเป็นแว่นที่ล่องหน จะเรียกว่าเป็นตาในก็ได้ มันมีตาในอยู่ ตาในตัวนี้สำคัญกว่าตาเนื้อด้วยซ้ำเพราะว่าอย่างที่บอก ถึงแม้ว่าตาเราจะดีแต่ถ้าเราใส่แว่นสีดำมันก็กลายเป็นมืดทั้งๆที่เป็นเวลากลางวัน คนไม่ค่อยรู้ว่าตาในอันนี้สำคัญกว่าตานอกหรือตาเนื้อด้วยซ้ำ ตาในก็คือมุมมองนี่แหละ จะเรียกว่าทิฏฐิก็ได้ ทิฏฐิ ความเห็น ถ้าตาในของเราได้ฝึกเอาไว้ให้เป็นตาที่เห็นอะไรเป็นธรรมะไปหมด ถ้าเรามีตาในที่ดีที่ฝึกมาดี มองอะไรก็เป็นธรรมะไปหมด เห็นใบไม้ตกก็เห็นความเป็นอนิจจังของสังขาร เห็นผึ้งกำลังบินตอมดอกไม้ เราก็เห็นธรรมะจากผึ้งว่าเขากำลังสอนธรรมะเราว่าผึ้งคอยดูดน้ำหวานจากดอกไม้แต่ว่ามันก็ไม่เคยทำให้ดอกไม้เสียสีหรือบอบช้ำเลย เห็นดอกไม้เราก็เห็นธรรมะได้จากดอกไม้ว่าเขาเจอแดดแรงอย่างไรดอกก็ยังสด เคยสังเกตไหมดอกไม้หรือว่าใบไม้โดนแดดเผาทั้งวันตั้งแต่ 8 โมงจนถึง 4, 5, 6 โมงเย็นก็ยังเขียว ดอกไม้ก็ยังสด เหมือนกับว่าไม่ว่าเขาจะเจอความทุกข์อย่างไร ไม่ว่าเขาจะเจออุปสรรคอย่างไรเขาก็ยังใสยังสดได้ แล้วใจเราจะเป็นอย่างนั้นได้หรือเปล่า ก็คือว่าแม้จะเจอสิ่งที่มากระทบ เจออะไรที่มาแผดเผา แต่ว่าใจเราก็ยังแจ่มใสได้
คนที่มีธรรมะเขาจะมีตาในที่ทำให้เขามองเห็นอะไรเป็นธรรมะไปได้ทั้งหมด แม้แต่เวลาผู้หญิงร้องเพลง พระรูปหนึ่งในสมัยพุทธกาล พระติสสะท่านได้ฟังผู้หญิงร้องเพลง ก็เป็นเรื่องของความผิดหวังในชีวิต ความไม่เที่ยงของชีวิต ท่านฟังแล้วก็ปรากฎว่าบรรลุธรรมได้จากเสียงร้องของนางทาสี ไม่ใช่ว่าฟังแล้วจะเกิดความเคลิบเคลิ้ม แต่ว่าฟังแล้วเห็นธรรมะ หรืออย่างพระลกุณฏกภัททิยะเห็นนางคณิกายิ้มให้ นางคณิกามากับลูกค้าอยู่บนรถม้าแล่นผ่านพระลกุณฏกภัททิยะ ชื่อจริงๆของท่านก็คือภัททิยะนั่นแหละ แต่ว่าภัททิยะในสมัยพุทธกาลมีหลายรูป ก็เลยมีชื่อเรียกให้จำเพาะหน่อย ก็เติม “ลกุณฏก” เข้าไป ท่านเป็นพระที่รูปร่างเตี้ยๆเล็กๆน่ารัก นางคณิกาเห็นก็ยิ้ม ท่านก็เห็นฟันของนางคณิกา เห็นฟันขาวเลย เวลาเห็นผู้หญิงยิ้มผู้ชายหลายคนก็ใจกระเพื่อม เกิดราคะหรือเกิดปฏิพัทธ์ความผูกพันขึ้นมา แต่ท่านมองแล้วปรากฏว่าเห็นเป็นนิมิตเลย จดจำเป็นนิมิตเอาไว้แล้วก็ใช้นิมิตนี้แหละในการภาวนาจนเกิดฌาน แล้วใช้ฌานพิจารณาสังขาร พิจารณาจนเห็นความเป็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ท่านก็บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีบนถนนเลย อันนี้เรียกว่าเวลามองสิ่งต่างๆท่านไม่ได้มองด้วยตาเนื้ออย่างเดียว ท่านมีตาในที่ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆกลายเป็นธรรมะ มันแสดงให้เห็นสัจธรรมถึงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ หรือว่าแสดงให้เห็นถึงจริยธรรมข้อควรปฏิบัติที่พึงยึดถือ
อย่างเช่นที่เมื่อกี้พูด ผึ้งพึ่งพาอาศัยดอกไม้แต่ว่ามันก็ไม่เคยทำให้ดอกไม้บอบช้ำหรือว่าเสียสี อันนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าพระเราก็เหมือนกัน ซึ่งอันนี้ก็คงรวมถึงแม่ชีและนักปฏิบัติธรรมด้วย ก็คือว่าเราต้องพึ่งพาญาติโยม เราก็ไม่ทำให้ญาติโยมเดือดร้อน หรือมองให้กว้างก็คือว่าเราต้องพึ่งพาธรรมชาติ เราอยู่ได้เพราะธรรมชาติ เราก็ต้องไม่ทำให้ธรรมชาติเสียหายหรือถูกทำลาย แต่เดี๋ยวนี้เรากลับทำให้ธรรมชาติเสื่อมโทรมลงไปทุกทีๆทั้งที่เราอยู่ไม่ได้ถ้าเราขาดธรรมชาติ แต่ว่าแทนที่จะสำนึกในบุญคุณของธรรมชาติก็เอาเปรียบธรรมชาติจนกระทั่งทรุดโทรม ไม่ว่าจะเป็นน้ำ อากาศ ภูเขา ป่าไม้ แร่ธาตุ เสียหายยับเยิน อันนี้เรียกว่าไม่มีจริยธรรม แต่ว่าถ้าเกิดเรามีตาในที่ดี มองเห็นผึ้งมันก็สอนธรรมให้ตั้งมั่นอยู่ในจริยธรรม จริยธรรมก็คือความดีที่ควรบำเพ็ญ เช่น การอยู่ง่าย การไม่เอาเปรียบ มีอวิหิงสาคือการไม่เบียดเบียน มีเมตตากรุณา อันนี้เรียกว่าจริยธรรม ส่วนการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้เราเห็นสัจธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้าแบ่งเป็น 2 ก็คือ จริยธรรม กับสัจธรรม จริยธรรมคือความดีที่ควรบำเพ็ญ สัจธรรมก็คือความจริงที่ควรเห็นควรเข้าใจ ฉะนั้น ถ้าเรามีตาในที่มาช่วยเสริมตาเนื้อ เรามองอะไรเราได้ยินอะไรก็เห็นเป็นธรรมหมดทั้งจริยธรรมและสัจธรรม ทั้งคติหรือคุณธรรมที่ควรบำเพ็ญแล้วก็สัจธรรมที่ควรตระหนัก
เมื่อกี้ตาในพูดถึงเอาไว้ช่วยใช้มองสิ่งภายนอก มองสิ่งภายนอกแล้วก็เห็นเป็นธรรมะ มันจะมีตาในอีกอันหนึ่ง ตาในที่เอาไว้ดู ตามดูรู้ทันความรู้สึกนึกคิดในใจเรา ตาในตัวนี้ก็สำคัญ อันนี้เราเรียกว่าสติ ตาในตัวที่ใช้มองสิ่งภายนอกนี้เราเรียกว่า “ปัญญา” หรือ”โยนิโสมนสิการ” เอาไว้มองข้างนอก มองนอกแล้วถ้ามองเป็นก็เห็นธรรม ส่วนตาในเอาไว้เพื่อให้เรารู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นในใจ รวมทั้งเอามาใช้ในการมองกายด้วยก็คือตามดูรู้ทันกาย การเจริญสติปัฏฐาน ๔ สติที่ว่าก็คือตาในที่เราต้องฝึก เพราะถ้าเราฝึกเอาไว้ดี เวลากายเคลื่อนไหว ใจก็รับรู้ว่ากายเคลื่อนไหว เวลาเราเดินถ้าเราไม่มีสติก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังเดิน มันไม่มีความรู้สึกเลยด้วยซ้ำว่ากำลังเดินเพราะใจลอย ยิ่งกำลังครุ่นคิดเรื่องอะไรสักอย่างมันไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังเดินอยู่ บางทีเดินหกล้มยังไม่รู้ตัวว่าหกล้ม มีนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ประเทศเยอรมัน เมืองกอตติงเกน (Gottingen) เป็นเมืองที่มีพวกนักปราชญ์พวกสติเฟื่องเยอะมากเมื่อประมาณสักเกือบร้อยปีที่แล้ว มีคนหนึ่งเขากำลังคิดเรื่องทฤษฎีสมการคณิตศาสตร์อยู่ เดินบนถนนก็คิดไปใจลอยไปปรากฏว่าเดินสะดุดหกล้ม เขาเป็นคนแก่ ก็ไม่เชิงแก่ ก็วัยกลางคน คนที่อยู่บนถนนพอเห็นเขาล้มก็รีบวิ่งเข้าไปช่วยประคองเขาขึ้นมา แทนที่เขาจะขอบคุณ เขาบอกว่าอย่ามายุ่งกับฉัน ฉันกำลังวุ่นอยู่ ฉันยังไม่ว่าง อย่ามายุ่งกับฉัน เขาไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเขาหกล้มไปแล้วหรือเขากำลังนอนกองกับพื้น แต่เขารู้ว่าคนมากลุ้มรุมเขา เขาก็รำคาญเพราะกำลังคิดได้ถึงจุดพอดี อันนี้เรียกว่าไม่รู้ตัว เพราะว่าใจอยู่กับความคิดมาก แล้วก็เป็นความคิดที่มีสมาธิมากด้วยซ้ำ แล้วก็ปรากฎว่าตรงนั้นเองที่เขาคิดทฤษฎีหรือสมการคณิตศาสตร์ออกมาได้
คนเราก็เป็นอย่างนี้ ก็คือว่าถ้าเราไม่มีสติ แม้กายเคลื่อนไหวก็ไม่รับรู้ หรือว่าที่หลวงพ่อเทียนหลวงพ่อคำเขียนใช้คำว่าไม่รู้สึก ยกมือก็ไม่รู้สึกเพราะใจลอย เดินก็ไม่รู้สึกเพราะว่าใจลอย หรือว่ากำลังโมโห กำลังถูกอารมณ์ต่างๆครอบงำ แต่ตาในนี่ไม่เพียงแต่ทำให้เรารู้ตัวเวลากายเคลื่อนไหว แต่เวลาใจคิดนึกอะไรไปก็จะรู้ทัน ความคิดและความรู้สึกหรืออารมณ์ถ้ามันเกิดขึ้นในใจเราแล้วเราไม่รู้ทันมันก็พาเราเข้ารกเข้าพงได้เหมือนกัน ถ้าเราคิดถึงคนที่เราเกลียด คิดถึงคนที่เขารังแกเรา ก็จะเกิดความเคียดแค้นเกิดความโกรธขึ้นมา แล้วถ้าเกิดว่าเขาอยู่ตรงนั้น เขาอยู่ใกล้ๆ ก็อาจจะเผลอด่าว่าเขา ความโกรธก็เหมือนกันถ้าเกิดขึ้นกับใครก็ทำให้ลืมตัว ความเศร้าเกิดขึ้นกับใครก็ทำให้จิตใจหดหู่หม่นหมอง อารมณ์และความคิดที่เกิดขึ้นในใจเราถ้าเรารู้ทันมันก็ทำอะไรไม่ได้ มันก็สักแต่ว่าเกิดขึ้นแล้วก็เลือนหายไป แต่ถ้าเราไม่รู้ทันมัน เราก็จะเป็นทาสของอารมณ์ เราก็จะเป็นทาสของความคิด ความคิดเป็นสิ่งที่เราปรุงขึ้นมา ถ้าเราใช้มันเป็นมันมีประโยชน์มาก แต่ถ้าเกิดว่าปรุงมันขึ้นมาแล้วไม่รู้ทันหรือว่าเผลอปรุงขึ้นมา มันก็พาเราทำในสิ่งที่เราต้องเสียใจ บางทีเห็นของบางอย่างอยากได้ ยิ่งถ้าตอนนั้นกำลังร้อนเงิน ไม่มีเงินเป็นค่ารักษาพยาบาลพ่อแม่หรือว่าไม่มีเงินส่งลูกไปโรงเรียน กำลังร้อนเงิน เห็นเงินหรือว่าเห็นโทรศัพท์หรือว่าเห็นสมบัติของใครสักคนอยู่ใกล้ๆ ความอยากเกิดขึ้น และถ้าไม่รู้ตัวมันก็สั่งให้เราฉวยหยิบของนั้น จะเป็นเงินก็ตาม จะเป็นสมบัติของใครก็ตาม เสร็จแล้วเป็นอย่างไร ถูกจับได้ ก็ติดคุกติดตาราง หรือว่าถึงจะไม่มีใครรู้แต่ว่าก็เดือดเนื้อร้อนใจ จะเอาไปคืนก็ไม่กล้า กลัวเขาจับได้ คนเราเผลอทำอะไรไปเพราะความคิดมันจูงไปเพราะอารมณ์มันพาไปก็เยอะ เราต้องมีตาในที่รู้ทัน รู้ทันความรู้สึกนึกคิดหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้น จะทำให้เราตั้งมั่นอยู่ในธรรมหรือว่าทำคุณงามความดีได้
แต่มันไม่ใช่แค่นั้น มันไม่ใช่แค่เพียงทำให้เราสามารถรักษาศีลแล้วก็ไม่ทำสิ่งที่ทำให้เดือดเนื้อร้อนใจหรือว่าไปเบียดเบียนใครให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นมา ตาในยังช่วยทำให้เราได้เห็นความจริงของกายและใจได้ด้วย ตาในคือสติทำให้เราเห็นความจริงของกายและใจ ถ้าเรามีสติดูกาย มีสติดูใจ ก็จะเห็นความจริงที่กายและใจแสดงออกมา เห็นอย่างเบื้องต้นก็คือเห็นว่าทั้งเนื้อทั้งตัวเราก็มีแต่กายกับใจ มันไม่มีอะไรมากกว่านั้น ไม่มีแม้กระทั่งตัวกูหรือการไปยึดว่าของกู แต่คนเรามักจะไปสำคัญมั่นหมายว่ากายนี้เป็นกู ของกู หรือว่ามีตัวกูมาแทรกอยู่ในกายกับใจ เวลาทำอะไร เวลาเดินก็ไปสำคัญมั่นหมายว่ากูเดิน ฉันเดิน เวลาโกรธก็ไปสำคัญมั่นหมายว่าฉันโกรธ แต่ที่จริงแล้วมันก็มีแต่รูปกับนาม มันมีแต่กายที่เดิน มันมีแต่นามที่มันเกิดความโกรธขึ้นมา มันไม่มีตัวเรา ไม่มีตัวกูอยู่เลย ความจริงที่ว่ามันมีแต่กายกับใจ รูปกับนาม เป็นความจริงพื้นฐานที่คนส่วนใหญ่ถ้าไม่เอาตาในมาดูก็จะเกิดความหลงขึ้นมาว่ามีกูตลอดเวลา เวลาปวดแทนที่จะเห็นว่าความปวดเกิดขึ้นที่กาย หรือว่ากายปวดก็ไปคิดว่าฉันปวด อันนี้ไม่ใช่ มันเป็นความหลงพื้นฐานเลยทีเดียว ถ้าเรามีสติจะเห็นอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นก็เป็นแค่กิริยาหรือสภาวะที่เกิดขึ้นกับกาย เป็นกิริยาหรือภาวะที่เกิดขึ้นกับใจ ไม่มีตัวเรา และความจริงที่ลึกไปกว่านั้นก็คือทั้งรูปและนาม กายกับใจ มันก็ไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่สามารถจะยึดให้เที่ยงได้ ไม่สามารถจะฝากความหวังความสุขจากมันได้ แล้วก็ไม่สามารถที่จะยึดมาเป็นเราเป็นของเราได้ อันนี้เป็นสัจธรรมที่กายและใจ รูปกับนาม สามารถจะแสดงให้เห็น แต่จะเห็นได้เราก็ต้องมีตาในคือสติ
เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาดูดีๆ การปฏิบัติธรรมของเราจะก้าวหน้าไม่ได้ถ้าเกิดว่าเราไม่สามารถจะพัฒนาตาในขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นตาในที่ใช้มองสิ่งต่างๆภายนอกจนกระทั่งเห็นเป็นสัจธรรมหรือว่าเห็นเป็นคติธรรมที่น้อมนำชีวิตเรา แล้วก็ไม่สามารถจะเจริญก้าวหน้าได้เหมือนกันถ้าเราไม่มีตาในที่ใช้เอามาดูกายและใจ ตาในที่ใช้มองนอกจนเห็นธรรมแล้วก็ตาในที่ใช้ดูกายและใจจนเห็นธรรมเป็น ๒ ตาในที่สำคัญ อันแรกเราก็เรียกว่า “โยนิโสมนสิการ” ก็ได้ “ปัญญา” ก็ได้ อันที่สองเราเรียกว่า “สติ” เวลาเราปฏิบัติก็ต้องถามตัวเราว่าตาในของเราได้พัฒนาขึ้นไหม เรามีตาในเอาไว้เป็นที่พึ่งพาอาศัยหรือเปล่า หรือว่าเอาแต่ทำบุญให้ทาน รักษาศีล แต่ว่าไม่ได้พัฒนาตาในขึ้นมา ทั้งโยนิโสมนสิการเอาไว้ใช้มองธรรมะจากสรรพสิ่งที่เราเห็นทางตา ทางหู หรือว่าทางจมูกด้วยซ้ำ ส่วนกายและใจที่มันอยู่กับเรามาตลอดมันก็สอนธรรมให้กับเราได้ตลอดเวลา ถ้าหากว่าเรามีสติเป็นตาในเอาไว้ใช้รักษาใจด้วย สติใช้รักษาใจด้วยไม่ให้ทุกข์ ให้พบกับความสงบ และขณะเดียวกันก็สามารถจะทำให้จิตสว่างเพราะว่ามีปัญญาเห็นสัจธรรมความจริง
ค่ำนี้พูดกันเท่านี้ กราบพระ