แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ตามปกติแล้ว อะไรที่เราเพิ่งเจอเพิ่งสัมผัสครั้งแรก เราก็ไม่รู้หรอกว่า มันมีคุณมีโทษอย่างไรบ้าง ต้องเผลอ หรือต้องไปสัมผัสสักครั้งสองครั้ง บางทีครั้งเดียวก็พอ ก็รู้แล้วว่ามันมีคุณหรือมีโทษ อย่างเด็กเล็กๆ พ่อแม่เอาขนมเค้ก มีเทียนวันเกิดปักอยู่บนขนมเค้ก เด็กตัวเล็กๆ ขวบสองขวบ บางทีสามขวบ ถ้าไม่เคยเจอเทียนวันเกิด ก็จะเอามือไปแตะ แล้วก็จะรีบชักมือกลับทันทีเลยเพราะว่ามันร้อน บางคนเห็นผู้ใหญ่เป่าเทียนก็เอาบ้าง โน้มตัวไปแล้วก็อมเทียนเลย โดนเปลวเทียนเผาก็ร้องไห้ อันนี้ดูจากคลิปวีดีโอมีคนส่งมาว่าเด็กจำนวนมากเลย เขาไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเห็นเทียนวันเกิด เขาก็เลยเอามือไปจับบ้าง หรือว่าเอาปากไปอมบ้าง แค่ครั้งเดียวก็เกินพอแล้ว เขาก็รู้ว่ามันอันตรายหรือว่ามันเป็นโทษ
ร่างกายเราเวลาเชื้อโรคเข้ามา ถ้ามันเป็นเชื้อตัวใหม่ ร่างกายไม่เคยรู้จักเลย ก็มักจะพลาดท่าเสียทีคือเจ็บป่วย แต่หลังจากนั้นแล้ว ร่างกายเราจะจำได้ ภูมิคุ้มกันร่างกายจะจำได้ ว่าเชื้อตัวนี้มันอันตราย มันเป็นโทษ พอเชื้อเข้ามาใหม่ ภูมิคุ้มกันของร่างกายเรามันก็จะตื่นตัวทันที แล้วเข้าไปจัดการกับเชื้อนั้น ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย จะเป็นไวรัส หรือแม้แต่สารพิษด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น มันมีหลายโรคทีเดียวพอเป็นแล้วแค่ครั้งเดียวก็ไม่เป็นอีก ถ้าเกิดว่าไม่ตาย ก็จะไม่เป็นอีกเลย สมัยก่อนคนเป็นไข้ทรพิษ ถ้าเราไม่ตายก็จะไม่เป็นอีก อีสุกอีใสก็เหมือนกัน เป็นได้ครั้งเดียวในชีวิต ที่จริงหวัดก็เหมือนกัน เพียงแต่ว่าหวัดมันเปลี่ยนรูปแปลงโฉมอยู่เรื่อย ปีแล้วปีเล่า เราก็เลยเป็นหวัดบ่อย เพราะว่าไม่ใช่เป็นเพราะหวัดตัวเดิม
สัตว์นี่เราดูนะ มันมีสัญชาตญาณระแวงภัย แต่ถ้าเป็นสัตว์ที่ไม่เคยเจอคนมาก่อนเลย ตั้งแต่บรรพบุรุษเลยนะ มันยอมให้คนเข้าใกล้นะ ตอนที่ชาร์ลส์ ดาร์วินไปเกาะกาลาปากอสซึ่งอยู่แถวละตินอเมริกา พวกเราคงรู้จักดี ชาร์ลส์ ดาร์วิน เขาค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการ สิ่งที่จุดประกายให้เขาเกิดความคิดในเรื่องนี้ก็เพราะได้ไปเกาะกาลาปากอส เมื่อเกือบ 200 ปีที่แล้ว ก่อนที่มันแยกขาดจากแผ่นดินใหญ่หรือว่าโลกกว้าง สัตว์ เรียกว่าทุกชนิดหรือทุกตัวเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นนก ไม่ว่าจะเป็นหมา หมาป่า หมาจิ้งจอก สัตว์เลื้อยคลาน ไม่ต้อง อย่าว่าแต่เต่าเลย แม้แต่สัตว์ที่เป็นพวกตะกวด อะไรทำนองนี้ มันเจอคน มันก็ยอมให้เข้าใกล้ อย่างสุนัขจิ้งจอก มันยอมให้คนเข้าไปใกล้ คนนี่ก็ร้ายเหมือนกัน เดินไปหามันแล้วก็เอาค้อนทุบหัวมันเลย ตาย มันไม่หนี แต่พอสัตว์ได้เจอคนบ่อยๆ นี่มันรู้แล้วว่า คนนี่อันตราย มันก็ไม่ยอมให้เข้าใกล้ มันก็จะมีนิสัยเหมือนกับสัตว์ที่เราเห็นอยู่ทุกวี่ทุกวัน หรือว่าสัตว์ป่า การที่มันได้เจอ การที่มันได้เจอคน หรือว่าเจอภัย มันทำให้มันฉลาดแล้วก็เรียนรู้ว่า อ้อ นี่คืออันตราย เด็กก็เรียนรู้ว่าเปลวไฟ มันร้อน อันตราย เชื้อโรคเข้ามาในร่างกาย ร่างกายเราก็โดนหลอกได้ครั้งเดียว แล้วครั้งต่อไปก็จำได้ การที่ได้สัมผัส การที่ได้เจอ หรือการที่ได้เห็นบ่อยๆ มันทำให้เกิดความฉลาดขึ้นมา ที่วัดอาตมานี่มันมีลิง ฝูงลิงอยู่หลายฝูง แล้วก็อาละวาดก่อกวนมาก เคยมีพระที่ท่านทำกับดัก ก็ปรากฏว่าสามารถจะจับลิงได้ แต่ว่าหลังจากนั้นแล้วไม่เคยจับได้อีกเลย เพราะว่ามันรู้ มันฉลาด แล้วมันก็บอกต่อๆ กันไปด้วย เปลี่ยนจากกับดักมาเป็นกรง ก็จับได้แค่ครั้งสองครั้ง แล้วครั้งต่อไปก็จับไม่ได้อีก
การที่ได้เจอได้สัมผัส การที่ได้เห็น มันก็เกิดการเรียนรู้ แล้วทำให้ไม่หลงกล ไม่เผลออีก แต่แปลกนะ จิตใจเรา ทั้งๆ ที่เจอความโกรธ เจอความเครียด เจอความฟุ้ง เจอความเศร้า มาไม่รู้กี่ครั้งแล้ว แต่ว่าก็ยังโดนมันหลอก ยังพลาดท่าเสียที ปล่อยให้อารมณ์เหล่านี้ครอบงำอยู่เป็นประจำ อันนี้รวมถึงความคิดฟุ้งซ่านด้วย ที่มันเผลอคิดไป ทั้งที่เราก็รู้ คิดเรื่องนี้มันทุกข์ มันทำให้วิตก ทำให้หงุดหงิด ทำให้หนักอกหนักใจ แต่ก็ยังโดนไอ้ความคิดนี้มันหลอก หลอกใช้ หลอกครอบงำจิตใจเราเป็นประจำ ทำไมมันเป็นอย่างนั้น ถ้าเจอบ่อยๆ น่าจะฉลาด แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน แค่เจอภัย ไม่ว่าจะเป็นคน หรือว่าเป็นผลไม้ที่เป็นพิษ หรือเจอแมลง เช่น มด ผึ้ง มันเจอครั้งสองครั้ง มันก็รู้แล้ว โอ๊ย นี่อันตราย ไม่ควรข้องแวะหรือไปเกี่ยวข้องด้วย พอมา ไม่ว่าเป็นแมลง มด ผึ้ง หรือคน พอมามันก็หนีละ ไม่ยอมพลาดท่าเสียที แต่ทำไมใจของเรา มันจึงโดนอารมณ์เหล่านี้ครอบงำ หลอกลวง ชักนำ จนหมดเนื้อหมดตัวครั้งแล้วครั้งเล่า
มันคล้ายๆ กับคนที่ถูกพวกมิจฉาชีพมาหลอก ถ้าเป็นนักเรียนก็หลอกว่า พ่อแม่ให้มารับ พ่อแม่ไม่สบายอยู่ที่โรงพยาบาล ให้มารับหนูไปโรงพยาบาล หรือบางทีก็มารับกลับบ้าน เพราะว่าพ่อแม่ไม่ว่าง เด็กก็เชื่อ พอมิจฉาชีพพาเข้าไปในซอยเปลี่ยวแล้วก็ปล้นเอาเงินเอาโทรศัพท์ เสร็จแล้วก็ปล่อยเด็กไป วันรุ่งขึ้นมันมาอีก มิจฉาชีพตัวเดิมนี่แหละ คนเดิม เด็กก็ยังเชื่อลูกไม้เดิม มิจฉาชีพก็มาบอกว่าพ่อไม่สบาย แม่ป่วย เด็กก็ตามไปอีก เสร็จแล้วพอไปถึงทางเปลี่ยวก็โดนหลอก โดนปล้นเอาเงินไป ถ้าเป็นอย่างนี้สักสิบยี่สิบครั้ง มันก็แย่แล้ว แล้วถ้าเกิดเป็นร้อยครั้ง สองสามร้อยครั้ง สี่ห้าร้อยครั้ง อันนี้มันแปลว่าอะไร แปลว่าเด็กนี่โง่เหลือเกิน
แต่เด็กนั้นก็คือเรานั่นแหละ มิจฉาชีพก็คืออารมณ์ที่มาหลอก มาหลอกเราอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะ เรามาปฏิบัติ เราก็ตั้งใจว่า เราจะไม่เผลอ เราจะมีสติรู้ตัว มือเคลื่อนไหว ใจก็รับรู้ รู้สึก เดินจงกรมก็รู้สึก รู้ตัวว่ากำลังเดิน แล้วเป็นไง มันก็หลอกเราไปทุกครั้ง หลอกเราไปได้บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นความคิด บางทีก็คิดเรื่องเดิมนั่นแหละ เสร็จแล้วก็เวลามีอะไรมากระทบ ทำให้ขัดอกขัดใจก็โกรธหงุดหงิด ก็โดนอารมณ์หงุดหงิด โกรธ มันเล่นงานครั้งแล้วครั้งเล่า ครั้งแล้วครั้งเล่า มันต่างอะไรกับเด็กที่ถูกมิจฉาชีพหลอก เป็นร้อยเป็นพันครั้ง แต่เด็กแบบนี้ไม่มีในชีวิตจริง ไม่มีเด็กแบบนั้นหรอก โดนหลอกแค่สองสามครั้งเด็กก็รู้แล้วว่า ไอ้มิจฉาชีพนี่ พอมาอีกนะ จำหน้าได้ จำเสียงได้ ถึงแม้จะใส่หนวด เติมเคราเข้าไป เปลี่ยนเสื้อผ้า จำเสียงได้ เด็กรู้ เด็กฉลาด เด็กก็ไม่ยอมให้มิจฉาชีพนี้หลอกไปได้อีก แต่ทำไมใจเรา มันถึงโดนหลอกแล้วหลอกอีก หลอกแล้วหลอกอีก ซึ่งมันผิดกับธรรมชาติ คือยิ่งเจอ เราต้องยิ่งฉลาด ยิ่งเจอเรายิ่งฉลาด แต่ทำไมเราเจอแล้วเจอเล่า เราจึงไม่ฉลาด แถมอาจจะโง่กว่าเดิมด้วย คนที่เจอความโกรธแล้วก็เสียท่ากับความโกรธอีกเป็นประจำตั้งแต่เล็กจนโต พอแก่ก็ยิ่งโกรธเข้าไปอีก ทั้งที่เจอความโกรธมาเป็นหมื่นครั้ง ทำไมกลับโกรธง่ายแล้วโกรธเร็ว ซึ่งมันควรจะรู้ทันความโกรธมากขึ้น อันนี้ถ้าจะอธิบายก็คงเป็นเพราะว่ามันหลง เหมือนกับว่าตอนที่เจอมิจฉาชีพ เมาหรือว่ามึน เพราะฉะนั้น มิจฉาชีพจึงหลอกได้ครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะทุกครั้งที่โดนหลอก มึน มันมึน มันงง ก็เลยไม่เกิดการเรียนรู้ ก็เสียท่า พลาดท่าเสียทีทุกครั้งไป ไอ้ความมึนความงง มันไม่ใช่เพราะว่ามึนยา หรือว่าเมาเหล้า แต่เป็นเพราะมันหลง ลืมตัว ความหลงนี่ ความหลงนี่ความหมายหนึ่งคือไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้น ขณะที่หลง มันก็จะพลัดไปตามอารมณ์ ถูกอารมณ์หลอก ชักจูงไป รวมทั้งความคิดฟุ้งซ่านด้วย
นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องมาเจริญสติ เพราะการเจริญสติทำให้เรามีสติ รู้ตัว เด็กที่มีสติ เด็กที่รู้ตัว ก็จะโดนมิจฉาชีพหลอกได้ไม่เกินสองสามครั้ง เพราะว่าความผิดพลาดแต่ละครั้งก็ทำให้เกิดการเรียนรู้ เหมือนกับเด็กทารกที่อมเทียนวันเกิด แค่ครั้งเดียวก็รู้แล้วว่า ทีหลังอย่าอม
การที่เราเจริญสติ มันทำให้เราได้เห็น ได้เรียนรู้ แล้วก็รู้ทันอารมณ์ที่มันมาชักจูง หลอก ล่อลวง จิตใจเราไป แต่ก่อนนี้ มึนงงก็เลยโดนมันหลอกได้ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ตอนนี้ มีสติก็จะเห็น จำได้ จำได้ว่า ไอ้หน้าตาแบบนี้ มันไม่เป็นมิตร มันเป็นอกุศล มันเป็นโทษ เวลาเจอความคิดฟุ้งซ่าน จำท่าทาง ลักษณะอาการได้ เวลาเจอความโกรธ เจอแล้วเจอเล่า มันก็จะจำได้ดีขึ้น แต่ก่อนไม่ได้จำเลย เพราะว่ามันลืมตัว แต่ตอนนี้พอมีสติแล้วจะจำได้ แต่ว่ากว่าจะจำได้ มันก็ใช้เวลา คือต้องเจอแล้วพลาดแล้วหลายครั้งอาจจะสิบครั้ง ยี่สิบครั้ง หรืออาจจะร้อยครั้งก็ได้ แต่ว่าทุกครั้งที่เจอ มันก็เกิดการเรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งจำลักษณะอาการของอารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ได้ ถึงเวลามันมาอีก จิตก็รู้ทันเพราะมีสติมาบอกมาเตือน ลักษณะหรือคุณสมบัติของสติอย่างหนึ่งก็คือการจำลักษณะอาการได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นภายนอกหรือภายใน รูปธรรมหรือนามธรรม ภาษาบาลีเขาเรียกว่า ถิรสัญญา
ถิรสัญญา คือ คำว่า สัญญา คือ จำได้หมายรู้ จำได้หมายรู้ลักษณะอาการ เช่น เราเห็นคนนี้ เราก็จำได้ว่า คนนี้เป็นญาติ เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นพ่อ เป็นแม่เรา ได้ยินเสียง เราก็จำได้ว่านี่คือเสียงอะไร เสียงโทรศัพท์ เสียงระฆัง เสียงสัตว์ อันนี้เป็นถิรสัญญา ในเรื่องเกี่ยวกับ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แต่ถ้าเราเจริญสติ โดยเฉพาะ สติปัฏฐาน มันจะจำอาการของอารมณ์พวกนี้ได้แล้ว เพราะฉะนั้น พอมันโผล่ออกมาก็จะรู้ แล้วก็จะไม่โดนมันหลอก หรือโดนมันล่อลวงไป คนที่เจริญสติบ่อยๆ ก็จะรู้ทันอารมณ์ได้ไว ใหม่ๆ ก็อาจจะโดนหลอกไปซักพัก เช่น เหมือนกับเด็กที่โดนหลอกไปจนออกไปนอกโรงเรียนแล้ว แต่ก่อนจะถึงทางเปลี่ยว ก็มารู้ทัน มารู้หรือจำได้ว่า ไอ้นี่มันมิจฉาชีพ ก็สะบัดมือหลุดออกไป ก็คล้ายๆ กับเวลาเราคิดฟุ้งปรุงแต่งไป แต่ก่อนนี้คิดไปได้สิบเรื่องกว่าจะรู้ตัวว่ากำลังเดินจงกรม กำลังยกมือสร้างจังหวะ แต่ตอนหลังคิดไปได้แค่แปดเรื่องก็รู้ตัวแล้ว แล้วก็ถอนจิตออกมา สติมันเป็นตัวถอน ตัวดึง ตัวเรียกจิตออกมา อย่าไป ไม่ให้ไปหลงเชื่ออารมณ์เหล่านี้ แล้วต่อไปจะจำได้ไวขึ้น แต่ก่อนนี่ออกไปนอกโรงเรียนแล้วถึงจำได้ แต่ตอนหลัง ยังไม่ทันถึงประตูโรงเรียนเลย จำได้ว่า ไอ้นี่ มิจฉาชีพ ก็สะบัดมือหลุด
สติของผู้ปฏิบัติที่พัฒนาแล้ว มันก็จะมีความก้าวหน้าในเรื่องการรู้ทันได้ไว ทีนี้คิดได้แค่สองเรื่องก็รู้แล้ว รู้แล้วก็หลุดออกมา ตอนหลังคิดมาได้แค่เรื่อง บางทีไม่จบเรื่องเลย ก็รู้ ก็หลุดออกมา นี่เรียกว่า จำได้ จำอารมณ์ได้ หรือว่าจำตัวหลงได้ ว่าตัวหลงเป็นอย่างนี้ ไม่ว่าหลงดีใจ หลงเสียใจ หลงโกรธ หลงเศร้า หลงฟุ้ง จำอาการได้ และที่จำได้เพราะอะไร เพราะเจอบ่อยๆ เพราะฉะนั้น การที่มันมีอารมณ์พวกนี้เกิดขึ้น หรือว่ามีความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้นกับเรา มันก็มีประโยชน์ ถ้าเรามีสติ เราจะจำได้บ่อยขึ้นๆ เร็วขึ้นๆ แต่ถ้าไม่มีสติ หรือหลง จิตก็ถูกมันหลอก เสียท่าบ่อย แล้วก็เร็ว แล้วก็ง่าย การที่เราได้เจอมันบ่อยๆ ฟุ้งบ่อยๆ หรือว่าหงุดหงิดอยู่เรื่อย มันมีข้อดี มันทำให้ถิรสัญญาของสติ หรือว่าความจำได้หมายรู้ในลักษณะอาการของสติมันพัฒนา
แต่ว่าการจำได้หมายรู้ของสติ มันจะไม่ไวเหมือนกับตัวอย่างที่อาตมาพูดมา เช่น ภูมิคุ้มกันร่างกาย มันเจอครั้งเดียว เจอเชื้อโรคครั้งเดียว มันจำได้ แต่ว่าสตินี่มันต้องเจอบ่อยๆ เจอบ่อยๆ ไม่ใช่แค่ห้าครั้งสิบครั้ง บางทีอาจจะเป็นยี่สิบสามสิบครั้ง ถึงจะจำได้ มันคล้ายๆ กับเราท่องอาขยาน ไม่รู้สมัยนี้ยังท่องอาขยานอยู่หรือเปล่า หรือท่องศัพท์ก็ได้ ศัพท์ภาษาอังกฤษ ศัพท์ภาษาจีน เจอทีแรกก็ยังจำคำแปลไม่ได้ เจอครั้งที่สองก็ยังจำคำแปลไม่ได้ ต้องเปิดดิก ต้องเปิดพจนานุกรม บางทีต้องเจอสิบครั้ง ถึงจะจำได้ว่าไอ้คำนี้มันแปลว่าอะไร หรือเหมือนกับท่องอาขยาน ไหนจะท่องแล้วท่องอีก ท่องแล้วท่องอีก ประมาณสิบยี่สิบครั้ง ถึงท่องได้ขึ้นใจ บทสวดมนต์ก็เหมือนกัน ต้องสวดแล้วสวดอีก พระบวชใหม่ บวชมาครึ่งเดือนแล้ว บางทียังท่องบทสวดมนต์ไม่ได้เลย แม้ว่าจะพยายามตั้งใจจำ แต่ต้องทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ มันก็จะจำได้ มันจะคล่อง สติเราจะคล่อง จะจำได้ไว
ลักษณะอาการของอารมณ์ อันนี้พอมันเกิดขึ้น ไม่หลงเชื่อ มันเกิดขึ้นก็เกิดไป แต่ว่าใจไม่ไปข้องแวะด้วย อันนี้เรียกว่ามี เป็นอาการที่เรียกว่า เห็น ไม่เข้าไปเป็น หลวงพ่อคำเขียนท่านจะพูดอยู่เสมอ เตือนลูกศิษย์อยู่เสมอว่า เห็นนะ อย่าเข้าไปเป็นนะ ไอ้ที่เราเสียท่าความโกรธ จมอยู่ในความทุกข์ ก็เพราะว่าเราเป็น เป็นผู้โกรธ เป็นผู้ทุกข์ไป แม้แต่ความปวดความเมื่อยก็ไม่ค่อยได้เห็นเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เป็น เวลายุงกัดคัน ก็ไม่ได้เห็นความคัน แต่ว่าเป็นผู้คัน ไอ้ความคันนี่ก็เป็นเวทนา มันก็เป็นศิลปะเหมือนกัน เป็นศิลปะที่เรียกว่าสติปัฏฐาน ก็คือ เห็นอารมณ์ ที่เราสวดเมื่อสักครู่ สติปัฏฐานสี่ ก็คือ พิจารณากายในกาย พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม ซึ่งท่านก็อธิบายขยายความว่า รู้กาย เวลามันเคลื่อนไหว รู้กายประกอบไปด้วยธาตุอะไรบ้าง รู้กายประกอบไปด้วยอวัยวะอะไรบ้าง แต่ที่สำคัญที่เรามาฝึกตรงนี้มากๆ คือ รู้กายเมื่อมันเคลื่อนไหว เวลาเสวยเวทนาอะไรก็รู้ว่าเสวยเวทนานั้น คือ รู้ รู้ ไม่ต้องคิดเอา เคลื่อนไหวกายก็รู้ เสวยเวทนาก็รู้ว่ากำลังเสวยเวทนานั้น ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ปวดเมื่อยหรือว่าผ่อนคลาย รู้ว่าจิตมีราคะ มีโทสะ มีโมหะ หรือว่าจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ เรียกย่อๆ ว่า รู้กาย รู้ใจ รู้กายก่อนแล้วค่อยรู้ใจ เป็นขั้นที่สอง แล้วก็รู้เวทนาตามมา แล้วต่อไปก็จะรู้ธรรม
เริ่มต้นด้วยที่รู้กาย รู้กายก็คือว่า เวลากายเดินก็เห็นกายมันเดิน เห็นในที่นี้ เห็นด้วยตาใน คือ รู้สึกว่ากายมันเดิน แต่ก่อนเวลาปฏิบัติ เวลาเดิน ก็คิดหรือสำคัญมั่นหมายว่า ฉันเดิน เราเดิน หรือ กูเดิน เวลายกมือก็ไปคิดเอาว่า ฉันยกมือ ฉันหรือกูยกมือ แต่พอเราทำอย่างมีสติ มันจะเห็นว่า มันไม่ใช่ ไม่ใช่เราหรือกูที่เดิน หรือยกมือ แต่มันเป็นรูปหรือเป็นกายที่ทำ เวลาเดิน ไม่ใช่เราเดิน แต่รูปมันเดินกายมันเดิน เวลาโกรธ ไม่ใช่เราโกรธ มันเป็นจิตที่โกรธ หรือว่าจิตมีความโกรธ ไม่ใช่เราโกรธ ไอ้ตัวเรามันจะหายไป ตัวกูมันจะค่อยๆ หายไป เมื่อเรามีสติ ในอิริยาบถต่างๆ หลวงพ่อคำเขียนท่านใช้คำว่า สติมันช่วยถลุง ถลุงเหมือนกับแร่ ก้อนแร่ ขี้แร่ พอไปถลุงก็จะได้แร่แยกออกมา แร่ชนิดต่างๆ แยกออกมา เมื่อเราเจริญสติ ไอ้ที่เคยเห็นเป็นดุ้นเป็นก้อน แล้วไปสำคัญมั่นหมายว่านี่คือเรา คือเรา คือเรา หรือกูนี่ พอเจริญสติ ไม่ว่าเดินหรือนั่ง มันก็จะแยกออกมา ไม่ใช่เราละ แต่มันเป็นกายกับใจ กายกับใจมันเริ่มแยกออกมา แต่ก่อนไม่เห็นนะ มันเห็นเป็นดุ้นเป็นก้อน แล้วก็สมมติว่านี่คือเรา นี่คือกู แล้วไปคิดว่ามันเป็นกู มันเป็นเราจริงๆ แต่พอเราเจริญสติ เราจะเห็นความจริงที่มันละเอียด ละเอียดไปกว่านั้นซึ่งเป็นความจริง ไม่ใช่สิ่งสมมติก็คือกายกับใจ รูปกับนาม ซึ่งอันนี้มันมีประโยชน์มากเลย เพราะว่าเวลาปวด แต่ก่อนไม่เห็นตรงนี้ ก็ไปคิดสำคัญว่า กูปวดๆ แต่พอเราเห็นว่าจริงๆ แล้วมันเป็นแค่กายปวดหรือความปวดเกิดกับกาย ใจมันไม่รู้สึกทุกข์ไปด้วย ใจมันไม่รู้สึกทุกข์ไปแล้ว เพราะมันเห็นว่า ไอ้ที่ปวดคือกายปวด ไม่ใช่ กูปวด ไม่ใช่จิตทุกข์ จิตมันจะไม่ไปยึด เอาความปวดของกายมาเป็นทุกข์อีกต่อไป แล้วเวลามีความโกรธเกิดขึ้นที่ใจ มันก็จะเห็นต่อไปด้วยว่า ความโกรธก็อย่างหนึ่ง ใจก็อย่างหนึ่ง ความโกรธมันตั้งอยู่ที่ใจ อาศัยใจเกิด แต่ว่ามันไม่ใช่เป็นธรรมชาติของใจ มันเหมือนกับไฟ ไฟมันเกิดขึ้นกับเนื้อไม้ แต่ไม่มีใครที่จะบอกว่าไฟมันอยู่ในไม้ ไช่ไหม เวลาเราสีไฟ แล้วเกิดเปลวไฟขึ้นมา เราบอกได้แต่เพียงว่า ไฟมันเกิดกับไม้หรืออาศัยไม้เป็นที่เกิด แต่ไม่มีใครที่จะบอกว่า ไฟมันอยู่ในเนื้อไม้
เวลาโกรธ เราก็จะเห็น เห็นละเอียดว่ามันมีความโกรธเกิดขึ้นที่ใจ มันไม่ใช่เราโกรธด้วยซ้ำ ตรงนี้สำคัญมากเลย เพราะว่า ถึงตรงนี้ความโกรธก็ทำอะไรไม่ได้ ทำอะไรจิตใจไม่ได้ ถ้าเราเห็น ไม่เข้าไปเป็นมัน เหมือนกับกองไฟที่มันไหม้อยู่ข้างหน้า แล้วเราอยู่ห่างๆ ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ยิ่งอยู่ห่างเท่าไหร่ ความร้อนของไฟก็ทำอะไรไม่ได้ อันนี้เรียกว่า เห็น เห็นเปลวไฟ แต่ถ้าเข้าไปอยู่ในกลางกองไฟ มันทรมานมาก มันร้อนมาก นี่แหละอันนี้เรียกว่าเป็น อันนี้บางทีก็เรียกว่ายึด ไปยึดเอาความโกรธมาเป็นเราเป็นของเรา นี่เป็นผู้โกรธ สติก็ทำให้เห็น แล้วความโกรธมันเกิดขึ้นก็ คราวนี้ก็รู้แล้ว ความโกรธนี่มันดีที่ไหน ไม่น่าเอาเลย เพราะมีสติเห็น
เคยมีคนถามหลวงปู่ดุลย์ อตุโล เขาลือว่าท่านเป็นพระอรหันต์ เขาถามว่าหลวงปู่มีโกรธไหม ท่านบอกว่า มี แต่ไม่เอา ทำไมถึงไม่เอา เพราะรู้ว่า มันไม่น่าเอาตรงไหน ความโกรธมันน่าเอาไหม ไม่น่าเอา แต่ส่วนใหญ่ไม่เห็น โกรธทีไร เอามันทุกที หรือไปยึด ไปครอง หรือไปจมอยู่กับความโกรธนั้น คนส่วนใหญ่ ไม่ใช่แค่มีความโกรธแต่ไปเอามันด้วย ไปยึดมัน หรือว่าโจนเข้าไปในความโกรธ แต่หลวงปู่ดุลย์ท่าน ท่านมี แต่ท่านไม่เอา ท่านพูดแบบถ่อมตัว ท่านไม่ได้พูดเหมือนกับว่า ไม่มีโกรธเลย ท่านพูดแบบถ่อมตัว มี แต่ไม่เอา เพราะท่านมีปัญญาเห็นว่า มันไม่น่าเอาตรงไหน เราก็รู้ใช่ไหมว่าความโกรธมันไม่น่าเอา แต่นี่มันรู้ด้วยสมอง แต่ถึงเวลาโกรธทีไร เสร็จมันทุกที เพราะตอนนั้นเราหลงแล้ว เหมือนกับเด็กที่ถูกมอมยา หรือผู้ใหญ่ถูกมอมยา ใครพาไปก็ไป มิจฉาชีพจะพาไปไหนก็ไป แล้วก็ถูกมอมยาอยู่เรื่อย ก็เลยเสียท่า เสียทีมันทุกครั้ง แต่ถ้ามีสติมีความรู้ตัว มันก็จะรู้โดยลำดับ หลังจากที่เจอความโกรธครั้งแล้วครั้งเล่า อ้อ หนึ่ง หน้าตามันเป็นอย่างนี้ อาการเป็นอย่างนี้ มาทีไร เราไม่เผลอละ ไม่เชื่อมันละ สอง เห็นโทษด้วยว่า มันไม่น่าเอา ไม่เผลอไปยึดว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา แต่ถ้าไม่มีสติ มันก็จะไปยึดอยู่เรื่อยว่า เราโกรธๆๆ มันไม่ใช่เราโกรธ ความโกรธมันแค่เกิดขึ้นที่ใจเฉยๆ ต้องเห็นตรงนี้แหละ ความโกรธมันเกิดขึ้นที่ใจ เวลาปวดก็ไม่ใช่เราปวด หรือกูปวด แต่เห็นว่าความปวดมันเกิดขึ้นกับกาย เกิดขึ้นกับขา มันไม่มีความรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของหรือไปยึดเลย นี่แหละที่ทำให้ใจสงบได้ แม้ว่ากายยังปวดอยู่ และแม้ว่ามีความโกรธเกิดขึ้น เกิดขึ้นที่ใจนะ แต่ว่าความโกรธมันทำอะไรไม่ได้ มันทำอะไรจิตใจไม่ได้ หรือจะใช้คำว่า มันทำอะไรเราไม่ได้ก็ได้
สติมันมีประโยชน์ตรงนี้แหละ หลายคนอาจจะมาเพราะอยากจะสงบ แต่ไม่ค่อยตระหนักว่าจริงๆ จะสงบได้ มันต้องอาศัยความรู้ตัว สติเป็นพื้นฐานด้วย เพราะถ้ามีสติ มีความรู้ตัวอย่างที่ว่ามา โดยเฉพาะที่เป็นสัมมาสติ ซึ่งเกิดจากสติปัฏฐาน สติมันมีหลายแบบ สติธรรมดาเฉยๆ ก็มี สัมมาสติ เรากำลังพูดถึงสัมมาสติ ความระลึกรู้เรื่องกายเรื่องใจ ไม่ใช่ระลึกได้เรื่องอื่น เรื่องนอกตัวเรียกว่าสติธรรมดา แต่ถ้าระลึกรู้เรื่องกายเรื่องใจ อันนี้เรียกว่าสัมมาสติ สิ่งนี้แหละจะช่วยให้ใจสงบได้อย่างแท้จริง อะไรมากระทบหู เสียงอะไรมากระทบหู ใจกระเพื่อมก็รู้ จากเดิมที่ยินร้าย พอมีสติก็เฉยๆ ไม่ยินร้าย มีอะไรมากระทบตา มีอะไรมาสัมผัสกาย ที่เคยเป็นทุกข์ เคยปวด เคยยินร้าย แต่พอมีสติก็รู้ มีความหงุดหงิดเกิดขึ้นก็รู้ แต่ไม่เอา มีความโกรธเกิดขึ้นก็รู้ ไม่เอา อันนี้เรียกว่า เห็นมัน ไม่เข้าไปเป็น
เพราะฉะนั้น จับหลักตรงนี้ให้ได้ การปฏิบัติของเรามันก็จะเห็นมรรคเห็นผล