แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พวกเราที่เรียกตัวเองว่าเป็นชาวพุทธ คงคุ้นกับคำว่าพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนาเป็นคำที่มีความหมายกว้างขวางมาก ถ้าจะบรรจุอยู่ในหนังสือคือพระไตรปิฎก 45 เล่ม ยากที่จะจดจำได้หมด แต่ถ้าจะกล่าวอย่างย่นย่อ ก็มีแค่ 2 คือธรรมะ และวินัย ธรรมะหมายถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระบรมศาสดาของเรา ส่วนวินัยเป็นข้อบัญญัติซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับพระสงฆ์โดยตรง แต่ที่จริงก็เกี่ยวข้องกับฆราวาสเหมือนกัน เพียงแต่ว่าไม่มีรายละเอียดมากเท่ากับของพระ ที่เขาเรียกว่าคิหิวินัย คิหิก็คือคฤหัสถ์ ผู้ครองเรือน ก็มีวินัยเหมือนกันควบคู่ไปกับการปฏิบัติธรรม อย่างพระเมื่อกี้ก็สวด “ถึงพร้อมด้วยสิกขาและธรรม เป็นเครื่องเลี้ยงชีวิตของภิกษุทั้งหลาย” สิกขาก็คือวินัยนั่นแหละ เพราะว่าวินัยก็ประกอบด้วยสิกขาบทต่างๆ หลายข้อ จำแนกว่ามี 227 ข้อ สิกขาคือวินัย
คราวนี้ว่าเฉพาะธรรมะก็มีมากมาย แต่ถ้าจะกล่าวอย่างย่นย่อก็มี 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือว่าในบางครั้ง ท่านก็กล่าวอีกแบบหนึ่งคือ ทาน ศีล ภาวนา การปฏิบัติธรรมของพวกเราชาวพุทธ หรือว่าธรรมะที่พระพุทธองค์ ทรงสั่งสอน ก็หนีไม่พ้น ทาน ศีล ภาวนา ซึ่งก็มีความหมายเดียวกับ ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ว่าเน้นกันคนละแง่ ทานนี้เราก็ทราบดีว่าหมายถึงอะไร ศีลก็เช่นกัน คนไทยเราให้ความสำคัญและถนัดในเรื่องการให้ทาน ในเรื่องการรักษาศีล ส่วนภาวนาก็อาจจะให้ความสำคัญน้อยหน่อย หรือว่าไม่ค่อยได้ใส่ใจกันเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าดูเหมือนเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องไกลเกินชีวิตประจำวันของเรา แต่ที่จริงมันก็ไม่ใช่เป็นเรื่องยากเกินวิสัย ในการทำความเข้าใจและในการปฏิบัติ
ถ้าถามว่าภาวนาถ้าจะกล่าวอย่างย่อๆ ว่าคืออะไร หลวงพ่อคำเขียนท่านเคยกล่าวว่า การกระทำที่ย่อที่สุดก็คือ “เห็น” อันนี้ท่านก็เล็งถึงการภาวนา ย่อที่สุดนี้อาจจะหมายถึงกล่าวแบบย่อๆ หรือกล่าวให้สั้นที่สุดก็คือเห็น ย่อนี้จะหมายถึงย่นย่อระยะทาง แล้วก็ย่นเวลา คือว่ามันไม่ทำให้เสียเวลามาก มันไม่ใช้เวลามาก แล้วก็ไม่อ้อม แต่ว่าตรงเลย เห็นนี้เป็นหลักการภาวนาที่ตรง สู่จุดหมายของการภาวนา ก็คือความพ้นทุกข์ อันนี้สำคัญมากที่หลวงพ่อได้กล่าวเอาไว้ เห็นนี้คือการกระทำที่ย่อที่สุด มันย่นเวลา ย่นระยะทาง และเป็นการปฏิบัติที่กินความได้อย่างมากมาย จะเรียกว่าเป็นการปฏิบัติที่เอามาใช้ได้ทุกเวลา ทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปฏิบัติใหม่ หรือว่าผู้ที่จัดเจนเป็นนักเลงภาวนา เห็นนี้เป็นหลักการที่ใช้ได้ ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด จะเรียกว่าเป็นพื้นฐานก็ว่าได้ คล้ายๆ กับว่าคนที่จะเป็นนักเรียนประถม หรือว่าจบปริญญาเอก ทักษะพื้นฐานที่ต้องมีก็คืออ่านออกเขียนได้ จะเรียนสูงแค่ไหนก็ต้องอ่านออกเขียนได้ เพียงแต่ว่าความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ก็แตกต่างกันไป ระหว่างนักเรียนประถม เด็กมัธยม หรือนักศึกษาปริญญาเอก เห็นนี้มันก็พอจะเทียบเคียงได้อย่างนั้น
ถ้าใครที่สนใจภาวนาจะต้องเข้าใจแล้วก็ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งที่หลวงพ่อคำเขียนเรียกว่าเห็น ที่จริงคำว่าเห็นนี้ก็เป็นคำที่มีความสำคัญที่พระพุทธเจ้ากล่าวอยู่เสมอ เห็นในที่นี้ ไม่ใช่ความเห็น ความเห็นก็อันหนึ่ง ความเห็นอาจจะเป็นเรื่องของความคิด ถ้าคิดตรงตามความเป็นจริง ก็เรียกว่าสัมมาทิฐิ ความเห็นถูก แต่ความเห็นที่มันผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงก็มี ส่วนเห็นนี้คือการเห็นของจริง เห็นความจริง บางทีใช้คำว่า “เห็นธรรม” เช่นในอริยทรัพย์ ที่เราสวดกันอยู่บ่อยๆ “ศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และความเห็นธรรมให้เนืองๆ” อันนี้เป็นอริยทรัพย์ หรือว่า “ผู้ใดเห็นธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในที่นั้นๆ อย่างแจ่มแจ้ง ไม่ง่อนแง่น คลอนแคลน เขาควรพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้” นี้ก็เห็นธรรมเฉพาะหน้า คำว่าธรรมในที่นี้ก็หมายถึงทุกอย่าง รวมทั้งธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์คือทุกอย่างที่ใจไปรับรู้ จะคิดดี คิดร้าย ความโกรธ ความรัก ความเมตตานี้ก็เป็นธรรมารมณ์ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของคำว่าธรรม เห็นธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า จะรวมถึงสุขเวทนา ทุกขเวทนา ความเจ็บ ความปวด ความเมื่อยก็ได้ อันนี้เราเห็นด้วยสติ ถ้าเราเพียงแค่ฝึกจิตให้เห็นธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า และเห็นอย่างแจ่มแจ้ง แล้วก็ตั้งมั่น คือไม่แส่ส่าย ไม่คลอนแคลน ไม่ขาดช่วง ไม่สะดุด นี้ก็ทำให้เกิดความก้าวหน้าในทางภาวนามาก “เขาควรพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้”
เห็นอีกอย่างหนึ่งคือเห็นด้วยปัญญา อย่างที่เราสวดกันในบางครั้ง “เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน” เพราะฉะนั้น คำว่า เห็น หรือการกระทำที่เรียกว่าเห็นนี้สำคัญมาก เพราะไม่ได้เห็นด้วยตา แต่เห็นด้วยใจ ใจในที่นี้ก็อาจจะจำแนกเป็นเห็นด้วยสติ เห็นด้วยปัญญา สำหรับนักภาวนาจะต้องเริ่มต้นจากการเห็นด้วยสติก่อน สตินี้หลวงพ่อคำเขียนเรียกว่า “ตาใน” ที่เห็นรูปเราเห็นด้วย “ตาเนื้อ” แต่ถ้าเห็นธรรมารมณ์ หรือสิ่งที่เกิดกับใจ แม้กระทั่งอาการที่เกิดกับกาย เช่นความปวด ความเมื่อย ความไม่สบาย อันนี้ต้องใช้สติ เวลาหลวงพ่อคำเขียนพูดคำว่าเห็น จะตามมาด้วยคำว่า “อย่าเข้าไปเป็น” แปลว่ามันตรงข้ามกัน หรือว่าที่มันตรงข้ามกันก็เพราะถ้า ‘เห็น’ แล้วมันจะไม่เข้าไป ‘เป็น’
ส่วนใหญ่เวลามีอารมณ์ใดๆเกิดขึ้น แม้จะเป็นอารมณ์ที่เราไม่ชอบเป็นอารมณ์ที่เราชังด้วยซ้ำ เช่นความโกรธ ความเครียด ความเศร้า ความหงุดหงิด เราไม่ชอบ เราอยากกำจัดมัน อยากจะผลักไสออกไป แต่ก็เผลอเข้าไปเป็นทุกที หลวงพ่อคำเขียนท่านเปรียบเหมือนว่า “โจนลงไปในน้ำ” คนที่ไม่รู้จักเห็น ก็จะเข้าไปเป็น โจนลงไปในน้ำ แล้วเป็นน้ำเชี่ยวด้วย เป็นอารมณ์ที่เชี่ยวกราก โกรธ คับแค้น เศร้าซึม แล้วก็เกิดความทุกข์ตามมา แต่ถ้าเห็นนั้นก็เหมือนกับว่าออกมาจากน้ำเชี่ยว ขึ้นมาอยู่บนฝั่ง ก็เห็นกระแสน้ำที่มันไหล อันนี้คืออาการ หรือสภาวะของผู้ที่เห็น คือผู้ขึ้นฝั่ง มันต่างกันมากเลย ระหว่างผู้ที่อยู่ในน้ำ กับผู้ที่อยู่บนบกคือผู้ที่ขึ้นฝั่ง มันต่างกันตรงกันข้ามเลยทีเดียว เห็นคืออยู่นิ่งๆ เราเห็นกระแสน้ำไหลผ่าน แต่เป็นนี้คือถูกกระแสน้ำพัดพาไป เปียกปอน
นักปฏิบัติโดยเฉพาะผู้ที่สนใจภาวนา จะต้องแยกแยะให้ได้ ระหว่าง “เห็น” กับ “เป็น” คำมันใกล้เคียงกันมาก แต่ว่า อาการ สภาวะ หรือการปฏิบัติ รวมทั้งผลที่ตามมา มันต่างกันเยอะ หลายคนภาวนามานาน มากมาย เข้าคอร์สก็เยอะ แต่ก็ไม่เข้าใจคำว่าเห็น มักจะเผลอเข้าไปในอารมณ์ เพียงแต่ว่าที่ยังสงบได้ เพราะอารมณ์โกรธ อารมณ์เครียดมันไม่โผล่มา ที่สงบได้เพราะมันยังไม่โผล่มา ที่มันไม่โผล่มาก็อาจเป็นเพราะว่าไม่มีอะไรมากระทบ เป็นเพราะว่าทุกอย่างมันเรียบร้อย มันโอเค แต่พอมีอะไรมากระทบหรือมีอะไรที่มันไม่เป็นไปดั่งใจก็จะโกรธขึ้นมาทันที
อันนี้เป็นปัญหาของนักภาวนาจำนวนไม่น้อย หลายคนก็มาปรึกษาอาตมาว่า ทำไมหนอ เข้า คอร์สภาวนามาก็หลายครั้งแต่ก็ยังโกรธง่าย ขณะที่เพื่อนบางคนไม่ค่อยได้เข้าคอร์ส แต่เขาอารมณ์ดี ใครว่าอะไรเขาก็ไม่ค่อยโกรธเท่าไหร่ นี่เป็นปัญหาที่เกิดกับนักปฏิบัติหลายคน มีผู้ชายคนหนึ่งไปเข้าคอร์สสั้นๆ ภาวนา 1 วัน ตอนที่ปฏิบัติก็สงบ เพราะว่าปฏิบัติในห้องแอร์ แต่ละคนก็ภาวนาของตัวไป นั่งบ้าง เดินบ้าง ไม่ได้มายุ่งเกี่ยวกัน ไม่ได้มารบกวนกัน ก็ภาวนาจนเย็น พอจะกลับบ้านก็เดินไปที่รถ รถจอดไว้ แต่พอเห็นรถของตัวเองออกไม่ได้เพราะว่ามีอีกคันจอดซ้อน ก็โกรธ ฉุนเฉียวถึงกับพูด ตะโกน ด่า รถหรือเจ้าของรถที่จอดซ้อนคันนั้น คนที่เห็นเหตุการณ์ก็ตกใจว่าทำไมนักภาวนาถึงเป็นอย่างนี้ เมื่อเช้าหรือเมื่อสักครู่ยังสงบอยู่เลย แต่ทำไมตอนนี้ฉุนเฉียว ถึงกับคุมอารมณ์ไม่อยู่ คือถ้าโกรธในใจก็ว่าไปอย่างหนึ่ง แต่นี่พูดด่าออกมาเลย คนที่ไม่ภาวนาหลายคนเขาก็ไม่ทำอย่างนั้น ก็แค่เก็บความไม่พอใจเอาไว้ อันนี้ก็เป็นเรื่องน่าคิด
ในสมัยพุทธกาลก็มี พระพุทธเจ้าเคยตรัสถึงพราหมณีคนหนึ่ง ชื่อนางเวเทหิกา นางเวเทหิกาแกภาคภูมิใจว่าแกเป็นคนสงบ เป็นคนที่อารมณ์เย็น กิริยามารยาทก็เรียบร้อย แกก็เข้าใจว่าตัวเองปฏิบัติดี แกก็พูดทำนองชมตัวเอง จนกระทั่งนางทาสีคนหนึ่งได้ยินก็สงสัยว่าที่นางเวเทหิกาไม่แสดงความโกรธออกมา ไม่แสดงความหงุดหงิดออกมาเป็นเพราะเธอไม่มีความโกรธแล้ว หรือเป็นเพราะไม่มีอะไรมากระทบ ไม่มีอะไรมาทำให้ไม่พอใจ เป็นเพราะว่าทุกอย่างใครๆ ก็ทำให้เรียบร้อย ราบรื่น นางก็เลยแกล้งทดลอง นางทาสีแกล้งนอนตื่นสาย หน้าที่ที่ควรทำก็ไม่ได้ทำ นางเวเทหิกาพอเห็นก็ด่าเลย อีนางทาส ทำไมไม่ตื่น วันที่ 2 นางทาสีก็ทำอีก นางเวเทหิกาก็ด่าแรงขึ้น นางทาสีคนนี้ก็แน่ไม่หวั่นไหว วันที่ 3 เอาอีก นอนตื่นสาย วันนี้นางเวเทหิกาโกรธมาก ด่าไม่พอ ถึงกับทำร้าย นางทาสีก็เลยพูดตอกว่าที่ท่านมีความสงบในจิตใจ ไม่แสดงอาการโกรธ หงุดหงิดออกมาไม่ใช่เพราะท่านไม่โกรธ แต่เป็นเพราะว่าคนอื่นเขาปฏิบัติดี ปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่พึงพอใจของท่าน ท่านจึงไม่โกรธ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีคนปฏิบัติให้ไม่พอใจ ไม่ถูกต้อง ก็จะโกรธขึ้นมาทันที
อันนี้มันก็สะท้อนเป็นอุปมาอุปไมยให้กับนักปฏิบัติได้ดี ว่าความสงบของเรามันเกิดจากอะไรแน่ เกิดจากสิ่งแวดล้อมที่สงบราบเรียบ ทุกอย่างเลิศเลอเพอร์เฟ็คหรือโอเค หรือเป็นเพราะว่าเรารู้ทันอารมณ์โกรธ ความหงุดหงิดที่เกิดขึ้น เป็นเพราะเห็นหรือเข้าไปเป็น ถ้าเราไม่ฝึกจิตให้คล่องแคล่วในการเห็น มันก็เผลอเข้าไปเป็นได้ง่าย เพียงแต่ว่าในบางครั้ง มันเป็นผู้สงบ ไม่ใช่เห็นความสงบ แต่พอมีอะไรมากระทบ หรือไปกระทบกับอารมณ์ใด ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง รส เกิดความหงุดหงิด เกิดความไม่พอใจขึ้นมา สมัยนี้มันมีอะไรมากระทบได้ง่ายมาก แล้วก็เยอะ ตลอดเวลาด้วย ถ้าเราไม่ฝึกความสามารถในการเห็นได้ไว อันนี้ก็จะพลัดเข้าไปในอารมณ์หรือว่าตกน้ำ โดนน้ำมันพัดไป เป็นกระแสแห่งอารมณ์ ถ้าเราเห็นได้ไว เห็นได้คล่องแคล่วมันก็จะวางได้ง่าย ไม่ใช่เฉพาะวางอารมณ์ที่พอใจ เช่น ความสงบ ความปีติ ยังรวมถึงอารมณ์ที่ไม่พอใจ
คนเราไม่ได้ยึดเฉพาะสิ่งที่ให้ความสุขกับเรา สิ่งที่ทำความทุกข์ให้กับเรา เราก็ยึด ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรือธรรมารมณ์ เสียงไหนที่เราไม่ชอบ เช่นเสียงคนคุยกันข้างนอก ข้างๆ เสียงโทรศัพท์ที่ดังกลางวง เราไม่ชอบ ทันทีที่มันดัง จิตเราไปจับตรงนั้นเลย แล้วก็ไปจ่อตรงนั้น อาตมาพูดอะไรไป ไม่สนใจแล้ว มันไปยึดแล้ว คำพูดใดที่มันทำให้เราเจ็บปวดเรายิ่งจดจำ ตรงไหนที่ปวด ตรงไหนที่เมื่อย จิตมันจะไปจับตรงนั้นนั่นแหละ ทั้งๆ ที่มันเป็น 1% ของร่างกาย อวัยวะอื่นอีก 99 ส่วน ไม่ปวด ไม่เมื่อย จิตไม่สนใจ จิตจะไปจ่อไปจับเอาที่ปวดเมื่อย มันจะไปยึดเอาเวทนา เป็นผู้ปวด ไม่ใช่แค่กายปวดอย่างเดียว กลายเป็นผู้ปวดไปด้วย อันนี้รวมถึงธรรมารมณ์หรืออารมณ์ต่างๆ ถ้าไม่เห็นมันจะเข้าไปยึด แต่ถ้าเห็นแล้วมันวาง
เราต้องฝึกปล่อยวางด้วยการเห็น ไม่ใช่ปิดหูปิดตา ไม่รับรู้ เพราะคิดว่าพอไม่รับรู้แล้วมันจะวางได้ แต่น่าจะวางได้ชั่วคราว หรืออาจจะปิดโทรศัพท์ จะได้ไม่มีข้อความ ไม่มีข่าวสาร ที่มารบกวนใจ แต่ทั้งๆ ที่รู้ว่าเปิดโทรศัพท์ทีไร ก็จะมีข้อความ มีข่าวสารที่รบกวนใจ ทำให้กระเพื่อม ก็ยังอดไม่ได้ ถ้าเห็นมันปิดก็ต้องเปิด ตื่นเช้าขึ้นมาต้องเปิด ทั้งที่รู้ว่าพออ่านข้อความแล้ว ทางเฟสบุ้คหรือทางไลน์นี่ก็จะหงุดหงิด แต่ก็อดรนทนไม่ได้ ต้องเปิด ถ้ามันคว่ำอยู่ก็ต้องพลิกเพื่อมาดูข้อความที่ปรากฏบนจอ มีใครบอกกับเราว่า คนนี้เขานินทาเธอ คนนี้เขาว่าเธอ ปฏิกิริยาแรกของคนส่วนใหญ่คือถาม ถามว่าเขาว่าอะไร อยากจะรู้เขาว่าอะไรฉัน ถามว่ารู้แล้ว ได้ยินแล้วจะรู้สึกยังไง หลายคนคงจะตอบได้ว่า คงไม่พอใจ ก็โกรธ ก็เมื่อรู้ว่าโกรธ รู้ว่าไม่พอใจแล้วทำไมอยากรู้ นี้ก็เป็นความจดจ่ออีกชนิดหนึ่ง มันเป็นความยึดติดอีกแบบหนึ่ง เราไม่ได้ยึดติดแต่สิ่งที่ให้ความสุขกับเรา สิ่งที่ให้ความทุกข์กับเรา เราก็ยึดติด แล้วบางทีแส่ไปหาด้วย แส่ไปหา ไปรับรู้ ด้วยตาบ้าง ด้วยหูบ้าง บางทีก็เดินไปเลย เดินไปหา ไปถาม ไปซัก รู้แล้วก็ทุกข์ เพราะตอนนั้นไม่ได้รู้เฉยๆ มันเข้าไปเป็นแล้ว มันไม่เห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อถูกกระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจก็ตาม
คำว่าเห็น ก็มีรายละเอียดหรือตัวเสริม หลวงพ่อคำเขียนเคยเล่าว่าในสมัยที่ปฏิบัติใหม่ๆ กับหลวงพ่อเทียน พอจะรู้แนวทางการปฏิบัติแล้ว วันหนึ่งขณะที่ท่านภาวนาอยู่ในกุฏิ หลวงพ่อเทียนก็มา มาสอบอารมณ์ ก็ถามท่านว่าทำอะไรอยู่ หลวงพ่อคำเขียนก็ว่ากำลังภาวนาครับ กำลังปฏิบัติครับ หลวงพ่อเทียนก็ถามว่าเห็นข้างนอกไหม หลวงพ่อคำเขียนก็บอกว่า ไม่เห็นครับ ทำอย่างไรถึงจะเห็น ต้องเดินมาที่ประตู พอเดินมาที่ประตู เห็นข้างนอกไหม เห็นครับ เห็นข้างในไหม เห็นครับ เออนะ ให้ทำอย่างนั้นนะ เห็นทั้งข้างนอกและข้างใน อย่าเห็นแต่ข้างนอก แล้วก็อย่าเห็นแต่ข้างใน และท่านก็เดินผ่านไป เป็นการแนะนำที่ใช้เวลาไม่นาน แต่ก็ทิ้งคำถามไว้กับหลวงพ่อ จนกระทั่งหลวงพ่อได้พบคำตอบ อ้อ เห็นทั้งข้างนอกข้างใน คือหมายถึงว่า ไม่เห็นแต่ข้างนอกและไม่เห็นแต่ข้างใน นั่นก็คือว่า ไม่ปล่อยใจหรือไม่ส่งจิตออกนอก หรือว่าไม่เพ่งเข้าใน อาจจะไปเพ่งที่ความคิด ไปดักจ้องความคิดหรือไปเพ่งที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง เพื่อจะบังคับจิตให้มันสงบ
เห็นที่ถูกคือไม่เห็นแต่ข้างนอกและไม่เห็นแต่ข้างใน เห็นทั้งข้างนอกและข้างใน จะเรียกว่าไม่เผลอก็ได้ และไม่เพ่ง หรือว่าขณะเดียวกันก็พร้อมจะรับรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นข้างนอก แต่ก็ไม่ได้ไปจดจ่อหรือไปฟุ้งอยู่กับมัน แล้วก็ไม่พลัดเข้าไปในโลกแห่งความคิด บางคนไม่รับรู้อะไรเลย เพราะใจกำลังหมกมุ่น ครุ่นคิด คนมาหาก็มองไม่เห็น เพราะใจกำลังจมอยู่กับความคิด กำลังกังวลอะไรบางอย่าง คนมาเรียกก็ไม่ได้ยิน เพราะกำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้า คนที่เป็นโรคซึมเศร้ามันเพ่งเข้าในมาก ไม่ไปรับรู้อะไรข้างนอกเลย คนหลายคนติดอารมณ์เพราะจิตมันเพ่งเข้าใน กรณีแบบนี้ต้องดึงจิตหรืออาจต้องแงะจิต งัดจิตออกมารับรู้ภายนอก คนที่เป็นโรคซึมเศร้า ถ้าปล่อยอยู่นิ่งๆ มันจะจมวนอยู่กับโลกแห่งความคิดและส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องอดีตที่เจ็บปวด ออกมาไม่ได้ จนกว่าจะมีคนมาชักชวน มาพูดมาคุย
เคยมีคนที่เป็นโรคซึมเศร้าคนหนึ่งมาบวชกับหลวงพ่อคำเขียน แทนที่ท่านจะนำปฏิบัติ ท่านก็พาไปชมนกชมไม้ พาไปเดินเที่ยวป่า ถามว่านี่อะไร นี่ดอกอะไร นี่ใบ นี่ต้นอะไร ต้นนี้มันมีนิสัยอย่างไรชวนคุย เพื่ออะไร เพื่อดึงจิตออกมาข้างนอก เพราะว่าเพ่งเข้าในมากไปแล้ว มีนักปฏิบัติธรรมคนหนึ่งมาฟังหลวงพ่อ มาทำวัตรทุกเช้า ฟังธรรมแล้วก็ปฏิบัติ ตั้งใจมาก ตั้งใจจนเครียด วันหนึ่งทำวัตรก็ไม่มา ได้เวลากินข้าวก็ไม่ปรากฏตัว หลวงพ่อพอฉันเสร็จก็ไปที่กุฏิ แล้วก็ถามว่าโยมเป็นอย่างไรบ้าง พอโยมคนนั้นได้ยินเสียงหลวงพ่อก็พูดขึ้นมาเลยว่าหลวงพ่อช่วยด้วย ช่วยผมด้วย เกิดอะไรขึ้นหรือ แกบอกว่ามือที่ยกมือสร้างจังหวะ มันค้าง มันวางไม่ได้ เอามือลงไม่ได้ มันค้างตั้งแต่ตี 3 แล้ว คิดดูนะมือที่ยกมือมันค้าง ไม่รู้ค้างในท่านี้ หรือท่านี้ แต่มันแงะไม่ได้ มันออกมาไม่ได้ วางไม่ได้ คิดดูตั้งแต่ตี 3 ถึงเช้า 8 โมง มันกี่ชั่วโมง หลวงพ่อรู้แล้วมันเกิดอะไรขึ้น หลวงพ่อก็เลยชวนคุย โยมมีลูกกี่คน แล้วลูกทำงาน มีครอบครัวกันแล้วหรือยัง มีหลานกี่คน ตอนนี้โยมอยู่กับลูกคนไหน แกก็เล่า แกก็คุยเรื่องลูก เรื่องหลาน บางจังหวะหลวงพ่อก็แย้ง แกก็ชี้แจง คุยอยู่ซักพัก ประมาณ 5 นาที อยู่ๆ มือที่ค้างก็ตกลงมา ยังไม่รู้ตัว หลวงพ่อคุยอยู่สักพักก็ เอ้า หลุดแล้วนี่ มันหลุดตอนไหน อันนี้เพราะอะไร หลวงพ่อพยายามดึงจิตเขาออกมาข้างนอก เพราะจิตมันเพ่งเข้าในมาก มันเสียสมดุลไป
อันนี้เป็นปัญหาหรือกับดักนักภาวนาส่วนใหญ่ เพียงแต่อาจจะไม่ถึงกับมือค้าง หรือถึงขั้นที่เรียกว่าซึมเศร้า แต่ว่ามันก็เกิดอาการเครียด ปวดหัว แน่นหน้าอก อันนี้ก็เรียกว่าเห็นไม่ถูก มันเข้าไปเป็นเสียแล้ว สิ่งที่จะมาช่วยให้เราเข้าใจ คำว่าเห็นให้ดีขึ้นคือคำว่า “รู้ซื่อๆ รู้เฉยๆ” เพราะถ้าไม่รู้ซื่อๆ รู้เฉยๆ มันจะเข้าไปเป็น รู้เฉยๆ ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายหรือใจ มันจะน่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ แค่ไหน ก็แค่เฉยๆ อารมณ์ที่น่าพอใจก็ไม่ไปเคลิ้มคล้อยกับมัน อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจหรือมีอะไรมากระทบ ทำให้ทุกข์ ก็แค่รู้ ไม่ไปผลักไส ไม่ไปต่อต้าน แค่รู้เฉยๆ ว่ามันเกิดขึ้น
หลวงพ่อคำเขียนท่านแยกแยะระหว่าง “โอ๊ย” กับ “อือ” มีเสียงมากระทบหู มีความไม่พอใจเกิดขึ้น โอ๊ย บางทีเราเหยียบกรวด เหยียบหิน โอ๊ย อันนี้มันเข้าไปเป็นแล้ว เป็นผู้ปวด มันไม่ได้เห็น มันไม่ได้รู้ซื่อๆ แต่ถ้าพอกระทบทางหูกระทบทางกายกระทบทางเท้า เสียงดัง กรวดแหลม อือ อือ อย่างนี้คือรู้ซื่อๆ สังเกตไหมเวลาเราเหยียบกรวด อาตมาพาคนเดินจงกรม บ่อยครั้งก็ให้ถอดรองเท้า พอไปเหยียบเข้า เจ็บ มันไม่ใช่แค่กายเจ็บ มันมีกูเจ็บด้วย มันเป็นแล้ว จิตมันเข้าไปจ่อ เข้าไปยึด ไปจดจ่อไปยึดกับความเจ็บ ไปยึดความเจ็บเอาไว้ แทนที่กายเจ็บ กูก็เจ็บด้วย จิตมันเจ็บด้วย อันนี้ไม่ได้รู้ซื่อๆนะ
ส่วนใหญ่คนเราไม่ได้รู้เวทนา เราไม่ได้รู้ความปวด เราเป็นผู้ปวด เราไม่ได้รู้ความเมื่อย เราเป็นผู้เมื่อย เพราะเราไม่รู้จักคำว่ารู้ซื่อๆ แทนที่จะเห็นความปวด มันเข้าไปผลักไส ก็เป็นเลย เป็นผู้ปวด แต่พอเห็น เห็นความปวด จิตมันไม่ไปยึดความปวด จิตที่เคยยึดความปวด พอมันเห็นอาการตรงนี้ของจิต จิตมันวาง ความโล่งเกิดขึ้น เคยพาโยมกลุ่มหนึ่ง ไปแถวบ้านพุทธมณฑา มันก็มีถนนลาดยาง ซึ่งน้ำกัดน้ำกร่อน จนกระทั่งยางนี่มันไม่เรียบ บางช่วงก็ขรุขระ แล้วกรวดหินมันก็โผล่มา เวลาเดินหลายคนก็เจ็บ บางคนเหงื่อออกเลย บางคนแค่เห็นกรวดข้างหน้า ตัวมันก็แข็งแล้ว เกร็งเลย ใจหาย แต่พอพาเขาเดินทุกวันๆ ให้รู้จักเห็น ให้รู้ทัน ความไม่พอใจ โทสะที่เกิดขึ้นเวลามันเกิดความปวด เมื่อเท้าเหยียบกรวด เราก็บอกเขาว่า นี่เหยียบกรวดนะ ส่วนใหญ่ไม่ได้เจ็บที่เท้าอย่างเดียว เจ็บที่ใจด้วย เพราะใจมันไม่รู้ทัน มันไม่เห็นความโกรธ ความไม่พอใจที่เกิดขึ้น มันก็เลยไปยึดเวทนา ความปวด มันก็ไปจดจ่อเท้าที่ปวด พอเดินอย่างมีสติให้รู้ตัวทั่วพร้อม อารมณ์ใดเกิดขึ้นก็รู้ มีความโกรธเกิดขึ้นก็รู้ เห็นมันเฉยๆ พอวันที่ 3 วันที่ 4 บางคนเล่าว่าเหยียบกรวดนั้นมันปวด แต่พอมีสติเห็นความปวดนั้น จิตมันโล่งเลย มันโล่งเลย มันโล่งไม่ใช่เพราะว่ายกเท้า แต่มันโล่งเพราะใจมันวาง เวทนาความปวด ใจมันเห็นความไม่พอใจ ใจมันเห็นโทสะที่เกิดขึ้น พอมันวางนี่จิตมันเบา เท้ายังปวดอยู่ แต่จิตมันเบา อันนี้เพราะรู้ซื่อๆ เพราะเห็น มันก็ไม่เข้าไปเป็น
อันนี้เป็นพื้นฐานของการปฏิบัติของการภาวนา พวกเราเมื่อมาเจริญสติแล้ว ต้องทำให้คล่อง แต่ก่อนจะทำให้คล่องต้องเข้าใจ แต่ที่จริงจะเข้าใจได้ก็ต้องอาศัยการปฏิบัติ เพราะว่าคิดเอาไม่เข้าใจหรอก มันต้องปฏิบัติจึงจะแยกได้ว่าระหว่าง “เห็นความคิด” กับ “เข้าไปในความคิด” มันต่างกันอย่างไร ระหว่าง “รู้ซื่อๆ” กับ “รู้แล้วเข้าไปยึด” เพราะว่าสติไม่ไวพอ ต่างกันอย่างไร บางคนก็บอกว่าทำไมเมื่อโกรธแล้วก็รู้ว่าโกรธแต่ว่ามันไม่หายโกรธ อาจจะเป็นเพราะว่าสติเราอ่อน เหมือนน้ำที่มันน้อย มันก็ไม่อาจจะดับไฟที่มันแรงได้ น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟมาก อันนี้เป็นภาษิต เป็นสำนวนโบราณ
อารมณ์โกรธเหมือนกับไฟที่มันมาก พอเราปล่อยให้มันยืดเยื้อเรื้อรัง ปล่อยให้มันลุกลามไปเยอะแล้ว ส่วนสติของเรามันเป็นแค่สติที่ยังฝึกใหม่ มันก็เหมือนกับน้ำน้อยก็ไม่อาจจะดับไฟได้ ไฟท่วมกองใหญ่ เราเอาปืนฉีดน้ำยิงเข้าไปไฟมันก็ฝ่อไปสักหน่อย แล้วมันก็ลุกโพลงขึ้นมาใหม่ หรืออาจจะเป็นเพราะว่าน้ำที่เราสาดเข้าไปนี้ไม่ใช่เป็นน้ำสะอาด แต่มันเป็นน้ำเจือด้วยน้ำมัน มีน้ำมันเจือปน มันก็เลยไม่ดับ หมายความว่าเวลาเรามีสติรู้ทันความโกรธ มันไม่ใช่สติบริสุทธิ์ มันไม่ใช่สติ 100% แต่มันเจือด้วยความไม่ชอบ ความรู้สึกลบต่อความโกรธ มันรู้สึกลบซ้อนอยู่ แทรกอยู่ในระหว่างที่รู้ว่าโกรธ พอรู้ว่าโกรธปุ๊ปมันมีความรู้สึกข่มความโกรธ อยากจะกำจัดความโกรธให้หมดไป จะเรียกว่าตัณหาก็ได้ มันมีตัณหาที่ซ้อน ซ่อนหรือแทรกอยู่ มันก็เลยไม่ใช่รู้เฉยๆ มันมีความรู้สึกอยากจะกด อยากจะข่ม อยากจะผลัก อยากจะดับความโกรธ ตรงนี้แหละที่มันทำให้ความโกรธเหมือนกับได้เชื้อ ไฟได้น้ำมันที่ซ่อนอยู่ในน้ำที่สาดเข้าไป
เราจะรู้ทันความโกรธยังไม่พอ ยังต้องรู้ทันความรู้สึกว่าใจตอนนั้นไม่เป็นกลางกับความโกรธ ใจรู้สึกลบกับความโกรธ ต้องเห็นตรงนี้ด้วย เพราะถ้าเห็นตรงนี้จะทำให้ไม่รู้ซื่อๆ มันรู้แล้วอยากจะเข้าไปเหยียบ อยากจะเข้าไปจัดการ คำว่ารู้ซื่อๆ นี้มันละเอียด ถ้าเรารู้แล้ว ถ้าเรารู้จริงๆ หมายถึงว่ารู้ซื่อๆ รู้ด้วยสติที่บริสุทธ์ 100 % ความโกรธก็จะดับไป จะจางหายไป เพราะมันไม่มีเชื้อ เชื้อของความโกรธคือความหลง ความไม่รู้ตัว ตอนที่เรามีสติ มีความรู้ตัวมันก็ไม่มีเชื้อ ไม่มีที่ตั้ง มันก็ดับไป มันจะพ้นจากภาวะเป็น ภาวะผู้เป็น ทำให้เราเข้าใกล้กับสิ่งที่หลวงพ่อพูดว่า “ไม่เป็นอะไรกับอะไร” คำนี้ก็เคยอธิบายไปแล้ว เมื่อปีที่แล้วว่ามันมีความหมายอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะวันนี้ก็พูดแค่ 2 อย่างคือ “ไม่เข้าไปเป็น” ไม่เข้าไปเป็นมัน ไปเป็นเนื้อเป็นตัวเป็นหนึ่งเดียวกับมัน ไม่ไปยึดมั่นว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา แล้วก็ไม่เป็นปฏิปักษ์กับมัน แต่ว่ามันจะมีความหมายที่ลึกไปกว่านั้น ซึ่งวันนี้ก็คงจะไม่ได้พูด ก็จะเน้นเฉพาะเห็น รู้ซื่อๆ แล้วก็ไม่เข้าไปเป็นกับอารมณ์ใดๆ โดยเฉพาะธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้น
ถ้าเราเห็นอย่างนี้ เห็นภาวะทุกข์ที่เกิดขึ้น กับกายก็ดี กับใจก็ดี หลวงพ่อคำเขียนก็จะย้ำเลย ถ้าเห็นทุกข์ ก็พ้นทุกข์ ทุกข์ในที่นี้ พื้นฐานเลยคือ ทุกขเวทนา เห็นทุกขเวทนา เห็นความปวด ความเมื่อย มันก็พ้นจากความทุกข์ เห็นความปวดที่เกิดขึ้นกับกาย พอเห็น ไม่เข้าไปเป็น ใจมันสบาย อันนี้เรียกว่าพ้นทุกข์ เห็นทุกข์ก็พ้นทุกข์ ทุกข์ในที่นี้คือทุกขเวทนา ถ้าเราเห็นมัน อันนี้เราเห็นด้วยสติ มีสติเห็นความปวดความเมื่อย ใจมันก็โล่งโปร่ง อันนี้เราพ้นทุกข์ กายมันยังทุกข์อยู่ แต่ใจไม่ทุกข์แล้ว แต่ที่มันลึกไปกว่านั้นคือเห็นด้วยปัญญา ทุกข์ในความหมายที่สองคือทุกข์ในอริยสัจ หมายถึงทุกข์ในไตรลักษณ์ เห็นทุกข์ตัวแรกคือเห็นทุกข์ในอริยสัจ 4 ความโกรธ ความคับแค้น ความโศก ความทุกข์โทมนัส เห็นด้วยสติ มันก็หลุด มันก็หาย ใจก็สบาย แม้แต่เห็นทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นกับกาย ใจก็โปร่งโล่ง อันนี้เราพ้นทุกข์ ในระดับหนึ่ง เห็นทุกข์ในระดับที่ 2 คือเห็นทุกข์ด้วยปัญญา เห็นทุกข์ที่ว่านี้เขาเรียกว่า ทุกข์ในไตรลักษณ์ คือเห็นว่าทุกอย่างเป็นทุกข์ไปหมด จิตมันก็ไม่ยึด มันก็วาง มันก็พ้นทุกข์
การปล่อยวางนี้สำคัญมาก หลวงพ่อคำเขียนก็เรียกว่าการปฏิบัติก็คือการปล่อยวางทางจิต บางที่ท่านก็บอกว่าการปล่อยวางคือหัวใจของกรรมฐาน มันปล่อยวางเพราะเห็น เห็นด้วยสติ และต่อมาก็เห็นด้วยปัญญา เห็นด้วยสติกับเห็นด้วยปัญญามันสัมพันธ์กัน เพราะว่าถ้าเห็นด้วยสติบ่อยๆ เห็นของจริงบ่อยๆ เห็นอาการที่เกิดขึ้นกับกายกับใจบ่อยๆ ไม่ใช่ไปเห็นสีเห็นแสง ไม่ใช่ไปเห็นสิ่งที่ปรุงแต่ง เห็นของจริงต่อไปจะเห็นความจริง เห็นสัจธรรม ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นทุกข์ มันไม่น่ายึดถือเลย มันไม่ดีสักอย่าง เมื่อไม่ดีซักอย่างจะยึดไปทำไม มันก็ปล่อยวาง เมื่อปล่อยวาง นั่นแหละคือความพ้นทุกข์