แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ที่วัดป่าสุคะโต มีหลายอย่างที่เราทำ จะไม่เหมือนกับที่เราคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตื่นการนอน การวางจิตวางใจ และที่แตกต่างและที่เราอาจจะไม่คุ้นเคย ก็คือ ที่นี่ เวลากินอาหาร เราจะกินด้วยความสงบ ที่ ๆ เราคุ้นเคยคือว่า เวลากินอาหารเราก็คุย พูดคุยกับคนที่อยู่รอบข้าง หรือบางทีเดี๋ยวนี้อาจจะไม่ค่อยคุยแล้วแต่ทำโน่นทำนี่ เช่น ถ่ายรูปเอาอาหารที่เรากินโหลดขึ้นเฟซบุ๊ก แล้วแชทเขียนข้อความ นี้คือสิ่งที่เราทำเป็นนิสัยหรือทำเป็นประจำ
แต่ที่นี่เวลาเรากินอาหาร เรานั่งเป็นแถวแล้วมองไปทางเดียวกัน คือหันหน้าไปทางพระพุทธรูป แล้วกินอาหารด้วยใจที่สงบ ถึงแม้ว่าใจอาจไม่สงบบ้างเพราะว่าใจคิดโน่นคิดนี่ แต่ว่าอย่างน้อย ๆ เราก็ไม่พูดไม่คุยกัน การกินอาหารแม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย หรือว่ากินด้วยกันเป็นร้อย แต่ว่าไม่มีเสียงดัง ไม่มีเสียงคุย นี้คือบรรยากาศของการกินอาหารที่วัดป่าสุคะโต โดยเฉพาะอาหารเช้า ไม่ว่าจะเป็นพระหรือโยม เราจะเรียกว่า ตั้งหน้าตั้งตาอยู่กับการกินก็ได้ แต่ที่จริงไม่ใช่ มันอยู่ที่การตั้งใจมากกว่า เรากินด้วยความสำรวม ไม่มูมมาม แต่ไม่ใช่อาการภายนอกที่สำรวม ใจเราก็สำรวม คือ ไม่ปล่อยใจลอย แต่ถึงแม้ใจเราอาจจะยังล่องลอยอยู่ แต่อย่างน้อยเราก็ยังรักษาอาการของกายและวาจาไว้ เพื่อช่วยทำให้ใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน รู้ตัวขณะที่กินอาหาร
เริ่มต้นด้วยการไม่พูดไม่คุยกัน เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องที่แปลก เคยมีฝรั่งสนใจพระพุทธศาสนา เพื่อนชวนไปวัดป่าแถวอีสาน เธอก็ไปอยู่สักวันสองวัน หรืออาจจะไม่ได้อยู่ได้ค้างด้วยซ้ำ แค่ถวายอาหารเช้า แล้วก็ดูบรรยากาศ กลับไปกรุงเทพก็ไปคุยไปบอกเพื่อน ๆ ว่า วัดนี้สงสัยพระจะไม่ค่อยถูกกัน ผิดใจกัน เพราะอะไร เพราะว่าไม่คุยกันเลยเวลากินอาหาร ที่นี่ก็เหมือนกัน เวลาฉันอาหารก็ไม่ได้พูดคุยกัน อย่าไปเข้าใจว่าที่นี่พระทะเลาะกันจึงไม่คุยกัน มันเป็นธรรมเนียม และไม่ใช่แค่ธรรมเนียมเฉย ๆ มันเป็นความตั้งใจเพื่อที่จะได้ปฏิบัติด้วย คือเจริญสติขณะที่กินอาหาร
การปฏิบัติธรรมไม่ใช่ว่าจะต้องมาที่วัด จะต้องมานั่งหลับตา หรือแม้แต่มายกมือสร้างจังหวะ เดินจงกรม การปฏิบัติธรรมทำได้ทุกที่ ทำได้ทุกเวลา ทำได้ในทุกอิริยาบถ อิริยาบถที่ธรรมดาสามัญที่พื้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกินข้าว อาบน้ำ ถูฟัน มันกลายเป็นการปฏิบัติธรรมได้ทันที หรือกลายเป็นการภาวนาได้ทันที ถ้าเราทำอย่างมีสติ ภาวนาหรือการปฏิบัติธรรม สิ่งสำคัญอยู่ที่ ใจ อยู่ที่อาการของใจ อยู่ที่การวางใจ ไม่ใช่อยู่ที่อากัปกิริยาภายนอก ไม่ได้อยู่ที่เครื่องแต่งกาย ไม่ได้อยู่ที่สถานที่ บางคนเข้าใจว่าปฏิบัติธรรมต้องนุ่งขาวห่มขาว จึงจะเรียกว่าการปฏิบัติธรรม ต้องมีเบาะที่ซื้อมาเป็นพิเศษ เดี๋ยวนี้ก็มีอุปกรณ์สำหรับนักปฏิบัติธรรมขายอยู่ทั่วไป ตั้งแต่เสื้อผ้า กางเกง ผ้านุ่ง หรือว่าเบาะ หรือว่าแก้วน้ำ เดี๋ยวนี้มีเต็นท์ปฏิบัติธรรมด้วย หลายคนไปสนใจตรงนั้น ไปหาซื้อเพื่อสร้างภาพลักษณ์ หรือเพื่อยืนยันความเป็นนักปฏิบัติธรรมของตัว
แต่พวกนี้ไม่สำคัญเท่ากับเรื่องของจิตใจ เราวางใจอย่างไร เช่น ขณะที่กิน ใจเราก็อยู่กับการกิน แล้วไม่ใช่แค่นั้น รู้เวลาใจกระเพื่อม กระเพื่อมเพราะชอบ กระเพื่อมเพราะไม่ชอบ กระเพื่อมหรือว่าเพราะเคลิ้มคล้อยกับรสชาติอาหาร หรือเพราะรังเกียจ ไม่ชอบรสชาติอาหาร พวกนี้คืออาการของใจ ที่เราเพียงแต่รู้ ว่ามันเกิดขึ้น เรียกว่าเป็นการเจริญสติ เรียกว่าเป็นการภาวนา เพราะฉะนั้น จะกินที่ไหน หรือว่าจะอยู่ที่ไหน อยู่บนรถ จะเป็นรถไฟฟ้า รถเมล์ จะนั่งคอยเพื่อน ที่ไหนก็ตามเราก็ภาวนาได้ ทุกการกระทำที่มันแสนจะสามัญ มันก็กลายเป็นของดีของประเสริฐได้ เมื่อเราเอาใจมาอยู่กับสิ่งนั้น เรียกว่ามี สติ ตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น ตัวทำอะไรใจก็อยู่กับสิ่งนั้น และก็รู้ เมื่อใจยินดียินร้าย ชอบหรือชัง ไม่ใช่อยู่กับสิ่งนั้นจนลืมดูใจ อันนั้นก็ไม่ถูก ทำงานอยู่กับงานจนกระทั่งลืมดูใจของตัวก็ไม่ถูก ต้องรู้ตัวอยู่เสมอ ฉะนั้นการปฏิบัติธรรม หรือการภาวนาเป็นเรื่องง่าย
เมื่อเรามีสติอยู่กับการกิน นั่นก็แปลว่า เรากำลังอยู่กับปัจจุบัน การอยู่กับปัจจุบันก็คือการที่ใจ ใส่ลงไปในสิ่งนั้น แต่ไม่ได้ถึงกับลืมตัว ก็ยังมารับรู้กายและใจ ในขณะที่ทำสิ่งนั้นด้วย เช่น กวาดใบไม้ก็ไม่ได้ดูแต่ใบไม้ที่กวาด ไม่ใช่ดูแต่ทางที่เราเดิน แต่เราก็เห็นกายที่มันเคลื่อน เห็นมือที่ขยับ แล้วก็รู้ใจที่คิดฟุ้งปรุงแต่งเมื่อเผลอ อันนี้เรียกว่า ใจอยู่กับปัจจุบัน เดี๋ยวนี้เรามักได้ยินว่าทำปัจจุบันให้ดีที่สุด แต่ว่าก็พูดไปอย่างนั้น ไม่ได้เข้าใจความหมายจริง ๆ และไม่ได้ทำด้วย การทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ก็คือว่าไม่ว่าเราทำอะไรในขณะนั้นๆ ใจเราก็อยู่กับสิ่งนั้นเต็มร้อย ไม่ใช่แบ่งไปคิดโน่นคิดนี่ ระหว่างที่กิน บางทีก็รู้ว่ากิน แต่บางทีใจก็กำลังคิดงาน วางแผน กินไปด้วยวางแผนไปด้วย อันนี้เรียกว่าไม่ได้ทำด้วยใจเต็มร้อย เมื่อไม่ได้ทำด้วยใจเต็มร้อยเราจะเรียกว่าทำสิ่งนั้นดีที่สุดได้อย่างไร
แม้แต่การกินอาหารเราก็ทำให้ดีที่สุดได้ ด้วยการมี สติ รับรู้ทุกอย่างที่กิน แต่ว่าก็ไม่หลงไปกับรสชาติที่เกิดขึ้น ไม่ว่าบวกหรือลบ ไม่ว่าเคลิ้มคล้อยหรือว่าผลักไส เพราะอย่างนั้นทำให้เรากินอย่างรู้จักประมาณ รู้ว่าเมื่อไรควรพอ เพราะว่าบ่อยครั้งถ้าอาหารอร่อยเราก็เคี้ยวๆๆ บางทีกลายเป็นมูมมามไป หรือว่าไม่หยุดสักที ทั้ง ๆ ที่ท้องอิ่มแล้ว แต่ว่าใจอยากจะกินอีก อันนี้เรียกว่าหลงไปแล้ว ไม่รู้ตัวแล้ว ถ้าใจเต็มร้อยอยู่กับการกินมันไม่เป็นอย่างนั้นหรอก เราจะรู้ว่าแค่ไหนควรพอ และไม่ใช่แค่รู้ว่าเท่าไรเท่านั้นๆ ยังรู้ว่าควรจะกินอะไรด้วย ไม่ใช่กินเพราะว่ามันสนองกิเลสของเรา ไม่ใช่เพราะว่าเราชอบ ทั้ง ๆ ที่เป็นโทษต่อร่างกาย เพราะว่ากินมากไป เช่น พวกไขมัน พวกเนื้อ หรือบางทีเป็นพวกสีที่มีสารเคมี หรือบางทีมีผงชูรสเยอะ ๆ มันชอบ หรือน้ำตาล น้ำตาลนี่หวาน ร่างกายหรือว่าจิตใจมันชอบ กินเข้าไปทั้ง ๆ ที่รู้ว่าร่างกายรับไม่ไหวแล้ว นี้เรียกว่า กินตามอำนาจของกิเลส หรือกินตามความอยาก กินโดยไม่รู้ตัว ไม่ได้รู้สึกตัว ใจไม่ได้เต็มร้อยอยู่กับสิ่งนั้น ถ้าใจเต็มร้อยจะรู้เนื้อรู้ตัว และเมื่อใจไม่เต็มร้อย มันจะเปิดช่องให้กิเลสครอบงำ สุดท้ายการกระทำของเรากลายเป็นโทษต่อร่างกาย และบางทีเป็นโทษกับจิตใจ อย่างนี้เรียกว่าไม่ได้ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด
การทำปัจจุบันให้ดีที่สุด มันเริ่มต้นด้วยการทำทุกอย่างด้วยใจเต็มร้อย ไม่ใช่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่ใช่ทำหลายอย่างพร้อมกัน ทำอะไรก็ตาม ใจก็อยู่กับสิ่งนั้น ทำอย่างเดียวพอ เหมือนกับเวลาเรากินข้าว เรากินข้าวทีละคำ เวลาทำอะไรก็ทำทีละอย่าง ถ้าทำทีละอย่างนั่นแหละใจจึงจะเต็มร้อย ไม่ใช่ทำหลายอย่างพร้อมกัน ใจมันก็เลยแบ่งซีก แบ่งเป็นเสี่ยง ๆ เป็นซีก ๆ เพราะต้องทำหลายอย่างพร้อมกัน นี้เรียกว่า ไม่ได้ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด
ฉะนั้นทำความเข้าใจให้ดี เวลาเราพูดว่าทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เราเข้าใจความหมายจริงหรือเปล่า เราซีเรียสหรือเราจริงจังกับมันแค่ไหน ถ้าเราจริงจังกับมัน แม้แต่การกินอาหาร แม้แต่การล้างหน้า แม้แต่การถูฟัน ใจเราก็อยู่กับสิ่งนั้น รู้ข้างนอก รู้ว่ากำลังเกี่ยวข้องกับอะไร กำลังกินอาหาร กำลังตักอาหารใส่ปาก หรือว่ากำลังบีบยาสีฟันใส่ลงบนแปรง อันนี้รู้นอก ขณะเดียวกันก็ รู้ใน ก็คือรู้ใจ ใจมันเผลอไปก็รู้ แล้วก็วาง แล้วกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ว่าเราทำอะไรก็จะทำได้ดี ไม่ใช่ทำไปแบบไม่รู้ตัว แล้วก็ทำผิด ๆ พลาด ๆ หรือว่าทำจนไม่รู้จักประมาณ ไม่รู้จักความพอดีไป