แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ที่วัดป่าสุคะโต เราตื่นเช้ากันมาก อย่างช้าตี 3 ครึ่ง หลายคนนั้นรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่สร้างความยากลำบากทรมานตน คิดว่าคงไม่มีใครตื่นเช้าขนาดนี้หรอกมีแต่คนวัด แต่เดี๋ยวนี้คนนิยมตื่นเช้ากันมากขึ้น มีคนกลุ่มหนึ่งตื่นเช้ากันมาก ได้แก่ พวกนักธุรกิจระดับโลก อย่าง CEO เป๊ปซี่ แอปเปิ้ล ตื่นตี 4 ดิสนีย์ ตี 4 ครึ่ง คนที่ว่าตื่นสาย CEO ของทวิตเตอร์ ตื่นตี 5 ครึ่ง ก็ถือว่าตื่นสายมากแล้ว ตื่นเช้าไปทำไม ก็จะได้ออกกำลังกาย ตี 5 ก็ถึงโรงยิมแล้ว เขาให้ความสำคัญเรื่องการออกกำลังกาย เพราะเขารู้สึกว่าทำงานหนักเพราะฉะนั้นร่างกายต้องพร้อมต้องแข็งแรงเพื่อที่ได้สามารถแบกรับภาระต่างๆได้ แล้วก็คงคิดว่ากำลังกายก็มีส่วนช่วยทำให้สมองแจ่มใส
พวกเรานี้ตื่นเช้าก็เพื่อการพัฒนาจิตใจ เป็นการบริหารจิตใจอย่างหนึ่ง เริ่มตั้งแต่พยายามที่จะเคี่ยวเข็ญตนเองให้ตื่นเช้าตี 3 ตี 3 ครึ่ง หรือเช้ากว่านั้น ถ้าจิตใจอ่อนแอ ก็ตื่นก็ยาก ต้องมีความเข้มแข็ง บางครั้งตื่นแล้วก็อาจจะง่วงก็ต้องพยายามที่จะปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นมาให้ได้ ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อความเกียจคร้าน อันนี้ก็ได้ไปแล้วได้ ขันติธรรม วิริยะ ความเพียร
พอตื่นเช้าขึ้นมาแล้ว มันก็มีประโยชน์ต่อจิตใจหลายอย่าง ช่วงที่ยังเช้าอยู่ไม่ทันสว่าง ใจเราเปรียบได้กับแก้วน้ำที่ยังว่างเปล่า เติมอะไรมันก็ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นช่วงเวลาที่เอื้อต่อการฟังธรรม ใจเรายังไม่ฟุ้งซ่านเตลิดเปิดเปิง เหมือนแก้วที่ยังว่างเปล่า แต่ถ้าสายกว่านี้ หรือสว่าง ใจก็จะมีเรื่องคิดโน่นคิดนี่ เหมือนกับแก้วที่มีน้ำ แถมน้ำขุ่นๆด้วย การที่จะรับน้ำใหม่ที่ใสก็รับได้ไม่เต็มที่ ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย นอกจากฟังธรรมแล้ว การเจริญสติการทำสมาธิในยามนี้ ก็ทำได้ดี เพราะใจไม่ค่อยฟุ้งนั้นเอง
พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ช่วงนี้แหละ เขาเรียกว่ายาม 3 ตั้งแต่ตี 2 ถึง 6 โมงเช้า พระองค์รู้ธรรมะเกิดขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่ยาม 1 ยาม 2 สุดท้ายก็ยาม 3 นี่แหละ ก็รู้แจ้งในสัจธรรมแบบทะลุปรุโปร่ง อันนี้ตรัสรู้ในช่วงเวลาเดียวกับที่ผู้คนหลับใหล แต่ว่าก็เป็นเวลาเดียวกับที่ใจสามารถที่จะเปิดรับธรรมะ หรือว่ารับรู้ เห็นแจ้งในสัจธรรมได้
เพราะฉะนั้น พอเราตื่นขึ้นมาแล้ว เราก็ทำใจของเราให้ตื่นไปขึ้นมาด้วย ถึงแม้ว่าจะมีความง่วง อันนี้มันก็เป็นความเคยชินเดิมๆ ให้เราพิจารณาการเจริญสติ ซึ่งก็มีหลักง่ายๆคือ ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น เอามาใช้พิจารณาตัวเราว่า การกระทำของเราหรือกิจวัตรของเรา มันเอื้อต่อการเจริญสติหรือเปล่า หลายคนมองว่าการเจริญสติมันเป็นเรื่องไกลตัว หรือเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ยิ่งพูดถึงการปฏิบัติ ก็ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไรบ้าง บางคนก็เข้าใจไปว่าได้แก่การยกมือสร้างจังหวะ เดินจงกรม หลับตา ดูลมหายใจเท่านั้น อันนั้นมันแคบไป ที่จริงทำอะไรก็ตาม หรือว่าไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้าตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น อันนั้นก็ถือว่าเรากำลังเจริญสติอยู่ กำลังทำความรู้สึกตัวอยู่ เพราะถ้าใจอยู่กับเนื้อกับตัวเมื่อไหร่ ความรู้สึกตัวก็เกิดขึ้น
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้คนส่วนใหญ่คือว่าไม่มีสติ ไม่มีสติรู้ว่าใจลอย หรือว่าลืมตัว เพราะใจมันคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ถ้าใจอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว กายทำอะไรใจก็รู้ นั่งอยู่ก็รู้ว่าตัวเองนั่งอยู่ เดินก็รู้ว่าตัวเองกำลังเดิน ล้างหน้าแปรงฟันก็รู้ว่าตัวเองล้างหน้าแปรงฟัน หรือว่ากินข้าวก็รู้ว่าตัวเองกินข้าว อันนี้ก็เรียกว่ามันมีสติ แม้แต่เวลาอ่านหนังสือ ใจก็ไม่ได้อยู่ตรงไหน ใจก็ไม่ได้ลอยไปที่อื่นก็ทำงาน คือรับรู้จากการอ่าน อันนี้เขาเรียกว่ามีสติได้ หรือแม้แต่เวลาพูดคุยกับใคร เราก็คุยอย่างมีสติได้ ถ้าใจเราไม่ลอยไม่ใช่พูดกับเพื่อนร่วมงาน หรือคุยกับคนในครอบครัว แต่ใจลอยไป ไปคิดเรื่องงาน วางแผน อาจจะกังวลโน่นนี่นั่น ก็เรียกว่าไม่มีสติแล้ว
ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น จะพูดอีกอย่าง ก็คือว่า เวลาทำอะไรก็ตาม ก็ทำทีละอย่าง มันเป็นวิธีการเจริญสติแบบง่ายๆก็คือว่า ทำทีละอย่าง เป็นการสร้างนิสัยที่จะเอื้อต่อการส่งเสริมคุณภาพจิต ปัญหาของผู้คนส่วนใหญ่ เดี๋ยวนี้ทำหลายอย่างพร้อมๆกัน ซึ่งสุดท้ายมันก็เป็นการบั่นทอนสุขภาพจิต คนที่รักตัวเองแล้ว อะไรก็ตามที่บั่นทอนสุขภาพจิต ก็จะไม่ทำ สิ่งที่บั่นทอนสุขภาพจิตใจก็คือว่าทำหลายอย่างพร้อมกัน ทำหลายอย่างพร้อมกัน ก็มีทั้งทำด้วยความตั้งใจ กับทำโดยไม่ตั้งใจ เช่น กินข้าวไปเล่น Facebook ไป กินข้าวไปเปิดดู Line ไป หรือว่าเช็คข่าวสารข้อมูลไป เดี๋ยวนี้เป็นกันเยอะ หลายบ้านจึงมีการออกกฎไม่ให้คนในบ้านเช่น ลูกๆ เอาโทรศัพท์มือถือติดมาด้วยขณะที่กินข้าว ไม่งั้นจะอดไม่ได้ชำเลืองดูโทรศัพท์มือถือ หรือจะเขียนข้อความส่ง หรือแม้แต่จะเช็คข่าว อันนี้เรียกว่าทำ 2 อย่างพร้อมกัน บางคนระหว่างที่อาบน้ำไปก็นึกวางแผนทำงานในตอนเช้า เตรียมเมนูอาหารที่จะทำให้กับลูก อันนี้ก็ทำ 2 อย่าง บางคนก็ทำ 3 อย่าง กินข้าวไปด้วย ดูโทรทัศน์ไปด้วย แล้วก็คุยกับลูก สนทนากับเพื่อนไปด้วย หรือว่าพูดคุยเรื่องธุรกิจ เราทำหลายอย่างโดยตั้งใจ ทำหลายอย่างโดยไม่ตั้งใจก็คือว่า กินข้าวไปใจก็ลอยไปโน่นไปนี่ หรือไม่ก็ทำงานใจก็นึกห่วงลูก ไม่ก็วางแผนไปเที่ยว เผลอแป๊บไปเอง ใจลอย เป็นอย่างนี้กันเยอะ
มีคนทำวิจัยพบว่า 7 ชั่วโมงครึ่ง หรือ 8 ชั่วโมงครึ่ง ที่ทำงานนั้น ทำจริงๆ แค่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น คือหนึ่งชั่วโมงกว่า ที่เหลือไม่รู้ใจลอยไปไหน เป็นเพราะเราทำหลายอย่างพร้อมกัน แต่เป็นการทำหลายอย่างโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยมาก แล้วที่มันเป็นอย่างนั้นเพราะว่ามันกลายเป็นนิสัยไปแล้ว ถามว่านิสัยนี้เกิดขึ้นมาจากอะไร ก็มาจากการที่ตั้งใจทำหลายอย่างพร้อมกัน การทำหลายอย่างพร้อมกันโดยตั้งใจ มันก็เป็นการสะสมพอกพูนจนเป็นนิสัยที่ส่งเสริมให้ใจลอย แล้วมันไม่ใช่ใจลอยเปล่า บางทีมันก็ทำความทุกข์ให้กับตนเอง เช่น คนที่ทำงาน ทำไปบ่นไป ก็ทำหลายอย่างพร้อมกัน ที่จริงส่วนใหญ่ก็ไม่ชอบกัน แต่ก็อดไม่ได้ ทำไปก็บ่นเพื่อนบ้างล่ะ หรือทำไปก็กลุ้มไป ที่กลุ้มก็เพราะคิดถึงเรื่องงานที่ยังไม่เสร็จอีกตั้งหลายอย่าง ทำงานเช้าก็คิดถึงงานบ่าย หรืองานวันรุ่งขึ้น หรืองานที่จะต้องทำเดือนหน้า อันนี้เรียกว่าทำหลายอย่างพร้อมกัน
แล้วมันก็ลามมาสู่การปฏิบัติ เพราะว่าเวลาเราตั้งใจจะเจริญสติ ก็จะพบว่า เวลาเราเจริญสติ สร้างจังหวะ มือยกไป แต่ใจไม่รู้อยู่ไหน ใจไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ อันนี้ก็ทำหลายอย่างเหมือนกันนะ เวลาฟังธรรม ใจก็ลอยแล้วไปโน่นไปนี่ ก็เลยไม่รู้ไม่เข้าใจว่าผู้บรรยายพูดอะไร แต่บางทีไม่ได้ไปเรื่องอื่น ไปในเรื่องที่ทำให้ตัวเองทุกข์ เกิดความวิตกกังวล เกิดความขุ่นเคืองใจ หนักอกหนักใจ หรือเกิดความเศร้า เกิดความเสียใจอาลัยอาวรณ์ ก็เพราะทำหลายอย่างพร้อมกันนี่แหละ ทำไปบ่นไป ทำไปก็หนักอกหนักใจไป
บางคนก็อาจจะแย้งมาว่า ในเมื่อทำไปบ่นไป มันทำหลายอย่างพร้อมกัน ไม่ดี ก็ทำอย่างเดียวก็คือว่านั่งบ่นอย่างเดียวเลย หรือว่านั่งกลุ้มอย่างเดียวเลย อย่างนี้ดีไหม มันก็ไม่ตรงกับหลักการเจริญสติแล้ว เพราะการเจริญสติมันมีหลักอีกอย่างหนึ่งคือ อยู่กับปัจจุบัน นั่งบ่นหรือว่านั่งกลุ้มนั้น มันก็ทำอย่างเดียว แต่ว่ามันไม่ใช่อยู่กับปัจจุบัน เพราะว่าสิ่งที่เราบ่น สิ่งที่เรากลุ้ม มันคือเรื่องที่ยังมาไม่ถึง สิ่งที่เราควรจะใส่ใจคือปัจจุบัน หมายถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่ หรือว่าสิ่งที่ควรจะทำ หมายถึงสิ่งที่เฉพาะหน้าขณะนี้ หรือว่าสิ่งที่ควรทำ เช่น คนที่เอาแต่เที่ยว เล่น นักเรียนเอาแต่เที่ยวเล่นสนุกสนานแต่ไม่ทำการบ้าน อันนี้เรียกว่าไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน หรือว่าผู้ใหญ่ที่เอาแต่สนุกสนาน เสพสุข แต่ว่าไม่มีเวลาให้กับตัวเอง ไม่มีอะไรกับพ่อแม่ ไม่ได้มีเวลาให้กับลูก อันนี้เรียกว่าไม่ได้ทำสิ่งที่ควรทำ ท่านก็ถือว่าไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน
การเจริญมรณสติ มันทำให้คนนี้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน เพราะทำให้คนตระหนักว่าสิ่งที่ควรทำ ถ้าเราไม่รีบทำวันนี้ วันหน้าก็อาจจะไม่มีโอกาส เพราะอาจจะตายก่อน ถ้าเราไม่ตาย คนที่เราควรจะใส่ใจ อาจจะตายก่อนเรา เช่น พ่อแม่หรือแม้แต่คนรัก ลูกหลาน การเจริญมรณสติเป็นการกระตุ้นเตือนให้เราหันมาทำสิ่งที่ควรทำ อันนั้นแหละทำให้เรากลับมาอยู่กับปัจจุบัน มันง่าย ทำทีละอย่างนี้มันง่ายกว่าทำหลายอย่างพร้อมกัน แต่คนเรามักจะชอบทำสิ่งที่มันยาก เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคํา ทําทีละอย่าง ที่น่าจะทำได้ แต่เราเลือกทำสิ่งที่ยาก ทำหลายอย่างพร้อมกัน เสร็จแล้วก็เป็นการบั่นทอนสุขภาพจิต งานก็ไม่สำเร็จ งานไม่ดี จิตใจก็ย่ำแย่ ทีแรกก็ตั้งใจทำหลายอย่าง พอทำไปทำไป มันกลายเป็นนิสัยนิสัยฟุ้งซ่าน นิสัยใจลอย นิสัยคิดเล็กคิดน้อย จะทำอะไรใจก็ไปกังวลถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้
แล้วทำทีละอย่าง มันเป็นวิธีการที่ง่าย เมื่อเทียบกับการทำหลายอย่างพร้อมกัน การอยู่กับปัจจุบันก็เหมือนกัน มันหมายความว่าเวลาทำอะไร เราก็อยู่กับสิ่งที่เรากำลังทำ วางอย่างอื่นลงไปก่อน คนส่วนใหญ่มีความทุกข์มีความเครียดเพราะว่าไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน ตัวนี้กำลังทำงานอยู่กับข้างหน้า บางทีก็ใจก็ลอยแล้วไปนึกว่าเมื่อไหร่จะเสร็จสักที ไปคิดถึงจุดหมาย นึกถึงผลสำเร็จ อันนั้นมันเป็นอนาคต จริงๆไม่ต้องทำ ไม่ต้องคิดอะไรมาก วางจุดหมายข้างหน้า วางผลสำเร็จที่คาดหวังเอาไว้ก่อน
อย่างเช่น เวลาเดินทาง เราจะหงุดหงิดน้อยลงถ้าเราไม่ต้องไปสนใจจุดหมายปลายทาง คนเครียดเพราะว่าเวลารถติดแล้วเกิดความกังวลขึ้นมา ใจมันไปถึงจุดหมายปลายทางแล้วว่า กลัวว่าจะไปช้า กลัวว่าจะผิดนัด กลัวว่าจะถึงที่ทำงานสาย กลัวจะตกเครื่องบิน เราก็เลยหงุดหงิดเวลารถติด แต่ถ้าใจเราอยู่กับปัจจุบัน อยู่ในรถอาจจะตามลมหายใจไป หรือไม่ก็ฟังเพลง ฟังเทปธรรมะ มันก็ไม่มีความกังวล เพราะกังวลไปก็ไม่ได้ช่วยให้เราถึงที่หมายเร็วขึ้น แล้วก็ทำให้เรามีความทุกข์มากขึ้นด้วย เรียกว่าซ้ำเติมตัวเอง เสียเวลาแล้วยังทำไมต้องเสียอารมณ์ด้วย ทำไมต้องเสียความสุขด้วย เสียก็ให้เสียอย่างเดียวคือ เสียเวลา แต่ใจก็ยังปกติ อาจจะใช้โอกาสนี้คุยกับคนในรถก็ได้ ใช้เวลานี้คุยกับลูก เดี๋ยวนี้คนไม่ค่อยมีเวลาคุยกับลูก ใช้เวลารถติดนี้คุยกับลูก ได้ประโยชน์ ไม่ใช่เสียเวลาแล้วยังเสียอารมณ์ บางทีทำให้บรรยากาศซึ่งมีลูกมีคนรักเป็นบรรยากาศที่มึนตึงเพราะคนขับรถคือพ่อเครียด หงุดหงิด ทำงานก็เหมือนกัน ถ้าใจอยู่กับปัจจุบันวางอะไรต่ออะไรลงไป มันก็จะทำงานได้ดี
มีนักปีนเขาคนหนึ่งชื่อ บรู๊ซ เคิร์ชสบี้ เป็นนักปีนเขาที่ผ่านยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกทุกทวีปรวมทั้งเอเชียได้แก่ Everest สูงมาก เขาก็พิชิตมาแล้ว เขาใช้เวลา 10 ปี เขาสรุปได้ว่า วิธีการปีนเขาที่ดีที่สุดก็คือ ลืมจุดหมายที่ไปจะไปถึงยอดเขา สนใจแต่พื้นดินใต้ฝ่าเท้า แล้วก็เดินไปทีละก้าวๆ ถ้าเดินไม่หยุด แล้วก็ถูกทาง ไปถึงแน่ แต่ก่อนเขาไม่รู้ เวลาเขาจะปีนเขา เขาจะมองไปที่ยอดเขา แล้วเกิดอะไรตามมา เกิดความหนักใจ อีกตั้งเป็นเดือนกว่าจะถึง บางทีก็เกิดความกลัว เขาชันอันตราย ไม่ทันจะปีนเลย ใจก็หนักแล้ว แต่เขาก็พบว่า มันมีวิธีที่ง่ายกว่านั้น ง่ายมากก็คือว่า อย่าไปสนใจจุดหมายหรือยอดเขา ใส่ใจกับพื้นดินใต้ฝ่าเท้า แล้วก็เดินไปทีละก้าว
อีกคนหนึ่งเป็นนักกายกรรมนักไต่เชือก เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ตอนที่ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เพิ่งสร้าง เขามีความใฝ่ฝันว่าอยากจะเดินบนเชือกที่ขึงระหว่างยอดตึกแฝด 2 ตึก เขาเป็นคนที่ชอบตึกสูงที่ไหนๆ เขาก็ผ่านมาหมดแล้ว อย่างฝรั่งเศสที่เขาอยู่ก็ผ่านมาหมดแล้ว แต่ว่ามันไม่มีตึกไหนที่สูงเท่าตึกเวิลด์เทรด 400 เมตร พอเริ่มสร้างใกล้เสร็จแล้ว ก็ลักลอบเข้าไปในตึกกับเพื่อน เขาไปถึงยอดตึก เขาขึงเชือกที่เป็นลวดจนตึง ตอนเช้าตรู่ เขาก็เริ่มเดิน ไม่มีอะไรนอกจากไม้ยาวๆที่ถือไว้เพื่อเป็นการสร้างสมดุล เดินไปได้สักพัก คนอยู่ข้างล่างก็เห็นนายฟิลิปป์ เปอตีต์ นักไต่ลวด ก็รีบไปแจ้งตำรวจ ตำรวจก็มาที่จะจับเขา แต่เขาก็ไม่สนใจ เดินจากยอดตึกหนึ่งไปอีกยอดตึกหนึ่ง ห่างกันประมาณ 200 เมตรได้ แล้วก็เดินกลับมาอีก กลับมาตรงหน้าที่ตำรวจ ตำรวจจะคว้าตัวเขาเมื่อเขามาถึงยอดตึก เขาก็หันกลับ แล้วก็เดินต่อ เขาเดินกลับไปกลับมาอย่างนี้ประมาณ 7 เที่ยว ใช้เวลาราว 40 นาที จนกระทั่งหนำใจแล้ว ก็ลงมาให้ตำรวจจับ
ก็เป็นข่าวใหญ่ นักข่าวมาสัมภาษณ์ว่าทำได้ยังไง เขาก็บอกว่าไม่ได้ทำอะไรมาก เวลาอยู่บนนั้น เขาคิดแต่ว่าให้เท้าขวามันมาอยู่หน้าเท้าซ้ายแล้วก็ให้เท้าซ้ายไปอยู่หน้าเท้าขวา แค่นี้ วิธีการเดินไต่ลวด เขาไม่ได้ไปมองที่จุดหมายข้างหน้า เขาไม่ได้มองที่ยอดตึก เขาสนใจแต่เท้าแต่ละข้างๆ ก็คล้ายเทคนิคของ บรู๊ซ เคิร์ชสบี้ ก็คือว่าสนใจแต่ก้าวละก้าวเท่านั้น งานที่ยากเสี่ยงอันตราย ไม่ว่าปีนเขาหรือเดินบนเส้นลวดขึงระหว่างยอดตึก 2 ตึก มันเป็นงานยากน่ากลัวก็จริง แต่ว่าเขาก็ทำให้เป็นเรื่องง่าย ด้วยการสนใจแต่ก้าวแต่ละก้าว หรือว่าเท้าแต่ละข้างเท่านั้นเอง
อันนี้ก็เป็นเคล็ดลับในการทำงาน เวลาทำงานอย่าไปสนใจจุดหมายปลายทาง ทำให้มันง่ายกว่านั้น สนใจแต่ในงานที่เรากำลังทำอยู่ และทำให้มันดีที่สุด ใจเต็มร้อยเลย อย่าปล่อยใจของเราแบ่งภาคออกเป็น 2 ส่วน ใจหนึ่งก็อยู่กับงาน อีกใจหนึ่งก็ไปอยู่ที่จุดหมายปลายทาง เมื่อใจไม่เต็มร้อย ไม่มีสมาธิ ความสามารถที่จะออกมา มันก็ออกมาได้ไม่เต็มที่ และแถมเกิดความกังวลด้วย เพราะพอนึกถึงจุดหมาย มันจะคิดว่าเมื่อไหร่จะเสร็จเมื่อไหร่จะถึง บางทีก็กลัวว่า ถ้างานออกมาแล้ว จะเป็นอย่างไร เจ้านายเขาจะว่าอย่างไร เพื่อนจะพูดถึงงานของเราอย่างไร เกิดความกลัว เกิดความวิตกขึ้นมา อันนี้เรียกว่าทำ 2 อย่างพร้อมกัน ซึ่งความหมายหนึ่งคือใจไม่อยู่กับปัจจุบัน เรามักจะทำของยาก ทั้งๆที่มันมีวิธีที่ง่ายกว่านั้น แต่เราก็ทำให้กลายเป็นเรื่องยากมาก
การเจริญสติเหมือนกัน อย่างที่บอกแล้ว ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น ใจทำหน้าที่อะไร ทำหน้าที่เพียงแค่รู้ว่ากายกำลังทำอะไร ใจไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่านั้น เรียกว่ารู้เฉยๆ รู้ซื่อๆ หลักของสติ แค่รู้ซื่อๆ ใจไม่ต้องทำอะไรเลย ใจแค่รู้ว่ากายทำอะไร เช่นว่า ยกมือสร้างจังหวะ ใจก็รับรู้ว่ามือกำลังยก ใจไม่ต้องคิดเรื่องอื่น ใจไม่ต้องสนใจขณะที่ฟังอาตมา ไม่ต้องสนใจหรือทำความเข้าใจกับเสียงคำบรรยาย ระหว่างที่ยกมือ ใจก็รู้ว่ากายกำลังยก หรือรู้สึกว่ากายกำลังเคลื่อนไหว ไม่ใช่ว่า ใจมารู้กาย ก็แบ่งภาค มาฟังคำบรรยายด้วย อันนี้เรียกว่าทำสองอย่างพร้อมกัน มันไม่ถูก ถ้าจะยกมือสร้างจังหวะ ใจก็รับรู้ว่ากายกำลังยก อย่าไปสนใจคำบรรยาย ฟังผ่านๆ แต่ถ้าสนใจคำบรรยายก็ให้ใจมาอยู่กับการฟัง ไม่ต้องไปยกมือ ทำทีละอย่าง ก็จะเป็นการสร้างนิสัยการเจริญสติ
ในขณะเดียวกัน ขณะกายทำอะไร ใจก็ทำหน้าที่แค่รู้เฉยๆ รู้กายว่ากำลังยก หรือว่ารู้ใจว่ามันกำลังเผลอคิดไปหรือเปล่า แค่รู้เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรไปมากกว่านั้น ถามง่ายไหม ง่าย แต่ส่วนใหญ่ชอบไปทำสิ่งที่ยาก มันไม่ยอมแค่รู้เฉยๆ จะเข้าไปทำโน่นทำนี่ ไปจัดการโน่นจัดการนี่ เช่นพอเห็นใจฟุ้งซ่านก็พยายามกดข่ม ไปห้ามใจไม่ให้คิด พอมีความโกรธเกิดขึ้นก็พยายามต่อสู้ขัดขวางความโกรธนั้น กดข่มมัน หรือพอมีเสียงดังมากระทบหู ก็สักแต่ว่ารู้ แต่ใจไม่ชอบอยู่เฉยๆ มันจะเข้าไปร่วมรับฟังเสียงนั้น ทำไมถึงดัง ทำไมไม่ปิดโทรศัพท์ มันบ่นโวยวาย อันนี้มันยุ่งยาก แค่รู้เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่านั้น ใจ แค่รู้เฉยๆ