แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คนรุ่นใหม่สมัยนี้ อาจจะไม่เคยได้ยินชื่อ หลวงปู่บุดดา ถาวโร เพราะว่าท่านมรณภาพไปยี่สิบกว่าปีแล้ว ตอนที่มรณภาพอายุ 101 ปี เรียกว่าเป็นพระที่มีอายุยืนนานมาก ท่านเป็นพระแบบโบราณ มีเมตตา อ่อนน้อมถ่อมตนมาก แล้วเชื่อว่าท่านได้เข้าถึงธรรมะขั้นสูง แต่ว่าดูจากภายนอกท่านดูเหมือนกับหลวงปู่หลวงตาธรรมดา มีครั้งหนึ่งท่านได้รับนิมนต์ให้ไปเทศน์ธรรมาสน์คู่ อีกรูปเป็นพระราชาคณะ เป็นพระมหาเปรียญ พระรูปนี้เป็นพระหนุ่ม เห็นหลวงปู่บุดดานึกว่าเป็นพระหลวงปู่ธรรมดา ในใจนึกดูถูกว่าจะมีภูมิรู้แค่ไหนจะมาเทศน์กับตนเอง ซึ่งเป็นเจ้าคุณ แล้วมีความรู้สูงด้านปริยัติธรรม เห็นหลวงปู่บุดดาถามว่าวันนี้หลวงปู่จะเทศน์เรื่องอะไร ท่านตอบว่าเทศน์เรื่องตัวโกรธ เทศน์เรื่องกิเลสตัณหา พระรูปนั้นซักว่าเป็นยังไง ท่านตอบว่าส้นตีน พระองค์นั้นโกรธ ไม่พูดไม่จา แล้วตกลงว่าวันนั้นก็ไม่ขึ้นเทศน์ หลวงปู่บุดดาเทศน์คนเดียว
เทศน์เสร็จลงจากธรรมาสน์ท่านไปขอขมาท่านเจ้าคุณรูปนั้น ซึ่งอายุน้อยกว่าท่านมาก แล้วบอกนี่แหละตัวโกรธเป็นอย่างนี้แหละ หน้าแดงๆ ตัวร้อนๆ ตัวโกรธนี่พอเกิดขึ้นแล้วสู้ใครไม่ได้หรอก จะเทศน์ก็เทศน์ไม่ได้ คอแข็งหมด แล้วขอขมาที่ต้องพูดอย่างนี้เพื่อจะได้รู้จักว่าความโกรธเป็นยังไง เพราะท่านถามเองว่าตัวโกรธเป็นยังไง คนเราจะรู้จักความโกรธได้นี่ต้องเจอด้วยตัวเอง สิ่งที่พูดมาไม่ใช่ความโกรธอย่างแท้จริง แต่เมื่อเจอแล้ว ต้องระวัง เพราะถ้าเราเข้าไปเป็นผู้โกรธจะไม่เห็นความโกรธ หรือไม่รู้จักความโกรธอย่างแท้จริง จะรู้จักความโกรธต้องออกมาจากความโกรธ เห็นความโกรธ ไม่มีความโกรธไม่รู้จักความโกรธ แต่มีความโกรธแล้วเข้าไปเป็น ไม่รู้จักเหมือนกัน ต้องเห็น ถ้าเข้าไปในความโกรธเหมือนกับเราอยู่ในศาลานี้ ไม่เห็นหรอกศาลานี้หน้าตาเป็นยังไง เราจะรู้จักศาลานี้ได้เราต้องเดินออกไปจากศาลา มาเดินหรือมายืนอยู่ไกลๆจะรู้ว่าศาลานี้มีสองชั้น หลังคาเป็นรูปทรงจั่ว อันนี้เรียกว่าเราจะเห็นศาลานี้ชัดเจนเมื่อเราออกไปจากศาลา ถ้าเข้าไปอยู่ข้างในเราไม่เห็นไม่รู้จัก ความโกรธเหมือนกัน เราจะรู้จักความโกรธได้อย่างแรกต้องเกิดให้เราเห็นก่อน แต่ต้องเห็นจริงๆไม่ใช่เข้าไปเป็น
หลวงปู่บุดดา จะว่าไปท่านไม่ใช่เพียงแค่สอนให้คนรู้จักความโกรธ ตัวท่านเองรู้จักดี แล้วสามารถที่จะเอาชนะมันได้ ท่านเล่าว่าตอนที่ท่านบวชใหม่ๆนี่ท่านเป็นคนที่โกรธมากตามประสาวัยรุ่น ตามประสาคนหนุ่ม แต่ว่าท่านพยายามเอาชนะมัน ท่านมีวิธี เอาชนะความโกรธ เวลาโกรธ ท่านจะไหว้พระ ถ้าโกรธหนึ่งครั้งจะไหว้สามครั้ง โกรธสองครั้งไหว้พระหกครั้ง โกรธร้อยครั้งไหว้สามร้อยครั้ง คือเอาจนกระทั่งไม่อยากจะโกรธ เพราะว่าเบื่อที่จะไหว้พระ เบื่อที่จะกราบพระ หรือเพราะว่าการที่กราบไหว้พระบ่อยๆทำให้มีสติรู้ทันความโกรธ คนปกติเวลาโกรธ จะไม่คิดเรื่องการกราบพระ คิดแต่ว่าจะทำสิ่งตรงข้าม คือจะด่า หรือจะทำร้ายคนอื่นได้อย่างไร ตอนนั้นแม้จะเป็นชาวพุทธ แม้จะประกาศตัวว่านับถือพระรัตนตรัย แต่ตอนนั้นไม่ได้นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นึกถึงแต่ว่า กูจะด่ามันยังไงดี กูจะแก้แค้นมันยังไงดี แต่ถ้าเกิดว่าเรานึกว่าโกรธแล้วนี่ต้องกราบพระ การนึกและทำบ่อยๆ ทำให้รู้ทันความโกรธได้ไวขึ้น อย่างน้อยๆความคิดที่จะไปด่าไปทำร้ายน้อยลง เพราะว่าได้สร้างนิสัยใหม่คือหันมากราบพระ กราบจริงๆ อันนี้เป็นการสร้างนิสัยใหม่ให้กับจิตใจ ยิ่งโกรธบ่อยๆ กราบพระบ่อยๆ ใจที่ส่งออกนอกเพื่อที่จะไปตอบโต้แก้แค้น จะเปลี่ยน มาเป็นการกราบพระเพื่อทำให้ใจสงบ
เราลองทำแบบนี้ดูก็ได้ หรือมิเช่นนั้น นึกถึงพระในใจได้ กราบพระในใจ นึกภาวนาพุทโธได้ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ เอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ไม่ใช่เป็นที่พึ่งในความหมายคือกราบไหว้ แต่เอามาใช้ระงับความโกรธ มาระงับกิเลสตัณหา เวลามาเผาลนจิตใจ เวลาบีบคั้นจิตใจนึกถึงเอา อันนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นชาวพุทธ ถึงจะเรียกว่ามีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง
อาจารย์บางองค์ท่านมีวิธีการจัดการความโกรธแปลกๆ หลวงพ่อปาน ท่านเป็นพระรุ่นเดียวกับหลวงปู่บุดดาแต่ว่าอายุไม่ยืนเท่า อายุท่านแค่ 60 มรณภาพแล้ว ท่านเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ท่านเคยเล่าว่าตอนเป็นพระหนุ่ม ท่านเคยไปเรียนหนังสือกับพระรูปหนึ่ง สมัยก่อนพระเราจะเรียนหนังสือได้ไม่ใช่ไปเข้าโรงเรียน ไม่มีโรงเรียน ต้องไปอยู่วัด หรืออยู่สำนักเดียวกับท่านที่จะเป็นครูบาอาจารย์ได้ แล้วครูบาอาจารย์ที่ท่านไปหาคือ หลวงพ่อจีน วัดเจ้าเจ็ด แถวพระนครศรีอยุธยา ท่านสอนหนังสือเก่งแต่ว่าเป็นที่รู้กันว่าเป็นคนที่ดุร้าย โกรธง่าย เวลาลูกศิษย์ ซึ่งคือพระหรือเณร ตอบไม่ถูก หรือไม่ถูกใจท่าน ท่านตบเลย ท่านเป็นคนปากว่ามือถึง แล้วท่านรู้ตัวแบบนี้ไม่ดี เป็นพระนี่สอนเรื่อง โลภ โกรธ หลง แต่ว่ามาแสดงความโกรธ ท่านพยายามหาทางแก้ แต่แก้เท่าไหร่ยังห้ามใจไม่ได้ อันนี้ตรงกับสำนวนที่ว่า ดีชั่วรู้หมดแต่อดใจไม่ได้ รู้ว่าโกรธไม่ดี แต่ห้ามใจไม่ได้ แล้วท่านทำยังไงรู้ไหม เวลาท่านสอนหนังสือ ท่านจะเข้าไปสอนในกรงเหล็ก มีกรงเหล็กอยู่ในศาลา หน้าห้อง เวลาจะสอนหนังสือท่านจะเข้าไปในกรงเหล็กแล้วปิดล็อก ให้ลูกศิษย์ถือกุญแจไว้ แล้วท่านสอนในกรง เวลาลูกศิษย์ตอบไม่ถูก หรือว่าขี้เกียจ ไม่เอาใจใส่ สัปหงกท่านจะโกรธมาก แล้วถ้าห้ามไม่อยู่ ท่านจะโกรธอย่างหนัก บางทีโกรธมากถึงกับจับลูกกรงเขย่า แต่ตัวท่านผอม เขย่าลูกกรงด้วยความโกรธห้ามใจไม่ได้แต่อย่างน้อยห้ามไม่ให้ตัวเองไปทำร้ายลูกศิษย์ได้ด้วยการขังตัวเองไว้ในกรง ลูกศิษย์ยินยอมอยู่แล้ว เพราะถ้าลูกศิษย์ไม่ทำตามเจ็บตัว นี่ก็เป็นวิธีการแปลกๆของหลวงพ่อจีน ซึ่งอย่างน้อยท่านรู้ว่า โกรธไม่ดี แล้วโกรธทีไรมีเรื่องทุกที ท่านพยายามหาทางปิดกั้นโอกาส อันนี้เป็นวิธีที่พวกเราจะเอาไปใช้ได้ อาจจะต้องพลิกแพลง
หลายคนมีความอยาก เป็นคนที่ชอบช็อปปิ้ง ชอบซื้อของ ชอบเข้าห้างมาก เห็นของเขาโฆษณาเป็นไม่ได้ สมัยนี้ไม่ได้โฆษณาตามโทรทัศน์ โฆษณาตามออนไลน์ด้วย เห็นแล้วอยากได้ สมัยนี้ไม่ต้องไปเข้าห้าง ซื้อของทางอินเทอร์เน็ตได้ เพียงแค่มีเครดิตการ์ด หรือบัตรเครดิต แล้วผู้หญิงคนหนึ่ง แกเป็นคนที่ซื้อเยอะมากจนกระทั่งเป็นหนี้ ใช้เงินจนครบวงเงินในบัตรเครดิตแล้ว ไม่มีเงินจ่าย ก็ไปสมัครบัตรเครดิตใหม่ ฝรั่งนี่มีบัตรเครดิตบางคนสิบกว่าใบยี่สิบใบ ที่มีหลายใบเพราะว่าใบหนึ่งหมดวงเงินไปก็ขอบัตรใหม่ ขอวงเงินใหม่ แล้วไม่มีเงินจ่าย เป็นหนี้เรียกว่าหนี้ล้นพ้นตัว แต่ว่าห้ามใจไม่ได้ วิธีแก้เขาทำยังไง เขาเอาบัตรเครดิตใส่ไว้ในน้ำแก้วแล้วเติมน้ำให้เต็มแล้วเอาแก้วน้ำพร้อมบัตรเครดิตใส่เข้าไปในตู้เย็นช่องฟรีซแช่แข็ง เพื่ออะไร เพื่อเวลาเห็นของอยากจะซื้อ อยากจะเข้าห้าง หรืออยากจะสั่งสินค้าทางอินเทอร์เน็ตออนไลน์ ต้องใช้บัตรเครดิตใช่ไหม แต่ว่าเอาบัตรเครดิตออกมาไม่ได้เพราะว่าติดน้ำแข็ง ต้องรอให้น้ำแข็งลายก่อน กว่าน้ำแข็งจะลายสิบนาที สิบห้านาที ถึงจะใช้บัตรเครดิตได้ ถึงตอนนั้นความอยากลดลงแล้ว จะเอาบัตรเครดิตไปละลายในตู้ไมโครเวฟไม่ได้ มันละลายเร็วจริงแต่บัตรเครดิตจะเสียหายด้วยเพราะเป็นพลาสติก อันนี้เป็นวิธี คล้ายหลวงพ่อจีนคือว่าห้ามใจไม่ได้แต่ห้ามพฤติกรรม ทำให้ไม่สามารถจะทำตามความโลภได้สะดวกสบายหรือว่าได้รวดเร็ว กว่าบัตรเครดิตจะใช้การได้ความอยากหายไปแล้ว
หรืออย่างหลวงพ่อจีนที่ท่านห้ามความโกรธไม่ได้แต่ว่าห้ามการกระทำ หรือว่าห้ามพฤติกรรมได้ด้วยการเอาตัวเข้าไปขังอยู่ในกรง แต่ว่าถ้าให้ดี พยายามห้ามใจดีกว่า ทำอย่างที่หลวงปู่บุดดาทำก็ได้ โกรธทุกครั้งกราบพระทุกครั้ง หรือว่าถ้าไม่สะดวกกราบใช้วิธีปรับตัวเองได้ ถ้าโกรธทีไรบริจาคเงินร้อยบาท โกรธหนึ่งครั้งบริจาคหนึ่งร้อยบาท โกรธสองครั้งบริจาคสองร้อยบาท โกรธสามครั้งบริจาคสามร้อย หรือไม่เอาเงินนั้นไปเลี้ยงเพื่อนก็ได้ ทำให้เกิดความสามัคคี เกิดความกลมเกลียวกัน ตัวเองได้กินด้วย ถ้าเอาไปบริจาคตัวเองไม่ได้มีส่วนร่วม แต่ว่าเอาไปเลี้ยงเพื่อน เอาไปสังสรรค์กัน เรียกว่าตัวเองได้ประโยชน์จากเงินที่ถูกปรับด้วย เพื่อนชอบด้วย เพื่อนจะบอกว่าให้โกรธบ่อยๆ จะได้มีเลี้ยง เพื่อนจะได้ให้อภัย โกรธบ่อยๆแต่มีการเลี้ยงกัน ถือว่าให้อภัยได้ ลองปรับตัวเองดูได้ เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยได้