แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คนเราประกอบด้วยกายกับใจ กายมี 2 สภาวะ ตั้งแต่เกิดจนตาย หรือว่าแต่ล่ะวันแต่ล่ะอาทิตย์แต่ละเดือน วนเวียนกันระหว่าง 2 สภาวะ คือตื่นกับหลับ ใจเราก็เหมือนกันมี 2 สภาวะตลอดทั้งชีวิตไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ คนเฒ่าคนแก่ อายุสั้นอายุยืนก็แล้วแต่ มีกันแค่ 2 สภาวะนี้คือ รู้กับหลง ไม่ได้มีอะไรนอกจากนี้
แม้ว่ากายกับใจ ตื่นกับหลับ รู้กับหลง แต่ว่าคนเราตื่นมากกว่าหลับ เราตื่นวันหนึ่งอาจจะ 16ชั่วโมง 18ชั่วโมง ส่วนจิตตรงข้ามเราหลงมากกว่ารู้เวลาที่เรามีความรู้ตัวเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับเวลาที่หลง แม้แต่ในยามตื่นเรายังหลงได้ เราหลงได้ทุกเวลาไม่ต้องพูดถึงตอนหลับ หลับก็หลง เราฝันฟุ้งปรุงแต่งไปสารพัด เวลาตื่นแล้วหลับเราตื่นและหลับเป็นเวลา บางคนอาจจะตื่น 6 โมงเช้า 4 ทุ่มเที่ยงคืนจึงค่อยหลับ บางคนอาจจะตื่นตี 3 และ 3 ทุ่มหลับ เราตื่นเราหลับแต่ละคนไม่เหมือนกันแต่ทุกคนมักจะตื่นและหลับเป็นเวลา ส่วนหลงกับรู้ไม่เป็นเวลา หลงสามารถจะเกิดขึ้นได้ทุกโอกาสทุกเวลา อย่างที่บอกไว้แล้ว แม้กระทั่งเวลาที่ตื่นเราหลงเป็นประจำ
หลับ มีประโยชน์ทำให้ร่างกายได้พักผ่อน ทำให้สิ่งที่เราเรียนรู้มาได้ตลอดทั้งวัน มีการจัดระบบระเบียบ ทุกวันนี้แม้เรายังรู้ไม่แน่ชัดว่า หลับมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไรบ้าง ตอนนี้มีการศึกษาที่ยังไม่จบว่าหลับมีประโยชน์อย่างไร แต่ที่รู้แน่ ๆ คือ ถ้าไม่หลับหรืออดหลับอดนอน ร่างกายและจิตใจก็แย่ เขามีการทดสอบกับสัตว์และกับคนได้ผลตรงกันว่า หลับมีประโยชน์ต่อร่างกายแล้วต่อจิตใจ ถ้าอยากจะทรมานใครสักคน ทำให้เขาไม่หลับไม่นอน เอาน้ำสาด ไม่ได้หลับไม่ได้นอน 4-5 วันหรือเป็นอาทิตย์ เดี๋ยวต้องเผยความลับออกมาหรือต้องสารภาพ คุมไม่ได้แล้วจิตใจ หลับมีประโยชน์
แต่หลงไม่มีประโยชน์มีแต่โทษ เพราะในขณะที่เราเห็นความสำคัญของการหลับ บางคนนอนไม่หลับต้องกินยาให้หลับ แต่ว่าไม่มีใครอยากทำให้ตัวเองหลงมากขึ้น ยกเว้นแต่เวลามีความทุกข์ ต้องพยายามที่จะให้ลืมให้หลง เช่นกินเหล้าหรือเสพยาอย่างที่บอกแล้วว่าคนเราตื่นแล้วหลับเป็นเวลา อันนี้มีเหตุผลคือร่างกายเราจะหลั่งสาร 2 ตัวออกมาทำหน้าที่คุมการหลับและการตื่นของคนเรา และสาร 2 ตัวนี้คอยต่อสู้กัน เขาตั้งชื่อสารตัวที่ทำให้ตื่นว่า ออแรกซิน (orexin) ส่วนสารที่ทำให้หลับ เขาเรียกว่า อะดีโนซิน (adenosine) 2 ตัวออกมาตลอดเวลา แต่ว่าตอนเช้าออแรกซินมากกว่าทำให้เราตื่นแต่ตอนค่ำๆ อะดีโนซินออกมาเยอะทำให้เราหลับ พูดง่ายๆคือว่าตอนเช้าออแรกซินชนะเราตื่น หายง่วงอย่างที่เราตื่นเวลาพระอาทิตย์ขึ้น ไม่ใช่เป็นเพราะว่าพระอาทิตย์อย่างเดียวแต่เป็นเพราะสารตัวนี้ด้วย ถึงแม้พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้นอย่างว่า ตอนนี้บางคนตื่นแล้วเพราะสารออแรกซิน สารตื่นมากกว่า เราก็ตื่น แต่พอตกค่ำอะดีโนซินหรือสารหลับชนะผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ แต่ก็เป็นเวลาเหมือนบางคนที่อาจจะง่วงไม่เป็นเวลาหรือว่าดึกแล้วยังตาค้างตาสว่างอันนี้ก็เป็นส่วนน้อยซึ่งหลายคนต้องพึ่งยาแต่โดยส่วนรวมแล้วสาร 2 ตัวนี้ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะเป็นเวลาตรงข้ามกับหลงกับรู้ หลงกับรู้ ไม่ค่อยเป็นเวลาเท่าไหร่ และส่วนใหญ่หลงจะชนะรู้แพ้อยู่เรื่อยๆ
รู้ในที่นี้คือรู้ตัว หลงคือลืมตัวหรือไม่รู้เนื้อรู้ตัว ตัวหลงฉลาดพยายามที่จะหาทางเข้ามาครอบงำจิตใจเราและขับไล่ตัวรู้ออกไป แม้แต่เวลาเราตั้งใจที่จะมาทำตัวรู้ให้มากขึ้นอย่างเช่นเรามาวัดนี้เราตั้งใจว่าจะทำให้ตัวรู้อยู่กับจิตใจเราไปนานๆ แต่แม้กระทั่งเวลาสวดมนต์น่าจะทำให้เรารู้ตื่นเบิกบานมากขึ้น แต่สังเกตหรือไม่ว่าบ่อยครั้งเราโดนตัวหลงเล่นงาน ปากว่าไป แต่ใจไม่รู้อยู่ไหนไปอยู่ที่บ้านไปหาลูกไปอยู่ที่ทำงาน บางทีไหลไปอดีต พอหลงเข้าอาจจะสวดผิดๆถูกๆ โดยเฉพาะบทสวดที่คล้ายๆกัน พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สวดพุทธังแทนที่จะสวดสังฆัง สวดสังฆังแทนที่จะสวดธัมมัง อันนี้เพราะว่าหลง ยิ่งกว่านั้นเวลาเรามาจะเจริญสติทำความรู้สึกตัวด้วยการยกมือสร้างจังหวะ หรือการเดินจงกรม ทั้งๆที่ตั้งใจแล้วว่าจะรู้ตัวให้ได้หรือมาเพื่อทำให้ความรู้ตัวเกิดขึ้น แต่หลงใจลอยไปไหนไม่รู้ เดินยังไม่รู้ว่าเดินหรือรู้บ้างหลงบ้างสลับกันไป แต่ส่วนใหญ่จะหลงมากกว่ารู้แต่ที่จริงแค่เราสังเกต หรือพบว่าแม้แต่สร้างจังหวะ เดินจงกรมยังหลงแล้วหลงมากกว่ารู้แค่นี้ถือว่าดีแล้วเพราะนี่คือบันไดขั้นต้นของการทำตัวรู้ให้มากขึ้น
เรามาปฏิบัติเพื่อให้ตัวรู้มากกว่าตัวหลงจนกระทั่งถึงที่สุดแล้วหลงไม่มีอยู่ในจิตใจ เรียกว่าจิตสว่าง สว่างไม่มีแม้กระทั่งเงาและซอกมุมที่ตัวหลงจะซุกซ่อนได้คือจิตของพระอรหันต์ หรือพระพุทธเจ้า แต่ว่าจิตของปุถุชน จะมืดมากกว่าสว่างอาจมีความสว่างอยู่บ้างแต่ว่าความมืดมากกว่า หรือถ้ามองในแต่ละขณะหลงจะเกิดขึ้นมากกว่ารู้เราหลงได้แม้กระทั่งในเวลาพูดคุยกับคน ขับรถ หรือหลงกระทั่งเวลาทำงาน ขับรถอาจจะขับถูกทาง ถึงที่หมายได้แต่อันนั้นเป็นเพราะความเคยชินมากกว่า ขับไปเส้นทางนี้เป็นประจำทุกวันทั้งเดือนทั้งปีและถึงแม้ว่าในขณะที่เรากำลังหลงขณะขับรถ เช่นอาจจะฝันฟุ้ง ใจลอยคิดโน่นคิดนี่หรือคุยโทรศัพท์เรายังไปถึงที่หมายได้อันนั้นไม่ใช่ว่าเพราะเรารู้ตัว รู้ตัวบ้างเป็นพักๆ ไม่ใช่ว่าหลงตลอดรู้ตัวเป็นพักๆ แต่ว่าหลงมากกว่ารู้ก็ยังทำให้เราถึงที่หมาย คุยกับคนยังคุยรู้เรื่องเขาพูดอะไรมาได้ยินแล้วตอบโต้ได้แต่สังเกตว่าหลายครั้งเราพูดด้วยความหลง เช่นคุยแล้วเพลินอยู่ในรถหรือในวัดยังคุยฟุ้งไปได้ทั้งวันอันนี้เรียกว่าเพลิน หลง ฟุ้ง อย่างนี้เรียกว่าไม่รู้ตัว
ไม่รู้ตัวในทางธรรมะกับไม่รู้ตัวในทางโลกหรือทางการแพทย์ต่างกัน ทางการแพทย์คนที่ไม่รู้ตัวคือคนที่โดนดมยาสลบ หรือว่าช็อก โคม่าหรืออาจจะรวมไปถึงคนที่เป็นบ้าวิกลจริต พวกนี้เขาเรียกว่าคนไม่รู้ตัว ทำอะไรเขาไม่ถือโทษแต่ถึงแม้ว่าไม่ได้อยู่ในภาวะเช่นนั้น ไม่ได้เป็นบ้า ไม่ได้สลบหรือช็อก ยังทำอะไรได้เป็นเรื่องเป็นราว ในทางการแพทย์เขาถือว่าอย่างนี้รู้ตัวแล้วแต่ในทางพุทธศาสนาอาจจะไม่รู้ตัวก็ได้อาจจะหลงก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าหลงแล้วทำอะไรถูกได้อย่างไร คงคล้ายๆกับคนที่ละเมอที่เขาสามารถจะเดินลงบันไดเดินออกนอกบ้านหรือเปิดประตูได้ เหมือนกัน คนละเมอ เขาทำอะไรได้ถูกเหมือนกันแต่เรารู้ว่าเขาหลับตอนนั้นเขาอยู่ในภาวะหลับแต่ว่าเขาอาจจะนึกฝันอะไรได้ราวกับว่าตื่น อาจจะฝันว่ากำลังตื่นอยู่แต่ว่าเขาหลับทั้งที่หลับยังทำอะไรได้ถูก แต่นั้นเรียกว่าหลงและถึงแม้ว่าเราลืมตาอยู่เรายังหลงได้และถ้าเราปล่อยให้ตัวหลงครองใจไปเรื่อยๆยิ่งอายุมากยิ่งหลงมาก หลงในที่นี้ ไม่ใช่แค่หลงลืมอันนั้นเป็นเรื่องของสมองเรื่องของร่างกาย แต่ที่แย่กว่านั้นคือการเป็นคนเจ้าอารมณ์ ไม่รู้ตัว ถูกอารมณ์ครอบงำไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเกลียด ความหวงแหนหรือว่าความซึมเศร้า คนจำนวนไม่น้อยยิ่งอายุมากยิ่งหลง พอหลงแล้วก็ทุกข์ ตัวเองทุกข์ไม่พอสร้างความทุกข์ให้กับคนอื่นบางคนก็มาเป็นเรื่องของคนเจ้าอารมณ์ หงุดหงิดบางคนวิตกกังวลหนัก เพราะห่วงลูก ห่วงหลาน อันนั้นเรียกว่าหลงเหมือนกัน ความหลงน่ากลัวตรงที่ว่าพอหลงแล้วไม่รู้ตัวไม่รู้ว่าหลง จะมองข้ามหรือว่าดูแคลนความหลงนี้ไม่ได้
คนเราแม้จะเรียนสูงแค่ไหน แต่ถ้าหลงหรือลืมตัวแม้เพียงชั่วขณะเดียว พาชีวิตสู่ความพินาศได้ มีคำพูดว่า ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด อันนี้สุนทรภู่กล่าวไว้นาน 200 ปี แล้ว ความรู้ท่วมหัวหมายถึงรู้ทางโลก แต่ว่าไม่มีความรู้ตัวเอาตัวไม่รอดเพราะตอนนั้นหลง หลงในอารมณ์เช่นอาจจะโกรธฉับพลัน หรือท้อแท้สิ้นหวังอย่างรุนแรง พอโกรธชั่ววูบเท่านั้นก็สามารถทำให้ชีวิตพินาศไปได้ เช่นไปฆ่า ไม่ใช่ฆ่าเพื่อนบางทีฆ่าคนรัก หรือบางทีไปฆ่าลูกหรือหนักกว่านั้น ฆ่าพ่อฆ่าแม่ เรียกว่าลืมตัวชั่วขณะ แต่ที่จริงจะพูดว่าลืมตัวชั่วขณะอาจจะไม่ถูกทีเดียวเหมือนกับว่าเพิ่งมาลืมตัวตอนนั้นที่จริงลืมตัวมาต่อเนื่อง แต่ว่ายังไม่หนักหนาเท่ากับชั่วขณะนั้น เช่น อาจจะโกรธบันดาลโทสะ ทำร้ายเขา บางทีความโลภก็มี ลูกฆ่าพ่อฆ่าแม่เพราะอยากได้มรดกเคยเป็นข่าวมาแล้ว เมื่อความอยากครอบงำผสมกับความโกรธความเกลียด ความน้อยเนื้อต่ำใจ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเพราะรู้สึกว่าพ่อ แม่ รักลูกคนอื่นมากกว่าตัวเอง พ่อ แม่ ไม่เป็นธรรม ความโลภผสมกับความโกรธ ความเกลียดทำให้เกิดบันดาลโทสะ แต่บางทีไม่ใช่บันดาลโทสะทีเดียว เพราะมีการวางแผนล่วงหน้าไว้ก่อนก็มี
คนเราแม้จะรู้ผิดชอบชั่วดีแต่บ่อยครั้งเผลอทำสิ่งไม่ดี เพราะความลืมตัว อย่างที่เขาพูดว่า ดีชั่วรู้หมดแต่อดใจไม่ได้ อดใจไม่ได้เพราะตอนนั้นความโลภครองใจมีสิ่งเย้ายวนทำให้พลาด เช่น ไปมีเมียน้อย ไปมีชู้ หรือว่าเข้าหาอบายมุข อันนี้รู้ว่าไม่ดี แต่ห้ามใจไม่ได้หลายคนติดเหล้ารู้ว่าเหล้าไม่ดี แต่ห้ามใจไม่ได้ ตอนนั้นเรียกว่าหลงและถ้าเราไม่สร้างความรู้ตัวให้มากขึ้น ปล่อยให้ความหลงครองใจแม้แต่เวลาเข้าหาธรรมะก็สามารถใช้ธรรมะนั้นเพื่อมาสนองกิเลส หรือสร้างความทุกข์ให้แก่ตนเองและคนอื่นได้ ธรรมะเป็นของดีแต่ว่าถ้าเกี่ยวข้องไม่ถูกจะเกิดโทษอย่างที่เราสวดเมื่อสักครู่นี้หญ้าคาที่จับไว้ไม่ดีย่อมบาดมือ หญ้าคาไม่มีอะไรแต่ถ้าจับไม่ถูก ก็ทำร้ายเราได้ ความเป็นสมณะที่บรรพชิตปฏิบัติไม่ถูกย่อมฉุดลงนรก ธรรมะถ้าศึกษาไม่ดี ศึกษาด้วยความหลง ทำให้เกิดโทษอย่างเช่น ศึกษาธรรมะเพื่อเอาไปเล่นงานคนอื่น หรือเพื่อยกตนข่มท่าน มีนักปฏิบัติธรรมและนักภาวนาจำนวนมาก ที่ปฏิบัติด้วยความหลง แล้วใช้ธรรมะไปไปเล่นงานผู้อื่นไปข่ม ขี่ คุกคามผู้อื่น อันนี้ทำด้วยความหลง
ศึกษาธรรมไม่ว่าศึกษาปริยัติหรือนำไปปฏิบัติถ้าปฏิบัติด้วยความหลง ทำให้จมอยู่ในความทุกข์มากขึ้น ฉะนั้นอย่าไปดูแคลนความรู้ตัวเพราะความรู้ตัวเรียกว่าเป็นสิ่งเดียว หรือตัวหลักที่จัดการกับความหลงได้อย่างอื่น เช่น การรู้มากในทางปริยัติหรือการฟังมากหรือการคิดเก่งไม่ได้ช่วยทำให้ความหลงลดน้อยถอยลงไป แต่ถ้าเราทำความรู้สึกตัวให้มากขึ้น จะไปจัดการกับความหลงได้เราแสวงหาความรู้มามากแล้วสิ่งที่ขาดไม่ได้คือความรู้ตัว ความรู้เป็นสิ่งที่แค่ได้ยินได้ฟัง ได้อ่าน ความรู้ก็มากขึ้น แต่ความรู้ตัวต่างจากความรู้ต้องเกิดจากการปฏิบัติ จะแค่ฟัง หรือแค่นึกเอาไม่ได้ อย่างอาตมาพูดเรื่องความรู้ตัวแล้วเราฟังทุกวัน วันละหลายๆครั้งก็ไม่ได้ช่วยให้ความรู้ตัวมากขึ้นกลับทำให้หลงมากขึ้น หรือกลับไปทำให้หลงมากขึ้นอีก เพราะฟังบ่อยๆชินชาใจก็คิดไปเรื่องอื่นแล้วเหมือนกับเราสวดมนต์ สวดทีแรก สวดครั้งแรกเราสวดดี แต่พอสวดไปสวดไป คุ้นเคยจนท่องได้ หลงง่าย หรือบางทีเกิดความหลงตัวว่าฉันรู้มากแล้วเพราะฉันได้ฟังมามาก ฉันจำได้มาก เปิดช่องให้กิเลสครอบงำ ความรู้ตัวต้องปฏิบัติ และต้องเริ่มด้วยการที่เห็นว่าสำคัญ
ความรู้ตัว ไม่ใช่เป็นเรื่องยากเป็นเรื่องที่ไม่ต้องใช้ความรู้ทางด้านปริยัติหรือทฤษฎีมากมาย เพียงแค่ลงมือปฏิบัติแล้วก็รู้ เริ่มต้นด้วยการรู้กายเฉยๆเด็กก็ทำได้รู้กาย ยกมือรู้ เดินรู้หรือว่ารู้สึกคำว่ารู้กับรู้สึก ไม่เหมือนกันแต่ใกล้เคียงกัน หรือว่าเกี่ยวเนื่องกัน ถ้าเรารู้ตัวหรือใจอยู่กับเนื้อกับตัว กายทำอะไรก็รู้สึกแม้แต่กระดิกนิ้ว กลืนน้ำลาย หายใจ กระพริบตา ถ้าใจอยู่กับเนื้อกับตัว หรือมีความรู้ตัวทั่วพร้อม กายทำอะไร ใจรู้คือรู้สึก รู้สึกในที่นี้ไม่ใช่เวทนาคนละตัวกัน รู้สึกคือรู้ว่ากายมีการเคลื่อนไหวเหมือนกับว่ามีคนมาแตะหลังเรา เรารู้สึก คือรู้สึกแบบนี้ ใจเราลอยคิดโน่นคิดนี่ กำลังห่วงลูกหรือว่ากำลังนึกถึงงาน มีคนมาแตะไหล่เรา เรารู้ตัวกลับมามีสติเพราะว่าความรู้สึกเกิดขึ้นและเรียกจิตเราให้กลับมามีสติประโยชน์ของความรู้สึก เราสร้างอิริยาบถยกมือ เดินจงกรม ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าให้ทำ ทำแล้วให้รู้สึก เราจะรู้สึกได้เพราะใจอยู่กับเนื้อกับตัว ใจไม่ไหลไปอดีตลอยไปอนาคต
ทีแรกมีสติก่อนจึงรู้สึกตัวหรือรู้สึกว่ากายเคลื่อนไหวเพราะถ้าไม่มีสติใจลอยไปโน่น ไปนี่ยกมือก็ไม่รู้สึก เดินก็ไม่รู้สึกแต่พอมีสติรู้ว่าเราเผลอไปแล้ว ฟุ้งแล้ว สติพาจิตกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ความรู้ตัวเกิดขึ้นรู้สึกว่ามือเคลื่อนไหวแต่ต่อไป ทำไป ทำไปความรู้สึกจะไปเรียกสติให้เกิดขึ้นหรือกลับมาทีแรกมีสติก่อนความรู้สึกจึงตามมา แต่ทำไป ทำไป พอมีความรู้สึกสติจะเกิดขึ้น เช่น ใจกำลังลอย คิดโน่นคิดนี่ จู่จู่ก็มีแวบหนึ่งที่รู้สึกถึงมือที่เคลื่อนไหว ความรู้สึกนี่แหละจะไปสะกิดใจให้มีสติกลับมา คนที่กำลังใจลอยอยู่เสร็จแล้วแวบหนึ่ง มีความรู้สึกที่มือว่ากำลังเคลื่อนหรือว่าตัวเราขยับตรงนั้นแหละที่จิตจะได้สติเหมือนกับเวลาที่เราใจลอย แล้วมีการมาแตะไหล่แตะมือเรารู้สึกตัวนั่นความรู้สึกมีประโยชน์ทั้งเป็นตัวเราว่าตอนนั้นใจเราอยู่กับเนื้อกับตัวหรือเปล่า ถ้าเราไม่รู้สึกแสดงว่าใจเราไม่อยู่กับเนื้อกับตัวแล้วไม่มีสติ แต่ไม่ใช่เป็นเครื่องวัดว่าเรารู้สึกตัวเท่านั้น แต่จะเป็นสิ่งที่จะไปเรียกความรู้สึกตัวกลับมาด้วย
การทำให้จิตมีสติ ระลึกได้ว่ากำลังหลุดลอยไปจากปัจจุบันแล้วจิตพอมีสติจะกลับมาอยู่กับปัจจุบันอยู่กับเนื้อกับตัวรู้ตัวทั่วพร้อม ง่ายๆ เพียงแต่ให้รู้สึกเฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรมากกว่ารู้สึกอันนี้คือรู้กาย ตอนหลังพอสติไวขึ้น ความรู้สึกตัวเกิดถี่ ถี่ ถี่ ต่อเนื่องกันจะไปรู้ใจรู้ว่าเวลาใจเผลอนึกคิดไปหรือว่าเวลาใจหลงเราจะรู้ตัวได้ไว แต่ก่อนนี้หลงตะพึดตะพือหลงเข้าไปในความคิดแล้วจมในอารมณ์ จนทำอะไรไม่ถูกจนทำอะไรผิดๆพลาดๆเช่น อาจจะพูดหลุดปากด่าเขาไปหรือว่าเขียนคอมเมนต์ด่าคนทางเฟสบุ๊คเพราะว่าตอนนั้นเราลืมตัวแต่พอเรามีสติไวขึ้นรู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นความรู้ตัวจะกลับมาเร็วเรียกว่าเริ่มต้นจากการรู้กายก่อน ต่อไปจะรู้ใจได้ไวขึ้น
ซึ่งสรุปมาเป็นหลักที่หลวงพ่อท่านได้สอนเอาไว้ รู้กายเคลื่อนไหวเห็นใจคิดนึก คิดนึกคือเผลอคิด ตั้งใจคิดอีกเรื่องหนึ่งรู้กายเคลื่อนไหวเป็นพื้นฐานต่อไปจะเห็นใจคิดนึก ซึ่งทำให้ความหลงครองจิตครองใจไม่ได้ตรงนี้ที่ทำให้ตัวรู้มีกำลังแล้วสามารถจะขับไล่ความหลงหรือตัวหลงออกไป จากเดิมทั้งวันหลงมากว่ารู้ต่อไปรู้จะมากกว่าหลง จะทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนแปลงไปมากถ้าเรารู้มากกว่าหลง ถ้าเมื่อไหร่ที่ปล่อยให้หลงมากกว่ารู้ ชีวิตของเราจะย่ำแย่เหมือนเดิม หรือจะหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะตัวหลงไม่อยู่นิ่งคอยจะแผ่อิทธิพล ขยายอาณาเขตและไล่ตัวรู้ออกไปตอนหนุ่มๆสาวๆเราอาจจะรู้ 30% หลง 70% แต่เมื่อแก่ตัวอาจจะรู้ตัวแค่ 10% อาจจะหลง 90% แต่ถ้าเราปฏิบัติและปฏิบัติถูก หลงจะน้อยลงไปเรื่อยๆ จาก 70% เหลือ 60% 50% หรืออาจจะเหลือแค่ 30% ส่วนรู้นั้นมากกว่า ชีวิตเราจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม