แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เช้านี้ก็จะมีญาติโยมหลายคนประมาณสักสองสามร้อยไปปลูกป่าที่ภูหลง เทศกาลปลูกป่าก็เริ่มตั้งแต่วันวิสาขบูชาที่ผ่านมา แล้วเริ่มมีการทยอยไปปลูกป่าที่ภูหลงกันเป็นระยะๆ อาทิตย์หน้าจะมีอีกกลุ่มหนึ่ง แล้วจะมีอีกหลายๆกลุ่มตามมา สิ่งนี้เป็นกิจที่ควรทำสำหรับชาวโลกเลยก็ว่าได้ ไม่ใช่เฉพาะชาวพุทธ สำหรับผู้ที่อยู่ป่าหรืออาศัยป่า นอกจากการฝึกจิตหรือการเกลาด้านในแล้ว การทำงานภายนอกเพื่อช่วยเหลือส่วนรวมสิ่งนี้ก็เป็นกิจของชาวพุทธ เรียกย่อๆว่า ทำจิตแล้วก็ทำกิจ
อย่างเรามาวัด เรามาเจริญสติ ทำสมาธิ บำเพ็ญภาวนา หรือทำจิต ซึ่งที่จริงเราควรทำจิตไม่ใช่แต่เฉพาะที่นี่ อยู่บ้านหรืออยู่ที่ทำงาน เจออะไรที่มากระทบไม่ถูกใจ เช่น รถติด มีคนต่อว่า หรือเจ็บป่วย แบบนี้ก็ต้องรู้จักทำจิตด้วย คือทำให้จิตมันสงบเย็น ไม่ทุกข์ ไม่ร้อน ส่วนการทำกิจนั้นคือการแก้ไขปัญหา จัดการกับเหตุปัจจัยภายนอกรวมทั้งการทำประโยชน์ ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวว่า ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์ สงบเย็นเพราะทำจิต ส่วนเป็นประโยชน์เพราะทำกิจ สาระหรือนัยยะอันเดียวกัน ถ้าเราทำจิตเราก็สงบเย็น ไม่ว่าสิ่งแวดล้อมจะวุ่นวายแค่ไหน หรือไม่ว่าสุขภาพจะดีหรือไม่ ใจก็สงบเย็น แต่ถ้าเราทำกิจถูกต้องก็เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งสองประการนี้จะว่าไปก็เป็นคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า
อย่างที่เราสวดเมื่อสักครู่นี้ ถ้าเราจับความได้เราจะพบว่าองค์คุณ หรือที่เรียกว่าพุทธคุณของพระพุทธเจ้าเมื่อย่อแล้วเหลือแค่สอง คือปัญญาและกรุณา ปัญญาเกิดจากการทำจิต ทำจิตจนกระทั่งเห็นความจริง เห็นสัจธรรมของกายและใจ เห็นสัจธรรมของโลก ตอนนี้พอเห็นพอมีปัญญา ก็ไม่มีความเห็นแก่ตัวอีกต่อไป ความยึดมั่นในตัวกูไม่เหลือ กิเลสครอบงำไม่ได้ ใจแผ่กว้างเกิดกรุณาอันไม่มีประมาณ เป็นกรุณาที่มุ่งจะทำประโยชน์เพื่อสรรพสัตว์ ไม่ได้มีประโยชน์ตนหลงเหลือแม้แต่น้อย นอกจากการยังชีพให้อยู่ได้ปกติสุขเพื่อให้ได้ทำกิจทำการงานต่างๆ
พระพุทธเจ้าเมื่อพระองค์ได้บรรลุธรรมแล้วเสด็จไปโปรดสัตว์ สั่งสอนเวไนยสัตว์ทั้งหลายแล้ว พระองค์มีพระประสงค์หรือมีความตั้งใจอย่างหนึ่งคือ จะอยู่ป่าจะประทับในป่าตลอดชีวิต พระองค์เคยสนทนากับพราหมณ์คนหนึ่งชื่อชาณุสโสณี เป็นการสนทนาเกี่ยวกับเรื่องป่าทั้งนั้นเลย คือชาณุสโสณีแกเป็นคนหนึ่งที่กลัวป่า เพราะว่าป่าในความรู้สึกของแกมันน่ากลัว เต็มไปด้วยสัตว์ร้าย เลยสนทนากันว่าอยู่ป่าอย่างไรจึงจะมีประโยชน์ หรืออยู่ป่าไปทำไม พระองค์เล่าว่าสมัยที่พระองค์ไปบำเพ็ญเพียรในป่า คือตั้งแต่สมัยที่ออกบวช พระองค์เคยกลัวป่าเวลามีเสียงสัตว์ สัตว์ป่าไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ แม้กระทั่งเสียงนกยูงพระองค์ก็กลัว กลัวจนขนลุกชันเลย เพราะฉะนั้นพวกเราที่มาป่าแล้วกลัวป่าก็ธรรมดา พระองค์ก็เคยประสบ แต่พระองค์มีวิธีคือเมื่อมีความกลัวเกิดขึ้น ให้รู้ความกลัวนั้น ก็รู้เรากลัวหนอ ความกลัวนั้นก็ดับไป อีกวิธีหนึ่งที่พระองค์ใช้คือ เวลาเดินจงกรมแล้วกลัวก็เดินไปเรื่อยๆจนหายกลัว แต่ไม่เปลี่ยนอิริยาบถ เรียกว่ากลัวในอิริยาบถไหนก็อยู่ในอิริยาบถนั้นจนหายกลัว นั่งแล้วกลัวก็นั่งจนหายกลัว แบบนี้รวมถึงว่า กลัวตรงไหนก็อยู่ตรงนั้นจนหายกลัว
จากนั้นพระองค์กล่าวต่อไปว่า ชาณุสโสณีคงจะคิดว่าจนทุกวันนี้พระองค์ยังอยู่ป่า ประทับอยู่ในป่าคงเพราะคิดว่าพระองค์ยังไม่ปลอดจากความโลภ ความโกรธ ความหลง จึงมาอยู่ป่าอันสงบสงัด คล้ายๆว่ามาอยู่ป่าเพื่อมาฝึกตน ชาณุสโสณีอาจจะเข้าใจอย่างนั้น แต่พระองค์ได้อธิบายว่า พระองค์พ้นทุกข์แล้ว ราคะ โทสะ โมหะ ไม่อาจจะครอบงำได้ แต่ที่อยู่ป่าและตั้งใจจะประทับอยู่ป่าตลอดชีวิตเพราะว่า ประการแรก ทรงประทับในป่าที่สงบสงัดแล้วเป็นความสุขในปัจจุบัน เรียกว่าทิฏฐธัมมสุขวิหาร คือเป็นสุขในปัจจุบัน ประการที่สองคือ เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับอนุชนรุ่นหลังจะได้เจริญรอยตาม อนุชนรุ่นหลังโดยเฉพาะพระสงฆ์ ไม่ว่าจะภิกษุหรือภิกษุณี เรื่องการอยู่ป่าเป็นสิ่งที่จะอำนวยประโยชน์ในเรื่องของการบำเพ็ญภาวนาได้เป็นอย่างดี ช่วยให้การทำกิจเจริญงอกงาม
แต่สมัยนี้จะทำจิตเพียงแค่อยู่ในป่าคงไม่พอ เพราะว่าสมัยก่อนไม่มีใครมาทำลายป่า มีแต่จะใช้ประโยชน์จากป่าในลักษณะอื่น เช่น เก็บผลไม้ เก็บยา สมัยก่อนมนุษย์เราไม่มีเทคโนโลยีมากที่จะทำลายป่าได้ มีแค่ขวาน มีแค่เลื่อย สมัยก่อนป่าก็เป็นร้อยๆล้านไร่ ทำอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้ป่าหดหายได้มาก แต่เดี๋ยวนี้คนเรามีความสามารถในการทำลายป่าได้สูงมาก การทำลายป่ากลายเป็นปัญหาสำคัญของคนยุคปัจจุบัน ป่าหดหายไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นจะเพียงแค่อาศัยป่าเพื่อทำจิตไม่พอ ต้องมีการทำกิจเพิ่มมาอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือการอนุรักษ์ป่า แล้วก็การฟื้นฟูป่าขึ้นมา นี่เป็นกิจใหม่ของชาวพุทธก็ว่าได้
แต่ก่อนมีแต่สิกขาบทหรือวินัยว่า ห้ามพระไปพรากภูตคาม คือไปทำลายของเขียว เช่น ตัดต้นไม้ หรือตัดกิ่งไม้ ก็เท่านั้นแหละ แต่เดี๋ยวนี้มนุษย์เราทำได้มากกว่านั้น ทำลายได้มากกว่านั้น เพราะฉะนั้นการรักษาป่าการฟื้นฟูป่าเป็นเรื่องสำคัญ ในด้านหนึ่งเพื่อประโยชน์ของคนรุ่นหลัง ในด้านหนึ่งเพื่อประโยชน์ปัจจุบันด้วย ประโยชน์อย่างไร มีป่าทำให้มีน้ำ มีอาหาร มีปัจจัยสี่ เพราะว่าทุกวันนี้ปัจจัยสี่ของคนเราส่วนใหญ่ยังต้องอาศัยธรรมชาติโดยเฉพาะป่า ถึงแม้ทุกวันนี้จะมีการสังเคราะห์ มีพลาสติกมาแทนไม้ แต่ถึงที่สุดแล้ววัตถุดิบที่ทำพลาสติกก็มาจากธรรมชาติ อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับป่าโดยตรงก็ตาม แต่เกี่ยวข้องโดยอ้อม ความสำคัญของป่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้น้ำ การให้อากาศนี่สำคัญ
เมื่อเดือนที่แล้วอาตมาไปสัมมนาที่ประเทศนอร์เวย์ โดยกระทรวงภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เขามีกระทรวงนี้ทั้งที่นอร์เวย์เป็นประเทศเล็ก คนห้าล้านคนแต่เขารู้สึกว่าเรื่องภูมิอากาศโลกเป็นเรื่องสำคัญ จะต้องมีกระทรวงที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ในขณะที่อเมริกาเป็นประเทศใหญ่ตอนนี้ไม่สนใจแล้วเรื่องโลกร้อน แต่นอร์เวย์เขาสนใจ แล้วเขาก็ร่วมกับหน่วยงานพัฒนาของสหประชาชาติ (UNDP) จัดสัมมนา เขาเน้นเจาะจงเลย ผู้นำศาสนา เพราะวัตถุประสงค์คือต้องการให้มาช่วยกันรักษาป่าฝน หรือ Rain Forest ป่าฝนตอนนี้กำลังถูกคุกคามมาก ปีหนึ่งหดหายไปมหาศาลเท่ากับประเทศออสเตรีย ประเทศออสเตรียนั้นก็ใหญ่ หายไปทุกปีๆ พื้นที่ป่าขนาดเท่าประเทศออสเตรียหายไปทุกปีๆ เพราะการทำลายป่า เพื่อทำพื้นที่เกษตร เพื่อปลูกธัญพืช เช่น ข้าวโพด หรือว่าถั่วเหลือง หรือปาล์ม เรื่องนี้เขาเห็นว่าเป็นปัญหาระดับโลกซึ่งต่อไปทำให้ปัญหาโลกร้อนลุกลามมากขึ้น เขาจึงจัดประชุม
อาตมาได้รับนิมนต์ไปด้วย ได้ไปฟังการบรรยายของศาสตราจารย์ท่านหนึ่ง เป็นคนในละตินอเมริกา ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องป่าอเมซอน เขาเคยได้ยินคนเฒ่าคนแก่หรือชนพื้นเมืองบอกว่า มีป่าก็มีฝน เขาไม่แน่ใจว่าจริงหรือไม่ จนกระทั่งเขาศึกษามาเป็นสิบปี ทั้งภาคพื้นดินและบนฟ้าใช้เครื่องบิน เขาพบในที่สุดว่า สิ่งที่พูดกันมานานว่ามีป่าทำให้มีฝนนี้จริง แต่ก่อนก็พูดแต่ไม่มีหลักฐาน พูดแต่เพียงว่าความชื้นในป่าเรียกฝนมา แต่ไม่มีคำอธิบายที่ดีไปกว่านั้น แล้วเขาพบว่าใช่เลย คือเวลาฝนจะตกมาได้จะต้องเกาะกับฝุ่นละอองที่อยู่บนฟ้าในอากาศ ไม่เช่นนั้นละอองน้ำตกมาเป็นเม็ดฝนไม่ได้ แต่คราวนี้เหนือป่าอเมซอนไม่มีฝุ่นเลย แล้วฝนตกได้อย่างไร เขาพบว่าต้นไม้ปล่อยพวกก๊าซต่างๆ รวมทั้งกลิ่น กลิ่นของดอกไม้มีพวกสารเล็กๆน้อยๆ ลอยฟุ้งอยู่เหนือป่า พวกนี้เป็นตัวที่ทำให้ละอองน้ำมาเกาะแล้วก็ตกลงมาเป็นฝน เขาเรียกว่าฝุ่นมหัศจรรย์ (Pixie Dust) ฝุ่นมหัศจรรย์ทำให้ฝนตกมาเรื่อยๆในป่าอเมซอนรวมทั้งในป่าทั้งหลาย และที่น่าทึ่งอย่างหนึ่งคือเขาพบว่าป่าทำให้เกิดแม่น้ำ ไม่ใช่แม่น้ำบนดินอย่างเดียว มีแม่น้ำบนฟ้าด้วย หรือแม่น้ำลอยฟ้า (Flying River) เขาวิจัยพบว่าจะมีละอองน้ำจับเป็นสายอยู่เหนือป่าแล้วเคลื่อนไปตามที่ต่างๆ ที่ทำให้เกิดความชุ่มชื้น ละอองน้ำหนามากจนกระทั่งเขาเรียกว่าเป็นแม่น้ำที่อยู่บนฟ้า มีป่าทำให้เกิดความชุ่มชื้น ทั้งเกิดฝนในแนวดิ่งแล้วก็เกิดความชุ่มชื้นในแนวราบ อันนี้ยังไม่ต้องพูดถึงว่าป่าทำให้เกิดทรัพยากรต่างๆ มากมาย
และที่สำคัญป่าคือตัวดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เขาบอกว่าถ้าหยุดยั้งการทำลายป่าเสียแต่วันนี้แล้วทำให้ป่าที่เสื่อมโทรมมันดีขึ้น คาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้เกิดโลกร้อนมันจะหายไปทันที 30 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าต้นไม้ถ้าเราเผามันก็เกิดก๊าซ ถ้าเราหยุดเผาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็ลดลง และต้นไม้ดูดคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อเปลี่ยนเป็นออกซิเจน และทุกวันนี้มีปัญหาว่าเราจะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างไร คิดเทคโนโลยีต่างๆ มากมายแม้กระทั่งการเก็บคาร์บอนไดออกไซด์แล้วเอาไปปล่อยนอกโลก คิดกันถึงขนาดนั้น แต่วิธีที่ง่ายกว่านั้นก็คือการรักษาป่าและการปลูกป่า ซึ่งจะเป็นการช่วยโลกได้มาก การอนุรักษ์ป่าหรือการฟื้นฟูป่าที่บอกไว้แล้วว่าเป็นหน้าที่ของชาวโลก และโดยเฉพาะของชาวพุทธ เพราะว่าชาวพุทธเราเป็นหนี้บุญคุณป่ามาก มีป่าจึงมีพุทธศาสนา หรือพุทธศาสนาจึงยั่งยืนตกทอดมาถึงเราทุกวันนี้ได้
พระพุทธเจ้าประสูติใต้ต้นไม้ ตรัสรู้ก็ใต้ต้นไม้ท่ามกลางธรรมชาติที่ร่มรื่น ตอนที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์เพื่อจะบำเพ็ญเพียรจนกระทั่งตรัสรู้ในวันวิสาขบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 พระองค์เลือกตรงนั้นเพราะเป็นที่ที่มีธรรมชาติร่มรื่น พระองค์ตรัสกับพระสาวกในภายหลังว่า พอเห็นตรงนั้น ตรงริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา พระองค์พบว่าสถานที่นี้เป็นที่รมณีย์ มีไพรสณฑ์ร่มรื่นน่าชื่นบาน มีแม่น้ำไหลผ่าน น้ำไหลเย็นน่าชื่นใจ มีฝั่งน้ำ มีท่าน้ำ มีโคจรคาม แล้วพระองค์ตรัสว่า สถานที่นี้เป็นที่รมณีย์หนอ เหมาะกับการบำเพ็ญเพียร แล้วพระองค์เลยปลงใจว่าจะขอทำความเพียรตรงนี้ แล้วประทับใต้ต้นโพธิ์ แล้วบรรลุธรรมในคืนนั้นก่อนสว่าง เพราะฉะนั้นการบรรลุธรรมของพระพุทธเจ้า ธรรมชาติ ความร่มรื่น สถานที่รมณีย์ จึงมีความสำคัญ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ถึงกับพูดว่า ที่รมณีย์คือที่เริ่มต้นของพุทธศาสนา แล้วเมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วอย่างที่บอก พระองค์ตั้งใจว่าจะประทับอยู่ในป่าตลอดชีวิต ใช้ป่าเป็นที่สอนธรรม ทำให้เกิดพระอรหันต์มากมาย หลายท่านเข้าไปในป่าแล้วเกิดความสงบ รู้สึกร่มเย็น เกิดความสุข อยากจะบำเพ็ญภาวนากำจัดอวิชชาให้หมดไป
เพราะฉะนั้นป่ามีประโยชน์ทั้งกับร่างกายของเรา น้ำ อาหาร อากาศ แล้วมีประโยชน์ต่อจิตใจโดยเฉพาะชาวพุทธ ซึ่งได้ประโยชน์จากป่าโดยอ้อมและโดยตรง โดยอ้อมเช่นที่ได้รับรู้ธรรมะจากพระพุทธเจ้า นำมาใช้ในการดำเนินชีวิต หรือได้รับฟังธรรมะจากพระสงฆ์สาวกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็เกิดศรัทธานำมาปรับปรุงพัฒนาชีวิตจิตใจให้มีความสุข คลายจากความทุกข์ เรียกว่าได้ประโยชน์โดยอ้อม ได้ประโยชน์โดยตรงคือเข้ามาในป่าแล้วก็บำเพ็ญภาวนาอย่างพวกเรา เป็นประโยชน์ต่อจิตใจโดยตรง เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าป่าจะไม่ใช่ของเรา จะเป็นของใครก็แล้วแต่ ก็ควรรักษาเอาไว้ และเป็นหน้าที่ของยุวทูตศาสนาก็ว่าได้
อย่างการไปประชุมที่นอร์เวย์เขาเจาะจงเรื่องป่าฝนในเขตอเมซอน และในประเทศแอฟริกา ไปที่นั่นจึงรู้ว่าแอฟริกามีป่าฝนใหญ่ที่สุดในโลกเป็นอันดับสองรองจากอเมซอน เวลานึกถึงแอฟริกาเรานึกถึงทะเลทรายหรือไม่ก็ทุ่งหญ้าสะวันนา แต่ที่จริงมีป่าฝนที่ใหญ่มากอยู่ในคองโก อันดับสองรองจากอเมซอน อินโดนีเซียซึ่งมีป่าฝนมากก็ยังถือว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคองโก พม่าก็มีป่ามากแต่ยังเล็กน้อย แล้วผู้นำศาสนาโดยเฉพาะในประเทศเหล่านั้น อเมซอน คองโก ศาสนาคริสต์ และแม้กระทั่งชนพื้นเมืองที่อยู่อาศัยป่าก็มาระดมความคิด แล้วก็มาสร้างเป็นเครือข่ายเพื่อที่จะช่วยกันรักษาป่า ชาวพุทธก็มาร่วมในการสัมมนานี้บ้างแต่ไม่มากเพราะว่าอย่างที่บอก ป่าฝนที่เป็นหัวใจสำคัญของภูมิอากาศระดับโลกมีอยู่สามที่ อเมซอน ละตินอเมริกา และแอฟริกา และอินโดนีเซียด้วย
แต่ถึงแม้เมืองไทยเราจะมีป่าฝนไม่มากหรือยังมีในสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับระดับโลก แต่ก็มีความสำคัญต่อชีวิตของผู้คนไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือไม่พุทธ ไม่ว่าจะเห็นถึงประโยชน์ของมันหรือไม่ เพราะฉะนั้นไม่ว่าการช่วยกันรักษาป่าฝนทั้งในเมืองไทยหรือในที่ต่างๆนั้น เป็นการทำกิจที่สำคัญที่เราต้องระดมกำลังช่วยกัน อย่าไปนึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว ที่จริงมันใกล้ตัวมาก เรื่องโลกร้อนถึงแม้ว่าภัยยังเห็นไม่ชัด แต่ก็แสดงตัวให้เรารับรู้ได้ ฤดูที่แปรปรวน ฝนที่ไม่ตกต้องตามฤดูกาล ความแห้งแล้ง โรคระบาด ที่เดี๋ยวนี้มีโรคใหม่ๆเกิดขึ้น พวกนี้แต่ก่อนถูกเก็บไว้ในป่า ไม่ออกมาเพ่นพ่าน แต่พอทำลายป่าโรคพวกนี้ก็ออกมาอาละวาด เหมือนกับที่เรียกว่าผีป่า พอทำลายป่าผีป่าก็เข้ามาสู่เมือง นี่เป็นสำนวนคนโบราณ แต่ที่จริงก็ใกล้เคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นนอกจากการทำจิต ฝึกจิตของเราให้สงบร่มเย็นแล้ว ต้องช่วยกันทำให้โลกร่มเย็นด้วยต้นไม้ โลกร่มเย็นด้วยต้นไม้ส่วนใจก็ร่มเย็นด้วยธรรมะ และธรรมะกับต้นไม้หรือป่าก็เป็นเกลอกัน อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านพูดว่า ธรรมะก็ไม่ได้หนีห่างไปจากธรรมชาติ ธรรมะคือตัวธรรมชาตินั่นเอง ไม่ได้หนีห่างไปจากธรรมชาติเลย ถ้าเรารู้จักสังเกตธรรมชาติเราก็จะเห็นธรรมแล้วก็บรรลุธรรมได้