แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อวานก็ได้พูดไปแล้วว่า ทุกประสบการณ์และทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรา ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน หรือว่ากำลังเกิดขึ้นกับเราก็ตาม มันล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ มีข้อดีทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองมันอย่างไร หรือว่าใช้มันให้เป็นประโยชน์แค่ไหน มันเกิดอะไรขึ้น แทนที่จะปล่อยให้มันบีบคั้นเราหรือว่าทำให้เราทุกข์ เราก็ต้องรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ อันนี้เขาเรียกว่าเป็นการฉวยโอกาสอย่างหนึ่ง นักภาวนาต้องเป็นนักฉวยโอกาส ใช้การกระทำทุกอย่าง ใช้เหตุการณ์ทุกอย่าง เพื่อการฝึกจิตของเรา โดยเฉพาะการเจริญสติ
ตื่นเช้าขึ้นมาอาบน้ำถูฟัน ก็ฉวยโอกาสเจริญสติไปด้วยในตัว ล้างหน้าก็ล้างหน้าอย่างมีสติ รู้ตัว ถูฟันก็ถูฟันอย่างมีสติมีความรู้สึกตัว เก็บที่นอนก็อย่าเพียงแค่ให้ที่นอนมันเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างเดียว โอกาสนี้มันก็สามารถจะทำให้ใจเราเป็นระเบียบได้ด้วย หากว่าเราทำอย่างมีสติ เวลากินข้าวเราก็ไม่ได้กินแต่ข้าว แต่ว่าเราก็เจริญสติไปด้วย เพื่อทำให้ไม่เพียงแต่มีอาหารไปเลี้ยงกาย แต่ก็ยังมีสติไปหล่อเลี้ยงแล้วก็รักษาจิตใจ อะไรเกิดขึ้นก็เหมือนกัน ไม่ใช่แค่เราทำอะไรเท่านั้น ที่เราสามารถจะเอามาใช้เป็นการเจริญสติหรือฝึกจิตไปด้วยในตัว ไอ้สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราควบคุมบังคับบัญชาได้ ไม่เหมือนการกระทำ อาบน้ำถูฟันนี้เราควบคุมจัดการได้ว่าจะทำเมื่อไร จะทำนานแค่ไหน เพราะมันเป็นเรื่องของความตั้งใจของเรา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส ที่มากระทบกับตาหูจมูกลิ้นกาย ของเหล่านี้มันมาโดยที่เราไม่ได้ควบคุมบังคับบัญชา หรือบังคับกะเกณฑ์ มันมาเอง แล้วก็บ่อยครั้งก็มาในยามที่เราไม่ต้องการ เราก็อย่างมัวแต่ขัดอกขัดใจหรือว่าหงุดหงิดขัดเคือง หรือว่าเป็นทุกข์กับสิ่งเหล่านี้ เราต้องรีบ รีบฉวยโอกาสใช้มันให้เป็นประโยชน์
อย่างบางทีเรานั่งฟังคำบรรยายอยู่อย่างนี้ อาจจะมีเสียงดัง เสียงดังจากข้างนอก เสียงรถยนต์ เสียงคนคุยกันข้างล่าง ถ้าเราวางใจไม่เป็น เราก็จะรู้สึกหงุดหงิดรำคาญ อาจจะรำคาญเพราะว่ามันมีความคิดขึ้นมาว่าทำไมเขาไม่มีมารยาท คุยกันขณะที่เรากำลังฟังคำบรรยาย ทำไมเขาคุยกันโดยไม่รู้จักกาลเทศะ คิดแบบนี้ยิ่งหงุดหงิดยิ่งทุกข์ แล้วก็บางคนอาจจะถึงกับห้ามใจไม่อยู่ อาจจะลงไปต่อว่าคนที่ส่งเสียงพูดคุยกัน หรือถึงแม้ไม่ไปต่อว่าแต่ว่าในใจก็เรียกร้องอยากจะให้เสียงมันหยุดสักที ยิ่งคิดแบบนี้ก็ยิ่งทุกข์ เพราะว่าเสียงมันไม่ยอมหยุด คนยังไม่หยุดคุย เสียงรถยนต์ก็ยังไม่ดับ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เราบังคับบัญชาไม่ได้ เราก็จะยิ่งทุกข์ใหญ่ แต่ถ้าเป็นนักภาวนา จะไม่ปล่อยใจให้ทุกข์ จะรีบฉวยโอกาสเลย แทนที่จะมองว่าเสียงเหล่านี้เป็นสิ่งที่มารบกวนการฟังของเรา หรือรบกวนจิตใจเรา ก็เอามาฉวยใช้ให้เป็นประโยชน์ มาเป็นเครื่องฝึกใจเราซะเลย “เอ้อ...ก็ดีเหมือนกัน เสียงนี้มา มันก็มาฝึกเราว่า เราจะมีสติ รู้ทันใจของเรารึเปล่า”
และเวลาเราส่งจิตออกนอก ด้วยความไม่พอใจ รูป รส กลิ่น เสียง ที่มากระทบกับตัวเราก็ดี หรือว่าส่งจิตออกนอกด้วยความขัดเคืองใจในเหตุการณ์ต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นกับเราก็ดี ในภาวะเช่นนั้น จิตของเรา มันจะเหมือนกับบ้านที่ไม่มีกำแพงหรือไม่มีประตู หรือว่าเมืองที่ไม่มีคนเฝ้า มันจะเปิดจุดอ่อนให้กิเลส ให้ความทุกข์เข้ามาครอบงำย่ำยีได้ง่าย อย่างเช่นพอเราส่งจิตออกนอกไปที่ต้นเสียงที่กำลังพูดคุยกัน หรือว่ารถยนต์ที่กำลังส่งเสียงดัง ตอนนั้นแหละที่ความโกรธ ความหงุดหงิด มันก็จะได้ช่องมาเล่นงานจิตใจเราได้ เราก็จะยิ่งลุกลามเหมือนกับไฟที่ไหม้ป่า มันจะค่อยลามไปเรื่อยๆ ทีแรกก็ขุ่นเคือง ตอนหลังก็หงุดหงิดและต่อไปก็เป็นความโกรธ แล้วก็อาจจะโมโหถึงขั้นหลุดปากด่าไป หรือว่าลงมือทำอะไรบางอย่างที่ไม่สมควร ที่จะต้องทำให้เราเสียใจแล้วก็เดือดร้อน
แต่ถ้าเรารู้จักฉวยใช้สิ่งเหล่านี้ แทนที่จะมองว่ามันเป็นเครื่องรบกวนจิตใจ เป็นสิ่งที่สร้างความรำคาญให้กับเรา ก็มองว่า มันมาเป็นแบบฝึกหัดให้เราได้เจริญสติ ให้เราได้มารู้ทันใจของเรา ให้รู้ทันความหงุดหงิด ความโกรธ หรือว่าให้เรียนรู้ในการทำจิตให้ตั้งมั่น มั่นคง เข้มแข็ง อาจจะฝึกแม้กระทั่งในสิ่งที่มันเป็นเรื่องพื้นฐานก็คือ การข่มใจ อันนี้เป็นความแตกต่างระหว่างคนทั่วไปกับนักภาวนา คนทั่วไปก็คิดแต่ส่งจิตออกนอก และคิดแต่จะไปควบคุมบังคับกะเกณฑ์ สิ่งแวดล้อม ผู้คนให้มันเป็นไปตามใจเราหรือว่าให้มันถูกใจเรา
แต่นักภาวนาจะไม่มุ่งบังคับกะเกณฑ์สิ่งภายนอก แต่มุ่งที่จะมาจัดการกับจิตใจของตัวเอง จัดการนี้ก็ทำได้หลายอย่าง ตั้งแต่ขั้นเบื้องต้นคือข่มใจไม่ให้โกรธ หรือว่าให้มีสติรู้ทันความโกรธ โกรธเกิดขึ้น หงุดหงิดเกิดขึ้นก็ดูมัน ดูรู้แล้วก็วาง รู้แล้วก็วาง ถ้าทำอย่างนี้นอกจากจะไม่ทุกข์แล้ว ก็ยังได้กำไรด้วย การไม่ทุกข์ จิตใจปกติถือว่าเสมอตัว แต่ถ้าเราได้กำไรก็หมายความว่า เรามีปัญญามากขึ้น มีสติไวขึ้น อันนี้เรียกว่าได้กำไร ทั้งๆที่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา มันเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ เป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่นักภาวนาจะไม่ไปมัวสนใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้น มันถูกใจเราหรือไม่ มันดีหรือไม่ มันเหมาะสมหรือไม่ เราจะไม่ไปมัวแต่ติดยึดกับตรงนั้น แต่เราจะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการฝึกใจเรา เพื่อให้ใจเราเป็นปกติ และก็เพื่อให้ใจเรามีปัญญา ปัญญาและสตินี้แหละ ที่จะทำให้จิตใจเรามีความสงบเย็นอย่างแท้จริง ข้างนอกเสียงจะดังยังไง จะมีสิ่งยั่วยุหรือว่าเย้ายวนแค่ไหน ใจก็ไม่กระเพื่อมเพราะมีสติ รู้อาการของใจที่มันไม่ปกติ แค่รู้เท่านั้นใจก็กลับมาเป็นปกติได้ หรือเพราะมีปัญญาที่ให้เห็นว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง เป็นเช่นนั้นเอง
คำว่าเป็นเช่นนั้นเอง ภาษาบาลีว่า ตถตา ตะ-ถะ-ตา เป็นเช่นนั้นเอง ลองมองว่ามันเป็นธรรมดาดูมั่ง อย่ามองว่ามันเป็นปัญหา อะไรก็ตามที่เรามองว่าเป็นปัญหานี่เราทุกข์เลย บางทีก็กระสับกระส่ายงุ่นง่าน โดยเฉพาะถ้าทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเรามองว่ามันเป็นธรรมดา ใจเราก็เป็นปกติ เราจะยอมรับมันได้ ธรรมดากับธรรมะก็เป็นเรื่องเดียวกันนั่นแหละ สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนคือธรรมะ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องธรรมดา ก็คือเป็นเรื่องธรรมชาติเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติ ไม่ว่าคำสรรเสริญหรือคำนินทาก็ธรรมดา ไม่ว่าการมีหรือการหมดก็ธรรมดา เจอแล้วก็จากก็เป็นเรื่องธรรมดา พบกับพรากก็เป็นเรื่องธรรมดา เช่นเดียวกัน เกิดแล้วก็ต้องแก่ เจ็บแล้วก็ตายก็เป็นธรรมดา ความพลัดพรากสูญเสียก็เป็นธรรมดาเหมือนกัน อันนี้ต้องอาศัยปัญญาคือความเข้าใจว่านี้คือความจริง นี้คือสัจธรรม พอเราเข้าใจแจ่มแจ้ง ใจก็เป็นปกติได้ ก็สงบเย็น
มีหลายคนวางใจไม่ถูก อย่างเมื่อสองสามวันก่อนก็ไปพูดที่วัดเบญฯ ก็มีโยมคนหนึ่งก็บอกว่าเวลาภาวนาใจก็สงบดี แต่เวลากลับไปบ้านนี้โอ้ว้าวุ่นเหลือเกิน ไม่รู้จะทำยังไง น้ำเสียงของเขาก็รู้สึกท้อแท้ เหมือนกับว่าอยากจะเก็บตัวอยู่ในวัด แต่ที่จริงแล้ว ถ้าเป็นนักภาวนาที่แท้ ถึงแม้กลับไปบ้าน เจอสิ่งกระทบต่างๆ ก็สามารถเอาอยู่ได้ ไม่ใช่เพราะว่าไปจัดการกับสิ่งนอกตัว ไม่ใช่ไปควบคุมเสียงไม่ให้ดัง ไม่ใช่ไปควบคุมคนไม่ให้พูดร้ายกับเรา ไม่ใช่ไปควบคุมอากาศที่มันร้อนให้กลายเป็นเย็น หรือควบคุมผู้คนให้ทำอะไรถูกใจเรา นัดหมายก็มาตรงเวลา ไม่ใช่ แต่นักภาวนาก็ต้องมาจัดการที่ใจของตัว และการจัดการที่จะช่วยให้ใจเป็นปกติได้คือการมีสติ รู้ตัว เพราะถ้าไม่รู้ตัวเมื่อไร มันจะหลง และมันก็จะส่งจิตออกนอก ถ้ารู้ตัวเมื่อไร ใจมันจะอยู่กับปัจจุบัน ใจมันจะอยู่กับเนื้อกับตัว พอส่งจิตออกนอกเมื่อไร และพอไปติดอยู่กับอารมณ์ที่มากระทบ มันก็จะไม่ไปไหนละ มันก็จะอยู่แต่นอกตัวนั้นแหละ ก็ยิ่งหลงเข้าไปใหญ่เลย ยิ่งไม่รู้เนื้อรู้ตัว ยิ่งปล่อยให้ความโกรธ ความหงุดหงิด ความขุ่นเคืองรวมถึงความอาฆาตพยาบาทเข้ามาครองใจ รวมถึงความเศร้าโศกเสียใจด้วย อันนี้เรียกว่าไม่รู้จักใช้ประโยชน์ จากสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น จากรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรือแม้กระทั่งธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ ธรรมารมณ์นี้ก็รวมถึงอารมณ์และความคิด ความคิดในที่นี้ก็รวมถึงความฟุ้งซ่านด้วย ไอ้ความฟุ้งซ่านถ้าเรามองว่ามันเป็นปัญหา เราก็ทุกข์ หลายคน แม้แต่ภาวนาในวัด ก็ยังภาวนาไม่ค่อยได้เพราะบอกว่าฟุ้งซ่าน นั่งไม่ถึง ห้านาทีก็ฟุ้งซ่านและ ทำให้เลิก ทำให้ไม่อยากปฏิบัติ
อันที่จริงความฟุ้งซ่านไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือความไม่ชอบฟุ้งซ่าน ปัญหาคือความอยากไม่ให้มันฟุ้งซ่าน ความอยากสงบ ความอยากก็เป็นธรรมดาของมนุษย์ แต่พอเราไปยึดติดกับความอยากเข้า มันก็เลยมองเห็นความฟุ้งซ่านเป็นปฏิปักษ์ รู้สึกลบกับมัน ความฟุ้งซ่านไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือความรู้สึกลบที่มีต่อความฟุ้งซ่าน เสียงดังก็ไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือใจที่ไม่ชอบเสียงดัง หรือความรู้สึกลบต่อเสียงนั้น พอรู้สึกลบแล้วมันก็พยายามไปต่อล้อต่อเถียงกับเสียงนั้น พยายามไปกดข่ม พยายามไปต่อสู้ หรือไม่ก็ไปจัดการกับต้นเสียง พอจัดการไม่ได้ก็ยิ่งเป็นทุกข์เข้าไปใหญ่ อันนี้เพราะว่าลืมดูใจ ลืมจัดการที่ใจของตัว แต่ถ้าเราเตือนใจเราอยู่เสมอว่า สิ่งเหล่านี้นี่แหละ มันเป็นการบ้านที่จะมาฝึกใจเราให้มีสติมีปัญญา พูดง่ายๆคือว่าฝึกให้เรารู้จักทำใจ ไม่ต้องฝึกจากไหน ไม่ใช่ฝึกแต่เฉพาะเวลาเดินจงกลมสร้างจังหวะตามลมหายใจ แต่ฝึกตอนที่มันมีเหตุการณ์เหล่านี้แหละเกิดขึ้นกับเรา ฝึกเอาตอนที่มันมีเสียงมากระทบหูเรา หรือว่ามันมีอะไรที่มากระทบกับตัวเราโดยที่เราไม่อยากจะให้มันเกิดขึ้น ไม่ต้องไปจัดการกับสิ่งที่อยู่นอกตัว จัดการกับความอยากที่ไม่อยากให้มันเกิดขึ้น พอเราวางความอยากนั้นลง ความหงุดหงิด ความกราดเกรี้ยว ก็จะบรรเทาเบาบาง ความสงบก็จะตามมา
มีปราชญ์คนหนึ่งชื่อว่า เหลาจื้อ เป็นปราชญ์จีน อยู่ร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า แต่อยู่คนละทวีป เหลาจื้อพูดไว้ดีว่า การรู้ความรู้เรื่องคนอื่น เรียกว่าความชาญฉลาด แต่การรู้จักตัวเอง เรียกว่าเป็นปัญญาที่แท้ การควบคุมบังคับกะเกณฑ์ผู้อื่นเรียกว่าความเข้มแข็ง แต่ว่าการควบคุมจัดการตนเองได้ จึงจะเรียกว่ามีอำนาจ อำนาจที่แท้จริงไม่ใช่ไปควบคุมกะเกณฑ์บังคับผู้อื่น แต่ว่าเป็นการมาจัดการกับตัวเอง อันนี้ก็ตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าชนะผู้อื่นนับร้อยนับพัน ก็ไม่ประเสริฐเท่ากับการชนะตัวเอง ชนะตัวเองหรือชนะใจตัวเอง ที่จริงมันก็คือการชนะกิเลสนั้นเอง รวมถึงการชนะความหลงในใจเราด้วย ทุกครั้งที่เราเป็นทุกข์ ทุกครั้งที่เราโกรธ ทุกครั้งที่เราหงุดหงิด ทุกครั้งที่เราเศร้า อันนั้นเป็นเพราะเราหลง เราลืมตัว มันลืมตัวตั้งแต่ความคิดแล้ว ก็คือแทนที่จะอยู่กับปัจจุบันก็ไปคิดเรื่องอดีตบ้างคิดไปเรื่องอนาคตบ้าง คิดถึงอดีตที่เจ็บปวด คิดถึงอดีตที่สูญเสีย พลัดพราก คิดถึงความล้มเหลว คิดถึงการถูกต่อว่าด่าทอ หรือว่าถูกตำหนิติเตียน ถูกคนอื่นเขาเนรคุณ ทรยศนอกใจ ผ่านไปนานแค่ไหน สิบยี่สิบปีสามสิบปี แต่ถ้ายังมัวแต่คิดถึงมัน ก็จะรุ่มร้อน ก็จะเครียดแค้น ก็จะเกิดความเศร้าโศก ซึ่งล้วนแต่ทำให้ใจเป็นทุกข์ทั้งสิ้น
ทำไมถึงคิดทั้งๆที่มันทำให้ทุกข์ ก็เพราะลืมตัว ก็เพราะหลง เรื่องที่ยังมาไม่ถึง ยังไม่เกิดขึ้นก็เหมือนกัน ยังไม่เกิดขึ้นก็คิดแล้ว คิดเป็นตุเป็นตะก็ทำให้เกิดความกังวล เกิดความกระวนกระวาย เกิดความเครียด เกิดความกลัว อยู่กุฏิคนเดียวมันก็เงียบสงบดี แต่พอใจนึกถึงสัตว์ร้าย นึกถึงงูเงี้ยวเขี้ยวขอ นึกถึงผีสาง นึกถึงคนร้าย ที่อาจจะมาคิดมิดีมิร้ายกับเรา มันยังไม่เกิดขึ้นเลย แต่ว่าปรุงแต่งไป มโนไป สิ่งที่ตามมาคือความกลัว ส่วนใหญ่เวลาเรากลัว เรากลัวสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ความกลัวมักจะเกิดเมื่อเราคิดในสิ่งที่มันยังไม่ปรากฏกับเรา ไม่ว่าคิดว่ามันอยู่ในความมืดนอกกุฏิ หรือว่าสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เป็นสิ่งที่รอเราอยู่ในอนาคตก็ตาม อันนี้เพราะคิด แต่ทำไมถึงคิด ก็เพราะหลง เพราะลืมตัว เสร็จแล้วเป็นยังไง มันก็ทำให้ความทุกข์เข้ามาครอบงำจิตใจ และพอเข้ามาครอบงำจิตใจ ก็ยิ่งหลง ยิ่งลืมตัวเข้าไปใหญ่ จมอยู่ในอารมณ์ซึ่งทำให้ความฟุ้งซ่านมันเพิ่มพูนมากขึ้น ยิ่งคิดหนักถึงอดีต ยิ่งจมลึกถึงเรื่องราวในอดีต หรือยิ่งคิดวกวนกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็ยิ่งทุกข์หนักเข้าไปใหญ่ แต่คนที่เขาฉลาด คนที่มีอำนาจอย่างแท้จริงคือคนที่เขาสามารถที่จะจัดการกับจิตใจของตัวเองได้ ไม่ปล่อยให้ความหลงมันครอบงำใจ ไม่ปล่อยให้ความทุกข์ความโกรธความเศร้ามันมาบีบคั้นทิ่มแทงจิตใจ แทนที่จะไปโทษสิ่งภายนอกว่าทำให้เราทุกข์ทำให้เราโกรธ ก็มาจัดการกับใจของตัวเอง จัดการกับใจก็ไม่ใช่ว่าจะให้วิธีการกดข่มอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องกดข่มความโกรธความเศร้า มันมีประโยชน์เหมือนกัน แต่มีประโยชน์ชั่วครั้งชั่วคราว เช่นถ้าเราโกรธแล้วกดข่มไว้มันก็ทำให้เราไม่พูดอะไรที่ทำให้เกิดความเสียหายทั้งกับตัวเองและคนอื่น หรือไม่ไปลงมือทำร้าย ไม่ว่าจะเป็นข้าวของหรือว่าผู้คน มันก็เป็นการช่วยป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นเฉพาะหน้า กำลังขับรถอยู่แต่ว่าโกรธ อาจจะโกรธเพราะว่ากำลังทะเลาะเบาะแว้งกับคนในรถ หรืออาจจะเพราะกำลังทะเลาะเบาะแว้งกับคนที่อยู่ปลายทางโทรศัพท์ก็ได้ พอโกรธแล้วเป็นไง โกรธแล้วมันก็ลืมตัว มีแม่คนหนึ่งอยู่เมืองนอก โทรศัพท์คุยกับลูก ลูกนี้ก็ดื้อมากไม่ค่อยเชื่อฟังแม่ แม่ก็โทรศัพท์ไปก็ขับรถไป พอโกรธมัน เหยียบคันเร่งเลย ยิ่งโกรธก็ยิ่งเหยียบคันเร่งโดยไม่รู้ตัว ปรากฏว่าฝ่าไฟแดง ฝ่าไฟแดงเมืองนอกฮอลแลนด์เขาปรับหนักมาก โดนปรับไปหลายร้อยยูโร ยูโรหนึ่งก็สี่สิบบาท ก็เรียกว่าเป็นพัน เกือบหมื่น เพราะความโกรธ ความลืมตัว แต่ถ้าเกิดกดข่มความโกรธได้ แม้จะชั่วครั้งชั่วคราวก็ทำให้ไม่ไปเผลอเหยียบคันเร่งจนถูกปรับมากมาย ดีที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ
แต่ว่าการกดข่มยังไม่ใช่วิธีการจัดการกับจิตใจตัวเองที่ดีพอ เพราะว่ากดข่มไปมันหายไปชั่วคราว แต่มันก็ฝังอยู่ในใจ ซุกซ่อนอยู่ในใจ เดี๋ยวมันก็โผล่ใหม่ หลายคนพอกดข่มความโกรธก็รู้สึกเหนื่อย รู้สึกล้า เมื่อวานซืนก็มีคนมาพูดเหมือนกันว่า พอกดข่มความโกรธมันรู้สึกล้า ไม่เหมือนกับระบายความโกรธออกไปนี้มันหายเลย ที่จริงระบายความโกรธไปมันก็ไม่ใช่หายเลย มันทิ้งอนุสัยเอาไว้ มันทิ้งเศษกรรมในใจซึ่งทำให้โกรธง่ายขึ้น ส่วนกดข่มก็ไม่ใช่ กดข่มก็ไม่ใช่วิธีการ เพราะว่ามันทำให้เหนื่อยทำให้เครียดหนักขึ้น
มีวิธีที่ดีกว่านั้นเรียกว่าทางสายกลาง คือรู้ทัน รู้ทันความโกรธ อะไรที่ช่วยให้รู้ทันความโกรธหรือรู้ว่าตัวเองกำลังโกรธอยู่ก็คือสติ ถ้าสติมาไว ความโกรธก็จะไม่ลุกลามใหญ่โต ถ้าลุกลามใหญ่โตก็เพราะรู้ไม่ทัน สติเอาไม่อยู่ เหมือนกับน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟมาก แต่ถ้าสติรู้ทันเร็ว ตอนที่มันเริ่มขุ่นเริ่มมัว เริ่มมีประกายไฟแห่งความโกรธขึ้นมาในใจ เท่านั้นแหละสติก็สามารถจัดการได้ ถ้าเรามีสติไว สะเก็ดแห่งความโกรธมันก็จะไม่ลุกลาม เป็นความโกรธโมโหโกรธา มันจะสามารถจะดับไฟตั้งแต่ยังเป็นแค่สะเก็ดหรือประกายอยู่ อันนี้ก็เป็นวิธีการหนึ่งในการจัดการตัวเอง หรือว่าชนะใจตัวเอง ก็คือชนะความโกรธ ชนะความหลง ชนะความลืมตัว เพราะฉะนั้นเวลามีอะไรมากระทบ และมีความรู้สึกทุกข์เกิดขึ้น ก็อย่ามัวส่งจิตออกนอก ออกไปคิดปรุงแต่งที่จะทำอะไรกับสิ่งภายนอกตัวอย่างเดียว ให้กลับมาดูใจของเราว่าเป็นอย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่ควรทำไม่ใช่เฉพาะพวกเราที่กำลังฟังคำบรรยาย แม้แต่ผู้บรรยายก็เหมือนกัน ถึงเวลาที่เราต้องเป็นผู้พูด การที่คนฟังอาจจะมีบางคนกำลังพูดคุยกัน หรือว่ามีเสียงดังแทรกเข้ามา ก็เป็นโอกาสเหมือนกันในการที่ผู้พูดผู้บรรยายจะได้ฝึกสติไปด้วย
ผู้บรรยายหลายคน เวลามีคนฟังเขาคุยกัน คุยแทรกจะรู้สึกรำคาญมากเลย จะรู้สึกหงุดหงิดมาก บางทีทนไม่ไหวก็ต้องพูดเตือนพูดด่าตรงนั้นเลย เสร็จแล้วก็ไม่มีอารมณ์ที่จะคุยต่อ ที่จริงการมีสติไม่ใช่เป็นหน้าที่ของคนฟังอย่างเดียว คนพูดก็เหมือนกัน ยิ่งบรรยายธรรมแล้ว ยิ่งก็ต้องรู้จักฉวยโอกาส ถ้ามีเสียงดังแทรกเข้ามามีคนคุยกัน ก็ถือว่าเป็นการฝึกสติของผู้บรรยายไปด้วย ว่าทำยังไงถึงจะไม่หงุดหงิดไม่รำคาญ กับภาพที่เห็นกับเสียงที่มันกระทบหู หลายคนพอเจอเหตุการณ์แบบนี้จิตมันจะไปจดจ่ออยู่ที่คนที่กำลังคุยกัน จดจ่ออยู่ที่เสียงที่กำลังแทรกเข้ามา ก็เลยไม่มีสมาธิ การพูดก็เลยไม่ประสบความสำเร็จหรือว่าไม่บังเกิดผล แต่ถ้าเราถือว่าเออนี้เป็นแบบฝึกหัดอย่างหนึ่ง เขาจะคุยก็คุยไปเราไม่สนใจเขาเราสนใจคนอื่นอีกมาก ซึ่งอาจจะมีถึง-98-99% ที่กำลังสนใจฟัง แล้วก็คุยแล้วก็พูดเป็นไปตามที่เห็นสมควร อันนี้ก็ถือเป็นการทำหน้าที่ของผู้บรรยาย แต่ถ้าไม่รู้จักฉวยโอกาส มันก็ทำให้ไม่มีสมาธิกับการพูด เสียทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน การบรรยายมันก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง และปฏิบัติธรรมข้อหนึ่งก็คือว่าทำให้ใจเป็นปกติได้เป็นสมาธิได้ แม้ว่าจะมีคนไม่สนใจฟัง หรือไม่ว่าจะมีเสียงโทรศัพท์ดังเสียงพูดแทรกเข้ามา มันคือการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง มันเป็นโอกาสในการที่จะบำเพ็ญทั้งประโยชน์ตนด้วยประโยชน์ท่านด้วย ประโยชน์ท่านก็คือพูดให้ความรู้ให้ประโยชน์แก่ผู้ฟัง ประโยชน์ตนก็คือว่าฝึกจิตฝึกใจไปด้วยไม่ให้หงุดหงิดไม่ให้รำคาญให้เป็นปกติได้ การฟังก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง การพูดก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ในสมัยพุทธกาลมีบางท่านบรรลุธรรมขณะที่บรรยายไม่ใช่ว่าการบรรลุธรรมจะเกิดเฉพาะเวลาฟังธรรม บรรยายธรรมก็บรรลุธรรมได้
เพราะว่าการบรรลุธรรมมันเกิดขึ้นได้ในทุกโอกาส เพราะฉะนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมนักภาวนาที่นี่ต้องรู้จักฉวยโอกาส ฉวยทุกเวลาฉวยทุกการกระทำ ฉวยทุกเหตุการณ์เพื่อให้เกิดสติให้เกิดปัญญา อย่างน้อยๆการที่ควบคุมจิตใจตัวเองได้มันก็เป็นการที่ฝึกตนที่สำคัญอย่างหนึ่ง เรียกว่าเป็นการฝึกตนที่เรียกว่าประเสริฐกว่าการไปควบคุมบังคับสิ่งต่างๆนอกตัว