แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เรื่องที่จะเล่านี้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในอเมริกา วันหนึ่งอาจารย์เขียนโจทย์ขึ้นกระดานให้นักศึกษาหาคำตอบ โจทย์นี้เกี่ยวข้องกับนโปเลียน นโปเลียนเป็นจักรพรรดิฝรั่งเศสเมื่อ 200 ปีที่แล้ว ซึ่งเคยกรีฑาทัพไปถึงประเทศรัสเซีย เป็นช่วงฤดูหนาว หิมะตกอย่างหนัก โจทย์มีอยู่ว่า นโปเลียนให้กองทัพของตนกรีฑาทัพระยะทางเป็นพันๆกิโลเมตร ย่ำหิมะไปจนถึงรัสเซีย โดยใส่รองเท้าหนังบางๆ ถามว่าทำไมถึงทำเช่นนั้นได้ อะไรทำให้นโปเลียนสามารถกรีฑาทัพ โดยที่นักรบสวมรองเท้าบางๆไปจนถึงรัสเซีย ทั้งๆที่หิมะมีระยะทางเป็นพันๆกิโลเมตร
นักศึกษาก็พยายามหาคำตอบ บางคนก็ใช้คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ ว่าความกดดันที่ไม่สม่ำเสมออาจจะทำให้อากาศไม่หนาวมาก บางคนอธิบายว่าเป็นเพราะความมุ่งมั่นของทหาร ที่คิดถึงประเทศชาติมากกว่าความทุกข์ความเดือดร้อนของตน แต่ละคนพยายามสรรหาคำตอบตามความรู้ ตามมุมมองของตน ก็ใช้เวลาอยู่นานเพราะอาจารย์ให้เวลา 1 วันเพื่อจะหาคำตอบ พอนักศึกษาแต่ละคนเขียนคำตอบส่งอาจารย์ อาจารย์บอกว่าที่จริงพวกคุณไม่น่าจะเสียเวลามาก เพราะว่าถ้าใช้สามัญสำนึกก็จะรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ ใส่รองเท้าบางๆย่ำหิมะเป็นระยะทางเป็นพันๆกิโลเมตรไปถึงรัสเซียมันเป็นไปไม่ได้ ถ้าพวกคุณใช้สามัญสำนึก ก็จะรู้ว่ามันเป็นโจทย์ที่ไม่มีทางเกิดขึ้นจริงได้ นักศึกษาก็หน้าหงายไปตามๆกัน แต่ก็คงได้บทเรียนว่าคำถามหรือโจทย์บางครั้งก็ไม่ใช่ความจริงเสมอไป คนเราต้องรู้จักตั้งคำถามกลับไปที่โจทย์ด้วยว่ามันจริงหรือ มันเป็นไปได้หรือ อาจารย์ต้องการบอกให้นักศึกษารู้จักใช้สามัญสำนึกบ้าง อย่าเอาแต่ใช้หัวสมองแบบทื่อๆ เพราะว่าโจทย์ที่ให้มาบางทีก็เป็นโจทย์ที่ผิด เรามักจะคิดว่าโจทย์ที่อาจารย์ให้มันถูก ในโรงเรียนในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างนั้น แต่ในชีวิตจริงโจทย์ที่เราได้มา บางทีเป็นโจทย์ที่ผิด และถ้าเราหลงเชื่อ อาจจะไม่ใช่แค่เสียเวลา อาจจะเสียเงินเสียทอง หรือเสียผู้เสียคนก็ได้
หลายคนถามว่าทำไมเชื่อและเสียเงินให้กับแชร์ลูกโซ่ หรือว่าโดนหลอกเสียเงินไปเป็นจำนวนมาก คนที่เป็นเจ้าของแชร์ลูกโซ่ เขาก็พยายามพูดเชิญชวนโน้มน้าวว่า ถ้าเอาเงินมาลงแชร์กับเขาแล้วจะได้ผลตอบแทนมากมาย คือถ้าใช้สามัญสำนึกสักหน่อยจะรู้ว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่อาจจะเป็นเพราะความโลภก็ได้ หรือว่าเป็นเพราะความไม่รู้ อาจจะเป็นเพราะความศรัทธาในผู้พูดว่าเป็นคนรู้จักกัน ก็เลยโดนเขาหลอกไป และเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ ถ้าคนเราลองใช้สามัญสำนึกสักหน่อย จะรู้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่เราได้ยินได้ฟังมาไม่น่าจะจริง
เดี๋ยวนี้มีข่าวลือข่าวลวงมากมาย ทั้งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ คนก็เชื่อเพียงเพราะว่าคนที่ส่งข้อความมาหรือคนที่แชร์มาเป็นคนรู้จัก เดี๋ยวนี้มีข่าวลือข่าวลวงเยอะแยะไปหมด ซึ่งพอเราเชื่อก็เกิดปัญหา บางทีถ้าใช้สามัญสำนึกสักหน่อยก็จะรู้ว่ามันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่เดี๋ยวนี้คนไม่ค่อยใช้สามัญสำนึกกันแล้ว อาจจะเป็นเพราะมีอคติส่วนตัว หรือเป็นเพราะว่าเชื่อง่ายก็ได้ บางทีเราก็เชื่อเพราะศรัทธา คนที่ส่งข้อความมา คนที่บอก อาจเป็นคนที่เราไว้ใจ แต่ก็อาจจะไม่ได้คิดว่าเขาเองก็โดนหลอกเหมือนกัน หรือบางทีอาจจะมีความผิดพลาด คนที่มีปัญญาเขาจะไม่เชื่ออะไรง่ายๆ แม้คนที่มาพูดต่อหน้าเขาเป็นพระพุทธเจ้าก็ตาม
ในสมัยพุทธกาล มีอุบาสกคนหนึ่งได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า เรียกว่าสนทนาธรรมกันดีกว่า พระพุทธเจ้ามาสนทนาด้วย ทำให้อุบาสกคนนี้ได้เข้าใจว่าขันธ์ 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เข้าใจจนกระทั่งบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับไปไม่นาน มารเห็นเหตุการณ์ ก็เข้ามาสวมรอย มารมีความสามารถหลายอย่าง และความฉลาดด้วย ก็แปลงกายเป็นพระพุทธเจ้า และมาหาอุบาสกคนนี้ และบอกว่าเมื่อกี้ที่พูดไปเรื่องขันธ์ 5 ว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน พูดผิด มีขันธ์ 5 บางอย่างที่เป็นตัวเป็นตน ถ้าเป็นเราเจอพระพุทธเจ้ามาพูดอย่างนี้ จะเชื่อไหม ก็คงเชื่อว่าพระพุทธเจ้ามาแก้ไขข้อความว่าพูดผิดเมื่อสักครู่
แต่อุบาสกคนนี้มีปัญญา แม้จะศรัทธาในพระพุทธเจ้า แต่ก็มีข้อสงสัยว่าพระพุทธเจ้าไม่น่าพูดอย่างนี้ เมื่อกี้พูดอย่างหนึ่ง ตอนนี้มาพูดอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่วิสัยของพระพุทธเจ้า ก็สงสัยว่าคนที่อยู่ข้างหน้านี้เป็นพระพุทธเจ้าจริงหรือ ก็นึกขึ้นมาได้ว่าสงสัยจะเป็นมาร พอพูดขึ้นมาว่า ท่านคือมารใช่ไหม มารยอมแพ้เลย ยอมเพราะว่ามาร จุดอ่อนคือการรู้ทัน อันนี้คุณสมบัติคล้ายๆกับอารมณ์อกุศลหรือกิเลสทั้งหลายที่มันกลัวถูกรู้ถูกเห็น มารพอมีคนทักว่า ท่านคือมารใช่ไหม ยอมเลยนะ ยอมแพ้ ก็เปิดเผยตัวเองว่าใช่แล้วเป็นมาร ไม่ใช่พระพุทธเจ้า อันนี้เป็นคุณลักษณะของอุบาสกของชาวพุทธคือไม่เชื่อง่าย แม้คนที่มาพูด ดูเหมือนจะเป็นพระพุทธเจ้าก็ตาม แต่ว่าถ้าสิ่งที่พูดทะแม่งและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงก็ไม่เชื่อ อันนี้เรียกว่าไม่ได้ศรัทธาจนงมงาย ยังรู้จักใช้ปัญญาและอาจจะใช้สามัญสำนึกในระดับหนึ่งด้วย
พวกเราบางทีต้องเจอโจทย์อย่างอาจารย์คนนี้บ้าง ถึงจะได้เข้าใจว่าในความเป็นจริง โจทย์ในชีวิตจริงไม่ได้ตรงไปตรงมาเหมือนกับในห้องเรียน บางทีก็หลอกเหมือนกัน และถ้าเราไม่ฉลาดไม่ใช้สามัญสำนึกเราก็เชื่อง่ายๆ ครูบาอาจารย์เขาจะรู้จักให้โจทย์กับเราซึ่งบางทีเป็นโจทย์ที่ทำให้เราได้ปัญญา แต่อาจจะไม่ใช่โจทย์ตรงๆซื่อๆก็ได้
มีโค้ชทีมวอลเล่ย์บอลหญิงของไทย พวกเราคงทราบดี ทีมวอลเล่ย์บอลหญิงทีมชาติของไทยเราสร้างชื่อมาก และมีความสามารถติดอันดับโลก เพราะได้โค้ชที่เก่ง และบางครั้งโค้ชก็ให้นักกีฬาแข่งกันเอง คล้ายๆเป็นทีมเอ ทีมบี แข่งกันเอง บางทีก็เชิญทีมอื่นมาแข่งกับทีมชาติ และโค้ชเป็นกรรมการ และบางครั้งโค้ชก็จะตัดสินผิดพลาด เป็นกรรมการแต่ตัดสินผิดพลาดเช่นบางทีทีมคู่ต่อสู้ฟาวล์ โค้ชก็บอกว่าไม่ฟาวล์ บางทีก็ไปตัดสินว่าทีมชาติฟาวล์ทั้งๆที่ไม่ได้ฟาวล์อะไร บางทีทีมคู่แข่งตีลูกออกเส้นไป โค้ชบอกว่าได้คะแนน ฝ่ายตรงข้ามได้คะแนน นักกีฬาทีมชาติก็ไม่พอใจ ฮึดฮัดว่าทำไมโค้ชไม่เป็นธรรม ตัดสินไม่เป็นธรรม ตัดสินผิดพลาด โวยใส่โค้ช หลังจากที่เลิกหลังจากที่แข่งเสร็จ โค้ชก็จะบอกว่า ที่ทำอย่างนี้เพื่อฝึกนักกีฬาของตัว ให้รู้ว่าความเป็นจริง มันเป็นอย่างนี้ ชีวิตจริงเป็นอย่างนี้ เกมกีฬาเป็นอย่างนี้คือ บางทีกรรมการก็ตัดสินผิด บางทีกรรมการก็ไม่เป็นธรรมกับนักกีฬา และเราจะต้องรู้จักทำใจให้ถูก เวลาเจอกรรมการตัดสินแบบนี้ หรือเวลาเจอความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากกรรมการ ไม่ใช่ว่าในการแข่งกีฬาทุกอย่างจะถูกต้องไปหมด มันมีความผิดพลาด มันมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น และเราต้องรู้จักทำใจให้ได้ เพราะถ้าเราทำใจไม่ได้ เราก็จะหงุดหงิดหัวเสีย และเราก็จะยิ่งตีผิดตีพลาดมากขึ้น โค้ชคนนี้เก่ง ไม่ใช่แค่สอนให้เล่นเก่งอย่างเดียว โค้ชที่เก่งสอนให้เล่นเก่ง ให้มีแท็คติก รู้จักแก้เกม รู้จักรุกรู้จักรับ แต่ที่เก่งกว่านั้นคือสอนให้นักกีฬาสามารถจะคุมอารมณ์ของตัวเองได้ สามารถเข้าใจความเป็นจริงของเกมกีฬาว่าไม่ได้ซื่อๆตรงๆ มันมีผิดมีพลาด มันมีความไม่เป็นธรรม มันมีการโกงกัน ต้องรู้จักทำใจให้ได้ ไม่ใช่เก่งแต่ในเรื่องกีฬา ในเรื่องแท็คติกอย่างเดียวแต่ต้องเก่งในเรื่องของความจริงของเกมกีฬา
ที่จริงในชีวิตจริงก็เป็นอย่างนั้น มันไม่ใช่ว่าจะซื่อๆตรงๆ บางทีก็มีความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นกับเรา มีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นกับเรา หลายคนทำใจไม่ได้ เช่นเวลาเจ็บป่วยทั้งๆที่เราทำความดีมา ทำบุญทำกุศลมามากมาย ศีลก็รักษา บุญก็ทำ แต่ทำไมเจ็บป่วย บางทีไม่ได้ป่วยธรรมดา เป็นมะเร็ง หลายคนทำใจไม่ได้ว่าทำไมต้องเป็นฉัน ไม่เป็นธรรมเลย ไม่แฟร์เลย ยิ่งทำอย่างนี้ ยิ่งคิดแบบนี้ยิ่งซ้ำเติมตัวเองยิ่งทำให้เป็นทุกข์มากขึ้น เพราะว่าจริงๆความยุติธรรมเป็นเรื่องที่เราสมมุติกันขึ้นมาในความเป็นจริงไม่ใช่ว่าจะเป็นธรรมอย่างที่เราสมมุติหรืออย่างที่เราตั้งกติกา แม้แต่ในเกมกีฬาก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นตามหนังสือ
ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเราบางครั้งก็ดูเหมือนไม่มีเหตุไม่มีผล บางคนทำงานหนักมาตั้งแต่เป็นเด็กก็หาเช้ากินค่ำ ต้องเรียนหนังสือ ต้องช่วยตัวเอง พอมีครอบครัวก็ต้องเลี้ยงลูก โดยเฉพาะผู้หญิงก็เลี้ยงลูกมาอย่างเรียกว่าแทบเลือดตากระเด็น ลูกก็เยอะ รายได้ก็น้อย ก็สามารถที่จะหาเงินส่งเสียลูกจนเรียนจบมหาวิทยาลัย บางคนก็เรียนเป็นถึงหมอ พอลูกโตมีอาชีพการงานที่มั่นคง ก็ถึงคราวที่ตัวเองจะสบายสักที ลำบากมาตั้งแต่เล็ก แต่พออายุ 50 แทนที่จะได้เสพเสวยผลพวงจากความเพียรพยายามที่เลี้ยงตัวเองเลี้ยงครอบครัวมา เลี้ยงลูกจนโตจนเขามีหลักมีฐานที่มั่นคง ปรากฏว่าป่วย บางทีก็พิการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต บางทีก็เป็นมะเร็ง บางคนก็รู้สึกทำไมไม่ยุติธรรมแบบนี้ คนที่เป็นลูกก็อาจจะเสียใจว่าแม่ของตัวเองทำงานหนักมาทั้งชีวิตถึงเวลาบั้นปลายน่าจะมีความสุข ต้องมาเป็นทุกข์แบบนี้อีก ก็จะโวยวายตีโพยตีพายคร่ำครวญว่าไม่เป็นธรรม ไม่เป็นธรรม มันไม่แฟร์เลย แต่ชีวิตก็เป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ บางทีก็ไม่สามารถจะดำเนินแบบเส้นตรงได้ ทั้งๆที่เราก็รู้ว่าทำดีก็น่าจะได้ดี ทำชั่วก็น่าจะได้ชั่ว แต่ว่ามันก็มีเหตุปัจจัยอะไรหลายอย่างที่มันไม่ทำให้ตรงไปตรงมาอย่างนั้น
สิ่งที่เราจะต้องทำคือรู้จักวางใจว่ามันเกิดขึ้นแล้วนะ จะไปโวยวายตีโพยตีพายก็ซ้ำเติมตัวเอง จะว่าไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นนี่ถ้าเราเอาแต่โวยวายตีโพยตีพายเราก็แย่ สิ่งที่ควรทำคือตั้งหลักว่า แล้วเราจะทำอย่างไรกับมันดี เหมือนคนที่เล่นไพ่ บางคนจั่วทีไรได้แต่ไพ่ไม่ดี ไพ่เลขต่ำๆ ได้ 2 บ้าง ได้ 3 บ้าง ได้ 4 บ้าง คนที่เป็นนักเล่นไพ่ที่เก่งๆ เขาจะไม่เอาแต่โวยวายตีโพยตีพายว่าทำไมได้ไพ่บ๊วยๆแบบนี้ แต่เขาจะคิดว่าทำอย่างไรจะใช้ไพ่ที่อยู่ในมือ แล้วเล่นให้ดีที่สุด บางคนก็เล่นชนะนะ ทั้งๆที่ไพ่ในมือนี่แย่กว่าไพ่ของคู่แข่ง บางทีคู่แข่งหรือเพื่อนที่เล่นด้วยมีแจ็ค แหม่ม คิง มีเอ แต่ก็ยังแพ้ ยังแพ้คนที่มีไพ่ต่ำๆ เพราะว่าเขารู้จักใช้ไพ่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ เหมือนกับแม่ครัวที่บางทีได้เครื่องครัวไม่สมบูรณ์ ไม่ค่อยครบถ้วน วัตถุดิบก็มีน้อย แต่ทำไมบางคนสามารถจะปรุงอาหารได้อร่อย อร่อยกว่าแม่ครัวที่มีเครื่องเคราครบบริบูรณ์มีวัตถุดิบเพียบ อันนี้เป็นเพราะว่าแม่ครัวคนที่ได้ของมาน้อยไม่มัวแต่บ่นว่าทำไมฉันไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำไมฉันได้รับของแค่นี้ เขาจะไม่มัวเสียเวลาบ่น แต่เขาจะพยายามเอาสิ่งที่มีอยู่ในมือมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เวลาเจ็บป่วยก็ไม่ได้เอาแต่คร่ำครวญ แต่หาประโยชน์จากความเจ็บป่วยว่ามันสอนอะไรเรา ความเจ็บป่วยบางทีก็สอนธรรมะให้กับเราได้ ต้องรู้จักหาประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ แต่ทั้งหมดนี่ก็ต้องเริ่มต้นจากการที่ยอมรับว่าอะไรที่เกิดขึ้นแล้วมันป่วยการที่จะบ่นว่าไม่เป็นธรรมไม่ถูกต้อง
ดังนั้นการที่โค้ชโยนโจทย์ ครูอาจารย์ที่โยนโจทย์ที่ผิด โค้ชที่ตัดสินไม่เป็นธรรมนี่ เป็นการสอน เป็นการให้บทเรียนชีวิตที่สำคัญ ซึ่งบางทีไม่มีในโรงเรียน ไม่มีในมหาวิทยาลัย ในชีวิตจริงมันไม่เหมือนกับสิ่งที่เราเรียนมา เส้นตรงที่มันตรงจริงๆเราเห็นได้แต่ในวิชาเรขาคณิต วิชาเรขาคณิตนี้เส้นตรงเดี๊ยะเลย แต่ในชีวิตจริงหาเส้นตรงยาก วงกลมที่กลมแบบวงกลมที่ทำจากวงเวียน ในชีวิตจริงในโลกกว้างไม่มีวงกลมขนาดนั้น ไม่มีวงกลมนะในธรรมชาติที่มันกลมดิกเลย กลมดิกมีอยู่แต่ในวิชาเรขาคณิตในตำรา เส้นตรงหรือว่าเส้นสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่เป๊ะๆเลย มีอยู่แต่ในหนังสือ อยู่ในห้องเรียน แต่ไม่มีอยู่ในชีวิตจริง ไม่มีอยู่ในโลกกว้าง ธรรมชาตินี้มันไม่มีวงกลมที่กลมดิก หรือว่าสี่เหลี่ยมจตุรัสที่เป๊ะๆ อันนี้เราก็ต้องรู้จักเรียนรู้ที่จะเข้าใจความจริงและพร้อมที่จะรับมือกับโจทย์ต่างๆที่เข้ามา โจทย์ที่ต้องใช้สามัญสำนึก ไม่ใช่เชื่อตะพึดตะพือ หรือว่าโจทย์ที่สอนให้เราต้องรู้จักความเป็นจริง บางทีโจทย์ถูกนะ แต่ว่าเราเองที่ทำผิดก็มี หรือว่าเราเองไม่รู้จักทำความเข้าใจ
มีโจทย์หนึ่งซึ่งพวกเราอาจจะเคยได้ยิน เด็กคนหนึ่งไปขอเงินแม่อยากจะไปซื้อขนม แม่ให้เงิน 20 บาท เด็กได้เงิน เด็กรีบไปที่ร้านขนม ไปเลือกของมาเลือกขนมมาราคา 5 บาท ซื้อขนม 5 บาทก็จ่ายเงิน เจ้าของร้านได้รับเงิน เจ้าของร้านทอนเงินมา 5 บาท เด็กรับเงิน 5 บาทใส่กระเป๋าแล้วเด็กก็รีบออกไป ถามว่าเราจะอธิบายโจทย์นี้อย่างไร หลายคนก็คิดไปว่า เจ้าของร้านทอนผิดหรือเปล่า เด็กก็รีบ เจ้าของร้านทอน 5 บาท เด็กรีบ เด็กก็ไปเลย คว้าเงินเสร็จไปเลย แต่ถ้าตอบว่าโจทย์ถูก แล้วจะอธิบายว่าอย่างไร หลายคนคิดอย่างไรก็คิดไม่ออก คิดไม่ออก ที่คิดไม่ออกเพราะว่า ไปนึกเอาว่าเด็กยื่นเงิน 20 บาทให้เจ้าของร้าน ถ้ายื่นให้ 20 บาทก็ต้องทอนมา 15 บาทใช่ไหม แต่โจทย์ไม่ได้บอก ในความเป็นจริงคือเด็กยื่น 10 บาทให้ ได้เงิน 20 บาทก็จริง 20 บาทอยู่ในกระเป๋าแต่ยื่น 10 บาทให้ ขนมราคา 5 บาท พ่อค้าทอนมา 5 บาท ก็ถูกแล้ว แต่หลายคนนึกไม่ออก เพราะว่าในใจปรุงแต่งขึ้นมามีภาพขึ้นมาในใจว่าเด็กยื่นเงิน 20 บาท ให้คนขาย แต่โจทย์ไม่ได้บอกอย่างนั้นเลย โจทย์บอกแต่เพียงว่ายื่นเงินให้ อันนี้คือสิ่งที่เราปรุงขึ้นมาในใจ และมันก็ทำให้เราชะงัก หรือทำให้เราตอบไม่ถูก มันกลายเป็นติดตัน เพราะเราไปสร้างภาพเองขึ้นมาในใจ ไปปรุงแต่งขึ้นมา
อีกโจทย์หนึ่ง อันนี้ก็ดุเดือดหน่อย พ่อกับลูกขับรถกลางดึก ปรากฏว่าพอผ่านทางรถไฟ ด้วยความเร่งรีบก็ข้ามทางรถไฟ ปรากฏว่ามีรถไฟพุ่งเข้ามาชน รถพังยับเยิน พ่อตายคาที่ ส่วนลูกอาการสาหัส ก็รีบพาส่งโรงพยาบาลทันที ต้องเข้าห้องผ่าตัดโดยด่วน ศัลยแพทย์ก็ถูกเรียกมากลางดึก ศัลยแพทย์คือหมอผ่าตัด พอมาเจอคนไข้ ปรากฏว่าตัวแข็งเลย พูดไม่ออก สักพักก็บอกว่าผ่าไม่ได้ เพราะคนไข้เป็นลูกฉัน เราจะอธิบายเรื่องนี้ว่าอย่างไร บางคนก็บอกว่าเป็นพ่อเลี้ยงหรือเปล่า บางคนบอกว่าผีหลอกไหม บางคนบอกว่าพ่อไม่ตายจริงหรอก บางคนคิดเป็นวัน ตอบไม่ได้ เพราะอะไร เพราะไปคิดว่าศัลยแพทย์เป็นผู้ชาย ศัลยแพทย์เป็นผู้หญิง เป็นแม่ของเด็ก หลายคนตอบไม่ได้ งง โจทย์ผิดหรือเปล่า โจทย์ไม่ผิด แต่เราไปปรุงขึ้นมาเองว่าหมอผ่าตัดเป็นผู้ชาย และคนไข้เป็นลูก มันก็ขัดแย้งกันเองเพราะพ่อของคนไข้ตายไปแล้ว เรามักจะนึกภาพขึ้นมาว่าศัลยแพทย์ต้องเป็นผู้ชาย แต่ว่าเราอาจจะไม่ได้นึกเลยว่าผู้หญิงก็มี โจทย์มันถูกแต่เราตอบไม่ได้ เพราะเราไปสร้างภาพในใจ เรียกว่าคิดเกินโจทย์ ไปสร้างภาพเกินโจทย์ แล้วเราก็ทำอย่างนี้อยู่บ่อยๆ เวลาเราอ่านข่าว เวลาเราได้ยินได้ฟังเรื่องราวต่างๆ บางทีเขาพูดแค่ 1 เราเติมเป็น 2 เพราะว่าเราปรุงแต่งขึ้นมา เราชอบปรุงแต่งเพิ่มเติมจากสิ่งที่เราได้ยิน จากโจทย์ที่เราได้รับ มันก็เลยทำให้เราตอบผิด หรือตอบไม่ได้ แล้วเราทำอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่รู้จักสังเกตจิตใจตัวเองบ้าง เราก็จะโดนความคิดมันหลอก ความคิดที่มันปรุงแต่งขึ้นมาจากประสบการณ์ หรือจากการที่เราคิดเอาเอง คิดเอาเองนี่ เราคิดบ่อยนะ คิดเอาเอง แล้วเราก็คิดว่าสิ่งที่เราคิดนี่เป็นความจริง แล้วเราก็เลยตอบโจทย์ผิด หรือตอบไม่ถูก หมั่นดูใจของตัวเองบ้าง หมั่นสังเกตดูใจของเราว่า ใจเราคิดปรุงเกินไปหรือเปล่า มันคิดคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงหรือเปล่า มันเติมเอาเองไหม นี่แหละเป็นเรื่องของความคิด เรื่องของจิตใจ ซึ่งถ้าเราไม่รู้ทันมันก็ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่าง
ดังนั้นการที่เรากลับมาหมั่นตามดูรู้ใจตัวเองว่าบางทีเราอาจจะเชื่อง่ายไปบ้าง หรือว่าอะไรที่มันตรงกับอคติของเราเราก็เชื่อ หรือว่าเป็นเพราะความโลภของเรา เราก็เลยไม่รู้จักใช้สามัญสำนึกในการที่จะรับฟังรับรู้สิ่งต่างๆ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างเล็กๆน้อยๆที่น่าจะช่วยทำให้เราได้กลับมาเห็นความสำคัญของการมารู้ทันจิตใจของเรา