แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อวานได้พูดไปว่า อารมณ์อกุศลที่สร้างความทุกข์ให้กับตัวเรา ถ้าไปใช้วิธีกดข่ม จะไม่ได้ผลเท่าไหร่ อาจจะได้ผลชั่วคราว และมีประโยชน์ในบางช่วง เช่น เวลาเราโกรธใครแล้วเราพยายามกดข่มเอาไว้ เพื่อที่จะได้ไม่พูดร้าย ไม่ทำร้าย อันนี้มีประโยชน์ แต่ว่าความโกรธนั้นไม่ได้หายไปไหน อาจจะซุกซ่อนอยู่ลึกมาก ถ้าหากว่าเราพยายามกดข่มด้วยความตั้งใจอย่างเต็มที่ ดูเหมือนหายไปได้ แต่ที่จริงซุกซ่อนอยู่ข้างใน แล้วรอที่จะโผล่มาในเวลาที่เราเผลอ รวมถึงความคิดด้วย
อย่างที่เล่าเมื่อวานนี้ ความคิดเกี่ยวกับอะไรตามที่เราไม่ชอบ เกี่ยวกับตัวเราหรือเกี่ยวกับคนอื่น ถ้าเราพยายามกดเอาไว้ เช่น กดข่มก่อนนอน ตอนนอนนี้แหละที่มันจะโผล่มา เพราะเป็นช่วงที่เราเผลอ เป็นช่วงที่เราสติอ่อน จะโผล่มาตอนที่เราไม่ระวัง มันฉลาดมาก เราจะเล่นงานอย่างไรมันก็หลบ และถ้าเราใช้วิธีกดข่ม คล้าย ๆ กับยุทธวิธีของคนที่ทำสงครามกองโจร มีหลักว่า “มึงมาข้ามุด มึงหยุดข้าแหย่ มึงแย่ข้าตี มึงหนีข้าตาม” อันนี้เป็นยุทธวิธีของพวกทำสงครามกองโจรเวลาสู้กับรัฐบาล ทางรัฐบาลมีกำลังเหนือกว่า ถ้ามาก็มุด แต่ถ้าหยุดเมื่อไหร่ก็แหย่เหมือนกัน ถ้าเผลอถ้าพลั้งโดนเล่นงาน อารมณ์พวกนี้เป็นอย่างนั้น ตอนที่เรามีสติดีหรือว่ามีกำลังทางจิตดี กดข่มเอาไว้มันก็หลบ แต่ว่าไม่ได้หายไปไหน คอยโผล่และบางทีโผล่มาในลักษณะที่เราคาดไม่ถึงหรือไม่รู้ทัน
มีผู้ชายคนหนึ่ง เขาเป็นคนที่เกลียดศาลพระภูมิมาก อาการนี้เกิดขึ้นไม่ใช่ตั้งแต่ยังเด็ก แต่เกิดขึ้นตอนที่โตแล้ว เห็นศาลพระภูมิทีไรก็อยากจะเข้าไปทำลาย และไม่เข้าใจว่าทำไม่ถึงเป็นอย่างนั้น เจอเป็นไม่ได้ จะรู้สึกไม่ชอบ เกลียด รู้สึกโกรธ แล้ววันหนึ่งไปหาจิตแพทย์ จิตแพทย์แนะนำว่าให้เล่าประวัติของตัวเองให้ฟัง และเขาเล่าไปถึงเหตุการณ์ที่เคยมีเรื่องมีปากมีเสียงกับพ่อ และพ่อด่าว่าเขารุนแรงทั้งที่เขาไม่ได้ทำผิดอะไรมาก จนกระทั่งถึงกับจะใช้กำลัง ตอนนั้นเขารู้สึกโกรธมาก ทั้งโกรธทั้งเกลียดพ่อ แต่ว่าจากการที่เขาเล่าทำให้รู้ว่า เขายอมรับตัวเองไม่ได้ ยอมรับอารมณ์นี้ไม่ได้ อารมณ์โกรธเกลียดพ่อ เพราะคนดีเขาจะไม่รู้สึกอย่างนั้นกับพ่อ พยายามกดข่มเอาไว้และพยายามปฏิเสธความรู้สึกแบบนี้เพราะไม่ใช่วิสัยของคนดี คนกตัญญู และดูเหมือนว่ากดข่มไว้ได้ ความรู้สึกโกรธเกลียดพ่อไม่โผล่ออกมาอีกหลังจากเหตุการณ์นั้น แต่ว่าไปโผล่ทางอื่น ไม่โผล่มาในลักษณะของความโกรธเกลียดพ่อ แต่โผล่ไปที่ศาลพระภูมิแทน เพราะศาลพระภูมิเป็นตัวแทนของพ่อ คือเป็นสิ่งที่น่าเคารพต้องยกไว้เหนือหัว หรือว่าเป็นสิ่งที่มีอำนาจ
อันนี้เป็นตัวอย่างว่าเวลาโกรธเกลียดอะไรตาม กดข่มเอาไว้อาจจะได้ผล ไม่มีความรู้สึกโกรธเกลียดพ่ออีกต่อไปแล้ว แต่ไปออกที่ศาลพระภูมิ แสดงว่าไม่ได้หายไปไหน และวิธีที่จะต้องจัดการคือว่ายอมรับ ยอมรับว่าเรามีความรู้สึกนี้เกิดขึ้น แม้จะเป็นความรู้สึกที่ทำให้ทุกข์ใจมาก ทำให้สะเทือนตัวตน (ego) คนที่ติดดีจะมีความทุกข์มากที่พบว่าตัวเองมีความรู้สึกแบบนั้นกับบุพการี แต่ถ้าไม่เผชิญหน้าและไม่ยอมรับกับสิ่งนั้น อาจจะกดข่มอยู่เรื่อยไปก็ไม่มีทางที่เยียวยาอาการนี้ได้ การเผชิญหน้า ยอมรับ หรือว่าวางใจเป็นกลางหรือที่เรียกว่า รู้ซื่อ ๆ คือว่าไม่ไปทำตาม และไม่ไปต้าน ไม่กดข่ม และโดยวิธีนี้ที่ความรู้สึกโกรธเกลียดจะค่อย ๆ หายไป ๆ ๆ เพราะอย่างที่บอกไว้แล้วว่ามีจุดอ่อนคือว่ากลัวการถูกรู้ถูกเห็น หรือว่าการรู้ซื่อ ๆ สติจะช่วยเยียวยา รักษาแผลในจิตใจได้หรือว่าแผลเกิดจากการสะสม ยืดเยื้อ เรื้อรัง ไม่ใช่เฉพาะที่เกิดขึ้นชั่วครู่ชั่วยาม หรือเฉพาะหน้าเท่านั้น
มีผู้ชายคนหนึ่งเขาเป็นคนที่หันมาสนใจการทำสมาธิ แล้วทำได้ดีด้วยจนกระทั่งจิตสงบ แต่มีอยู่คราวหนึ่ง พอจิตสงบมาก จะเห็นเป็นภาพที่เรียกว่านิมิต เป็นภาพมือ มืออย่างเดียว มือข้างเดียว พอเขาเห็นภาพนี้ในนิมิต เขาทั้งโกรธทั้งกลัวเพราะมือนี้คือมือของพ่อ เป็นมือที่เคยตบเคยตีเขาสมัยที่ยังเป็นเด็ก ทั้งกลัวและโกรธจนกระทั่งนั่งสมาธิต่อไม่ได้ ต้องเลิก และหลังจากนั้นพอนั่งสมาธิแล้วจิตดิ่งสงบนิ่งทีไร ก็จะเห็นภาพนี้ แล้วจะกลัวมาก โกรธจนกระทั่งต้องเลิกนั่ง ไปต่อไม่ไหว เพราะทำให้ย้อนระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่พ่อเคยทุบเคยตีซ้ำแล้วซ้ำเล่า ปีแล้วปีเล่า เป็นบาดแผลที่ถูกฝังไว้นาน แล้วไม่อยากระลึกนึกถึง แล้วพอถูกขุดคุ้ยขึ้นมาจากภาพนิมิต ก็เกิดความทุกข์มาก เหมือนกับย้อนกลับไปรู้สึกตอนเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง ทำอย่างนี้บ่อย ๆ เขาตกลงว่าไม่ไหวแล้ว เลิกแล้ว เลิกนั่งสมาธิดีกว่า แต่พอเลิกนั่งสมาธิไปสักพักหนึ่ง ก็รู้สึกว่าคงไม่ใช่วิธีการแก้ที่ถูกต้อง เขาเห็นว่าการนั่งสมาธิเป็นของดี ถ้าจะเลิกนั่งเพราะเหตุนี้ก็ไม่ควร แล้วเขาจึงคิดว่าจะต้องผ่าน จะต้องข้ามจุดนี้ไปให้ได้ ไม่อย่างนั้นชาตินี้ทำสมาธิไม่ได้
แล้ววันหนึ่งเขาตั้งใจว่าเขาจะไม่หนีแล้ว ไม่หนีภาพนิมิตนี้แล้ว แล้วพอนั่งสมาธิ พอจิตดิ่ง นิ่ง สงบ มือนั้นก็มาอีกแล้ว ความรู้สึกเดิม ๆ กลับมา ทั้งโกรธทั้งเกลียด แต่ว่าอย่างที่เขาได้ตั้งใจไว้ตั้งแต่ก่อนนั่งแล้ว ว่าจะข้ามไปให้ได้และเขาไม่หนีแล้ว พิจารณาไป ดูไป ๆ ปรากฏว่ามือที่เขาเคยมองว่าเป็นมือที่กำลังจะตบเขา ไม่ใช่เป็นมือที่ตบ เป็นมือที่กำลังขออะไรบางอย่าง มือที่ตบกับมือที่ขอมีอะไรใกล้ๆ กัน แต่ต่างกัน การที่เขาพิจารณาดูจนพบว่าเป็นมือที่ขอ พ่อขออะไร พอเขาออกจากสมาธิเขาก็พิจารณาถึงชีวิตที่ผ่านมา เขาพบว่าพ่อขอความรัก จากลูก เรื่องของเรื่องคือว่า พ่อเป็นพนักงานผู้น้อยในหน่วยราชการ หรือองค์กรใหญ่องค์กรหนึ่ง แล้วคล้าย ๆ เป็นพวกเสมียนหรือภารโรง ในที่ทำงานถูกกดข่ม ถูกคนเขาดูถูกประณามหยามเหยียด พ่อเครียด คนพอถูกข่มที่หนึ่ง ไปแสดงอำนาจอีกที่หนึ่ง นี่เป็นธรรมชาติ ถูกข่มที่ออฟฟิศไปแสดงอำนาจกับคนที่อ่อนแอกว่าที่บ้านคือเมียและลูก ความเครียดที่สะสมมาในที่ทำงานไปออกที่บ้าน ก้าวร้าว ด่าทอและตบตี
แต่ในอีกด้านหนึ่ง พ่อต้องการความรักเพราะว่าที่ทำงานไม่ได้รับการยอมรับ ไม่ได้รับความรัก หวังปรารถนาความรักจากที่บ้าน แต่พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงแบบนี้ ทำให้พ่อไม่เคยได้รับความรักแม้กระทั่งเมียและลูก ซึ่งอันนี้ยิ่งทำให้พ่อทุกข์มากยิ่งขึ้นและกลายเป็นคนที่ก้าวร้าว เรียกว่าอยู่ในวงจรอุบาทว์ อยากได้ความรักแต่พอไม่ได้ก็โกรธ พอยิ่งโกรธยิ่งทำร้าย ยิ่งทำร้ายยิ่งไมได้รับความรัก วนอยู่อย่างนั้น พอผู้ชายคนนี้เขาพิจารณาดู เขาก็สงสารพ่อขึ้นมา เข้าใจพ่อว่าทำไมพ่อทำอย่างนั้นกับลูกและเมีย เกิดความเห็นใจขึ้นมาแทน ความเมตตาความสงสารก็มา พอเขาให้อภัยพ่อได้ หลังจากนั้น มือที่มาวิงวอนขอหายไปจากการนั่งสมาธิ และความรู้สึกโกรธเกลียดพ่อหายไปด้วย แผลที่ยืดเยื้อเรื้อรังมาเป็นสิบ ๆ ปีค่อย ๆ ได้รับการเยียวยา ธรรมชาติของคนเราพอเจอเหตุการณ์แบบนี้ หรือเจอภาพแบบนี้แล้วไปปลุกความรู้สึกที่เป็นด้านลบขึ้นมาจะพยายามผลักไส พยายามกดข่ม แต่ถ้าทำอย่างนั้น แผลที่เคยมีมาแต่อดีต จะไม่ได้รับการเยียวยา จะบาดลึกมากขึ้น หรือเรื้อรังมากขึ้น แต่ว่าเมื่อไหร่ตามที่เราใช้สติไปเผชิญกับสิ่งนั้น ยอมรับ ไม่กดไม่ข่ม แค่ดูเฉย ๆ ไม่ใช่แค่จะทำให้ใจสงบเท่านั้น บางทีอาจจะทำให้เราเห็นอะไรบางอย่างที่ไม่เคยนึกมาก่อน คือเกิดความเข้าใจคนอีกคนหนึ่งซึ่งเราเคยเกลียดชัง
อันนี้คล้ายๆ กรณีอีกกรณีหนึ่ง เป็นเรื่องเล่าของ Jack Kornfield ซึ่งเป็นอาจารย์กรรมฐานชาวอเมริกัน เคยมาบวชที่พม่าและเมืองไทย สวนโมกข์และกับหนองป่าพงก็เคยไป รู้เรื่องเกี่ยวกับพระไทยดี พระที่ทำกรรมฐาน แล้วพอสึกกลับไปอเมริกาเขาตั้งสำนัก เป็นสำนักกรรมฐานที่มีชื่อ เขาเล่าว่าครั้งหนึ่งมีผู้หญิงคนหนึ่งมาปฏิบัติธรรมเข้าคอร์สกับเขา ผู้หญิงคนนี้หน้าตาดูเศร้าสร้อยและมีความทุกข์มาก เธอเพิ่งถูกแยกทางกับสามี สามีขอหย่า เป็นความเจ็บปวดมาก เพราะเธอรู้สึกว่าเธอเป็นคนไม่มีค่า ไปซ้ำ ไปย้ำรอยเดิมเพราะว่าตอนเธออายุสามขวบ พ่อทิ้งเธอให้อยู่กับแม่แล้วไม่กลับมาอีก เหตุการณ์นี้เหตุการณ์เดียวก็แย่อยู่แล้ว พอโตขึ้นแล้วมีสามี สามีทิ้งอีกทำให้เธอรู้สึกว่าเธอเป็นคนที่ไม่มีดี ไม่มีใครทนอยู่กับเธอได้ เป็นคนที่ไร้ค่า เป็นคนที่ไม่น่ารัก แม้แต่พ่อและผัวไม่เอา บาดเจ็บ เจ็บปวดมาก แต่ยังดีที่ไม่เผลอไปหาเหล้า ไปหายา เข้าหาสมาธิแทน และพอได้รับการแนะนำให้เจริญสติ ให้ยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้น อารมณ์ที่เศร้า โกรธ และรู้สึกไร้ค่า ทำให้สามารถจะผ่านอารมณ์เหล่านี้ไปได้ คือเห็นเหตุเกิดขึ้นแล้วดับไป เกิดขึ้นดับไป และเธอได้รับคำแนะนำให้แผ่เมตตาให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้องรวมถึงกับตัวเอง เธอรู้สึกดีขึ้น แต่ว่าบ่อยครั้งความรู้สึกที่ย่ำแย่ ความรู้สึกที่ว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่น่ารัก เป็นคนที่ไม่มีใครอยากจะคบหาด้วยก็ยังรบกวนจิตใจเธอ
Jack Kornfield แนะนำเธอว่าเมื่อจิตนิ่งพอ ให้เธอลองย้อนกลับไปนึกถึงเหตุการณ์ตอนที่อายุสามขวบ ตอนที่พ่อทิ้ง ทีแรกเธอไม่กล้าเพราะว่าเจ็บปวดมากกับการถูกทอดทิ้ง เป็นบาดแผลที่ติดตัวมาจนโต จนอายุสามสิบ แต่ว่าพอมีสติระดับหนึ่งมีความคิดว่าต้องก้าวข้ามตรงนี้ไปให้ได้ แล้วพอเธอจิตนิ่ง เธอก็ย้อนกลับไประลึกเหตุการณ์ตอนอายุสามขวบ เห็นภาพตัวเองอยู่บนบันไดขั้นสูงสุด แล้วมองลงมาเห็นพ่อกับแม่กำลังทะเลาะกันอย่างรุนแรง แล้วพ่อเก็บข้าวของออกจากบ้านไป โดยที่ไม่เงยหน้ามามองเธอ ซึ่งพ่อก็รู้ว่าลูกอยู่ข้างบน แต่พ่อทิ้งเธอไปโดยที่ไม่แม้แต่จะเหลียวมามอง เจ็บปวดมาก รู้สึกว่าพ่อไม่รักเรา ทิ้งเราไปโดยที่ไม่แม้แต่จะมาร่ำลา พอเธอเล่าให้ เธอ Jack Kornfield ฟัง
Jack Kornfield บอกว่าให้เธอลองนึกว่าตัวเองเป็นพ่อ แล้วเธอก็ทำตาม ความรู้สึกหนึ่งก็เกิดวูบขึ้นมา ในความรู้สึกที่เกิดขึ้นตอนที่เราเป็นพ่อในตอนนั้น มีความรู้สึกว่า ไม่สามารถจะมองลูกสาวได้ เพราะว่าทนไม่ได้ที่จะเห็น ทนไม่ได้ที่จะจากบ้านนั้นไปถ้าหากว่ามองหน้าลูกสาวเพราะว่ารักลูกสาวมาก แต่ว่าจะต้องไปจากที่นั่นจริง ๆ เพราะว่าอยู่ไม่ได้ เพราะอยู่ที่บ้านนี้แล้ว ตัวเองเป็นคนที่ไร้ค่าทำอะไรไม่สำเร็จ งานการไม่ได้ทำหรือทำงานก็ไม่ได้เรื่อง ความสัมพันธ์กับทางบ้านก็แย่ รู้สึกว่าฉันต้องไปแล้ว ฉันต้องทนไม่ได้ ถ้าฉันทนอยู่ฉันต้องตายแน่ ๆ แต่ถ้าจะหันมามองหน้าลูกฉันคงจะไปไม่ได้เหมือนกันเพราะว่าฉันรักลูกเหลือเกิน อันนี้คือสิ่งที่รู้สึกวูบที่เกิดขึ้นในใจของผู้หญิงคนนี้ ถึงตอนนั้นเธอรู้ว่าจริง ๆ ที่พ่อทิ้งเธอไปโดยไม่เหลียวมอง ไม่ใช่เพราะพ่อไม่รักเธอ พ่อรักมาก แต่พ่อรู้ว่าพ่อไม่สามารถจะสบตาเธอได้ในบรรยากาศอย่างนั้น จำเป็นต้องไป เธอรู้แล้วว่าตอนนั้นจริง ๆ พ่อรักเธอ เธอไม่ใช่เป็นคนไร้ค่าชนิดที่พ่อไม่เหลียวแล เพราะว่าความโกรธ ความเกลียดพ่อและความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจตัวเองหายไป มีแต่ความสงสารพ่อ พ่อเป็นคนอ่อนแอ ต้องหนีปัญหาแล้วไม่สามารถที่จะสบตาเธอได้ด้วยซ้ำ หลังจากนั้นความรู้สึกแย่ รู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่าหายไป จางไปจากจิตใจ เพราะรู้และเข้าใจแล้วว่าพ่อไม่ได้เป็นคนอย่างนั้น อย่างที่เคยนึกมาก่อน
อันนี้เป็นตัวอย่างว่า เวลาคนหลายคนเขามีปมที่สะสมอยู่ในใจ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากไปกดไปข่มเอาไว้ รวมทั้งการตีความในมุมมองของตัวเรา หรือการเห็นแต่ด้านเดียว การที่เอาสติมาพิจารณาหรือมาดูเหตุการณ์ที่เคยทำให้เกิดความเจ็บปวดรวดร้าว สามารถช่วยทำให้หลุดจากความรู้สึกนั้นได้ บางคนอาจจะสงสัยว่าการที่ย้อนกลับไปอดีตจะดีหรือ พุทธเจ้าบอกว่า บุคคลไม่ควรตามคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วด้วยอาลัย แต่การนึกถึงอดีตที่ผ่านไปแล้ว จะถูกหรือ จะเป็นวิธีการที่ชาวพุทธเราควรจะทำหรือ ที่จริงถ้าเป็นอดีตจริง ๆ ก็ถูกแล้วที่ควรจะปล่อยวาง แต่ว่าในกรณีอย่างนี้ ไม่ใช่อดีต ยังเป็นแผลที่สดอยู่ หรือถึงแม้เป็นแผลเรื้อรังก็ยังเป็นแผลที่ทำความเจ็บปวดอยู่ จะรู้ว่าเป็นอดีตหรือไม่ จะรู้ว่าปล่อยวางหรือไม่ ดูจากการที่ว่าเรานึกถึงเหตุการณ์นั้นแล้วเรารู้สึกอย่างไร ถ้าเรารู้สึกเฉย ๆ แสดงว่าเราปล่อยวางแล้ว แต่ถ้าเรารู้สึกเจ็บปวดจนกระทั่งไม่อยากนึกถึง แสดงว่ายังไม่ใช่อดีต ยังเป็นปัจจุบัน เหตุการณ์อดีตแต่ว่าแผลยังเป็นแผลปัจจุบัน จะเป็นแผลสดหรือแผลเรื้อรังก็แล้วแต่
เหมือนกับว่าเราเดินไปเหยียบหนามเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ผ่านไปแล้วแต่ว่าหนามยังคาอยู่ในเท้าเป็นแผล แตะทีไรเจ็บทุกที สิ่งที่เราจะต้องทำคือว่า ดึงหนามนั้นออก เอาเสี้ยนออกมาจากแผลให้ได้ ต้องใช้ความกล้าและต้องเจ็บปวด แต่ว่าพอเอาออกแล้วจะหายกลายเป็นแผลเป็น พอเป็นแผลเป็นแตะเท่าไหร่ไม่เจ็บแล้ว แสดงว่าเราปล่อยวางและเป็นอดีตไปแล้ว ไม่มีเสี้ยนตำเท้าอีกต่อไป คนส่วนใหญ่ปล่อยให้เสี้ยนตำจิต ตำจิตใจอยู่ ต้องหาทางทำให้เสี้ยนออกมา และที่เสี้ยนยังตำอยู่เพราะว่าปฏิเสธ ผลักไส กดข่ม เพราะไม่ชอบ จึงคอยทิ่มแทง คอยรบกวนจิตใจ แล้วต้องจัดการด้วยการที่ย้อนกลับไป กลับไปนึกถึงเหตุการณ์นั้นแล้วต้องเผชิญกับ รวมทั้งไปยอมรับ เพื่อที่เราจะได้ยอมรับ มองด้วยใจที่เป็นกลาง ซึ่งจะทำให้เราได้เห็นแง่มุมบางอย่างด้วยซ้ำ พอใจเป็นกลางจึงเกิดความเข้าใจ คนบางคนที่เราเคยโกรธเคยเกลียดว่า จริง ๆ แล้วเขาอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดก็ได้ พอเห็นอีกมุมหนึ่ง ก็หลุดได้เหมือนกันความโกรธความเกลียด
คล้าย ๆ กับเวลาเรากำลังซื้อของหรือกำลังเดินอยู่บนถนน แล้วมีคนมาชนเราอย่างแรง แวบแรกคือโกรธ แต่พอเราเหลียวไปมองแล้วพบว่าเขาตาบอด ก็หลุด ให้อภัย ไม่มีโกรธอีกต่อไป หรือเพราะว่าเขาเมาเหล้า หรือเพราะเขาเป็นคนบ้า ความโกรธความเกลียดหายไป เพราะอะไร เพราะเข้าใจเขา พอเข้าใจเขาเกิดความสงสารให้อภัยได้ แต่ถ้าเราไม่เหลียวกลับไปมอง ยังโกรธอยู่ สติคือเหมือนกับการที่เราเหลียวไปมอง เห็นเขาอย่างที่เขาเป็น แล้วทำให้เห็นว่า ที่จริงแล้วเขาไม่ได้เป็นคนแย่คนเลว เพียงแต่ว่าเขามีข้อจำกัด เขาตาบอด เขาเป็นบ้า เขาเมาเหล้า น่าเห็นใจ
การเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับคน บางคนที่เราโกรธเราเกลียด บางทีทำให้เราหายโกรธหายเกลียด ไม่ใช่เพราะบุคคลอย่างเดียว แต่อาจจะเป็นเพราะเหตุการณ์ด้วย เหตุการณ์บางอย่างบางทีก็ตอกย้ำซ้ำเติมให้เรารู้สึกเจ็บปวด แต่พอเรามองในมุมใหม่ เรากลับพบว่าเป็นเหตุการณ์ที่ดี อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์เคยไปเรียนปริญญาเอกที่ประเทศอินเดีย ตั้งแต่เป็นพระ ตอนไปเรียนปริญญาโท ปริญญาเอกที่นั่น รู้สึกเจ็บปวดขมขื่นมากกับผู้คนและเหตุการณ์ที่นั่น บางครั้งร้องไห้ แล้วพอกลับมาเมืองไทยเหมือนกับว่าสาปส่งอินเดียว่า ต่อไปนี้ฉันไม่กลับไปอีกแล้ว นึกถึงทีไรก็รู้สึกแย่ แต่ผ่านไป ๒๐ ปี ๓๐ ปีพอกลับไปมองเหตุการณ์นั้นใหม่พบว่า มีประโยชน์มาก มีส่วนในการก่อร่างสร้างตัวเราขึ้นมา ถ้าไม่ได้ไปเจอเหตุการณ์เหล่านั้น ชีวิตคงจะไปอีกทางหนึ่ง รู้สึกขอบคุณเหตุการณ์นั้น อยากจะขอบคุณ ว่าถ้าไม่เจอเหตุการณ์เหล่านั้น เราก็จะไม่เป็นอย่างที่เราเป็นทุกวันนี้ พอนึกถึงเหตุการณ์นั้นคราวนี้ไม่รู้สึกแย่แล้ว ไม่รู้สึกอยากผลักไสแล้ว มีแต่ความซาบซึ้ง เพราะอะไร เพราะมุมมองเปลี่ยนไป
เหมือนตัวอย่างที่เล่าให้ฟัง พอมุมมองเกี่ยวกับพ่อเปลี่ยนไป ก็หลุดจากความโกรธความเกลียด หรือแม้กระทั่งความรู้สึกแย่กับตัวเอง เรียกว่าความเข้าใจ ความรู้ความเข้าใจสามารถที่จะทำให้เราหลุดจากความทุกข์ได้ และความรู้ความเข้าใจหรือปัญญาเกิดขึ้นจากที่เรามีสติเข้าไปดู เข้าไปเผชิญกับสิ่งนั้น และทันทีที่ยอมรับได้ ก็หลุด แต่ที่ยังเป็นเสี้ยนฝังเท้าอยู่ หรือว่ายังเป็นเหตุการณ์ที่คอยโบยตีจิตใจเรา หรือทำให้เรามีอาการผิดเพี้ยน อย่างเช่นคนที่โกรธพ่อไม่ได้ ก็ไปเกลียดศาลพระภูมิแทน อันนี้เพราะเขาไม่สามารถยอมรับตัวเอง คือไม่สามารถยอมรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้ อย่างที่บอกแต่วันแรก คนเราทุกข์เพราะไม่ยอมรับ เหตุการณ์จะเลวร้ายแค่ไหนไม่สำคัญเท่ากับว่าเรายอมรับได้หรือเปล่า แม้จะเป็นเหตุการณ์เล็กน้อยแต่ถ้าเรายอมรับไม่ได้ เราปฏิเสธผลักไสเราทุกข์ทันที แต่เหตุการณ์จะใหญ่โตแค่ไหนพอเรายอมรับได้ก็หลุด วาง และการที่ยอมรับได้เพราะสติและปัญญา ปัญญานี้หมายถึงว่าความรู้ความเข้าใจ ที่รู้ว่าเข้าใจผิดมาตลอด เข้าใจผิดเกี่ยวกับคนอื่นและเกี่ยวกับตัวเอง พอเข้าใจถูกขึ้นมาหลุด เบา สบาย สติจึงไม่เพียงแต่ช่วยรักษาใจไม่ให้อารมณ์อกุศลเข้ามาครอบงำย่ำยีจิตใจเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยเยียวยาบาดแผลที่เกิดจากอารมณ์ที่สะสมในอดีตด้วย หรือว่าที่เกิดจากเหตุการณ์เลวร้ายในอดีต สติก็ช่วยเยียวยาได้ ขอเพียงแต่เราต้องกล้าเผชิญ แล้วมองด้วยความรู้สึกที่เป็นกลาง ไม่ใช่ผลักไส ไม่ใช่ตัด ไม่ใช่ปฏิเสธ เราจะเป็นกลางต่ออารมณ์หรือเหตุการณ์ใดหรือไม่ ดูได้จากการที่ว่าเราพอนึกถึงแล้วเรารู้สึกยังไง ถ้านึกถึงแล้วยังหวั่นไหว ยังรู้สึกโกรธ ยังรู้สึกแย่ อันนี้แสดงว่าเรายังยึดอยู่ ยังแบกอยู่ หรือปล่อยให้ซุกซ่อนอยู่ในใจ ทิ่มแทงจิตใจ ต้องกล้าที่จะเผชิญกับสิ่งนั้น
อย่างที่บอกไว้แล้วว่า อารมณ์พวกนี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นนานแค่ไหน มันดื้อด้านก็จริง กดข่มเท่าไหร่มันก็หาทางซุกซ่อนจนได้ แต่มีจุดอ่อนคือ มันกลัวการถูกรู้ถูกเห็น พ่ายแพ้ต่อการเห็นด้วยสติ มองด้วยใจที่เป็นกลาง แต่ว่ายากถ้าสติเราอ่อน นึกถึงทีไร จิตเราถูกดูดเข้าไปทุกที เพราะสติยังอ่อน แทนที่จะเห็น ก็เข้าไปเป็นทุกที แทนที่จะเห็นความป่วย ก็เข้าไปเป็นผู้ป่วยทุกที จนกว่าสติเราจะมีกำลัง ไม่ทำให้จิตใจอ่อนแอหรือหวั่นไหวไปตามอารมณ์เหล่านั้น อารมณ์ที่จะดูดจิตของเรานั้นเข้าไปเป็นผู้เป็น แต่สติจะทำให้จิตใจเราตั้งมั่นและดูด้วยความรู้สึกที่เป็นกลางและตรงนี้ที่จะเยียวยาได้
ไม่ใช่เฉพาะแค่ความรู้สึกโกรธ ความรู้สึกเกลียด ความรู้สึกเศร้าเท่านั้น แม้กระทั่งความรู้สึกผิดก็เป็นแผลที่ทำร้ายจิตใจคนเหมือนกัน มีบางคนเวลาเจอก๋วยเตี๋ยวเป็ด หรือเวลาเห็นก๋วยเตี๋ยวเป็ดจะรังเกียจมาก จะไม่อยากพูดไม่อยากนึกถึงก๋วยเตี๋ยวเป็ด อย่าว่าแต่กิน แต่ก่อนไม่เป็น แต่มาเป็นตอนไหน มาเป็นตอนที่หลังจากพ่อเสียชีวิต ตอนที่พ่อป่วยดูเหมือนไม่ได้ป่วยมากแต่ว่านอนอยู่ที่บ้าน ลูกชายดูแลบ้าง ไม่ดูแลบ้างเพราะห่วงเที่ยว วันหนึ่งพ่อบอกว่าช่วยไปหาซื้อก๋วยเตี๋ยวเป็ดมาให้พ่อกินหน่อย ด้วยความที่เป็นวัยรุ่น ห่วงเล่น อยากไปเที่ยวกับเพื่อน ก็ปฏิเสธไม่ไปซื้อให้ ปรากฏว่าพ่อเสียชีวิตวันนั้น เขาเสียใจมากคิดว่าเราเป็นลูกอกตัญญู แม้แต่พ่อขอให้ไปซื้อก๋วยเตี๋ยวเป็ด เรายังไม่ไปเพราะเห็นแก่เล่น เป็นความรู้สึกผิดที่ติดค้างใจมาก และเวลาเจอก๋วยเตี๋ยวเป็ด เขาเกลียดมาก ไม่อยากพูดไม่อยากนึกถึง เพราะชวนให้ตัวเองนึกถึงเหตุการณ์ที่ตัวเองเคยทำผิดครั้งมหันต์ ในความรู้สึกของเขาเป็นความผิดที่ร้ายแรงมาก ไม่สามารถจะสนองความต้องการของพ่อในวาระสุดท้ายของชีวิตได้
อันนี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะเขาไม่สามารถที่จะยอมรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่สามารถที่จะยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ ความรู้สึกผิด เห็นทีไรรู้สึกผิดทุกที ไม่อยากเห็นอยากนึก ไม่ต้องพูดถึงการกินก๋วยเตี๋ยวเป็ด แบบนี้จะเป็นแผลต่อชีวิตถ้าไม่ได้เผชิญ ไม่ได้เยียวยา และการเยียวยาคือการใช้สติเข้ามา หลายคนหรือบางคนเขาใช้วิธีการที่ว่าย้อนกลับไประลึกถึงเหตุการณ์นั้น แล้วเผชิญกับความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้น รวมทั้งเขียนจดหมายถึงพ่อ เขียนไม่พอเชิญพ่อมาด้วยแล้วบอกขอโทษพ่อ ยอมรับว่าผิดแล้วขอโทษพ่อในจินตนาการ ปรากฏว่าคลี่คลายได้ คลี่คลายแล้วความรู้สึกผิดกับพ่อน้อยลง ความรู้สึกเกลียดชังก๋วยเตี๋ยวเป็ดค่อย ๆ ซาลงไปเพราะว่าหลุดแล้ว หลุดจากอารมณ์แล้ว เพราะว่ากล้าที่จะเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ในอดีต รวมทั้งความรู้สึกที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เราต้องใช้สติ ถ้าไม่ใช้สติก็จะกดข่มอย่างเดียว แล้วจะหนีอยู่เรื่อยไป สติทำให้ใจกล้าที่จะเผชิญ และคนกล้าที่จะเผชิญเท่านั้นที่จะหลุดจากอารมณ์นั้นได้ เพราะอย่างที่บอก อารมณ์พวกนี้กลัวการถูกรู้ถูกเห็น หรือว่าการรู้ด้วยสติ ถ้าเราใช้สติแล้วมีสติที่กล้าและเข้มแข็งพอ สามารถทำให้เราหลุดจากอารมณ์อย่างนี้ไปได้ในที่สุด แล้วเกิดความสุขสงบเย็นในจิตใจอย่างน้อยก็ระดับหนึ่ง