แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้เช้าแล้ว อีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะเที่ยง และเรารู้ว่าในที่สุดก็จะมืดกลางค่ำกลางคืนมาเยือนอีกครั้งหนึ่ง เรารู้ว่าเมื่อมีเช้าแล้วและจบลงด้วยกลางคืน แต่ที่เราไม่รู้ก็คือว่าเราจะอยู่จนถึงค่ำคืนนี้หรือเปล่า ถ้าเราถามตัวเราเองจริงๆแล้ว เราก็ไม่แน่ใจว่าคืนนี้เราจะยังมีลมหายใจอยู่หรือเปล่า แต่ว่าในใจส่วนลึกของเราอาจจะไม่ยอมรับก็ได้ เพราะยังมีความมั่นใจว่า เดี๋ยวค่ำคืนนี้เราจะโทรศัพท์ถึงพ่อแม่ ถึงลูก หรือว่าทำการงานที่ยังค้างคาอยู่ คนเราทุกคนเรารู้กันทั้งนั้นว่าในชีวิตเรามีที่สุด เหมือนมีเช้าหรือกลางวัน แล้วต้องมีกลางคืน แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วในส่วนลึกนั้นเราไม่เชื่อว่าชีวิตเราจะจบลงในที่สุด ก็เหมือนกับที่เราเชื่อว่า ชีวิตเรามีวันนี้แล้วมีพรุ่งนี้ เพราะว่าเป็นอย่างนี้มา 30 ปี 40 ปี 50 ปี 60 ปี บางคน 70 ปี ตื่นเช้าขึ้นมาปีแล้วปีเล่าที่เราได้อยู่กันจนถึงค่ำคืน แล้วตื่นมาพบวันใหม่ เราจึงเชื่อว่าผ่านพ้นวันนี้แล้วจะมีวันใหม่สำหรับเรา คือวันพรุ่งนี้
แต่ก็อย่างที่ผู้รู้ทิเบตกล่าวไว้ ไม่มีใครรู้หรอกว่าพรุ่งนี้หรือชาติหน้าอะไรจะมาก่อน หลายๆ คนเชื่อว่าหรือคิดเอาว่าต้องมีพรุ่งนี้ก่อนถึงจะมีชาติหน้า แต่ในความเป็นจริงคือว่าหลายคนในโลกนี้ วันนี้เป็นวันสุดท้ายของเขา พ้นจากวันนี้ไปก็ชาติหน้าเลย มีคนประมาณหนึ่งแสนห้าหมื่นคนในโลกที่วันนี้คือวันสุดท้ายของเขา ถ้านับเฉพาะในเมืองไทยมีประมาณหนึ่งพันหกร้อยคนที่วันนี้เป็นวันสุดท้ายของเขา พ้นจากวันนี้ไปก็ชาติหน้า ไม่มีวันพรุ่งนี้ แล้วเราก็ไม่แน่ใจว่าเราเป็นหนึ่งในพันหกร้อยคนหรือแสนห้าหมื่นคนนี้หรือเปล่า เพราะความตายเป็นสิ่งที่แน่นอนยิ่งกว่าอะไรอื่นรวมทั้งความตายของเราด้วย คนส่วนใหญ่ไม่อยากยอมรับ ไม่อยากนึกถึงเรื่องนี้ เขาก็เลยพยายามไม่คิดถึงมัน แต่ว่าในส่วนลึกของจิตใจก็จะมีความคิดหรือความระลึกได้ว่า ชีวิตเรานี้ไม่เที่ยง อย่างไรเสียก็ต้องตาย แต่เมื่อไม่อยากยอมรับความจริงข้อนี้ก็เลยพยายามกลบ พยายามลืม พยายามไม่นึกถึง ด้วยการทำตัวให้วุ่นทำใจไม่ให้ว่าง เพราะคิดว่าถ้าตัววุ่นใจไม่ว่างแล้ว ก็จะไม่ต้องคิดถึงเรื่องนี้ เวลาใครมาพูดถึงเรื่องความตายก็ไม่อยากได้ยิน ถ้าเป็นลูกเป็นหลานก็เอ็ดเขา ดุเขา ว่าอย่าพูด
เดี๋ยวนี้เวลาเราจะพูดเรื่องความตาย เราจะเลี่ยงไม่ใช้คำว่าตาย แต่พยายามสรรหาคำที่ฟังดูรื่นหู เช่น หมดลม ล่วงลับ จากไป ไม่อยู่แล้ว จากไปแล้ว เสียสละแล้ว บางทีใช้คำว่า วายชนม์ ไปดีแล้ว ไปสบายแล้ว เรากลัวความตายขนาดที่เรียกว่าได้ยินคำว่าความตายก็ไม่ได้ และเราก็เลยอยู่อย่างคนลืมตาย ซึ่งเป็นอันตรายมาก เพราะว่าพอความตายมาถึงก็จะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ทำอะไรไม่ถูก ตื่นตระหนกตกใจ ทุรนทุราย ตายด้วยความทุกข์ทรมาน และเชื่อได้ว่าภพหน้าชาติหน้าก็คงจะไปไม่ดี คนเราเมื่อรู้ว่าเราจะต้องตายอย่างแน่นอน และยิ่งไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ ยิ่งจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความตาย การเตรียมตัวรับมือกับความตายเป็นวิถีของผู้ที่มีปัญญา เพราะอะไรตามที่เราต้องเจออย่างหลีกหนีไม่พ้น การเตรียมตัวรับมือกับมันเป็นวิธีที่ดีที่สุด ดีกว่าหันหลังให้มัน หรือว่าหลอกไปวันๆ ว่ามันไม่เกิดขึ้นหรอก น่าแปลกที่เวลาเราจะไปเที่ยวแม้เป็นประเทศที่สุขสบาย มีความปลอดภัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับอย่างแน่นอน เช่นไปญี่ปุ่น ไปยุโรป ไปอเมริกา ไปเกียวโต ลอนดอน นิวยอร์ก แอลเอ ทั้งๆ ที่เรารู้ว่าไปที่นั่นแล้วสบายแน่ แต่เรายังต้องเตรียม ต้องเสิร์ชข้อมูล หาข้อมูลทางกูเกิ้ลว่าจะไปพักที่ไหนดี ถ้าเป็นโรงแรมนี้กี่ดาว เดี๋ยวนี้แม้แต่จะไปพักตามบ้านคน แอร์บีแอนด์บี ก็ต้องดูว่ากี่ดาวด้วย ไปถึงแล้วจะไปเที่ยวที่ไหน บางทีก็หาข้อมูลแม้กระทั่งว่ากลางวันและกลางคืนจะไปกินข้าวที่ไหน มีเรตติ้งดีไหม รีวิวดีรึเปล่า ไปแล้วจะไปเที่ยวที่ไหน จะเดินทางอย่างไรเราค้นหมด เพื่อให้แน่ใจว่าไปแล้วสบาย ทั้งๆ ที่มันก็สบายอยู่แล้ว เรานึกไม่ออกและทำใจไม่ได้ว่าถ้าเกิดไปถึงประเทศนั้นไปถึงเมืองนั้น โดยที่ไม่ได้เตรียมอะไรเลย ไม่ได้จองโรงแรมที่พัก ไม่ได้เตรียมหรือหาข้อมูลว่าจะไปไหน สมมติว่าไปถึงสนามบินแล้วปรากฏว่ายังไม่ได้เตรียมอะไรสักอย่างเลย คงตื่นตระหนกมากทั้งๆ ที่มีเงินในกระเป๋ามากมาย เราคงไม่ทำอย่างนั้นถ้าเราไปเที่ยวต่างประเทศแม้ว่าจะเป็นประเทศที่สบาย ไม่ใช่แอฟริกา ไม่ใช่อินเดีย นอกจากนั้นก่อนจะไปก็ต้องเตรียมแพ็คของอย่างดี บางทีแพ็คนี้เตรียมกันเป็นเดือน เวลาไปเที่ยวเราทำถึงขนาดนั้น ทั้งๆ ที่รู้ว่าไปยังไงปลอดภัยแน่
แต่กับความตายหรือว่าชีวิตที่ปลายทางนี้คนส่วนใหญ่ไม่เตรียมเลย ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่ามันคืออะไรข้างหน้า อย่างน้อยลอนดอน โตเกียว นิวยอร์ก เรารู้เราพอจะวาดภาพได้ว่าคืออะไร แล้วเราเชื่อว่ามันสบาย เราก็ยังเตรียมกันอย่างเอาจริงเอาจัง แต่ชีวิตที่ปลายทางนี้เราไม่รู้เลยว่าเป็นอย่างไร รู้อย่างเดียวว่าไปลำบาก ไม่สบายแน่ กว่าจะตายคงจะต้องเจ็บปวด อาจจะมีทุกขเวทนามีอะไรต่างๆ ที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้น แปลกนะเรากลับไม่เตรียมเลย ทั้งๆ ที่เป็นที่ที่เราไม่รู้จัก เป็นสภาวะที่เราไม่เคยประสบ อันนี้แสดงถึงความเขลาและความประมาท จะดีกว่า ยิ่งเราไม่รู้ว่าข้างหน้าหรือปรโลกคืออะไร รู้แต่เพียงว่าไม่สะดวกสบาย ลำบากแน่ ก็ยิ่งต้องเตรียมเข้าไปใหญ่ ต้องเตรียมยิ่งกว่าไปเที่ยวไปสบายเสียอีก เพราะฉะนั้นในแง่หนึ่งในเวลา 5 วันที่นี่ถือว่าไม่มากเท่าไหร่ แต่ว่าดีสำหรับการเริ่มต้น
ความตายหรือว่าช่วงเวลาใกล้ตาย อาตมาเปรียบเหมือนกับการสอบไล่ ปกติเวลาการสอบไล่หมายถึงการเรียน เรียนจบก็ต้องมีการสอบ ไปเรียนวิชาอะไรตามต้องมีการสอบ ความตายก็เป็นการสอบไล่ของวิชาที่เรียกว่า “วิชาชีวิต” ไม่ว่าจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยหรือไม่ ทุกคนก็มีหน้าที่ต้องเรียนวิชานี้ ตั้งแต่รู้ความได้ก็ต้องเรียนวิชานี้ มีคนส่วนใหญ่หรือคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่ามีวิชานี้ด้วย แต่จะรู้ว่ามีหรือไม่มีนั้นธรรมชาติก็ไม่รับรู้ด้วย ถึงเวลาเมื่อหมดอายุไขก็ต้องมีการสอบไล่ของวิชาชีวิต และเป็นการสอบไล่วิชาจริงๆ เพราะว่าถ้าสอบไม่ได้คือสอบตก สอบตกนี้จะตกจริงๆ คือตกอบาย สอบไล่ในโรงเรียนในมหาวิทยาลัยหรือที่ผ่านมา เราสอบตกแต่ไม่ตกจริงเป็นเพียงแค่การซ้ำชั้น และแถมมีการแก้ตัวได้ด้วย มีการสอบซ่อม มีการสอบครั้งแล้วครั้งเล่าได้ สอบตกแค่ซ้ำชั้นหรืออยู่ที่เดิมแล้วสอบใหม่ แก้ตัวแก้มือได้ แต่ว่าสอบไล่ในวิชาชีวิตนี้แก้ตัวไม่ได้ ตกก็ตกเลยถ้าได้ก็ได้เลย ยิ่งไปกว่านั้นสอบไล่วิชาชีวิตนี้ไม่มีการประกาศล่วงหน้า ไม่มีการบอก ไม่มีการแจ้งว่าจะสอบวันนี้ๆ เช่นการสอบในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย สอบเนติบัณฑิต สอบผู้พิพากษา สอบเปรียญเก้า สอบสัมภาษณ์ สอบสมัครงานเขามีการประกาศล่วงหน้าทั้งนั้น ซึ่งทำให้เรามีเวลาที่จะวางแผน มีเวลาที่จะลั้นลาก่อนสอบ
สมัยที่อาตมาเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 รู้ว่าจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือเอนทรานซ์ ในช่วงปลายเดือนมีนาคมต้นเดือนเมษายน ตลอดทั้งปีนี้ไม่ได้เรียนหนังสือ ทำแต่กิจกรรมอย่างเดียว พอถึงเดือนธันวาคมถึงค่อยมาตั้งหลัก ติวกันแบบพายุบุแคมถึง 100 วันจึงสอบผ่านเพราะเรารู้ว่าจะสอบเมื่อไหร่ ไปลั้นลาอยู่เป็นค่อนปี ถึงเดือนมกราคมค่อยเก็บตัวเข้าสอบ ก็สอบได้ แต่จะทำแบบนี้กับการสอบไล่วิชาชีวิตนั้นไม่ได้ ประมาทมากเลย นึกว่าอายุ 70 ปีค่อยเตรียมตัวกัน บางคนอายุ 70 ปีแล้วยังคิดว่าเดี๋ยว 80 ปีค่อยเตรียมตัวก็แล้วกัน ทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะว่าบางคนไม่มีโอกาสที่จะอยู่ถึงอายุ 70 ปี บางคนตายตั้งแต่อายุ 30 ปี บางคนตายตั้งแต่อายุ 20 ปี ดังนั้นการสอบไล่วิชาชีวิตจะต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา เพราะไม่รู้ว่าธรรมชาติจะสอบเมื่อไหร่ และบางทีก็มาในช่วงเวลาที่เราคิดไม่ถึง ช่วงเวลาที่เรากำลังแฮปปี้ ช่วงเวลาที่เรามีความสุข ช่วงเวลาที่เราผ่อนคลาย
อย่างวันที่ 26 ธันวาคม 2547 แถวพังงา ภูเก็ต อากาศดีมาก เป็นวันอาทิตย์หลังคริสต์มาส ลมก็ดี ฟ้าก็โปร่ง แต่พอสายๆ นรกแตกตายกันเป็นเบือ 5,000 คน ในเช้าวันที่ 11 กันยายน 2544 ก็เหมือนกัน ที่นิวยอร์ก อากาศดี ผู้คนมีความสุขสดชื่นเบิกบาน แต่สักพักหายนะก็เกิดขึ้น มีคนตาย 2-3 พันคน แต่การตายของปัจเจกบุคคลนี้ก็ไม่ได้ต่างกัน บางทีตายแบบคาดไม่ถึง ซึ่งการเตรียมพร้อมรับมือกับความตายนี้มีความจำเป็น และการเตรียมนี้ก็คุ้มค่า ตรงที่ว่าไม่เสียเวลา ได้ใช้แน่ ที่เราเรียนในโรงเรียน 80 – 90 %นั้นไม่ได้ใช้ ที่เรียกได้ว่าคืนครู คืนอาจารย์ไปแล้ว เรียนวิศวกรรม 4 ปีบางทีจบแล้วไปทำธุรกิจ เรียนสถาปัตยกรรม 6 ปีจบแล้วไปเป็นศิลปิน นักร้อง บางคนแม้กระทั่งเรียนแพทย์ 6 ปีจบแล้วไปเป็นช่างภาพอิสระก็มี เพราะว่าเรียนแพทย์ตามพ่อแม่ จบแล้วขอเป็นช่างภาพอิสระตามใจตัวเองบ้าง เรียนภาษาอังกฤษมา 12 ปี บางทีลืมหมดแล้ว บางคนเรียนฝรั่งเศสหลายปีก็ไม่ได้ใช้ แต่ว่าเตรียมตัวสอบไล่วิชาชีวิตนี้ได้ใช้แน่ เพราะฉะนั้นประการแรกคือไม่เสียเวลา ประการที่สองให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า คือว่าถึงเวลาจะตายคนอื่นเขาทุรนทุราย แต่ว่าเราอาจจะตายอย่างสงบได้ ก่อนจะตายก็ไม่ได้ทรมาน เรียกว่ายอมรับได้ ถึงเวลาจะตายก็ตายด้วยความเต็มใจ ตายด้วยความพอใจด้วยซ้ำ เหมือนกับลูกจ้างที่รอเวลารับค่าจ้างหรือรอเวลาเลิกงาน อันนี้เป็นอุปมาของพระสารีบุตร พระสารีบุตรท่านอุปมาว่า ไม่อาลัยชีวิต ไม่ยินดีในความตาย อยู่เหมือนลูกจ้างรอเวลาเลิกงาน อีกที่หนึ่งบอกว่าอยู่เหมือนลูกจ้างรอรับค่าจ้าง นี้คือสภาวะของคนที่พร้อมตาย และเต็มใจที่จะตายเมื่อวันนั้นมาถึง เพราะฉะนั้นจึงตายแบบสงบ ตายดี
อาตมาและเพื่อนๆ หลายคนที่ทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยระยะท้าย มีความเห็นคล้ายกันอย่างหนึ่งคือว่า ความตายสงบนี้เป็นสิทธิของพวกเราทุกคน เราทุกคนมีสิทธิตายสงบ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพระ แม่ชีหรือฆราวาส ไม่ว่าจะบ้านใกล้วัดหรือไกลวัด ไม่ว่าจะเป็นนักภาวนาหรือไม่ใช่นักภาวนา ก็มีสิทธิ์ตายสงบ แต่ว่าสิทธินี้เช่นเดียวกับสิทธิอื่นๆ ที่มาพร้อมกับหน้าที่ ถ้าเราทำหน้าที่ดีเราก็ได้สิทธิ ซึ่งอันนี้เวลาทำงานเราทราบดี สิทธิพิเศษหลายอย่างเกิดจากที่เราทำหน้าที่อย่างเสียสละ อุทิศตัวแข็งขัน สิทธิการตายอย่างสงบนั้นก็เช่นกันคือมาพร้อมกับหน้าที่ หน้าที่ต่อความตาย เริ่มตั้งแต่ว่ามีท่าทีที่ถูกต้องต่อความตาย คือเห็นความตายเป็นหน้าที่ของเรา เพราะความตายเป็นหน้าที่ของเรา เราทุกคนมีหน้าที่ต้องตาย เราเกิดมาเพื่อจะตาย อันนี้ชัดเจนอยู่แล้ว เรามีหน้าที่ตาย อันนี้เป็นหน้าที่ของทุกชีวิตในธรรมชาติ
ธรรมชาติรอบตัวเราที่สวยงามได้เพราะว่าทุกชีวิตถึงเวลาเขาก็ตาย เขาทำหน้าที่นี้อย่างดีอย่างเพียบพร้อม ตายแล้วกลายเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ให้ชีวิตอื่นได้เกิดขึ้น เหมือนกับที่สัตว์อื่นเขาตายเพื่อให้เรามีชีวิตอยู่รอด คือตายเพื่อเป็นอาหารให้เรา เมื่อถึงเวลาเราต้องตาย ตายเพื่อลูก พ่อแม่ก็ตายเพื่อลูก ให้ลูกรับมรดกแทนพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่ไม่ตายแล้วลูกจะเอามรดกมาจากไหน ลูกคงต้องเช่าบ้านอยู่เรื่อยไป แต่ถ้าพ่อแม่ตายก็จะได้บ้านของพ่อแม่มาเป็นบ้านของตัวเอง อาศัยที่ดินของพ่อแม่มาใช้ทำมาหากินต่อไป เรานั้นมีหน้าที่ตายเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ใช้โลกนี้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาตนเหมือนกับที่เราเคยได้ใช้ ทุกชีวิตในร่างกายเราก็เหมือนกัน เขาทำหน้าที่ตายเพื่อให้เรามีชีวิตได้อย่างปกติสุขจนถึงขณะนี้ ทุกชีวิตนี้หมายถึงทุกเซลล์ในร่างกายเรา ซึ่งทุกวันจะมีเซลล์ตายประมาณห้าหมื่นถึงแสนล้านเซลล์ ตายเพื่อให้เซลล์ใหม่เกิดขึ้น เป็นเซลล์ที่ดีกว่า เขาตายเอง บางทีเขาเรียกว่าฆ่าตัวตาย ภาษาฝรั่งเรียกว่า อะพอพโทซิส (Apoptosis) เหมือนกับฮาราคีรีตัวเองเพราะว่าเป็นเซลล์ที่เก่า เป็นเซลล์ที่ผิดพลาด เป็นเซลล์ที่ถ้าเติบใหญ่ต่อไปจะเป็นปัญหา ก็ดับชีวิตตัวเองและเปิดทางให้เซลล์ใหม่ได้เกิดขึ้น เป็นเช่นนี้วันแล้ววันเล่า
ถ้าเซลล์ไหนไม่ทำหน้าที่นี้เราก็เดือดร้อน ในวงการแพทย์มีเซลล์ชนิดหนึ่งที่แพทย์ตั้งชื่อหรือสมญานามว่า เซลล์อมตะ คือไม่ยอมตาย มีการแบ่งตัวไปเรื่อยๆ คงเดาออกว่าหมายถึงเซลล์อะไร เซลล์มะเร็งคือเซลล์ที่ไม่ยอมตาย เราจึงตายแทน ที่อเมริกาเมื่อสัก 60 ปีที่แล้ว มีผู้หญิงคนหนึ่งเป็นมะเร็งมดลูก เธอเป็นคนผิวดำ หมอเก็บเนื้อเยื่อมะเร็งของเธอมา เอามาเลี้ยงในหลอดแก้ว แล้วขยายตัวไปเรื่อยๆ ไม่เคยตายเลย และเอาชิ้นส่วนของเนื้อเยื่อนี้ไปเพาะเลี้ยงที่อื่นต่อ ที่นี้ก็โต ๆ ๆ ขยายไปเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ โรงพยาบาล สถานวิจัยทั้งของเอกชนและของรัฐ ล้วนแต่มีเซลล์มะเร็งของเธอ ซึ่งการแพทย์เขาตั้งชื่อว่า เฮร่า ตั้งชื่อตามชื่อเธอ เฮนเรียตตา แล็กส์ มีคนประมาณว่าจากวันนั้นถึงวันนี้ 60 ปี เซลล์ของเธอที่แพร่ไปทั่วโลก เซลล์มะเร็งหนักเท่าไหร่รู้ไหม บ้างบอกว่า 50 ตันนั้นคงไม่ใช่ 50 ล้านตัน มันไม่มีวันตายเลย อมตะจริงๆ อันนี้เซลล์ไม่ทำหน้าที่
ถ้าเราจะมีสิทธิตายสงบได้ อย่างแรกที่เราต้องตระหนักคือ เราทุกคนหรือตัวเราเองมีหน้าที่ตาย เมื่อถึงเวลาตายก็ตายด้วยความเต็มใจ พอใจที่จะตาย ไม่ใช่ต่อสู้ขัดขืน หน้าที่ต่อความตายอีกอย่างหนึ่งคือการเตรียมตัวตาย เราจะทำหน้าที่นี้ได้ดีเราก็ต้องมีการเตรียมตัว เมื่อถึงเวลาตายก็ไม่บ่ายเบี่ยงไม่หลีกเลี่ยง ทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุดโดยการเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ และเชื่อว่าการตายของเราจะเป็นการตายที่งดงาม งดงามในทางธรรม รูปร่างอาจจะไม่น่าดูเท่าไหร่ เพราะว่าเป็นมะเร็งบ้าง เบาหวานบ้าง ไตวายบ้าง หรือบางทีอุบัติเหตุ รูปร่างนี้ไม่งาม ศพไม่สวย แต่ว่าเป็นการตายที่งดงามได้ เป็นการตายที่สงบแล้วส่งผลให้จิตได้ไปดี เป็นโอกาสของเราที่เราจะได้ตระเตรียมตัวเอง และการมาเรียนรู้ในช่วง 5 วันที่นี้ก็เป็นส่วนของการเตรียมตัวเตรียมใจ เป็นการพยายามทำหน้าที่ เราไม่ได้มีหน้าที่อยู่เท่านั้น แต่เรามีหน้าที่ตายด้วย เพราะฉะนั้นอย่าลืม
คนมักจะคิดว่าเรามีหน้าที่อยู่อย่างเดียว ทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้อยู่รอด ทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้อยู่ดี อันนี้ไม่ถูกหรือไม่พอ เรามีหน้าที่ตายด้วย เพราะฉะนั้นทำยังไงก็ได้เพื่อให้เราตายได้อย่างสงบ ทำยังไงก็ได้เพื่อให้เราตายโดยไม่ทุรนทุราย ทำทุกอย่างเพื่อให้เมื่อถึงเวลาเราเต็มใจ พอใจที่จะตาย ไม่ใช่เป็นความเต็มใจหรือพอใจอย่างคนที่เขาคิดจะฆ่าตัวตาย อันนั้นไม่เรียกว่าเต็มใจหรือพอใจที่จะตาย ถ้าเต็มใจหรือพอใจที่จะตายคือ น้อมรับความตายด้วยใจสงบไม่มีความกลัดกลุ้ม ไม่มีความน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่ได้รังเกียจชีวิต อย่างที่พระสารีบุตรบอกไว้ว่า เราไม่ได้อาลัยในชีวิตหรือว่าไม่ได้ยินดีความตาย ไม่ได้หวงแหนชีวิตและไม่ได้รังเกียจด้วย แต่เมื่อถึงเวลาก็พร้อมตาย เพราะอาตมาเชื่อว่าอันนี้เป็นของขวัญอย่างหนึ่งที่เราจะมอบให้กับตัวเอง เพราะว่าการตายอย่างสงบนั้น ไม่ใช่ว่ามีเงินแล้วจะทำได้ ไม่ใช่ว่ารวยแล้วจะทำได้ ไม่ใช่ว่ายิ่งใหญ่แล้วจะทำได้ มีเงินร้อยล้านพันล้านก็แลกกับความตายที่สงบไม่ได้ เพราะว่าไม่เกี่ยวกัน
ถ้าเราอยู่ดีและตายดีถือว่าชีวิตเรานั้นสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นการตายดีจึงเป็นเหมือนของขวัญที่เรามอบให้กับตัวเองและมอบให้กับคนรักด้วย ถ้าลูกหลานหรือคนรักเห็นเราตายดีตายสงบ เขายอมรับความตายของเราได้เจ็บปวดเศร้าโศกน้อยลงหรืออาจจะยินดี มีหลายคนเมื่อเห็นคนรักของตนตายสงบ เขาก็ยิ้มทั้งน้ำตา การตายสงบของเราสามารถจะทำให้คนรักของเรายิ้มทั้งน้ำตาได้ เขาเสียใจเขาจึงมีน้ำตาไหล แต่เขาก็ดีใจที่เราไปสงบเรียกว่าเป็นของขวัญทั้งของเราและของคนที่เรารักด้วย เพราะฉะนั้นขอให้เราได้ตั้งใจและทำความเพียรเสียตั้งแต่วันนี้