แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บทสวดมนต์พิเศษ 2 บท ที่พูดถึงความไม่เที่ยงของชีวิต ปัจฉิมโอวาทพูดว่า “วะยะธัมมา สังขารา สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา” อันนี้เป็นเรื่องความไม่เที่ยง บทพิจารณาสังขารที่เราสวดต่อมาก็เป็นเรื่องของความไม่เที่ยงของสังขารโดยเฉพาะของร่างกาย ร่างกายนี้เมื่อปราศจากวิญญาณอันเขาทิ้งเสียแล้วจะนอนทับซึ่งแผ่นดิน เหมือนท่อนไม้หาประโยชน์ไม่ได้ เราจะสังเกตบ้างหรือเปล่าว่า วัตถุประสงค์ของภาษิตสองส่วนนี้ ไม่ค่อยเหมือนกันทีเดียว ปัจฉิมโอวาทพูดถึงความไม่เที่ยงของสังขารเพื่อกระตุ้นให้เราเร่งทำความเพียร ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด หรือท่านทั้งหลายจงทำประโยชน์ให้ถึงพร้อมโดยความไม่ประมาท อันนี้พระพุทธองค์ตรัสเพื่อให้พวกเราเร่งทำความเพียรอย่าปล่อยให้เวลาผ่านเลยไปโดยไร้ประโยชน์ เพราะอะไร เพราะว่าเวลาของเราเหลือน้อย ชีวิตของเราไม่เที่ยง จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นต้องเร่งทำความเพียร
ส่วนบทพิจารณาสังขารจุดมุ่งหมายก็เพื่ออย่าไปยึดมั่นถือมั่นกับสังขารนี้ ให้ปล่อยวาง พูดง่ายๆ และถ้าพูดอย่างนี้ หลายๆคนจะสงสัยหรือแปลกใจว่าพระพุทธเจ้าสอนขัดแย้งกันหรือเปล่า บทหนึ่งก็ให้เร่งทำความเพียรอย่าปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ อีกบทหนึ่งก็บอกให้ปล่อยวาง หลายคนอาจจะเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าสอนขัดแย้งกันเอง เพราะเขาเข้าใจคำว่าปล่อยวางไม่ถูกต้อง ปล่อยวางอันนี้ไม่ได้แปลว่าปล่อยปละละเลย หรือปล่อยไปตามยถากรรม งอมืองอเท้าไม่ทำอะไรไม่ใช่ ปล่อยวางนี่หมายถึงเรื่องการทำที่ใจ ก็คือทำจิตปล่อยวางแต่ว่าการทำกิจเป็นเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องขยันหมั่นเพียร
พระพุทธศาสนาจะสอนสองอย่าง อันหนึ่งคือทำกิจ ทำกิจนี่สิ่งที่ทำเป็นปัจจัย หรือเป็นธรรม ข้อสำคัญก็คือ ความเพียร ความพยายาม ความไม่ประมาท ส่วนถ้าเป็นการทำจิต สาระสำคัญสิ่งที่เป็นหัวใจคือการปล่อยวาง อันนี้เราควรสังเกตว่า เวลาพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องความไม่เที่ยง ในบางครั้งพระองค์ก็ตรัสเพื่อให้เราเร่งขวนขวายทำความเพียร เพราะว่าเวลาของเราเหลือน้อยลงไปทุกที ความดีอะไรที่ควรทำก็รีบทำเสีย อย่าไปรอ บอกว่าแก่ก่อนค่อยทำ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีโอกาสแก่ บางทีนอกจากความไม่เที่ยงของสังขารแล้วนี้ เราก็ควรจะนึกถึงความทุกข์ของสังขารด้วย ความไม่เที่ยงของสังขารนี้ก็หมายความว่าจะตายเมื่อไหร่ไม่รู้ ส่วนความทุกข์ของสังขารก็หมายความว่าก่อนจะตาย ต้องมีความเสื่อม มีความเจ็บความป่วย เวลาเราไปโรงพยาบาล ลองสังเกตดูบ้างว่า คนที่เขานอนอยู่บนเตียงเขามีทุกขเวทนาเขามีความเจ็บป่วยมากมายเพียงใด บางคนก็มีสายระโยงระยางบางคนก็มีการเจาะคอใส่ท่อ บางคนต้องถูกมัดมือมัดเท้าเพื่อไม่ให้มือไปถอดท่อออก แล้วต้องนอนอยู่ในห้องไอซียู อันนั้นแหละเป็นความเสื่อมของสังขารที่เรียกว่าทุกขัง ซึ่งก็สะท้อนถึงความไม่เที่ยงเพราะว่าก่อนหน้านั้นก็ยังเดินเหินไปไหนมาไหนได้ ยังยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ว่าตอนนี้นอนติดเตียง แล้วก็โอดครวญ สายตาบ่งบอกถึงความเศร้า บางครั้งก็บ่งบอกความเหงาด้วยซ้ำ ลองนึกไปบ้างว่า ถ้าวันหนึ่งเราเป็นอย่างเขา เราจะทำใจได้หรือเปล่า เราพร้อมหรือยังที่จะต้องมาเจอกับสภาพนี้ แล้วโอกาสที่เราจะอยู่ในสภาพนี้จะว่าไปก็ 90% คนทุกวันนี้ 90% จะตายแบบด้วยความเจ็บป่วยแล้วก็ตายแบบช้าๆ ที่ตายแบบกะทันหัน เช่น หัวใจวายตาย ประสบอุบัติเหตุ หรือเจอภัยธรรมชาติ10% เท่านั้นแหละ อีก 90% คือ ป่วยตายและสมัยนี้จะป่วยแบบยืดเยื้อเรื้อรัง ไม่ใช่ป่วยเพราะโรคติดเชื้อซึ่งทำให้ตายเร็ว เช่น หวัดนก อีโบล่า อย่างนี้ตายเร็วไม่กี่วันตายล่ะ แต่ส่วนใหญ่เราไม่ได้ตายเพราะเหตุนั้น เราตายเพราะความเสื่อมของสังขาร เพราะโรค
เมื่อลองพิจารณาแบบนี้ดูแล้วก็เป็นตัวเร่งเร้า ถ้าเรามองเป็น ไม่ใช่ทำให้เราหดหู่แต่เป็นตัวเร่งเร้า ต้องเร่งฝึกเร่งทำทั้งความดีแล้วก็การทำสมาธิภาวนาด้วย เห็นแบบนี้กระตุ้นให้เราไม่ประมาท อันนี้เรียกว่าเป็นการกระตุ้นให้ทำกิจ ไม่ใช่เฉพาะการทำความดีหรือว่าการเตรียมตัวเตรียมใจเท่านั้น แต่รวมถึงการทำหน้าที่ต่อคนที่เรารับผิดชอบ หรือคนที่เรารักก็ต้องเร่งทำไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่บางคนพอเจอความเจ็บความป่วยเข้ายิ่งรู้ว่าเป็นโรคร้าย ยิ่งงอมืองอเท้าเข้าไปใหญ่เลย เพราะว่าจิตใจจมอยู่ในความเศร้าหดหู่ แทนที่จะเร่งรีบใช้เวลาที่เหลือน้อยเข้าไปทุกทีทำสิ่งที่มีค่าทั้งกับตัวเองและกับผู้อื่น ก็เอาแต่เจ่าจุก ท้อแท้ ตีโพยตีพายทำไมต้องเป็นฉัน อันนี้เรียกว่าไม่รู้จักใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้เกิดประโยชน์เต็มที่ คือไม่รู้จักทำกิจนั่นแหละ ที่ไม่ทำกิจก็เพราะว่าไม่รู้จักทำจิตนั่นแหละ ก็คือไม่รู้จักรักษาใจ ไปให้ความเศร้า ความหดหู่ ความกลัว ความตื่นตระหนกมาครอบงำใจ บางทีไม่ใช่เป็นเราที่ป่วย อาจจะเป็นคนรักที่ป่วย อาจจะเป็นลูก อาจจะเป็นสามีเป็นภรรยาเป็นพ่อเป็นแม่ พอเห็นอาการหรือรับรู้ว่าคนรักของตัวป่วยหนักแล้วก็รักษาไม่หาย แทนที่จะเร่งรีบทำความดีหรือว่าใช้เวลาที่มีเหลือน้อยลงทำสิ่งดีๆร่วมกัน ก็กลับจมอยู่กับความเศร้า อันนี้เรียกว่ากิจก็ไม่ทำ เพราะอะไร เพราะไม่ทำจิต
มีผู้หญิงคนหนึ่งเขียนจดหมายมา ไม่ใช่เขียนข้อความมาว่าสามีป่วยหนักเป็นมะเร็ง แล้วก็ตอนนี้ก็ต้องมารักษาตัวที่บ้านเพราะว่าหมอบอกว่าทำอะไรไม่ได้มาก เธอก็หดหู่เศร้าหมองคิดถึงว่า เมื่อสามีตายจะทำอย่างไรใครจะเลี้ยงดูลูกใครจะผ่อนส่งบ้าน แล้วตัวเธอเองจะอยู่อย่างไร เศร้าจนกระทั่งกินไม่ได้นอนไม่หลับร่างกายพ่ายผอมก็เลยเขียนตอบไปว่า เห็นใจที่เธอต้องมาเจอกับสภาพเช่นนี้ แต่อยากจะเตือนอย่างหนึ่งว่า สามียังไม่ตาย สามียังอยู่กับเรา ช่วงเวลาที่เขาอยู่กับเรา คือเวลาที่มีความหมายมาก ควรใช้เวลานี้ทำความดี มีความสุขร่วมกัน ใช้เวลาที่เหลือน้อยลงให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ไม่ใช่แต่ปล่อยให้เวลาโอกาสทองหลุดลอยไป เพราะเอาแต่เศร้าเจ่าจุก สักพักเธอก็ตอบกลับมาว่า เธอได้สติแล้ว ขอบคุณค่ะ ตอนนี้ก็เริ่มดูแลตัวเอง เริ่มกิน เริ่มนอน ใช้เวลานี้มอบสิ่งดีๆให้แก่สามี พยายามใช้เวลาที่เหลือน้อยลงนี้ทำความดี ทำสิ่งดีๆร่วมกัน อันนี้เรียกว่าความตายใกล้มาถึงยิ่งต้องเร่งทำ เร่งทำความเพียร ต้องรีบฉวยโอกาสทำสิ่งดีๆ ก่อนที่จะหมดไป อันนี้เรียกว่ารีบทำกิจ แต่จะทำอย่างนั้นได้ทันก็ต้องทำจิตด้วยคือ รักษาใจให้ดี
คราวนี้อย่างที่พูดไว้ตอนต้นๆว่า ในทางพระพุทธศาสนาท่านสอนว่า เรื่องการทำกิจก็ต้องทำความเพียร ในขณะเดียวกันจิตก็ต้องรู้จักปล่อยรู้จักวาง ทำกิจด้วยจิตที่ปล่อยวาง หลายคนก็สงสัยว่าทำได้อย่างไรและควรทำหรือไม่ ที่จริงจำเป็นมากเลย เวลาเราทำงานอะไรก็ตามเราใส่ความเพียรเข้าไป แต่ว่าใจนี้ก็ต้องรู้จักปล่อยวางด้วย ปล่อยวางในผล ไม่ต้องไปคิดถึงผลว่าจะออกมาอย่างไร หรือไม่ต้องคิดกังวลว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ เมื่อไหร่จะเสร็จ ถ้าเราลองทำกิจด้วยจิตที่ปล่อยวาง จะปลอดโปร่งได้มากเลย สมัยที่ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านยังมีเรี่ยวมีแรง ท่านก็เป็นกำลังสำคัญในการก่อสร้างอาคารต่างๆในสวนโมกข์ เช่น โรงมหรสพทางวิญญาณ ร่วมทั้งอาคารอื่นๆ มีครั้งหนึ่งท่านก็เป็นกำลังในการก่อสร้างอาคารที่ชื่อ ธรรมนาวา หรือเรียกย่อๆว่า เรือ ก็เช่นเดียวกับอาคารอื่นๆ ใช้เวลาในการก่อสร้างหลายเดือน ลูกศิษย์ก็ถาม ว่าเรือนี้เมื่อไหร่จะสร้างเสร็จสักที ท่านตอบว่า เสร็จแล้ว เขาดีใจแล้วก็แปลกใจเพราะว่าเมื่อ 2 3 เดือนก่อน ก็ยังเห็นเรือยังสร้างไปไม่ถึงไหน พอกราบท่านอาจารย์เสร็จก็ตรงไปดูเรือเลย ใกล้ๆโรงมหรสพทางวิญญาณ ปรากฏว่าเรือก็ยังไปไม่ถึงไหน ไม่ได้คืบหน้าไปจาก 2 3 เดือนก่อนเท่าไร
ก็เลยมาถามท่านอาจารย์พุทธทาสว่า ท่านอาจารย์ ไหนว่าเสร็จแล้ว ยังไปได้ไม่ถึงไหนเลย ท่านว่า เสร็จ วันนี้เสร็จ พรุ่งนี้เสร็จ มะรืนนี้ก็เสร็จ เสร็จทุกวัน หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า ทั้งๆที่ท่านเอาใจใส่ในการก่อสร้างการทำงาน แต่ว่า เวลาทำงานท่านก็ทำเต็มที่ พอเลิกงานท่านไม่เพียงแต่วางอุปกรณ์เครื่องมือลง แต่ท่านยังวางเรือออกจากใจด้วย เพราะฉะนั้นท่านจึงรู้สึกโปร่งโล่ง เป็นความรู้สึกของคนที่ทำเสร็จแล้ว เวลาทำเสร็จเราจะรู้สึกโปร่งโล่ง ท่านอาจารย์ก็รู้สึกแบบนั้นเช่นกัน ไม่ต้องรอให้เสร็จร้อยเปอร์เซ็น ได้เท่าไรก็เท่านั้น ท่านก็รู้สึกว่าเหมือนกับคนที่ทำเสร็จแล้ว ที่จริงไม่ใช่ว่าปล่อยวางเอาตอนพัก หรือว่าตอนเลิกงานในแต่ละวัน ในขณะที่ทำท่านก็ปล่อยวางไปด้วย ใครที่รู้จักท่านอาจารย์พุทธทาสก็จะรู้ว่าท่านจะตั้งใจทำอะไรก็ทำจริง แต่ว่าในขณะที่ท่านทำกิจก็ทำจิตไปด้วยคือ ปล่อยวาง ได้เท่าไรก็เท่านั้น
ทำกิจด้วยจิตปล่อยวางนี้เป็นประโยชน์ จะช่วยทำให้งานไปด้วยดี คนทำงานก็มีความสุข มีอาจารย์ของอาจารย์ของเพื่อนอาตมาคนหนึ่ง ท่านเป็นพระเซน เป็นชาวอเมริกัน ท่านบอกว่าอาจารย์ของอาจารย์ท่านคือ ชุนริว ซูซุกิ เป็นคนที่มีชื่อเสียงมาก ในประเทศอเมริกา เพราะเป็นผู้ที่ก่อตั้งวัดเซนแห่งแรกในอเมริกา เมื่อสัก 60 กว่าปีที่แล้ว สมัยยุค1960 ตอนนั้นท่านชุนริวอายุ ๖๐ กว่าแล้ว ท่านต้องมาสร้างวัดเอง แต่ว่าโชคดีมีลูกศิษย์ลูกหาเป็นชาวอเมริกัน ซึ่งตอนนั้นเริ่มมาสนใจเรื่องจิตวิญญาณเรื่องเซน รุ่นเดียวกับเดอะบิทเทิลส์ ซึ่งไปแสวงหาเรื่องจิตวิญญาณที่ประเทศอินเดีย วัยรุ่นอเมริกันเหล่านี้ก็มาช่วยท่านสร้าง ช่วยกันแบกหิน ช่วยกันแบกเสา ปรากฏว่าทำไปได้ครึ่งวันก็เหนื่อย ในขณะที่ท่านอาจารย์ชุนริวอายุมาก 60 กว่าแล้ว ตัวก็เล็ก ญี่ปุ่นสมัยก่อนตัวเล็กปรากฏว่าทำได้ทั้งวัน ลูกศิษย์ก็เลยแปลกใจ ถามว่าอาจารย์ทำได้อย่างไร
อาจารย์ชุนริวตอบว่า ก็ผมพักตลอดเวลานี่ ลูกศิษย์ก็งงหมายความว่าอย่างไร กายท่านทำแต่ว่าจิตท่านพัก เรียกว่าท่านทำกิจและทำจิตไปด้วย ท่านทำกิจก็คือแบกเสาแบกหิน ส่วนจิตก็ทำเหมือนกัน แต่ว่าปล่อยวาง กายแบกไปแต่ว่าใจปล่อยวาง ใจก็รับรู้อยู่ว่ากายทำอะไร แต่ว่าไม่ไปยึดถือเอาความเหนื่อยความเมื่อยของกายมาเป็นความเหนื่อยความเมื่อยของกู กายเหนื่อยไปใจไม่ทุกข์ นี่เรียกว่าทำกิจด้วยทำจิตด้วย กิจนี่ทำเต็มที่แต่ว่าใจนี่ปล่อยวาง และปรากฏว่าทำได้ดีกว่าลูกศิษย์ซึ่งทำกิจแต่ไม่ทำจิต ทำไปก็บ่นไป ทำไปก็วิตกไปเมื่อไหร่จะเสร็จ เมื่อไหร่จะเสร็จ อันนี้ทำให้เห็นว่าคนเราถ้ารู้จักทำกิจและทำจิตงานได้ผลดีและคนทำก็มีความสุขด้วย เราลองพยายามปรับประสานทำกิจและทำจิตเข้าด้วยกัน
สมัยที่สัก 70-80 ปีก่อน ที่วัดบวรมีสังฆราชเจ้าองค์หนึ่ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ มีวันหนึ่ง โยมถวายชุดน้ำชาเป็นของโบราณจากเมืองจีน สงสัยราชวงค์หมิงกระมัง มาถวายสมเด็จพระสังฆราชเจ้า แล้วก็กำชับว่าดูแลให้ดีเพราะว่า เป็นของเก่ามาก และอาจจะแบบบางสักหน่อย ท่านได้รับก็ดูแลอย่างดีแล้วก็บอกเณรที่อุปฐากท่าน เวลาจะเคลื่อนจะย้าย เวลาจะทำความสะอาดท่านก็จะกำชับ กำชับแบบจี้เลย บอกให้ถือดีดีระวังแตก เวลาทำความสะอาดก็จะย้ำเลยว่าให้เช็ดเบาๆอย่าเช็ดแรงเดี๋ยวมันจะแตก ทุกครั้งท่านก็จะกำชับ ไม่ว่าเณรเอาชุดน้ำชานี้มาถวาย หรือเอาไปล้างท่านก็จะกำชับอยู่ตลอด จนเณรรู้เลยว่าจะต้องใส่ใจมากกับชุดน้ำชานี้ แล้ววันหนึ่งขณะที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงงานอยู่ปรากฏได้ยินเสียงเพล้ง พระองค์เลยออกไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น ปรากฏว่าชุดน้ำชา เณรทำตกแตก เณรนี่ตัวสั่นเลยเพราะรู้ดีว่าสมเด็จพระสังฆราชเจ้าท่านกำชับกำชามาก ท่านเอาใจใส่มาก พอสมเด็จพระสังฆราชเจ้าเห็นถ้วยชาแตกกระจายท่านก็เฉยๆ ยิ้มด้วยซ้ำ หมดภาระแล้ว คือท่านเอาใจใส่จริงจังแต่จิตท่านปล่อยวาง ส่วนใหญ่คนที่เอาใจใส่แบบนี้จะต้องยึดมั่นถือมั่นมาก เพราะอย่างนั้นเณรเตรียมเลย โดนพิโรธแน่ อาจจะโดนทำโทษอย่างแรง เพราะสมเด็จพระสังฆราชเจ้าท่านทรงเอาใจใส่กำชับกำชามาก แต่ที่ไหนได้ท่านไม่ได้โกรธอะไรเลย นี่เพราะอะไรเพราะท่านเอาใจใส่ด้วยใจที่ปล่อยวาง อันนี้เป็นคุณสมบัติของคนที่เข้าถึงธรรม จะทำกิจแล้วทำจิตไปด้วย
พวกเราก็ทำได้เวลาเจออะไรมากระทบ เช่น เวลาเจ็บป่วย เจ็บป่วยนี่เราก็ทำจิตเสีย ไม่บ่นไม่โวยวายไม่ตีโพยตีพาย ยอมรับตระหนักว่า สังขารร่างกายเป็นแบบนี้ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ วันดีคืนดีก็ป่วย แต่ก็ต้องทำกิจด้วยคือรักษา ไปหาหมอก็ได้หรือจะดูแลสุขภาพเยียวยาตัวเอง ไม่ใช่พอปล่อยวางแล้วก็ไม่รักษาแบบนี้ไม่ถูก บางคนไปเข้าใจผิด คนกลุ่มหนึ่งทำกิจไม่ทำจิต อันนี้เราเจอมาก พวกที่ทำขยันขันแข็งแต่ว่าเครียด บางทีเราก็เจอในสำนักงานของเรา ขยันมากแต่ว่าเครียดจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ อีกประเภทหนึ่งทำจิตไม่ทำกิจก็คือปล่อยวาง ปล่อยวางอย่างเดียวเลยไม่ทำอะไร ป่วยก็ปล่อยวาง ร่างกายไม่ใช่ของเราแต่ว่าไม่รักษา เวลาบ้านหลังคารั่วปล่อยวางไม่ซ่อม เคยมีมาแล้วสมัยที่หลวงพ่อชายังมีชีวิตอยู่ แล้วหนองป่าพงก็ยังไม่มีโยมมาอุปถัมภ์มาก กุฏิก็จะสร้างแบบง่ายๆ มุงด้วยหญ้าคา มีวันหนึ่งพายุกระหน่ำ กุฏิหลายหลังก็โดยพายุพัด หลังคาก็หายไป กุฏิหลังหนึ่งหลังคาหายไปครึ่งหนึ่ง ปรากฏว่าพระที่อยู่ในกุฏินั่นแหละก็ไม่ซ่อมสักที หลวงพ่อชาก็เลยถามว่าทำไมท่านไม่ซ่อมหลังคา พระก็ตอบ ผมกำลังฝึกปล่อยวางครับ หลวงพ่อชาตำหนิเลยว่า ปล่อยวางต้องใช้ปัญญาไม่ใช่วางเฉยแบบวัวแบบควาย อันนี้คือเข้าใจผิดว่าปล่อยว่างหมายถึงไม่ทำกิจ ปล่อยวางคือการทำจิต ส่วนการทำกิจก็ต้องทำไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้าเรารู้จักทำกิจแล้วทำจิต ในด้านหนึ่งเราจะทำเต็มที่ อีกด้านจิตเราจะปล่อยวางผ่อนคลาย พูดง่ายๆคือ ทำเต็มที่แต่ไม่ซีเรียส
หลวงพ่อเทียนเวลาท่านพาปฏิบัติประโยคหนึ่งที่ท่านใช้บ่อยๆ สำหรับอาตมาได้รับคำแนะนำแบบนี้จากท่านคือ ทำเล่นๆแต่ทำจริงๆ ทำเล่นๆแต่ทำจริงๆ หมายความว่า ทำด้วยใจที่ผ่อนคลาย ด้วยใจที่ไม่คิดจะเอา ไม่ได้ทำด้วยใจที่อยากให้จิตสงบ แต่ทำจริงๆคือตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน อันนี้เรียกว่าทำเต็มที่แต่ไม่ซีเรียสได้เหมือนกัน เพียรทำกิจด้วยจิตปล่อยวางไม่ใช่เรื่องที่ขัดแย้งกัน ควรไปด้วยกัน แต่ว่าคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ ไปเข้าใจผิด โดยเฉพาะชาวพุทธจำนวนมาก พอปล่อยว่างแล้วคือ ไม่ทำกิจ เวลาในวัดในอารามบางทีบางคนบางรูปบางท่านอาจมีพฤติกรรมที่ไม่ค่อยเรียบร้อย หรือไม่รับผิดชอบต่องานการ เป็นหน้าที่ของกัลยาณมิตร สหธรรมมิกไปช่วยตักเตือน แต่บางท่านก็บอกว่าไม่ทำหรอกเพราะหน้าที่เราคือรักษาจิต อย่าให้จิตใจเศร้าหมอง ที่จริงการตักเตือนคน ไม่ต้องทำด้วยจิตที่เศร้าหมอง จิตที่โกรธก็ได้ เราทำด้วยจิตที่เมตตาก็ได้ เมื่อรักษาจิตแล้วก็ไม่ได้แปลว่าไม่ทำกิจ ควรทำกิจด้วย เช่น ถ้าเขาทำไม่ถูกก็แนะนำตักเตือน อันนี้เราทำกิจ เราก็ทำจิตไปด้วย โดยไม่ทำด้วยความโกรธ ไม่ทำด้วยความขุ่นมัวด้วย บางคนทำกิจแต่ไม่ทำจิตคือ แนะนำตักเตือน หรือด่าด้วยอารมณที่โกรธอันนี้ไม่ถูกด้วย จะมีสองประเภทที่ สวิง หรือไปคนละขั้ว ประเภทหนึ่งก็ตำหนิด้วยอารมณ์อันนี้ทำกิจไม่ทำจิต
อีกประเภทหนึ่งปล่อยปละละเลยไม่แตะไม่ต้องเพราะมัวแต่รักษาจิต กลัวว่าจิตจะขุ่นมัวด้วยถ้าไปตักไปเตือน อันนี้เรียกว่ามุ่งรักษาจิต หรือทำจิตแต่ไม่ทำกิจด้วยอันนี้ไม่ถูก แนะนำตักเตือนได้ด้วยใจที่เมตตา ทำอย่างมีสติ พูดอย่างไพเราะ เขาเรียกว่าปิยวาจา อันนี้เป็นคำสอนพระพุทธเจ้าเอง จะแนะนำใครก็ให้ ตระหนักว่า หนึ่งเป็นความจริง สองมีประโยชน์ สามถูกเวลา สี่ทำด้วยเมตตา ห้าใช้ปิยวาจา เวลาเราทำอะไรต้องสองอย่างคู่กันด้วย อย่าทำด้วยความเครียด เช่น วันนี้ไปปลูกป่า บางคนปลูกป่าแล้วปลูกต้นไม้ แต่ทำด้วยความเครียดไม่รักษาใจเพราะแดดร้อน อันนี้เรียกทำกิจไม่ทำจิต แต่บางคนก็ทำจิตอย่างเดียววัดจะทำอะไรมีงานอะไรก็ไม่สนใจ
สมัยหนึ่ง สักสิบกว่าปีแล้ว มีชาวบ้านลักตัดสมุนไพร มีโยมมาบอกอาตมา ก็เลยบอกขอแรงพระไปช่วยตามหาหน่อยเขาไปตัดสมุนไพรตรงไหน ไม่ต้องทำอะไร แค่เขาเห็นพระมาเขาก็หนีแล้วล่ะ หน้าที่เราก็ควรจะรักษาป่ารักษาสมุนไพร มีพระบางรูปบอกว่าผมไม่ไปหรอก ผมปล่อยวางแล้ว การปล่อยวางก็คือไม่ได้ยึดว่าป่าเป็นของเรา อันนี้ถูกด้วยป่าไม่ใช่ของเรา เพราะฉะนั้นก็ไม่ควรไปยึดมั่นถือมั่น แต่ว่าก็ต้องมีความกตัญญูรู้คุณต่อป่า เราไม่ได้ไปไล่เขาด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่าป่าเป็นของเรา แต่เราทำเพราะเรามีความกตัญญูรู้คุณต่อป่า เราต้องการช่วยรักษาป่า อันนี้ทำด้วยเมตตา เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เป็นเรื่องขัดแย้งกันว่า การไปรักษาป่า การไปช่วยป้องกันไม่ให้คนมาตัดสมุนไพรขัดแย้งกับการปล่อยวาง เราปล่อยวาง เราไม่ยึดว่าป่าเป็นของเรา แต่ว่าความเมตตากรุณาก็สามารถเป็นแรงจูงใจหรือเป็นเหตุผลให้เราไปช่วยรักษาป่าได้ หรือว่าความกตัญญูรู้คุณ
พูดง่ายๆก็คือ ทำจิตด้วยทำกิจด้วย เหมือนกับเวลาป่วย เราก็รู้ว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา ก็สมควรแล้วที่เราจะปล่อยวางในร่างกายนี้ อันนี้เป็นการทำจิตแต่ถ้ายังรักษาได้ก็ควรจะรักษาจะด้วยการกินยา การรักษาสุขภาพด้วยการควบคุมอาหาร จะด้วยการออกกำลังกาย หรือพักผ่อนให้พอเพียงก็แล้วแต่ ทำได้ทั้งสองอย่าง ทำกิจและทำจิตควบคู่กัน หรือว่าทำความเพียรด้วยจิตที่ปล่อยว่าง พยายามที่จะเชื่อมโยงทั้งสองอย่างนี้เข้าด้วยกันให้ได้ เพราะว่าเป็นสิ่งสำคัญทั้งคู่สำหรับชาวพุทธ ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า ขณะที่ร่างกายไม่เที่ยง สังขารไม่จีรังยั่งยืน ก็ต้องเร่งทำความเพียร แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องปล่อยวางด้วย ไม่ได้ขัดแย้งกันเลยเสริมกันด้วยซ้ำ