แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีธรรมะหมวดหนึ่งที่อาตมาเรียกว่าธรรมะสำหรับผู้รักตน บางคนอาจสงสัยว่าพระพุทธเจ้าสอนให้รักตนด้วยหรือ เพราะว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าล้วนแล้วแต่ถ้าเป็นเรื่องของหัวใจของพระพุทธศาสนา ท่านจะสอนว่าไม่ให้ยึดมั่นในตัวตนเพราะว่าไม่มีตัวไม่มีตนตั้งแต่แรก แล้วสอนให้รักตน จะไม่ขัดแย้งหรือ กับคำสอนของพระองค์ไม่ขัดแย้งเพราะว่าพระพุทธเจ้าเองในหลายครั้งท่านพูดถึงเรื่องของการรักตน อย่างเช่นมีภาษิตบทหนึ่งซึ่งเราอาจจะสวดอยู่บ่อยๆ ไม่ทำวัตรเช้าก็ทำวัตรเย็น คือว่าบุคคลผู้รักตนเมื่อหวังคุณเบื้องสูง ย่อมทำความเคารพพระธรรม บุคคลผู้รักตนนี้ถ้ารักตนจริง ก็ต้องหวังหรือว่าให้ความสำคัญกับธรรมะขั้นสูงหรือธรรมเบื้องสูง แล้วถ้าหากว่ารักตนจริงก็ต้องเคารพพระธรรม แต่ว่ามีคำสอนที่ง่ายกว่านั้นซึ่งเหมาะที่จะเรียกว่าเป็นคำสอนสำหรับผู้รักตน ธรรมะหมวดนี้ พระพุทธเจ้าจำแนกเป็น 4 ข้อ และพระองค์ก็ไม่ได้เรียกว่าธรรมะสำหรับผู้รักตน แต่เรียกว่าเนื้อหาแล้วเหมาะสำหรับคนที่รักตนอย่างถูกต้องหรือปรารถนาจะรักตนอย่างถูกต้อง
ข้อแรกคือไม่เอาทุกข์มาทับถมตน หมายความว่าอย่าหาทุกข์มาใส่ตัว หรือว่าพูดให้ง่ายชัดกว่านั้นคืออย่าเพิ่มทุกข์ให้แก่ตัวเอง หรือว่าอย่าซ้ำเติมตัวเอง ไม่หาทุกข์มาใส่ตัวเช่นว่า ไม่ผิดศีลเพราะว่าถ้าผิดศีลแล้วก็คือการหาความเดือดร้อนมาใส่ตัว ไม่เข้าสู่หรือหลงตน หลงในอบายมุข ใครที่หลงเข้าไปในอบายมุข หมกมุ่นในอบายมุข ก็เท่ากับว่ากำลังหาเรื่องเดือดร้อนมาใส่ตัว ไม่ว่าผิดศีลหรือว่าอบายมุข ใครที่เกี่ยวข้องแล้วก็เดือดร้อนทั้งนั้น เพราะว่าผิดศีลแล้วแม้จะได้ผลประโยชน์ชั่วครั้งชั่วคราว เช่นไปขโมยของเขาสำเร็จได้เงินมา คอรัปชั่นได้ทรัพย์สมบัติมา แต่ว่าก็เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ เดี๋ยวนี้ไปคอรัปชั่นมามีปัญหาแล้วว่า จะเอาเงินไปซ่อนไว้ที่ไหน จะเอาเงินไปใส่ไว้ในธนาคารไม่ได้ กฎหมายฟอกเงินเขาตามตรวจได้ เดี๋ยวนี้ต้องเอาเป็นเงินสด เงินสดต้องเก็บไว้ที่บ้าน ต้องคอยระแวดระวังไม่ให้คนเข้ามา บางทีโจรเข้ามาเจอเงินหลายสิบล้านอย่างที่เคยเป็นข่าวเมื่อ 3-4 ปีก่อน โจรไปเข้าบ้านของปลัดกระทรวงคนหนึ่ง เจอแบงก์หลายกิโลกรัมและอุตส่าห์ขนแบงก์กันออกมา แต่ว่าถูกจับได้ เรื่องก็เลยแตกว่าเอาเงินสดมาจากไหน อันนี้เป็นทุกข์ของคนที่คอรัปชั่น ถึงแม้จะคอรัปชั่นได้สำเร็จก็มีปัญหาว่าจะเอาเงินไปซ่อนไว้ที่ไหน จะอำพรางอย่างไร ไม่ใช่แค่ทำให้เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจถ้าเกิดความแตกคนจับได้ติดคุกอีก เรียกว่าสร้างทุกข์ให้กับตัวเอง อยู่ดีๆ มีความสุขสบายอยู่แล้วดันหาเรื่องใส่ตัวจนติดคุกติดตาราง ทั้งๆที่เป็นปลัดกระทรวง มีสถานะมีชื่อเสียงมีเงินทองพอที่จะอยู่ได้สบายจนตาย อันนี้เรียกว่า ถ้าคนเราผิดศีล ก็ไปซ้ำเติมตัวเอง หาทุกข์ใส่ตัว
อบายมุขเหมือนกัน ถ้าใครไปข้องเกี่ยวแล้วก็เจอแต่เรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ แต่ถึงแม้คนที่ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุข เหล้า บุหรี่ไม่แตะ การพนันไม่ข้องเกี่ยว ศีลก็รักษาครบ แต่ไม่วายที่จะหาทุกข์ใส่ตัวหรือว่าซ้ำเติมตัวเองอย่างเช่น เวลาเจ็บป่วย ป่วยกายก็หนักพอแรงอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ไม่หยุดแค่นั้น จะซ้ำเติมตัวเองก็คือเกิดความทุกข์ใจตามมาด้วย ปล่อยใจให้เป็นทุกข์วิตก กังวลป่วยทั้งกายป่วยทั้งใจ ป่วยกายอาจจะเป็นเพราะเชื้อโรค อาจจะเป็นเพราะสารแปลกปลอม แต่ป่วยใจนี้ไม่มีใครทำ จะเรียกว่าเราทำตัวเราเองได้หรือพูดให้ถูกก็คือ ใจที่วางไว้ไม่ถูก ไปสร้างทุกข์ให้กับตัวเอง บ่นตีโพยตีพาย ทำไมต้องเป็นฉัน อันนี้เรียกว่าซ้ำเติมตัวเอง ส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้กันทั้งนั้น โดยไม่เฉลียวใจว่ากำลังหาทุกข์มาใส่ตัว เวลาเงินหาย ถูกโกงเงินไป ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่หายแต่เงิน เสียแต่เงิน แต่ว่าปล่อยให้ความสุขสูญหายไปด้วย เสียสุขภาพจิตเพราะเอาแต่คิดถึงเงินที่หาย แล้วบางคนทำร้ายตัวเอง ไม่ยอมกินไม่ยอมนอน มีครูคนหนึ่ง ถูกโกงไปแสนบาท เสียใจมาก และคับแค้นใจมาก ไม่ยอมกินไม่ยอมนอน แม่ขอร้องว่ากินเถอะนอนเถอะ พักผ่อนเถอะ เขาก็ไม่ยอม ทำอย่างนี้เป็นเดือน แสดงว่าไม่ได้รักตัวเองหรอก อย่างนี้เรียกว่ารักเงินมากกว่า แต่คนส่วนใหญ่บอกว่ารักตัวเอง ๆ เอาเข้าจริงๆ ไปรักอย่างอื่นมากกว่า
รักเงินนี้ยังพอว่า พอมีเหตุผลเพราะเงินให้ความสุข แต่รักความโกรธ ทะนุถนอมความโกรธ รักษาความโกรธเอาไว้ อันนี้ไม่มีเหตุผล แต่คนส่วนใหญ่ก็เป็น เวลาโกรธใคร ทะนุถนอมความโกรธเหลือเกิน ไม่ยอมที่จะหาทางขจัดปัดเป่าความโกรธออกไป เอาแต่คิดซ้ำคิดซากถึงคนที่ทำให้เราโกรธ แล้วยิ่งทำให้โกรธมากขึ้น รู้ว่าการให้อภัยช่วยได้ แต่ก็ไม่ยอม จะขอโกรธอยู่นั่นแหละ ความเศร้าก็เหมือนกัน ไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่ารักน่าหวงแหน คนหวงแหนทนุถนอมความเศร้าไม่ยอมให้จางหายไป เพื่อนจะชวนไปเที่ยวก็ไม่ไป จะขอนั่งเจ่าจุกอยู่กับความเศร้านี่แหละ อันนี้ดูดีๆ ว่าคนเราไม่ได้รักตัวเองเท่าไหร่ ไปรักอย่างอื่นมากกว่า เท่ากับเป็นการซ้ำเติมตัวเอง เวลารถติดก็เสียเวลาอยู่แล้ว ไม่ยอมให้เสียเวลาแค่นั้นปล่อยใจให้เป็นทุกข์ไปด้วย ด้วยความหงุดหงิด ความกระวนกระวาย ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้ใจเป็นทุกข์ สุขภาพกายย่ำแย่ อันนี้เรียกว่าซ้ำเติมตัวเอง คนที่ถึงแม้จะรักษาศีลดี จะไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุข แต่ว่าสิ่งที่ทำลึกๆ ส่อว่าไม่รักตัวเองอย่างแท้จริง ทำร้ายตัวเองตลอดเวลา เวลารู้ตัวว่าเรากำลังทำร้ายตัวเอง ให้ลองนึกถึงคาถาหนึ่งของอาจารย์พุทธทาส เป็นคาถาที่เอามาใช้กับตัวเราอยู่บ้างดี คือพูดกับตัวเองว่า กูไม่ได้เกิดเป็นทุกข์โว้ย กูไม่ได้เกิดมาเป็นทุกข์โว้ย แต่คนเราบางทีก็โง่ เอาคาถานี้ใส่ตัว ยังมีเสียงเถียงมาในใจ กูจะทุกข์มีอะไรหรือเปล่า อันนี้เป็นความโง่ของคน
บางทีคนเรารักความทุกข์มาก เวลาจิตใจใฝ่ดี มีวิธีพูดหาอุบายให้ใจหลุดจากทุกข์ ความโง่ก็เถียงว่า กูจะทุกข์มีอะไรไหม อันนี้ต้องให้เรานึกถึงพ่อแม่ พ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงเรามา ไม่ได้เลี้ยงเราทะนุถนอมเรามา เพื่อให้เราทุกข์แบบนี้ แล้วท่านอยู่ในสวรรค์ชั้นใด แล้วท่านมารู้ว่าเราทุกข์แบบนี้ ท่านจะมีความสุขไหม หรือยิ่งถ้าท่านมีชีวิตอยู่ ถ้าไม่รักตัวเอง รักพ่อแม่สักนิดหนึ่งถึงท่าน ท่านอุตส่าห์ทะนุถนอมกล่อมเกลาเรามา ไม่ใช่เพื่อให้เรามาทุกข์แบบนี้ ถ้ารักท่านต้องพยายาม สลัดความทุกข์ออกไปจากจิตใจ ถ้าป่วย ก็ป่วยอย่างเดียวคือป่วยกาย ไม่ป่วยใจ ถ้าจะหายก็หายอย่างเดียวคือเงินหาย อย่างอื่นปกติ ถ้าจะรถติด เสียเวลา เสียแต่เวลา อย่างอื่นไม่เสีย ยิ้มอยู่กับปัจจุบัน ถ้าลองคิดแบบนี้ดู แล้วบ่อยครั้ง ถ้าเราทุกข์เพราะเรื่องของเรายังพอว่า ทุกข์เพราะว่าเราเจ็บป่วย ทุกข์เพราะว่า เงินหาย ทุกข์เพราะว่าถูกโกง ทุกข์เพราะว่าตกงาน แต่บ่อยครั้งความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจเรา ล้วนแล้วแต่ไปหยิบไปฉวยเอาเรื่องของคนอื่นมาทุกข์ ไม่ได้พูดถึงความทุกข์ของคนที่เขามาปรึกษาหารือเรา ความทุกข์ของพ่อแม่ อันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง
บ่อยครั้งเป็นความทุกข์ของคนที่ไม่ใช่เรื่องของเราเลย อย่างเช่นเวลาเราทำงาน เราเห็นบางคนขี้เกียจ อู้งาน เราเอาแต่หงุดหงิดเขา คือเขาจะอู้งานเป็นเรื่องของเขา อย่าเอาเรื่องของเขามาเป็นปัญหาของเรา บ่อยครั้งเราไปสนใจปัญหาของคนอื่น การกระทำที่ไม่ถูกต้องของคนอื่น จนกระทั่งเราลืมหน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราอย่างหนึ่งคือว่ารักษาใจของเราให้เป็นสุข หลายคนโกรธแค้นเพราะว่า ถูกเอาเปรียบเบียดเบียนหรือถูกรังแก แล้วคนเหล่านั้นก็ไม่มารู้สึกสำนึกผิด ไม่มาขอโทษเรา เราลืมไปว่าหน้าที่ของเราคือ รักษาใจให้ปกติ เพราะฉะนั้น เมื่อมีความโกรธมารบกวนจิตใจ หน้าที่ของเราที่ควรทำคือว่าคลายความโกรธ เช่นให้อภัยเขา แต่หลายคนไม่ยอมให้อภัย เหตุผลก็เพราะว่าเขาไม่สำนึกผิด เขาไม่มาขอโทษเรา ฉันจะให้อภัยเขาต่อเมื่อเขามาขอโทษฉัน การที่เขาจะขอโทษเราหรือไม่เป็นเรื่องของเขา ถ้าเขาไม่ขอโทษเราทั้งที่เขาทำผิดเป็นกรรมของเขาเอง เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องของเขาเอง ซึ่งเขาต้องรับกรรม แต่คนส่วนใหญ่เอาการกระทำของคนเหล่านั้นที่ไม่ถูกต้องมาทิ่มแทงตัวเองทำให้โกรธหนักขึ้น คนเราพอมีความทุกข์อย่างแรกที่เราต้องทำคือรักษาตัวเราให้มีความสุขหรือว่าหายจากทุกข์ สมมุติว่าผู้ชายคนหนึ่ง ข้ามถนนแล้วโดนรถเฉี่ยวชน รถคันนั้นแทนที่จะลงมาช่วยเหลือกลับหนีไป ส่วนผู้ชายคนนั้น บาดเจ็บ กระดูกหัก ไม่กี่นาทีต่อมามีรถพยาบาลมารับเขาเพื่อไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่ผู้ชายคนนั้นบอกฉันไม่ไป ฉันจะไปต่อเมื่อตีนผีคนนั้นมาขอโทษฉันก่อน อย่างนี้เรียกว่าฉลาดหรือโง่ อย่างนี้เรียกว่ารักตัวเองหรือเปล่า คนฉลาดคนที่รักตัวเอง ต้องรีบขึ้นรถพยาบาล ไปรักษาตัวก่อน ส่วนตีนผีจะมาขอโทษหรือไม่เป็นเรื่องทีหลัง
เวลาทุกข์กาย คนส่วนใหญ่พร้อมจะเยียวยาตัวเองหรือให้คนอื่นเยียวยา แต่เวลาทุกใจเราไม่ทำอย่างนั้น เวลาทุกข์ใจเช่นเราเจ็บปวดเพราะมีคนรังแก เราโกรธ ความโกรธนี้คือว่าเรามีแผลอยู่ที่ใจ พอเรามีแผลอยู่ที่ใจ เราต้องรักษาแผลในใจก่อนคือให้อภัยเขา หรือว่าแผ่เมตตาให้เขาไปก็แล้วแต่ นี่เป็นหน้าที่ของเรา หน้าที่ที่เราต้องมีต่อตัวเอง หน้าที่ของคนที่รักตัวเอง ส่วนเขาจะมาขออภัยหรือไม่ มันเป็นเรื่องของเขา ถ้าเขาไม่มาขออภัย เขาก็รับกรรมเอง ในขณะเดียวกันเวลาที่เราทำความดี ช่วยเหลือใครแล้วเขาไม่สำนึกบุญคุณอย่าไปโกรธเขา ถ้าเราไปโกรธเขานี้เรากำลังสร้างทุกข์ให้กับตัวเอง เรากำลังซ้ำเติมตัวเอง เรากำลังเอาเรื่องของเขามาเป็นปัญหาของเรา เขาไม่สำนึกบุญคุณของเราเป็นเรื่องของเขา เขาทำไม่ถูกเป็นเรื่องของเขา เราอย่าเอาการกระทำที่ไม่ถูกของเขามาเป็นภาระสร้างทุกข์ให้แก่ตัวเอง แต่คนส่วนใหญ่ทำอย่างนั้น เอาแต่เจ็บแค้นว่ามันไม่มีความสำนึกในบุญคุณของเรา ไม่ช่วยเหลือเรา ไม่แม้แต่จะเห็นความดีของเรา รู้หรือเปล่าว่านั่นคือการซ้ำเติมตัวเอง นั่นไม่ใช่วิสัยของคนที่รักตน อันนี้รวมถึงลูกที่ดูแลพ่อแม่ มีปัญหาแบบนี้หลายคน ลูกดูแลพ่อแม่ พ่อแม่บางทีก็เป็นอัลไซเมอร์ บางทีก็กำลังจะตายอยู่แล้ว แต่ว่าพี่น้องไม่สนใจที่จะมาดูแลพ่อแม่ ลูกที่ดูแลพ่อแม่จะโกรธมาก โกรธว่าทำไมพี่ๆ น้องๆ ไม่มาใส่ใจ ไม่มาดูแลพ่อแม่ การทำอย่างนี้ก็คือการซ้ำเติมตัวเอง เพราะเราก็เหนื่อยอยู่แล้วกับการดูแลพ่อแม่ เรายังมาทุกข์ใจอีก โมโหพี่น้อง โมโหเพราะอะไร เพราะเขาทำไม่ถูก แต่การที่เขาทำไม่ถูกเป็นเรื่องของเขา สักวันเขาต้องรับกรรมเอง ในเมื่อเป็นเรื่องของเขา ทำไมเราต้องเอามาเป็นปัญหาของเราด้วย
หลายคนเอาปัญหา เอาเรื่องของคนอื่นมาเป็นปัญหาของตัวเอง เอาการกระทำที่ไม่ถูกต้องของคนอื่น มาเป็นปัญหาของตัวเอง เสร็จแล้วลืมทำหน้าที่ของตัวเอง บางคนเอาแต่บ่นพี่น้อง จนกระทั่งไม่ดูแลพ่อแม่อย่างดี ใจหงุดหงิด เสร็จแล้วระบายความหงุดหงิดใส่พ่อแม่ซึ่งกำลังป่วย ทั้งๆ ที่พ่อแม่ไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ว่าคนดูแลไปโกรธพี่น้อง ก็เลยระบายใส่พ่อแม่ เรียกว่าลืมทำหน้าที่ของตน หน้าที่ของตนคือการดูแลพ่อแม่อย่างดี และหน้าที่อีกประการหนึ่งคือการรักษาใจตนให้ปกติ ให้มีความสุข นี่คือวิสัยของคนที่รักตน เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า บ่อยครั้งเราไม่ได้รักตัวเองอย่างแท้จริง เพราะเราเอาแต่ซ้ำเติมตัวเอง ถ้าเรารักตัวเองอย่างแท้จริง ข้อแรกคือ อย่าหาทุกข์มาทับถมตนหรือว่าอย่าซ้ำเติมตนเอง เราทำงานเหนื่อยแล้วอย่าไปกลุ้มใจ อย่าไปโมโหกับคนอื่นหรือเพื่อนร่วมงานที่เขาไม่ทำงานของเขา การที่เขาไม่ทำงานของเขา เป็นปัญหาของเขา ไม่ใช่ปัญหาของเรา แต่แน่นอนอาจจะมีผลกระทบต่องานการ ต่อส่วนรวม ในกรณีเช่นนั้นเราก็ต้องหาเวลาที่จะพูดคุยกับเขา พยายามจัดระบบให้ดีเพื่อที่จะทำให้ทุกคนมีความร่วมแรงร่วมใจกัน แต่อย่างน้อยเราต้องรักษาใจของเราก่อนไม่ให้ทุกข์ ให้เราตระหนักว่าหน้าที่ของคนที่รักตน เบื้องต้นคือว่าไม่หาทุกข์มาใส่ตัว แล้วไม่ปล่อยใจให้จมอยู่กับความทุกข์ด้วย
มีผู้ชายคนหนึ่ง เขาเป็นโปลิโอตั้งแต่เล็ก สมัยก่อนเมื่อสัก 50 ปีที่แล้ว มีคนเป็นโปลิโอมากเพราะว่าไม่มีวัคซีนป้องกันแล้วไม่มียารักษา และโปลิโอที่เขาเป็น อาการลุกลามมากจนกระทั่งพิการ แทบจะเป็นอัมพาต ต้องนอนเป็นส่วนใหญ่หรือไม่ต้องนั่งรถ การพูดการคุยก็ลำบาก แต่ว่าเขาสามารถที่จะพากเพียรจนเรียนจบมหาวิทยาลัย แล้วเป็นคนที่อารมณ์ดี เพื่อนแปลกใจ เคยถามเขาว่าทำไมคุณถึงอารมณ์ดี ทำไมคุณไม่มีความทุกข์ ผู้ชายคนนี้ชื่อบรูซ ดาซิโอ เป็นชาวอเมริกัน เขาบอกว่าเคยทุกข์ แต่ว่าวันหนึ่งถามตัวเองว่า ฉันจะใช้ชีวิตที่เหลือจมอยู่กับความทุกข์ จมอยู่กับความโกรธแค้นไปตลอดชีวิตหรือเปล่า แล้วเขาได้คำตอบว่าฉันจะไม่ใช้ชีวิตที่เหลือจมอยู่กับความทุกข์ ก่นด่าชะตากรรมหรือโกรธแค้น พอคิดได้เช่นนี้ เขาตัดสินใจว่าฉันจะไม่จมอยู่กับความทุกข์ แล้วเขาเปลี่ยน เปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนมาเป็นการชื่นชม ขอบคุณ แล้วเขารู้สึกเขาขอบคุณพระเจ้า ขอบคุณพ่อแม่ ขอบคุณมหาวิทยาลัย ขอบคุณมิตรสหาย ขอบคุณมันสมองที่เขาได้มา แล้วขอบคุณชีวิตที่เต็มไปด้วยโอกาส คือเปลี่ยนมุมมอง แต่การเปลี่ยนมุมมองเกิดขึ้นได้ เพราะเขาเริ่มตั้งคำถามว่าฉันจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่จมกับความทุกข์ไปตลอดอย่างนั้นหรือ
คล้ายๆ กับคาถาของอาจารย์พุทธทาสว่า กูไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นทุกข์โว้ย หรือถ้าเป็นทุกข์แล้วก็ลองถามดูว่า เราจะเป็นทุกข์แบบนี้ไปตลอดชีวิตหรือเปล่าในเมื่อเวลาเราเหลือน้อย ควรจะใช้เวลาที่เหลือหาของดี ๆ หรือเก็บเกี่ยวความสุขมาใส่จิตใจของตนเองมากกว่า ความทุกข์เป็นสิ่งทีเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ว่าเราอย่าปล่อยให้ความทุกข์นั่นกระทำย่ำยีกับเรา ถ้าเรารักตัวเอง เราต้องพยายามที่จะเปลี่ยนความทุกข์นั้น จริงอยู่ว่าเหตุการณ์บางอย่างเป็นเรื่องอดีตไปแล้ว เราเปลี่ยนไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนมุมมองได้ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ พวกเราหลายคนคงรู้จัก เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกษียณก่อนถึงอายุราชการ หลังเกษียณก็เดินเท้าเปล่าจากเชียงใหม่ไปเกาะสมุย หนังสือของท่านขายดีมาก พิมพ์ไป 20 ครั้ง หนังสือชื่อว่า สู่อิสรภาพ อาจารย์ประมวลเคยเล่าว่า เคยไปอินเดีย ตอนนั้นไปในเพสสมณะ บวชพระแล้วไปอินเดียเพื่อไปเรียนต่อตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก อาจารย์ประมวลบอกว่าไปอินเดีย มีความทุกข์มาก ทุกข์สารพัดอย่างที่เราทราบว่าอินเดียเป็นเมืองที่ไม่ค่อยน่าอยู่ แล้วผู้คนนิสัยไม่ดีเยอะ แกบอกว่า ตอนอยู่อินเดีย 8-9 ปี หลายครั้งอยากจะร้องไห้ แล้วร้องไห้บ่อยด้วย เรียนจบปริญญาเอก กลับมาเมืองไทย แล้วสึกมาเป็นอาจารย์ รู้สึกไม่ดีต่ออินเดียมาเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งเมื่อได้มีโอกาสทบทวนประสบการณ์ในอินเดียพบว่าก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของตนเองหลายอย่าง นอกจากได้ปริญญาเอกแล้ว ยังได้อะไรอีกมากมาย เกิดความรู้สึกสำนึกในบุญคุณของอินเดีย
แล้ววันหนึ่งกลับไปอินเดียเพื่อไปขอบคุณอินเดีย ขอบคุณทุกอย่างของอินเดีย เหตุการณ์ในอดีตเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ว่าจากเดิมที่เคยรู้สึกเจ็บปวดกับประสบการณ์ที่นั่น พอเปลี่ยนมุมมองมันมีแต่ความซาบซึ้ง เปลี่ยนมุมมองเพราะว่ามาทบทวนดูแล้ว เห็นว่าได้มีส่วนเปลี่ยนแปลงชีวิตของท่านหลายอย่าง ความยากลำบากทำให้ชีวิต จิตใจพัฒนาขึ้น เข้มแข็งขึ้น ได้เรียนรู้หลายอย่าง ซึ่งไม่เคยนึกว่าจะได้รับจากอินเดีย อันนี้เป็นการเปลี่ยนความทุกข์ ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนเหตุการณ์เพราะเราเปลี่ยนไม่ได้ แต่ว่าเราเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนมุมมองจากการที่เราเห็นคุณค่าของสิ่งนั้น คุณค่าหลายอย่างเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว แต่พอเราเพ่งพินิจพบว่ามันมีประโยชน์มาก อันนั้นคือเหตุการณ์ในอดีต บางครั้งทุกข์เกิดขึ้นกับเราในปัจจุบัน เช่นความเจ็บป่วย ความสูญเสีย แต่ว่าก็ไม่สาย หรือว่ายังมีโอกาสที่เราจะเปลี่ยนได้ ครูบาอาจารย์ หลวงพ่อคำเขียนท่านสอนว่า เห็นอย่าเข้าไปเป็น เวลาเราเจอทุกข์ ถ้าเราไม่ปล่อยใจให้เขาไปเป็นทุกข์ ลองกลับมามอง ออกมามองได้ด้วยสติ สติทำให้เห็น บางทีการเห็นทุกข์สามารถที่จะทำให้เราพบธรรมะได้ ทุกข์ยังเจออยู่กับตัวแต่พอเราใช้สติเข้าไปมองพิจารณามันกลายเป็นธรรมะ ความเจ็บป่วยถ้าเราเอาแต่ตีโพยตีพายมีแต่ซ้ำเติมตัวเอง แต่พอเราเริ่มพิจารณาจะเห็นว่าความเจ็บป่วยมาสอน สอนให้เราตระหนักถึงความไม่เที่ยงของชีวิต สอนให้เราเห็นแล้วว่านี่เป็นธรรมดาของชีวิต สามารถที่จะเตือนให้เราตระหนักถึงเวลาที่กำลังจะเหลือน้อยลง เพราะฉะนั้นจะต้องมีความกระตือรือร้นขวนขวาย ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมะทั้งนั้น
ในสมัยพุทธกาลมีตัวอย่างมากมายคนซึ่งเจอทุกข์สูญเสียลูก สูญเสียพ่อแม่ สูญเสียคนรัก อย่างนางกีสาโคตมี สูญเสียลูก นางปฏาจาราสูญเสียทั้งสามีทั้งลูกทั้งพ่อแม่ในเวลาไล่ๆ กัน เจ็บปวดมากเลยแต่ว่าพอได้สติขึ้นมา ซึ่งส่วนสำคัญเกิดจากการที่พระพุทธเจ้าได้พูดเตือนสติ ก็เห็นถึงความจริงของชีวิตว่าเต็มไปด้วยทุกข์ ไม่น่ายึดถือ เห็นโทษของความยึดติดถือมั่น ที่ทุกข์ที่เศร้าโศกเสียใจจนเกือบจะเป็นบ้าเพราะความยึดติดถือมั่น พอเห็นโทษของความยึดติดถือมั่นถอนออกมา ก็กลายเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระโสดาบัน เป็นได้เพราะอะไร เพราะว่าเจอทุกข์ แต่แทนที่จะเป็นทุกข์ก็เห็นทุกข์ แล้วสามารถที่จะถอดบทเรียนจนเห็นสัจธรรม อันนี้คือการเปลี่ยนทุกข์ให้เป็นธรรม การเรียนเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative earning) ควรจะหมายถึงการสามารถที่จะมองและเปลี่ยนทุกข์ให้เป็นธรรมะได้ และจำเป็นด้วยสำหรับคนที่รักตัวเอง พูดมาทั้งหมดนี้แค่ข้อแรก ที่จะมามีข้อทีสองด้วยคือว่า เมื่อเราไม่ซ้ำเติมตัวเองด้วยการหาทุกข์มาใส่ตัวแล้ว ข้อที่สองคือว่า อย่าปฏิเสธความสุขที่ชอบธรรม
อันนี้เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งเพราะว่าดูเหมือนง่ายแต่ที่จริงคนส่วนใหญ่ปฏิเสธความสุขที่ชอบธรรม ความสุขที่ชอบธรรมยกตัวอย่างง่ายๆ คือว่าอย่างเช่น ความสุขจากวัตถุ หาเงินมาได้ควรจะใช้เงินเพื่อให้ตัวเองมีความสุข เพื่อเลี้ยงตัวให้มีความสุข เลี้ยงครอบครัว อันนี้พระพุทธเจ้าเคยพูดถึงเศรษฐีคนหนึ่งซึ่งร่ำรวยมาก แต่ว่าตระหนี่ถี่เหนียว ไม่ใช้เงินเพื่อความสุขของตัว เช่น กินข้าวปลายหัก เสื้อผ้าปุปะ อยู่กระท่อมที่สับปะรังเคมาก พระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญ พระพุทธเจ้าตำหนิว่าไม่รู้จักใช้เงินที่หามาเพื่อเลี้ยงตัวเองให้มีความสุข มีเงินแล้วก็ต้องใช้ให้มีความสุข และช่วยเลี้ยงครอบครัวให้มีความสุขด้วย พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธเงินเพียงแต่ว่าอย่างที่พูดไว้เมื่อตอนบ่ายว่าเงินเราต้องใช้มัน อย่าให้มันเป็นนายเรา เงินเป็นบ่าวที่ดี แต่เป็นนายที่เลว เมื่อเราหาเงินมาได้ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ต้องใช้เงินเพื่อเลี้ยงตัวเองให้มีความสุข แล้วเลี้ยงผู้อื่นให้มีความสุข แล้วช่วยเหลือผู้อื่นด้วย รวมทั้งทำความดี อันนี้เป็นเรื่องความหมายเบื้องต้นของการไม่ปฏิเสธความสุขที่ชอบธรรม แต่จริง ๆ ถ้ามองให้ลึกๆ มีความหมายมากกว่านั้น เช่นว่าผู้คนส่วนใหญ่ทั้งที่ตัวเองมีความสุขแต่มองข้าม การที่ตัวเองไม่เจ็บไม่ป่วย การที่ตัวเองมีสุขภาพดี มีกำลังวังชา
คนส่วนใหญ่ไม่เคยตระหนักว่าคือโชค คือความสุข หลายคนทั้งที่มีสุขภาพดี มีครอบครัวที่อบอุ่น มีงานการ กินอิ่มนอนอุ่น แต่ไม่มีความสุข เพราะเขานึกถึงและมองเห็นแต่สิ่งที่ตัวเองยังไม่มี ถ้าเด็กนึกถึงแต่ Tablet Iphone ว่าฉันยังไม่มี เด็กมีทุกอย่างแต่เด็กไม่มีความสุข เพราะมองเห็นแต่สิ่งที่ตัวเองไม่มี ผู้ใหญ่ก็เป็นทุกข์เพราะว่ายังไม่ได้ ซี9 ซี10 ไม่ได้เป็นอธิบดี เป็นปลัดกระทรวง ทั้งที่ตัวเองมีอะไรต่ออะไรมากมาย ซึ่งควรที่จะชื่นชม ควรที่จะมีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองมี กลับมองข้าม พอไปมองเห็นแต่สิ่งที่ไม่มีก็เป็นทุกข์ อันนี้เรียกว่าปฏิเสธความสุขที่ชอบธรรม หรือว่าเมินข้าม การที่มีพ่อแม่อยู่กับเรา คนรักยังอยู่กับเราเป็นความสุขอย่างหนึ่งแต่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น ไปรอไปหวังความสุขจากโน่นจากนี่ จากฐานะตำแหน่ง จนกระทั้งเขาเสียไป เขาจากไป จึงค่อยมาตระหนักว่าตอนที่เขาอยู่กับเราคือช่วงเวลาที่เป็นโชคอันประเสริฐ หลายคนมาเห็นต่อเมื่อสูญเสียไปแล้ว
มีผู้ชายคนหนึ่งสนิทกับพ่อมาก เพราะว่าพ่อเลี้ยงมาตั้งแต่เล็ก แม่เสียไปตั้งแต่ยังเล็ก แล้วพ่อเลี้ยงแบบเหมือนเป็นเพื่อน กินข้าวด้วยกัน ไปเที่ยวด้วยกันจนกระทั่งเขาเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วก็มีงาน งานที่เขาทำเป็นงานที่ดีแล้วเป็นงานที่เขาต้องทุ่มเท กลับบ้านก็ดึก เวลาเลิกงานแล้วเขาประชุมหรือสังสรรค์กับเพื่อน พ่อมักจะโทรศัพท์มาแล้วถามว่าเมื่อไหร่จะกลับบ้าน รอกินข้าวเย็นด้วยกัน เพราะทำอย่างนี้มาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก จนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัย เขาจะบอกว่ายังไม่ว่าง ตอนหลังพอพ่อโทรมาอยู่เรื่อย ๆ แกเริ่มรำคาญ เริ่มหงุดหงิด แค่ได้ยินเสียง หรือเห็นเบอร์โทรศัพท์ของพ่อ แทบจะระเบิด เพราะเหมือนกับว่าพูดไม่รู้เรื่องหรือไงว่า ไม่ว่าง เสาร์ อาทิตย์ พ่อถามว่าเมื่อไหร่ไปเที่ยวกัน เขาก็ไม่ว่าง เป็นอย่างนี้อยู่เป็นปี 2-3 ปี จนกระทั่งวันหนึ่งพ่อป่วย แล้วในที่สุดพ่อจากไป เวลานี้เกิดขึ้นเร็วมาก แล้วพอพ่อจากไป ไม่มีเสียงโทรศัพท์จากพ่ออีกแล้ว เขาโหยหา อยากจะฟังเสียงโทรศัพท์จากพ่อ แต่ตอนที่พ่ออยู่ เสียงโทรศัพท์จากพ่อนี่รำคาญมาก เขาไม่เคยเฉลียวใจว่าเสียงโทรศัพท์แปลว่าพ่อยังอยู่กับเรา แล้วเราควรจะดีใจที่ท่านอยู่ แต่แกมองไม่เห็นไง
แล้ววันหนึ่งเสียงโทรศัพท์นั้นหายไป เขานึกถึงเสียงโทรศัพท์นั้นมากแต่ไม่มีแล้ว แล้วเขานึกถึงต่อไปว่า พ่อเคยชวนเขาไปเที่ยว แต่เขาไม่มีเวลา มานึกได้ก็สายไปแล้ว แล้วสิ่งที่เขาทำเป็นการชดเชยคือว่าเวลาเขาไปไหน เขาจะเอารองเท้าของพ่อใส่ไว้ในเบาะหลังรถ แล้วบอกว่าพ่อเราไปด้วยกัน นี่คือวิธีที่เขาจะชดเชยความรู้สึกผิด แต่ว่าเทียบไม่ได้กับตอนที่พ่ออยู่ คือเขาเพิ่งเริ่มมาเฉลียวใจว่าตอนที่พ่ออยู่เราเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมาก แต่เขามองไม่เห็น มาเห็นตอนที่พ่อจากไปแล้ว อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่ง ว่าคนเรา บ่อยครั้งเรามองข้ามความสุขที่มีอยู่ มานึกได้ตอนที่สูญเสียไปแล้ว เพราะฉะนั้นข้อที่สอง คำว่าไม่ปฏิเสธความสุขที่ชอบธรรม หรือว่าไม่มองข้ามไม่ใช่ว่าทำได้ง่ายๆ หรือว่าเป็นเรื่องที่ฉันทำอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่ใคร ๆ เขาทำกันเป็น common sense จริงๆไม่ใช่ common sense มันเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้ามไป เพราะฉะนั้นข้อที่สามพระพุทธเจ้าบอกว่าจริงอยู่ว่าเราไม่ควรปฏิเสธความสุขที่ชอบธรรม แต่เราอย่าสยบมัวเมาในความสุขนั้น มีเงินใช้เงินเลี้ยงตัวเองให้มีความสุข อย่าไปยึดติดในความสุขนั้น เพราะว่ามันไม่เที่ยง อย่าสยบมัวเมาในความสุขนั้น การที่พ่อแม่อยู่กับเรา ลูกอยู่กับเรา คนรักอยู่กับเรา ชื่นชมความสุขนั้น ชื่นชมโอกาสนั้นก็ดีแล้ว แต่ว่าให้ระลึกเตือนใจว่าความสุขเหล่านั้นก็ไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นอย่าไปมัวเมากับมัน เผื่อใจไว้ว่าสักวันหนึ่งจะต้องสูญไป แล้วเมื่อต้องสูญไปเราก็ไม่ทุกข์ แล้วข้อสุดท้ายคือว่า ทำให้เหตุแห่งทุกข์ดับไป ข้อนี้ยากที่สุด แต่ว่าจำเป็นด้วยเพราะว่าถ้าเราไม่ทำให้เหตุแห่งทุกข์ดับไป ความทุกข์ก็ยังมารบกวนเราอยู่ โดยเฉพาะความทุกข์ใจ
4 ข้อนี้อาตมาคิดว่าเป็นธรรมะสำหรับผู้รักตนควรจะระลึกถึงเอาไว้
ข้อที่ 1 คือว่าไม่เอาทุกข์มาถมตนหรือว่าซ้ำเติมตนด้วยความทุกข์
ข้อที่ 2 คือไม่ปฏิเสธมองข้ามความสุขที่ชอบธรรมหรือความสุขที่มีอยู่
ข้อที่ 3 คืออย่าสยบมัวเมาในความสุขนั้น
ข้อที่ 4 คือเพียรพยายามทำเหตุแห่งทุกข์ให้ดับไป ให้สิ้นไป
อย่างน้อยทำสองข้อแรกให้ได้ แล้วถ้าได้แล้วค่อยมาทำข้อที่สาม แล้วเติมด้วยข้อที่สี่ ซึ่งเป็นข้อที่ยากที่สุด