แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง เช้าวันหนึ่ง ภรรยาลุกขึ้นมาจากเตียง แล้วมายืนอยู่ที่ข้างหน้าของหน้าต่างเพื่อออกกำลังกาย เช้าวันนั้นอากาศก็ดี ออกกำลังกายอยู่สักพักหนึ่ง มองออกไปทางหน้าต่าง เห็นบ้านเพื่อนบ้านเขาตากผ้าเอาไว้ ตากเป็นแนวเลย ภรรยาก็พูดขึ้นให้สามีได้ยิน สามีกำลังนอนอยู่บนเตียง
ก็บอกว่า “คุณดูสิ บ้านนี้ ซักผ้าทำไมมันไม่สะอาด ทั้งๆที่บ้านก็มีฐานะ คนงานก็เยอะ รถก็หลายคัน แต่ทำไมเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน มันหม่นหมองไม่สะอาดเลย รวยซะเปล่า” ก็พูดบ่นให้สามีได้ยิน วันรุ่งขึ้นตอนเช้าเธอก็ลุกขึ้นมาออกกำลังกายอีก แล้วพอเห็นสิ่งที่อยู่ข้างหน้าก็พูดเหมือนเดิมว่า “คุณดูสิ บ้านนี้นี่เขาซักเสื้อผ้าไม่สะอาดเลย ผ้าก็คงจะราคาแพง ผ้าปูโต๊ะ ผ้าปูเตียง ผ้าเช็ดตัว แต่ทำไมมันหมอง ไม่สะอาด รวยซะเปล่า แค่นี้ก็ไม่ยอมทำให้มันสะอาด สงสัยคนงานจะเป็นพม่าหรือเปล่า”
สามีได้ยินก็เพียงแต่รับฟังเอาไว้ ไม่ได้พูดอะไร พอถึงวันที่สาม คราวนี้ภรรยาลุกขึ้นมา แทนที่จะไปออกกำลังกาย ก็มองออกไปที่หน้าต่าง เพื่อดูว่าเสื้อผ้าที่เขาตากเอาไว้นี่มันยังหม่นยังหมองอยู่หรือเปล่า เตรียมจะบ่นอยู่แล้ว ปรากฏว่าคราวนี้เสื้อผ้าที่เห็นที่อีกบ้านหนึ่งเขาตากเอาไว้ มันขาว ผิดจากที่เห็นเมื่อสองวันก่อน ภรรยาก็เลยถามสามีว่า แปลกนะ วันนี้เสื้อผ้าเขาขาวสะอาดเลย คุณไปบอกเจ้าของบ้านหรือเปล่าว่าที่ผ่านมานี่ซักไม่สะอาด สามีซึ่งก็ยังนอนอยู่บนเตียงก็พูดขึ้นมาว่า ผมไม่ได้บอกบ้านนั้นหรอก ผมก็เพียงแต่เช็ดกระจกบ้านเราให้สะอาดเท่านั้นแหละ บ้านนู้นเขาซักเสื้อผ้าสะอาดมาทุกวันเลย แต่ที่ภรรยาเห็นไม่สะอาดเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะกระจกบ้านตัวเองไม่สะอาด อุตส่าห์ไปว่าเขานะว่าซักเสื้อไม่สะอาด แต่ที่จริงกระจกบ้านตัวเองต่างหากที่มันเปื้อนฝุ่น มันมีคราบติด
เรื่องนี้สอนใจได้ดี สิ่งที่เราเห็น บางครั้งมันก็ไม่ได้ตรงกับความเป็นจริง สิ่งที่ภรรยาเห็นก็คือเสื้อผ้าไม่สะอาด แต่ความจริงเสื้อผ้ามันสกปรกหรือเปล่า เสื้อผ้าก็ไม่ได้สกปรก เสื้อผ้าก็ไม่ได้หม่นหมอง ก็สะอาดของอย่างนี้มันทุกวันอยู่แล้ว แต่ว่าที่เธอเห็นว่าเสื้อผ้ามันไม่สะอาดก็เพราะว่ากระจกบ้านของเธอ จะเรียกว่ากระจกนี่มันหลอกตาก็ได้ แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่แค่กระจกที่มันทำให้การรับรู้ของเราผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง มันมีสิ่งที่เรียกว่าสามารถจะหลอกเราได้ยิ่งกว่ากระจกเสียอีก แล้วสิ่งนั้นมันก็อยู่ข้างในใจเรา ก็คือความคิด หรืออคติ เวลาเรามองผ่านกระจกที่มันสกปรกเราก็เห็นอะไรๆที่อยู่รอบตัวเราหรือที่อยู่ข้างหน้าเรามันสกปรกไม่สะอาด ในทำนองเดียวกันเวลาเรามองผ่านความคิดหรือว่าเรารับรู้ผ่านความคิด ไม่ใช่แค่เห็นด้วยตา แต่อาจจะรวมถึงได้ยินทางหู มันก็อาจจะคลาดเคลื่อนก็ได้ เพราะความคิดของเรา โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่าเป็นอคติ คนเราถ้าหากว่ามีอคติแล้ว มองอะไรมันก็จะเห็นผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้
มีเรื่องเล่าว่า ผู้ชายคนหนึ่งไปนอนที่รีสอร์ต แล้วก็ถอดสร้อยทอง มีพระเครื่องบนหัวเตียง ไปกินข้าวไปทำธุระ กลับมาตอนสาย หาไม่เจอละสร้อย สอบถามก็ได้ความว่ามีพนักงานทำความสะอาด มาทำความสะอาดห้องก่อนที่แกจะกลับมา ก็เลยเชื่อเลยว่าเป็นพนักงานคนนี้แหละที่เอาไป แกก็คอยจับตาดู ดูอากัปกิริยาของพนักงานทำความสะอาดคนนี้ ก็พบว่าไม่ว่าเธอจะทำอะไร จะเดินหรือจะพูดจะคุยกับใคร มันมีพิรุธไปหมดเลย บางทีก็เห็นเขาหยิบโทรศัพท์ ก็สงสัยว่าเขาคงจะไปเรียกคนเพื่อที่จะมารับเอาสร้อยไปขายต่อ เวลาพนักงานคนนั้นมาคุยกับเขาก็เห็นท่าทางหลบสายตา มันส่อพิรุธเต็มที่เลยว่าขโมยไปแน่นอนเลย
แต่ว่าในบ่ายวันนั้นเขาก็พบว่าสร้อยคอไม่ได้หายไปไหน มันตกอยู่ข้างเตียง ก็เป็นอันว่าไม่มีใครขโมยไป คราวนี้พอเขาไปเห็น ไปเจอพนักงานทำความสะอาดคนนั้นอีก ก็พบว่าอากัปกิริยาของผู้หญิงคนนี้ก็ดูปกติ เวลาคุยกับเขาก็ดูไม่มีพิรุธอะไร ก็ไม่ได้หลบสายตาอะไรเลย สิ่งที่เขาเห็นเมื่อตอนสายกับตอนบ่ายนี่มันคนละเรื่องกันเลย แต่ที่จริงพนักงานทำความสะอาดคนนั้นก็ทำตัวปกติแหละ ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง ตอนเช้าเดินอย่างไรตอนบ่ายก็เดินอย่างนั้น ตอนเช้าพูดคุยกับเขายังไง ตอนบ่ายก็พูดคุยกับเขาอย่างเดียวกัน แต่สิ่งที่เขาเห็นมันแตกต่าง ระหว่างตอนเช้าก็คือก่อนที่จะพบสร้อย กับตอนบ่ายหลังจากที่พบสร้อยแล้ว ความแตกต่างมันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่ใจของเขา ไม่ได้อยู่ที่อากัปกิริยาของผู้หญิงคนนั้นหรอก คือใจของเขา ทีแรก ตอนเช้าเขาก็สรุปแล้วเขาก็เชื่อว่าผู้หญิงเอาไป แต่พอตอนบ่ายหลังจากที่พบสร้อยแล้วก็รู้แน่ว่าไม่มีใครขโมย ผู้หญิงคนนี้บริสุทธิ์ พอเห็นแบบนี้เข้า สิ่งที่เขาเห็น อากัปกิริยาของผู้หญิงคนนั้นก็เปลี่ยนไป เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีพิรุธ
อันนี้มันเป็นตัวอย่างที่ขี้ให้เห็นว่าคนเรานี่ เพียงแค่รับรู้ด้วยตา มันก็อาจจะไม่ใช่ความจริงที่เราเห็น เพราะว่าคนเรามองผ่านความคิดหรืออคติไม่มากก็น้อย แล้วอคติถ้ามันเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่เราเห็นมันก็ดูเหมือนว่าเป็นจริงเป็นจังมาก ประภาส ชลศรานนท์ พวกเราหลายคนคงรู้จัก เขาเคยเล่าว่าได้มีโอกาสสัมภาษณ์คนที่มาสมัครงาน วันอาทิตย์นั้นสัมภาษณ์ 2 คน วันจันทร์กับวันศุกร์ 2 คนที่มาสัมภาษณ์นี่ก็อายุก็ไล่ๆกัน ก็ประมาณสัก 20 ปลายๆ แล้วก็ผ่านงานมาหลายบริษัทแล้ว คนแรกที่เขาสัมภาษณ์ เขาก็ถามว่าที่ทำงานเก่าเป็นอย่างไร ผู้หญิงคนนั้นก็ตอบทันทีเลยว่า พนักงานที่สำนักงานเก่านี่ไม่ไหวเลย เล่นการเมืองกันเยอะมาก เหยียบหัวคนอื่น ประจบเจ้านาย ไม่มีความสามัคคี ขาดความคิดสร้างสรรค์ แล้วแถมยังแทงกันข้างหลังอีก ฟังแล้วก็ดูมันเลวร้ายมากเลย ไม่กี่วันต่อมาก็สัมภาษณ์ผู้หญิงอีกคนหนึ่ง ประภาสก็ถามประโยคเดียวกันว่าที่ทำงานเก่าเป็นอย่างไร เธอก็ตอบว่า ที่ทำงานเก่านี่ พนักงานนี่ดีมาก มีความเอื้อเฟื้อ มีความสามัคคี มีความเอื้ออาทรกัน เจ้านายก็เป็นกันเองกับลูกน้อง ต่างคนต่างก็ช่วยเหลือกัน คุณประภาสฟังแกก็เลยสงสัยว่าถ้าที่ทำงานเก่าดีแบบนี้ ทำไมมาหาที่ทำงานใหม่ ยังไม่ทันถาม ผู้หญิงคนนั้นก็ตอบเลยว่า ตอนนี้ที่ทำงานเก่าเปลี่ยนลักษณะของธุรกิจแล้ว ซึ่งเธอไม่ถนัด เธอก็เคยคิดว่าออกมาดีกว่า ก็เลยมาสมัครงานกับ workpoint สิ่งที่น่าสนใจคือว่าผู้หญิง 2 คนนี้ทำงานบริษัทเดียวกัน แต่ไม่รู้จักกัน ทำงานบริษัทเดียวกันแต่สิ่งที่ 2 คนเล่านี่มันคนละเรื่องเลยนะ คนหนึ่งก็บอกว่าที่ทำงานเก่านี่เหยียบหัวกัน แทงกันข้างหลัง ประจบเจ้านาย อีกคนหนึ่งก็บอกที่ทำงานดีมากเลย ช่วยเหลือกัน เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน เจ้านายก็ใกล้ชิดกับลูกน้อง ต่างคนต่างช่วยเหลือกันดี มีความสามัคคีกัน
ความจริงเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่ที่เรารู้แน่ๆคือ 2 คนนี้เขามีมุมมองที่ต่างกัน คนแรกนี่ก็คงจะมีทัศนคติหรือมีมุมมองในเชิงลบ อาจจะมีอคติกับเพื่อนร่วมงาน อาจจะมีอคติกับเจ้านายด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เห็นมันเลยแย่ไปหมด เล่นการเมือง เหยียบหัวคนอื่น ประจบเจ้านาย อีกคนหนึ่งเขาอาจจะไม่ได้มีอคติ แต่ว่าอาจจะมองโลกในเชิงโลกสวยก็ได้ ทำงานที่เดียวกันแต่ว่าเห็นต่างกัน เห็นนี่ไม่ใช่ความเห็น แต่ว่าจากสิ่งที่เขาเล่านี่มันคือภาพที่เขาเห็น สิ่งที่เห็นมันแตกต่างกันเพราะอะไร เพราะความคิด เพราะอคติ เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้
เรื่องราวเหล่านี้มันก็สอนใจเราว่า เมื่อเราเห็นอะไร เรารับรู้อะไร เราได้ยินอะไรก็อย่าเพิ่งไปเชื่อว่าสิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราได้ยินเป็นความจริง ความจริงอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่เราเห็นก็ได้ ทั้งๆที่เราก็ไม่ได้ใส่แว่น แต่ว่าสิ่งที่เราเห็นอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะว่าเรามองสิ่งต่างๆภายนอกผ่านความคิดและอคติ รวมทั้งอารมณ์ด้วย อารมณ์นี่ก็สำคัญ เวลาเรามีอารมณ์ เวลาเราดีใจ เวลารู้สึกโล่งโปร่งทำงานเสร็จ โลกดูมันสดใสมากเลย ดูมันสว่างไสว แต่ถ้าเกิดเราว่ามีความเศร้า มีความวิตกกังวล เราจะรู้สึกว่าเช้าวันนั้นมันไม่สดใสเลย ทั้งๆที่อากาศก็ดี แต่ว่าสิ่งที่เห็นด้วยตาหรือรับรู้ด้วยใจมันหม่นหมอง ขนาดวิวทิวทัศน์ เราก็ยังเห็นต่างกันเลย ถ้าหากว่าอารมณ์เราไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจำเป็นที่เราต้องรู้จักระมัดระวังหรือเตือนใจอยู่เสมอว่า สิ่งที่เราเห็น ไม่ว่าจะเห็นคนหรือสิ่งแวดล้อม มันอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงก็ได้ มันก็ต้องรู้จักทักท้วง ต้องรู้จักเผื่อใจไว้บ้าง อย่างไรก็ตาม การรับรู้แม้มันจะไม่ตรงกับความเป็นจริงเพราะความคิดและอคติ มันก็ยังไม่ร้ายเท่ากับว่ามันมีความคิดบางอย่างที่สั่งให้เราลงมือทำ เพราะว่าการที่เราทำตามความคิด ไม่ใช่แค่รับรู้เฉยๆ แต่ตัดสินใจและลงมือทำอะไรบางอย่าง มันอาจจะก่อปัญหาขึ้นมาก็ได้
หลวงพ่อคำเขียนท่านเคยเล่าเมื่อ 20-30 ปีก่อน มีพระใหม่รูปหนึ่ง พี่ชายพามาเพื่อมาปฏิบัติกับท่าน ท่านก็สอนการเจริญสติให้ สร้างจังหวะเดินจงกลม แล้วก็ให้เขาไปปฏิบัติเอง พระใหม่ซึ่งตั้งแต่วันแรกละก็สีหน้าไม่ค่อยดีเท่าไหร่ พอผ่านไปสัก 2-3 วัน ก็มากราบหลวงพ่อว่าจะขอสึก แล้วก็ให้เหตุผลว่าไม่อยากปฏิบัติ เพราะว่าที่มาบวชไม่ได้มาบวชเพื่อปฏิบัติ แต่บวชเพราะว่าพี่ชายขอร้อง ซึ่งตอนนี้ก็บวชแล้ว ทำตามข้อตกลงแล้ว ก็จะขอสึก หลวงพ่อก็ไม่ให้สึกเพราะเพิ่งบวชเพียงแค่ไม่กี่วัน ก็ไล่ให้ไปปฏิบัติ ก็ไปปฏิบัติสักพักกลับมาอีกจะขอสึก ยืนกราน รบเร้าจะขอสึกให้ได้ หลวงพ่อก็ไม่ยอม ก็ให้เขาไปปฏิบัติต่อ ผ่านไปไม่ถึงชั่วโมงก็มาอีก รบเร้าจะขอสึก หลวงพ่อคำเขียน ก็เลยถามว่า อะไรพาให้คุณมาหาผม พระใหม่รูปนั้นคิดสักพักก็บอกว่า ความคิดครับ หลวงพ่อก็เลยถามเขาว่า ถ้ามันคิดแล้วต้องทำตามความคิดด้วยหรือ คนเราถ้าทำตามความคิดทุกอย่างไม่แย่หรือ แล้วท่านก็ปฏิเสธ ไม่ยอมสึกให้ แล้วให้เขาไปปฏิบัติต่อ
วันรุ่งขึ้นเช้าตรู่ ทันทีที่พระรูปนั้นเห็นหลวงพ่อเดินมาที่ศาลาก็รีบเดินมาหาทันที แต่ไม่ได้ขอสึก แต่มากราบขอบคุณหลวงพ่อบอกว่า ถ้าหลวงพ่อไม่ทักท้วงเขาเมื่อวาน ป่านนี้เขาคงเป็นฆาตกรไปแล้ว เพราะเมื่อวานเขาคิดแต่ว่าจะหาทางฆ่าคน 2 คน ระหว่างที่หลวงพ่อให้เขาเดินจงกลม เขาก็คิดว่าจะหาปืน จะหารถจากไหน แล้วฆ่าเสร็จแล้วจะเอาปืนไปซ่อนที่ไหน จะหนีไปที่ไหน ในหัวนี่มันมีแต่เรื่องพวกนี้แหละ แต่เป็นเพราะหลวงพ่อพูดทักท้วง พูดให้เขาทักท้วงความคิดว่า คนเราถ้าทำตามความคิดทุกอย่างมันไม่แย่หรือ ตอนนั้นก็รู้สึกไม่พอใจแต่ว่าตอนหลังก็ได้คิด พอได้คิดก็เลยรู้ว่านี่เราขืนทำตามความคิดเมื่อตอนบ่ายนี่ เราคงเป็นฆาตกรไปแล้ว ก็เลยมากราบขอบคุณหลวงพ่อ สุดท้ายก็ไม่ได้สึก แล้วก็บวชได้อีกหลายปี รู้สึกว่าจะตายคาผ้าเหลืองด้วย
คำพูดของหลวงพ่อนี่สำคัญ คนเรานี่ถ้าทำตามความคิดทุกอย่างไม่แย่หรือ ความคิดนี่ก็มีประโยชน์ มันช่วยในการแก้ปัญหาต่างๆให้กับตัวเราได้หลายอย่าง เราจะทำมาหากินก็ต้องใช้ความคิด เราจะแก้ปัญหาชีวิตก็ต้องอาศัยความคิด แต่ว่าบางครั้ง ถ้าเราไม่ระวังตัว ความคิดมันจะเป็นนายเรา ความคิดนี่มันเป็นบ่าวที่ดี แต่เป็นนายที่เลว เป็นบ่าวที่ดีหมายความว่าถ้าเราใช้มันเป็นนี่ มันก็ทำให้เกิดความสุขความเจริญ ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม ความคิดมันก็พาเรามาที่นี่ พาเรามาปฏิบัติ เพราะเราคิดใคร่ครวญแล้วว่า การปฏิบัติ การเจริญสติ มันมีประโยชน์ การภาวนาเป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้เรามีความสุขสงบเย็น อันนี้ต้องอาศัยความคิดทั้งนั้นแหละ
แต่ถ้าเราปล่อยให้ความคิดเป็นนายเรา คือมันคิดอะไรก็ทำตามมันตะพืดตะพือ อันนี้เราแย่ละ ผู้คนมากมายเสียผู้เสียคนก็เพราะความคิดนี่แหละ ความคิด อย่างน้อยๆมันก็ทำให้เรากินไม่ได้นอนไม่หลับ คนที่นอนไม่หลับเป็นเพราะอะไร เพราะความคิดนี่มันคิดไม่หยุดเลย มันคิดๆๆ ถ้าความคิด เราเป็นนายมัน เราสั่งให้มันหยุดได้ แต่ส่วนใหญ่เราสั่งมันไม่ได้ แต่มันสั่งเรา มันสั่งเราว่าอย่าเพิ่งนอนๆ คิดก่อน คิดเรื่องนี้ก่อน คิดเรื่องลูกก่อน คิดเรื่องพ่อแม่ก่อน คิดเรื่องงานก่อน บางทีมันคิดแล้วโกรธ คิดถึงใครบางคนก็โกรธ เศร้า แล้วคราวนี้พอมันโกรธพอมันเศร้าแล้ว เรื่องใหญ่ละ เพราะว่าความเศร้าความโกรธพอมันมีอำนาจเหนือเรา มันสั่งให้เราทำอะไรได้ร้อยแปด สั่งให้เราทำลายข้าวของ สั่งให้เราด่าว่าลูก สั่งให้เราด่าว่าพ่อแม่ เพราะว่าพ่อแม่ดื้อไม่ทำตามคำแนะนำของเรา บางทีมันสั่งให้เราตบตีคนใกล้ชิด มันสั่งให้เราไปทำสิ่งที่ผิดศีลผิดธรรม สั่งให้เราฆ่าก็ยังมีเลย ก็อย่างที่พระใหม่ ความคิดมันสั่งให้สึกไปเพื่อจะไปฆ่าคน 2 คน อาจจะเป็นเมียหรือชู้ก็ได้ ถ้าเราไม่รู้จักทักท้วงความคิด คิดอะไรไปก็ทำตาม อันนี้แย่เลย แล้วบางที แม้กระทั่งความโกรธ เวลาเราโกรธ มันก็มีเหตุผล ความโกรธมันสั่งให้เราด่า เราก็ทำตาม มีคนหนึ่ง พอแกโกรธปุ๊บแกด่าเลย แกบอกว่าต้องรีบด่าก่อนที่จะหายโกรธ คือถ้าหายโกรธแล้วด่าไม่ออก ความโกรธมันสั่งให้รีบๆด่าเร็ว เดี๋ยวหายโกรธแล้วด่าไม่ออก บางทีไม่มีเหตุผล มันก็โกรธ
คุณหมออมราเล่าว่าสมัยที่ไปปฏิบัติธรรมที่วัดของท่านอาจารย์สิงห์ทอง ตอนนั้นท่านก็อายุประมาณสัก 40 ได้ ก็มีเพื่อนที่ใกล้ชิดกันก็มาปฏิบัติด้วย แต่ว่าเขาต้องกลับก่อน ปฏิบัติได้สักพัก ก่อนกลับก็บอกคุณหมออมราว่า ความโกรธนี่มันไม่ดีเลย ถ้าเมื่อใดเธอเห็นฉันโกรธ ช่วยเตือน หรือว่าช่วยสะกิดหน่อย เสร็จแล้วก็กลับไปดูแลแม่ ผ่านไปหลายเดือนก็มีการเลี้ยงรุ่น เลี้ยงรุ่นเพื่อนเก่าก็มา เพื่อนที่เรียนด้วยกันสมัยเป็นนักเรียนก็มา ก็มีคนหนึ่งบินมาจากอเมริกา คงจะบินมาด้วยเหตุอื่น ไปเมืองนอกสัก 20 ปีได้ ก็มาเลี้ยงรุ่นด้วย เพื่อนคนที่ไปปฏิบัติกับคุณหมออมรา ก็คุยกับเพื่อนที่เพิ่งบินจากอเมริกา คุยไปคุยมาก็ย้อนระลึกถึงความหลังสมัยเป็นวัยรุ่น แล้วเพื่อนที่มาจากอเมริกาก็บอกว่า เธอจำได้ไหมเมื่อ 20 ปีก่อนนี่เธอโกรธฉันมากเลย ไม่รู้ว่าเรื่องอะไร เธอโกรธฉันมากเลย เพื่อนคุณหมออมราคนนั้นก็บอกว่า จำไม่ได้ แต่พอมีเพื่อนมาทักว่าเคยโกรธกันเมื่อ 20 ปีก่อน ปรากฏว่าจู่ๆเธอก็โกรธขึ้นมาเลย ไม่รู้ว่าโกรธเรื่องอะไร แต่ว่าเมื่อ 20 ปีก่อนเคยโกรธมาแล้ว ตอนนี้ขอโกรธต่อ ก็แสดงอาการฉุนเฉียว
คุณหมออมราก็พยายามส่ง Signal ว่าเธอกำลังโกรธแล้ว เพื่อนคนนั้นก็ทำเป็นไม่สนใจ ก็มีอาการฮึดฮัดกับเพื่อนที่เคยโกรธกันเมื่อ 20 ปีก่อน คุณหมออมราก็ถึงขั้นว่าไปสะกิด ปรากฏว่าเพื่อนคนนั้นโกรธมากเลย บอก นี่ถ้าเธอเห็นว่าฉันเป็นคนขี้โกรธ แล้วก็ไม่อยากคบฉัน ก็อย่าคบฉันเลย ไม่ต้องคบฉันแล้วล่ะ ต่างคนต่างอยู่ก็แล้วกัน ไปเลย ทั้งที่ก่อนจะออกจากวัดบอกว่าถ้าฉันโกรธนี่ช่วยสะกิดหน่อยนะ นี่เรียกว่าอะไร ความโกรธมันทำให้ลืมตัว
ความโกรธมันสรรหาเหตุผลมาว่าทำไมควรโกรธ ทั้งที่ไม่รู้ว่าโกรธเรื่องอะไร แต่ว่าขอโกรธต่อไป แต่ดูเหมือนไม่มีเหตุผล แต่มันก็มีเหตุผลของมัน ถ้าเราคิดไม่เป็นมันก็โกรธ แล้วพอโกรธมันก็สรรหาเหตุผล สรรหาความคิดมา เพื่อที่จะให้เราโกรธมากขึ้น เรียกว่าลืมตัว คนเรา ถ้าเราทำตามความคิดและทำตามอารมณ์ มันก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นมาได้ อย่างที่บอก ความคิดมันเป็นบ่าวที่ดีแต่เป็นนายที่เลว เราต้องพยายามที่จะเป็นนายความคิด อย่าให้ความคิดมาเป็นนายเรา เราจะเป็นนายความคิดได้ก็ต้องมีสติ สติช่วยทำให้รู้ทันความคิด มันช่วยทำให้เรารู้จักทักท้วงความคิด ถ้าเราไม่มีสติ มันคิดอะไรไป ความคิดนั้นก็เข้ามาครองจิตครองใจเรา เข้ามาบงการการรับรู้ของเรา ทำให้เห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เห็นอะไรก็ไปสรุปผิดๆพลาดๆ เช่น เห็นเพื่อนกำลังกระซิบกัน พอเขาเห็นเราเขาก็หยุดกระซิบเลย เห็นเท่านี้ก็ไปสรุปแล้วว่าเขากำลังนินทาเรา
พอสรุปแล้วว่าเขานินทา เราก็เริ่มเหม็นหน้า เริ่มไม่พอใจ ความรู้สึกมันเป็นลบเป็นปฏิปักษ์กับสองคนนั้นทันที ทั้งที่บางทีเขาอาจจะกำลังกระซิบเรื่องอื่น อาจจะกระซิบเกี่ยวกับบุคคลที่สาม หรือว่ากระซิบเกี่ยวกับเจ้านาย แล้วก็ไม่อยากให้เรารู้ เผลอๆกระซิบเกี่ยวกับเรื่องจะหาทางช่วยเรา เพราะได้ข่าวว่าพ่อแม่เราป่วยหนัก ก็กำลังคุยกันว่าจะเรี่ยไรเงินมาเพื่อช่วยเป็นค่ารักษาพยาบาลพ่อแม่ก็ได้ แต่ว่าพอเราด่วนสรุปไปแล้ว เราก็เชื่อความคิด อันนี้เรียกว่าความคิดเป็นนายเรา ความคิดมันสั่งว่าสองคนนี้มันเจตนาไม่ดีกับเรา ต้องจัดการกับมัน แต่ถ้าหากว่าเราเป็นนายความคิด มันมีความคิดเกิดขึ้น ก็อย่าเพิ่งไปเชื่อมัน เพราะว่ามันอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เรานึกก็ได้ ความจริงอาจจะแตกต่างจากสิ่งที่เราเห็นก็ได้ ความจริงอาจจะแตกต่างจากความคิดของเราก็ได้ รู้จักทักท้วงมันบ้างโดยอาศัยสติ
คนเรา ถ้าเราจะเจริญสติ จะภาวนา หรือทำกรรมฐาน มันต้องเห็นตรงนี้ คือมันต้องเห็นความคิดชนิดที่ว่าสามารถจะทักท้วงความคิดได้ สามารถที่จะตัดสินได้ว่าความคิดแบบไหนที่มันดี ที่เราจะใช้มันให้เป็นประโยชน์ แต่ความคิดไหนที่มันจะครองจิตครองใจเราแล้วสั่งให้เราทำไปตามอำนาจของมัน เราก็ไม่ทำ โดยเฉพาะถ้ามันสั่งไปตามอำนาจของกิเลส กิเลสบางทีมันก็สรรหาความคิดสรรหาเหตุผลมาเพื่อที่จะหลอกล่อเรา คนที่ผิดศีล คนที่ลักขโมย คนที่ฆ่าคน เราแต่มีเหตุผลทั้งนั้นแหละ เหตุผลดีๆก็เยอะ อย่างผู้ชายคนที่จะสึกไปฆ่าเมียหรือชู้อาจจะคิดว่าต้องไปสั่งสอนมันสักหน่อย จะได้ไม่เป็นเยี่ยงอย่าง อันนี้ก็เป็นเหตุผลของกิเลส เหตุผลของโทสะ ที่มันสามารถจะหลอกล่อให้เราทำชั่ว แล้วก็อาจจะเสียผู้เสียคน อาจจะติดคุกติดตะรางหรือว่าโดนประหารก็ได้ เพราะฉะนั้นให้เราตระหนักว่าความคิดแม้จะดีมีประโยชน์ แต่ก็อย่าไปหลงเชื่อมันมาก หัดทักท้วงหรือว่าหัดใคร่ครวญด้วยสติด้วยปัญญา