แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เจริญพร ท่านสาธุชนทั้งหลาย พวกเราคงทราบดีว่า ทุกชีวิตมันมีการเริ่มต้นแล้วก็การสิ้นสุด เมื่อเราเกิดมา เราก็ปรารถนาให้ชีวิตของเรามีความสุข มีความเจริญงอกงาม แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้คิดถึงปลายทางของชีวิตเท่าไหร่ เรามักคิดถึงแต่จุดหมายชีวิต แล้วเราก็พยายามที่จะดิ้นรนขวนขวายไต่เต้าให้ถึงจุดหมาย ซึ่งมักจะวางไว้สูง ทั้งชีวิตเราใช้ไปเพื่อการบรรลุถึงจุดหมายชีวิต แต่น้อยคนที่จะระลึกถึงปลายทางชีวิต จุดหมายชีวิตเราอาจจะไปไม่ถึง สำหรับคนจำนวนไม่น้อย เพราะตั้งไว้สูงเกินไป แต่ปลายทางชีวิตนี่เราทุกคนต้องเจอ แต่คราวนี้ ถ้าเกิดว่าเราได้ตระหนักถึงความจริงของชีวิตว่า ชีวิตนี่มันไม่ได้มีแค่จุดหมาย แต่มันมีปลายทางด้วย และเมื่อถึงเวลาที่เรามาถึงปลายทางชีวิต เรามีความพร้อม เราก็สามารถจะเผชิญกับปลายทางของชีวิตได้ด้วยใจที่สงบ อาตมาคิดว่าคนเรา ไม่ว่าจะร่ำรวย ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จในการงาน หรือว่ามีปริญญากี่ใบก็แล้วแต่ ช่วงสำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิต ก็คือช่วงที่ลมหายใจสุดท้าย มันกำลังจะสิ้นสุด
ขณะที่เรามีชีวิตอยู่ เราก็อยู่อย่างมีคุณค่า และเมื่อถึงเวลาที่เราจะตาย ก็ควรจะตายอย่างสงบ ไม่ว่าก่อนที่เราจะตายนั้นจะมีอะไรเกิดขึ้นกับเรา เช่น ความเจ็บความป่วย ซึ่งคนส่วนใหญ่จะต้องเจอกับความเจ็บความป่วยอยู่แล้วก่อนที่จะสิ้นลม คือไม่ได้ตายแบบปุบปับ ไม่ได้ตายเพราะอุบัติเหตุ ไม่ได้ตายเพราะเครื่องบินตก แผ่นดินไหว ภัยธรรมชาติ ซึ่งมันเกิดแบบไม่ทันตั้งตัว เก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของคนส่วนใหญ่ต้องเจ็บป่วย แล้วเดี๋ยวนี้ก็จะต้องเป็นความเจ็บป่วยที่ยืดเยื้อก่อนที่จะสิ้นลม ทีนี้เมื่อเรารู้แน่ว่าเราจะต้องตาย อาจจะต้องนึกถึงการตายดี ไม่ใช่แค่อยู่ดีเท่านั้น ตายดีในทางพุทธศาสนาก็คือตายอย่างสงบ ตายด้วยจิตใจที่มีสติ ไม่ทุรนทุราย
และพวกเราซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วย อาตมาคิดว่าเป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง นอกจากการช่วยทำให้เขาอยู่รอดกลับมาเป็นปกติสุขแล้ว สำหรับกรณีที่เขาอยู่ในอาการหนัก สุดวิสัยที่เราจะช่วยให้เขาอยู่รอดได้ ก็ควรจะช่วยให้เขาจากไปอย่างสงบ อย่าไปคิดว่าความตายของคนไข้ที่เราดูแล มันคือความพ่ายแพ้ในทางวิชาชีพ ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่มีความคิดแบบนี้ว่า ถ้าคนไข้ตายในมือเรา แสดงว่าเราล้มเหลวในทางวิชาชีพ อาตมาคิดว่าสิ่งสำคัญคือว่า หากว่าเขาจะต้องตาย เพราะว่าโรคภัยไข้เจ็บของเขามันเกินแก่การเยียวยารักษา การช่วยให้เขาไปอย่างสงบเป็นหน้าที่ของเรา และถ้าหากว่าเขาไปอย่างสงบได้ ก็ต้องถือว่าเป็นความสำเร็จในทางวิชาชีพด้วย ไม่ว่าจะเป็นหมอ พยาบาล และเมื่อถึงคราวที่เราจะต้องจากโลกนี้ไป ก่อนที่ลมหายใจสุดท้ายมันจะดับไป เราก็ควรที่จะมีความพร้อม สามารถจะทำให้จิตใจของเรา พบกับความสงบได้ ก่อนลมหายใจสุดท้ายนี้จะดับไป
ความสงบก่อนตาย หรือการตายอย่างสงบ มีค่ามาก ในยามที่เราสุขสบายดี เราอาจจะไม่ได้นึกว่ามีความสำคัญอย่างไร แต่ในยามที่เราเจ็บป่วยและเราเจ็บป่วยด้วยโรคร้าย ถึงตอนนั้น อาตมาเชื่อว่า ส่วนใหญ่เลย การตายอย่างสงบไม่ทุรนทุราย ก็คือจุดหมายสูงสุด สิ่งที่มีค่าสูงสุดสำหรับเขา แต่การตายอย่างสงบ มันไม่มีเงินไม่มีทรัพย์สมบัติ ที่จะซื้อได้ มีเงินมหาศาลเท่าไหร่ก็ซื้อไม่ได้ มีความรู้มากมาย ปริญญาหลายใบก็ไม่สามารถจะเป็นหลักประกัน ว่าเราจะตายอย่างสงบได้ มีอำนาจ มีบริษัทบริวารมากแค่ไหน ก็ไม่ได้ช่วยให้ตายสงบได้เลย เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะตายสงบ สิ่งสำคัญก็คือคุณภาพของใจ ซึ่งก็สัมพันธ์กับการใช้ชีวิต ก่อนที่จะเจ็บป่วย ก่อนที่จะมาถึงวาระสุดท้าย
อะไรทำให้การตายอย่างสงบเกิดขึ้นได้ยาก สำหรับคนจำนวนมาก มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับสาเหตุความเจ็บป่วย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสาเหตุการตาย มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าตายที่ไหน มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าก่อนตายมีใครแวดล้อมบ้าง แต่มันขึ้นอยู่กับ ใจ คุณภาพของใจ อะไรทำให้การตายอย่างสงบเกิดขึ้นได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้ ประการแรกก็คือ ความกลัว ประการที่สอง ความโกรธ ประการที่สาม ความห่วงหาอาลัย ประการที่สี่ ความรู้สึกผิด สี่ประการนี่เป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยตายไม่สงบ ก่อนตายก็ทุรนทุราย แม้ว่าจะอยู่ในโรงพยาบาลที่มีเทคโนโลยีเพียบพร้อม เครื่องเครามากมาย แม้จะอัดยาระงับปวดเข้าไปให้กับคนไข้จนเต็มโดส แต่ตราบใดที่ยังมีความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้น ตายสงบได้ยาก
เราจะพบว่าคนไข้จำนวนไม่น้อยเขามีอาการทุรนทุราย ทั้งๆที่เราก็ให้ยาระงับปวดเข้าไปเต็มที่แล้ว แต่เขาก็ยังมีอาการกระสับกระส่าย บางทีเขาหยุด สงบได้สักสิบห้านาทีแล้วเขาก็กระสับกระส่ายใหม่ นั่นอาจจะไม่ใช่เพราะเขาปวด แต่เป็นเพราะเขามีอะไร ที่ค้างคาใจ หลายคนทั้งๆที่เขาร่างกายไม่ไหวแล้ว ร่างกายเขาพร้อมจะแตกดับเต็มที่แล้ว แต่เขาไม่ยอมตาย ตาเขาค้างเบิกกว้าง ทั้งที่หมอดูอาการทางกายภาพแล้ว เขาไม่น่าจะอยู่ได้ หัวใจ ตับ ปอด ความดันมันแย่หมดแล้ว แต่ทำไมตาเขาค้าง เขาไม่ยอมตาย เขามีอะไรบางอย่างที่ยังไม่ได้ทำ เช่น เขาอาจจะมีความรู้สึกผิด เขาอยากจะขอโทษใครบางคน แล้วเขาจะไม่ยอมตายจนกว่าเขาจะได้ขอโทษ บางคนตายแล้วตาค้าง ปิดเท่าไหร่ก็ไม่สนิทและก่อนตายเขาก็มีอาการทุรนทุราย เพราะอะไร เพราะเขาอาจจะยังห่วงลูก ห่วงภรรยา ห่วงสามี บางคนก็มีอาการกระสับกระส่าย ทั้งๆที่ก็ให้การเยียวยาเต็มที่ บางทีก็อาจจะเปิดเทปธรรมะ เปิดเทปพระสวดมนต์ให้ฟังด้วยซ้ำ เพราะคนป่วยเขาเป็นคนธรรมะธรรมโม แต่เขาก็ยังไม่หยุดกระสับกระส่าย เพราะอะไร เพราะเขาอาจจะยังห่วงงาน ยังมีงานบางอย่างที่คาอยู่
อย่างมีคุณลุงคนหนึ่ง ซึ่งแกเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ ชอบพาคนไปทอดผ้าป่า ทอดกฐินเพื่อสร้างโบสถ์สร้างวิหารตามวัดในชนบทที่ไกลๆ แกทำอย่างนี้มา ๑๐ ปี แล้ววันหนึ่งก็ตรวจเป็นมะเร็ง แล้วมะเร็งก็ลุกลามเร็วมาก ระยะท้ายก็มีอาการกระสับกระส่าย ลูกหลานเห็นว่าพ่อเป็นคนธรรมะธรรมโม คิดว่าถ้าให้ฟังเทปธรรมะพระสวดมนต์จะสงบ แต่ทำแล้วก็ไม่สงบ แปลกใจว่าเกิดอะไรขึ้น จนกระทั่งเพื่อนสนิทมาถึง พอรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้ป่วย ก็ไปกระซิบที่ข้างหูว่า โบสถ์ที่ยังสร้างไม่เสร็จไม่ต้องห่วง พวกเราจะช่วยกันสร้างให้เสร็จ พูดเท่านี้แกสงบเลย แปลว่าอะไร แปลว่าสิ่งที่ได้ยินมันไปกระทบใจ มันทำให้เจ้าตัวรู้สึกผ่อนคลาย เหมือนกับยกภูเขาออกจากอก เพราะว่าอาจจะเคยลั่นวาจาไว้ว่าถ้ายังสร้างโบสถ์ไม่เสร็จตายไม่ได้ ทีนี้พอจะตายขึ้นมามันมีอาการต่อสู้ขัดขืน ห่วงโบสถ์ยังสร้างไม่เสร็จ พอมีเพื่อนพูดแบบนี้เข้า เหมือนกับว่าใจสบาย โล่งอก แล้วก็ตายสงบ
บางคนก็อาจจะมีอาการเหวี่ยงวีนกับหมอ กับพยาบาล ไม่ว่าพยาบาลหรือหมอจะพูดอย่างไร แกก็ก้าวร้าวใส่พยาบาล กับหมอ อาจเป็นเพราะว่าแกรู้สึกโกรธ โกรธชะตากรรม โกรธอะไรหลายต่อหลายอย่าง เพราะว่าแกเป็นคนที่ดูแลสุขภาพดี ออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารสุขภาพ สไปรูลิน่า โคคิวเท็น อะไรที่เขาว่าดี ต่อต้านแอนตี้ออกซิแดนท์ แกก็ไปซื้อมา ราคาแพงแค่ไหนแกก็ไป อาหารกินอาหารสุขภาพออร์แกนิค อาหารชีวจิต แกก็ไปหามา ไปทำมา สแกนร่างกาย ตรวจสุขภาพเป็นประจำ ดูแลสุขภาพอย่างดีปรากฏว่าเป็นมะเร็ง แค้นมากโกรธมาก เหมือนกับถูกหักหลังหรือว่าถูกโกง โกหก คนสูบบุหรี่กินเหล้ามันไม่เป็นแต่กูเป็น โกรธมากเลย ในใจรู้สึกว่ามันไม่แฟร์ มันไม่เป็นธรรม อย่างนี้ก็ตายไม่สงบ
บางคนก็มีอาการกระสับกระส่าย ทั้งที่หมอบอกว่าโคม่าแล้ว สมองตาย แต่เวลาแม่มาทีไร แม่มาเยี่ยมทีไรก็จะมีน้ำตาไหล แล้วก็อาการทางกายก็ไม่ค่อยดี กระตุกๆ เมื่อวิเคราะห์สืบสาวก็พบว่า เขาเคยรับปากแม่ว่า ถ้าจบปริญญาโทแล้ว จะช่วยดูแลน้อง หาเงินมาส่งเสียน้อง แต่นี่จบมาได้ไม่กี่เดือนไปเกิดอุบัติเหตุรถชนต้นไม้ สมองตาย เวลาแม่มาเยี่ยมก็จะร้องไห้ คนอื่นไม่ร้อง คนอื่นมาเยี่ยมนี่ไม่ร้อง พอแม่บอกลูกว่า แม่จะดูแลค่าเล่าเรียนของน้องให้ ลูกไม่ต้องห่วง น้ำตาก็หยุดไหล แล้วไม่นานไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้นก็จากไป เรื่องนี้มันเป็นตัวอย่างว่า การที่คนเราตายไม่สงบ มันเป็นเพราะมีอารมณ์อกุศลเกิดขึ้น ความกลัว ความโกรธ ความห่วงหาอาลัย ความรู้สึกผิด ความเจ็บปวดก็มีส่วนเหมือนกัน เพราะความเจ็บปวดมันก็สามารถทำให้คนไข้ทุรนทุรายได้ โดยเฉพาะเมื่อความเจ็บปวดนั้น ยาระงับปวดเอาไม่อยู่ เช่น มอร์ฟีน แล้วก็คงเห็นบ่อยที่คนไข้ที่เขาร่ำร้องขอยา ทั้งที่ก็ให้เขาไปเต็มโดสแล้ว แต่อย่างที่อาตมาบอก คือจำนวนไม่น้อยที่แม้จะให้ยาเข้าไปเต็มที่ เขาก็มีอาการทุรนทุราย เขาก็มีอาการกระสับกระส่าย มีอาการเหวี่ยงวีน เพราะมีปัญหาในใจ ฉะนั้นถ้าจะทำให้ผู้ป่วยตายสงบ หรือถ้าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราเอง ถ้าจะตายสงบได้ มันก็ต้องมีวิธีจัดการกับอารมณ์เหล่านี้
พระพุทธองค์ ท่านได้ทรงมีโอกาสนำทางผู้ใกล้ตายหลายคน และก็มีเรื่องราวบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก และวิธีการหนึ่งที่พระองค์ใช้บ่อย ก็คือการน้อมใจผู้ป่วยให้ระลึกถึงพระรัตนตรัย ซึ่งความหมายคือปลูกศรัทธาให้มีขึ้น คนที่พระองค์ไปนำทางก็เป็นผู้มีศรัทธาในพระรัตนตรัย พระองค์ก็ปลูกศรัทธาให้หรือน้อมใจให้ศรัทธานี้บังเกิดขึ้น รวมถึงให้ระลึกถึงความดีที่ได้ทำ แล้วนำจิตให้ปล่อยวาง ปล่อยวางทรัพย์สมบัติ ปล่อยวางคนรัก ต้องเรียกว่าปล่อยวางทุกอย่าง แม้กระทั่งสุคติภพที่รออยู่ข้างหน้า จะไปไหน ไปที่ไหน ก็ไม่ต้องไปกังวลหรือพะวง เรื่องนี้สามารถนำมาเป็นแนวทาง ในการที่จะช่วยให้เราเองหรือคนที่เรารัก เขาจากไปอย่างสงบได้ ก็คือ เมื่อจะตาย เรานึกถึงความดีที่เราได้ทำ รวมทั้งนึกถึงสิ่งที่เราศรัทธานับถือ มันจะช่วยระงับอารมณ์อกุศลที่เกิดขึ้นในใจได้ เช่น กลัว หลายคนมีความกลัว กลัวว่าจะไปอบาย หรือว่ากลัวว่าจะไปตกนรก หลายคนกลัวตายเพราะกลัวว่าจะไปอบาย หรืออาจจะกลัวอะไรต่างๆที่จะมาพร้อมกับความตาย เช่น ความเจ็บปวด แต่เวลาเรานึกถึงความดี นึกถึงสิ่งที่เราศรัทธา มันก็ช่วยทำให้อารมณ์อกุศลเหล่านั้น มันคลี่คลายจางคลายไปได้ และมันยังช่วยทำให้ความเจ็บความปวด ที่มันรบกวนรังควาน มันเบาบางไปได้
มีคุณยายคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ในระยะท้าย ก็เป็นมะเร็งแล้วแกก็บ่นว่าปวดมาก แกก็ร้องครวญว่าปวด พยาบาลมาถึง แทนที่พยาบาลจะถามคนไข้ว่า ยายปวดกี่คะแนน pain score ๐-๑๐ นี่ยายปวดเท่าไหร่ แกก็ถามยายว่า ยาย ชีวิตนี้ทำอะไรแล้วมีความสุขมากที่สุด ถามเรื่องความสุข ยายตอบทันทีเลย หล่อพระ พยาบาลก็ถามว่า ยายจำได้ไหม ว่าวันนั้น ยายใส่เสื้อสีอะไร นุ่งผ้าสีอะไร เหตุการณ์เกิดขึ้นมาสิบ กว่าปีแล้ว แต่ยายจำได้แม่น เพราะคนอีสาน หล่อพระเป็นเรื่องที่ภาคภูมิใจ เป็นมหาปีติ เพราะเป็นการทำบุญที่มีอานิสงค์มาก มีความเชื่อแบบนั้น ยายก็เล่าถึงเหตุการณ์วันที่ได้ไปหล่อพระ พยาบาลก็ชวนคุยเรื่องหล่อพระ คุยประมาณสิบยี่สิบนาที จู่ๆแกก็พูดขึ้นมาว่า หมอ แกเรียกพยาบาลว่าหมอ แปลกนะมันหายปวดไปเยอะเลย ความปวดมันหายเพราะอะไร เพราะว่าใจนี่ไปนึกถึงสิ่งที่ตัวเองศรัทธา นึกถึงการหล่อพระ ในด้านหนึ่งหายปวดเพราะว่าลืมปวด ความปวดมันยังมีอยู่ แต่ว่าใจมันไม่ไปรับรู้ บางครั้งบางคราว เราโดนยุงกัดแต่เราไม่รับรู้ว่ายุงกัด เพราะใจเราอาจกำลังจะเล่นไลน์อยู่ เรากำลังจดจ่ออยู่กับไลน์ โซเชียลมีเดีย เราก็เลยไม่รู้สึกปวด นี้เราเรียกว่าลืมปวด เพราะว่าใจเรามันไปจดจ่ออยู่กับบางสิ่งบางอย่าง ในกรณีนี้ยายก็ไปจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ตัวเองศรัทธา ประการที่สองคือว่าเมื่อเราศรัทธากับอะไรก็ตาม จิตใจมันจะเป็นกุศลและทำให้เกิดสุขตามมา
พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อมีศรัทธาย่อมทำให้เกิดปราโมทย์ คือความเบิกบานใจ ปราโมทย์ทำให้เกิดปีติ คือความอิ่มเอิบใจ นำไปสู่ปัสสัทธิ คือความผ่อนคลายกายและใจ และทำให้เกิดสุข ศรัทธากับสุข มันใกล้กันมาก พอคุณยายแกนึกถึงสิ่งที่ตัวเองศรัทธา แกก็มีความสุข มันไม่ใช่แค่ความสุขใจ มันไม่ใช่แค่ใจที่รู้สึกว่าปวดน้อยลงเท่านั้น ในทางวิทยาศาสตร์พบว่าเวลาคนเรามีสมาธิหรือมีปีติ มันจะมีสารบางตัวหลั่งออกมา เขาเรียกว่า neurotransmitter สารสื่อประสาท ที่ทำให้ความปวดมันทุเลาเบาบาง สารสื่อประสาทนี่อาจจะได้แก่พวก เซโรโทนีน โดปามีน เอ็นโดรฟิน ก็แล้วแต่ ซึ่งมันสามารถจะไประงับสัญญาณความเจ็บปวด ที่มันส่งออกมากับอวัยวะที่เจ็บปวดได้ ก็ทำให้ความปวดทุเลาลงเพราะฉะนั้นการระลึกถึงบุญกุศล ระลึกถึงความดีที่เราได้ทำ ระลึกถึงสิ่งที่เราศรัทธา มันช่วยทำให้ใจสงบได้ โดยทำให้ใจเป็นกุศล ทำให้ความเจ็บปวดทุเลาลง
ประการต่อมาคือ การปล่อยวาง การปล่อยวางพื้นฐานเลย คือการปล่อยวางคนรัก จะเป็นลูก จะเป็นพ่อแม่ จะเป็นหลานก็ตาม ซึ่งการปล่อยวาง ที่จริงก็สัมพันธ์กับการที่เราให้เวลากับเขาแค่ไหน ถ้าเราให้เวลากับเขาอย่างดีในขณะที่เรามีสุขภาพดี เราจะปล่อยวางเขาได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นลูก ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นคนรัก เพราะเรามั่นใจว่า ถึงแม้เราไม่อยู่ เขาก็จะเอาตัวรอดได้ หรือเขาก็จะสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข หรือมีคนดูแลสืบต่อจากเรา แต่ว่าสำหรับสมัยนี้ การปล่อยวางเป็นเรื่องยากเพราะว่าเราไปสร้างนิสัย สะสมนิสัยยึดติด ยึดติดลูก ยึดติดหลาน ยึดติดคนรัก แล้วก็รวมทั้งยึดติดทรัพย์สมบัติด้วย แต่เรื่องนี้เป็นโจทย์สำคัญว่า ถ้าหากว่าเรายังใช้ชีวิตแบบติดยึด ถึงเวลาตาย ถึงเวลาเจ็บป่วยจะปล่อยวางยาก ต้องเรียนรู้ที่จะปล่อยวางเสียแต่เดี๋ยวนี้ ปล่อยวางในที่นี้ ไม่ได้แปลว่าปล่อยปละละเลย มันปล่อยวางที่ใจ ความรับผิดชอบยังทำอยู่และยิ่งเรารับผิดชอบ ใส่ใจ ดูแลเขามากเท่าไหร่ เราจะปล่อยวางเขาได้ง่าย
ลูกหลานที่ดูแลพ่อแม่ในยามที่เจ็บป่วย และถึงเวลาที่พ่อแม่อยู่ในระยะท้าย ลูกหลานหลายคนเลือกที่จะไม่ยื้อพ่อแม่ เพราะรู้ว่าการยื้อพ่อแม่ มันเป็นการสร้างความทรมาน หลายคนทำใจได้ที่จะให้แม่จากไปอย่างสงบ แต่จะมีลูกหลายคนที่ปล่อยวางไม่ได้ เรียกร้องให้ยื้อแม่ เจาะคอ ใส่ท่อ ปั๊มหัวใจ บอกหมอทำทุกอย่างเลย ส่วนใหญ่เป็นลูกที่ไม่ค่อยมีเวลาดูแลพ่อแม่ แล้วก็ไม่มีเวลามาเยี่ยมพ่อแม่ คนเหล่านี้ จะมีอาการที่ทางวงการแพทย์เรียกว่า กตัญญูเฉียบพลัน เขาจะยื้อเพราะเขาทำใจไม่ได้เนื่องจากเขาไม่เคยได้ใส่ใจ ไม่ค่อยได้ดูแล ส่วนคนที่ดูแลพ่อแม่มาอย่างดี จะปล่อยวางได้ง่ายเพราะเขาได้ทำเต็มที่แล้ว และเขาก็รู้ว่าถ้าไปยื้อ ถ้าไม่ปล่อยวาง ถ้าไปยื้อ แม่จะทรมาน พ่อจะทรมาน ฉันใดฉันนั้นคนที่กำลังจะตาย ถ้าเขาให้เวลากับคนที่เขารักในขณะที่เขามีสุขภาพดี ถึงเวลาปล่อยวาง เขากำลังจะตาย เขาจะปล่อยวางได้ง่าย ทรัพย์สมบัติก็เหมือนกัน ถ้าไม่ปล่อยวางมันก็จะทำให้ตายไม่สงบ
มีคนไข้คนหนึ่ง เป็นคุณยาย หมอก็เห็นว่ากำลังจะตายแล้ว อยู่ในระยะท้าย ก็พยายามบอก พยายามแนะให้คนไข้ปล่อยวาง ทีแรกก็บอกปล่อยวางเรื่องลูก ปล่อยวางเรื่องหลาน ปล่อยวางเรื่องสามี เธอก็ฟังนะ แต่พอบอกปล่อยวางเรื่องทรัพย์นี่มีอาการฮึดฮัดขึ้นมาเลย ฮึดฮัดขึ้นมาเลย เหมือนกับว่ายังยอมรับไม่ได้ วันรุ่งขึ้น อาตมาจะไปเยี่ยมคุณยายคนนี้ ปรากฏว่ามีเพื่อนบ้าน จะเรียกว่ากระหืดกระหอบมาที่โรงพยาบาลก็ได้ มาหาคุณยาย มาทำไม แกบอกว่าคุณยายไปทวงเงิน ยืมเงินมาเป็นสิบปีแล้วไม่คืนสักที คุณยายไปทวงเงิน ตัวอยู่โรงพยาบาล แต่ใจมันไปทวง เลยต้องรีบมา รีบมาเพื่อที่จะบอกคุณยายว่าเดี๋ยวจะคืนเงินให้ อย่างนี้ถ้าไม่ปล่อยวางก็ตายไม่สงบ ขนาดแกยังไม่ตายก็ห่วงเงินแล้ว นึกเสียดายเงินที่ให้เพื่อนบ้านยืมไป มันมีนะประเภทที่ตัวอยู่โรงพยาบาลแต่ใจนี่ไปแล้ว ใจไปหา ไปทวง ไปทวงเงิน
แต่นอกจากการปล่อยวางเรื่องลูกหลาน เรื่องทรัพย์สมบัติแล้ว งานการก็สำคัญ ตัวอย่างที่อาตมาพูด มีงานการ รักงานการ หวง ปล่อยวางไม่ได้ ก็ต้องปล่อย เพราะถ้าไม่ปล่อย แม้งานนั้นจะเป็นงานที่ดี เป็นบุญกุศล มันก็สามารถจะมาทำร้ายจิตใจเราได้ บุญกุศลหรือการทำความดีเป็นของดี แต่เมื่อถึงเวลาต้องปล่อยวาง ถ้าไม่ปล่อย มันจะกลับมาเล่นงานเรา ความดีหรือบุญกุศลที่ยึดเอาไว้ มันก็สามารถจะมาทำร้ายจิตใจเราได้ ขึ้นชื่อว่าการยึดติดนั้น ไม่ว่าจะยึดอะไรก็ตามมันสามารถที่จะเป็นโทษได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะเวลาตาย
ในทางพระพุทธศาสนา มีตัวอย่างเยอะว่า คนที่เวลาก่อนจะตาย แกยังยึดติดถือมั่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูป ทรัพย์สมบัติ เวลาตายก็ไปไม่ดี ตายแล้วก็ไปอบาย แต่ทีนี้อาตมาคิดว่าการปล่อยวางนั้น จริงๆแล้ว ถ้าคิดจะไปอย่างสงบมันมีมากกว่านั้น หลายคนสิ่งที่จำเป็นต้องปล่อยวาง คือปล่อยวางเสียงบ่นในใจ เสียงร่ำร้องในใจว่ามันไม่แฟร์ มันไม่ยุติธรรม หลายคนก็รู้สึกว่า ที่ฉันป่วย ที่ฉันเป็นมะเร็ง มันไม่แฟร์ไม่ยุติธรรม ทำไมต้องเป็นฉัน ฉันอุตส่าห์ดูแลร่างกายดี ฉันอุตส่าห์ทำบุญมามากมาย ทำไมฉันต้องมาเป็นมะเร็ง ไม่ยุติธรรมเลย ฉันอุตส่าห์ลำบากมา ตั้งแต่เล็กจนโต ตั้งแต่เล็กจนแก่ ถึงเวลาที่จะสบายแล้วเพราะว่าลูกก็โตแล้ว ลูกก็ทำงานได้ มีเงินเดือนดี ได้เวลาที่จะพักผ่อน ได้เวลาที่จะสุขสบายแล้ว ทำไมต้องมาเป็นมะเร็ง มันไม่ยุติธรรม มันไม่แฟร์เลย ความคิดนี้มันซ้ำเติมคนป่วยจำนวนมาก ซึ่งทำให้มีอาการโกรธ มีอาการเหวี่ยง มีอาการวีน แทนที่จะป่วยแต่กาย ก็ป่วยใจด้วย ถ้าไม่สามารถปล่อยวางความคิดแบบนี้ได้ ไม่สามารถปล่อยวางเสียงบ่นอยู่ในหัวได้ มันก็ตายไม่สงบ มีตัวอย่างมากมายที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือไม่แฟร์จนกระทั่งตาย ต้องยอมรับ ต้องยอมรับความจริง
มีผู้ป่วยคนหนึ่ง เธอชื่อกัน อายุ ๓๐ต้นๆ เธอเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งมักจะเป็นกับคนแก่ หมอทีแรกก็ไม่เชื่อว่าเธอเป็นมะเร็งชนิดนี้ ตอนที่เธอเป็น เธอเหวี่ยงเธอวีนมาก ทำไมต้องเป็นฉัน เกิดกับฉันได้ยังไง ทำไมคนกินเหล้าสูบบุหรี่ไม่เป็น แต่ว่าหลังจากที่เธอได้มาปฏิบัติธรรม ได้กลับมาดูจิตดูใจ ใจเธอสงบ ทั้งๆที่โรคลุกลามไปมากแล้ว เธอพูดไว้หนึ่งหรือสองประโยคที่น่าสนใจมาก เธอบอกว่า ในขณะที่เราคิดว่าความจริงมันโหดร้าย แต่การไม่ยอมรับความจริงต่างหากที่โหดร้ายกว่า เพราะมันคือคุกที่ขังใจเราเอาไว้ คำพูดนี้เธอสรุปมาจากประสบการณ์ของตัวเองว่า เมื่อตราบใดที่เธอไม่ยอมรับความจริง เอาแต่บ่นโวยวาย ตีโพยตีพาย คร่ำครวญ เธอจะไม่มีวันพบความสงบสุขในใจเลย แต่พอเธอทำใจได้ ยอมรับได้ว่านี่คือความจริง ความทุกข์ใจมันหายไป คุกที่มันขังใจไว้ก็หายไป จิตใจเธอเป็นอิสระ แม้ว่ากายจะย่ำแย่ลงไปทุกที แต่ใจ สงบ สงบขึ้นไปเรื่อยๆ
นอกจาก ปล่อยวางเสียงบ่นโวยวาย ตีโพยตีพายในหัวแล้ว การปล่อยวางอารมณ์ที่เป็นอกุศลอย่างอื่นก็สำคัญ ปล่อยวางความโกรธ ปล่อยวางความรู้สึกผิด โกรธ อาจจะโกรธชะตากรรม หรือโกรธคนรอบข้าง โกรธที่เขาไม่มาดูแล ไม่มาเอาใจใส่เรา หรือจะอาจโกรธคนที่เราเชื่อว่าเขาทำให้เราป่วย อาจจะเป็นสามี อาจจะเป็นเพื่อนร่วมงาน คนเราเวลาป่วยเราก็อดไม่ได้ที่จะหาเหตุ และมักจะโทษคนนั้นคนนี้ ตราบใดที่เรายังมีความโกรธอยู่ มันก็ทำให้ไม่สงบ และยิ่งทำให้เจ็บปวดมากขึ้น ความเจ็บปวดหลายอย่าง หลายครั้งเกิดจากความโกรธ
มีพี่อยู่คนหนึ่ง แกเป็นมะเร็งเต้านม แล้วหลังจากที่ผ่านการฉายแสง ผ่านการฉีดคีโมครบโดสแล้ว แกก็ยังบ่นว่าปวด ปวดมากๆเลย แต่หมอและพยาบาลสังเกตเวลาเธอเดินเหินเหมือนคนปกติ วันหนึ่งพยาบาลก็เลยลากเก้าอี้มาแล้วคุยกับเธอ แต่ส่วนใหญ่เธอเป็นคนคุย เธอคุยอยู่นานเป็นชั่วโมง และสิ่งที่เธอคุยมันก็วนเวียนอยู่กับเรื่องของสามีและลูกชาย เธอพูดถึงสองคนนี้ด้วยความโกรธ ด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะว่าไม่มาอินังขังขอบเธอ ไม่มาสนใจแยแสเธอ พยาบาลก็ดี พยาบาลฟัง ฟังด้วยความใส่ใจ ไม่สอด ไม่แทรก ไม่สอน ฟังด้วยความใส่ใจจริงๆ ปรากฏว่าพอพูดจบ คนไข้รู้สึกเลยว่าความปวดมันหายไปมาก แสดงว่าอะไร แสดงว่าความปวดก้อนใหญ่ก้อนหนึ่ง มันเกิดจากความโกรธ โกรธสามีและโกรธลูกชาย แต่พอพยาบาลได้นั่งฟังและแกได้ระบาย ความปวดมันก็ทุเลาลง นี่เป็นการปล่อยวางโดยไม่รู้ตัว ปล่อยวางเพราะมันมีตัวช่วย แต่เชื่อเลยนะว่าความโกรธมันทำให้เกิดความเจ็บปวดได้มาก มันไม่ใช่ปวดแค่ใจ มันปวดกายด้วย แต่ว่า ถ้าเราไม่มีใครช่วย ไม่มีใครจะมานั่งฟังเรา อาตมาคิดว่า การให้อภัย การให้อภัยการแผ่เมตตาให้เขา จะช่วย เมื่อจะตายแล้ว จำเป็นมากเลยที่เราจะต้องให้อภัย เพราะฉะนั้น ธรรมเนียมการขออโหสิก่อนตาย มันมีประโยชน์ แต่แน่นอนถ้ามีเจ้าตัวที่เกี่ยวข้อง มาขอโทษขอโพยยิ่งดีเข้าไปใหญ่ แต่เราจะไปหวังให้ใครจะมาทำอย่างนั้นก็อาจจะไม่ได้ เราก็ต้องรู้จักแก้ปัญหาของเราเอง ถ้าเกิดว่าเราเป็นผู้ป่วยและอยู่ในภาวะเช่นนั้น ให้อภัย และถ้ารู้สึกผิดก็ขอขมา
คนเรามีความรู้สึกผิด ด้วยสาเหตุหลายประการ เช่นอาจจะเคยทำไม่ดีกับใครบางคน อย่างเช่น คนไข้ที่อาตมาพูด ที่ตาค้าง ทั้งๆที่อวัยวะต่างๆแย่หมดแล้ว เธอเป็นมะเร็งปอด พอรุ่นน้องมาเยี่ยม เธอก็รวบรวมกำลัง เธอเป็นมะเร็งปอด พูดยากมาก แต่เธอก็รวบรวมกำลังแล้วก็เอ่ยปากขอโทษ ขอโทษเพราะว่าเธอรู้สึกผิดที่ทำไม่ดีกับพยาบาลรุ่นน้องคนนั้น เพราะเข้าใจว่าเธอเป็นกิ๊กกับสามี แต่ตอนนี้เข้าใจความจริงแล้ว ยังรู้สึกผิด ยังตายไม่ได้จนกว่าจะได้ขอโทษ พยาบาลคนนั้นก็บอกว่า หนูเข้าใจพี่ หนูไม่โกรธไม่ถือโทษโกรธเคืองพี่เลย หนูเข้าใจพี่ เธอได้ฟังเช่นนี้เธอก็สบายใจ เหมือนยกภูเขาออกจากอก ได้กล่าวคำขอขมาเสร็จเธอก็หลับตา แล้วไม่กี่ชั่วโมงเธอก็ไป ก็คิดว่าเธอไปสงบ สงบเพราะอะไร เพราะว่าได้ปล่อยวางความรู้สึกผิดที่ทำไม่ดี
ความรู้สึกผิด บางอย่างเกิดจากการที่ไม่ได้ทำตามที่สัญญา เรื่องนี้ได้พูดไปแล้วเมื่อสักครู่ ตัวอย่าง รับปากใครไว้แล้วไม่ได้ทำ มันก็รู้สึกผิด อาจจะรู้สึกผิดที่ว่าตัวเองเป็นภาระของคนดูแล มีผู้ชายคนหนึ่ง แกเป็นเส้นเลือดในสมองแตก เป็นอัมพาต ตลอดเวลาที่เจ็บป่วย แกจะมีอาการหงุดหงิดมากโดยเฉพาะกับภรรยา ก็ไม่เข้าใจเป็นอะไร จนกระทั่งพอได้มีการพูดคุยกันระหว่างพยาบาลกับคนไข้ ก็เลยรู้ว่า แกรู้สึกผิด รู้สึกแย่กับตัวเอง ที่ภรรยาเคยแนะนำเคยตักเตือนแล้ว เรื่องการกินอาหาร อย่ากินอาหารที่มีไขมัน มีน้ำตาลเยอะ อย่ากินอาหารที่เป็นเนื้อ จนกระทั่งร่างกายแกก็อ้วนขึ้นๆ แกก็ไม่สนใจ ถึงเวลาตัวเองเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ก็กลายเป็นภาระ เป็นภาระของภรรยา เป็นภาระของใครต่อใคร รู้สึกผิดว่าตัวเองทำตัวเอง จนกลายเป็นภาระ เวลาเห็นหน้าภรรยาก็รู้สึกแย่ และความแย่มันก็ระบายออกมาเป็นความโกรธ คนเราพอมีความทุกข์อยู่ข้างใน มันก็แปรสภาพเป็นความโกรธได้ง่าย แต่พอภรรยาพอรู้ว่าอะไรคือปมของสามี ก็พยายามพูดจนกระทั่งสามียอมรับได้ว่า การเจ็บป่วยของเขามันไม่ได้เป็นภาระกับภรรยาเลย ภรรยาพอใจที่ได้ดูแล เขาก็รู้สึกดีขึ้น ความสัมพันธ์ของสองคนนั้นก็ค่อยๆคลี่คลาย แล้วก็ทำให้ความเจ็บป่วย ไม่ได้เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานทางจิตใจเหมือนแต่ก่อน นี่คือสิ่งที่ต้องปล่อยวาง การรู้สึกผิด
ปล่อยวางอีกอย่างหนึ่ง คือ ปล่อยวางความคาดหวัง หลายคนไม่ได้กลัวตาย แต่ว่ารู้สึกไม่สบายใจถ้าหากตัวเองจะแย่ลงไปเรื่อยๆ เพราะว่าใครมาเยี่ยมเขาก็บอกว่า ขอให้หายไวๆนะ หายไวๆนะ ทำใจดีๆไว้นะ เดี๋ยวก็จะหายวันหายคืน สู้ๆนะ คำพูดเหล่านี้ดูเหมือนดี แต่ว่าสำหรับคนไข้บางคน มันเป็นภาระ เพราะเขาจะรู้สึกว่า เขาจะรู้สึกแย่ ถ้าหากว่าร่างกายเขามันไม่ดีขึ้น หลายคนพยายามอยู่ให้ได้ เพื่อไม่ให้ลูกหลานเป็นทุกข์ เขาเองพร้อมตาย แต่เขารู้สึกว่า เขาจะรู้สึกผิดก็ได้ ถ้าเกิดว่าเขาแย่ลงไปเรื่อยๆ สวนทางกับความคาดหวังของคนที่ดูแล หลายคนรู้สึกแย่ ถ้าหากว่าทำตัวให้คนอื่นเห็นว่าตนเองอ่อนแอ มีคนไข้หลายคนบอกว่า คำพูดหนึ่งที่เขาไม่ชอบมากเลย คือคำพูดว่า สู้ๆ เพราะหนึ่ง มันเหมือนกับว่า เขายังสู้ไม่พอ มันเป็นคำที่เหมือนกับเป็นคำตำหนิเขาอยู่กลายๆว่า ยังสู้ไม่พอ หลายคนจะพูดขึ้นมาในใจ นึกขึ้นมาในใจว่า แค่นี้กูก็ไม่ไหวอยู่แล้ว หรือว่า ลองมาเป็นกูสิ แต่บางคนเขารู้สึกว่า การที่เขาพยายามเข้มแข็งให้เพื่อนๆเห็น รวมทั้งให้พ่อแม่เห็น มันเป็นความเหนื่อยอ่อนมาก เขาอยากจะอ่อนแอบ้าง อยากจะเป็นตัวเองบ้าง แต่เขาก็เป็นไม่ได้ เพราะใครๆเขาก็บอกให้ สู้ๆนะ ใครๆก็ฝากความหวังว่าเขาจะดีขึ้น เวลาเห็นเขาแย่ลง เพื่อนๆก็เสียใจ พ่อแม่ก็หน้าตาห่อเหี่ยว ก็เลยต้องพยายามทำตัวให้เข้มแข็ง แต่มันกัดกร่อน มันทำให้เขาแย่ลง อันนี้ก็ทำให้เกิดความทุกข์กับคนป่วยมากทีเดียว เพราะฉะนั้นบางครั้งเราจำเป็นต้องปล่อยวางความหวัง เขาจะคาดหวังเราอย่างไรก็อย่าไปเอามาเป็นข้อที่ทำให้วิตกกังวล เพราะจะยิ่งทำให้ทุกข์มากขึ้น บางทีผู้ดูแลต้องช่วย ที่จะบอกให้เขาปล่อยวาง หรือไม่ต้องไปคำนึงถึงความคาดหวัง บางทีอาจจะต้องปล่อยไฟเขียวด้วยซ้ำ ให้ไฟเขียวด้วยซ้ำ
คุณยายคนหนึ่ง รักษาตัวที่โรงพยาบาล แล้ว ๒ อาทิตย์หลังจากนั้นก็หัวใจหยุดเต้น ก็มีการปั๊ม พอปั๊มขึ้นมา แกก็เหมือนกับเป็นผัก ไม่พูดอะไรเลย ไม่ตอบสนอง แต่เนื่องจากเป็นคนที่มีนิสัยดีมาก เป็นคนเอื้อเฟื้อ เป็นคนเสียสละ ก็จะมีเพื่อนบ้านมาเยี่ยมเยอะมากเลย ญาติๆก็มา ทุกคนก็จะพูดคล้ายๆกันว่า หายไวๆนะ จะได้กลับไปคุยไปเล่นกันเหมือนเดิม แต่คุณยายแกก็ไม่ตอบสนอง ผ่านไป ๑ เดือน ลูกชายซึ่งดูแลแม่ วันหนึ่งพลิกตัวแม่ เห็นแม่น้ำตาไหล สังหรณ์ใจก็เลยพูดกับแม่ว่า แม่ แม่เหนื่อยไหม แม่ทรมานไหม ถ้าแม่เหนื่อยแม่ทรมาน แม่ไปได้เลย ไม่ต้องห่วงผม เสร็จแล้วก็ชวนแม่นั่งสมาธิ สวดมนต์แล้วก็นั่งสมาธิ อย่างที่เคยทำทุกวัน แต่คราวนี้ทำไปได้ ๕ นาที สัญญาณชีพของแม่ก็แบนราบไปเลย แปลว่าอะไร แปลว่าแม่คงพร้อมจะตาย แต่ที่อยู่ก็อยู่เพื่อลูก หรืออยู่เพื่อเพื่อนบ้าน เขาอยากจะให้เราหาย เขาอยากจะให้เรากลับไป ก็พยายามที่จะสู้กับความเจ็บป่วย แต่มันสู้ไม่ไหว ร่างกายมันไม่ไหว แต่ก็ไม่ยอมตาย แต่ใจก็คงจะทุกข์ พอได้สัญญาณไฟเขียวจากลูก ไปเลย
อีกรายหนึ่ง อาจารย์พรหมวังโส ท่านเป็นพระชาวอังกฤษ แล้วก็ไปสร้างวัดที่ออสเตรเลีย ท่านเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อชา ท่านเล่าว่าวันหนึ่ง ได้รับนิมนต์ให้ไปเยี่ยมผู้ป่วยคนหนึ่งชื่อ สตีฟ สามีภรรยาคู่นี้ก็คงใกล้ชิดกับท่าน คงจะไปอุปฐากที่วัดอยู่บ่อยๆ สตีฟป่วยมานานแล้วและไม่มีอาการดีขึ้น และก็อยู่ในภาวะโคม่า พอท่านไปถึง ท่านโอภาปราศรัยสักพัก ท่านก็ถามภรรยาว่า อนุญาตให้สตีฟไปรึยัง ภรรยานี่อึ้งเลย นึกขึ้นมาได้ ได้สติขึ้นมา ก็ขึ้นไปบนเตียงแล้วกอดสตีฟ แล้วพูดกับสตีฟว่า สตีฟ ถ้าเธอจะไปก็ไปได้แล้ว ปรากฏว่าสักพักสตีฟไปเลย แปลว่าอะไร แปลว่าสตีฟอยู่เพื่อภรรยา สตีฟยังไม่ยอมตาย เพราะคิดว่าถ้าตายแล้ว มันจะเป็นความผิดของเขา ถ้าเขาตายเป็นความผิดของเขา เพราะทำให้ภรรยาเศร้าโศก คนเหล่านี้จะพยายามสู้กับความตายและจึงไม่ยอมตาย ทั้งที่ร่างกายนี้แย่ แต่พอภรรยาเรียกให้สตีฟไป สตีฟไปเลย คราวนี้ไปด้วยใจที่สบายแล้ว เพราะว่า ไม่ต้องไปรู้สึกผิดแล้วที่จะต้องตาย หลายคนรู้สึกผิดถ้าจะต้องตาย ความรู้สึกผิดทำให้เขาอยู่อย่างทรมาน เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นคนไข้แบบนี้ เราต้องปล่อยวาง ปล่อยวางความคาดหวัง เมื่อถึงเวลาไปก็ไป หรือถ้าเราเป็นผู้ดูแล เราก็ต้องตระหนักชัดว่า ที่คนไข้อยู่ เขาไม่ได้อยู่เพราะเขาแบกความคาดหวังของเรา หรือเพราะว่าเราไปเรียกร้องให้เขาอยู่ เรียกร้องให้เขาหาย เรียกร้องให้เขาเข้มแข็ง ทั้งที่ร่างกายเขามันไม่ไหวแล้ว
ปล่อยวางอย่างนี้ เขาเรียกว่าปล่อยวางความเจ็บปวด ความเจ็บปวดนี่ไม่มีใครชอบ แต่สังเกตเวลาเราเจ็บปวดตรงไหน ใจเราไปจดจ่อตรงนั้นมากเลย ร่างกายเราส่วนอื่นไม่เจ็บไม่ปวด ใจมันไม่สนใจ มันจะไปจดจ่ออยู่ตรงที่เจ็บปวด เวลาปวดเวลาเมื่อย บางทีเมื่อยตรงขาหรือเมื่อยที่ก้นกบ ที่อื่นปกติ ใจมันแทนที่จะไปสนใจ ๙๙% ที่ไม่เจ็บไม่ปวดไม่เมื่อย มันไปสนใจ ๑%ที่มันเจ็บมันปวดมันเมื่อย ทั้งที่เราไม่ชอบ แต่ทำไมเราไปจดจ่อ นี่เป็นเพราะว่าใจเราไปยึด ไปยึดเอาความเจ็บปวดของกายเอาไว้ ซึ่งมันทำให้ใจนี้ปวดมากขึ้น ความเจ็บปวดก็สามารถจะทำให้ทุรนทุรายได้ เพราะฉะนั้นต้องรู้จักปล่อยวางความเจ็บปวดด้วย แต่คนเราถ้าไม่ได้ฝึกใจ มันก็ปล่อยวางได้ยาก อะไรที่เราไม่ชอบ เรายิ่งยึดติด
สมมุติเกิดมีเสียงดัง เสียงโทรศัพท์ดังในห้อง ยิ่งเราไม่ชอบเสียงโทรศัพท์นั้น เสียงริงโทนนั้น ใจมันยิ่งพุ่งไปจดจ่อที่เสียงนั้น บางทีฟังเสียงอาตมาไม่รู้เรื่องเลย ทั้งที่เสียงโทรศัพท์อาจจะเบากว่าเสียงอาตมาอีก เวลามือเราถูกของเหม็น เช่นน้ำปลา หรือปลาร้า หรือสี หรือขี้หมา เราไม่ชอบใช่ไหม มันกลิ่นเหม็น ทำยังไง เราก็ถู ถู ถู ถูเสร็จเราทำไง เอามาดม ยิ่งเหม็นเท่าไหร่ยิ่งดม ถูเสร็จ ทำไง ดม ถูใหม่ ถูใหม่ ดม ทำไม ยิ่งเหม็นทำไมกลับยิ่งดม ยิ่งไม่ชอบยิ่งยึดติด ยิ่งเจ็บปวด ยิ่งอยากผลักไส มันยิ่งยึดติด นี้เรียกว่ามันไม่มีสติ เรียกว่าจิตมันทุกข์เพราะไปยึดติดกับความเจ็บปวด หรือทุกขเวทนาทางกาย สิ่งที่จะช่วยได้ คือ สมาธิ
คุณหมออมรา เคยเล่าว่า เคยไปเยี่ยมคนไข้คนหนึ่ง เป็นอาจารย์แพทย์ แล้วมะเร็งของผู้ป่วยก็ลามไปจนถึงกระดูกแล้ว คนไข้นอนไม่ได้เลย ต้องนั่ง นั่งก็นั่งแบบงอ งอก่องอขิง เหงื่อเป็นเม็ดโตๆเลย ตัวซีด เรียกร้องแต่จะเอายาระงับปวด หมอก็ให้แล้ว แต่ว่าจะให้ถี่กว่านั้นไม่ได้ มันเป็นอันตราย คุณหมออมราก็เลยถามว่า คนไข้เคยทำสมาธิไหม คนไข้บอกไม่เคย ถ้างั้นคุณหมอก็จะสอนนะ ให้หายใจเข้าพุทธ หายใจออกโธ คนปกติขนาดหายใจเข้าพุทธ หายใจออกโธ ๕ นาที ก็อาจจะทำได้ไม่ถึงด้วยซ้ำ จิตฟุ้งซ่าน ยิ่งคนเจ็บปวดจะทำได้ถึง ๕ นาทีเชียวหรือ ปรากฏว่าทำได้ ๕ นาทีก็แล้ว ๑๐ นาทีก็แล้ว ๒๐ นาทีก็แล้ว ก็ยังนั่งอยู่ และยิ่งนั่งยิ่งดี นั่งจนถึงกระทั่ง ๔๕-๕๐ นาที พอเปิดตาขึ้นมา ก็มีสีหน้าแจ่มใส ปากเป็นสีชมพู เหงื่อหายไป ความปวดมันทุเลาไปเยอะเลย เพราะอะไร เพราะว่าจิตไปมีสมาธิอยู่กับลมหายใจ เมื่อจิตไปมีสมาธิหรือไปจดจ่ออยู่กับลมหายใจ มันก็วางความปวดลง เพราะว่าจิตมันเหมือนกับคนแขนเดียว คนมือเดียว มันรับได้แค่อย่างเดียว อย่างอาตมานี่ ถ้ามือจับไมโครโฟน จะไปจับอย่างอื่นก็ไม่ได้ ถ้าจะจับขวดน้ำ ก็ต้องวางไมโครโฟนก่อน จิต ถ้ามันจะไปจดจ่อที่ลมหายใจ มันก็ต้องวางความปวดก่อน นี้คือเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้คนไข้ พอทำสมาธิแล้ว รู้สึกว่าจิตใจแล้วก็ร่างกายผ่อนคลาย วิธีนี้เป็นวิธีการที่อาตมาเรียกว่า ปล่อยวางความเจ็บปวดวิธีหนึ่ง ความเจ็บปวด เราต้องยอมรับว่าถึงจุดหนึ่งนี่มันไม่หาย ยาเอาไม่อยู่ แต่สิ่งที่เราทำได้ก็คือว่า มันปวดแต่กาย ใจไม่ปวด ปวดแต่กายใจไม่ปวด เพราะว่าใจ วาง มันวางความเจ็บปวดของกายลง อาศัยสมาธิ หรืออาศัยสติก็ได้ นี่อีกตัวหนึ่ง สติ มันทำหน้าที่เหมือนกับว่า ทำให้จิต มาเป็นผู้เห็น ไม่ใช่ผู้เป็น
หลวงพ่อคำเขียน หลวงพ่อของอาตมา ท่านสอนอยู่เสมอว่า เห็น อย่าเข้าไปเป็น และเวลาที่ท่านเจ็บปวด ท่านเป็นมะเร็ง แล้วหมอก็พบว่า ตรงตับของท่านมันมีเนื้ออยู่ มันมีเนื้อไปกระจาย หมอต้องการตรวจ หมอก็ไปกดที่ท้อง แล้วถามว่าท่านปวดไหม ท่านบอกปวด ปวดเกินร้อยเลย ท่านบอก แล้วหมอก็ถามว่าปวดแล้วทำไมไม่ร้อง ท่านก็ตอบว่า ร้องทำไมให้ขาดทุน แล้วท่านก็อธิบายว่า ความปวด มันไม่ลงโทษเรา แต่การเป็นผู้ปวด ต่างหากที่มันลงโทษเรา ท่านบอกว่าความปวด มันเป็นอาการที่เอาไว้ดู เอาไว้เห็น อย่าเข้าไปเป็น คนเราจะเห็นความปวดได้ก็เพราะมีสติ เพราะถ้าไม่มีสติมันจะไปเป็นผู้ปวด ใครที่เจริญสติจะเข้าใจเรื่องนี้ มันไม่เฉพาะอารมณ์ มันไม่ใช่เฉพาะเวทนา ไม่เฉพาะความปวด แต่รวมถึงอารมณ์ต่างๆด้วยเช่น ความโกรธ ความเครียด ถ้าเรามีสติ จิตมันจะไม่เข้าไปเป็นผู้เครียด มันเหมือนกับว่า มันไม่กระโจนลงน้ำ มันจะเหมือนกับว่าอยู่บนฝั่ง ไม่กระโจนลงน้ำ มีอารมณ์โกรธ มีอารมณ์เครียดเกิดขึ้น จิตมันก็ไม่เข้าไปยึด จนเกิดเป็นผู้โกรธ ผู้เครียด สติมันทำให้ จิตแค่เห็นเฉยๆ ไม่เข้าไปเป็น เพราะฉะนั้นมันเอามาใช้กับเวทนาได้ เอามาใช้กับความเจ็บปวดได้ เวลากายมันปวด ก็เห็นมัน สิ่งนี้ก็เป็นกระบวนการที่เรียกว่า เวทนานุปัสสนา ก็คือ เห็นความปวด ไม่เป็นผู้ปวด ก็คือ จิตมันก็แค่เห็น มันแค่รับรู้ความปวด แต่ไม่เข้าไปยึดความปวดนั้น จนเกิดผู้ปวดขึ้น จนเกิดความรู้สึกว่า กูปวด กูปวด นี่สำคัญมากเลย เพราะมันจะช่วยทำให้ แม้กายปวดยังไง ใจก็สงบได้
สมัยที่ หลวงปู่บุดดา ยังมีชีวิต หลวงปู่บุดดา ถาวโร ท่านมรณภาพไปเมื่อ ๒๔ ปีที่แล้ว ตอนที่มรณภาพอายุ ๑๐๐ ปี เรื่องนี้คงจะเกิดขึ้นเมื่อประมาณ ๕๐-๖๐ ปีที่แล้ว ท่านไปผ่านิ่ว เอานิ่วออก สมัยนั้นไม่มีอัลตราซาวด์ ผ่าเสร็จ ๑๕ นาทีท่านก็บอกหมอว่า ค่อยยังชั่วแล้ว ไม่เป็นไรแล้ว หมอพยาบาลก็ประหลาดใจ คือท่านจะกลับวัดแล้ว หมอพยาบาลก็สงสัยว่าหลวงปู่ไม่ปวดหรือ คนที่ผ่าน้อยกว่าท่าน ยังบ่นว่าปวดเลย หลวงปู่ไม่ปวด ทำยังไงถึงไม่ปวด หลวงปู่บอก ปวดสิทำไมไม่ปวด ร่างกายหลวงปู่เหมือนคนทั่วไป แต่ว่าจิตใจมันไม่ได้ปวดไปกับร่างกายด้วย นี้เป็นตัวอย่างของคนที่เรียกว่า กายปวด ใจไม่ปวด
ใจไม่ปวด ก็อาจจะเพราะ หนึ่ง มีสติ มันเห็นความปวด ไม่เป็นผู้ปวด ประการที่สอง มีปัญญา มีปัญญาคือเห็นว่า มันไม่มีตัวกู มันไม่มีเรา ทั้งเนื้อทั้งตัวนี้ มีแต่กายกับใจ เวลากายปวด ก็ไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่ากูปวด คนธรรมดายังมีความสำคัญมั่นหมายว่า กู กู ตลอดเวลา มีกูเป็นผู้เดิน มีกูเป็นผู้นั่ง มีกูเป็นผู้โกรธ มีกูเป็นผู้เศร้า แต่ว่าคนที่เห็นความจริง ว่าจริงๆแล้ว มันไม่มีกู มันมีแต่กายกับใจ เวลากายปวดก็กายปวด เวทนาเกิดขึ้นที่กาย มันไม่มีกูเป็นผู้ปวดขึ้นมา เพราะฉะนั้นจิตมันก็เลยไม่ทุกข์ นี่ก็การที่เห็น เข้าใจเรื่องรูปนาม เข้าใจเรื่องกายกับใจชนิดที่ว่า มันไม่มีตัวกู มาเป็นเจ้าของกายกับใจ นี้ต้องอาศัยปัญญา ซึ่งถ้าเรามีปัญญาอย่างนี้ มันก็ช่วยทำให้ ความปวดที่เกิดขึ้นกับกาย ไม่สามารถจะบีบคั้นจิตใจ จนทำให้เกิดความว้าวุ่นกระสับกระส่าย ก็เป็นธรรมะที่สำคัญอีกประการหนึ่ง
ในทางพระพุทธศาสนา จะมีคำพูดซึ่งมาจากพุทธพจน์ว่า กายป่วยใจไม่ป่วย ซึ่งเรื่องนี้มีที่มา จากการที่พระพุทธเจ้าไปเยี่ยม คฤหัสถ์อุบาสกคนหนึ่งชื่อ นกุลบิดา นกุลบิดาป่วยหนักมาก พระพุทธเจ้าก็ไปสนทนาธรรม แล้วก็บอกนกุลบิดาว่าให้ท่านพิจารณา พิจารณาว่า แม้กายป่วยใจไม่ป่วย แม้กายกระสับกระส่าย แม้กายถูกโรครุมเร้า ก็อย่าให้ใจถูกโรครุมเร้า นกุลบิดาฟังแล้วก็เกิดปีติ แล้วพอพระพุทธเจ้าเสด็จกลับไป นกุลบิดาก็ถามพระสารีบุตรว่า ทำอย่างไร กายป่วยใจไม่ป่วย พระสารีบุตรก็อธิบายว่า กายป่วยแล้วใจไม่ป่วย เกิดขึ้นได้เมื่อบุคคลอยู่ด้วยอยู่โดย ไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่า รูปนี้เป็นของเรา เพราะฉะนั้นเมื่อรูปมันแปรปรวนไป ก็คือเจ็บป่วย บุคคลนั้นย่อมไม่เกิดความโศก ความเศร้า ความโศกความร่ำไรรำพัน ความทุกข์ โทมนัสหรือความคับแค้นใจ การที่จะเห็น สิ่งที่ช่วยทำให้เห็นว่ารูปไม่ใช่ของเรา นี้เรียกว่าปัญญา ปัญญานี่ถ้าเราเห็น ถ้าทำให้เห็นว่ารูปไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา รวมทั้งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเรียกรวมๆว่า ใจ รูปไม่ใช่ของเรา ใจไม่ใช่ของเรา เมื่อรูปมันแปรปรวนไป ก็ไม่มีความทุกข์ เมื่อใจมันแปรปรวนไป ก็ไม่มีความทุกข์ นี้คือการเห็นด้วยปัญญา ซึ่งจะช่วยทำให้สามารถอยู่กับความเจ็บความปวดได้ โดยที่ใจไม่กระสับกระส่าย ถึงเวลาตายก็ตายสงบ
พระสารีบุตร เคยกล่าวเช่นนี้กับอนาถบิณฑิกเศรษฐีในวาระสุดท้าย ก็มีทุกขเวทนามาก พระสารีบุตรก็ไปพูด ไปแนะนำอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า ความเจ็บ ความป่วย ความตาย มันเป็นเรื่องธรรมดา สักวันหนึ่งความตายก็ต้องเกิดขึ้นกับเรา เราขอให้ท่านพิจารณาว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รวมทั้งวิญญาณ ที่อาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจนี่ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ และวิญญาณที่อาศัย รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เมื่อนั้นก็จะไม่เป็นทุกข์ ความตาย ก็จะไม่มาบีบคั้นจิตใจ
นี่เป็นคำสอนที่ชี้ให้เห็นว่า ปัญญาที่เข้าใจความจริงของขันธ์๕ ของกายและใจ มันจะช่วยทำให้ใจสงบได้ แม้ว่ากายมันจะเจ็บป่วยอย่างไรก็ตาม และถึงเวลาจะตายก็ไม่ทุกข์ เพราะเห็นชัดว่าที่ตายนี่ มันไม่ใช่เราตาย มันเป็นเพียงแต่ รูปกับนาม กายกับใจ หรือขันธ์๕ มันแตกดับไป คนที่มีปัญญาเห็นว่าจริงๆแล้ว มันไม่มีเรา มีแต่รูปกับนาม กายกับใจ หรือขันธ์๕ มันจะไม่มีความรู้สึกว่า กูกำลังจะตาย มันเป็นเพียงแค่ขันธ์๕ ที่แตกดับไป มันไม่มีใครตาย พูดอีกอย่างคือ มีแต่ความตายแต่ไม่มีผู้ตาย มันมีแต่ความเจ็บป่วยแต่ไม่มีผู้เจ็บป่วย ความเจ็บป่วยมันเกิดขึ้นกับกาย แต่ใจก็ไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไรไปด้วยปัญญา แบบนี้ที่ทำให้ใจสงบ แต่ถ้ามีปัญญาจริงๆจะรู้ว่า จริงๆแล้ว มันไม่ใช่แค่ไม่มีผู้ตาย ความตายก็ไม่มี
ความตาย เป็นสมมุติที่ใช้เรียก การเปลี่ยนสภาพ อาจจะเปรียบได้กับว่า ความตายของคนๆหนึ่งอาจจะเปรียบเหมือนกับก้อนน้ำแข็งที่อยู่ในแก้วน้ำ เมื่อเราปล่อยเวลาไปสักครึ่งชั่วโมง ก้อนน้ำแข็งก็หายไป แต่ถามว่ามันไปไหน ที่จริงมันก็แค่เปลี่ยนสภาพกลายเป็นน้ำ ยังอยู่ในแก้วเดิม เวลาก้อนน้ำแข็งหายไป เราไม่เรียกว่าก้อนน้ำแข็งมันตายใช่ไหม เราแค่เรียกว่ามันเปลี่ยนสภาพ น้ำที่อยู่ในบ่อ แล้ววันดีคืนดีมันหายไป เราก็ไม่เรียกว่าน้ำมันตาย มันเพียงแค่เปลี่ยนสภาพกลายเป็นไอน้ำ แล้วกลายเป็นเมฆในที่สุด วันดีคืนดีเมฆนั้นก็หายไป เราไม่ได้เรียกว่าเมฆมันตาย มันเพียงแต่เปลี่ยนสภาพกลายเป็นหยดฝนที่ตกลงมา ความตาย มันเป็นแค่สมมุติของปรากฏการณ์ที่เราเรียกว่า การเปลี่ยนสภาพ ร่างกายมันก็แค่เปลี่ยนสภาพ กลับคืนสู่ ดิน น้ำ ไฟ ลม เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นอย่างนี้ เราก็จะตระหนักว่า จริงๆความตายมันไม่ใช่การแตกดับ มันเป็นแค่การเปลี่ยนสภาพ
มีคนอุปมาไว้ดี เขาอุปมาว่า ลูกคลื่นลูกน้อยๆลูกหนึ่งกำลังเริงร่าอยู่ในกลางทะเล มันมีความสุขกับอากาศยามเช้าและกับสายลม แต่จู่ๆมันก็เกิดความตื่นตกใจขึ้นมา เมื่อมันเห็นลูกคลื่นลูกที่อยู่ข้างหน้า มันไปกระแทกกับชายฝั่งแล้วก็สลายหายไป มันตกใจว่า นี่คือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นกับฉันหรือ ฉันจะต้องกระแทกกับชายฝั่งแล้วสลายหายไปอย่างนั้นหรือ มันต้องเกิดขึ้นกับฉันแน่นอนเลย ลูกคลื่นตกใจมาก สักพักลูกคลื่นที่ตามมาทีหลังก็ถามว่า ทำไมเธอเศร้า ลูกคลื่นก็บอกว่า เธอไม่เห็นหรือไง เธอไม่เข้าใจหรือว่า อีกไม่นานเราก็ต้องกระแทกกับชายฝั่งและสลายหายไป ลูกคลื่นที่ตามมาทีหลังก็บอกกับลูกคลื่นลูกแรกว่า เธอไม่เข้าใจหรือว่าเราไม่ใช่แค่ลูกคลื่น เราเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรด้วย เมื่อกระแทกกับชายฝั่ง มันก็ไม่ได้ไปไหน ก็กลับคืนสู่มหาสมุทร แล้วก็รอที่จะกลายเป็นลูกคลื่นลูกใหม่ในเวลาต่อไป ถ้าเรามองชีวิตแบบนี้บ้าง จะพูดว่าความตายมันไม่น่ากลัว มันก็เป็นแค่การเปลี่ยนสภาพ นี่แหละคือการมีปัญญาเห็นความจริง ซึ่งถ้าเราเข้าใจแบบนี้ ความตายมันก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่ากลัวอีกต่อไป ก็จะสามารถเผชิญกับความตายได้ด้วยใจที่สงบ อาตมาก็คงจะกล่าวไว้แต่เพียงเท่านี้