แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระสูตรที่สำคัญ จะเรียกว่าเป็นหัวใจของการปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์ก็ว่าได้ อนัตตลักขณสูตรเป็นหัวใจของพุทธศาสนาที่ชี้ให้เราได้เห็นถึงความจริงของสรรพสิ่งที่มันไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน คือเป็นอนัตตา แล้วความจริงนี้ถ้าเข้าใจแจ่มแจ้งก็ทำให้จิตหลุดพ้นจากความยึดติดถือมั่น เพราะรู้ว่าอะไรๆก็ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ก็ไม่รู้จะยึดมั่นไปทำไม ยึดอะไรไม่ได้สักอย่างก็ปล่อยวาง จิตก็หลุดพ้น แต่การที่คนเราจะเห็นสัจธรรมที่ว่า ต้องอาศัยเครื่องมือ ต้องมีวิธีการ แล้วเครื่องมือหรือวิธีการที่จะใช้ทำให้เห็นความจริงที่ว่านี่คือสติ
สติก็เปรียบเหมือนกับตาใน ถ้าเปรียบกับทางวิทยาศาสตร์ก็เหมือนกับเป็นกล้องจุลทรรศน์ที่ทำให้เราได้เห็นความจริงของสรรพสิ่งได้ชัดเจนขึ้น ถ้าเป็นกล้องโทรทรรศน์ก็ทำให้เห็นความจริงของจักรวาลได้ชัดเจนขึ้น แต่นั่นเป็นการมองออกไปภายนอก สตินี้เป็นเครื่องมือที่เอามาใช้ดูความจริงของกายแแล้วใจ แแล้วการที่จะพัฒนาสติให้มีสมรรถนะมากพอที่จะช่วยทำให้เราเห็นความจริงนี่ ก็ต้องอาศัยวิธีการที่เราเรียกว่าสติปัฏฐาน 4 สติปัฏฐาน 4 เป็นวิธีการเพื่อทำให้เราเกิดสติชนิดพิเศษที่เรียกว่า สัมมาสติ หรือบางทีเราก็เรียกว่าเป็นสติปัฏฐาน
สติที่เรามีในชีวิตประจำวัน มันเพียงแค่พอให้เราระลึกได้ เวลาจะกลับกุฏิ ก็จำได้ว่ากุฏิเบอร์อะไร เวลาจะออกจากศาลานี่ก็จำได้ว่ารองเท้าถอดไว้ที่ไหน หรือว่าเวลาออกจากนี่ไปก็จำได้ว่า นัดเจอกันที่ศาลาหน้าเพื่อทำกิจกรรมต่อไป เราใช้สติแบบนี้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน แล้วก็ในการทำงาน ซึ่งช่วยทำให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขตามสมควร แต่ว่าสติที่เรามีแบบนี้มันไม่มากพอที่จะทำให้เราสามารถจะรับมือกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ หรือว่าช่วยป้องกันรักษาใจ ไม่ให้เป็นทุกข์ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ไม่มากพอ ไม่ดีพอที่จะไปพาจิตของเราที่หลงทิศหลงทางให้กลับมาสู่ปัจจุบัน ให้กลับมาสู่กายได้ มันต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่าสัมมาสติ เป็นความระลึกได้ ไม่ใช่ระลึกได้เรื่องนอกตัว แต่ระลึกได้ช่วยให้ไม่ลืมเรื่องกาย เรื่องใจ ลืมอย่างอื่นก็ลืมได้ แต่ว่าอย่าลืมกาย อย่าลืมใจ เพราะว่าถ้าลืมกาย ลืมใจแล้ว มันเปิดช่องว่างให้ความทุกข์เข้ามาจู่โจมเล่นงานจิตใจของเรา
พระพุทธเจ้าเปรียบสติเหมือนกับยามเฝ้าประตูเมือง เมืองก็คือจิตนั่นแหแล้ว เรียกว่าจิตตนคร ถึงแม้จะมีกำแพงสร้างเป็นรั้วรอบขอบชิด แต่ก็ต้องมีประตู ประตูนั้นอะไรๆก็เข้าได้ อยู่ที่ว่าทหารยามจะทำหน้าที่ดีไหม ถ้าทำหน้าที่ดีก็ เสบียงอาหารก็สามารถจะเปิดให้เข้าไปได้ แต่ถ้าเป็นโจรผู้ร้าย เป็นศัตรูก็สกัดกั้นไม่ให้เข้าไป แต่ถ้าสติหรือทหารยามทำหน้าที่ไม่ดี หลับใน หรือว่าอ่อนแอ ผู้ร้าย โจรก็เข้าไปก่อความวุ่นวายให้กับจิตตนครได้ ความทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับใจเรานี้ ถ้าจะว่าไปแล้วก็เป็นเพราะว่าไม่มีสติที่ดีพอในการรักษาใจ หรือว่าการที่เราลืมใจ ปล่อยให้ใจหลงทางไม่รู้ไปอยู่ไหน ก็เพราะสติไม่ทำงานนั่นเอง แต่ถ้าสติดีมันก็ไปพาใจกลับมาสู่ที่ที่ปลอดภัย พาใจกลับมาบ้านได้
ความทุกข์ของคนเรา มันอยู่ที่ใจของเรามันอยู่ที่คุณภาพของสติของเราเป็นอย่างมาก อันนี้สามารถจะพูดได้ครอบคลุมไปทั้งหมดเลย ความทุกข์ใจของคนเรามันเป็นอย่างนั้น หลายคนมักจะคิดว่าที่ตัวเองทุกข์ใจเพราะคนอื่น เพราะเจ้านาย เพราะลูกน้อง เพราะเพื่อนร่วมงาน เพราะคู่รัก หรือว่าเพราะดินฟ้าอากาศ เพราะเศรษฐกิจไม่ดี เพราะการเมืองปั่นป่วนวุ่นวาย แต่ที่จริงแล้ว อันนั้นเป็นแค่ปัจจัยภายนอก ปัจจัยที่สำคัญคือปัจจัยภายใน พวกเราคงเคยได้ยินสำนวนที่ว่า ตบมือข้างเดียวไม่ดัง ตบมือข้างเดียวไม่ดังหมายความว่าไง หมายความว่า ทำฝ่ายเดียวย่อมไม่เกิดผล ส่วนใหญ่เขาใช้สำนวนนี้กับกรณีที่มีการทะเลาะเบาะแว้ง ทะเลาะวิวาทกัน ก็จะพูดว่า อย่าไปโทษใครเลยเพราะว่า ตบมือข้างเดียวไม่ดังหรอก หมายความว่าถ้าฝ่ายหนึ่งเอาแต่ด่าๆ อีกฝ่ายหนึ่งไม่โต้เถียง ไม่ทะเลาะด้วย มันก็ไม่มีเรื่องลุกลามเป็นการวิวาทกันได้
เพราะฉะนั้นที่วิวาทกันเพราะว่าทั้งสองฝ่ายผสมโรง เปรียบเหมือนกับมือสองข้างที่ตบพร้อมกัน มันก็เกิดเสียงดัง แต่ที่จริงตบมือข้างดังไม่ดังมันเอามาใช้ได้กับเรื่องสุข เรื่องทุกข์ของคนเราด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งคือว่าคนเรา เมื่อมีความทุกข์ใจ ไม่ใช่เพราะว่ามีปัจจัยเดียว คือปัจจัยภายนอก มืออีกข้างหนึ่งที่ทำให้เสียงดังก็คือปัจจัยภายใน ที่จริงอย่าว่าแต่ความทุกข์ใจเลย ความเจ็บป่วยมันก็ต้องอาศัยสองปัจจัย ปัจจัยภายนอกเช่น เชื้อโรค หรือว่า สารแปลกปลอม เชื้อโรคเข้ามาในร่างกาย ถ้าหากว่าร่างกายเราซึ่งเปรียบเหมือนกับปัจจัยภายในมีความเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกันที่ดี เชื้อโรคมันก็ทำให้เราเจ็บป่วยไม่ได้
พวกเราในที่นี้ อาตมาเชื่อว่าหลายคนอาจจะมีเชื้อวัณโรคอยู่ แต่ว่าทำไมไม่ป่วย ก็เพราะว่าภูมิคุ้มกันร่างกายของเรามันแข็งแรง ไม่ใช่ว่าจะเจ็บป่วยก็ต่อเมื่อมีเชื้อในร่างกาย อันนั้นเรียกว่าตบมือข้างเดียวไม่ดัง มันต้องมีอีกปัจจัยหนึ่งคือว่า ภูมิคุ้มกันด้วย ร่างกายเรามันไม่ดีด้วย แม้แต่เชื้อเอชไอวี มันก็ไม่ใช่ว่าพอเข้าไปในร่างกายแล้ว ต้องป่วยเป็นเอดส์ทุกคน บางคนก็ไม่เป็นอะไรด้วยซ้ำ เอาเลือดมาตรวจก็เป็นลบ แต่คนแบบนี้มีน้อย แต่ที่เป็นเช่นนั้นก็เป็นเพราะเขามีภูมิคุ้มกันที่ดี แล้วก็เชื่อว่าภูมิคุ้มกันที่ว่ามันก็จะแพร่ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นต่อไป คนที่พอมีเชื้อเข้า เชื้อเอชไอวีเข้าแล้วจะป่วยทันที หรือล้มป่วยในเวลาต่อมา ก็จะมีน้อยลง แต่ว่ายังไงก็คงต้องพึ่งวัคซีน วัคซีนก็ทำหน้าที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายให้มันสามารถจะรับมือกับเชื้อเอชไอวีได้ ต่อไปในภายภาคหน้า เชื้อเข้ามาในร่างกาย คนก็ไม่ป่วยเป็นเอดส์ เพราะว่ามีการเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย คนบางคนพอโดนคีโม เคมีบำบัด หรือว่าโดนฉายแสง ส่วนใหญ่จะแพ้ แต่คนบางคนเจอเคมีบำบัดหรือว่าการฉายแสงในระดับเดียวกัน โดสเดียวกัน แต่ไม่แพ้มาก อันนี้ก็เพราะคนมีปัจจัยภายในไม่เหมือนกัน
ที่จริงแม้แต่บุหรี่ มันไม่ใช่ว่าสูบบุหรี่แล้วทุกคนต้องตายเร็ว ฟิเดล คาสโตร อายุเก้าสิบแล้ว สูบซิการ์วันแล้วไม่รู้กี่มวน ตอนนี้ก็ยังไม่ตาย เติ้งเสี่ยวผิงสูบบุหรี่วันแล้วกี่ซอง สองสามซองกว่าจะตายก็อายุเก้าสิบ แล้วไม่ได้ตายเพราะมะเร็งปอดด้วย แบบนี้ก็มี แต่ว่าส่วนน้อย แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าลำพัง เชื้อโรคก็ดี หรือว่าสารแปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย มันไม่ใช่ว่าเข้ามาปุ๊บจะทำให้ป่วย อยู่ที่ปัจจัยภายในก็คือภูมิคุ้มกันในร่างกายหรือองค์ประกอบภายในร่างกายด้วย
ความทุกข์ใจก็เหมือนกัน ทุกข์ใจนี่อย่าไปโทษภายนอกอย่างเดียว อย่างที่บอกตบมือข้างเดียวไม่ดัง ที่มันดังเพราะมันมีสองมือตบ คือนอกจากปัจจัยภายนอกแล้วก็มีปัจจัยภายในคือใจของเรานี่แหแล้ว ลองสังเกตดู หมั่นพิจารณาดูใจของเรา ทุกครั้งที่มีความทุกข์ใจ มันไม่ใช่เพราะปัจจัยภายนอกอย่างเดียว หลายคนบอกว่าหงุดหงิดเพราะรถติด พูดอย่างนี้มันก็ไม่ถูกทีเดียว เพราะว่าถ้ารถติด แต่ว่าถ้าใจไม่อยากให้ถึงที่หมายเร็วๆ มันก็ไม่ทุกข์หรอก ก็ไม่หงุดหงิด คนเราจะหงุดหงิดได้เพราะ หนึ่งรถติด สอง ใจอยากให้ถึงที่หมายไวๆ หรือถึงที่หมายตามกำหนด หรือมิฉะนั้นก็มีความกลัว กลัวว่าจะถึงที่หมายช้า กลัวว่าจะถึงสาย ถามว่ากลัวเพราะอะไร กลัวเพราะใจมันไปแล้ว มันคิดล่วงหน้าไปแล้ว เหตุการณ์นี้ยังไม่เกิดขึ้น แต่ใจมันคิดไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความอยากให้ถึงที่หมายไวๆ หรือถึงที่หมายทันเวลา ตรงเวลา ภายในเวลา หรือว่าเพราะกลัวว่าจะไปไม่ถึง ไม่ทัน หรือเพราะใจที่คิดไป ปรุงไปล่วงหน้าแล้ว อันนี้คือปัจจัยภายในซึ่งก็เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เรารู้สึกกระวนกระวาย หรือหงุดหงิด มันไม่ใช่เพราะรถติดอย่างเดียว แต่เป็นเพราะใจของเราด้วย ใจที่ปรุงแต่ง ใจที่คิดไปต่างต่างนานา ใจที่มีความอยาก ใจที่มีความกลัว แต่เรามักจะมองไม่เห็นตรงนี้ มองข้ามไป ไปมองแต่ หรือไปโทษแต่รถติดหรือว่าสัญญาณไฟที่มันแดงนานเหลือเกิน
เสียงดังไม่ว่าจะเป็นเสียงโทรศัพท์ที่ดังในห้อง ในศาลา หรือว่าเสียงมอเตอร์ไซค์ที่ดังมาจากข้างนอก มันไม่ทำให้เราหงุดหงิด ถ้าหากว่าใจเราไม่ไปปฏิเสธผลักไสมัน เพียงแค่มีเสียงดังใจไม่ทุกข์หรอก แต่เพราะเราไม่ชอบมัน ใจเรารู้สึกยินร้ายกับมัน ใจไปทะเลาะเบาะแว้งกับเสียงนั้น มันจึงทำให้เราหงุดหงิด
มีเรื่องเล่าว่าสมัยที่หลวงพ่อชาท่านได้รับนิมนต์ให้ไปแสดงธรรมที่ประเทศอังกฤษเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว ตอนนั้นหลวงพ่อสุเมโธก็ไปด้วย ตอนนั้นท่านเป็นพระหนุ่ม เจ้าภาพซึ่งเป็นชาวอังกฤษก็นิมนต์ให้ท่านไปแสดงธรรม แล้วก็พักที่วิหารแฮมสเตท ซึ่งอยู่กลางกรุงลอนดอน ตรงข้ามวิหารเป็นย่านบันเทิง ก็มีผับ มีบาร์ ตอนค่ำจะมีการร้องเพลง มีการเล่นดนตรีกัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่หลวงพ่อชาท่านพาพระนั่งสมาธิ มีวันหนึ่ง อาจจะคงเป็นเย็นวันศุกร์ หรือเย็นวันเสาร์ ขณะที่พระกำลังนั่งสมาธิกับญาติโยม เสียงก็ดังกระหึ่มเข้ามาในศาลา พระหลายรูป ก็นั่งสมาธิไม่เป็นสุขเลย มีความเครียด มีความหงุดหงิดอยู่ข้างใน ส่วนหลวงพ่อชาท่านนั่งสงบเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น พอนั่งสมาธิเสร็จ เจ้าภาพซึ่งเป็นชาวอังกฤษก็เข้ามาหาหลวงพ่อ แล้วก็มาขอโทษว่า ขอโทษที่มีเสียงดังมารบกวนการนั่งสมาธิ
หลวงพ่อชาตอบว่า โยมไปคิดว่าเสียงดังมารบกวนโยม ที่จริงโยมต่างหากที่ไปรบกวนเสียง เพราะโยมไปรบกวนเสียงโยมถึงนั่งสมาธิไม่เป็นสุข หมายความว่าไง หมายความว่าใจของเราไปหรือใจของโยมไปทะเลาะเบาะแว้งกับเสียง มีความรู้สึกลบ มีความรู้สึกผลักไสเสียงนั้น อยากจะให้เสียงนั้นมันหยุด เสียงนั้นมันหมดไปไวๆ ถ้าใจเรานิ่ง มันก็ไม่ทุกข์หรอก เพราะฉะนั้นเวลาหงุดหงิด อย่าไปโทษเสียง ต้องโทษใจเราด้วย ว่าใจเรามันวางไว้ไม่ถูก ใจเราวางผิด แต่เพราะเราไม่ค่อยมาดูใจเราเท่าไหร่ เราก็เลยมองไม่เห็นว่าใจเป็นตัวการอย่างไร แล้วพอมีความทุกข์อย่างไรก็จะไปโทษสิ่งภายนอก
เคยพาคนเดินจงกรม คล้ายๆที่เราเดินเมื่อเช้า แต่ว่าเดินผ่านสวน ถนนก็มีทั้งถนนลาดยาง เทปูน แล้วก็เป็นถนนลูกรัง ก็มีมดไต่ขึ้นมา มันไต่เข้ามาตามขาแล้วก็เข้าไปในร่มผ้า คนที่เดินก็มีความทุกข์มาก หลายคนก็เดินไม่เป็นสุข บางคนก็เอามือปัด พอเดินจบมาคุยกัน ถามเขาว่าทำไมถึงปัด ทำไมถึงปัดมด เขาตอบว่า เป็นเพราะมดมันไต่ตามขา อาตมาบอกว่า ยังตอบไม่ถูก ตอบใหม่ ทำไมถึงปัด คนที่เดินก็งง คนหนึ่งก็พูดขึ้นมาว่า เป็นเพราะว่ามันเจ็บ ถึงปัด ที่จริงเจ็บแล้วมันก็ยังไม่ทำให้ปัด จะปัดมดเพราะว่าอย่างแรกคือมันอยากจะปัด มันต้องมีความอยากก่อนถึงจะปัดใช่ไหม ถ้าไม่อยากมันไม่ปัดหรอก แล้วถามต่อว่าทำไมถึงอยาก ก็เพราะไม่ชอบ ถ้าชอบจะปัดไหม ชอบก็ไม่ปัด เพื่อนเรา พ่อแม่เราเอามือมาแตะ เราปัดไหม เราไม่ปัดหรอกเพราะเราชอบใช่ไหม แต่ที่เราปัดเพราะเราไม่ชอบ ความอยากปัดเพราะมันมีความไม่ชอบ ทำไมถึงไม่ชอบ เพราะว่ามันเจ็บ มดมันกัดแล้วเจ็บ ทำให้เกิดโทสะ ก็ทำให้ไม่ชอบมด ก็ทำให้อยากจะปัดมด ทำไมถึงเจ็บ เพราะมดมันกัด มดมันไต่นี่มันไม่ทำให้อยากจะปัดหรอก มันต้องกัดก่อน ถ้าเราดูจะเห็นว่า ความอยากจะปัด ความไม่ชอบ จึงทำให้ปัด แล้วที่ไม่ชอบเพราะมันเจ็บ แล้วถ้าเราดูดีดี มันไม่ใช่แค่เจ็บอย่างเดียว มันมีความรู้สึกว่ากูเจ็บแทรกอยู่ด้วย ธรรมดาคนที่เจ็บเพราะมด ถ้าสักแต่ว่ารู้สึกเจ็บ มันไม่โกรธ มันไม่รังเกียจมดหรอก ที่โกรธเพราะว่ามันมีความรู้สึกกูเจ็บ มันไม่ใช่แค่เจ็บเฉยๆ มันไม่ใช่มีความเจ็บเกิดขึ้นที่แขนที่ขา มันมีความรู้สึกปรุงขึ้นมาว่ากูเจ็บ ก็เลยโกรธ เป็นโทสะ ทำให้ไม่ชอบ เกิดความยินร้ายแล้วอยากจะปัด ทั้งหมดที่พูดมาเป็นอาการภายในทั้งสิ้น
มันไม่ใช่ว่ามดไต่หรือแม้แต่มดกัดแล้วจึงปัด มันมีปัจจัยภายในที่ตามมาอีก 3 - 4 ปัจจัย เช่น ความรู้สึกว่ากูเจ็บ การเกิดโทสะก็เลยไม่ชอบมด แล้วก็อยากจะปัดมด แต่อยากจะปัดมดแล้วมันไม่ใช่ว่าจะทำให้เราปัดเลยทีเดียว เพราะว่าตอนก่อนเดินจงกรม ก็บอกเขาแล้วว่าให้เดินอย่างสงบ ลำพังแค่อยากจะปัด มันไม่ทำให้ปัดหรอก มันต้องเผลอด้วย เผลอ ลืมสติ ก็เหมือนกับเรา ตรงนี้ อยู่บนนี้ หลายคนอาจจะปวดหนัก ปวดเบา หรือปวดเมื่อยที่แขน ที่ขา แต่หลายคนก็ยังนั่งนิ่งอยู่ เพราะอะไร เพราะรู้ว่า การลุกออกไปถ่ายหนักถ่ายเบา หรือว่าลุกออกไปเหยียดแข้ง เหยียดขา มันยังไม่ใช่เป็นเวลา สติมันเตือนให้เราไม่ลุก ทั้งๆที่เจ็บ ทั้งๆที่ปวด ทั้งๆที่อยาก อยากจะลุก แต่เราไม่ลุก เพราะเรามีสติ เพราะเราระลึกได้ว่ามันยังไม่ใช่เวลา ต้องให้เลิกก่อนถึงค่อยลุก แต่ถ้าลุกไปเลยแสดงว่าอะไร แสดงว่าไม่ใช่มีแค่ความอยาก มันลืมตัวด้วย ไม่มีสติ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าการที่คนเราปัด หรือว่าญาติโยมกลุ่มนั้น ปัด มันไม่ใช่เพราะมดกัดเท่านั้น มันมีเหตุปัจจัยภายในเกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่ความรู้สึกว่ากูเจ็บ แล้วก็โกรธ แล้วก็ไม่ชอบ แล้วก็เลยอยากจะปัด แล้วก็ลืมตัวด้วยว่า กำลังเดินจงกรม ต้องเดินอย่างสงบ สำรวม ก็เลยปัดไปเลย เห็นได้ว่าการที่คนเราทำอะไร มันไม่ใช่เพราะปัจจัยภายนอกอย่างเดียว เพราะปัจจัยภายในด้วย
แต่เป็นเพราะเราไม่ค่อยสังเกต เราไม่ค่อยใช้สติในการพิจารณา เวลาเกิดทุกข์ใจขึ้นมาเราก็โทษ โทษสิ่งภายนอก โทษมด โทษดินฟ้าอากาศ โทษรถติด โทษเจ้านาย โทษลูกน้อง โทษคนที่บ้าน โทษลูก โทษพ่อแม่ แต่เราลืมกลับมาดูใจของเรา สติเป็นตาในที่ทำให้เราเห็นอาการที่เกิดขึ้นกับกายแล้วใจ แล้วทำให้เรารู้ว่า อ๋อ สาเหตุแห่งทุกข์ มันไม่ใช่แค่ปัจจัยภายนอกเท่านั้น อันนั้นเป็นเรื่องรอง ที่สำคัญคือใจของเราต่างหาก ใจที่คิดลบ ใจที่ปรุงแต่ง ใจที่ปล่อยให้มีความยึดติดถือมั่น ใจที่มีการปรุงตัวกูขึ้นมา ถ้าเรารู้ตรงนี้เราจะรู้เลย อ้อ สาเหตุแห่งทุกข์มันอยู่ที่ในใจ แล้วถ้าเรารู้ว่าสาเหตุทุกข์อยู่ที่ข้างใน การที่จะแก้ทุกข์หรือหลุดออกจากทุกข์ มันก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้เพราะว่ามองถูกแล้ว เห็นคำตอบแล้ว หรือว่ามองเห็นสาเหตุที่แท้จริง
การที่เรากลับมาดูใจ กลับมาสังเกตใจของเรา ยิ่งเราสังเกตได้ละเอียดเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งมีโอกาสออกจากทุกข์ได้ง่ายขึ้น ได้ไวขึ้น เพราะทันทีที่เรารู้ว่าที่เราทุกข์เพราะว่าเราไม่ชอบเสียง เพราะใจเรามันไปหงุดหงิดกับเสียง เราเพียงแค่รู้เท่านั้น มันก็ช่วยทำให้ใจเราเป็นปกติได้ เพราะว่าใจเรามีอาการอย่างนั้น เพราะมันลืมตัว เพราะมันหลง หลงนี่มันตรงข้ามกับรู้ ถ้าเรารู้ตัวเมื่อไหร่ การปรุงแต่งหรือการหลง หรือการวางจิตผิดมันก็หมดไป เราทุกข์เพราะเราเผลอไปคิดถึงอดีต หรือว่าเราเผลอไปคิดถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เป็นความไม่ตั้งใจ เป็นความเผลอ อันนี้ก็ลืมตัว จะเรียกว่าลืมใจก็ได้ เพราะตอนนั้นเรากำลังมานั่ง เดินจงกรม เรากำลังนั่งสร้างจังหวะ เรากำลังเดินจงกรม เรากำลังฟังคำบรรยาย แต่ใจมันไปถึงอดีตแล้ว เรียกว่าใจมันหลง เรียกว่าลืมตัว แล้วที่เราปล่อยให้เป็นอย่างนั้นก็เพราะเราไม่มีสติ แต่พอเรามีสติ เราก็ไปเรียกใจกลับมา ใจที่มันหลงจมอยู่ในกับดักแห่งอดีต มันก็จะหลุดจากกับดักนั้น ก็กลับมาสู่ปัจจุบัน กลับมาสู่กาย กลับมาสู่กิจที่กำลังทำในปัจจุบัน จะเรียกว่าพาใจกลับบ้านก็ได้
แต่ก็ต้องเริ่มต้นจากการที่หาใจให้เจอก่อน ใจมันไปอยู่ไหน อยู่ไปกับอดีต หรืออยู่กับอนาคต หรือมันอยู่ในกับดักหรือหลุมแห่งโทสะ แห่งความโกรธ จะทำอย่างนั้นได้ต้องมีสติ เพราะสติเหมือนตาในที่ทำให้เราเห็น ว่าใจมันอยู่ไหน ใจมันกำลังปั่นป่วนหรือว่าหลงทิศหลงทางหรือเปล่า ปัญหาคือคนเดี๋ยวนี้ ไม่ค่อยได้ดูใจของตัวเอง เดี๋ยวนี้ถึงขนาดที่เรียกว่าไม่รู้สึกด้วยซ้ำ บอกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าตอนนี้ตัวเองรู้สึกอย่างไร คนเราถ้าหมั่นมามองใจดูใจ ก็จะตอบได้ว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร แต่เดี๋ยวนี้ คนจำนวนไม่น้อย ถามว่าตอนนี้รู้สึกยังไง ตอบ ไม่ได้ บางทีก็รู้สึกกระสับกระส่าย แต่ตอบไม่ได้ว่า ความรู้สึกข้างใน หรืออารมณ์ข้างในมันเป็นอารมณ์อะไร หงุดหงิด โกรธ กลัว หรือว่าอยาก ตอบไม่ได้ว่าเป็นอารมณ์ชนิดใด หรือบางทีตอบไม่ได้เลยว่าตอนนี้กำลังรู้สึกอย่างไร เดี๋ยวนี้เป็นมาก เป็นเพราะว่าเราส่งจิตออกนอกมากเกินไป เราสนใจสิ่งรอบตัวมากเกินไป จนกระทั่งลืมกลับมาดูใจของเรา ลืมกลับมาสังเกตใจของเรา แล้วบางรายก็เป็นหนัก
มีอาจารย์คนหนึ่งเขาเป็นนักวิชาการด้านประสาทวิทยา เขาเล่าว่า มีคราวหนึ่งทดลองเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์กับสมอง ว่าอารมณ์เช่นความกลัว สัมพันธ์กับสมองส่วนไหน มีการชวนอาสาสมัครมาทำการสแกนสมองโดยใช้เครื่อง MRI แล้วก็ให้ดูภาพที่น่ากลัว มีทั้งภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหว ภาพน่ากลัวก็อาจจะเป็นภาพอุบัติเหตุ คนตาย อาชญากรรม ภาพศพที่เละอะไรแบบนี้ ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งเป็นนักวิจัยในคณะของอาจารย์คนนี้ ดูสักพัก ปรากฏว่าหัวใจเต้นเร็ว ความดันพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจารย์ก็รู้สึกว่าคงต้องหยุดแล้ว เพราะว่าอาการของคนไข้คนนี้แสดงว่าเขากลัวมาก เลยบอกกับผู้หญิงคนนี้ว่า คงต้องหยุดแล้ว ผู้หญิงคนนั้นบอกว่าหยุดทำไม ฉันสบายดีไม่มีอะไรเลย ฉันปกติ อาจารย์บอกว่างงมากเลย เพราะว่าร่างกายของเธอมันฟ้องว่าเธอกลัวมาก หัวใจเต้นเร็ว ความดันขึ้น มันบอกแล้ว แต่เธอไม่รู้ว่าเธอกลัว นี่เป็นกรณีที่อาจารย์คนนี้เขางงมากว่าขนาดกลัว ยังไม่รู้ว่าตัวเองกลัว ยังบอกว่าตัวเองปกติ แสดงว่ามันมีความแปลกแยกกับจิตใจของตัวเอง
ตอนหลังอาจารย์เขาก็มารู้ว่า ผู้หญิงคนนี้ เพื่อนร่วมงานนี่ไม่มีใครชอบสักคน ไม่มีใครอยากจะทำงานกับเธอ ทั้งที่เธอเป็นคนเก่ง ทีแรกใครๆก็นึกว่าเป็นเพราะเธอชอบคุยโม้เรื่องตัวเอง แต่อาจารย์คนนี้เขาคิดว่าเขารู้คำตอบ ก็คือว่าผู้หญิงคนนี้ ขนาดอารมณ์ของตัวเองยังไม่รู้เลย แล้วจะไปรู้อารมณ์ความรู้สึกของคนอื่นได้ยังไง เมื่อไม่รู้อารมณ์ความรู้สึกของคนอื่น ไม่รู้ว่าตอนนี้เขาอยู่ในอารมณ์ใด ก็อาจจะพูด อาจจะทำในสิ่งที่ทำให้เพื่อนร่วมงานนี่ไม่พอใจ อาจจะไม่มีความเกรงใจ อาจจะไปพูดในทางที่ทำให้คนโมโหมากขึ้น คนเราจะสัมพันธ์กันได้มันต้องรู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งตอนนี้รู้สึกอย่างไร กำลังสบาย ผ่อนคลาย หรือว่ากำลังหงุดหงิด กำลังเครียด แต่ถ้าไม่รู้เลย จับอารมณ์ของคนอื่นไม่ได้ แสดงว่ามีปัญหาความสัมพันธ์ และที่จับอารมณ์คนอื่นไม่ได้ ไม่รู้ว่าคนอื่นรู้สึกยังไง เพราะว่าแม้แต่อารมณ์ของตัวเองยังไม่รู้ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่อาจจะเอ็กซ์ตรีม อาตมาคิดว่าคนที่มีปัญหาแบบนี้ ในดีกรีที่น้อยก็มีมาก แล้วเดี๋ยวนี้ไม่ใช่แค่รู้ไม่ทันอารมณ์ของตัว แม้กระทั่งความรู้สึกทางกาย ก็สับสน หรือว่าไม่รู้ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร
อาจารย์คนนี้เขาก็เล่าอีกว่า เขาทำงานกับพวกแพทย์ประจำบ้าน พวกเรสซิเด้นท์ในโรงพยาบาล ก็จะมีแพทย์ประจำบ้านทั้งหนุ่มทั้งสาวหลายคน ทำงานกันดึกมาก บางทีก็มีคนเรียกให้ไปทำงาน ให้ไปผ่าตัด ตรวจคนไข้กลางค่ำกลางคืน แพทย์เหล่านี้พักผ่อนน้อย ไม่ค่อยได้นอน ทำมาติดต่อกันหลายวัน เห็นแล้วก็น่าเป็นห่วง แล้วเขาสังเกตอย่างหนึ่งว่าแพทย์เรสซิเด้นท์เหล่านี้สมมติทำงานจนดึก กว่าจะเสร็จงานก็ตีหนึ่ง ตีสอง ตีสาม คนเหล่านี้พอทำงานเสร็จ ทั้งที่อดนอน แต่พอทำงานเสร็จ ตรงไปที่ไหนรู้ไหม ไม่ได้ตรงไปห้องพักแล้ว ตรงไปร้านฟาสต์ฟู้ด ไปกิน อาจารย์เขางงมากเลย คุณอดหลับอดนอน ทำไมคุณไปกิน แสดงว่าคนเหล่านี้ไม่รู้ ไม่ระลึกรู้ว่า ที่จริงที่ตัวเองมีความทุกข์ มีความไม่สบายกาย มันเป็นเพราะล้า มันเป็นเพราะอดนอน แต่คนได้คิดว่าอาการนี้มันเป็นเพราะหิว ทุกข์เพราะล้า กับทุกข์เพราะหิวนี่ไม่เหมือนกัน แต่พวกเรสซิเด้นท์ แยกไม่ออก คิดว่าที่ฉันเป็นอยู่ตอนนี้เป็นเพราะหิว ก็ไปกินอาหารในฟาสต์ฟู้ด ตีสอง ตีสาม อันนี้แสดงว่าเกิดความแปลกแยกกับร่างกายของตัวเอง ไม่สามารถจะแยกแยะได้ว่าระหว่างความล้ากับความหิวมันต่างกันอย่างไร พอเกิดทุกขเวทนาขึ้น ก็คิดว่าเป็นเพราะฉันหิว ก็เลยไปกิน ผลที่เกิดขึ้นตามมาคืออ้วนเอา อ้วนเอา แล้วเป็นอย่างนี้กันทั้งหมด เป็นกันทั้งนั้น คนที่เขารู้ว่าตัวเองตอนนี้ล้า เขาจะไปนอน แต่คนที่ไม่รู้ว่าตัวเองล้า ก็จะไปกิน อันนี้แสดงถึงความแปลกแยกกับตัวเอง หรือถ้าพูดให้มันถูกต้องคือว่า ไม่รู้ว่าเวทนาที่เกิดขึ้นกับกายของตัวเอง เป็นเวทนาอะไร ล้าหรือหิว
ที่ผ่านมาเราก็สวดไปแล้ว สติปัฏฐานสูตร จะพูดว่าให้รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต ทั้งหมดถ้าเรารู้ดีๆ ก็จะรู้ธรรม แต่เดี๋ยวนี้แม้กระทั่งการรู้กายก็ไม่รู้แล้ว รู้เวทนาก็ไม่ค่อยรู้แล้ว ยิ่งรู้จิตนี่ยิ่งไม่รู้ใหญ่เลยว่าตอนนี้อารมณ์ใด สำคัญกลับมารู้ใจของเรา กลับมารู้เวทนา ต้องอาศัยสติ แล้วถ้าเรามีสติดี มันจะไว แล้วจะรู้ว่าที่เราทุกข์เพราะอะไร จะได้แก้ที่ใจของเราได้ นี่แหละคือวิธีการที่จะทำให้เราสามารถที่จะพาใจกลับมา สามารถที่จะหาใจให้เจอ ถ้าเราไม่หมั่นสังเกตใจเรา ก็ไม่มีทางที่จะหาใจเจอได้