แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ชีวิตของคนเรามักจะเป็นการเปรียบเทียบว่าเหมือนกับการเดินทาง การเดินทางต้องมีจุดหมายปลายทาง ใครเดินทางโดยไม่มีจุดหมายของชีวิต ก็ง่ายที่จะเดินหลงทางหรือว่าใช้ชีวิตอย่างไม่มีแก่นสาร เรียกว่าล่องลอยไปตามยถากรรม เหมือนกับสวะที่ลอยไปในแม่น้ำ ซึ่งการกำหนดจุดหมายของชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ แต่ว่าชีวิตกับการเดินทาง มีความแตกต่างกันอยู่อย่างหนึ่ง ในการเดินทาง จุดหมายกับปลายทางเป็นเรื่องเดียวกัน แต่สำหรับชีวิต จุดหมายกับปลายทางไม่เหมือนกัน จุดหมายชีวิตกับปลายทางชีวิตนี่ จะเรียกว่าคนละเรื่องก็ว่าได้
จุดหมายชีวิต คือภาพฝันที่เราอยากจะไปให้ถึง และเราต้องดิ้นรนใช้ความเพียรจึงจะไปถึงจุดหมายชีวิตได้ ไม่ว่าจุดหมายนั้นจะหมายถึงความสำเร็จในการงาน ความมั่งมีร่ำรวย มียศศักดิ์อัครฐาน หรือการบรรลุธรรมก็แล้วแต่ ใครๆ ก็อยากจะไปถึงจุดหมายชีวิต แต่ปลายทางชีวิตนี่ไม่ค่อยมีใครอยากจะให้ถึง ปลายทางชีวิตทุกคนต้องถึงอย่างแน่นอน ขณะที่จุดหมายชีวิต บ้างก็ถึงบ้างก็ไม่ถึง ใครๆอยากจะให้ถึงจุดหมายชีวิต แต่ไม่มีใครหรือน้อยคนมากที่อยากจะมาเจอปลายทางชีวิต
ปลายทางชีวิตคืออะไร ก็คือความตาย อย่างที่เราพิจารณาสังขารเมื่อสักครู่ ความตายเป็นที่สุดรอบ ชีวิตทั้งหลายมีความตายเป็นที่สุดรอบก็คือชีวิตทั้งหลายมีความตายเป็นปลายทาง จุดหมายนี่ต้องใช้ความเพียรจึงจะถึง แต่ปลายทางชีวิตไม่ต้องใช้ความเพียร อย่างไรก็มาแน่ อันนี้คือความจริงของชีวิต ที่เราต้องระลึกอยู่เสมอ
คนส่วนใหญ่ไปสนใจกับเรื่องจุดหมายชีวิต สิ่งที่เราทำมาตลอดก็คือการพยายามบรรลุถึงจุดหมายชีวิต เรียนหนังสือก็ต้องทำให้ได้คะแนนดีๆ จะได้สอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง หรือเข้าคณะที่จะทำให้มีโอกาสหางานหรือว่าทำเงินได้ หลายคนคิดแบบนั้น เพราะว่าความสำเร็จในการงาน รวมทั้งการมีครอบครัวที่ผาสุก คือจุดหมายชีวิตของคนหลายคน
แต่น้อยคนที่จะคิดถึงเรื่องปลายทางชีวิต ทั้งๆ ที่ต้องมาถึงอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว นั่นเป็นเพราะว่า ผู้คนส่วนใหญ่คิดถึงแต่เรื่องการบรรลุจุดหมายของชีวิต และก็ไม่สนใจว่าสักวันหนึ่งชีวิตจะมาถึงปลายทาง แล้วพอวันนั้นมาถึง วันที่ชีวิตมาถึงที่สุดของเส้นทาง ก็เลยทุกทรมาน ทุรนทุราย กระสับกระส่าย สุดท้ายก็ตายไม่ดี จบไม่สวย อันนี้ก็เรียกว่าเป็นโศกนาฏกรรมของผู้คนเป็นอันมาก
เราจำเป็นที่จะต้องใส่ใจทั้งจุดหมายชีวิตและปลายทางชีวิต อย่าไปคิดว่าเรายังเป็นหนุ่มเป็นสาว ไปให้ถึงจุดหมายก่อนแล้วปลายทางชีวิตค่อยว่ากัน อันนี้เป็นความประมาทอย่างยิ่ง เพราะเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า เราจะถึงจุดหมายชีวิตก่อนที่จะถึงปลายทางชีวิต หลายคนชีวิตสิ้นสุดก่อนที่จะไปถึงจุดหมาย ที่เรียนมาสิบยี่สิบปี สะสมเงินทอง หรือว่าพยายามดิ้นรนหางานที่มั่นคง แต่ปรากฏว่าไม่ทันจะถึงจุดหมายชีวิตที่ต้องการก็ตายเสียก่อน และสิ่งที่พากเพียรเรียนมา รวมทั้งสิ่งที่สะสมมาอย่างเหนื่อยยาก ช่วยอะไรไม่ได้เลยในการที่จะทำให้เราเตรียมพร้อมเมื่อความตายมาถึง เมื่อชีวิตมาถึงที่สุด อันนี้เพราะว่าเขาประมาท ประมาทว่าอีกนานกว่าปลายทางชีวิตจะมาถึง หรือบางทีก็ประมาทว่า ไม่ยากหรอก ถึงตอนนั้นค่อยว่ากันก็แล้วกัน ตอนนี้ฉันขอมีความสุข ขอใช้ชีวิตเต็มร้อยก่อน คิดแบบนี้ก็มี ขอใช้ชีวิตเต็มร้อยก่อน เอาไว้เมื่อแก่แล้วค่อยไปเตรียมตัวตายแล้วกัน หรือว่าเมื่อถึงวันนั้นก็ค่อยเตรียมตัวก็แล้วกัน เรียกว่าไปตายเอาดาบหน้า
มีนักเขียนคนหนึ่ง เป็นชาวอเมริกัน เขาเป็นคนนิวยอร์ก เป็นนักเขียนตลก แล้วก็ชอบประชดประชัน ไม่รู้เขาพูดจริงหรือเปล่า เขาเขียนว่า ความตายไม่ยากหรอก หาที่จอดรถในนิวยอร์กยังยากกว่ามากเลย อันนี้อาจจะพูดประชดก็ได้ ประชดคนทั่วไปที่คิดว่า เรื่องความตายนั้นไม่ต้องคิดอะไรมากหรอก ถึงเวลาก็ค่อยไปว่ากัน แต่ตอนนี้ทำอย่างไรจะหาที่จอดรถให้ได้
แต่จะว่าไปคนส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนี้ ก็คือคิดว่าความตายไม่ต้องไปคิดถึงหรอก คิดไปแล้วอัปมงคลเปล่า ๆ แล้วก็เลยไม่ได้กระตือรือร้นที่จะเตรียมตัว แต่สำหรับชาวพุทธเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญทีเดียว ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสเป็นปัจฉิมโอวาทปัจฉิมวาจา คนเราเมื่อจะตาย ถึงเวลาจะต้องสั่งเสียเราจะพูดแต่เรื่องที่สำคัญ แล้วพระพุทธองค์ ก็ทรงเลือกที่จะพูดหรือสั่งเสียด้วยการเตือนให้เราไม่ประมาท สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด หรือว่าบางทีก็แปลว่า ท่านทั้งหลายจงทำประโยชน์ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด
พระองค์สั่งเสียหรือว่าแสดงปัจฉิมวาจาเพียงแค่สองประโยค เทียบกับปฐมเทศนาแล้วนี่ต่างกันมาก ปฐมเทศนานี่ยาวถึงเจ็ดหน้า แต่ว่าปัจฉิมวาจานี่แค่สองบรรทัด แต่ก็เป็นสองบรรทัดที่สำคัญมากที่เราควรจะตระหนัก “สังขารใดมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ก็หมายถึงว่าต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตาย ตายแน่ๆ และเพราะเหตุนี้ เราควรจะใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท หมายความว่า พยายามใช้ทุกเวลาและนาทีที่ยังมีลมหายใจเพื่อทำสิ่งที่มีคุณค่ามีประโยชน์ อย่าปล่อยให้เปล่าเลยไปโดยไร้ประโยชน์ หรือให้ผ่านเลยไปโดยเปล่าประโยชน์”
การระลึกถึงความตายที่เรียกว่า มรณสติ หรือ มรณานุสสติ เป็นการปฎิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงส่งเสริมและเน้นย้ำ ในบรรดาอนุสสติ 10 ประการ อนุสสติในที่นี้หมายถึงการระลึกนึกถึงเพื่อความเจริญงอกงามของชีวิต ก็มีมรณสติหรือมรณานุสสติเป็นข้อหนึ่ง ข้อที่เหลือก็เช่น พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ อย่างที่เราได้สวดเมื่อสักครู่ ก็เป็นการน้อมใจให้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อเพิ่มบุญศรัทธาในพระรัตนตรัย รวมทั้งการระลึกถึงความดีที่ได้ทำ เรียกว่าสีลานุสสติ ระลึกถึงความเสียสละ ความเอื้อเฟื้อ ที่เรียกว่าจาคานุสสติ ระลึกถึงเทวดา เรียกว่าเทวดานุสสติ พวกนี้มีประโยชน์ทั้งนั้น แต่ที่มองข้ามไม่ได้คือมรณสติ ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้เราเกิดความเพียรในการทำความดี ในการสร้างบุญสร้างกุศล รวมทั้งหลีกละเว้นความชั่ว
ความตายเป็นเรื่องอนาคตก็จริง แต่ว่าการนึกถึงก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายกลับมีประโยชน์ ถ้าหากว่ามันกระตุ้นให้เราหมั่นทำความเพียร อย่างที่มีพุทธภาษิตซึ่งเราก็ได้สาธยายกันหลายครั้ง ความเพียรเป็นสิ่งที่ต้องทำวันนี้ ใครจะรู้ความตายแม้พรุ่งนี้ อันนี้คือการเตือนให้ระลึกถึงความตายเพื่อที่เราจะได้หมั่นทำความเพียร ให้ชีวิตของเราเป็นชีวิตที่มีค่ามีประโยชน์ เรียกว่าคุ้มค่ากับการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
แต่ว่าเราจะมองแต่เพียงเท่านั้นก็ไม่พอ เราควรจะระลึกถึงความตายอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมตัวตาย การใช้ชีวิตให้มีค่ากับการเตรียมตัวตายหรือการเตรียมตัวให้ตายดี อันนี้สำคัญทั้งสองอย่าง จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เพราะว่าสัมพันธ์กันมาก ถ้าเราใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ก็คือทำความดี สร้างบุญสร้างกุศล รวมทั้งทำหน้าที่ต่อคนที่เรารัก หรือมีความสำคัญต่อเรา เช่น พ่อแม่ ลูกหลานญาติมิตร รวมทั้งส่วนรวม เราก็ทำให้การตายของเราเป็นการตายที่ดีได้ คือเวลาจะตายแล้ว นึกถึงความดีที่เราได้ทำ รู้สึกภาคภูมิใจในชีวิตที่ผ่านมา ไม่เสียดายที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่เสียดายที่เกิดมาเป็นชาวพุทธ ก็ทำให้เราพร้อมจะตายได้
หลายคนไม่พร้อมตาย เพราะรู้สึกว่าชีวิตที่ผ่านมาเป็นชีวิตที่ย่ำแย่ ตอนที่ยังไม่ตายก็ไม่ได้สนใจ ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่พอจะตาย ย้อนมองชีวิตที่ผ่านมา ไม่มีอะไรที่ควรภาคภูมิใจเลย คนประเภทนี้ มักจะพยายามต่อสู้ฝืนความตาย คือเขาอยากได้โอกาสไปแก้ตัว หลายคนที่ไม่อยากตาย ยังไม่พร้อมตาย ไม่ใช่ว่าเขากลัวตายโดยตรง แต่เป็นเพราะเขารู้สึกว่าเขาอยากจะมีโอกาสแก้ตัว เพื่อทำความดี รวมทั้งให้เวลาใส่ใจคนรัก
ถ้าเกิดว่าเราใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ควรแก่การภาคภูมิใจ เราก็พร้อมที่จะตายได้มากขึ้น หรือว่าทำให้การตายของเราเป็นการตายที่ดีได้ แล้วในขณะเดียวกัน คนที่ตระหนักว่าในเมื่อเราต้องตาย ก็ต้องตายดีให้ได้ ความคิดแบบนี้ความตั้งใจแบบนี้จะทำให้เราพยายามใช้ชีวิตให้มีคุณค่า เพราะว่าถ้าเราเชื่อว่าเราไม่มีคุณค่าเราก็ตายไม่ดี การที่เราตระหนักถึงความสำคัญของการตายดี ทำให้เราไม่เพียงแต่ทำความดี ใช้ชีวิตให้มีคุณค่าเท่านั้น แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องทำ เพื่อให้ตายดี นั่นคือการรู้จักปล่อยวาง ปล่อยวางเพราะถ้าเรายังไปยึดติดในลูก ในพ่อแม่ ในทรัพย์สินเงินทอง รวมทั้งการงาน ก็ตายดีได้ยาก มีตัวอย่างมากมายคนที่ตายไม่ดีเพราะว่าห่วงลูก หรือว่าห่วงทรัพย์สมบัติ บางคนป่วยหนัก จะตายอยู่แล้ว แทนที่จะนึกถึงบุญกุศลหรือระลึกถึงพระรัตนตรัย กลับไปทวงเงินเพื่อนบ้านที่เคยยืมเงินไว้ไม่คืน ตัวอยู่โรงพยาบาลแต่เพื่อนบ้านเห็นคนป่วยมาทวงเงิน รีบมาหาที่โรงพยาบาลเลย แล้วก็มาบอกว่า จะคืนเงินให้
อีกรายหนึ่งอาม่าที่ป่วยหนัก อาม่าเป็นคนที่รักหลานมาก ทุกเย็นเวลากินอาหารก็จะคอยจ้ำจี้จ้ำไชหลานให้กินอาหาร ให้กินมากๆ ตามประสาคนจีน ตอนที่ตัวเองป่วยโคม่าอยู่ที่โรงพยาบาล ปรากฎว่า หลานนี่ ขณะที่กำลังกินอาหารอยู่กับพ่อแม่ ก็เห็นอาม่ามาจ้ำจี้จ้ำไชเหมือนเคย ถึงกับพูดกับอาม่าว่า พอแล้ว อิ่มแล้ว คนในวงข้าวนี่งงเลย พ่อแม่ก็งง เด็กพูดกับใคร เพราะไม่มีใครอยู่เลยนอกจากพ่อแม่ลูก แต่เด็กเห็นอาม่ามา มาจ้ำจี้จ้ำไช ถ้าหากว่าอาม่าตายตอนนั้นคงตายไม่ดี เพราะว่าความห่วง หรือว่าคุณยายคนนั้นถ้าตายคงตายไม่ดี เพราะยังห่วงทรัพย์ อุตส่าห์ไปทวงเงินเขา
ปล่อยวางในที่นี้ไม่ใช่ปล่อยวางเฉพาะของที่รักหรือให้ความสุขกับเรา แต่รวมถึงการปล่อยวางสิ่งที่ไม่รัก ที่ทำความทุกข์ให้กับเรา เช่นความโกรธ ความพยาบาท ความรู้สึกผิด สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่คอยทิ่มแทงรบกวนจิตใจคนที่ใกล้ตายจำนวนมาก ทำให้ตายไม่สงบ ก่อนตายก็ทุรนทุราย บางทีตาเบิกค้าง บางทีก็อาจจะมีอาการกระสับกระส่าย บางทีก็โคม่าแล้ว น้ำตาไหล เวลามีใครบางคนมาเยี่ยม เพราะรู้สึกผิดที่ไม่ได้ทำตามที่สัญญา
อย่างที่บอก อารมณ์อกุศล บางครั้งปล่อยวางยากกว่าทรัพย์สินเงินทองหรือว่าคนรัก พ่อแม่เสียอีก คนที่เขาตระหนักว่าการตายดีเป็นสิ่งจำเป็น เขาก็จะเห็นความสำคัญของการฝึกใจให้ปล่อยวาง ไม่ใช่มารอปล่อยวางเอาตอนจะตาย ซึ่งมักจะไม่ได้ผล เพราะว่าคนเราเวลาใกล้ตาย แม้กำลังวังชาจะอ่อนระโหย แต่กิเลสและนิสัยเดิมๆ จะรุนแรงมากกว่าเดิม อาตมาเจอมามากแล้ว ร่างกายไม่มีเรี่ยวไม่มีแรงแล้ว แต่ว่านิสัยหรือว่าถ้าภาษาชาวบ้านคือสันดาน ถ้าเรียกภาษาพุทธคือกิเลส จะมีกำลังยิ่งกว่าเดิม จะอาละวาดหนักกว่าเดิม
ตอนที่ยังปกติธรรมดายังพอควบคุมกิเลสได้ พอควบคุมสันดานได้ แต่พอจะตายนี่มันควบคุมไม่ได้เลย กิเลสหรือว่านิสัยสันดานเดิมๆ จะออกมาอย่างรุนแรง เพราะฉะนั้นใครที่ยึดติดถือมั่น เป็นคนเจ้าอารมณ์ พวกนี้นี่อาการจะออกมามากตอนจะตาย ใครที่คิดว่าถึงเวลาใกล้ตายค่อยไปเตรียมพร้อม ค่อยไปเตรียมตัวให้ตายดี หรือว่าเตรียมจองเตรียมนิมนต์พระ เพื่อมาน้อมนำจิตให้ไปดี อันนี้ยาก ใจมันไม่นึกถึง มันไม่ยอมไป
คนที่หวงหรือเป็นคนที่งกเงินนี่ จะให้นึกถึงธรรมะไม่ยอมนึกถึง เพราะว่ากิเลสหรือว่าความหลงครองใจอย่างแน่นหนา มีคุณยายคนหนึ่งเป็นอัลไซเมอร์ เขาลืมลูก ลืมหลานหมดแล้ว วันวันหนึ่งเขาไม่ได้ทำอะไร นั่งแต่นับเงิน นั่งแต่คอยดูบัญชีที่เขาให้คนอื่นยืมเงินไป จะตายอยู่แล้ว แล้วก็ลืมหมดทุกอย่างเลย แต่ว่าไม่ลืมเรื่องเงิน ทุกวันต้องมาเปิดดูสมุดบัญชี รู้เรื่อง แต่อย่างอื่นไม่รู้เรื่อง อย่าพูดธรรมะ จะให้ฟังธรรมก็ไม่เอา อย่างนี้จะตายดีได้อย่างไร แม้จะไปรอ ไปนิมนต์พระที่เป็นพระอาจารย์เจ้า ที่มีคุณวิเศษมานำทางก็คงจะยาก
ถ้าเราเห็นความสำคัญของการตายดี ต้องเตรียมตัวให้เสร็จตั้งแต่วันนี้ ไม่เพียงแต่ทำความดีสร้างบุญสร้างกุศล พยายามห่างไกลจากความชั่ว แต่ต้องฝึกการปล่อยวางด้วย การปฎิบัติธรรมอย่างที่เราทำ ก็เป็นการฝึกให้เราปล่อยวาง ที่จริงการปฎิบัติธรรมทั้งหลาย เริ่มตั้งแต่ทาน ศีล ภาวนา ก็เพื่อการปล่อยวางทั้งสิ้น การให้ทานก็เพื่อการปล่อยวาง แต่ว่าหลายคนให้ทานไม่เป็น ยิ่งให้ก็ยิ่งยึด หรือว่าให้ด้วยความโลภ บริจาคสิบอยากได้ร้อย ถวายร้อยอยากได้ล้าน ก็ยิ่งยึดติดมากขึ้น หลายคนทำบุญแล้วจิตก็ยิ่งยึดติด แต่ถ้าทำบุญเป็น จิตยิ่งปล่อยวาง ทำเพื่อละ ไม่ใช่ทำเพื่อเอา
ศีลก็เหมือนกัน ปฎิบัติเพื่อจะละ ไม่ใช่เพื่อเอา เอาในที่นี้อาจจะไม่ใช่เอาเงิน แต่ว่าเอาคำสรรเสริญเยินยอ อยากจะให้เขาชม อยากจะเติมแต่งภาพลักษณ์ให้ดูสวยงาม อันนี้ก็เป็นกิเลส
ภาวนาก็เหมือนกัน ถ้าภาวนาเพื่อจะเอา แม้จะเป็นการเอาความสงบหรือเอาบุญ ก็ไม่ได้ส่งเสริมให้เรารู้จักละ รู้จักวาง แต่ถ้าเราภาวนาเป็น มันละ ความคิดเกิดขึ้นก็วาง ไม่ตามความคิดไป มีความโกรธ มีความไม่พอใจเกิดขึ้น รู้แล้วก็วาง แม้แต่ความสงบเกิดขึ้นก็วาง ไม่ติด ไม่ยึด ไม่หวงแหน ถึงเวลาความสงบจางคลายไปก็ไม่เสียดาย เวลามีใครมาด่ามาต่อว่าก็วางลงได้ เวลามีทุกขเวทนาความเจ็บความปวดก็วางลงได้ ส่วนใหญ่ไม่ได้วาง ไปยึด ความโกรธก็เป็นสิ่งหนึ่งที่แม้จะทำให้เราเกิดทุกขเวทนา แต่เราก็กลับหวงแหนมัน
ความหลงนี่เมื่อครองใจเราเมื่อไหร่ มันจะสั่งเราให้คอยปกปักรักษามันเอาไว้ เป็นองครักษ์พิทักษ์ความเศร้าความโกรธ คอยหวงคอยแหนสิ่งเหล่านี้ ไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง แต่ถ้าเราหมั่นเจริญสติ เราก็จะเรียนรู้การปล่อยการวางได้ เพราะฉะนั้นการภาวนาเป็นสิ่งสำคัญ ที่ไม่เพียงแต่ช่วยทำให้เราสามารถจะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขสงบเย็น แต่ก็ยังเป็นการเตรียมพร้อมให้เราสามารถจะตายดีได้
อันนี้เป็นวิชาหนึ่ง ที่เราต้องใส่ใจ วิชาเตรียมตัวตาย เป็นหนึ่งในบรรดาวิชาชีวิต ที่จะมองข้ามไม่ได้ เรียนวิชาทางโลกหรือวิชาชีพก็ดีอยู่ แต่วิชาชีพส่วนใหญ่ไม่ช่วยทำให้เราพร้อมจะตายอย่างสงบหรือตายดีได้เลย บางครั้งกลับจะเป็นตัวหน่วงเหนี่ยวด้วยซ้ำ และอย่างที่บอก วิชาชีพ เรียนไปแล้วอาจจะไม่ได้ใช้ เพราะว่าไม่ได้ทำอาชีพการงานที่ตรงกับวิชาที่เรียน หรือวิชาความรู้ที่เรียนมาล้าสมัย เพราะโลกตอนนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก
แต่วิชาชีวิตโดยเฉพาะวิชาเตรียมตัวตายนี่ได้ใช้แน่ แต่ก็แปลก ไม่ค่อยมีการสอนเท่าไหร่ มหาวิทยาลัยก็ไม่สอน โรงเรียนก็ยิ่งแล้วใหญ่ ทั้งๆที่เราต้องเจอ ต้องใช้ อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่าคนเราไปสนใจเรื่องจุดหมายชีวิตมากเกินไป จนลืมเรื่องปลายทางชีวิต
คนที่ฉลาดเขาจะไม่ประมาท เขารู้ว่าจุดหมายชีวิตก็เป็นสิ่งที่ควรถึง แต่ปลายทางชีวิตก็ไม่ควรประมาท ต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ จะว่าไปความตาย ก็คือการสอบไล่ครั้งสุดท้ายของวิชาชีวิต วิชาทุกอย่างต้องมีการสอบ วิชาชีพเราก็สอบอยู่เป็นประจำ สอบกลางเทอม สอบปลายภาค แล้วเราก็สอบเยอะมาก สอบสมัครงาน วิชาชีวิตก็เช่นเดียวกัน เราต้องสอบ และเป็นการสอบไล่จริงๆ คือถ้าสอบไม่ได้ก็ตก คำว่าตกคือตกจริงๆ คือตกอบาย วิชาชีพวิชาในโรงเรียน หรือการสอบทั้งหลายที่เราเคยผ่านมา สอบตกไม่ได้ตกจริง แค่ซ้ำชั้น แถมแก้ตัวได้ด้วย คือสอบซ่อม สอบเอนทรานซ์ไม่ได้ก็สอบใหม่ สอบสมัครงานไม่ได้ก็สอบใหม่ บางคนสอบเนติฯมาสิบปีแล้วก็ยังสอบอยู่เรื่อยๆ พระหลายรูปสอบประโยคเก้ามายี่สิบปีแล้วก็ยังสอบ แต่ว่าวิชาชีวิตนี่สอบไล่ ถ้าไม่ได้ก็ตกจริงๆ และแก้ตัวไม่ได้ ไม่มีการสอบซ่อม
ที่สำคัญคือว่าการสอบวิชาชีวิตนี่ การสอบไล่ ไม่มีการประกาศล่วงหน้า วิชาทางโลกหรือวิชาชีพที่เราเรียนในมหาวิทยาลัย ในโรงเรียน มีประกาศล่วงหน้า บางทีเป็นปี ทำให้เรามีโอกาสเตรียมตัว สามารถจะวางแผนได้ เช่น อีกหนึ่งเดือนก่อนสอบก็ค่อยเตรียมตัวแล้วกัน ตอนนี้ก็เที่ยวไปก่อน ทำโน่นทำนี่ไปก่อน อีกหนึ่งเดือนก่อนสอบก็ค่อยเตรียมตัว แต่วิชาชีวิตนี่สอบไล่วิชาชีวิตไม่มีการประกาศล่วงหน้า เพราะฉะนั้นต้องพร้อมตลอดเวลา อย่าไปคิดว่าฉันเป็นหนุ่มเป็นสาว เอาไว้กว่าจะสอบก็คงอีกสามสิบสี่สิบปีหรือห้าสิบปี นี่ประมาทมาก
มีภาษิตทิเบตบอกว่า ไม่มีใครรู้หรอกว่าระหว่างพรุ่งนี้กับชาติหน้าอะไรจะมาก่อน อย่าไปคิดว่ามีพรุ่งนี้แล้วค่อยมีชาติหน้า อย่างวันนี้คนไทยประมาณ 1,600 คน วันนี้คือวันสุดท้ายของเขา พ้นจากวันนี้ไปก็ชาติหน้าเลย และเราก็ไม่รู้ว่าเราเป็นหนึ่งใน 1,600 หรือเปล่า ประมาทไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องไม่ประมาท เตรียมพร้อมอยู่เสมอ และถามตัวเองว่าพร้อมหรือยัง ถ้าปลายทางชีวิตมาถึง วันนี้วันพรุ่งพร้อมหรือเปล่า พร้อมที่จะเผชิญกับมันด้วยใจสงบ แต่ถ้าไม่พร้อมก็ไม่เป็นไร ยังสามารถเตรียมตัวได้ เสียแต่วันนี้เสียแต่นาทีนี้
ฉะนั้น ให้ย้ำเตือนตัวเองถึงปัจฉิมวาจาของพระพุทธเจ้าที่เราได้สาธยายเมื่อสักครู่ รวมทั้งบทพิจารณาสังขารที่เราได้สาธยายตามมา สองบทนี้สำคัญมาก ที่จะกระตุ้นเตือนให้เราไม่ประมาทในชีวิต เห็นความสำคัญของการใช้ชีวิตให้มีคุณค่าด้วยการทำความดี และขณะเดียวกันก็เห็นความสำคัญของการเตรียมตัวเพื่อตายดีด้วย