แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อเช้ามืดตอนทำวัตร ฝนก็เทลงมา ฝนตกดังๆแบบเมื่อเช้านี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นในระยะหลัง ในพรรษานี้ก็ดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกนี่แหละ ถ้าเป็นเมื่อก่อนฝนก็จะเทลงมาค่อนข้างบ่อย ตกหนักตอนเช้าๆทีไร คนในวัดก็มีเรื่องที่ต้องผจญภัยกัน เพราะว่าน้ำในบ่อน้ำในสระจะท่วมจนท่วมสะพาน แต่ก่อนสะพานจะเตี้ย ขอบสระไม่สูงเท่าปัจจุบัน ฝนตกเทลงมาแค่ชั่วโมงหรือครึ่งชั่วโมงน้ำในสระก็จะขึ้นมาเร็ว เพราะว่าระบายมาจากทางอื่นด้วย จากข้างบน เวลาข้ามสะพานก็ต้องระวัง เพราะว่าน้ำนี่ท่วมทีท่วมเลยเข่าไปเสียอีก เดินก็ต้องระวัง เพราะว่าจะพลัดตกลงจากสะพานได้ ไม้ที่วางเป็นสะพานก็ไม่ได้แน่นหนาเท่าไร บางทีไม้ก็ลอย เกิดเป็นร่องขึ้นมาถ้าเดินไม่มีสติก็จมลงไปเลย
แต่ที่ผจญภัยยิ่งกว่านั้นคือตอนออกไปบิณฑบาต สมัยก่อนจะยังไม่มีทาง ยังไม่มีสะพานปูน ยังไม่มีทางเส้นที่อยู่หน้าวัด เวลาจะไปบิณฑบาตต้องเดินออกจากหน้าวัดก็เลี้ยวซ้ายแต่ไปยังไม่ถึงหมู่บ้านก็เลี้ยวขวาเดินลงไปยังลำปะทาว ไม่มีสะพานปูน มีอย่างมากก็ขอนไม้ สมัยก่อนนี้ไม้ต้นใหญ่ๆก็มีอยู่ไม่ขาด เราก็ใช้วิธีไต่ไปตามขอนไม้ใหญ่นั้น ซึ่งถ้าเป็นช่วงหน้าแล้งก็ไม่ค่อยมีปัญหาแต่พอช่วงหน้าฝน แล้วฝนตกหนักๆ ถึงแม้จะหยุดไปแล้ว แต่ถ้าเพิ่งตกน้ำจะเชี่ยว น้ำจะแรง เดินข้ามสะพานที่เป็นขอนไม้นี่ก็ต้องยิ่งระมัดระวังมากเพราะน้ำนี่เชี่ยว ถ้าเดินไม่ดีพลัดลื่นก็อาจจะโดนน้ำซัด น้ำพัดออกไปเอาเลย ก็เป็นความตื่นเต้นอีกอย่างหนึ่งของชาววัด ซึ่งจะว่าไปก็เป็นการฝึกสติอย่างดีสมัยนี้ไม่มีแบบนี้แล้ว เพราะว่าสะพานที่ข้ามไปศาลาหน้าสูง อีกทั้งสะพานที่จะข้ามไปข้ามลำปะทาว เดี๋ยวนี้ก็เป็นสะพานปูนไม่มีการไปผจญภัยกับน้ำเชี่ยว
แต่ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีประสบการณ์แบบนั้นแล้ว ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังหนีไม่พ้นกับการที่ต้องเจอกับกระแสน้ำเชี่ยวภายใน กระแสน้ำเชี่ยวภายนอกมีเป็นฤดู ก็คือฤดูฝน แล้วก็เป็นบางวัน วันไหนฝนตกหนักตอนเช้าก็เจอน้ำเชี่ยวกันตอนบิณฑบาต แต่ว่ากระแสที่เชี่ยวไหลภายในไม่มีเวล่ำเวลา ไม่มีฤดูกาล แล้ววันหนึ่งจะเกิดขึ้นหลายครั้งก็ได้ กระแสที่ไหลเชี่ยวภายในหมายถึงกระแสอารมณ์ อารมณ์เวลาเกิดขึ้นในใจเรา ส่วนใหญ่แล้วผู้คนก็มักจะถูกกระแสอารมณ์พัดพาไปไม่ว่าจะเป็นอารมณ์เล็กอารมณ์น้อย อย่าว่าแต่อารมณ์เลย แม้กระทั่งกระแสความคิด ความคิดเบากว่าอารมณ์มาก พอมีกระแสความคิดเกิดขึ้นมันก็พัดใจของเราไป ไปจนกว่าจะหมดแรงของกระแสความคิดนั้น
เราสังเกตไหม เวลาเราอยู่ที่นี่ไม่ว่าจะระหว่างที่เดินจงกรม สร้างจังหวะ มือก็ยกไปหรือเท้าก็เดินไป ใจก็ไป ไปตามความคิด ถูกความคิดพัดไป จบเรื่องนั้นก็ต่อเรื่องโน้น พอจบเรื่องโน้นก็ต่ออีกเรื่องหนึ่ง กว่าจะหมดกระแสความคิดก็คิดไปแล้วหลายเรื่อง บางทีเจ็ดแปดเรื่องถึงค่อยมารู้ตัวว่า นี่เรากำลังยกมือสร้างจังหวะ นี่เรากำลังเดินจงกรม ไม่ใช่แต่เฉพาะเวลาปฏิบัติในรูปแบบ เวลากินข้าวก็เหมือนกัน ปากก็เคี้ยวไปแต่ใจไหลไปตามกระแสความคิดแล้ว คิดไปถึงเรื่องงาน คิดถึงลูก คิดถึงคนรัก คิดถึงอาหารที่ถูกปากกว่า นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับใจของเราไม่ว่าฤดูไหน เกิดขึ้นวันละหลายครั้ง แต่ส่วนใหญ่แล้วเราก็ไม่ค่อยสังเกตเพราะว่าทำอย่างนี้เป็นอาจิณแล้ว ก็คือการปล่อยใจลอยไปเรื่อยๆ โดยอยู่นี่แต่ใจไม่รู้ไปไหนแล้ว แต่ที่แย่คือว่า ถ้าเป็นกระแสอารมณ์ฝ่ายอกุศล เช่นความโกรธ ความเศร้า ความเกลียด ความอยาก ความโลภ ความรู้สึกผิด มันก็พาเราไปเจออะไรต่ออะไรมากมายเหมือนกับเวลาเราเดินเจอน้ำเชี่ยว ถ้าเชี่ยวมากๆมันไม่ใช่แค่พัดเราลอยไปเรื่อยๆ บางทีก็ไปชนกับหินบ้างไปชนกับตอไม้บ้าง ก็เจ็บตัว กระแสอารมณ์พาใจเราไปเจอกับความทุกข์มากมาย ที่เป็นอย่างนั้นได้ก็เพราะว่าเราไม่มีหลักยึด เหมือนกับเราเดินข้ามสะพาน แม้ว่าสะพานจะมีน้ำท่วมแต่ว่าถ้าเรามีสติเราเดินอย่างช้าๆเท้าเราปักแน่นอยู่กับพื้นจะเป็นพื้นไม้หรือพื้นดินก็แล้วแต่ ก็ยังพอที่จะเดินผ่านจนหลุดไปจากกระแสน้ำนั้นได้ แต่ถ้าเราไม่มีหลักไม่มีแม้กระทั่งไม้ที่จะช่วยยึดเอาไว้หรือไม่มีราวก็ลอยไปได้ง่าย กระแสน้ำที่ไม่ค่อยไหลแรงก็ยังลอยไป
สังเกตไหม ความคิดแม้จะเป็นความคิดเล็กๆน้อยๆ จะคิดเกี่ยวกับเรื่องผ้าห่ม เรื่องที่นอน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่เรื่องโต คิดไป มือก็ยกไป เท้าก็เดินไปแต่ว่าใจไม่รู้ไปไหน คนเราปล่อยใจไปตามกระแสความคิดและอารมณ์เรียกว่าตลอดทั้งวันเลยก็ว่าได้ และมันก็พาเราไปเจอความทุกข์ เจอทุกขเวทนาในท่ามกลางกระแสอารมณ์ พอเราเริ่มเห็นโทษว่าตามกระแส ตามอารมณ์ไป ตามความคิดไปนี้ไม่ไหวเราก็จะหันไปใช้วิธีต้านมัน จะสู้กับมัน ก็มักจะสู้ไม่ไหว แล้วก็มักจะเหนื่อยเพราะว่าการสู้การต้านกับกระแส ไม่ว่ากระแสน้ำหรือกระแสอารมณ์นี้มันเหนื่อย เราลองสังเกตดู เวลาเราคิดฟุ้งไปเรื่อยๆ แล้วเราพยายามจะห้ามมัน พยายามจะต้านมันเวลามีอารมณ์เกิดขึ้น เช่น ความโกรธ เราพยายามต้านมัน พยายามกดข่มมัน เราเหนื่อย แล้วอาการเหนื่อย อาการเครียด อาการล้าก็จะเกิดขึ้นกับนักปฏิบัติได้ ทำไปได้สักสองสามวันก็จะเริ่มปวดหัว จะเริ่มเครียด จะเริ่มแน่นหน้าอก เพราะว่าหลายคนพยายามที่จะต้าน ต้านความคิด ต้านอารมณ์ แต่ก่อนก็ปล่อยใจไปตามอารมณ์ ไปตามความคิด ทำจนเป็นนิสัย แต่พอจะเริ่มหันมาต้านกับมันก็ไม่ไหว ตามก็ไม่ถูก ต้านนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะดี มันได้ผลชั่วคราว เช่น เวลาเราโกรธ เราพยายามกดข่มความโกรธไว้ มันก็ได้ผลชั่วคราวแล้วก็อาจจะมีประโยชน์เฉพาะหน้า ช่วยทำให้เราไม่พูดไม่ทำอะไรที่จะต้องเสียใจในภายหลังหรือว่าทำให้คนอื่นเดือดร้อนแต่เราก็จะรู้สึกเหนื่อย
มีวิธีที่ดีกว่านั้น เหมือนกับว่าน้ำเชี่ยว เรารู้ว่าถ้าตามบ่อย ถ้าลงไปให้น้ำพัดไปก็ไม่ไหว จะต้านมันก็สู้แรงมันไม่ได้ เราก็ใช้สะพาน การที่เราเดินอยู่เหนือน้ำเชี่ยวเป็นวิธีที่ปลอดภัย การที่เราจะอยู่เหนือกระแสอารมณ์กระแสความคิดก็ทำได้ สิ่งที่จะทำให้เป็นไปได้คือสติ สติช่วยดึงจิตของเราออกมาจากกระแสอารมณ์นั้น เป็นเคล็ดลับก็ว่าได้ หลายคนคิดแต่ว่า ในเมื่อตามมันไปไม่ไหว ปล่อยให้มันพัดพาไปไม่ดีก็คิดแต่จะต้าน แต่ในที่สุดก็พบว่าต้านมันก็ไม่ได้ผล ไปกดข่มความคิดไว้ ไปห้ามอารมณ์ เผลอเมื่อไหร่มันก็โผล่ขึ้นมา อารมณ์กดข่ม อารมณ์ที่โกรธที่กดข่มเอาไว้ มันก็ไม่ได้ไปไหนหรอก เผลอเมื่อไหร่มันก็ระเบิดออกมา สิ่งที่หลายคนเรียกว่า เกิดอาการปรี๊ดขึ้นมา อาการปรี๊ดไม่ใช่อะไรอื่น มันเกิดจากการที่สะสมหมักหมมความโกรธเอาไว้คนเราจะปรี๊ดเพราะว่ามันเก็บเอาไว้ เก็บเอาไว้นาน คนที่พอมีอะไรที่ไม่ถูกใจก็โวยไปว่าไป จะไม่เกิดอาการปรี๊ดเท่าไร ผู้ที่เกิดอาการปรี๊ดคือการที่เก็บเอาไว้นานๆ คนที่ไม่ค่อยชอบพูดไม่ค่อยมีปากมีเสียงกับใครก็จะเก็บหรือกดอารมณ์หงุดหงิดไม่พอใจเอาไว้ ไม่แสดงออกก็จริงแต่มันก็ไม่ได้หายไปไหน บางทีมันก็หมักหมมสะสมไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งพอมีใครมาพูดไม่ถูกใจแม้เพียงเล็กน้อยก็เหมือนกับลูกโป่ง เจอแค่เข็มเล็กๆ เป็นรูเล็กๆแต่ก็แตกดังเลย ลูกโป่งเวลามันแตกไม่ต้องใช้อะไรมากใช้แค่เข็มเล็กๆก็ทำให้ระเบิดออกมาได้ ไม่ต้องเข็มก็ได้เอาแค่ใบไม้หรือว่าต้นหญ้าที่แหลมๆหน่อย จิ้มเข้าไปมันก็แตกแล้ว อารมณ์ปรี๊ดเป็นอย่างนั้นแหละ คือเกิดอาการที่เก็บสะสมหรือว่ากดข่มความโกรธเอาไว้นานๆ ในเมื่อทำตามอารมณ์โกรธก็ไม่ถูก กดข่มมันก็ไม่ช่วยเท่าไร
มีทางที่สามคือทางสายกลางคือการที่มีสติรู้ทันมัน เห็นมัน สติช่วยดึงจิตออกจากกระแสอารมณ์เหมือนกับสะพานได้ ที่จริงพระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนกับว่าเป็นหอคอย คนที่มีสติก็เหมือนกับคนที่อยู่บนหอคอยแล้วมองลงมาเห็นกระแสน้ำที่ไหลผ่านหน้าหรือจะเปรียบเหมือนกับว่ายืนอยู่บนตลิ่งก็ได้ ยืนอยู่บนตลิ่งแล้วก็ดูน้ำพัดไหลไป สิ่งที่ไหลไปตามน้ำอาจจะมีทั้งสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ อาจจะมีเรือสำราญแล่นผ่านมาก็แค่ดูมันเฉยๆ อาจจะมีหมาเน่าลอยน้ำมา หรือเศษกอสวะลอยมาก็ดูมันเฉยๆ แต่ว่าถ้าไม่มีสติ ก็อดไม่ได้ที่จะโจนลงไป ลงไปในน้ำเพื่อจะขึ้นเรือสำราญ อยากไปสนุกกับเขา หรือไม่ก็พยายามที่จะหาอะไรมาดึง มาค้ำ มาถ่อ เพื่อไม่ให้หมาเน่าเข้ามา พยายามที่จะกันกอสวะออกไปไกล การปฏิบัติ การเจริญสติ มีหลักเพียงแค่รู้เฉยๆ รู้ทันความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ แต่ใหม่ๆยาก เพราะว่านิสัยเดิมหรือความเคยชินเดิมๆสะสมมานาน
นิสัยเดิมๆ คืออะไร คือนิสัยที่ปล่อยไปตามความคิด ปล่อยไปตามอารมณ์ สร้างจังหวะก็รู้ตัวประเดี๋ยวเดียวไปอีกแล้ว เพราะว่าเรามักจะปล่อยใจลอยจนเป็นนิสัย หลายคนจะรู้สึกเหมือนหงุดหงิดกับตัวเองเพราะว่าจะให้ใจกลับมาอยู่กับตัว ให้มารู้สึกตัวว่ากำลังยกมือ ว่ากำลังเดินจงกรม ว่ากำลังอาบน้ำ ว่ากำลังถูฟัน มันไม่ยอม มันก็จะไปตามความคิด ไปตามอารมณ์ซึ่งเรียกรวมๆว่า หลง หลงเข้าไปในความคิด หลงเข้าไปในอารมณ์ การมารู้ตัวเกิดขึ้นได้น้อยมาก ก็อย่าไปหงุดหงิดอย่าไปท้อแท้เพราะต้องใช้เวลา เหมือนกับว่าน้ำมักจะไหลไปตามร่องเดิม ตอนนี้เราพยายามสร้างร่องใหม่ เรากำลังเปลี่ยนทางน้ำ จากหลงไปสู่รู้ จากทางน้ำไปสู่ความหลง มันเป็นทางสายใหญ่ที่เกิดขึ้นมานาน น้ำที่ปล่อยไหลไปนานๆ มันจะกัดเซาะตลิ่งจนกระทั่งกลายเป็นคลอง หรือบางทีกลายเป็นแม่น้ำไป
แต่ก็เป็นไปได้ที่เราจะสร้างทางน้ำใหม่ ใหม่ๆก็ต้องเป็นทางเล็กๆ น้ำก็ยังไม่ยอมไหลไปทางใหม่ มันก็ยังไปทางเก่าเพราะทางเก่ามันลึกและใหญ่กว่าอันนี้ธรรมดา ใจเราก็เหมือนกัน มันก็จะไหลไปตามร่องเดิม ร่องเก่า ร่องความคิด ร่องจิต แต่ว่าการเจริญสติคือการสร้างร่องใหม่ ทีแรกจะเป็นร่องเล็กๆ แต่เราก็ทำไปเรื่อยๆ ร่องก็จะเริ่มใหญ่ขึ้นๆ ลึกขึ้น แล้วก็เริ่มมีน้ำเข้าไปสู่ร่องใหม่ ฉะนั้นน้ำช่วยทำให้ร่องใหม่ค่อยๆใหญ่ขึ้น ถ้าเราทำไม่หยุด พยายามขุด พยายามสร้างร่องใหม่ไปเรื่อยๆ สุดท้ายร่องใหม่ก็จะใหญ่กว่าร่องเก่า และน้ำก็จะไหลไปสู่ร่องใหม่แทนร่องเก่า มันยังคงไหลไปยังร่องเก่าอยู่ แต่ว่าน้ำส่วนใหญ่จะไหลไปทางน้ำร่องใหม่ ร่องใหม่คือร่องที่รู้ตัว รู้ รู้ รู้ ยกมือสร้างจังหวะก็จะรู้เป็นส่วนใหญ่ เดินจงกรมก็จะรู้เป็นส่วนใหญ่ มันจะหลงบ้าง แต่ว่าหลงได้ไม่นานก็กลับมารู้ มันเป็นไปได้ถ้าเราทำบ่อยๆ จะเกิดความเคยชินใหม่ แล้วความเคยชินใหม่จะมาทดแทนความเคยชินเก่าเหมือนกับร่องน้ำใหม่ที่มาแทนร่องน้ำเก่า
พวกเราหลายคนที่อยู่กรุงเทพฯ ก็อาจจะไม่รู้ว่า แม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่หน้าธรรมศาสตร์ แต่ก่อนเป็นแค่คลอง แม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมไม่ใช่ไหลไปทางนั้น มันไปทางคลองบางกอกน้อย มันเป็นคุ้ง แล้วพระเจ้าแผ่นดินสมัยอยุธยาท่านหนึ่งเห็นว่ามันอ้อมก็เลยตัดคลองลัด คลองลัดที่เชื่อมระหว่างคุ้งสองคุ้ง ทีแรกก็เป็นคลองเล็กๆ แต่ตอนหลังกลายเป็นคลองใหญ่จนเดี๋ยวนี้เราเห็นเป็นแม่น้ำไปแล้ว ส่วนแม่น้ำสายเดิมกลายเป็นคลองไปแล้วคลองบางกอกน้อย เล็กมากเลย
จิตของเราก็เป็นอย่างนั้นได้ คือว่าแต่เดิมเป็นจิตที่ไหลไปสู่ความหลง มีอารมณ์ใดมันก็พัดไปเข้าสู่ความหลง มีความคิดใดเกิดขึ้นมาก็พัดเข้าไปสู่ความหลง ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ใจลอยไหลไปอดีตบ้าง ลอยไปอนาคตบ้าง แต่ต่อมา พอเราปฏิบัติบ่อยๆเจริญสติบ่อยๆมันจะรู้ มันจะรู้มากขึ้น รู้บ่อยขึ้น หลวงพ่อคำเขียน ท่านใช้คำว่ามันมีน้ำหนัก ตัวรู้มันจะมีน้ำหนักมากขึ้น มันก็จะดึงจิตไปสู่การรู้อยู่อย่างต่อเนื่อง รู้อะไร ก็รู้ตัว รู้กำลังทำอะไรอยู่ รู้ว่ามือกำลังยกเท้ากำลังเดิน รู้ว่ากำลังกิน รู้ว่ากำลังอาบน้ำ รู้ว่ากำลังถูฟัน รู้อย่างนี้สำคัญอย่างไร สำคัญเพราะว่ามันทำให้เรามีสติเร็วขึ้น ไวขึ้นจนกระทั่งไปรู้อารมณ์ รู้กายมันยังหยาบอยู่แต่ก็มีประโยชน์มาก เพราะว่าถ้าเราไม่รู้กาย วางของอะไรไว้ก็ไม่รู้ว่าวางไว้ที่ไหน วางมั่วหมดเพราะตอนที่วางใจมันลอย หลายคนเสียเวลามากกับการตามหาของทุกวัน หากุญแจ หาโทรศัพท์ หากระเป๋า เพราะตอนวางไม่ได้วางด้วยความรู้ตัว หรือว่าเวลาจะเสียบปลั๊กไฟฟ้า ถ้าไม่รู้ตัวระหว่างที่เสียบก็อาจจะเกิดอันตรายได้ เวลาลงบันไดถ้าไม่รู้ตัวว่ากำลังเดินก็อาจตกบันไดได้ อันนี้ก็เป็นประโยชน์อย่างหนึ่งของการรู้ตัว คือส่วนที่รู้กาย
แต่ประโยชน์อีกอย่างคือทำให้รู้ใจได้ไว รู้ใจคือรู้ทันอารมณ์ ความคิดที่เกิดขึ้น รู้ว่าตอนนี้กำลังหงุดหงิด แล้วก็เริ่มจะโกรธ รู้ว่าตอนนี้เริ่มเศร้าแล้ว รู้ว่าตอนนี้ กำลังใจลอยแล้ว แต่ก่อนคิดไปจบเรื่องถึงรู้ตัว หรือไม่ใช่จบเรื่องเดียวจึงรู้ตัว คิดไปจบสามเรื่องถึงค่อยมารู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ แต่ตอนหลังคิดไม่ทันจะจบเรื่องเลยก็รู้ แต่ต่อมาเผลอคิดไปได้สักสองสามวินาทีก็รู้ ทำให้จิตเราอยู่กับปัจจุบัน ทำให้จิตมีสมาธิกับสิ่งที่เราทำ แล้วก็ทำให้ใจเราไม่ไปจมอยู่กับประสบการณ์อันเจ็บปวดในอดีตที่ทำให้เศร้าหรือว่าไประลึกถึงคำต่อว่าด่าทอของใครบางคนที่ทำให้โกรธแค้นหรือมัวแต่ไปนึกถึงเงินที่ถูกโกง ของที่ทำหาย แล้วก็เอาแต่อาลัยอาวรณ์เสียดายหรือไปนึกถึงแต่คนที่จากไปไม่สามารถที่จะกลับมาอยู่กับปัจจุบันได้ คนส่วนใหญ่ถ้าไม่ไหลไปอดีตก็ลอยไปอนาคต ไปนึกถึงงานที่ยังคาอยู่ นึกถึงหนี้สินที่ยังไม่ชำระ นึกถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับสุขภาพของตัว
ไปตรวจสุขภาพหมอนัดอีกสามวันมาฟังผล อยู่ไม่เป็นสุขแล้ว ใจมันจะคิดถึงแต่ว่าสามวันข้างหน้าไปหาหมอ หมอจะบอกอะไรเรา หมอจะพูดอะไรกับเรา หลายคนบอกเลยว่าสามวันที่รอฟังผลเหมือนกับตกนรก เพราะคิดไปแล้วตัวเองอาจเป็นมะเร็ง แต่พอถึงวันนัดหมอบอกไม่เป็นอะไร โอ้โห ใจสบาย แล้วก็มานึกได้ว่าเราตกนรกไปสามวัน ทั้งๆที่มันไม่มีอะไรเลย แต่ตกนรกไปแล้วสามวัน เพราะกลัว เพราะวิตก เพราะกังวลว่าจะเป็นมะเร็งรึเปล่าจะเป็นเอดส์ไหม เรียกว่าทุกข์ฟรีๆ หลายคนเจ็บตัวฟรีๆ ทุกข์ฟรีๆเพราะคิดข้ามช็อต ที่จริงพูดให้ถูกคือปล่อยใจไปตามความคิดไปตามอารมณ์เพราะฉะนั้นถ้าเราปล่อย เราทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เราจะเป็นทาสอารมณ์ ทาสความคิด แล้วก็ปล่อยให้มาเล่นงานเรา คนเราควรจะเป็นนายความคิด ไม่ใช่เป็นทาสของความคิด เราควรเป็นนายของอารมณ์ ไม่ใช่เป็นทาสของอารมณ์
อารมณ์ก็มีประโยชน์เหมือนกัน ความคิดก็มีประโยชน์เหมือนกันถ้าเราใช้มันเป็น แต่ส่วนใหญ่เราถูกมันใช้มากกว่า ความคิดมันใช้ให้เรา คิด ๆ ๆ ถึงเวลานอนแล้วก็ยังใช้ให้เราคิดต่อ เราเลยนอนไม่หลับแล้วสุขภาพของเราก็ย่ำแย่ บางอย่างยังไม่ถึงเวลาคิด มันก็คิด วิตกกังวล แล้วก็โกรธ สะสมนาน ๆความดันขึ้น โรคที่เกิดจากวิตกกังวล ที่เกิดจากความเครียดนี้ ตอนนี้มันเป็นโรคเป็นปัญหาของคนสมัยนี้ เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของคนสมัยนี้ บุหรี่นี้เขาว่าอันตรายแล้ว เหล้านี้ก็ถือว่าอันตรายแล้วทำให้คนตายจำนวนไม่น้อยแต่หมอก็บอกว่าความเครียดนี้น่ากลัวกว่า มันเป็นสาเหตุการตายมากกว่าเหล้าและบุหรี่เสียอีก ทุกวันนี้ก็มีรณรงค์งดกินเหล้างดสูบบุหรี่ แต่ที่รณรงค์ไม่สำเร็จหรือไม่คิดจะรณรงค์คืองดเครียด เพราะว่ามันทำได้ยาก แม้แต่คนรณรงค์เลิกบุหรี่คนที่รณรงค์เรื่องเหล้ายังเครียดเลย ที่บอกว่าใจเราน่ากลัวที่สุด ไม่ใช่สิงสาราสัตว์ไม่ใช่ผีสางอะไรที่ไหนก็เพราะว่า มันสามารถที่จะทำให้เราตายก่อนวัยอันควรได้ ตายเร็วได้ ด้วยโรคนานาชนิด
แต่ถ้าเกิดเรารู้ทันความคิด เราจะดึงจิตมาอยู่กับปัจจุบัน พาจิตออกจากกระแสอารมณ์ที่เชี่ยวกราด และที่จริงถ้าเรามีสติมากพอ กระแสอารมณ์ กระแสความคิดจะไม่เชี่ยวกราดอีกต่อไป มันจะไหลเอื่อยๆเหมือนกับว่าน้ำที่เคยไหลเชี่ยวโดนเขื่อนขวางกั้นเอาไว้ หลวงพ่อคำเขียนท่านเปรียบความรู้สึกตัวซึ่งสัมพันธ์กับการมีสติว่าเป็นเหมือนเขื่อนที่คอยกั้น กั้นอารมณ์ กั้นความทุกข์ และพอถ้าเรามีเขื่อน น้ำที่เคยเชี่ยวที่เคยพัดเราไหลไปจนตกอยู่ในอันตรายก็หมดปัญหาไป ก็จะปลอดภัย จิตใจก็สบาย ร่างกายก็สุขภาพดี เพราะฉะนั้นให้หมั่นสร้างความเคยชินใหม่ขึ้นมา นิสัยใหม่ ความเคยชินใหม่มาแทนของเก่า สร้างร่องของจิตให้มันมาทดแทนร่องเดิมที่มันมีแต่จะพาเราไปสู่ความหลงสู่ความทุกข์สู่อันตราย ร่องใหม่นี้มันอยู่ในวิสัยที่เราจะสร้างได้ถ้าเรามีความเพียร