แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ช่วงนี้เวลาเรามาทำวัตรที่หอไตร ไม่ว่าเช้าหรือเย็น ก็จะเห็นภาพและข้อความอยู่ใต้ถุนศาลา เป็นนิทรรศการย่อย ส่วนหนึ่งก็เป็นคำสอนของหลวงพ่อสำหรับนักปฏิบัติ อีกส่วนหนึ่งก็เป็นภาพหลวงพ่อยามอาพาธ ไม่กี่เดือนก่อนที่จะมรณภาพ แล้วก็มีลายมือของท่านเป็นบันทึกในยามอาพาธ ก็อย่าเดินผ่านไปเปล่าๆ ให้อ่านดูบ้าง เพราะว่ามันอาจจะมีความหมาย มีความสำคัญกับเราในวันข้างหน้าก็ได้ เพราะว่าพวกเราทุกคน ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องป่วย และเราไม่รู้ว่าการป่วยที่จะเกิดขึ้น มันจะเป็นการป่วยครั้งสุดท้ายของเราหรือเปล่า
สิ่งที่หลวงพ่อได้บันทึกเอาไว้นี้ มันเป็นเหมือนขุมทรัพย์ ที่จะช่วยเตือนจิตเตือนใจ หรือช่วยเปิดใจของเรา ให้ยกจิตเหนือความทุกข์ที่เกิดกับกายก็ได้ พวกเราทุกคนในที่สุดก็ต้องเดินตามหลวงพ่อไป เดินตามนี่หมายถึง ต้องเจ็บ ต้องป่วย แล้วก็ต้องตาย ส่วนตายแล้วไปไหน นี่ไม่รับประกันว่าจะไปอย่างที่หลวงพ่อไปหรือเปล่า ในระหว่างที่หลวงพ่ออาพาธ มีทุกขเวทนาเยอะ แต่เรามองจากภาพถ่ายก็ดูเหมือนท่านไม่ค่อยเป็นอะไรมาก แต่ท่านเคยบอกว่า ไม่มีตรงไหนที่ไม่รู้สึกเจ็บเลย ไม่มีตรงไหนที่ไม่รู้สึกปวด แต่ท่านก็สามารถอยู่กับความเจ็บความป่วยได้ เหมือนกับเป็นปกติสุข อาจจะมีอะไรข้องขัดบ้าง ก็เป็นไปตามสภาวะของโรค ที่อาจจะทำให้เดินไม่สะดวกบ้าง หายใจไม่คล่องบ้าง พูดไม่ได้บ้าง ถ้าเราอ่านข้อความที่ท่านเขียนในยามอาพาธก็จะเห็นว่า มันเป็นข้อความที่ไม่ได้บ่งบอกถึงความทุกข์ ความเจ็บปวด ความขุ่นเคืองหรือโทสะ อาจจะมีแต่ความร่าเริง อาจหาญ ด้วยซ้ำ พูดถึงความตายโดยไม่สะทกสะท้านว่า ป่วยคราวนี้ตายแน่ ความตายก็เป็นเช่นนั้นเอง
ท่านบอกว่าท่านอยู่กับ ความไม่เป็นอะไรกับอะไร ในระหว่างที่ป่วยมีสติเป็นเครื่องรักษาใจ แล้วถ้าเราลองให้ความสำคัญ สละเวลามาอ่านข้อความท่านบ้าง อย่าเพียงแต่เห็นว่าเป็นสิ่งธรรมดาแล้วก็เดินผ่าน ใครจะรู้ ข้อความเพียงแค่ประโยคสองประโยค ในบรรดานับร้อยประโยคที่เอามาแสดงข้างล่างนี้ อาจจะช่วยทำให้เรา อยู่กับความทุกข์ อยู่กับความเจ็บป่วย ได้โดยที่ใจไม่ทุกข์ เรื่องพวกนี้ประมาทไม่ได้ เพราะว่า อย่างที่เราสวดไปเมื่อสักครู่นี้ เราทั้งหลายเป็นผู้ที่ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว เป็นผู้ที่มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว ความทุกข์ที่อยู่เบื้องหน้าเรา ก็คือความเจ็บป่วย คนเราทุกคน ในที่สุดเราก็ต้องตาย แล้วก่อนตายก็ต้องเจ็บป่วย เจ็บป่วยสมัยนี้เป็นความป่วยที่ยาวนาน ยืดเยื้อเป็นปี อย่างที่ได้เคยพูดให้ฟังแล้วว่า มันไม่ใช่ว่าตายอย่าง ๔-๕ วันตาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะโรคติดเชื้อ หรือว่า ตายแบบปุบปับเพราะอุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ หรือหัวใจวาย ตายแบบค่อยๆตายด้วยความทุกข์ทรมาน ทำยังไงมันมีแต่ทุกขเวทนา แต่ไม่ทุกข์ทรมาน อันนี้แหละ มันเป็นสิ่งที่เราต้องเจอ และเมื่อจะต้องเจอเคยคิดไว้บ้างหรือเปล่าว่า ควรเตรียมตัวเตรียมใจเอาไว้ เพราะฉะนั้น หลวงพ่อท่านได้เจอความเจ็บป่วย เจอกับทุกขเวทนา ท่านเจอมาก่อนเราแล้ว และท่านก็สามารถที่จะเอาประสบการณ์ของท่าน มาเผยแพร่ให้กับเราโดยการบันทึก ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีที่ท่านพูดไม่ได้ เพราะถ้าท่านพูดได้ ท่านอาจจะไม่บันทึก จะเล่าสู่ให้เราฟัง ไม่มีการจดไม่มีการบันทึกเอาไว้ แต่ท่านพูดไม่ได้ เพราะว่าต้องเจาะที่คอให้การหายใจมันสะดวก เพราะว่าเนื้อมันไปดันหลอดลมของท่าน ทำให้หายใจไม่สะดวกด้วยจมูก ท่านก็เขียนบันทึกมา ทำให้เรารู้ว่า ท่านรักษาใจอย่างไร ใช้ธรรมะข้อไหน ในการที่จะช่วยให้อยู่กับความเจ็บความป่วยได้ โดยไม่ทุกข์ ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือ สติ สติที่จะช่วยทำให้เป็น ผู้เห็น
สมัยที่ท่านป่วยตอนแรกๆ ปีแรก ๒๕๔๙ ครั้งแรกท่านมีทุกขเวทนามาก ความปวดนี่ก็มาก หมอเคยกดที่หน้าท้องของท่าน เพราะพบว่ามันมีก้อนเนื้ออยู่ที่แถวตับ กดเสร็จก็ถามหลวงพ่อปวดไหม ปวดเกินร้อย หมอสงสัยทำไมไม่ร้อง ท่านบอกจะร้องทำไมให้ขาดทุน คือปวดอยู่แล้ว การร้องมันก็เป็นการซ้ำเติม ยิ่งทุกข์มากขึ้น คือทุกข์ทั้งกาย ทุกข์ทั้งใจเลย ท่านบอกว่าความปวดนี่มันไม่ได้ทำร้ายเรา มันไม่ได้ลงโทษเรา การเป็นผู้ปวดต่างหากที่ลงโทษเรา อาการปวดมันมีเอาไว้ดู มันมีเอาไว้ดู ไม่ใช่เข้าไปเป็น ถ้าเราทำตรงนี้ได้ ความเจ็บความปวดมันก็จะบีบคั้นได้แต่กาย แต่ใจทำอะไรไม่ได้ เราเคยคิดที่จะลองมาฝึกเห็นความปวด แทนที่จะเป็นผู้ปวดบ้างรึเปล่า เคยคิดเอาไว้ไหม เตรียมไว้บ้างก็ดี เพราะว่ามันมาแน่ อย่าไปคิดว่าพอปวด พอเจ็บแล้วจะมียารักษา หมอมะเร็งที่ตายเพราะมะเร็งที่ตัวเองรักษาก็มีมาก ยาระงับปวดถึงเวลาปวดจริงๆ ยานั้นก็เอาไม่อยู่ ไม่ว่าจะเป็นมอร์ฟีนหรือยาอะไรก็ตาม ถึงตอนนั้นแหละ ต้องใช้ใจแล้ว
ใจ ที่จะช่วยทำให้ความปวดไม่อาจบีบคั้นจิตใจได้ ถึงตอนนั้น ใจเป็นใหญ่มากเลย ไม่มีอะไรจะช่วยเราได้นอกจาก ใจ เหมือนที่เราสวดเมื่อสักครู่นี้ ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจประเสริฐ สำเร็จแล้วที่ใจ ตอนป่วยหนักนั่นแหละ เราจะตระหนักว่าใจสำคัญ หลายคนก็มาตระหนักเอาตอนนั้น แต่ว่าสายไปแล้ว เพราะว่าไม่ได้ฝึกมาเลย เวลาฝึกก็เถลไถล ไม่เอาใจใส่ เพราะฉะนั้นที่เขียนไว้ข้างล่างนี้ มันเป็นเหมือนขุมทรัพย์ อย่าแค่เดินผ่านไปใจลอย เห็นของดีอยู่ข้างหน้าแล้วก็ยังเดินผ่านไป ลองพิจารณาอ่านดู ทำได้หรือไม่ได้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยมันมีอะไรที่เป็นข้อคิดข้อเตือนใจเอาไว้ ว่าสักวันหนึ่งเราก็จะต้องเป็นอย่างหลวงพ่อ หรือว่าอาจจะเป็นหนักกว่าท่าน หรือจะว่าไปแม้จะเบากว่าท่าน ก็อาจจะเพียบหนักในทางจิตใจยิ่งกว่าท่านก็ได้
สติ สำคัญมาก เพราะว่าในยามที่มีทุกขเวทนา บีบคั้น คุกคาม สติมันจะช่วยทำให้ใจ ไม่ไปยึดติดกับทุกขเวทนานั้น ทุกขเวทนานี้ ไม่มีใครชอบ เจอทีไรก็หนีทุกที แต่หนีทีไรก็กลับไปเผลอยึดมัน อะไรที่เราไม่ชอบเรายิ่งยึด ทุกขเวทนาเราไม่ชอบเรายิ่งยึด เสียงดังเราไม่ชอบเรายิ่งจดจ่อ กลิ่นเหม็นเราไม่ชอบเรายิ่งดม แล้วทุกขเวทนายิ่งจดจ่อ ก็ยิ่งยึด พอยิ่งยึดแล้วเป็นอย่างไร มันไม่ใช่กายปวดอย่างเดียว ใจก็ปวดด้วย ทำไมถึงไปยึด มันเหมือนกับว่ามีหนามอยู่ ทำไมไปจับหนาม ทำไมไปกำหนาม หนามนี่ เราไม่ชอบใช่ไหม แต่ทำไมลงท้ายก็ไปกำหนามทุกที ให้มันทิ่มมือ ถามว่าปวดไหม ปวด แล้วกำทำไม อันนี้แหละคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนจำนวนมาก ไม่ชอบความเจ็บความปวด ไม่ชอบความเมื่อย แต่ลงท้ายก็ไปจดจ่อ ไปยึด ไปกำเอาไว้ อะไรที่จดจ่อคือ ใจ นี้แหละ เขาเรียกว่าแทนที่จะปล่อยวาง กลับยึด เพราะอะไร เพราะไม่รู้ตัว เพราะไม่มีสติ ตรงที่ไม่ปวดนี่ใจไม่สน เช่นปวดเมื่อยที่แขน ปวดเมื่อยที่เท้า ส่วนที่ไม่ปวดมันไม่สนใจเลย เช่นส่วนหัว ส่วนอก มันไปสนใจส่วนที่ปวด ทั้งที่เป็นส่วนเล็กส่วนน้อยแค่ ๑% อีก ๙๙% ไม่ปวด ใจแทนที่จะไปอยู่ตรงนั้น แต่เปล่า มันไปอยู่ตรงที่ปวด ยิ่งปวดหนักเท่าไหร่ยิ่งไปอยู่ตรงนั้นแหละ เคยสงสัยว่าเป็นเพราะอะไร มันไม่ใช่เป็นธรรมชาติ มันไม่ใช่เป็นธรรมชาติของใจ แต่ถ้าหลงเมื่อไหร่ ลืมตัวเมื่อไหร่ มันก็จะเป็นอย่างนั้นแหละ แต่ถ้ามีสติ มันก็ช่วยให้จิตถอนออกมา จากความเจ็บความปวด ความปวดยังมีอยู่ เพราะมันเป็น เพราะมันมีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้ปวด เช่นมีเชื้อโรคที่ปล่อยสารพิษออกมา หรือเพราะว่ามันมีรอยแผล มีความอักเสบ อันนี้ถ้าไม่มียารักษามันก็ยังปวดอยู่นั่นแหละ แต่ใจไม่จำเป็นต้องปวดตามด้วย
พระพุทธเจ้าสอนฆราวาสคนหนึ่ง นกุลบิดา ว่าเมื่อกายป่วย อย่าให้ใจป่วยด้วย เมื่อกายกระสับกระส่าย อย่าให้ใจกระสับกระส่ายด้วย ถ้ามันทำได้ ยังไม่ต้องถึงขั้นที่จะมีปัญญาเห็นว่ากายมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา อันนั้นต้องใช้ปัญญาขั้นสูง อย่างที่พระสารีบุตรแนะนำนกุลบิดานี้ นกุลบิดาถามว่า กายป่วยใจไม่ป่วยทำอย่างไร พระสารีบุตรก็บอกว่า กายป่วยแต่ใจไม่ป่วยก็เพราะว่า ไม่ได้มีความยึดมั่นสำคัญหมาย ว่ารูปเป็นของเรา เมื่อรูปมันแปรปรวนไป ก็ไม่มีความโศก ความร่ำไรรำพัน ทุกข์โทมนัส ความคับแค้นใจ คือพอเห็น พอมีปัญญา ว่ากายนี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ก็ไม่มีการยึด ก็คือปล่อยวาง เพราะฉะนั้นพอกายป่วย ใจก็ไม่ได้ทุกข์ไปด้วย
แต่ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีปัญญาถึงขั้นนั้น สติ ก็ช่วยได้ สติ ช่วยทำให้ใจไม่ยึดเวทนามาเป็นเรา เป็นของเรา สติปัฏฐาน๔ ข้อสองคือเวทนานุปัสสนา คือรู้ หรือเห็นเวทนาในเวทนา ก็คือเห็นว่า เวทนาก็เป็นสักแต่ว่าเวทนา เวลามันเกิดความปวดขึ้น ก็เห็นความปวด ไม่ไปยึดความปวดว่าเป็นเรา เป็นของเรา ก็คือไม่เป็นผู้ปวดนั่นเอง อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า กายปวด อย่าเป็นผู้ปวด ให้เห็นความปวด ความปวดมันไม่ลงโทษเรา การเป็นผู้ปวดต่างหาก ที่มันลงโทษเรา ที่เป็นผู้ปวดก็ไปยึดว่า ความปวดเป็นเราเป็นของเรา อันนี้เพราะไม่มีสติ ถ้ามีสติ นี่มันถอน มันวาง มาเป็นแค่ผู้เห็น จะทำอย่างนั้นได้ ต้องฝึก ให้เห็นสิ่งที่ง่ายกว่าก่อน เช่น เห็นความคิดและเห็นอารมณ์ อันนี้อยู่ใน สติปัฏฐาน๔ ข้อที่สาม จิตตานุปัสสนา ก็คือเห็นจิต คือเห็นอาการของจิต เห็น ไม่เข้าไปเป็น พูดง่ายๆ เห็นจิตว่าเป็นจิต เห็นอาการต่างๆของจิต เช่น เห็นความโกรธว่าเป็นความโกรธ ไม่ใช่เป็นเราเป็นของเรา เห็นเวทนาเห็นยากกว่าเห็นความคิดและอารมณ์ แต่เห็นความคิดและอารมณ์ มันก็ยังยากกว่าเห็นกาย
กายทำอะไรก็รู้ อันนี้แหละมันเป็นการฝึกขั้นต้น ที่ให้ยกมือ ก็เพื่อให้รู้กาย ที่ให้เดินจงกรม ก็เพื่อให้รู้กาย ก็ขนาดกายหยาบๆ บางทียังเผลอเลย มือยกแต่ใจไม่ไปรับรู้ด้วย เพราะใจลอย ไม่ได้รู้สึกเลยว่ามือกำลังยก ไม่ได้รู้สึกเลยว่าเท้ากำลังเดิน ทั้งๆที่มันเป็นความรู้สึกที่หยาบ ความรู้สึกนี้มันไม่ใช่ feeling แต่หมายถึง sensation มันเป็นความรู้สึกที่หยาบ ก็ยังจับไม่ได้ เพราะว่าใจลอย ใจมันไปอยู่ในความคิด แต่ถ้าเราฝึกให้รู้กาย จนกระทั่งสติมันสามารถจะอยู่กับกายได้ รับรู้กายได้โดยที่ไม่เพ่ง มันก็จะไวพอ พอที่จะไปรู้ทันความคิดและอารมณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดกว่า รู้ทันอารมณ์ก็ยังยาก แต่รู้ทันความคิดนี่มันง่ายกว่า
เวลาใจมันลอยคิดนู่นคิดนี่ อาจจะคิดไปสัก ๗-๘ เรื่อง ค่อยมารู้ทัน ฝึกไปอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ฝึกให้รู้ทัน ไม่ได้ฝึกว่าใจไม่ต้องคิดอะไร บางคนไปคิดว่า ฝึกเพื่อไม่ให้ใจคิด ไม่ใช่ ฝึกเพื่อไปรู้ทันความคิดต่างหาก บางคนคิดว่าฝึกเพื่อให้ใจไม่คิด ก็ไปคุมความคิด ไปกดความคิดเอาไว้ หรือว่าไปบังคับจิตไม่ให้คิด มันไม่ใช่ ไม่ได้ฝึกเพื่อไม่ให้ใจคิด แต่ฝึกเพื่อให้รู้ทันความคิดและอารมณ์ ความคิดนี่ ต้องรู้ทัน เพราะว่าคนเราทุกข์เพราะความคิด ความคิดมันมีประโยชน์มากมาย มันช่วยให้เราแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดกับกายและใจได้ มันช่วยแก้ปัญหาเวลาเกิดกับชีวิตขึ้นมา โลกเราพัฒนาได้ก็เพราะการใช้ความคิดแก้ปัญหา ชีวิตเราเจริญงอกงามได้ก็เพราะอาศัยความคิด อย่างน้อยก็ในการรักษาตัวให้ปลอดภัย ในการรักษาชีวิตให้อยู่รอด แต่ว่าความคิดหลายอย่างมันก็เป็นโทษ ถ้าเราไม่รู้ทันมัน เราก็โดนมันหลอก เมื่อวานนี้ก็พูดไว้บ้าง แต่ว่าอันนั้นมันไม่ใช่เป็นความคิดที่เกิดโทษ แต่มันสะท้อนให้เห็นถึงว่า คนเราปรุงแต่งความคิดโดยที่ไม่รู้ทัน และความคิดบางอย่างก็สามารถที่จะพาเราเข้ารกเข้าพงได้
สมัยที่หลวงพ่อคำเขียนอยู่ที่วัดภูเขาทอง ท่ามะไฟหวาน เมื่อประมาณ ๒๐-๓๐ ปีที่แล้ว มีพระหนุ่มรูปหนึ่ง พี่ชายพามาเพื่อจะปฏิบัติกับท่าน พระรูปนี้เพิ่งบวชไม่นาน ที่จริงแค่ ๒-๓ วันเท่านั้น หน้าตาเครียด พี่ชายพามาส่งแล้วก็ไป พระใหม่อยู่กับหลวงพ่อ หลวงพ่อก็พาปฏิบัติ พายกมือสร้างจังหวะเดินจงกรม แล้วบอกว่าให้ปฏิบัติไป พระรูปนี้เดินจงกรมไปได้ไม่ถึงชั่วโมง ก็มาหาหลวงพ่อ แล้วบอกว่าจะขอสึก หลวงพ่อถามว่าทำไมถึงรีบสึก นี่เพิ่งมาได้ไม่ถึงวันเอง เขาบอกว่า ผมรับปากพี่ว่าจะมาบวช ไม่ใช่มาปฏิบัติ ทีนี้พอหลวงพ่อให้มาปฏิบัติเลยจะไม่เอาแล้ว หลวงพ่อเลยไล่ให้ไปปฏิบัติต่อ เดินจงกรมไปได้สักพัก ก็มาใหม่ จะขอสึก รบเร้าจะสึกให้ได้ หลวงพ่อไม่ให้ ให้ไปปฏิบัติอีก ไปได้ประเดี๋ยวเดียว มาอีกแล้วจะขอสึก หลวงพ่อเลยถามว่า อะไรพาให้ท่านมาหาผม พระรูปนี้คิดสักพัก ก็บอกว่า ความคิดครับ ความคิดมันพาผมมาหาหลวงพ่อ เพื่อจะขอสึก หลวงพ่อก็เลยพูดขึ้นมาว่า มันคิดแล้ว ต้องทำตามความคิดทุกอย่างหรือ ถ้าคุณทำตามความคิดทุกอย่าง คุณไม่แย่หรือ พูดจบก็ไล่ให้พระรูปนั้นไปปฏิบัติต่อ พระใหม่ไม่ค่อยพอใจ แต่ว่าในเมื่อหลวงพ่อยืนกรานไม่สึก ก็ต้องไป ไปปฏิบัติหรือไปเจ่าจุกก็ไม่ทราบ ตอนนั้นเย็นแล้ว เช้าตรู่ พอพระรูปนี้เห็นหลวงพ่อ ก็ตรงมาเลย แต่แทนที่จะมาขอสึก กลับกราบหลวงพ่อ แล้วบอกว่า ขอบคุณหลวงพ่อมากเลย ที่หลวงพ่อไม่สึกให้ คำพูดของหลวงพ่อเมื่อวานทำให้เขาได้คิด เขาบอกว่าถ้าหากว่าหลวงพ่อสึกให้เขาเมื่อวานนี้ ป่านนี้เขาก็คงเป็นฆาตกรไปแล้วเพราะว่า เมื่อวานคิดถึงแต่จะฆ่าคนสองคน ก็คงจะเป็นเมียหรือกับชู้ คิดแต่ว่านี่จะฆ่าอย่างไร ฆ่าเสร็จแล้วจะเอาปืนไปทิ้งไว้ที่ไหน แต่พอหลวงพ่อพูดทักท้วงเขาแบบนี้ เขาเลยได้คิด แล้ววันนี้ความคิดที่จะสึกไม่มีแล้ว กลายเป็นว่าพระรูปนี้ก็บวชต่อ แล้วก็บวชต่อไปอีกหลายปี
คำพูดของหลวงพ่อที่บอกพระหนุ่มรูปนั้นนี่สำคัญมาก คนเราถ้าเชื่อหรือทำตามความคิดทุกอย่างมันไม่แย่หรือ แปลว่าอะไร แปลว่าคนเราต้องรู้จักทักท้วงความคิดบ้าง มันคิดอะไรก็อย่าไปเชื่อตามมันทุกอย่าง แล้วคนเรานี่ ทีแรกเราก็คิด ทีแรกเราใช้ความคิด แต่ไปๆมาๆ ความคิดมันใช้เรา เราใช้ความคิดแก้ปัญหา เรื่องนี้ดีอยู่ แต่ว่าพอใช้ความคิดไปนานๆ ความคิดมันใช้เรา มันใช้เราให้ปรุง หรือให้ตามมัน เรื่องนี้น่ากลัวมากเลย ถ้าเราใช้ความคิดเพื่อแก้ปัญหา พัฒนาจิต พัฒนาใจ ให้ชีวิตเจริญงอกงามเรื่องนี้ดี แต่ว่า ถ้าเราปล่อยให้ความคิดมาใช้เรา นี่แย่แล้ว เพราะมันจะใช้เราให้ทำตามมัน
แล้วคนที่กินเหล้านี่เลิกเหล้าไม่ได้สักที ก็เพราะว่า ความคิดนี้ มันจะคอยปรุง คอยปรุงและคอยกำกับ ให้เราไปเสพมันอยู่เรื่อยๆ มันจะสรรหาเหตุผลที่สวยหรู เพื่อให้เรากินเหล้าไปเรื่อยๆ เหตุผลมีมากมาย เช่น เพื่อสังคมถ้าเราไม่กิน เราก็อยู่ยาก หรือว่า กินแล้วมันทำให้ทำงานได้ ทำให้มือหายสั่น มันก็มีเหตุผลต่างๆมากมาย แล้วถ้าเราเชื่อมันก็คงจะเป็นทาส ไม่ใช่แค่ทาสของเหล้าอย่างเดียว เป็นทาสของความคิดไปตลอด หลายคนอาจจะห่างไกลจากเหล้า แต่ก็โดนความคิดหลอก โดนความคิดเล่นงาน ถึงเวลาจะนอน ความคิดมันก็สั่งว่าอย่าเพิ่งนอน คิดต่อ คิดต่อ มันอยากให้เราคิดต่อ เพื่อที่มันจะได้ครองจิตครองใจเราไปได้เรื่อยๆ แล้วเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้พวกเราหลายคน เวลาจะนอนมันนอนไม่หลับ เพราะมันหยุดคิดไม่ได้ เดี๋ยวนี้ต้องพึ่งยาแล้ว การนอนมันเป็นเรื่องที่แสนจะธรรมดาสามัญ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ว่าเดี๋ยวนี้เราไม่สามารถทำตามเสียงเรียกร้องของร่างกายที่ต้องการพักผ่อนได้ เพราะอะไร เพราะความคิดบอกว่าอย่าเพิ่งนอน อย่าเพิ่งนอน คิดก่อน คิดก่อน คิดเรื่อยๆ นี่เรียกว่า ความคิดมันใช้เราแล้ว
ถ้าเราปล่อยให้ความคิดมันใช้เรา เราก็คงจะหาความสุขได้ยาก โดยเฉพาะเวลาที่คิดลบคิดร้าย คนที่คิดลบคิดร้ายนี้ มันก็จะมีเหตุ มีเรื่องให้ขุ่นเคืองไม่พอใจอยู่ตลอดเวลา คนที่คิดลบ จะไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ เพราะมันเห็นโน่นเห็นนี่มีปัญหาไปหมด เห็นแต่ข้อบกพร่อง เห็นแต่สิ่งที่ไม่ควร แล้วเป็นอย่างไร ใจก็หงุดหงิด ใจก็ทุกข์ แล้วมีความสุขไหมมีความสงบไหม ก็ไปพยายามบังคับควบคุมให้สิ่งต่างๆมันเป็นไปตามใจเรา แต่ก็ทำไม่ได้ยิ่งเครียดเข้าไปใหญ่ เท่านั้นไม่พอ พอหงุดหงิดพอเครียดเข้าเป็นอย่างไร ป่วย ความดันขึ้น เป็นโรคหัวใจ นี่เป็นเพราะไม่รู้ทันความคิด ไม่รู้จักทักท้วงมันบ้างว่า ที่ลบมันก็มีที่บวกมันก็เยอะ คนเราเชื่อความคิดทุกอย่าง มันทำให้เสียผู้เสียคน แม้กระทั่งว่าความคิดบางอย่าง มันอาจจะดูเหมือนดี
หลวงพ่อชาญเล่าว่า มักจะมีโยมผู้หญิง เป็นชาวบ้าน วันดีคืนดีก็จะมาขอบวชชี เพราะว่ามีปัญหากับสามี สามีอาจจะขี้เหล้า สามีอาจจะมีเมียน้อย หรือมีกิ๊กก็แล้วแต่ ทะเลาะเบาะแว้งกันก็จะมาอยู่กับหลวงพ่อ และหลายคนจะพูดว่า จะขอบวชตลอดชีวิตเลย เบื่อแล้วชีวิตครอบครัว มันมีแต่ความทุกข์ มันมีแต่ความวุ่นวาย หนูจะขอบวชตลอดชีวิตเลยหลวงพ่อ หลวงพ่อชาญท่านจะคอยทักท้วงว่า อย่าเพิ่งพูดอย่างนั้น อย่าเพิ่งคิดแบบนั้น แล้วส่วนใหญ่จะบอกว่า เด็ดขาดแน่นอนเลย จะขอบวชตลอดชีวิต บวชไปได้แค่สองสามวันผัวมาง้อ ผัวมาง้อเป็นอย่างไร ก็มาหาหลวงพ่อ หนูขอสึกแล้ว ผัวเขาอยู่ลำบากไม่มีหนู มันก็จะมีเหตุผลมากมายคราวนี้ เพื่อว่าจะขอสึกไปอยู่กับผัว จะขอกลับบ้าน ที่พูดเอาไว้เมื่อสองสามวันก่อน ว่าจะบวชตลอดชีวิต ยังไงๆหัวเด็ดตีนขาดก็ไม่สึก นี่ลืมไปเลย แล้วเป็นอย่างนี้หลายครั้ง หลายคน หลวงพ่อท่านก็เลยบอกว่า จิตคนเราอย่าไปเชื่อมันมาก การบวชตลอดชีวิตนี่เป็นของดี แต่ว่าหลายคนนี่ พูดอย่างนั้นคิดอย่างนั้นเพราะอารมณ์ อารมณ์มันผลักดัน เช่นตอนนั้นหงุดหงิด ตอนนั้นรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ตอนนั้นโกรธสามีอยากจะสั่งสอนสามี หรืออะไรก็แล้วแต่ หรือตอนนั้นอาจจะเบื่อจริงๆก็ได้ แต่พอเหตุปัจจัยมันเปลี่ยน ผัวมาง้อ ก็เกิดความสุข รู้สึกอัตตามันได้รับการเติมเต็ม ได้รับการพะนอ ก็เลยเปลี่ยนใจ อยากจะกลับบ้าน กลับไปอยู่กับผัว
พระก็เป็น บางคนนั่งปฏิบัติธรรมได้ไม่กี่อาทิตย์ จิตใจเกิดความสงบปีติมาก คิดบวชเลย ประกาศเลยจะบวชตลอดชีวิต บวชได้ไม่ถึงพรรษานี่ บางทีจีวรก็ร้อนแล้ว เกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมา เพราะว่ามีเหตุปัจจัยที่แตกต่างไปจากเดิม เช่นภาวนามันไม่ค่อยสงบเหมือนก่อน หรืออาจจะเห็นมีปัญหากับเพื่อนพระด้วยกัน เกิดความหงุดหงิดรำคาญ ที่ตั้งใจบวชตลอดชีวิต แต่ก็สึกภายในเวลาไม่นานนี่ก็มาก เรื่องนี้แม้กระทั่งความคิดที่ดูเหมือนดี บวชตลอดชีวิตนี่ ก็อย่าเพิ่งไปเชื่อมันมาก ก็แค่ดูมันไป ดูว่ามันจะอยู่กับเราไปนานเท่าไหร่ นี่ยังไม่นับถึงความคิดที่มันแย่ เช่นความคิดที่อยากจะไปว่าคนอื่น อยากจะไปทำร้ายเขา อยากจะไปตอบโต้ โรมรันพันตูกับเขา เขาว่าก็อยากจะด่ากลับ อันนี้ยิ่งแย่ใหญ่
เพราะฉะนั้น การฝึกให้รู้ทันความคิด มันสำคัญมากทีเดียว โดยเฉพาะคนปัจจุบันที่คิดเก่ง คิดเก่งแล้วก็ไปหลงเชื่อความคิดตัวเองได้ง่าย เพราะคิดว่าตัวเองฉลาด แต่หารู้ไม่ว่า กิเลสมันก็ฉลาดเหมือนกัน มันอาศัยความคิดล่อหลอก ชักจูงให้เราทำตามกิเลส ปรนเปรอกิเลสก็มีเยอะ หรือว่าชักชวนเราทำชั่ว ที่ทำให้เราเสียใจภายหลังก็มาก ถ้ามันมีความคิดอะไรเกิดขึ้นก็อย่าเพิ่งไปเชื่อมัน ทักท้วงมันก่อน รู้ทันมัน แล้วถ้ารู้ทันความคิดได้ ต่อไปการรู้ทันอารมณ์ เช่น ความโกรธ ความเศร้า ก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย เกิดขึ้นได้เร็ว และพอเรารู้ทันอารมณ์ ต่อไปจะไปรู้ทันเวทนา รู้ทันความเจ็บความปวดก็จะทำได้ง่ายขึ้น หรืออย่างน้อย เวลามันเจ็บมันปวด ก็อาจจะยังไม่รู้ทันเวทนา ยังปล่อยวางเวทนาไม่ได้ ก็ให้มารู้ใจ เห็นความหงุดหงิด เห็นความโกรธ เวลาเจ็บเวลาปวด ใจมันโกรธและมันเกิดโทสะ มันโกรธ มันเหวี่ยง มันวีนไปทั่วเลย แม้จะไม่แสดงออก ซึ่งเป็นการซ้ำเติมทำให้เกิดความทุกขเวทนามากขึ้น เกิดความเจ็บความปวดมากขึ้น แต่ถ้าเรารู้ทันอารมณ์ ว่าตอนนี้มันกำลังโกรธ กำลังเกิดโทสะ พอรู้ทัน อารมณ์นั้นมันก็จางคลายไป ที่มันจะไปซ้ำเติมทุกขเวทนา ให้ปวดทั้งกาย ปวดทั้งใจ ก็หายไป เหลือแต่ความปวดกาย แต่ใจไม่ปวดแล้ว เพราะไม่มีอารมณ์โกรธมาเผารน อันนี้ช่วยได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นฝึกเอาไว้ เตรียมเอาไว้ เพราะว่า วิชานี้ได้ใช้แน่ ยังไงก็ต้องเจอแน่ ทุกขเวทนานี่ บางทีอาจจะถึงขั้นที่เรียกว่า ดิ้นกระสับกระส่ายเลยก็ได้ เพราะว่ายาเอาไม่อยู่ แต่ถ้าหากว่าเราเตรียมตัวฝึกจิตตั้งแต่ตอนนี้ รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต ถึงเวลามันปวด มันก็ปวดแต่กาย ใจก็สงบได้