แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การมาอยู่ที่วัดป่าสุคะโต ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน เราต้องทำในสิ่งที่เราไม่คุ้นเคยมากมาย แล้วหลายอย่างก็สวนทางตรงข้ามกับสิ่งที่เราเคยทำ อย่างเช่น การตื่นนอน หลายคนคงไม่คุ้นกับการตื่นตี๓-ตี๓ครึ่ง เท่านั้นไม่พอ เวลานอน ที่นี่ก็ต้องนอนเร็ว คนจำนวนมากตื่นเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว บางคนตื่นสาย บางคนตื่นเวลากลางคืนส่วนกลางวันหลับ เวลานอนก็นอนดึกกัน แต่พอมาที่นี่เราต้องเปลี่ยน มาเป็นการนอนให้เร็วขึ้นเพื่อที่เราจะได้ตื่นก่อนพระอาทิตย์ อยู่ที่บ้านเวลาตื่น อย่างแรกที่หลายคนทำ หลังจากล้างหน้าถูฟันหรือบางทีไม่ทันจะล้างหน้าถูฟัน ก็คือเปิดโทรศัพท์ เช็คข้อความ ดูไลน์
แต่ว่าที่นี่ พอตื่นขึ้นมา สิ่งแรกๆที่ทำ หลังจากอาบน้ำหรือล้างหน้าถูฟัน ก็คือการมาทำวัตร มาสวดมนต์ ซึ่งเป็นการเตรียมใจให้เหมาะสำหรับการที่เราจะได้ทำสิ่งที่สำคัญ อันเป็นจุดมุ่งหมายของการมาปฏิบัติหรือการมาอยู่ที่นี่ นอกจากการตื่นการนอนแล้ว การกินก็อาจจะเป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย หลายคนกิน ๓ มื้อ บางคนกินมากมื้อ อาจจะ ๔-๕ มื้อใน ๑ วัน แต่นี่เราก็ต้องกินแค่ ๒ มื้อ แต่นั่นก็คงไม่ใช่เป็นเรื่องสำคัญเท่าไร
สิ่งสำคัญที่เราไม่ค่อยคุ้นเคยกันเลยก็คือ การที่เราแทนที่จะส่งจิตออกนอก เราก็กลับมาดูกายดูใจของเรา ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเวลาเราทำงาน ไม่ว่าเราจะขับรถ ปรุงอาหาร หรือว่าคุมเครื่องจักร ประกอบเครื่องไม้เครื่องมือ ดูตัวเลขในบัญชี เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการไปจดจ่ออยู่สิ่งภายนอก เราเรียกว่า ส่งจิตออกนอก หรือแม้จะไม่ได้ทำสิ่งเหล่านั้นหรือขณะที่ทำอยู่ บางทีใจก็ลอย ใจลอย ทำอาหารไปปรุงอาหารไป ใจก็ลอย หรือถึงแม้ไม่ทำงาน เราก็ดูไลน์เล่นเฟซบุ๊ก พวกนี้วันๆหนึ่งเราใช้เวลาหลายชั่วโมง รวมกันแล้ว ทั้งวันตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน เราปล่อยใจออกไปข้างนอก ไปจดจ่ออยู่สิ่งที่อยู่นอกตัว แทบจะไม่ค่อยได้กลับมาดูตัวเองเท่าไร น้อยมากที่เราจะกลับมามองตน กลับมาดูกายดูใจ
แต่มาที่นี่โดยเฉพาะในภาคปฏิบัติ เราจะมาสร้างนิสัยใหม่ ก็คือการมาดูกายดูใจ นั่งอยู่กับที่ ไม่ต้องออกไปเพ่นพ่านที่ไหน เวลาทำงานเราอาจจะไปพูดไปคุยกับคน ทำโน่นทำนี่ แต่มาที่นี่ อิริยาบถหลักอย่างหนึ่งคือ การนั่งสร้างจังหวะ แต่รูปแบบไม่สำคัญเท่ากับว่า เราจะมาเรียนรู้เรื่องการดูกายดูใจ เดินจงกรมก็เหมือนกันก็กลับมารู้กายรู้ใจว่า ตอนนี้กายมันทำอะไร แล้วทำไปๆใจมันเผลอคิดไปก็รู้ อันนี้คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่แทบจะไม่ค่อยได้ทำเลย เพราะว่าเราถูกดึงให้ไปจดจ่อสนใจอยู่กับสิ่งนอกตัวเสียมาก วิชาความรู้ที่เราเรียน มันเป็นเรื่องนอกตัวส่วนใหญ่ แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าการเรียนรู้ของเรา ก็เป็นการเรียนโดยการเอาจิตไปจดจ่อสิ่งภายนอกมากกว่าที่จะกลับมามองดูตน ที่นี่เราจะมามองย้อนศร ที่เคยส่งออกนอก ก็กลับมาดูข้างใน เรียกว่าตรงข้ามกันเลย ๑๘๐ องศา อยู่ข้างนอกเรียกว่า ตั้งแต่เล็กจนโต หรือจนถึงปัจจุบันเราใช้ความคิดมากมาย เราถูกฝึกด้วยซ้ำให้ต้องใช้ความคิดเยอะๆ แม้บางแห่งจะไม่เน้นการท่องจำ แต่ก็ฝึกให้เรารู้จักคิด ซึ่งมีประโยชน์ เราใช้ความคิดกันในแทบทุกเรื่องเลย
แต่มาที่นี่เราจะมาเรียนรู้เรื่องการวางความคิด ความคิดมีประโยชน์ แต่ถ้าเราใช้มันพร่ำเพรื่อมันจะคิดไม่หยุดเลย หลายคนมีปัญหามากในเรื่องนี้คือคิดไม่หยุด จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ เวลากินก็คิด คิดบางเรื่อง ถ้าคิดเรื่องดีๆก็เพลิน แต่พอคิดเรื่องที่ชวนให้วิตกกังวลทำให้เครียดก็กินไม่ลง เจอข้อความที่เขาคอมเมนต์ทางเฟซบุ๊กแรงๆ บางทีไม่แรงเท่าไร เพียงแค่เขาประชดประชัน เราก็เครียดเลย โกรธ โมโห ที่กำลังกินข้าวอยู่ก็กินไม่ลงแล้ว นี่เพราะความคิด ไม่ใช่เพราะข้อความที่เขาส่งมา แต่เป็นเพราะความคิดที่เราคิดเรื่องนี้ไม่เลิก เวลานอนเหมือนกัน หลายคนก็นอนไม่หลับเพราะมันคิดไม่หยุด
เราใช้ความคิดกันมาก แต่ไปๆมาๆความคิดมันใช้เรา เราใช้ความคิดมาก และพอเราใช้ไม่หยุด ความคิดก็กลายมาใช้เราแทน มันมาใช้ให้เราคิดๆๆ ร่างกายบอกว่าจะนอนแล้ว ไม่ไหวแล้ว แต่ความคิดมันบอกว่า อย่าเพิ่งนอน สมองต้องตื่นมาคิดๆๆ และทุกวันนี้คนไม่ค่อยได้ใช้ความคิดเท่าไร แต่ว่าความคิดมาใช้เรามากกว่า และที่เราปล่อยให้ความคิดมาใช้เรา ก็เพราะการที่เราคิดอยู่เรื่อยๆ คิดๆๆ คิดจนไม่มีสติ คิดจนลืมตัว พอลืมตัวแล้ว ความคิดก็เลยมาครอบงำจิตใจเรา เรียกว่าฟุ้งไม่หยุด พอฟุ้งไม่หยุดก็เลยต้องพูด คนที่พูดเพ้อเจ้อส่วนหนึ่งก็เพราะว่าคิดไม่หยุด ต้องหาทางระบาย
เราใช้ความคิดมามากแล้ว ถึงเวลาที่เราจะรู้จักวางความคิดบ้าง ความคิดมีประโยชน์ แต่ว่าถ้าเราไม่รู้จักวางบ้างมันก็จะเกิดโทษ มันเหมือนกับรถที่เคลื่อนด้วยความเร็วสูง เดี๋ยวนี้รถแต่ละคันแต่ละยี่ห้อนี่เร็วมาก คันเร่งเป็นสิ่งสำคัญ แต่ว่าขาดไม่ได้คือเบรก แม้แต่เครื่องจักรนี่ก็ต้องรู้จักหยุด แล้วสมองเราหรือใจเรา ถ้ามันทำงานตลอดเวลาจะเกิดอะไรขึ้น ทีนี้การนอนซึ่งเป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องธรรมชาติ กลายเป็นเรื่องยากของคนปัจจุบันไปแล้ว เพราะนอนไม่หลับ นอนไม่หลับเพราะความคิดซึ่งทำให้ปรุงอารมณ์มารบกวนจิตใจ
คนเราเรียนผูกอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเรียนแก้ด้วย การใช้ความคิด คิดเก่งก็เหมือนกับเรียนผูก ผูกเก่งก็ต้องรู้จักแก้ ปีนต้นไม้เก่งนี่ดีแล้ว ปีนขึ้นต้นไม้เก่งก็ถือว่าเป็นความสามารถอย่างหนึ่ง แต่เมื่อปีนขึ้นไปแล้วก็ต้องรู้จักลงให้เป็นด้วย คนสมัยนี้ใช้ความคิดในการพาชีวิตเข้าสู่ความสำเร็จ พาชีวิตเข้าสู่ภาวะขาขึ้น แต่เวลาจะลงนี่ลงไม่เป็น เราเรียนรู้แต่เรื่องว่าทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จ แต่เราไม่ได้เรียนรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะลงจากความสำเร็จได้อย่างนุ่มนวล เพราะว่าคนเราไม่ว่าจะขึ้นสูงแค่ไหนสุดท้ายก็ต้องลงต่ำทั้งนั้น เหมือนเครื่องบิน เราจะเรียนแต่วิธีการพาเครื่องบินเหินขึ้นฟ้าอย่างเดียวไม่พอ เราต้องรู้จักคุมเครื่องบินให้สามารถจะร่อนสู่พื้นได้อย่างนุ่มนวลและปลอดภัย เขาเรียกว่า soft landing แต่เดี๋ยวนี้เราเหมือนกับว่าเรียนแต่วิธีการคุมบังคับเครื่องบินให้บินขึ้นสูง แต่ว่าไม่รู้จักบังคับเครื่องบินให้ลงสู่พื้นอย่างปลอดภัย
เราเรียนรู้แต่เรื่อง how to จะสำเร็จได้อย่างไร แต่ว่าไม่เรียนรู้เรื่อง how to ว่า จะลงจากความสำเร็จหรือเวลาเจอความล้มเหลว เราจะล้มเหลวได้อย่างไร อย่างมีความสุข แล้วก็อย่างฉลาด ไม่ใช่ล้มเหลวอย่างผู้แพ้ หรือว่าล้มเหลวอย่างหมดเนื้อหมดตัว หมดอาลัยตายอยาก มีเงินร้อยล้านพันล้านถึงเวลาล้มเหลวก็ทำใจไม่ได้ ฆ่าตัวตาย เหล่านี้เป็นเพราะว่าพื้นฐานเลยก็คือ เรียนแต่วิธีการใช้ความคิด แต่ไม่รู้จักวางความคิด ถ้าวางความคิดแล้วมันไม่ฟุ้งซ่านหรอก ถึงเวลาล้มเหลวมันก็วางได้ ไม่มาหมกมุ่นกลุ้มใจ สุขภาพที่เคยดี วันหนึ่งมันเจ็บมันป่วย อันนี้เขาเรียกว่าขาลง โดยเฉพาะคนแก่ คนทุกคนไม่ว่าจะมีสุขภาพดีแค่ไหน สุดท้ายก็ต้องลงเอยด้วยความแก่และความเจ็บป่วย ทุกชีวิตต้องลงเอยด้วยขาลงทั้งนั้น ขาลงในรูปของความแก่ ในรูปของความเจ็บป่วย ทำการงานไม่ค่อยได้ ตาก็ฝ้าฟาง หูก็ตึง สิ่งนี้แหละคือขาลงของทุกชีวิต สุดท้ายก็ตาย แต่ว่าแม้เราจะเจอกับภาวะขาลง ไม่ว่าระหว่างทางหรือว่าปลายทางก็ตาม แต่ถ้าเรารู้จักวางความคิดได้ มันก็ไม่กลุ้มและไม่เครียด แต่กว่าจะถึงตรงนั้น แม้แต่เวลาช่วงที่ชีวิตอยู่ในช่วงขาขึ้นหลายคนก็เครียด ประสบความสำเร็จมากมาย มีกิจการเป็นร้อยๆกิจการ แต่ว่านอนไม่หลับ บางทีก็ถ่ายไม่ออกด้วย เพราะความเครียด นี่เพราะไม่รู้จักวางความคิด
แต่มาที่นี่เราจะมาเรียนรู้เรื่องการวางความคิด ก็คือว่า เวลาเรายกมือสร้างจังหวะก็ดี เดินจงกรมก็ดี ไม่ต้องใช้ความคิดอะไร แค่รู้สึก แค่ใช้ใจ รู้สึก ไม่ได้ใช้หัว คิด แต่ว่าใช้ใจ รู้สึก รู้สึกว่ากายมันเคลื่อน เท้าขยับ เอาความรู้สึกตรงนี้แหละเป็นเบื้องต้น ใช้ความรู้สึกเสียบ้าง แต่หลายคนใช้ไม่เป็น มันจะคิดท่าเดียว ถึงเวลาบอกให้ใจมันรู้สึก ก็พยายามใช้ความคิด เช่น มีการบริกรรมว่า ยก ๑ ๒ ๓ หรือขวา ซ้าย ขวา ซ้าย ยังไม่เลิกใช้ความคิดเลย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ฝึกใหม่ๆ จะมีการใช้ความคิด มากำกับการปฏิบัติตลอดเวลา อย่างน้อยก็ในเรื่องของการบริกรรม คิด ยกมือ ยกมือ ผายออกมือ ไว้ที่หน้าอก ไว้ที่ท้อง อะไรเหล่านี้ มีการพากย์ นั่นคือการใช้ความคิดอย่างหนึ่ง แล้วก็วางไม่ได้เพราะว่ามันไม่รู้จักหยุดหรือไม่รู้จักวาง ฉะนั้น ลองมาฝึกการวางความคิดดู
และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การวางความสำเร็จ หรือว่าการไม่จดจ่ออยู่กับผล หรือความคาดหวัง คนสมัยนี้เวลาจะทำอะไรก็ตาม จะจดจ่ออยู่กับผลสำเร็จ จะจดจ่ออยู่กับเป้า ทำอะไรก็จะนึกถึงเป้าตลอดเวลา เช่น เป็นนักธุรกิจหรือเป็นเซลล์ จะคิดถึงแต่เป้าที่ได้รับมอบหมาย หรือตั้งเอาไว้ คุยกับลูกค้า คุยไปก็นึกถึงเป้า ว่าลูกค้าคนนี้ได้ทำให้เราได้เข้าถึงเป้าไหม หรือแม้แต่ทำอย่างอื่นก็ตาม ก็จะคิดถึงความสำเร็จข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับว่าต้องมีแรงผลัก ต้องอาศัยความอยากเป็นตัวผลักให้เราทำ เวลาเรียนหนังสือก็มีเป้าจะให้ได้ ๓ ให้ได้๔ หรือว่าคะแนนสูงๆ ขณะที่เรียนไปก็นึกถึงความสำเร็จ เรียกว่าชีวิตเราถูกหล่อหลอมมาให้มุ่งความสำเร็จ แต่ว่ามาที่นี่มันต้องวาง มันต้องวางความคิดแบบนี้ หรือว่านิสัยแบบนี้ลง
จริงอยู่ ความคาดหวังในความสำเร็จ หรือว่าความคาดหวังอยากจะพบกับความสงบ ห่างไกลจากความทุกข์ หรืออะไรก็ตามที่เราหวัง มันพาเรามาที่นี่ อุตส่าห์เดินทางหลายร้อยกิโลเพื่อมาที่นี่ อุตส่าห์เสียเวลาสละเวลามาหลายวันเพื่อจะมาปฏิบัติที่นี่ ความคาดหวัง ความมุ่งผลสำเร็จมันพาเรามาที่นี่ แต่ทันทีที่เราลงมือยกมือสร้างจังหวะ ทันทีที่เราเริ่มเดินจงกรมแล้ว ต้องวาง เพราะถ้าเราไม่วาง เราจะทำด้วยความทุกข์ หลายคนเวลาทำแล้วก็จะเครียด หน้าดำคร่ำเคร่ง มีความรู้สึกแน่นหน้าอก เพราะเขามีความคาดหวังว่า จะให้ใจมันสงบ เพราะฉะนั้นจึงพยายามไปบังคับจิตให้มันหยุดคิด พยายามไปตะปบความคิดให้มันหายไป บางทีก็ดักจ้อง มองจิตเลยว่า มันคิดเมื่อไรจะเบรกมัน เสร็จแล้วก็จะมีอาการเครียด หลังจากทำไปได้วันสองวัน บางทีทำแค่ไม่กี่ชั่วโมงก็เครียดแล้ว หน้ามืด หนักหัว นี่เป็นเพราะว่ามุ่งหวังความสำเร็จมาก อยากจะให้ได้ผลหรือว่าได้รับความสำเร็จไวๆ
อะไรก็ตามยิ่งอยากได้ มันยิ่งไม่ได้ ยิ่งอยากถึงไวๆก็จะยิ่งรู้สึกถึงช้า บางทีไม่ใช่แค่ความรู้สึกว่ามันถึงช้า มันถึงช้าจริงๆ เพราะว่าพอขับรถเร็วๆเพื่อให้ถึงเป้าหมายไวๆ ก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุกลางทาง เสร็จแล้วก็เลยถึงช้าเลย ไม่เหมือนคนที่เขาขับสบายๆ ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง บางทีกลับถึงเร็วกว่า เพราะว่าไม่เกิดอุบัติเหตุ แล้วก็ไม่รีบร้อน ไม่ลน แล้วที่สำคัญก็คือว่า ความรู้สึกมันจะไม่รู้สึกทรมานเมื่อไรจะถึงสักที เวลาเราไม่คาดหวังเราจะรู้สึกว่ามันถึงไว ขาไปหลายคนจะรู้สึกว่ามันถึงช้า แต่ขากลับเช่นเวลากลับบ้านเราจะรู้สึกว่าถึงไว เพราะอะไร เพราะว่าเราไม่มีความคาดหวังว่าจะต้องถึงไวๆ ความอยากให้ถึงไวๆมันไม่มี เราก็เลยกลับรู้สึกว่ามันถึงไว
คนที่อยากได้ความสงบ ก็จะรู้สึกว่ามันฟุ้งซ่าน ที่จริงไม่ใช่แค่ความรู้สึก มันเป็นความฟุ้งซ่านจริงๆหรือว่าความเครียดจริงๆ หลายคนที่บอกว่าอยากได้ความสงบ อย่างเช่นเมื่อวานเราปฏิบัติสงบมากเลย วันนี้เราอยากจะให้ได้แบบนั้น สงบแบบนั้น ปฏิบัติไปจะรู้สึกว่ามันฟุ้งซ่านมากเหลือเกิน มันเป็นทั้งความรู้สึกว่าฟุ้งซ่านมากกว่าเมื่อวาน ทั้งๆที่อาจจะไม่ถึงขนาดนั้น แล้วก็จริงๆแล้วมันเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นจริงก็ได้ เพราะพอเราไปพยายามปุ๊บ พอเราอยากจะได้ความสงบอย่างเมื่อวานก็เลยเกร็ง พยายามไปคุมจิตให้มันสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่มีความคิดเกิดขึ้น แล้วจิตนี่มันไปกดไปบังคับมันไม่ได้ มันยิ่งต่อต้าน ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ เหมือนกับเด็กวัยรุ่น ยิ่งห้ามก็เท่ากับว่าเป็นการยุ ใจเราก็เหมือนกับอย่างนั้น ถ้าเราไปบังคับเขา เขาจะต่อต้าน
เพราะฉะนั้นเวลาปฏิบัติที่นี่ หลวงพ่อเทียนท่านจะสอนไว้ทำเล่นๆ ทำเล่นๆ คือว่าผลจะเป็นอย่างไร เราไม่สนใจ เราจะพยายามประกอบเหตุให้ดี ทำเหตุให้ดี ส่วนผลจะเป็นอย่างไรช่างมัน ระหว่างที่ทำก็ไม่สนใจผล เรียกว่าทำเหตุวางผล ทำแต่เหตุ แล้วก็วางผล วางลงจากใจ ถ้าเราทำแบบนี้ได้ มันจะเหมือนกับทำเล่นๆ คือว่าฟุ้งบ้างก็ไม่เป็นไร หลงบ้างก็ไม่เป็นไร เริ่มต้นใหม่ทุกครั้ง เหมือนกับเวลาเราเล่นฟุตบอล ถ้าเราเล่นแบบเล่นๆ จะแพ้บ้างก็ไม่เป็นไร จะถูกเขายิงบ้างก็สนุก ผลไม่สำคัญแต่ว่าทำแล้วมันสนุก ทำเล่นๆไปคือ การวางความคาดหวังในเรื่องผล ไม่ยึดติดในผล แต่หลวงพ่อเทียนท่านก็ไม่ได้สอนเท่านี้ ท่านสอนว่าให้ทำเล่นๆและทำจริงๆ ก็คือทำทั้งวัน ให้หมั่นดูกายดูใจทั้งวัน แต่ไม่ใช่ไปบังคับจิตแล้วก็ไม่ใช่ไปเพ่งมัน ใจลอยก็ไม่ใช่ แต่ว่าไปเพ่งก็ไม่ใช่ ตอนก่อนปฏิบัติเผลอบ่อยมาก แต่พอมาปฏิบัติจะเพ่งท่าเดียว อันนี้มันเป็นความสุดโต่ง ให้ปรับใจเสียใหม่ว่า ความคิดที่เกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติไม่ใช่เรื่องเสียหาย มันจะคิดก็ไม่เป็นไร เพราะเราไม่ได้ตั้งใจจะฝึกให้มันหยุดคิด แต่เรามาฝึกเพื่อจะให้รู้ทันความคิด
เราจะรู้ทันความคิดได้อย่างไร ถ้าความคิดมันไม่ออกมาเป็นการบ้าน ถ้าไม่มีความคิดเลย เราจะรู้ทันความคิดจากอะไร เราจะรู้ทันความคิดได้ก็ต้องมีความคิด มันเผลอคิดเกิดขึ้นมาแล้วจึงจะรู้ทัน แต่ใหม่ๆมันจะรู้ทันได้ช้า เพราะว่ามันคิดไปหลายเรื่องหลายราวจึงมารู้ทัน ไม่เป็นไร ทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ มันก็จะรู้ทันได้ไวขึ้น แต่จะทำอย่างนั้นได้ราบรื่น ก็ต้องเริ่มจากการที่เราไม่รู้สึกว่า ความคิดฟุ้งซ่านมันเป็นสิ่งที่เลว มันเป็นสิ่งที่ต้องกำจัด ไม่ใช่สิ่งที่ต้องกำจัด แต่เป็นสิ่งที่ต้องรู้ทัน ต่างกันมากเลย และที่เราอยากกำจัด เพราะเรามีความคาดหวังว่าต้องสงบให้ได้ ต้องสงบให้ได้ จิตที่มุ่งความสำเร็จแบบนี้มันจะทำให้เครียดง่าย ที่เราทำงานแล้วเราเครียด เพราะใจเราคิดถึงแต่เป้าหมาย คิดถึงแต่ความสำเร็จตลอดเวลา แต่ถ้าเราลองวาง วางเป้าหมายลง หรือว่าลืมมันสักหน่อย ระหว่างที่ทำก็ลืม ให้อยู่กับปัจจุบัน ไม่ต้องสนใจอนาคต เป้าหมายหรือความสำเร็จคืออนาคตซึ่งยังมาไม่ถึง อย่าเพิ่งไปสนใจมันมาก ให้อยู่กับปัจจุบัน อันนี้เรียกว่าเปลี่ยนนิสัยใหม่ ก็คือว่า ทำแต่เหตุ ส่วนผลก็วาง มันจะทำให้เรามีนิสัยแบบใหม่คือ ทำเต็มที่แต่ไม่ซีเรียส เวลาทำ ทำเต็มที่เลยแต่ไม่เครียด เพราะว่าจิตไม่ได้จดจ่ออยู่ที่จุดหมาย ไม่พะวง จึงไม่วิตกกังวล
อันนี้แหละคือสิ่งใหม่ๆที่เราจะต้องมาเรียนรู้ ซึ่งมันอาจจะสวนทางกับความเคยชินหรือนิสัยเดิมๆ จะเอาของเดิมมาใช้ไม่ได้ ถ้าเอาของเดิมนิสัยเดิมมาใช้ก็จะปฏิบัติด้วยความเครียด ล้มคว่ำคะมำหงาย เสียศูนย์ได้ง่ายๆ ให้ลองคิดใหม่ทำใหม่ดู วางสิ่งที่เราเคยทำลง แล้วก็ลองมาทำสิ่งใหม่ๆดู แม้จะไม่คุ้นเคย แต่ทำไปๆมันก็จะง่ายขึ้นๆ