แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อาหารที่เรากินทุกวันๆ มันมีเบื้องหลังที่คาดไม่ถึง อย่างก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่งนี่ เขาคำนวณแล้วว่าใช้น้ำถึงหนึ่งพันลิตร หนึ่งพันลิตรนี่ก็คือ น้ำในถังน้ำมันประมาณ ๕ ถัง หลายคนสงสัย หนึ่งพันลิตรทำไมมันมากอย่างนี้ เพราะน้ำในชามก๋วยเตี๋ยวมันนิดเดียว เท่ากับน้ำ ๑ แก้ว แต่ที่จริงแล้ว เบื้องหลังของมันใช้น้ำมาก อย่างเช่น เส้นก๋วยเตี๋ยวก็มาจากแป้ง แป้งก็มาจากข้าว ข้าวจะปลูกได้ก็ต้องใช้น้ำ น้ำที่ใช้ในการปลูกข้าวแล้วกลายมาเป็นแป้ง แล้วกลายมาเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวนี่มันก็หลายร้อยลิตร และรวมถึงพวกเนื้อ จะเป็นเนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว พวกนี้ก็กินอาหารสัตว์ อาหารสัตว์ก็มาจากธัญพืช ธัญพืชนี่ก็มาจากท้องไร่ท้องนา มาจากข้าว ข้าวสาลีบ้าง ข้าวเจ้าบ้าง ต้องเลี้ยงกว่าจะมีเนื้อให้เรากินในชามก๋วยเตี๋ยวนี้ มันต้องใช้น้ำในการปลูกข้าวปลูกธัญพืชไม่น้อยเลย อันนี้รวมถึงพวกผักชีและถั่วงอกอีก เขารวมแล้ววิจัยกันแล้วใช้น้ำประมาณหนึ่งพันลิตร
ถึงแม้จะไม่ใช่เป็นก๋วยเตี๋ยว แต่เป็นข้าวแกงธรรมดานี่ ก็คงใช้น้ำไม่ได้น้อยกว่ากันเท่าไหร่ เพราะว่าข้าวที่เรากิน ข้าวแกงถึงแม้ว่าจะใช้น้ำน้อยในการปรุง แต่ว่าในการผลิต วัตถุดิบก็ไม่ได้น้อยไปกว่าก๋วยเตี๋ยว แต่พันลิตรนี่ก็ยังถือว่าไม่เท่าไหร่ถ้าเทียบกับแฮมเบอร์เกอร์ แฮมเบอร์เกอร์นี่เขาคำนวณแล้ว ใช้น้ำถึงหนึ่งหมื่นสองพันลิตร สิบสองเท่าของก๋วยเตี๋ยวเลย เพราะอะไรเพราะว่ามันใช้เนื้อเยอะ เนื้อที่กิน โดยเฉพาะแฮมเบอร์เกอร์ของฝรั่ง เขาก็ต้องอาศัยธัญพืช พวกถั่ว ข้าว และต้องใช้เยอะด้วย กว่าจะได้เนื้อมาแผ่นหนึ่งมาชิ้นหนึ่ง ให้เราได้กินในรูปแฮมเบอร์เกอร์ และเขาคำนวณว่ามันต้องใช้ป่าเขตร้อนประมาณห้าตารางเมตร ในการผลิตแฮมเบอร์เกอร์แต่ละชิ้น ป่าเขตร้อนนั้นหายาก ห้าตารางเมตรนี่ก็ไม่น้อยทีเดียว ทำไมถึงใช้ป่าห้าตารางเมตร ก็เพราะว่า ต้องมีการถางป่า เพื่อจะได้ปลูกธัญพืชสำหรับเลี้ยงสัตว์ เพราะว่าพื้นที่ที่จะปลูกธัญพืชเดี๋ยวนี้มันไม่ค่อยมีแพร่หลาย ก็ต้องไปถางป่า แถวเขตอเมซอน อเมริกาใต้เป็นป่าอย่างดี ป่าดิบชื้น ก็ถางเพื่อที่จะได้ปลูกอาหารเอาไว้เลี้ยงสัตว์ ไม่ได้เอาไว้เลี้ยงคน ก็ห้าตารางเมตรถึงจะได้ธัญพืชสำหรับผลิตออกมา หรือแปรรูปออกมาเป็นเนื้อให้เรากินกัน
เรื่องนี้เป็นตัวอย่างว่า อาหารที่เรากินจริงๆแล้ว มันมีเบื้องหลังที่ไม่น่าเชื่อมาก มันเหมือนกับยอดของภูเขาน้ำแข็ง ยอดของภูเขาน้ำแข็งเราเห็นแค่หนึ่งส่วน แต่ว่าข้างล่างมันอยู่ใต้น้ำประมาณสิบส่วน อาหารที่เรากินก็คล้ายๆกันแบบนั้น อันนี้ไม่ใช่ว่า มีเบื้องหลังที่ไม่น่าเชื่อในเรื่องของวัสดุ ที่พูดเมื่อสักครู่นี้เป็นเรื่องของวัตถุดิบ มันมีเบื้องหลังมากกว่านี้อีก เช่น กว่าอาหารจะมาถึงมือเรา จนอยู่ต่อหน้าเรานี่ มันตกหล่นระหว่างทาง ถูกทิ้ง และเน่าเสีย ก่อนที่จะมาถึงเราอย่างน้อยหนึ่งในสาม หรือว่าในบางที่อาจจะถึงครึ่งหนึ่ง มันสูญหายไปยังไงบ้าง เช่น ตอนเก็บเกี่ยวผลผลิตในไร่ในนา อันไหนที่ไม่สวยก็ทิ้ง อย่างเช่น มะเขือเทศ ถ้าไม่สวยมีรอยตำหนิก็ทิ้งตรงนั้นเลย แตงโมและผักก็เหมือนกัน ตามสวนเขาทิ้งไว้เยอะ เพราะมันไม่สวย เพราะมีแมลงกัด หรือไม่เช่นนั้นก็เก็บเกี่ยวไม่ทัน หรือว่าตกหล่น นี่ก็หมดไปแล้วยี่สิบเปอร์เซ็นต์ และตอนขนส่งอีก ขนส่งไปเก็บในโกดังก็ตกหล่นไปอีกมาก จากโกดังเอาไปแปรรูปในโรงงาน ตกหล่นระหว่างทางก็อาจจะน้อย แต่ว่าไปทิ้งเอาตอนแปรรูป ไม่สวยบ้าง ไม่ได้คุณภาพบ้าง ก็ทิ้งอีก หรือว่าพอแปรรูปแล้วมันก็มีตกหล่นระหว่างทาง ก่อนที่จะขนส่งไปที่ห้าง พอไปที่ห้างแล้วก็มีการคัดเลือกกันอีก หรือมิฉะนั้นไม่มีคนซื้อก็ทิ้งอีก พวกขนมปังนี่ทิ้งเยอะ พวกอาหาร ตามห้างสรรพสินค้า Food court นี่ก็ทิ้งเยอะ ทั้งที่เป็นพวกวัตถุดิบที่ยังไม่ได้ปรุง หรือปรุงแล้ว และมาถึงเรานี่ มันก็เหลือแค่หกสิบเปอร์เซ็นต์ หรือว่าอาจจะแค่ห้าสิบเปอร์เซ็นต์ จากที่ผลิตได้ที่แหล่งกำเนิด แล้วเรากินจริงๆ เราอาจจะกินไม่ถึงครึ่ง หรืออาจจะกินแค่หกสิบเปอร์เซ็นต์ ที่เหลือก็ทิ้งอีก แม้แต่ที่นี่ ก็ทิ้งไม่ใช่น้อย เพราะว่ากินไม่หมดในบาตร ถึงแม้ที่นี่จะพยายามเอาไปทำให้เป็นประโยชน์ ไม่ให้เป็นขยะ แต่ว่าที่อื่นทิ้งกันเยอะมาก ก็ประมาณว่าเอาเข้าจริงๆบริโภคแค่สี่สิบห้าเปอร์เซ็นต์ หรือพูดอีกอย่างคือ ตกถึงท้องเราแค่ไม่ถึงครึ่ง ที่เหลือนี่ทิ้ง โดยที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย
เมื่อเรานึกถึงคนที่ยากจน อดอยากหิวโหย ในเมืองไทยก็ดี ตามสลัมก็ดี ในประเทศอย่างแอฟริกาก็ดี พวกนี้คนหิวโหยเกือบพันล้านคน หรืออาจจะมากกว่านั้นนิดหน่อย ไม่มีข้าวกิน แต่ว่า ข้าวจำนวนมากมหาศาลนี่มันทิ้ง เขาคำนวณกันทั่วโลกนี่ อาหารที่ถูกทิ้ง ไม่ได้ใช้ ประมาณสักพันกว่าล้านตัน เลี้ยงคนได้นับพันล้านคนทั้งปี ที่ทิ้งนอกจากไม่ได้ประโยชน์ยังเป็นโทษ คือมันเป็นขยะก่อมลพิษอีก นี่คือเบื้องหลังอาหารที่เรากิน ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้หรอก
เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้ว ก็ให้รู้ค่าของอาหาร กินอย่างรู้ค่า ไม่ใช่ตักเอาๆเสร็จแล้วก็ทิ้งเพราะกินไม่หมด หรือว่ากินตามใจปาก อันไหนไม่อร่อยไม่ถูกปากก็ทิ้ง อันนี้เป็นความสิ้นเปลืองมาก และเราจะได้บริโภคโดยตระหนักว่า การบริโภคของเราจะไม่ก่อปัญหากับสิ่งแวดล้อม แต่ที่สำคัญก็คือว่า เมื่อบริโภคแล้ว เมื่อกินแล้ว ก็พยายามใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการทำความดี ด้วยการทำประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ให้มันคุ้มค่า อย่าไปคิดแต่ค่าเงิน ค่าเงินนี่มันไม่เท่าไหร่ เพราะว่ามันเป็นของสมมติ ที่เขาว่าเงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง เราอาจจะซื้อมาด้วยเงินของเรา แต่ก็ไม่ได้แปลว่า เรามีสิทธิ์ที่จะทิ้งยังไงก็ได้ เพราะมันกลายเป็นภาระของสิ่งแวดล้อม ภาระของสังคมในการจัดการ เพราะมันกลายเป็นขยะ
นี่เฉพาะอาหาร ยังไม่นับน้ำดื่ม น้ำดื่มเบื้องหลังมันก็ไม่น่าเชื่อเหมือนกัน มันใช้น้ำมันมหาศาลมาก ใช้น้ำมันทั้งในแง่ของการผลิตขวด ซึ่งเป็นพลาสติก ใช้น้ำมันในการขนส่ง แต่ก่อนน้ำที่เรากินนี่ ไม่ต้องเปลืองน้ำมันในการขนส่งเลย เพราะว่าเรากินน้ำที่รองได้จากน้ำฝน รองได้จากฝน หรือไม่ก็ใช้น้ำประปา น้ำประปานี่ไหลตามท่อ มันไม่เปลืองน้ำมันอยู่แล้ว หรือบางทีก็ใช้น้ำบาดาล แต่เดี๋ยวนี้ น้ำที่เรากินเก้าสิบเปอร์เซ็นต์หรือจะร้อยทั้งร้อย มันต้องขนส่งมาจากที่อื่น ต้องใช้น้ำมัน กินเสร็จแล้วทิ้ง ก็ต้องใช้น้ำมันในการขนส่งไปกำจัด พอเผาก็เป็นมลพิษ ก่อปัญหากับสิ่งแวดล้อมอีก
ชีวิตของเราแต่ละวันๆ แต่ละขณะๆ มันสร้างภาระให้กับสิ่งแวดล้อมมากทีเดียว มากกว่าสมัยก่อน ชีวิตของเราแต่ละวัน เราอยู่ได้ด้วยทรัพยากร ด้วยชีวิตมากมาย และบางทีก็เป็นทรัพยากรของคนอื่นด้วย อย่างเช่น เนื้อในแฮมเบอร์เกอร์มันก็ได้มาจากป่าในเขตอเมริกาใต้ คนที่นั่นชาวไร่ชาวป่าก็ถูกไล่ ไม่มีป่าอยู่ เพื่อที่จะถางป่ามาเป็นไร่ ก็เดือดร้อนกัน เพราะฉะนั้นถ้าเรามองให้ดี การที่เรามีชีวิตอยู่ในแต่ละวันๆด้วยอาหาร มันเกิดจากความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลของผู้คนต่างๆมากมาย รวมทั้งเกิดจากการผลาญ การทำลายทรัพยากร ทั้งก่อนที่จะมาถึงเราและหลังจากที่เราใช้เสร็จแล้วหรือว่าไม่ใช้แล้วทิ้ง
เมื่อตระหนักเช่นนั้นแล้วก็พยายาม หนึ่ง ก็คือกินอาหารอย่างรู้ค่า รู้จักพอ ไม่ก่อให้เกิดขยะมากมาย สอง คือกินแล้วพยายามใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ อย่าปล่อยให้ชีวิตมันสูญเปล่า หรือว่านำไปสู่การผลาญพรากทรัพยากรอีกมากมาย นี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึง นอกจากการกินอาหารอย่างมีสติแล้ว เดี๋ยวนี้เราก็ต้องมีความรู้ ไปถึงเบื้องหน้าและเบื้องหลังของอาหารและทรัพยากรที่เราใช้ ซึ่งก็จะช่วยทำให้การดำเนินชีวิตของเรา เป็นไปอย่างถูกต้องและเกื้อกูลต่อส่วนรวม และเป็นประโยชน์ต่อตัวเราด้วย สมัยก่อนเราไม่ต้องคำนึงเรื่องพวกนี้มาก เพราะว่าการบริโภคของเรามันไม่ค่อยไปเชื่อมโยงกับอะไรต่ออะไรมากมายเหมือนสมัยนี้ และอีกอย่างคนก็ไม่ได้มากด้วย คนก็แค่พันสองพันล้านคนเมื่อสักห้าสิบปีที่แล้ว ตอนนี้มันเจ็ดพันล้านคนเข้าไปแล้ว และแต่ละคนก็ก่อผลกระทบมากมาย นี้เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงด้วยในระหว่างที่เราบริโภคอาหาร