แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้เป็นวันสำคัญสำหรับวัดป่าสุคะโตเพราะว่าเป็นวันคล้ายวันเกิดของหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ วันนี้ท่านมีอายุครบ 81 ปี แล้วท่านคงจะมานั่งอยู่ตรงอาสนะที่อยู่ข้างหลังอาตมา เพื่อจะได้สอนธรรมกับพวกเราเหมือนกับที่ท่านเคยทำตลอด 30-40 ปีที่ผ่านมา หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณท่านไม่ได้เป็นผู้ก่อตั้งวัดป่าสุคะโต คนก่อตั้งคือหลวงพ่อบุญธรรมซึ่งทุกวันนี้ยังมีชีวิตอยู่ ท่านอยู่ที่วัดหนองแก อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ แต่ว่าหลวงพ่อคำเขียนมาเป็นผู้สืบทอดแล้ววางรากฐานให้กับที่นี่รวมทั้งพัฒนาให้เป็นอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้
ถ้าไม่มีหลวงพ่อคำเขียนตั้งแต่เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ป่าสุคะโตอาจจะหดหาย ไม่มีความเป็นป่าอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ เพราะว่าสมัยเมื่อ 30 – 40 ปีที่แล้ว มีการบุกรุกแผ้วถาง มีการลักลอบตัดไม้ แล้วมีภัยคุกคามอย่างอื่น เช่น ไฟ หลวงพ่อท่านช่วยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงกำลังสำคัญในการอนุรักษ์ป่าผืนนี้เอาไว้ จนเป็นที่ที่เราได้มาบำเพ็ญภาวนาได้อย่างสงบสุขและเงียบสงัด รวมทั้งมีสิ่งอำนวยความสะดวกพอสมควร หลวงพ่อคำเขียนเป็นพระที่มีหลายมิติ หลายคนรู้จักท่านในฐานะที่เป็นพระกรรมฐาน พระป่า
แต่ว่าตอนที่อาตมารู้จักท่านครั้งแรกเมื่อปี 23 อาตมารู้จักท่านในฐานะที่เป็นพระที่ทำงานพัฒนาชุมชน ตอนนั้นยังคิดว่าท่านเป็นพระบ้าน ซึ่งจะว่าเป็นพระบ้านคงใช่ ตอนนั้นท่านเป็นเจ้าอาวาสที่วัดท่ามะไฟหวาน วัดภูเขาทองเป็นวัดบ้าน หลวงพ่อท่านไปดูแล ที่จริงท่านขึ้นมาที่นี่เพื่อจะมาอยู่วัดป่าสุคะโตตั้งแต่ปี 2519 แต่ตอนหลังโยมที่ท่ามะไฟหวาน นิมนต์ให้ท่านไปช่วยเป็นเจ้าอาวาสที่นั่นตั้งแต่ปี 2520 – 2521 ท่านไปอยู่ที่นั่นประมาณ 4-5 ปี จึงค่อยกลับมาที่นี่ปี 2525
ช่วงที่อาตมารู้จักหลวงพ่อคำเขียน ช่วงที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดภูเขาทอง มีงานหนึ่งที่ท่านเอาใจใส่มาก นอกจากสอนชาวบ้าน แล้วทำให้ชาวบ้านมีความสามัคคีกัน เลิกทะเลาะเบาะแว้ง งานนั้นคืองานศูนย์เด็ก ตอนที่ท่านจัดตั้งศูนย์เด็ก เมื่อปี 2521 ท่านไม่รู้ว่าเป็นศูนย์เด็กแห่งแรกของ จ.ชัยภูมิ และท่านคงจะไม่รู้ว่าเป็นโครงการที่สร้างปัญหาให้กับท่านมาก เพราะว่าตอนนั้นบนหลังเขาเป็นเขตสีชมพู คนรุ่นใหม่สมัยนี้คงไม่รู้จักเขตสีชมพูคืออะไร คือที่ปฏิบัติการของคอมมิวนิสต์ สมัยก่อนบนหลังเขาเป็นพื้นที่ปฏิบัติงานของคอมมิวนิสต์ ถ้าเป็นฐานที่มั่นเขาเรียกว่าเขตสีแดง หรือว่าถ้าเป็นเขตที่มีอิทธิพลกว้างขวางเรียกว่าเป็นเขตสีแดงอันนั้นอันตราย แต่ว่าเขตสีชมพูเป็นที่ที่เขาออกมาปฏิบัติการแต่ว่ายังอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ศูนย์เด็กซึ่งไม่น่าจะมีอะไรนี่แต่ว่าพอเกิดขึ้นจากพระซึ่งอยู่บนเขา ไกลหูไกลตาเจ้าหน้าที่เขาระแวงว่าหลวงพ่อท่านเป็นแนวร่วมกับคอมมิวนิสต์หรือเปล่า ทำไมถึงมาทำกิจกรรมอย่างนี้บนหลังเขา ต้องการสร้างแนวร่วม ต้องการสร้างความนิยมให้กับพวกคอมมิวนิสต์ไหม เพราะว่าสมัยก่อนอะไรตามที่ดี ๆ เช่น โครงการพัฒนา ถ้าหากว่าไม่ได้เกิดจากการริเริ่มของเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐจะระแวงว่ามีแผน มีอะไรซุกซ่อนหรือว่ามีอะไรเบื้องหลังหรือเปล่า อันนี้เป็นสายตาของรัฐสมัยก่อนที่กำลังสู้กับคอมมิวนิสต์
สมัยที่อาตมาขึ้นมาบนหลังเขา ตอนนั้นคุณวณีตอนนี้มาที่นี่ด้วยและในตอนนั้นก็ขึ้นมาด้วย ตอนนั้นเรียนจบไปหลายปีแล้ว ชาวบ้านยังระแวงว่าเราเป็นนักศึกษาหรือเปล่า และคำว่านักศึกษาสมัยนั้นคือซ้าย คือพวกนิยมคอมมิวนิสต์ รัฐจะทำการตรวจสอบจดจ้องเรา ทั้งที่ตอนนั้นขึ้นมาเพราะอยากจะมาช่วยงานหลวงพ่อเรื่องศูนย์เด็ก และอยากจะทำให้มีความมั่นคง ตอนนั้นทราบว่าหลวงพ่อท่านกำลังจะทำสหกรณ์ข้าว สหกรณ์ข้าวคือเป็นร้านค้าที่เอาข้าวมาขายชาวบ้านในราคาที่ไม่แพงนัก เพราะสมัยก่อนข้าวบนหลังเขาแพงมาก เพราะตอนนั้นยังไม่มีถนนจากแก้งคร้อขึ้นมาบนหลังเขา นึกภาพไม่มีถนนเลยจากแก้งคร้อ มีถนนจากแก้งคร้อแต่มาหยุดตรงตีนเขาแล้วที่เหลือต้องปีนเอา เพราะฉะนั้นข้าวจะราคาแพงมาก ชาวบ้านที่ยากจนต้องซื้อด้วยราคาที่แพงเกิดปัญหาหนี้สินตามมา หลังจากที่ศูนย์เด็กของท่านเริ่มจะไปได้ดีมีคนสนับสนุน ท่านเลยอยากทำสหกรณ์ข้าวเลยมาช่วยท่านทำผ้าป่าข้าว ทีแรกคิดว่าจะมาสนับสนุนงานศูนย์เด็กของท่าน เพราะว่าตอนนั้นอาตมาทำเอ็นจีโอแล้วตอนนั้นงานที่ทำคืองานช่วยเหลือเด็กขาดอาหาร พวกเราจะนึกไม่ถึงเมื่อ 40 ปีที่แล้วเมืองไทยซึ่งเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำนี่เด็กขาดอาหารจนตายมีเป็นแสน ที่ทุพพลภาพหรือเจ็บป่วยมีเป็นล้าน เดี๋ยวนี้ภาพนี้เลือนหายไปแล้ว
การที่ได้ขึ้นมาเพื่อช่วยงานหลวงพ่อกลายเป็นจุดเปลี่ยนเพราะทำให้ได้รู้จักท่าน และตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่าท่านเป็นพระกรรมฐาน 3 ปีต่อมาพอคิดจะบวชมีคนมีเพื่อนมาแนะนำว่าบวชกับท่านดีกว่าเพราะว่าท่านเป็นพระกรรมฐาน เขาบวชมาแล้วรู้สึกว่าได้ประโยชน์ อันนี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่ชี้ให้เห็นว่าหลวงพ่อท่านนอกจากเป็นพระกรรมฐานแล้วท่านยังเป็นพระที่ทำงานพัฒนาชุมชนซึ่งแต่ก่อนมีชื่อเสียง พอท่านย้ายมาสุคะโตตั้งแต่ปี 2525 ท่านมีโครงการหลายอย่างเพื่อจะช่วยชาวบ้านให้พ้นจากปัญหาหนี้สิน ตรงจุดที่เรานั่งแต่ก่อนเป็นพุทธเกษตรเป็นพื้นที่ที่หลวงพ่อจัดเอาไว้สำหรับการทำสวน เรียกว่าสวนผลไม้เพื่อส่งเสริมการเกษตรผสมผสาน ท่านอยากให้ชาวบ้านเลิกการปลูกมัน หรือการปลูกพืชเชิงเดี่ยวซึ่งมีแต่ทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้เป็นสินเพราะว่าต้นทุนมากแต่รายได้น้อยราคาไม่แน่นอน สู้ปลูกพืชเพื่อเลี้ยงตัวเองดีกว่าเหลือค่อยขาย ท่านเลยทำเป็นแบบอย่างปลูกพวกไม้ผล เช่น ลิ้นจี่ ลำไย และมีพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับให้ชาวบ้านมาปลูกผัก ชักชวนชาวบ้านมาปลูกผักจะได้พึ่งตัวเอง ไม่ต้องไปซื้ออะไรทุกอย่างจากตลาด สมัยก่อนนี้พริกต้องไปซื้อเอา อยากจะทำส้มตำทุกอย่างต้องซื้อหมดแม้กระทั่งมะละกอ ที่จริงไม่ใช่สมัยก่อนเท่านั้น สมัยนี้เป็นอย่างนั้น ท่านอยากให้ชาวบ้านรู้จักพึ่งตนเองแม้เงินจะน้อย รายได้จะน้อยแต่ว่าจะมีรายจ่ายน้อยด้วยจะไม่เป็นหนี้เป็นสิน ที่นี่เรียกว่าพุทธเกษตร แต่ว่าทำไม่สำเร็จเพราะว่าเหตุปัจจัยหลายอย่าง
ตอนหลังท่านเลยมาทุ่มเทกับเรื่องของการสอนกรรมฐาน พวกเราที่มาที่นี่หลายคนได้ยินกิตติศัพท์ของหลวงพ่อในฐานะที่เป็นพระกรรมฐาน แต่ว่าท่านเคยมีบทบาทในด้านอื่นมาก่อน การที่หลวงพ่อท่านมาอยู่ที่วัดป่าสุคะโตแล้วพยายามที่จะปักหลักที่นี่ จะว่าไปแล้วเป็นสิ่งที่เรียกว่าไม่เหมือนเพื่อนพ้องหมู่มิตรเพราะเพื่อนพ้องหมู่มิตรจะนิยมอยู่วัดแถวๆ เมือง เช่น วัดสนามใน วัดโมกข์ เพราะหลวงพ่อเทียนซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อคำเขียนท่านอยากจะสอนธรรมให้กับคนที่อยู่ในเมือง แล้วพยายามชักชวนหลวงพ่อคำเขียนให้ไปสอนธรรมให้กับคนเหล่านั้นอยู่เนือง ๆ หลวงพ่อท่านไปอยู่ทุกครั้ง แต่ท่านอยากจะมาปักหลักที่นี่เพื่อจะได้ให้เป็นที่สำหรับสอนกรรมฐาน ทีแรกท่านคงอยากจะสอนชาวบ้าน เพราะเห็นว่าชาวบ้านไม่ค่อยมีโอกาสเหมือนคนในเมือง อันนี้แปลก เพราะว่าส่วนใหญ่คนในเมืองจะห่างเหินพระ แต่ว่าพอมีวัดสนามใน มีวัดโมกข์ เป็นที่ที่คนในเมืองจะได้มาปฏิบัติธรรม ท่านนึกว่าอยากให้คนในชนบทพวกบ้านป่าเมืองเถื่อน สมัยนั้นที่นี่เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ได้มีโอกาสได้เรียนรู้ธรรมะบ้าง แล้วไม่ใช่แค่ให้ทาน รักษาศีล แต่ว่าทำกรรมฐานด้วย ท่านพยายามกลับมาหรือเรียกว่าปักหลักที่นี่ แล้วตอนหลังสถานที่ที่ไกลผู้คน ไกลเมือง กลายเป็นที่ที่คนในเมืองจำนวนมากจะเรียกว่าทั่วประเทศก็ได้ ได้หันมาใช้เป็นที่ภาวนา อันนี้อาจไม่ใช่เป็นความตั้งใจแรกๆ ของท่าน ท่านนึกถึงชาวบ้านมากกว่า ท่านอยากจะให้ชาวบ้านได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมเหมือนคนในเมืองบ้าง เหมือนกับที่ท่านเห็นที่วัดสนามใน วัดโมกข์ หรือวัดป่าพุทธยาน ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นแรกๆ ของหลวงพ่อ
ชีวิตท่านจะเรียกว่าเปลี่ยนเพราะกรรมฐานว่าได้ ก่อนที่จะมาบวชพระครั้งที่ 2 คือเมื่อปี 2510 คือเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ท่านเป็นหมอธรรม หน้าที่ของหมอธรรมคือขับไล่ผี จับผี หรือว่าปัดรังควาน เพราะฉะนั้นจะต้องมีความรู้ในเรื่องของเวทย์มนตร์คาถา และที่ท่านเป็นหมอลำ หรือหมอธรรม หรือว่าถ้าพูดภาษาชาวบ้านง่ายๆว่าหมอไล่ผี ส่วนหนึ่งเพราะท่านมีความรังเกียจผีมาก เพราะทำให้ลูกพี่ลูกน้องของท่านตาย ชาวบ้านสมัยนั้นเชื่อว่าเป็นเพราะผีทำ หมอจะขับไล่ยังไงไล่ไม่สำเร็จจนเด็กตาย ท่านเลยแค้นเละเป็นหมอธรรมเสียเอง ทำหน้าที่ไล่ผี แต่ว่ามีใจโน้มเอียงไปทางธรรมะเหมือนกันเพราะเคยบวชเณร พอได้ข่าวว่ามีพระรูปหนึ่งชื่อหลวงพ่อเทียนสอนภาวนาที่น่าสนใจอยู่ที่จังหวัดเลย ท่านอยากไปเรียนรู้ ตอนที่ไปเรียนท่านอึดอัด เพราะสิ่งที่หลวงพ่อเทียนสอนนอกจากจะไม่มีเรื่องของอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เวทย์มนตร์คาถาแล้วยังไม่เน้นความสงบ หลวงพ่อคำเขียนตอนนั้นเป็นโยม ท่านเน้นความสงบมากแล้วบริกรรมจนจิตนิ่งเกิดนิมิตสามารถจะทำให้ตัวนี้ใหญ่คับห้องได้ แล้วความสงบทำให้ท่านติด ท่านเล่าว่าภาวนาจนไม่อยากจะไปทำงานเลย ไม่ว่าจะเป็นทำนาทำไร่หรือว่าไปทำหน้าที่ของหมอธรรม ท่านมี 2 อาชีพ ทำนาด้วย
แต่พอมาปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียนยกมือ 14 จังหวะ เพื่อให้เกิดความรู้ตัว ให้เกิดสติ ไม่เน้นเรื่องความสงบ ไม่ต้องปิดตา เปิดตา ท่านได้เห็นอานิสงค์ แม้ว่าใหม่ๆ ๒-๓ อาทิตย์แรกขลุกขลักมาก หลายคนถ้าเกิดรู้สึกว่าปฏิบัติธรรมยากเพราะอุปสรรคมาก ให้รู้ว่าหลวงพ่อคำเขียนท่านเจอหนักกว่าพวกเราแต่ท่านสู้ไม่ถอยเพราะท่านไม่ยอมแพ้ใครเรียกว่ามีความเพียรมาก ทำให้ท่านได้เห็นอานิสงค์ของการเจริญสติจนกระทั่งตัดสินใจบวช จากฆราวาสมาบวชพระ จากหมอธรรมหันมาเป็นพระกรรมฐาน จากคนที่มุ่งมั่นทำอะไรจะเอาเป็นเอาตายไม่ยอมแพ้ใครกลายมาเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน แต่ก่อนใครทำอะไรได้เท่าไรท่านจะต้องทำให้ดีกว่า ใครเกี่ยวข้าววันหนึ่งได้ห้าสิบกำ ท่านจะต้องให้ได้ร้อยกำ ท่านบอกว่าถ้าท่านไม่ได้มีธรรมะไม่มีกรรมฐานท่านคงตายไปแล้ว เพราะความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะไม่ยอมแพ้ใคร พอได้ธรรมะชีวิตท่านเปลี่ยน จิตใจท่านเปลี่ยนแล้วมาสอนธรรมะให้กับพวกเรา
พวกเรานี่ถ้าว่าใครได้มีโอกาสฟังธรรมจากท่านจะรู้ว่าธรรมะข้อหนึ่งที่ท่านเน้นอยู่บ่อย ๆ คือ เห็นอย่าเข้าไปเป็น อันนี้มีความสำคัญมากทีเดียวสำหรับผู้ปฏิบัติ ไม่ว่าผู้ปฏิบัติใหม่หรือเก่า คนที่ปฏิบัติใหม่ๆ เวลามีอะไรเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นความคิดหรืออารมณ์จะไปพยายามไปกดข่ม พยายามไปผลักไส ซึ่งกลายเป็นว่าหลุดเข้าไปเป็น เห็นความโกรธอยากจะผลักความโกรธ อยากจะข่มความโกรธ เดี๋ยวเดียวกลายเป็นผู้โกรธไปแล้ว แต่ว่าสิ่งที่ท่านสอนคือว่าให้เห็นเฉยๆ ให้เห็น ถ้าใครแยกแยะได้ว่าเห็นกับเป็นต่างกันอย่างไรจะช่วยได้เยอะเลย แต่ถึงจะแยกไม่ออกแต่ว่ารู้หลักเอาไว้ ในที่สุดจะเข้าใจว่าเห็นนี่สำคัญมากทีเดียว เพราะว่าช่วยทำให้อารมณ์ต่าง ๆไม่ว่าบวกหรือลบ ไม่ว่าสุขหรือทุกข์เข้ามาครอบงำจิตใจไม่ได้เจออะไรเห็นอย่างเดียวไม่ต้องไปผลักไสแม้สิ่งที่เกิดขึ้นกับใจนั้น จะไม่ดี เช่นความเครียด ความฟุ้งซ่าน ความโกรธ
คนที่มาปฏิบัตินาทีแรกคิดแต่จะไปกำจัด ไปกดข่มสิ่งเหล่านี้เพราะเห็นว่าไม่ดี ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับการที่ปล่อยใจเผลอ ตอนไม่ปฏิบัติปล่อยใจเผลอไปตามอารมณ์เหล่านั้น ไม่ได้คิดว่าเป็นโทษ พอมาปฏิบัติรู้ว่าไม่ดี พอรู้ว่าไม่ดีตั้งหน้าตั้งตาจะกดข่มอย่างเดียว แต่ท่านสอนว่าให้เห็นเฉยๆ ความเครียดมีเห็นมันเฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรกับมัน อีกคำหนึ่งที่ความหมายใกล้เคียงคือ รู้ซื่อๆ รู้เฉยๆ ซึ่งหลวงพ่อเทียนท่านเอามาย้ำว่าเป็นหลักการปฏิบัติของท่าน ซึ่งมีประโยชน์มากถ้าเรารู้เฉยๆ รู้ซื่อๆ อารมณ์ใดตามเล่นงานเราได้ยาก แต่ถ้าเกิดไม่เข้าใจตรงนี้หรือวางใจไม่เป็นจะเข้าไปกดข่มก็ดี หรือว่าเผลอเข้าไปฟุ้งตามก็ดี ก็เสร็จมัน ถ้าเห็นเดี๋ยวเข้าไปเป็น แม้กระทั่งพระที่มีการปฏิบัติมีประสบการณ์ต้องใช้เป็นหลักในการปฏิบัติ เพราะว่าบางทีเกิดนิมิต เกิดความสงบ เกิดปีติขึ้นมา บางทีมีความรู้เกิดขึ้น ความรู้มากมายที่ไม่นึกไม่ฝัน ไม่คิดว่าจะเจอ ถ้าไม่เห็นจะเข้าไปเป็นเลย บางทีเกิดจินตญาณ บางทีเกิดความหลง ซึ่งเป็นกับดักที่จะต้องเกิดขึ้นกับคนที่ปฏิบัติไปนานๆเขาเรียกว่าเป็นวิปัสสนูปกิเลสอย่างหนึ่งคือมีความรู้ มีอะไรต่างๆ ผุดขึ้นมามากมาย ซึ่งคนที่ถ้าไม่มีสติพอจะไปคิดว่าตัวเองรู้แล้ว ตรัสรู้แล้ว แต่ที่จริงเรียกว่าความหลงอย่างหนึ่ง เป็นอุปกิเลสอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นกับดักของนักปฏิบัติที่จัดเจนแล้ว แต่ถ้าเกิดว่าจำมั่นคงในหลักนี้ เห็นอย่าเข้าไปเป็น จะผ่านไปได้ ผ่านไปตลอด เห็นไม่เข้าไปเป็น เป็นอุบายหรือเป็นวิธีที่จะช่วยให้เราผ่านตลอด ไม่ว่าอารมณ์อกุศล ไม่ว่าอารมณ์กุศลใดๆ ตามที่เป็นกับดักของนักปฏิบัติจะผ่านตลอดได้
คำสอนที่ท่านเน้นอีกอย่างหนึ่งคือ ในทุกข์มีความไม่ทุกข์ ในโกรธมีความไม่โกรธ หรือบางทีท่านพูดว่าเปลี่ยนความทุกข์ให้เป็นความไม่ทุกข์ เปลี่ยนความโกรธให้เป็นความไม่โกรธ อันนี้มีนัยยะว่าความทุกข์ก็ดี ความโกรธก็ดีไม่ใช่เป็นสิ่งที่ต้องผลักไส เราเพียงแค่เปลี่ยนเฉยๆ เปลี่ยนความทุกข์ให้กลายเป็นความไม่ทุกข์ เปลี่ยนความโกรธให้เป็นความไม่โกรธ เปลี่ยนได้เพราะในความโกรธมีความไม่โกรธอยู่ จริงๆ แล้วทุกข์ในคำสอนอริยสัจสี่ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ต้องกำจัด ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ สิ่งที่ต้องกำจัดหรือละคือสมุทัย เพราะฉะนั้นทุกข์เพียงแค่กำหนดรู้ หรือเพียงแค่รู้แล้วพิจารณา จะเป็นประตูไปสู่นิโรธได้ อริยสัจข้อแรกเป็นประตู เป็นช่องทางไปสู่อริยสัจข้อที่ 2 และข้อที่ 3 เจอทุกข์ถ้าเราพิจารณาแทนที่จะผลักไสหรือหันหลังให้มัน จะเห็นสมุทัย แล้วถ้าเราเห็นสมุทัยคือเหตุแห่งทุกข์แล้ว การที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์หรือว่านิโรธก็เฉลยอยู่ในตัว เพราะว่าตัวเหตุแห่งทุกข์บอกวิธีหรือหนทางแห่งความไม่ทุกข์คืออะไร เช่น กิเลส ตัณหา หรือความยึดติดถือมั่นคือสมุทัยที่ทำให้ทุกข์ เพราะฉะนั้นคำตอบแห่งความไม่ทุกข์คือไม่ยึดมั่นถือมั่นหรือปล่อยวาง หรือว่าละกิเลส เพราะฉะนั้นถ้าเราพิจารณาทุกข์เราจะเห็นกุญแจที่จะนำไปสู่ความไม่ทุกข์ คล้ายๆ กับสวิตช์ไฟที่จะทำให้เกิดความมืดในห้องได้ แต่สวิตช์เดียวกันจะทำให้ห้องสว่างก็ได้ กุญแจจะใช้ล็อคห้องหรือว่าจะเปิดให้เราไปสู่อิสระได้ คำตอบหรือคำเฉลยอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าทุกข์ สิ่งที่เรียกว่า ความโกรธ ความหลง ถ้าเราเห็นดูเป็น เราจะเห็นกุญแจสู่ความไม่ทุกข์ สู่ความไม่โกรธ สู่ความไม่หลงได้ เพราะฉะนั้นแทนที่จะไปกำจัด ผลักไส หันหลังให้ ก็ให้รู้จักเห็น รู้จักมอง รู้จักพิจารณา
หรือที่ท่านใช้คำว่าเปลี่ยนทุกข์ให้เป็นความไม่ทุกข์ เปลี่ยนหลงให้เป็นความไม่หลง อันนี้เป็นหลักการปฏิบัติที่มีประโยชน์มาก ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะที่หลวงพ่อคำเขียนใช้คำว่า ไม่เป็นอะไรกับอะไร ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งจะต้องอธิบายมาก ใครที่สนใจไปศึกษาเพิ่มเติม
เนื่องจากวันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดหลวงพ่อ สมัยที่หลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่ท่านไม่อยากให้จัดกิจกรรมอะไรมากมายแม้กระทั่งท่านมรณภาพไปแล้วเราควรจะทำตามสิ่งที่ท่านสอนคือไม่ควรทำให้เป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต ไม่ต้องไปเน้นเรื่องตัวบุคคล แต่ว่าศิษยานุศิษย์อยากจะให้วันนี้มีความหมาย เป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ของท่าน วันสำคัญสำหรับวัดป่าสุคะโตที่สืบเนื่องกับหลวงพ่อคำเขียนมี 2 วัน คือวันเกิด กับวันมรณภาพ วันเกิดคือวันที่ 12 สิงหาคม วันมรณภาพคือวันที่ 23 สิงหาคม วันเกิดท่านวันที่ 12 สิงหาคมที่ทำกันมาต่อเนื่องมาหลายปีคือการปลูกป่า ปลูกต้นไม้ วันนี้เราจะชวนกันไปปลูกป่าที่ภูหลง หลวงพ่อท่านให้ความสำคัญกับภูหลงมากในระยะท้ายของชีวิตท่าน เพราะว่าสุคะโตท่านรักษาไว้ได้ ท่านอยากจะให้ภูหลงเป็นป่าที่ได้รับการอนุรักษ์ 2 พรรษาสุดท้ายท่านไปจำอยู่ที่ภูหลง แต่ว่าท่านชรามากแล้วท่านจึงทำอะไรไม่ได้มากนัก ไม่มากเหมือนกับที่สุคะโต แต่เราสืบทอดเจตนารมณ์ของท่านคือการรักษาป่าที่นั่นเอาไว้ ถือว่าเป็นนิมิตดี
วันคล้ายวันเกิดของท่าน เราไปทำให้ต้นไม้เกิดขึ้นมาก ๆ ทำให้ป่าเจริญงอกงามเยอะๆ เป็นการสนองเจตนารมณ์ของท่าน วันนี้เราจะไปปลูกป่ากันตั้งแต่เช้า ส่วนวันมรณภาพวันที่ 23 สิงหาคมเรามาเน้นเรื่องของธรรมะ วันที่ 12 สิงหาคมเน้นเรื่องธรรมชาติ วันที่ 23 สิงหาคมมาเน้นเรื่องธรรมะ เรื่องกรรมฐาน อีกเรื่องหนึ่งที่ท่านให้ความสำคัญมาก เราจะปฏิบัติกันข้ามคืนเลย เราจะทำให้ความหลงดับไป วันมรณภาพของท่านเราจะมาช่วยกันทำให้ความหลงดับไป ไม่ใช่ความหลงของใคร ความหลงในใจเรา วันที่ 12 สิงหาคมเรามีกิจกรรมตอนเช้าหรือกลางวัน ส่วนวันที่ ๒๓ สิงหาคมเรามากิจกรรมกลางคืน ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม ปฏิบัติข้ามคืนจนกระทั่งไปถึงทำวัตรเช้าวันที่ 23 สิงหาคมซึ่งเป็นวันมรณภาพของท่าน 2 อย่างนี้สำคัญทั้งคู่ ปลูกธรรมะกับปลูกธรรมชาติ ปลูกป่าให้งอกงามแล้วดับความหลงให้หมดไปจากใจ วันเกิดเรามีกิจกรรมกลางวัน วันมรณภาพเรามีกิจกรรมกลางคืน ทั้งหมดนี้เพื่อระลึกถึงท่านเป็นอนุสรณ์ให้กับท่าน และเพื่อความเจริญงอกงามของเราให้สมกับว่าเราเป็นศิษย์ของหลวงพ่อ