แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เช้านี้มีพิธีอุปสมบท เรียกว่า บวชพระ พิธีในการอุปสมบท เริ่มต้นด้วยการปลงผม โกนหัว การโกนหัวเป็นลักษณะที่โดดเด่นของพระภิกษุหรือผู้บวชในพระพุทธศาสนา อันนี้รวมถึงแม่ชี และสมัยนี้ก็มีภิกษุณีด้วย การบวชเริ่มต้นด้วยการปลงผมเป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว ในสมัยพุทธกาลมีนักบวชมากมายหลายลัทธิหลายนิกาย แต่ว่าส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดไม่โกนหัว แล้วไว้ผมยาวด้วย อย่างพวกพราหมณ์ พวกฤๅษีชีไพร พวกโยคี พวกนี้มีหนวดเครายาว ผม ยาว แต่พุทธศาสนามีความพิเศษคือ มีการโกนหัว แต่ว่าก็มีอีกศาสนาหนึ่งที่ผู้บวชมีการโกนหัวเหมือนกันคือ ศาสนาเชน
ศาสนาเชน เรียกได้ว่า เจริญเติบโตคู่กันมากับพระพุทธศาสนาเลยก็ว่าได้ พระมหาวีระซึ่งเป็นพระศาสดาของศาสนาเชนอยู่ร่วมสมัยเดียวกับพระพุทธเจ้า แต่ว่าการโกนของเขาแปลกตรงที่เขาไม่ได้ใช้มีด เขาใช้วิธีถอนผมทีละเส้นๆ ลองนึกภาพถอน ทีแรกให้คนอื่นถอนก่อน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เขาจะถอนทีละเส้น ๆ จนกว่าจะหมดใช้เวลาเป็นชั่วโมง แล้วต่อไปต้องถอนเอง อันนี้หนักเข้าไปใหญ่ เป็นการบำเพ็ญขันติบารมีมาก กว่าจะหมดทั้งหัว เลือดก็เต็มหัว เขาต้องการพิสูจน์ความจริงใจ ความตั้งมั่น ความศรัทธา และต้องการฝึกความเข้มแข็งในจิตใจ เพราะว่าพอบวชแล้ว ยังต้องเจออะไรอีกมากมายที่ต้องใช้ความเพียร
พิธีบวชเขาใหญ่โตมาก อย่างเช่นว่า คนที่มาบวชพระส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีอายุแล้ว ธรรมเนียมบวชของเขาไม่เหมือนเรา ของเรา คนหนุ่มสาวก็บวชกันแล้ว แต่ของเขาส่วนใหญ่จะอยู่จนประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว อายุ ๕๐ บ้าง ๖๐ บ้าง ผู้ชายถึงจะบวชแล้ว คนที่นับถือศาสนาเชนส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ พ่อค้า ร่ำรวยมาก พิธีบวช จะมีงานเลี้ยง พอเสร็จก็มีการแจก มีการบริจาคเงิน แล้วก็สละทรัพย์สมบัติจนหมด ผู้บวชจะต้องสละทรัพย์จนหมด ไม่เหลืออะไรเลย เคยมีการทำข่าวเศรษฐีคนหนึ่งในอินเดียจะบวช เขาสละทุกอย่าง แจกหมด ไม่ได้ทิ้งเป็นมรดกให้แก่ลูกหลานสักอย่าง แจกให้คนทั้งหลายทั้งปวงจนไม่เหลืออะไรเลย เขาจะมีก็แต่แค่เนื้อตัว อาจจะแค่เสื้อผ้าง่ายๆสีขาว เดินสู่สำนัก หรือไม่ก็จาริกไปในที่ต่าง ๆ อันนี้เรียกว่าเขาใจถึงกว่าบวชพระในพุทธศาสนา
ถ้าเป็นการบวชพระในพุทธศาสนา ไม่ถึงกับต้องละทิ้งทรัพย์สมบัติมากมาย หรือว่าทั้งเนื้อทั้งตัว โดยเฉพาะในเมืองไทย หลายคนบวชชั่วคราว บวชแล้วยังกลับมาบวชใหม่ได้ เพราะฉะนั้นทรัพย์สมบัติที่มี จะเป็นโทรศัพท์ รถยนต์ แก้วแหวนเงินทอง เงินในบัญชีธนาคาร ยังเก็บไว้ มีบ้างที่สละ แต่ไม่มีพิธีสละให้เห็นชัด ส่วนใหญ่ทำกันเงียบๆถ้าจะสละก็มีบ้างเหมือนกัน ประเภทที่ศรัทธามาก ทิ้งหมดไม่เหลืออะไรเลย เงินทองในธนาคารโอนให้พ่อแม่หรือภรรยา แต่ว่าทำกันแบบไม่เป็นสาธารณะ
แต่ของเชน ทำเป็นสาธารณะเลย เพื่อแสดงว่าไม่เอาอะไรเลยจริง ๆ จากเศรษฐีร้อยล้านพันล้านเหลือแค่ตัว บางคนศรัทธามากอยู่ในนิกายทิคัมพร ทิคัมพรแปลว่า นุ่งลมห่มฟ้า จะไม่เหลืออะไรเลยแม้กระทั่งเสื้อผ้า เดินตัวเปล่า จากคนที่อยู่ท่ามกลางทรัพย์สินเงินทอง อยู่ปราสาท อยู่คฤหาสน์ สวมเพชร สวมแก้วแหวนเงินทอง เอาทิ้งหมด แล้วเข้าป่า หรือไม่ก็ไปอยู่สำนักที่มีความเคร่ง
ผู้หญิงก็เหมือนกัน เมื่อเร็วๆ นี้มีผู้หญิงซึ่งเรียกว่าการศึกษาสูง ยังสาว ศรัทธาในศาสนาเชน ออกบวช แต่กว่าจะบวชได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องฝึกเป็นผ้าขาวก่อน และขั้นตอนแรก คือการถอนผม ถอนผมทีละเส้น ๆ ผู้หญิง ต้องทนมาก พอเป็นผ้าขาว ได้สักพักสามสี่เดือนหรือว่าบางทีเป็นปี เขาจะออกบวช เมื่อตัดสินใจบวช โดยมีการสอบถามแล้วสอบถามอีกว่าแน่ใจพอที่จะบวช เขาจะมีพิธีให้ผู้หญิงแต่งตัวสวยงาม มีเพชรนิลจินดามากมาย คนอินเดียปกตินิยม ชอบทองอยู่แล้ว เขาจะใส่สร้อยทอง ใส่กำไลทองทั้งข้อมือข้อเท้า เรียกว่าเต็มทั้งตัวเลย แล้วนั่งรถม้าไปตามหมู่บ้านต่างๆ มีการเลี้ยง มีการบริจาคเงิน ทำแบบนี้อยู่หลายวัน เป็นอาทิตย์บางทีเป็นสองอาทิตย์ เขาถือว่าเป็นเรื่องการบริจาคทาน ไม่ใช่เป็นงานเลี้ยงแบบหาความบันเทิงอย่างที่บ้านเราทำ ส่วนใหญ่หมดเงินไปกับเรื่องสนุก ฉายหนังกลางแปลงบ้าง จัดมหรสพบ้าง แต่ของเขา เอาไว้เลี้ยงเอาไว้แจก เสร็จแล้วพอถึงวันบวช ถอดออกหมดเลย เหลือแต่ผ้าขาว แล้วก็อำลาพ่อแม่ จะไม่มีการกลับไปหาพ่อแม่อีก ไม่มีการกลับไปบ้านอีก เขาทำจริงจังมากจนทุกวันนี้ยังทำ อันนี้เขาเรียกว่าความศรัทธาของเขาเต็มร้อย หรือเกินร้อย
แต่ว่าคนจะศรัทธาแบบนี้ได้มีน้อย เพราะฉะนั้นนักบวชแบบเขามีไม่มากแล้ว การอยู่เน้นในเรื่องของภิกขาจารคือบิณฑบาตอย่างเดียว นิมนต์ไปฉันตามร้านนี้ยาก แล้ววันดีคืนดีถ้าต้องการปฏิบัติธรรมขั้นสูง จะบำเพ็ญธรรมที่เรียกว่าสัลเลขธรรม สัลเลขธรรมในพระพุทธศาสนาแปลว่า ขูดกิเลสขัดเกลากิเลส แต่ของเขาหมายถึงการอดอาหารจนตาย ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากครูบาอาจารย์ว่า คนนี้มีความเพียรมีความสามารถที่จะบำเพ็ญสัลเลขธรรมได้ ถือเป็นการปฏิบัติธรรมที่ยิ่งใหญ่มาก ศาสดาของเขามีหลายคนบำเพ็ญสัลเลขธรรมแบบนี้จนตาย อย่างปู่พระเจ้าอโศกเป็นกษัตริย์มีอำนาจมากและตอนหลัง รู้สึกสำนึกผิดในบาปกรรมที่ทำไว้ ฆ่าคนมากมายในการทำศึกสงคราม พอบ้านเมืองเกิดความแห้งแล้งเกิดทุพภิกขภัย คิดว่าเป็นเพราะกรรมที่ตัวเองทำไว้ วิธีที่จะชดใช้กรรมคือ ออกบวช โดยออกบวชอย่างที่ว่า คือไม่เหลืออะไรเลย มีแค่เสื้อผ้า ไม่รู้ว่าเสื้อผ้าในตอนหลังจะถอดทิ้งหรือเปล่า เดินเข้าป่าไปเลย ไม่มีองครักษ์ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น
ตอนหลังใช้วิธีนี้ปฏิบัติธรรมขั้นสูง คืออดอาหารจนตาย เป็นที่ยกย่องสรรเสริญ เคารพบูชามาก อย่างล่าสุดเมื่อสักไม่กี่ปีมานี้ มีแม่ชีหรือเรียกว่านักบวชแบบภิกษุณี อดอาหารจนตาย เวลาที่เขาจะอดอาหาร เขาจะมีวิธีการค่อย ๆ ลดทีละนิด อาหารพวกเนื้อ เขาไม่กินอยู่แล้ว พวกเชนเป็นพวกที่เคร่งครัดเรื่องการไม่เบียดเบียนมาก เวลาจะเดินไปไหนต้องมีไม้กวาดคอยปัดทาง เพราะกลัวว่าจะเหยียบแมลง ปัดทางตลอดเวลา เวลาจะกินอาหาร ต้องดูแต่ละช้อน แต่ละคำว่า มีแมลงหรือเปล่า ถ้ามีแมลง เช่น พวกมอด ไม่กินเลย ทั้งจานเลิกกินเลย แล้วเวลากิน ๆนิดเดียว เรียกว่าเป็นผู้ที่บำเพ็ญเพียรอย่างหนัก นักบวชแบบพุทธสำนักวัดป่าของเรา ว่าเคร่งแล้ว พอเจอสำนักของพวกเชน เรียกว่าชิดซ้ายไปเลย แต่ก็ไม่ได้แปลว่าการเคร่งมาก ๆ ดี ตั้งใจจะพูดว่าเขามีความเคร่งแบบไหน เรื่องเนื้อสัตว์นี้เขาไม่กินอยู่แล้ว
เรื่องข้อวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ของเรานี้หลายอย่าง คล้ายกับเชน เช่น มีข้อกำหนดว่า ถ้ารู้ว่าน้ำมีตัวสัตว์ และกินน้ำนั้น เป็นอาบัติ น้ำมีตัวสัตว์เช่นแมลง หรือเอาน้ำมีตัวสัตว์รดหญ้าหรือดินถือว่าอาบัติ ของเชนเขา แบบนี้เหมือนกัน แต่ว่าของเขาไปไกลกว่า เคร่งกว่าอีกมากมาย
ทีนี้พอจะอดอาหาร ค่อยๆ งดทีละอย่างๆ แล้ว ค่อย ๆ ตาย ทีละน้อย ๆ โดยมีคนดูแล คนที่ดูแลทำหน้าที่เป็นอุปัฏฐาก ช่วยให้สามารถบำเพ็ญธรรมขั้นสูง ขั้นอุกฤษฏ์จนตายได้ และคนที่ดูแลเข้มแข็ง เพราะว่าส่วนใหญ่ มักจะเป็นเพื่อนกัน ดูแลจนเห็นเขาค่อย ๆ หมดเรี่ยวหมดแรง แล้วสุดท้ายหมดลม อันนี้เป็นการปฏิบัติธรรมขั้นสูง
แต่ทางพุทธศาสนาเราไม่มีปฏิบัติแบบนี้ การกินอาหาร ยังเป็นสิ่งจำเป็น ถือว่าเป็นปัจจัยสี่ แต่แทนที่จะอดอาหาร เราจะเน้นที่การพิจารณาอาหารมากกว่า เวลาที่จะกินอาหาร จะพิจารณาที่เรียกว่า ปัจจเวก ก่อนพระฉัน จะสวดเป็นภาษาบาลี เขาเรียกว่าการพิจารณาอาหาร พิจารณาอาหารว่าเรากินเพื่ออะไร ไม่ได้กินเพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนาน ไม่ได้กินเพื่อรสชาติความเอร็ดอร่อย ไม่ใช่กินเพื่อรักษาทรวดทรง หรือว่าเพื่ออวดฐานะว่าร่ำรวย แต่ว่ากินเพื่อให้ร่างกายอยู่ได้ เพื่อลดทุกขเวทนาเก่า แล้วไม่ทำทุกขเวทนาใหม่ให้เกิดขึ้น และเพื่อเกื้อกูลแก่การประพฤติพรหมจรรย์ คือเพื่อให้ร่างกายมีชีวิตอยู่ได้ในการทำความดีทั้งประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน พูดง่าย ๆก็คือ กินด้วยสติ ไม่ใช่ว่าไม่กินเลย แต่มีบางท่าน ไม่กินอาหาร อดอาหาร อันนี้ เพราะต้องการมุ่งปฏิบัติแล้ว อาจจะเน้นสมาธิด้วย คือเน้นสมถะ พอไม่กินอาหารแล้ว ใจฟุ้งซ่านน้อย ราคะมารบกวนน้อย ทำให้การปฏิบัติดี แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมากิน กลับมาฉัน
อันนี้ เล่าความแตกต่างระหว่างนักบวชพุทธกับนักบวชเชน หลายอย่างเหมือนกัน คำสอนหลายอย่างคล้ายๆกัน เช่นการไม่เบียดเบียน อหิงสา การโกนผม โกนหัว แค่ว่าพอดูรายละเอียดแล้ว เรียกว่าแตกต่างกันมาก